ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กสทช. เตรียมออกกฏ ” วิทยุ โทรทัศน์” ถ่ายทอดกรณีเกิดภัยพิบัติฉุกเฉิน

กสทช. เตรียมออกกฏ ” วิทยุ โทรทัศน์” ถ่ายทอดกรณีเกิดภัยพิบัติฉุกเฉิน

7 สิงหาคม 2012


ประกาศเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังสึนามิ วันที่ 11 เมษายน 2555 จากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
ประกาศเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังสึนามิ วันที่ 11 เมษายน 2555 จากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

วันที่ 11 เมษายน 2555 เวลา 15.38 น. ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศไทย องค์กรสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Geological Survey – USGS) ได้รายงานตรวจพบการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.6 นอกชายฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตราเหนือ ประเทศอินโดนีเซีย โดยประเทศรอบมหาสมุทรอินเดียถูกเตือนภัยให้เฝ้าระวังสึนามิ

รวมถึงประเทศไทย ที่มีการเตือนว่า หากเกิดสึนามิขึ้น คลื่นจะเข้าสู่ชายฝั่งประเทศไทยที่จังหวัดพังงาเป็นที่แรก ในเวลา 17.09 น. ต่อมา เวลา 17.43 น. USGS ได้รายงานการเกิดอาฟเตอร์ช็อกขนาด 8.2 ใกล้เคียงกับจุดก่อนหน้า ผลจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวทั้งสองครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้พื้นที่จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน และพื้นที่อื่นๆ ใกล้เคียง ไปจนถึงกรุงเทพมหานครฯ สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ มีการอพยพ เคลื่อนย้ายประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวัง ไปอยู่ในสถานที่ปลอดภัย

หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งแรก เมื่อเวลา 15.38 น. ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้ออกหนังสือแจ้งเตรียมพร้อมเฝ้าระวังแผ่นดินไหวในทะเล ในเวลา 16.01 น. ไปยังช่องทางต่างๆ ที่สามารถสื่อสารได้ในตอนนั้นเป็นการแจ้งเตือนว่า ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวในทะเล และคาดว่ามีโอกาสเกิดสึนามิ ให้มีการเตรียมพร้อมเฝ้าระวัง โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้คาดการณ์เวลาและสถานที่ ที่คลื่นจะกระทบฝั่ง ในกรณีที่เกิดคลื่นสึนามิขึ้นจริง

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีการถ่ายทอดสดรายการพิเศษของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) อยู่ ด้วยความสับสน และล่าช้าในการตัดสินใจ ทำให้ช่องทางหลักที่สามารถสื่อสารไปยังประชาชนได้เป็นวงกว้างที่สุดอย่างโทรทัศน์ ไม่สามารถรายงานข่าวแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที โดยสถานีโทรทัศน์ที่ตัดเข้าสู่การรายงานสถานการณ์แผ่นดินไหวแห่งแรกคือ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อเวลา 15.42 น. และตามมาด้วยช่อง 9 และช่อง 7 เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น.

อย่างไรก็ตามโชคดีที่สถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่มีการคาดการณ์ ไม่มีเหตุสึนามิพัดเข้าสู่ชายฝั่งประเทศไทย เวลา 19.49 น. ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จึงได้ประกาศยกเลิกการเตือนภัย ให้ประชาชนสามารถกลับเข้าสู่พื้นที่ได้

จากกรณีดังกล่าวมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงมาตรการรองรับในเรื่องการสื่อสาร เพราะในอนาคตไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่า จะมีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกหรือไม่ แม้ว่าจะมีช่องทางอื่นที่สามารถแจ้งเตือนภัย หรือรายงานสถานการณ์ภัยพิบัติได้อย่างอินเทอร์เน็ต แต่ประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือ และความสามารถในการกระจายข่าวสารได้เป็นวงกว้างพร้อมกันทั่วประเทศของสื่อดังกล่าว ยังคงมีข้อจำกัดสำหรับประเทศไทย ในอดีตจนถึงปัจจุบัน โทรทัศน์เป็นสื่อหลักที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ และมีบทบาทอย่างมากสำหรับการเตือนภัย ทำให้ประชาชนสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะองค์กรที่มีอำนาจกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในกรณีเกิดภัยพิบัติ หรือเหตุฉุกเฉินเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อประโยชน์ของผู้รับข้อมูลข่าวสาร ในการป้องกันและแก้ไขเหตุภัยพิบัติที้อาจเกิดขึ้น จึงได้เตรียมการจัดทำประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ในกรณีเกิดภัยพิบัติ หรือเหตุฉุกเฉินขึ้น

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) - ภาพจาก ประชาไท
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) – ภาพจาก ประชาไท

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นปัญหาการตัดสินใจที่ไม่เป็นระบบ ไม่มีหน่วยงานไหนกล้าตัดสินใจ สิ่งที่ กสทช. ทำคือการเตรียมออกร่างประกาศนี้ขึ้นมา เพื่อให้สถานีโทรทัศน์มีหลักยึดในการตัดสินใจถ่ายทอดรายงานเหตุการณ์ภัยพิบัติ

“การออกประกาศทำให้สถานีโทรทัศน์ มีแนวทางในการตัดสินใจ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากหน่วยงานต่างๆ ได้ ไม่ต้องรอให้มีการส่งหนังสือแจ้งเตือนจาก กสทช. ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน โดย กสทช. ไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจในการสั่งเตือนภัยเอง แต่การออกประกาศจะทำให้สถานีโทรทัศน์ มีหน้าที่ต้องนำข้อความหรือประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐ เช่น ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มาเผยแพร่ให้ประชาชนทราบทุกครั้งเมื่อมีประกาศออกมา” น.ส.สุภิญญากล่าว

ขณะนี้ กสทช. ได้จัดทำ “ร่างประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการทรทัศน์ในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน” ขึ้นมา โดยสาระสำคัญของประกาศดังกล่าว มีขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการในกรณีเกิดภัยพิบัติ แบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา คือ ช่วงก่อนเกิดเหตุ ช่วงขณะเกิดเหตุ และภายหลังเกิดเหตุ

ในช่วงก่อนเกิดเหตุ ผู้ประกอบการทุกรายจะต้องแจ้งชื่อผู้ประสานงาน เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ โดยผู้ประกอบการจะต้องมีการเตรียมแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อใช้ในการออกอากาศ และต้องมีการเตรียมความพร้อมในการแจ้งเตือน ทั้งทางเสียง ภาพ และตัวอักษร โดยจะต้องจัดทำเป็นแผนขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ส่งให้ กสทช.

ในขณะเกิดเหตุ ข้อมูลที่ผู้ประกอบการจะเผยแพร่ ต้องเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ และไม่ก่อให้เกิดความตระหนกตกใจแก่ประชาชน โดยห้ามนำเสนอข้อมูลที่มีลักษณะเป็นการแสดงความเห็น นอกจากจะเป็นความเห็นจากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือนักวิชาการที่มีความรู้เท่านั้น โดยผู้อำนวยการสถานี สามารถใช้ดุลยพินิจในการตัดสัญญาณจากผังรายการปกติ ไปสู่การรายงานข่าวภัยพิบัติได้ โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ และต้องรับผิดชอบหากเกิดความเสียหายจากการออกอากาศ

ภายหลังเกิดเหตุ ผู้อำนวยการสถานีจะต้องแจ้งข่าว การประกาศยกเลิกสถานการณ์จากหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์ล่าสุด และความเหมาะสมในการกลับเข้าพื้นที่

ขณะนี้ ร่างประกาศดังกล่าว กำลังอยู่ในช่วงรอการทำประชาพิจารณ์ ในวันที่ 25 สิงหาคม 2555 โดยหลังจากผ่านการทำประชาพิจารณ์ และมีการปรับแก้ตามความเหมาะสมแล้ว กสทช. จะทำการอนุมัติ ก่อนจะมีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ทำให้ประกาศมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป