ในโอกาสครบรอบ 15 ปี วิกฤติ 2540 ซึ่งถูกบันทึกเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ที่มีผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิกฤติ แต่ 15 ปีผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติครั้งนั้น ทั้งผู้ก่อวิกฤติ ผู้แก้วิกฤติ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ มีการปรับตัว และได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติครั้งนี้บ้าง และประเทศไทยซึ่งฝ่ามรสุมวิกฤติครั้งนั้นมาได้จนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่อย่างไร เพื่อตอบโจทย์คำถามดังกล่าว สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องมานำเสนอในซีรีส์ “15 ปี วิกฤติ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน”
ซีรีส์ 15 วิกฤติ 2540 สัมภาษณ์พิเศษ นายอมเรศ ศิลาอ่อน อดีตประธานองค์การเพื่อปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ( ปรส.) อีกหนึ่งคนที่มีบทบาทสำคัญในการสะสางปัญหาหนี้เสียของระบบสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ 2540 แต่ผลจากการกระทำกลับตกเป็น “จำเลย” สังคม ข้อหาทำให้ชาติเสียหายกว่า 6 แสนล้านบาท และถูกข้อครหาว่าทำให้กิจการหลายๆ บริษัทล้มละลาย ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มีรายละเอียดจากการ “ถาม-ตอบ” ของบทสัมภาษณ์พิเศษดังนี้
….
การตัดสินใจเข้ามารับหน้าที่เป็นประธาน ปรส. ของ “อมเรศ ศิลาอ่อน” โดยเขาไม่รู้มาก่อนว่าจะถูกข้อครหา และถูกฟ้องร้องกล่าวโทษ ซึ่งกรณีเลวร้ายสุดอาจถูกพิพากษาตัดสินถึงขั้น “ติดคุกติดตะราง” แต่หากย้อนเวลากลับไปได้ เขาก็ยืนยันว่า จะรับทำหน้าที่นี้เพื่อช่วยประเทศชาติ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ติดตามรายละเอียดได้ดังนี้
ไทยพับลิก้า : ถ้าย้อนกลับไป คุณอมเรศรู้ว่าจะต้องเข้ามารับปัญหาซึ่งศึกใหญ่มาก และคิดว่าต้องโดนข้อครหาแน่ๆ ตอนนั้นตัดสินใจอย่างไร
คือตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าจะมีเรื่องคนมาตามล่าทีหลังอะไรแบบนี้ ยังไม่รู้ ถามว่าถ้าตอนนั้นรู้ว่าตอนนี้จะโดนฟ้องอะไรอย่างนี้ จะทำไหม บอกอย่างไม่ต้องคิดเลย ผมก็ยังตัดสินใจว่าต้องทำ เพราะตอนนั้นบริษัท ประเทศ กำลังจะล้มละลาย ถ้าใครทำอะไรได้ต้องทำ ผลจะตามมาอย่างไรก็ต้องยอมรับ
“ถึงตอนนั้นผมบอกว่าถึงติดตะราง ถึงตาย แต่ว่าบ้านเมืองพ้นภัย ก็ยังคุ้ม คนคนเดียว ชื่อเสียงผมถูกทำลายไปก็ไม่เป็นไร คนเดียว แต่ว่ามันต้องทำให้ประเทศรอดพ้นให้ได้”
เพราะว่าตอนนั้นเราพูดถึงการรักษาระบบการเงินทั้งหมดของประเทศ ซึ่งตอนนั้นมันไม่มีใครเชื่อถือแล้ว
ไทยพับลิก้า : แต่ตอนนั้นมั่นใจใช่ไหม เข้ามายังไงก็จะสามารถบริหารจัดการได้
มันไม่มีความมั่นใจหรอกครับตอนนั้น รู้ว่าปัญหามันใหญ่มาก แต่ก็ต้องทำให้ดีที่สุด แล้วผมก็โชคดีมากที่ได้คนเก่งๆ มาช่วย คนอย่างคุณวิชรัตน์ (วิชรัตน์ วิจิตรวาทการ อดีตเลขา ปรส.) มาช่วย ถ้าเผื่อไม่ได้คนแบบนั้นมาก็คงทำได้แต่ช้าลง แต่ได้คนที่เก่งๆ มา คุณวิชรัตน์ก็ไปหาคนเก่งมาช่วย แม้แต่การประมูลสินทรัพย์รองก็เห็นนะ เราก็ทำได้ดี แล้วก็เป็นต้นแบบของการประมูลครั้งหลังๆ จนกระทั่งถึงบัดนี้ก็ยังใช้ต้นแบบที่เราทำไว้
ไทยพับลิก้า : ตอนนั้นข้อครหาอะไรที่หนักใจที่สุด
ตอนที่ผมทำงานอยู่ไม่มีอะไรหนักใจ เพราะว่าทุกอย่างที่มีข้อครหาเราก็ตอบได้หมด ตอบแล้วคนจะเชื่อมากเชื่อน้อยแค่ไหนเราไม่รู้ ตอนนั้นตัดสินไม่ได้ แต่ว่าภายหลังมันก็มีจริงๆ แล้วเมื่อเห็นเนื้อหาของข้อหาที่มาแล้วก็ไม่หนักใจนะครับ เพราะว่าผมว่าข้อหามัน “การ์ตูน” จริงๆ
“บอกว่าเราทำงานให้บ้านเมืองแล้ว แล้วมาบอกว่าเราเอื้อประโยชน์ทางภาษีให้ฝรั่ง ไม่การ์ตูนก็ไม่รู้จะพูดว่ายังไงแล้ว”
ไทยพับลิก้า : กฎหมายตอนนั้นยกเว้นให้อยู่แล้ว
คือว่าเป็นสิทธิของเขาที่จะได้การยกเว้นภาษีอันนั้น
มากล่าวหาได้ยังไงว่าคนของ ปรส. เอื้อประโยชน์ เป็นสิทธิของเขาอยู่แล้ว ไม่ให้เขา เขาก็ฟ้อง ทั้งกฎหมาย ทั้งเงื่อนไขการประมูล เราก็บอกไว้ชัดเจนนะครับ เขาสามารถที่จะโอนสิทธิในการทำสัญญาได้ และเขาก็ทำตามสัญญาหมดทุกอย่าง แล้วก็หาเรื่องกัน
“ก็ต้องนับถือว่าเขาเก่ง หาเรื่องจนได้เก่งจริงๆ ทั้งๆ ที่ไม่มีเรื่อง คดีนี้ก็คงจะตัดสินภายในปี สองปีนี้ ตอนนี้อยู่ที่ศาลแล้ว ก็ไม่เป็นไร เราก็สู้ไป แต่อย่างที่ผมว่า ถ้าแก้ปัญหานั้นให้ผ่านพ้นไปได้ แล้วผมติดตะรางก็ยังคุ้ม ลูกผมก็อาจจะรู้สึกไม่เห็นด้วยนะ แต่ว่าสำหรับตัวผม ผมไม่แคร์”
ไทยพับลิก้า : คดีที่ถูกฟ้องกังวลหรือไม่
ไม่ได้กังวล เพราะสมมติว่า the worst come to the worst (กรณีเลวร้ายที่สุด) ผมต้อง “ติดตะราง” ผมก็ไปทำกรรมฐานในตะรางได้
“ผมจะไปเดือดร้อนเรื่องอะไร คนที่จะเดือดร้อนก็คือคนที่เขาอยากจะแก้แค้น ใช่ไหม ตอนนี้เขาก็ได้แก้แค้นแล้ว ผมก็ไม่รู้เขาพอใจหรือยัง”