การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ถือเป็นหนึ่งในความหวังของสังคมประชาธิปไตย
นับแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ได้มีการกำหนดให้จัดตั้งองค์กรอิสระ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกระบวนการปฏิรูปการเมือง ทำให้เป็น “การเมืองใหม่” ที่ให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ผ่านทางศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลปกครอง
จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า หลายครั้งที่องค์กรเหล่านี้มีบทบาทในการ “เป็นปาก-เป็นเสียง” ให้กับประชาชน
แต่กระนั้น มีอีกหลายครั้งเช่นกันที่องค์กรอิสระตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง ของทั้งผู้กุมอำนาจรัฐ และวาทกรรมที่เรียกกันว่า “อำมาตย์”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงปีหลังที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเข้ามาบริหารประเทศ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า “จุด” ที่องค์กรอิสระบางองค์กร “ยืน” อยู่นั้น “ตรงข้าม” กับรัฐบาล
กระทั่งคนในรัฐบาลบางคนพูดชัดเจนว่า “องค์กรอิสระ” คือ สิ่งที่เป็นปฏิปักษ์
หลากหลายกรณีถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ถึง “ที่มา” ของบุคคลในองค์กรอิสระ โดยไม่มีการยอมรับถึง “มูลเหตุ” หรือ “การกระทำ” ของเรื่องราว
ท่าทีของรัฐบาลที่มีต่อองค์กรอิสระจึงถูกจับตาผ่านการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 ที่วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบไปแล้ว
งบประมาณ 12,600 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง จัดสรรให้กับหน่วยงานขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ จากวงเงินที่ขอจัดสรรไปจำนวนทั้งสิ้น 23,355 ล้านบาท
หรือถูกปรับลดไปในชั้นแรก 10,771 ล้านบาท
และเมื่อเข้าสู่ชั้นการพิจารณาของ กมธ. ถูกปรับลดไปอีก 15.7 ล้านบาท ทำให้งบประมาณที่องค์กรองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานอิสระได้รับอยู่ที่ 12,584 ล้านบาท คิดเป็น 46 % ของงบประมาณที่ขอไปทั้งหมด
การ “หั่น” งบเกือบครึ่งครั้งนี้ สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้อธิบายไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 เล่มที่ 10 ว่าเนื่องจากวงเงินการจัดสรรงบประมาณปี 2556 มีจำนวนจำกัด แต่มีส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ กองทุนเงินทุนหมุนเวียน รวมทั้งองค์การมหาชนและองค์กรอิสระต่างๆ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการตามภารกิจและข้อผูกพันต่างๆ เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรวจแยกเป็นรายหน่วยงานจะพบว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานอิสระ ในมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.งบประมาณ 2556 ที่มียอดปรับลดมากที่สุดในการจัดสรรงบประมาณทั้งในชั้นของสำนักงบประมาณ และการพิจารณาของ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2556 มีดังนี้
สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้รับงบประมาณจำนวน 93 ล้านบาท จากจำนวน 258 ล้านบาท ถูกปรัดลด 165 ล้านบาท คิดเป็น 63.6 %
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้รับงบประมาณ 212 ล้านบาท จากจำนวน 534 ล้านบาท ถูกปรับลดไป 322 ล้านบาท หรือถูกปรับลด 59.7%
คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้รับงบประมาณ 1,973 ล้านบาท จากจำนวน 4,829 ล้านบาท ถูกปรับลดไป 2,800 ล้านบาท หรือถูกปรับลด 59.1 %
สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รับงบประมาณจำนวน 201 ล้านบาท จากจำนวน 480 ล้านบาท หรือถูกปรับลด 279 ล้านบาท คิดเป็น 57.3%
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้รับงบประมาณจำนวน 1,228 ล้านบาท จากจำนวน2,648 ล้านบาท ถูกปรับลดไป 1,420 ล้านบาท หรือถูกปรับลด 53%
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับงบประมาณจำนวน 198 ล้านบาท จากจำนวน 391 ล้านบาท ถูกปรับลด 193 ล้านบาท หรือถูกปรัดลด 48.1%
สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับงบประมาณจำนวน 7,088 ล้านบาท จากจำนวน 12,441 ล้านบาท ถูกปรับลด 5,353 ล้านบาท หรือถูกปรับลด 43%
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้รับงบประมาณจำนวน 1,587 ล้านบาท จากจำนวน 1,771 ล้านบาท ถูกปรับลด 184 ล้านบาทหรือถูกปรับลด 10%
การ “เฉือน” งบประมาณที่มีค่าเฉลี่ยรวมเกือบครึ่งหนึ่ง ของงบประมาณที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานอิสระร้องขอ จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นไปเพื่อ “ตอบโต้” ถึง “ผลลัพธ์” บางประการที่มาจากการทำหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานอิสระ
โดยหวังว่างบประมาณที่องค์กรเหล่านี้ได้รับอย่างจำกัดจำเขี่ย จะทำให้การออก “แอ็คชั่น” ในอนาคตเป็นไปได้อย่างไม่เต็มที่
กระนั้นเองมีเสียงแว่วมาจากวงในระดับบิ๊กว่า บรรดาองค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ อาจจะมี “ฟีดแบค” ออกมาในเร็วๆ นี้!!!