ThaiPublica > เกาะกระแส > ญี่ปุ่นเจอหน้าร้อนโหด น้ำท่วม พายุไต้ฝุ่น แผ่นดินไหว คลื่นความร้อน-รับมือภัยธรรมชาติดีสุดจากความพร้อม 3 ข้อ

ญี่ปุ่นเจอหน้าร้อนโหด น้ำท่วม พายุไต้ฝุ่น แผ่นดินไหว คลื่นความร้อน-รับมือภัยธรรมชาติดีสุดจากความพร้อม 3 ข้อ

7 กันยายน 2018


ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/news/world-asia-45419771
โดยปกติแล้วหน้าร้อนของญี่ปุ่นในระยะ 3 เดือน จากมิถุนายนถึงสิงหาคม แม้จะมีอากาศร้อน ชื้น แต่เป็นช่วงที่เต็มไปด้วยความรื่นเริงความสนุกสนาน เพราะมีการจัดเทศกาลและการละเล่นมากที่สุดของปี เช่น hanabi taikai หรือ เทศกาลดอกไม้ไฟซึ่งหนึ่งในกิจกรรมฤดูร้อนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในญี่ปุ่น รวมทั้ง Bon-odori การเต้นระบำพื้นบ้านฤดูร้อนของญี่ปุ่น

แต่หน้าร้อนญี่ปุ่นปี 2018 นี้กลับกลายเป็นหน้าร้อนอันตราย เพราะต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงมาก ตั้งแต่น้ำท่วม พายุไต้ฝุ่น แผ่นดินไหวและคลื่นความร้อน ที่รุนแรงถึงขั้นทำลายล้างทรัพย์สินและชีวิต แม้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เตรียมพร้อมและรับมือกับภัยธรรมชาติได้ดี

  • 18 มิถุนายนแผ่นดินไหวที่โอซาก้า
    ญี่ปุ่นประสบภัยธรรมชาติมาตั้งแต่เดือนแรกของหน้าร้อน โดยวันที่ 18 มิถุนายน เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.1 แมกนิจูดในโอซาก้า ในชั่วโมงเร่งด่วน ส่งผลให้มีคนเสียชีวิต 5 คนและบาดเจ็บกว่าอีก 400 คน ซึ่งหนึ่งในสองที่เสียชีวิตนั้นเป็นเด็กผู้หญิงวัย 9 ปีจากกำแพงอิฐที่ทำจากถ่านหินพังถล่ม ทำให้ทางการต้องเร่งสำรวจและทำลายอาคารที่มีโครงสร้างเก่า

  • กรกฎาคมน้ำท่วมภาคตะวันตก
    ต่อมาเดือนกรกฎาคม เกิดภัยน้ำท่วมในด้านตะวันตก เนื่องจากฝนที่ตกหนักอย่างผิดปกติ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 221 คนจากเหตุดินสไลด์ที่ถมบ้านเรือนและแม่น้ำเอ่อล้นจนไหลข้ามเขื่อนริมน้ำ ระดับน้ำท่ามสูงถึงชั้นล่างของตัวบ้าน ซึ่งยังทำให้เมืองฮิโรชิมา เมืองคุราชิกิและพื้นที่ใกล้เคียงได้รับผลกระทบอย่างหนัก การช่วยเหลือและฟื้นฟุจึงต้องใช้เวลาทำให้ในอีกสัปดาห์ต่อมาประชาชนจำนวนกว่า 1,500 คนยังต้องอาศัยในที่พักพิงชั่วคราว

    ที่มาภาพ:https://phys.org/news/2018-07-dead-japan-scrambles-victims.html

  • กรกฎาคมคลื่นความร้อน
    คลื่นความร้อนที่กินระยะเวลานานในเดือนนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 116 คน จากความกดอากาศสูง 2 ระบบที่ทำให้เกิดภาวะอากาศร้อนและชื้นในภูมิภาคนี้ อุณหภูมิสูงขึ้นถึง 41.1 องศาเซลเซียสในวันที่ 23 กรกฎาคม ในคุมางาย่า ที่ห่างออกไป 65 กิโลเมตรทางตะวันตกเฉียงเหนือของโตเกียว ซึ่งนับเป็นอุณหภูมิสูงสุดที่ญี่ปุ่นเคยประสบ

  • 4 กันยายน ไต้ฝุ่นเชบี
  • พายุไต้ฝุ่นที่รุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปีที่ถล่มญี่ปุ่น พัดพาหลังคาบ้านปลิว หอบรถยนต์ไปอีกทาง และทำให้น้ำท่วมสนามบินคันไซ ซึ่งเป็นสนามบินที่มีเครื่องบินขึ้นลงมากสุด จนต้องปิดชั่วคราวอย่างน้อย 3 วัน ขณะที่พายุพัดแรงจนเรือบรรทุกน้ำมันซัดสะพานเชื่อมสนามบินซึ่งตั้งในทะเลกับแผ่นดินพังทลาย

    ที่มาภาพ:
    https://mainichi.jp/english/graphs/20180905/hpe/00m/0na/001000g/3

  • 6 กันยายนแผ่นดินไหวฮอกไกโด
    แผ่นดินไหวขนาด 6.7 แมกนิจูดในเวลาประมาณตีสามของเช้าวันที่ 6 กันยายน ทำให้ดินแยกเป็นร่องลึก และส่งผลให้เกิดดินสไลด์ ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง รถไฟต้องหยุดให้บริการทั่วทั้งเกาะใหญ่ตอนเหนือของญี่ปุ่น ในช่วงบ่ายแก่ๆ มีการยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิต 7 คน และยังมีผู้สูญหายจำนวนหนึ่งที่ยังกำลังค้นหา

    ที่มาภาพ:
    https://mainichi.jp/english/articles/20180907/p2a/00m/0na/004000c

    ภาคตะวันออกร้อนสุดรอบ 54 ปี

    หน้าร้อนนี้ยังเป็นหน้าร้อนที่อากาศร้อนผิดปกติ ในฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น อุณหภูมิสูงสุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ปี 1964 โดยอุณหภูมิเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมสูงกว่าระดับเฉลี่ยของอดีตถึง 1.7 องศาเซลเซียส

    ในช่วงเดียวกันอุณหภูมิในภาคตะวันตกสูงขึ้น 1.1 องศาเซลเซียสว่าระดับเฉลี่ยของสถิติเดิมและเป็นระดับสูงสุดใหม่รอบสองนับจากหน้าร้อนปี 2013

    นอกจากอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 41.1 องศาเซลเซียสในวันที่ 23 กรกฎาคม ในคุมางาย่าแล้ว ในย่านโฮคุริคุอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรก ส่วนเมืองไทนาอิฝนแถบนิอิงาตะแตะระดับ 40.8 องศาเซลเซียสวันที่ 23 สิงหาคม

    ปริมาณฝนเพิ่มสูงทำสถิติใหม่

    ขณะเดียวกันระดับฝนตกโดยเฉลี่ยในเขตอะมามิ-โอกินาวา ที่ครอบคลุมเกาะทางตอนใต้ ซึ่งประสบกับพายุไต้ฝุ่นหลายครั้งนั้น เพิ่มขึ้น 177% จากระดับเฉลี่ยในอดีตมาแตะระดับสูงสุดใหม่

    พื้นที่ชายฝั่งทะเลในเขตโตโฮกุและฮอกไกโด ปริมาณฝนที่ตกลงมาเพิ่มขึ้นมากถึง 165% ส่วนเขตตะวันตกที่ติดมหาสมุทรแปซิฟิกปริมาณฝนเพิ่มขึ้น 133% หลายๆพื้นที่ของญี่ปุ่นยังเจอกับฝนกระหน่ำในช่วงหลายเดือนมิถุนายนจนถึงต้นกรกฎาคม รวมทั้งฝนที่ตกหนักในฝั่งตะวันตกในเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้เป็นภัยจากฝนที่รุนแรงที่สุดของยุคเฮเซที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1989

    ช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมจำนวนพายุไต้ฝุ่นที่สูงที่สุดอยู่ในปี 1994 ซึ่งมีถึง 18 ลูก โดยไต้ฝุ่นจงดาริซึ่งวนมาครบ 12 ปีในปีนี้ พัดไปทางพื้นที่ตะวันตกจากที่ไม่เคยเกิดมาก่อน หลังจากที่ขึ้นฝั่งในตอนกลางของประเทศปลายเดือนกรกฎาคม

    กรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นได้ปรับวันเริ่มต้นฤดูฝนฝนเขตอะมามิจากวันที่ 7 พฤษภาคม เป็น 27 พฤษภาคม หลังจากที่ตรวจสอบแล้วพบว่า ฟดูฝนเริ่มช้ากว่าปกตินับตั้งแต่ปี 1951 ขณะเดียวกันหน้าฝนในเขตคันโตที่ครอบคลุมโตเกียวสิ้นสุดลงในวันที่ 29 มิถุนายน ซึ่งเป็นการสิ้นสุดเร็วกว่าปกติจากปี 1951 เช่นเดียวกัน

    แผ่นดินไหวรุนแรงสุดนับจากปี 1996

    เพียงวันเดียวหลังจากประสบพายุไต้ฝุ่น ญี่ปุ่นก็เผชิญกับแผ่นดินไหวในทางตอนเหนือของเกาะฮอกไกโด ส่งผลให้ครัวเรือน 3 ล้านหลังไม่มีไฟฟ้าใช้ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9 คนและสูญหายอีก 33 คน หลังจากดินสไลด์ถล่มบ้านเรือนจำนวนมาก

    ทีมกู้ภัยยังคงทำงานหนักเพื่อให้ความช่วยเหลือค้นหาประชาชนที่อาจจะติดอยู่ในบ้านเรือนที่ถูกโคลนถล่มในเมือง อัตซึมา และอาบิระ ขณะที่มีผู้ไดรับบาดเจ็บราว 300 คน และต้องอพยพผู้คนออกจากบ้านเรินราว 1.900 คน

    ฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า คงต้องใช้เวลาราวหนึ่งสัปดาห์ในการกู้ระบบไฟฟ้ากลับคืนมา อย่างไรก็ตามในบ่ายวันเดียวกันมีการกู้คืนระบบไฟฟ้ามาได้แล้วให้บ้านเรือน 338,000 หลัง ขณะที่โรงพยาบาลไม่ถึง 250 แห่งที่ใช้เครื่องปั่นไฟ

    แผ่นดินไหวรอบนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดในฮอกไกโดนับจากปี 1996

    ถอดบทเรียนรับมือภัยธรรมชาติได้ดี

    ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่รับมือกับภัยธรรมชาติได้ดี เนื่องจากประชาชนตระหนักดีว่าควรทำตัวอย่างไรและควรทำอะไรในภาวะที่ประสบกับภัยธรรมชาติและจากความเข้าใจเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ ทำให้มีการเตรียมพร้อมที่ดีใน 3 ด้านดังนี้

  • สร้างเพื่อรอดชีวิต
  • ญี่ปุ่นเป็นประเทศเป็นเกาะตั้งอยู่ระหว่างแนวเข็มขัดไต้ฝุ่นแปซิฟิก(Typhoon belt) กับวงแหวนไฟ(seismic Ring of Fire)ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว จึงเปิดรับภัยธรรมชาติทั้งสองด้านมาก และไม่ว่าจะเกิดแผ่นดินไหว สึนามิ ไต้ฝุ่นหรือภูเขาไฟระเบิด เมืองหลักของญี่ปุ่นถูกทำลายและสร้างขึ้นใหม่ในศตวรรษที่ 20 นี้เอง จึงเป็นโอกาสให้ญี่ปุ่นวางแผนและเตรียมการสำหรับเหตุการณ์ในอนาคต โดยใช้เงินจำนวนมากในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เสียหายจากภัยธรรมชาติ

    “ญี่ปุ่นเป็นผู้นำของโลกในด้านการเตรียมพร้อมภาวะฉุกเฉินและการจัดการกับภาวะฉุกเฉิน เห็นได้จากการที่โครงสร้างพื้นฐานและทรัพย์สินหลายอย่างถูกสร้างให้มีความยืดหยุ่นรองรับภาวะการณ์ได้” นายมาร์ค ฟอร์นี ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการกับภาวะฉุกเฉินของธนาคารโลกให้ความเห็น

    ถนนและอาคารของรัฐในเมืองชายฝั่ง เช่น โอซาก้า ถูกออกแบบมาให้ปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลและฝนที่ตกหนักไหลสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีการป้องกันชายฝั่งที่ทันสมัยซึ่งสามารถลดความเสี่ยงจากคลื่นพายุซัดฝั่ง(storm surge)ได้

    ที่สำคัญที่สุด การก่อสร้างอาคารของเอกชนมีการกำกับดูแลที่เข้มงวดเพื่อให้ยึดแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดตลอดเวลา ด้วยการคำนึงถึงภัยธรรมชาติไว้เสมอ ซึ่งกฎหมายอาคารและการบังคับใช้กฎหมายอาคารมีความสำคัญมากที่สุด เป็นการปฏิบัติที่สุดยอด

  • สร้างความตระหนักรู้ในเด็ก
  • ในวันที่ 1 กันยายน 1923 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.9 แมกนิจูดในเมืองใกล้โตเกียวและโยกาฮามาของที่ราบคันโต ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 100,000 คน และทำลายเมืองอย่างราบคาบทำให้รัฐบาลต้องพิจารณาย้ายเมืองหลวง หลังจากนั้น วันที่ 1 กันยายนของทุกปีจัดเป็นวันป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติแห่งชาติ(National Disaster Prevention Day) ที่ต้องมีการเรียนการสินให้รับรู้ในทุกโรงเรียน นักเรียนจะได้เรียนรู้ตั้งแต่สิ่งที่ต้องทำเมื่อภัยธรรมชาตอุบัติขึ้น และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับความเสียภายจากภัยธรรมชาติ

    สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างการรับรู้ในระดับฐานราก ที่ทำให้การเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติเป็นความสำคัญอันดับแรกของประเทศ ซึ่งเป็นความตระหนักรู้ของคนทั้งชาติว่าสิ่งที่ต้องทำเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ

    การสร้างความรับรู้ผ่านระบบการศึกษา กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์ของนักเรียนญี่ปุ่น ที่รู้ว่าควรจะทำตัวอย่างไร ทั้งการฝึกปฏิบัติการและการเจาะลึกได้สร้างความติดยึดที่จำเป็นต่อการตอบสนองที่เข้มแข็งเมื่อภัยธรรมชาติเกิดขึ้น

    ก่อนที่พายุไต้ฝุ่นจะพัดเข้าฝั่งญี่ปุ่นได้ออกประกาศเตือนให้อพยพกว่า 1.2 ครั้ง ซึ่งไม่มีครั้งไหนที่จำเป็นต้องทำ แต่จากการสัมภาษณ์ประชาชนของสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค ได้แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความเข้าใจและตระหนักรู้ โดยผู้ที่ให้สัมภาษณ์บอกว่า บ้านของตัวเองตั้งอยู่ที่เชิงเชา แม้จะไม่อันตรายนัก แต่ก็ตัดสินใจที่จะออกจากบ้านไปก่อน

  • บทเรียนสำหรับที่อื่น
  • นอกเหนือจากความตระหนักรู้ของประชาชนและกฎหมายอาคารแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ทำตัวเป็นตัวอย่างแก่ชาวโลก โดยแสดงให้เห็นว่ากระทรวงและหน่วยงานด้านยุติธรรมทำงานร่วมกันอย่างไรในช่วงที่ประสบภัยธรรมชาติ

    เจ้าหน้าที่ใช้เวลาและความพยายามไปกับการเตรียมข้อตกลงกับภาคเอกชน เพื่อให้ก่อนที่ลมพายุจะพัดเข้าหรือก่อนฝนตก บริษัทเอกชนซึ่งสามารถช่วยในการจัดการกับภัยธรรมชาติได้ ด้วยการรู้ความรับผิดชอบของตัวเอง

    ทั้งหมดต้องใช้ความเข้มแข็งของสถาบัน เวลา และความมุ่งมั่นในการที่จะสร้างข้อตกลงที่ผูกพันร่วมกันและเน้นไปที่ลำดับความสำคัญของประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง

    “ญี่ปุ่นได้แสดงให้เห็นหลายต่อหลายครั้งว่าเมื่อประสบภัยธรรมชาติในที่ใดที่หนึ่ง ก็ไม่จำเป็นที่ต้องเกิดความสูญเสียต่อชีวิตหรือเศรษฐกิจ ด้วยการลงทุนในการออกแบบด้านวิศวกรรมและการบังคับใช้กฎหมายและการรักษามมาตรฐาน ก็แสดงให้เห็นผลกระทบที่จำกัดวง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นของโลก” นายฟอร์นีกล่าว

    ที่มาภาพ:
    https://mainichi.jp/english/articles/20180907/p2a/00m/0na/008000c

    เรียบเรียงจากindependent,washingtonpost