ThaiPublica > คอลัมน์ > โลกกำลังเละแต่คนไทยยังหลั่นล้า

โลกกำลังเละแต่คนไทยยังหลั่นล้า

8 สิงหาคม 2012


วิรไท สันติประภพ
[email protected]

เมื่อกลางเดือนที่แล้วผมไปร่วมงานเสวนาเรื่อง “15 ปีวิกฤติ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน” ที่จัดขึ้นโดย สำนักข่าวไทยพับลิก้า ได้ฟังคุณธนา เธียรอัจฉริยะ สรุปได้อย่างกินใจมากว่า “โลกกำลังเละแต่คนไทยยังหลั่นล้า” จึงต้องมาคิดต่อว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

คงไม่มีใครเห็นแย้งว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเละ วิกฤติยุโรปคงจะซึมลึกไปอีกนาน และดูเหมือนว่าจะยังไม่ถึงจุดต่ำสุด การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจยุโรปจะต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล เศรษฐกิจอเมริกาถึงแม้จะไม่ทรุดแต่ก็ดูทรงๆ อัตราการว่างงานยังอยู่สูง และมาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยังลุ่มๆ ดอนๆ หรืออาจจะหยุดชะงักลง จนเป็นเหตุให้เศรษฐกิจฟุบลงใหม่ได้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังขาดปัจจัยที่จะขับเคลื่อนให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพราะบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ออกไปผลิตนอกประเทศ และญี่ปุ่นต้องเผชิญกับสังคมคนแก่ และค่าเงินเยนที่แข็งขึ้นเรื่อยๆ เศรษฐกิจกลุ่มประเทศ BRIC โดยเฉพาะจีน อินเดีย และบราซิล มีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงอย่างชัดเจน ค่าเงินเริ่มอ่อนลง พร้อมกับที่ดุลการค้าแย่ลงเรื่อยๆ

มองไปในช่วงหนึ่งปีข้างหน้า ยังไม่เห็นว่าจะมีเศรษฐกิจประเทศใดมาเป็นอัศวินช้างเผือก ฉุดให้เศรษฐกิจโลกฟื้นกลับขึ้นมาได้โดยเร็ว

เมื่อเศรษฐกิจโลกกำลังเละ แล้วทำไมคนไทยยังหลั่นล้าอยู่ได้ ผมคิดว่าคงเป็นผลมาจากสี่ปัจจัยสำคัญ

ปัจจัยแรก เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพราะการฟื้นตัวจากสภาวะน้ำท่วมปลายปีที่แล้ว และจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เน้นการส่งเสริมการบริโภค โครงการรับจำนำข้าว และสินค้าเกษตรหลายรายการ มีผลโดยตรงต่อเงินที่หมุนเวียนในต่างจังหวัด โครงการพักหนี้ดี บัตรเครดิตเกษตรกร กองทุนสตรี ทำให้คนเกิดความหวังว่าจะมีเงินผ่านมือมาจับจ่ายใช้สอยได้สะดวกมากขึ้น โครงการลดภาษีสรรพสามิตรถคันแรกเป็นส้มหล่นให้แก่ชนชั้นกลาง และบริษัทรถ (ที่วันนี้ผลิตไม่ทัน) บริษัทที่มีกำไรและผู้ถือหุ้นได้รับส้มหล่นจากการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะลดลงเหลือร้อยละ 20 ในปีหน้า

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการลงทุนอีกหลายโครงการ ที่ทำให้เกิดความหวังว่าเงินกำลังจะหมุนได้ต่อเนื่อง ผนวกกับรัฐบาลพร้อมที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมถ้าจำเป็น โครงการเหล่านี้ได้ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งสบายใจว่ารัฐบาลจะไม่ทอดทิ้ง โดยอาจจะไม่ตระหนักว่าบางโครงการเป็นการเอาเงินในอนาคตมาใช้ หรือสร้างภาระผูกพันไว้ให้อนาคตมากน้อยเพียงใด

ปัจจัยที่สอง มาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเปิดเสรี ตั้งแต่การเกิดขึ้นของชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูงในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม การลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นในลาวและเขมร การปฏิรูปสภาวะแวดล้อมการทำธุรกิจในมาเลเซีย ไปจนถึงการเปิดประเทศของพม่า

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้านได้สร้างอานิสงให้เศรษฐกิจไทย เพราะการส่งออกของไทยไปอาเซียนคิดเป็นถึงหนึ่งในสี่ของการส่งออกทั้งหมด รวมทั้งธุรกิจไทยจำนวนไม่น้อยได้เข้าไปสร้างเครือข่ายธุรกิจในประเทศเหล่านี้มาเป็นเวลานาน แต่เราคงชะล่าใจไม่ได้ เพราะหลายประเทศอาเซียนต่างพึ่งการส่งออกในสัดส่วนที่สูงเช่นกัน ถ้าเศรษฐกิจโลกซึมลึกลงเรื่อยๆ ย่อมหนีไม่พ้นที่เศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านเราจะชะลอลงด้วย

ปัจจัยที่สาม คงมาจากสภาพคล่องส่วนเกินที่ล้นระบบการเงินโลก ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางเกือบทุกประเทศ อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินโลกด้วยปริมาณที่มากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาวิกฤติสถาบันการเงิน อัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศลดลงจนใกล้ศูนย์ สภาพคล่องส่วนเกินเหล่านี้ย่อมไหลไปประเทศที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่า หรือมีความเสี่ยงต่ำกว่า

เนื่องจากประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนยังคงมีเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นกันชนจากสภาวะเศรษฐกิจโลกเละ และมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก สภาพคล่องส่วนเกินจึงไหลเข้ามาสู่เศรษฐกิจไทยและภูมิภาคอาเซียนมาก ตั้งแต่ต้นปี 2555

นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยสูงถึง 573,000 ล้านบาท และซื้อหุ้นสุทธิถึง 64,000 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่นับรวมเงินกู้ที่ธนาคารพาณิชย์และธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยไปกู้มาจากต่างประเทศ เงินที่ไหลเข้าประเทศไทยเหล่านี้ ได้ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศต่ำกว่าปกติ และราคาสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น คอนโดมีเนียม หรือที่ดิน ยังคงอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น จนทำให้คนไทยไม่รู้สึกขัดสน และคิดว่ามีโอกาสเก็งกำไรจนชะล่าใจ ไม่ได้คิดว่าสักวันหนึ่งธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จะต้องดึงสภาพคล่องส่วนเกินกลับ หรือเมื่อเศรษฐกิจของประเทศอื่นขยายตัวมากกว่าประเทศไทยแล้ว เงินที่ไหลเข้ามาจะไหลกลับออกไป อัตราดอกเบี้ยต้องปรับสูงขึ้น และราคาสินทรัพย์ต่างๆ จะไม่ปรับขึ้นต่อเนื่องเหมือนที่คาดกันไว้

ปัจจัยสุดท้าย คงเป็นเพราะนิสัยคนไทยที่รักสนุกและหลั่นล้ากันเป็นนิสัยดั้งเดิม มูลนิธิคนไทยเพิ่งเผยแพร่ผลการสำรวจโครงการวิจัยคนไทยมอนิเตอร์ผ่านวิดีโอคลิปสั้นๆ ใน youtube เรื่อง “คนไทยคิดอะไรอยู่” ซึ่งเป็นการสำรวจที่มีกลุ่มตัวอย่างมากถึง 100,000 คน ผมคิดว่าคนไทยทุกคนควรดูวิดีโอคลิปอันนี้ เพราะจะทำให้เรารู้จักตัวเองและคนรอบข้างมากขึ้น และเข้าใจว่าความขัดแย้งทุกวันนี้มีสาเหตุมาจากนิสัยดั้งเดิมของเราอย่างไร

ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า คนไทยชอบคนมีหน้ามีตา ยกย่องคนมีฐานะและมีเกียรติ คนไทยมีความหวังในชีวิต รักความสนุกสนานและหาความสุขจากสิ่งรอบข้างได้เสมอ มีน้ำใจไม่ทอดทิ้งกัน แต่คนไทยชอบมองเรื่องของตัวเองเป็นหลักโดยไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ไม่มีระเบียบวินัย ไม่เห็นว่าการทุจริตเป็นเรื่องสำคัญ

นอกจากนี้คนไทยยังมองว่าหน้าที่ของตนต่อสังคมคือเพียงการไปเลือกตั้งและเสียภาษีให้ถูกต้อง เน้นการพัฒนาลูกหลานในระดับปัจเจก และนิ่งเฉยต่อการลุกขึ้นมาร่วมแก้ปัญหาสังคม

ผมเชื่อว่าลักษณะนิสัยของคนไทยเหล่านี้ ทำให้เราจึงยังหลั่นล้าอยู่ได้ (ในทุกสถานการณ์) เพราะคนไทยไม่สนใจโลกภายนอก ไม่สนใจว่าสังคมควรมีระเบียบวินัยอย่างไร ไม่สนใจว่าผู้มีเกียรติทำสิ่งที่ถูกหรือผิด ชอบให้รัฐบาลเป็นผู้อุปถัมภ์ เพราะตราบใดที่ตนเองได้ประโยชน์ก็จะพอใจ โดยไม่คำนึงถึงคนอื่นหรือสังคมที่ต้องรับภาระในอนาคต

การที่คนไทยยังหลั่นล้าในขณะที่เศรษฐกิจโลกเละนั้นน่ากลัวมาก เพราะทำให้เราชะล่าใจ ไม่ทำในสิ่งที่ควรต้องทำ ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะเละแบบซึมลึกไปอีกนาน เศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญกับความผันผวนสูงขึ้น และต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากรอบด้าน โดยเฉพาะจากคู่แข่งที่กำลังปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เศรษฐกิจไทยในอนาคตจะต้องเผชิญกับคู่แข่งที่เข้มแข็ง และมีศักยภาพที่สูงกว่าในวันนี้มาก

เป็นที่น่ายินดีว่า ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ยังหลั่นล้าอยู่ ได้มีกลุ่มนักธุรกิจ และนักวิชาการชั้นนำ ร่วมกันจัดตั้งมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา เพื่อนำเสนอแนวทางที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีทิศทางและถูกทิศทาง สถาบันฯ ได้แสดงให้เห็นว่าคนไทยในวันนี้อาศัยบุญเก่าที่กำลังหมดลงเรื่อยๆ และเราไม่ได้สร้างบุญใหม่ได้เร็วพอ ในขณะที่ประเทศรอบบ้านได้ก้าวหน้าไปเร็วกว่าเราหลายเท่านัก

ผมชอบคำขวัญของสถาบันนี้ ที่ว่า “อนาคตไทย…เราเลือกได้” เป็นพิเศษ เพราะเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องสนใจสิ่งรอบข้าง ลุกขึ้นมาร่วมกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยอย่างจริงจัง แทนที่จะสนใจเฉพาะเรื่องในระดับปัจเจกเช่นที่ผ่านมา

ถ้าเราไม่หยุดหลั่นล้าในวันนี้ และหันมาช่วยกันเลือกและสร้างอนาคตไทยแล้ว ผมเกรงว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกกลับมาหลั่นล้าใหม่ เศรษฐกิจไทยจะเละอยู่คนเดียว

หมายเหตุ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร ฉบับวันที่ 8 สิงหาคม 2555