ในโอกาสครบรอบ 15 ปี วิกฤติ 2540 ซึ่งถูกบันทึกเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ที่มีผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิกฤติ แต่ 15 ปีผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติครั้งนั้น ทั้งผู้ก่อวิกฤติ ผู้แก้วิกฤติ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ มีการปรับตัว และได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติครั้งนี้บ้าง และประเทศไทยซึ่งฝ่ามรสุมวิกฤติครั้งนั้นมาได้จนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่อย่างไร เพื่อตอบโจทย์คำถามดังกล่าว สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องมานำเสนอในซีรีส์ “15 ปี วิกฤติ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน”
ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 สัมภาษณ์พิเศษ “อมเรศ ศิลาอ่อน” อดีตประธานองค์การเพื่อปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคนที่ห่างหายไปจากแวดวงการเงินหลังถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ กล่าวโทษ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 กรณีได้กระทำการหรืองดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการประมูลขายสินทรัพย์ 56 ไฟแนนซ์ที่ถูกปิดกิจการ ในกรณีของบริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้งส์ อิงก์ เมื่อปี 2541 และทำให้บริษัทดังกล่าวได้ประโยชน์ทางภาษี อันเป็นความผิดตามมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐปี 2502
ทั้งนี้ ความคืบหน้าล่าสุด คดีความอยู่ในขั้นการพิจารณาของศาล คาดว่าจะมีการพิจารณาตัดสินภายใน 1-2 ปีนี้ นอกจากเรื่องคดีความแล้ว ปรส. ซึ่งมี “อมเรศ” นั่งเป็นประธานยังถูกสังคมตั้งข้อครหาอีกมากมาย ที่พูดถึงกันมาก คือกรณีขายสินทรัพย์ 56 ไฟแนนซ์ได้ราคาต่ำ ทำให้ชาติเสียหายกว่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งโยงมาถึงกรณี “Chinese wall” ที่ถูกข้อครหาว่าเอื้อประโยชน์ให้ต่างชาติ
ทุกข้อสงสัยดังกล่าว นายอมเรศได้เปิดใจอธิบายประเด็นร้อน และถอดบทเรียนจากประสบการณ์ครั้งนี้ผ่านการสัมภาษณ์ พิเศษในซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 ดังนี้
[youtube http://www.youtube.com/watch?v=pLhoEy0zwXg&w=560&h=315]ตอนที่ 1
กระบวนการขายสินทรัพย์ของ ปรส. ที่ไม่แยกหนี้ดีและหนี้เสียก่อนเปิดประมูลขาย ทำให้ขายสินทรัพย์ได้ราคาถูก จึงถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า ทำไมไม่ตั้งเป็น “good bank” และที่ถูกกล่าวหารุนแรงที่สุดคือ ปรส. เป็นต้นเหตุทำให้หลายธุรกิจล้มละลาย ข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์พิเศษ “อมเรศ ศิลาอ่อน” ตอนที่ 1
[youtube http://www.youtube.com/watch?v=-sUNncj4-YY&w=560&h=315]ตอนที่ 2
กระบวนการขายสินทรัพย์ของ 56 ไฟแนนซ์ ที่ถูกปิดจากวิกฤติในปี 2540 โดยปรส. ที่ดำเนินการเปิดประมูลขายได้ในราคาต่ำประมาณ 30% กลายเป็นข้อครหาของสังคมส่วนใหญ่ว่า เป็นการขายของที่ “ถูกเกินไป” และอาจไม่โปรงใส ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ในมุมมองของ ปรส. เป็นอย่างไร ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์พิเศษ “อมเรศ ศิลาอ่อน” ตอนที่ 2
[youtube http://www.youtube.com/watch?v=bPlsaPOReEs&w=560&h=315]ตอนที่ 3
กรณี “Chinese wall “ เป็นประเด็นร้อนไม่แพ้เรื่องการขายสินทรัพย์ราคาถูกของ ปรส. เพราะบริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้งส์ อิงก์ ผู้เข้าประมูลซื้อสินทรัพย์ ปรส. เป็นกลุ่มเดียวกับ เลห์แมน บราเธอร์ส (ไทยแลนด์ ) ที่ได้รับคัดเลือกเป็นที่ปรึกษาการขายของ ปรส. ทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยว่ากฎ “Chinese wall“ ที่นำมาใช้ในกรณีนี้จะสามารถป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลได้จริงหรือ สามารถฟังคำอธิบายที่มาที่ไปเรื่องนี้อย่างละเอียดได้จากบทสัมภาษณ์พิเศษ “อมเรศ ศิลาอ่อน” ตอนที่ 3
[youtube http://www.youtube.com/watch?v=XZ0I50I3mAQ&w=560&h=315]ตอนที่ 4
อาจกล่าวได้ว่า ชื่อเสียงของ “อมเรศ ศิลาอ่อน” ถูกกล่าวหาเสียๆ หายๆ มากที่สุดหลังจากรับตำแหน่งเป็นประธาน ปรส. โดยถูกข้อครหามากมาย ที่สำคัญถูกดำเนินคดีด้วย แต่เขาประกาศว่า “คุ้ม” ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์พิเศษ “อมเรศ ศิลาอ่อน” ตอนที่ 4
[youtube http://www.youtube.com/watch?v=ozBwpTr5vVo&w=560&h=315]ตอนที่ 5
การตั้ง ปรส. เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของสถาบันการเงิน 56 ไฟแนนซ์ที่ถูกปิดจากวิกฤติ 2540 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือ คนที่ทำงานให้ ปรส. ถูกดำเนินคดีกล่าวโทษด้วย ทำให้สังคมยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ ปรส. และคนทำงานใน ปรส. ในทางที่ไม่ดี ขณะที่คนทำงานกลับรู้สึกตรงกันข้ามและเป็นห่วงกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่จะเป็นเรื่องอะไร ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์พิเศษ “อมเรศ ศิลาอ่อน” ตอนที่ 5
[youtube http://www.youtube.com/watch?v=IdqTb9G1EKM&w=560&h=315]ตอนที่ 6 (จบ)
แม้อดีตประธาน ปรส. จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในหลายเรื่องเกี่ยวกับการทำงานที่ ปรส. แต่ “อมเรศ ศิลาอ่อน” มั่นใจว่า “ไม่เคยทำผิด” และ “ไม่เคยทำอะไรที่ละอาย” พร้อมฝากบทเรียนที่ได้รับจาก ปรส. ทิ้งทายให้ชวนคิด ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์พิเศษ “อมเรศ ศิลาอ่อน” ตอนที่ 6
หมายเหตุ: ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 สนับสนุนโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)