ThaiPublica > คนในข่าว > ผู้ว่าแบงก์ชาติ ปลุกพลัง “Good Corporate Citizen” หยุดซื้อเวลา หวั่นต้นทุนแฝงฉุดอนาคตประเทศไทย

ผู้ว่าแบงก์ชาติ ปลุกพลัง “Good Corporate Citizen” หยุดซื้อเวลา หวั่นต้นทุนแฝงฉุดอนาคตประเทศไทย

30 พฤษภาคม 2017


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2560 สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) คณะกรรมการบริษัทกับการขับเคลื่อนประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2560 โดยกล่าวว่า ถ้าเรามองย้อนกลับไป ตั้งแต่ที่ IOD เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2542 ผมเชื่อว่าทุกท่านคงเห็นด้วยกับผมว่า IOD ได้สร้างคุณูปการให้แก่ภาคธุรกิจไทยและเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาความเป็น “มืออาชีพ” ของคณะกรรมการ และการส่งเสริมให้เกิด “จริยธรรมและการกำกับดูแลกิจการที่ดี” ในภาคธุรกิจ ได้กลายเป็นต้นแบบในการวัดจริยธรรมและการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้กับภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมไทยอีกด้วย

“หลายท่านในที่นี้ คงจำบทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ที่สถาบันการเงินและบริษัทหลายแห่งต้องปิดตัวลง เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ทำให้ภาคเอกชนตระหนักถึงความจำเป็นใน “การยกระดับบรรษัทภิบาล หรือธรรมาภิบาล” ให้ดีขึ้น ผลจากการร่วมแรงร่วมใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น IOD ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หน่วยงานกำกับดูแล สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และที่สำคัญ ตัวบริษัท และคณะกรรมการของบริษัทเอง ได้ส่งผลให้ ระดับธรรมาภิบาลของธุรกิจไทยพัฒนาขึ้นมาก”

“ธรรมาภิบาล” เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นแต่ไม่เพียงพอ

วันนี้ระดับธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ในปี 2559 Asian Corporate Governance Association ได้ประกาศให้ไทยอยู่อันดับ 2 ของภูมิภาค ASEAN ในเรื่องมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมีบริษัทจดทะเบียนไทยเป็นสมาชิก DJSI ถึง 14 บริษัท มากที่สุดในอาเซียน อันเป็นตัวอย่างความก้าวหน้าในมุมของ “ธรรมาภิบาล”

ถ้าเรามองไปข้างหน้าแล้ว ปัญหาที่ภาคธุรกิจไทย เศรษฐกิจไทย และสังคมไทยจะต้องเผชิญ จะต่างไปจากเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ 20 ปีที่แล้วมาก และปัญหาที่เราต้องเผชิญจะซับซ้อนมากขึ้นมากด้วย ปัญหาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบที่ผลประโยชน์กระจุกตัว ละเลยปัญหาสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้นักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่หันมาทบทวนแนวทางในการพัฒนาที่ต้องให้ความสำคัญกับ “ความยั่งยืน” (sustainability) อาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง “ธรรมาภิบาล” (governance) เป็นเพียง “เงื่อนไขที่จำเป็น” ต่อการสร้างความยั่งยืน “แต่ไม่เพียงพอ” เพราะการขับเคลื่อนการพัฒนาให้ยั่งยืนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคม ต้องอาศัยการสร้างสมดุลระหว่างมิติทางเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ควบคู่กันไปด้วย

นอกจากนี้ เมื่อมองไปข้างหน้า บริบทของโลกที่เราอยู่จะมีลักษณะที่เรียกกันว่าเป็น VUCA มากขึ้น ผันผวน (Volatile) ไม่แน่นอน (Uncertain) ซับซ้อน (Complex) และยากจะคาดเดา (Ambiguous) เราจะต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างใหญ่ๆ ภายในประเทศที่มีอยู่ไม่น้อยด้วย นับเป็น “โจทย์ท้าทาย” ที่ทุกภาคส่วนต้องมาร่วมกันขบคิดว่า จะร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยในระยะต่อไปอย่างไร ด้วยวิธีใด ซึ่งผมคิดว่า ภาคธุรกิจ ธุรกิจขนาดใหญ่ และบทบาทของ “คณะกรรมการบริษัท” จะเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศ ในวันนี้ผมจะขอแบ่งการนำเสนอความคิดเห็นออกเป็นเป็น 2 ส่วน

  • ส่วนที่ 1 บริบทโลกและปัญหาเชิงโครงสร้างที่เราเผชิญอยู่ในประเทศไทย
  • ส่วนที่ 2 ความสำคัญของภาคธุรกิจและบทบาทของคณะกรรมการบริษัทในการขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไป

ผมขอเริ่มจากบริบทของโลก เมื่อเดือนที่ผ่านมาในการประชุม Spring Meeting ของ IMF ประเมินว่า ภาพรวม “เศรษฐกิจโลก” มีแนวโน้ม “ฟื้นตัว” ชัดเจนขึ้น และในการประชุมเมื่อเดือนที่แล้วเป็น “ครั้งแรก” ในรอบ 6 ปีที่ IMF ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น สะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวของประเทศอุตสาหกรรมหลักและการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศ IMF คาดว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ซึ่งมากกว่าปีก่อนที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.1

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะมีทิศทางดีขึ้น แต่ความเสี่ยงก็ปรับเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเสี่ยงที่สหรัฐอเมริกาอาจจะดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า ความเสี่ยงที่เกี่ยวกับสถานะทางการเมืองของประธานาธิบดี Trump ที่จำเป็นต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสำคัญๆ โดยเฉพาะนโยบายปฏิรูปภาษี และนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทยอยปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ระดับปกติ (Monetary Policy Normalization) ซึ่งอาจจะทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมในตลาดการเงินโลกปรับสูงขึ้น

ในขณะเดียวกัน ถ้าเรามองไปในทวีปยุโรป ความเสี่ยงก็มีอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) รวมทั้งการเมืองในยุโรปถึงแม้ว่าการผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสจะช่วยคลายกังวลได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้

เมื่อมองเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย พบว่า มีความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้เสียในภาคการเงินของจีนและระดับการก่อหนี้ของภาคธุรกิจจีนซึ่งอยู่ในระดับสูงมาก การปรับตัวของเศรษฐกิจจีนจะมีนัยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ในภูมิภาคของเรายังต้องเผชิญปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ในทะเลจีนใต้ และความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้ตลาดเงินตลาดทุนโลกผันผวนได้สูงมากเป็นช่วงๆ

เทคโนโลยีจะเปลี่ยนมิติของชีวิต-ธุรกิจ-สังคม

นอกจากเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและความเสี่ยงในระยะข้างหน้าแล้ว บริบทของโลกที่เราอยู่จะต่างไปจากเดิมมาก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดจะเปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ และเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ของคนในสังคม

ในวันนี้ เราสามารถทำธุรกรรมทางการเงิน ผ่านโทรศัพท์มือถือได้ในเสี้ยววินาที หลายบริษัทกำลังแข่งขันกันพัฒนารถที่ไม่ต้องใช้น้ำมัน และรถที่สามารถขับเคลื่อนไปได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคนขับ โลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “Cyber Attack” ซึ่งสามารถสร้างความปั่นป่วน ด้วย “การเรียกค่าไถ่” ได้พร้อมกันทั่วโลกในชั่วข้ามคืน หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา เมื่อสายการบินใหญ่ของโลกต้องยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมด เพราะระบบคอมพิวเตอร์มีปัญหา ส่งผลกระทบต่อการเดินทางทางอากาศทั่วโลก

เราชะล่าใจไม่ได้นะครับ อีกไม่กี่ปีเราอาจจะเห็นการตั้ง “Artificial Intelligence” หรือ AI เป็น “คณะกรรมการบริษัท” ก็ได้ เพราะเชื่อว่าจะทำหน้าที่ได้ดีกว่า “คน” ในหลายมิติ ซึ่งในหลายแห่งกำลังทดลองอยู่

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดก็เหมือน “เหรียญสองด้าน” ด้านหนึ่งก็เป็น “โอกาส” กล่าวคือ จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของเราในหลายเรื่องได้อย่างก้าวกระโดดเช่นเดียวกัน ช่วยให้เราทำงานได้ด้วยประสิทธิภาพสูงขึ้น ต้นทุนต่ำลง เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการแพทย์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอาหาร

แต่เหรียญอีกด้านก็นำมาซึ่ง “ความท้าทาย” เช่น จะส่งผลให้ตำแหน่งงานหลายอย่างหายไป ทุกธุรกิจต้องปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในวันนี้ internet banking จะเข้ามาทดแทนบทบาทสาขาของธนาคารพาณิชย์ e-commerce เข้ามาทดแทนศูนย์การค้า digital media เข้ามาทดแทนสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ การเปลี่ยนแปลงที่เรากำลังเผชิญอยู่เวลานี้ เป็นแค่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ผมเชื่อว่าเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในความเร็วที่เร็วขึ้น และรุนแรงมากในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ความไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจ และไม่เข้าใจในการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นปัจจัยหลักปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การลงทุนของภาคเอกชนทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ

ปรากฏการณ์ “Butterfly Effect” ง่ายและเร็ว

นอกจากนี้ โลกที่เราอยู่ก็ซับซ้อนมากขึ้น เราเห็นความเชื่อมโยงกันมากขึ้นของมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ จนทำให้พรมแดนของประเทศในหลายๆ มิติหายไป เมื่อผนวกกับพลังของ social media ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “Butterfly Effect” ได้ง่ายขึ้น และเร็วขึ้น เหตุการณ์เล็กๆ เหตุการณ์หนึ่งสามารถกระจายการรับรู้ไปทั่วโลกในเสี้ยววินาที และสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมูลค่าของธุรกิจ วิธีการทำธุรกิจ และนโยบายของภาครัฐและภาคธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างที่ผมเชื่อว่าหลายท่านคงจำได้ คือ ภาพเหตุการณ์ผู้โดยสารคนหนึ่งถูกฉุดลากลงจากเครื่องบินเมื่อไม่นานนี้

ถ้าเราหันมามองบริบทของเศรษฐกิจไทยบ้าง แม้ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคใหม่ และสภาวะ VUCA ในตลาดเงินและตลาดทุนโลกที่เคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้น ยากที่จะคาดเดา ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยในภาพรวมสามารถเติบโตได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ณ ขณะนี้ก็ชัดเจนมากขึ้น กระจายตัวมากขึ้น คาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีกว่าที่ผ่านมา

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยสามารถทนทานความผันผวนและแรงปะทะได้ดีระดับหนึ่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ทำให้ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและภาคธุรกิจต้องปรับตัว ดำเนินการต่างๆ ด้วยความรอบคอบระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการจัดโครงสร้างทางการเงินให้เหมาะสม อัตราส่วนหนี้ต่อทุนของบริษัทจดทะเบียนที่เคยสูงถึงประมาณ 5 เท่าในช่วงก่อนวิกฤติปี 2540 ลดลงเหลือไม่ถึง 2 เท่าในปัจจุบัน ขณะที่เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาคของไทย ไม่ว่าจะเป็นอัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ ฐานะทางการคลัง ตลอดจนฐานะด้านต่างประเทศก็อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ทั้งหมดนี้ทำหน้าที่เป็นเสมือน “กันชน” ที่ช่วยรองรับแรงปะทะและจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถปรับตัวและเติบโตได้ดีระดับหนึ่งท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

ปัญหาเชิงโครงสร้าง-ภาระต้นทุนแฝง

อย่างไรก็ดี เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยแม้ว่าเราจะมีกันชนที่ดีแต่กำลังเผชิญ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ที่สำคัญหลายเรื่อง ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไข จะฉุดรั้งการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป รวมทั้งสร้างความเปราะบางและเป็น “ต้นทุนแฝง” ของหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ

การดูแลประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยฟื้นและปรับตัวได้ในระยะสั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่เราต้องระวังไม่ให้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามาบดบังเรื่องสำคัญสำหรับในระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อเราต้องเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกยุคใหม่ ซึ่งต่อจากนี้ไปจะมาเร็วขึ้น ผมเห็นว่าปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญสำหรับอนาคตของเศรษฐกิจสังคมไทยมีอย่างน้อย 3 เรื่องด้วยกันที่จะขออนุญาตเรียนนำเสนอในคืนนี้

ปัญหาแรกคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งในมิติของรายได้และโอกาส แม้การพัฒนาประเทศของเราจะก้าวหน้าไปตามลำดับ แต่สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำกลับไม่ดีขึ้น ตัวเลขสถิติหลายตัวสะท้อนว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำยังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ เช่น

  • กลุ่มคนรวยที่สุดร้อยละ 10 แรกของประเทศ มีรายได้มากกว่ากลุ่มคนที่จนที่สุดร้อยละ 10 สุดท้าย ถึง 22 เท่า
  • ที่ดินทั่วประเทศกว่าร้อยละ 60 ถือครองโดยคนกลุ่มที่รวยที่สุดเพียงร้อยละ 10 แรก เท่านั้น
  • คนน้อยกว่าร้อยละ 2 ของประเทศ เป็นเจ้าของมูลค่าเงินฝากในระบบถึงกว่าร้อยละ 80

นอกจากความเหลื่อมล้ำด้านรายได้หรือทรัพย์สินแล้ว ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสในประเทศก็สูงขึ้นมากเช่นกัน คนที่มีฐานะความเป็นอยู่ด้อยที่สุดร้อยละ 10 ของประเทศมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับปริญญาตรีและ ปวส. เพียงประมาณร้อยละ 4 ของจำนวนคนในกลุ่มเท่านั้น สะท้อนว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้ศึกษาต่อและมีอัตราการ drop out สูงมาก นอกจากนี้ โอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตและโอกาสในการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงบริบทของโลก มีจำกัดมากในสังคมไทย

“ผมคิดว่าหากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขและปล่อยให้เลวร้ายลงแล้ว จะยิ่งทำให้ปัญหาความแตกแยกในสังคมและการแบ่งขั้วทางความคิดรุนแรงขึ้น ดังที่เราเห็นบทเรียนหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา”

ปัญหาเชิงโครงสร้างปัญหาที่สอง คือ ปัญหาศักยภาพการเติบโตที่ลดลง หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่าประเทศไทยได้ผ่านจุดสูงสุดของจำนวนประชากรในวัยทำงานมาแล้ว และในตอนนี้ประชาชนวัยทำงานจะลดลงทุกปี และอีกไม่ถึง 15 ปีประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ” คือ มีผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 4 ในขณะที่อัตราการเกิดอยู่ในระดับต่ำ โครงสร้างประชากรเช่นนี้จะทำให้ศักยภาพการเติบโตของประเทศลดลงมาก และผลที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย จะไม่เกิดขึ้นในลักษณะเส้นตรง (linear) แต่จะเกิดขึ้นเร็ว เมื่อแต่ละภาคส่วนลุกขึ้นปรับตัว เตรียมพร้อมรับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะเกิดขึ้น

นอกจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ผมเชื่อว่าหลายท่านในห้องนี้เห็นตรงกันว่าธุรกิจกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งด้านปริมาณและทักษะความชำนาญที่ตรงกับความต้องการ ตลาดแรงงานต้องการแรงงานที่มีทักษะและด้านวิชาชีพมากขึ้น แต่แรงงานส่วนใหญ่กลับเป็นบัณฑิตในระดับปริญญา จำนวนมากขาดทักษะวิชาชีพ ด้านภาษาและทักษะเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นทักษะที่จำเป็นในบริบทโลกยุคใหม่

ขณะเดียวกัน ปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ด้อยลง ยิ่งทำให้ปัญหานี้น่ากังวลมากขึ้น ผลการทดสอบนานาชาติชี้ว่าเด็กไทย มีทักษะการแก้ปัญหาขั้นสูงเพียงร้อยละ 2 ในขณะที่เด็กสิงคโปร์และเวียดนามมีทักษะนี้สูงถึงร้อยละ 35 และร้อยละ 12 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงเป็นอีกหนึ่งปัญหาหนึ่งที่ฉุดรั้งศักยภาพคนไทยในระดับปัจเจก ข้อมูลในระดับจุลภาคที่เราทำการศึกษา พบว่า ปัจจุบันคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น เป็นหนี้มากขึ้น และเป็นหนี้นานขึ้น คือ ระดับหนี้ไม่ได้ลดลงแม้ว่าจะเข้าสู่วัยใกล้เกษียณ และแทบไม่น่าเชื่อว่าถ้าดูเฉพาะกลุ่มประชากรอายุ 30 ปี ซึ่งเป็นวัยสร้างฐานะสร้างครอบครัว ประมาณครึ่งหนึ่งมีหนี้ และคนที่มีหนี้ กว่า 1 ใน 5 มีหนี้เป็นหนี้ค้างชำระเกินกว่า 90 วัน คนที่ตกอยู่ในภาวะ “หนี้ท่วม” เช่นนี้ ย่อมพะวักพะวน เครียด ขาดสมาธิในการทำงาน ยากที่จะทำงานได้เต็มศักยภาพ หรือยกระดับศักยภาพของตนเองได้

ปัญหาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) เป็นอีกปัญหาสำคัญที่จะมีผลไปสู่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ งานศึกษาของ OECD ทั่วโลกชี้ว่า บริษัทขนาดใหญ่มีผลิตภาพ (productivity) โดยรวมสูงกว่าบริษัททั่วไปขนาดกลางและขนาดเล็กเฉลี่ย 4-5 เท่า และมี ผลิตภาพ (productivity) ของแรงงานสูงกว่าถึง 10 เท่า ข้อเท็จจริงเหล่านี้สะท้อนว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจะเผชิญปัญหาไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพได้ทันบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ อันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งโลก

หากดูข้อมูล NPL ที่แยกตามขนาดของธุรกิจในประเทศไทย เราจะเห็นการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ในหลายภาคธุรกิจ อาทิเช่น ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัด ธุรกิจก่อสร้าง และการค้าส่งและปลีก ในภาคธุรกิจเหล่านี้เราเห็น NPL ของธุรกิจขนาดใหญ่มีแนวโน้มลดลง สวนทางกับ NPL ของ SMEs ที่โน้มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะ SMEs มีสายป่านสั้นทำให้แข่งไม่ได้ในภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตต่ำมาเป็นเวลานาน แต่อีกส่วนเชื่อว่าเป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ทำให้ SMEs โดยเฉพาะ SMEs ในต่างจังหวัดไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่จากส่วนกลางที่มีความสามารถในการแข่งขันเหนือกว่า ไม่ว่าจะเป็นในด้านผลิตภาพ เทคโนโลยีที่สูงกว่า หรือเครือข่ายการทำธุรกิจที่กว้างกว่า

การยกระดับศักยภาพของ SMEs เป็นเรื่องที่ต้องทำจริงจังและทำอย่างรอบด้าน ที่ผ่านมาเราอาจจะให้น้ำหนักกับเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อมาก เพราะการเข้าถึงสินเชื่อหรือตัวเลขภาคการเงินเห็นได้ง่าย เป็นกระจกเงาที่สะท้อนปัญหาการทำธุรกิจของ SMEs แต่การเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ผมคิดว่าไม่ใช่ประเด็นหลักที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพ และลดความเสี่ยงของการทำธุรกิจ SMEs ในระยะยาว ข้อมูลจากระบบการเงินพบว่าในเวลานี้ SMEs จำนวนไม่น้อยมีวงเงินสินเชื่อเหลือ อัตราการใช้สินเชื่อลดลงในช่วงที่ผ่านมาเหลือเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของวงเงินที่มี รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ SMEs ที่มีศักยภาพได้รับก็อยู่ในระดับต่ำลงกว่าเดิมมาก

“ผมคิดว่า SMEs ต้องการการสนับสนุนด้านความคิด การบริหารจัดการ เครือข่ายการทำงาน เทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนา ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่จะสนับสนุนศักยภาพ SMEs ให้สูงขึ้น ถ้าหากไม่ได้รับการดูแลแล้ว จะยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น เศรษฐกิจฐานรากจะเปราะบาง และย้อนมาเป็นปัญหาของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม”

ปัญหาที่สาม คือ ปัญหาคุณภาพขององค์กรภาครัฐ แม้ที่ผ่านมาภาครัฐพยายามปรับปรุงการบริหารงานและการบริการในหลายด้าน แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณภาพและประสิทธิภาพขององค์กรภาครัฐหลายเรื่องต้องได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น เช่น ปัญหาคอร์รัปชัน ที่ยังเป็นปัญหารุนแรง ดัชนีการจัดอันดับความโปร่งใส (Corruption Perceptions Index) ปี 2559 ของไทยอยู่อันดับที่ 101 จาก 176 ประเทศ เราทุกคนตระหนักดีว่า ไม่มีธุรกิจไหนที่เก่งและดี อยากทำธุรกิจในสังคมที่มีการคอร์รัปชันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เพราะจะต้องเผชิญแต่ความไม่แน่นอน ไร้กฎเกณฑ์ และมีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ จนเป็น “ต้นทุนแฝง” ที่ไม่สร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ

อีกปัญหาสำคัญขององค์กรภาครัฐคือ กฎหมายและกฎระเบียบจำนวนมากไม่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย หลายท่านอาจจะไม่เชื่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ รวมกันมากกว่า 1 แสนฉบับ และ มีใบอนุญาต มากกว่า 3,000 ประเภท ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับการปรับปรุงมานาน และจำเป็นต้องได้รับการทบทวนให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของบริบททางเศรษฐกิจและสังคม กฎหมายและกฎระเบียบจำนวนมากเหล่านี้ นอกจากจะเปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจ นำไปสู่ปัญหาคอร์รัปชันแล้ว ยังทำให้การบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ และที่สำคัญเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรม เพราะกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ เขียนขึ้นตามบริบทของโลกเดิม วิธีปฏิบัติแบบเดิม ไม่เอื้อต่อการทำงานในบริบทของโลกใหม่ ที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว

ผู้เชี่ยวชาญในหลายๆ องค์กร ประเมินว่า กฎระเบียบจำนวนมากนี้ก่อให้เกิดต้นทุนประมาณร้อยละ 10-20 ของ GDP และส่งผลต่อความยากง่ายในการทำธุรกิจ (ease of doing business) รวมทั้ง ความน่าลงทุนและความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภาพรวม หลายประเทศที่ปฏิรูปกฎหมายอย่างจริงจังได้ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และต้นทุนการทำธุรกิจลดลง

หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่า ในปี 2551 เกาหลีใต้มีอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจอยู่ที่อันดับ 23 ต่ำกว่าไทยซึ่งอยู่ที่อันดับ 13 ขณะที่ ในปีที่แล้วอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจของไทยตกไปอยู่อันดับที่ 46 ขณะที่เกาหลีใต้อยู่อันดับ 5 สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคงเป็นเพราะเกาหลีใต้ปฏิรูปกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจอย่างจริงจัง

ภายใต้บริบทของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประเทศต้องเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างหลายเรื่อง ประกอบกับเราไม่อาจคาดหวังให้การแก้ปัญหาต่างๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้น ยากขึ้น เป็นหน้าที่ของภาครัฐแต่เพียงผู้เดียว เพราะแม้ว่าภาครัฐกำลังดำเนินการปฏิรูปในหลายด้าน แต่ก็มีข้อจำกัดไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างสถาบัน กฎระเบียบ บุคลากร ตลอดจนกระบวนการทำงานที่มีขั้นตอนมาก

หยุดซื้อเวลา ภาคธุกิจต้องรวมพลังเป็น “Good Corporate Citizen”

คำถามสำคัญคือ คนกลุ่มใดบ้างที่จะสามารถเป็นพลังและมีศักยภาพที่จะช่วยยกระดับคุณภาพของสังคมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างเป็นรูปธรรม

ผมคิดว่า “ภาคธุรกิจ” โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่มีศักยภาพสูงมากที่จะทำหน้าที่นี้ได้อย่างดี เพราะนักธุรกิจ โดยเฉพาะผู้บริหารธุรกิจขนาดใหญ่มี “ประสบการณ์” และ “ทักษะ” ในการบริหารการเปลี่ยนแปลง และหลายธุรกิจของไทยก็มีความสามารถทัดเทียมกับคู่แข่งในระดับโลก เข้าใจบริบทการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในโลก อีกทั้ง ภาคธุรกิจมีทุนและบุคลากรที่มีความสามารถ ที่สำคัญคือ ภาคธุรกิจ “คิดไกล” และ “คิดแบบมีพลวัต” เพราะการลงทุนทางธุรกิจต้องคิดถึงผลตอบแทนและสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจในระยะยาว

นอกจากภาคธุรกิจจะมีศักยภาพที่จะยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยและยกระดับคุณภาพของสังคมไทยแล้ว เมื่อพิจารณาบางปัญหาที่รุนแรงและไหลลงอย่างรวดเร็ว หลายท่านคงเห็นไม่ต่างจากผมว่า หากเราไม่ช่วยกันคนละไม้คนละมือแก้ไขปัญหาเหล่านี้แล้ว ในที่สุด ผลเสียที่เกิดขึ้นจะกลับมาเหนี่ยวรั้งศักยภาพของภาคธุรกิจ เป็นต้นทุนแฝงในอนาคตที่อาจจะสูงกว่าต้นทุนของการแก้ไขปัญหาในวันนี้มาก ถ้าเรายัง “ซื้อ” เวลาต่อไปเพราะคิดว่า เป็นเรื่องระยะยาว เราอาจจะเหลือโอกาสน้อยมากที่จะคิดถึงเรื่องความยั่งยืน เพราะในอนาคตเราต้องใช้ทรัพยากรส่วนใหญ่ดิ้นรนแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อความอยู่รอด ไม่สามารถ “เดินหน้า” ให้ยั่งยืนอย่างมียุทธศาสตร์ได้

คำถามสำคัญต่อมาคือ ภาคธุรกิจควรมีบทบาทอย่างไรในการยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยและคุณภาพของสังคมไทย ผมคิดว่าภาคธุรกิจ ซึ่งมีคณะกรรมการบริษัทเป็นมันสมองสำคัญในการคิดพิจารณา วางแผนสั่งการ และกำกับการทำงานของธุรกิจ สามารถมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างน้อย 3 มิติ ดังต่อไปนี้

มิติที่ 1 ภาคธุรกิจต้องตระหนักว่าตนมีบทบาทของการเป็นพลเมืองที่ดี หรือ “Good Corporate Citizen”

กล่าวคือ ธุรกิจพึงตระหนักว่าการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เป็นหน้าที่ที่สำคัญของตน ธุรกิจสามารถตอบโจทย์ของสังคม ไปพร้อมกับการขยายธุรกิจ การทำกำไรและสร้างความสามารถในการแข่งขันของตนได้ด้วย หากทำสำเร็จ ก็จะช่วยแก้ปัญหาของประเทศในลักษณะที่เรียกว่า “ธุรกิจชนะ สังคมวัฒนา”

อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนเรื่องนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้าเราไม่ได้รับความสำคัญจากคณะกรรมการของบริษัทและผู้บริหารระดับสูง เพราะท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ขององค์กร การสร้าง tone from the top ให้ถูกเปรียบเสมือนการ “การกลัดกระดุมเม็ดแรก” ให้ถูก ผมคิดว่าในการเป็น Good Corporate Citizen ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการได้อย่างน้อย 2 ด้าน โดยผมจะขอใช้ตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นในธุรกิจธนาคารพาณิชย์มาเล่าให้ฟัง

ด้านที่หนึ่ง ธุรกิจต้องไม่สร้างปัญหาเพิ่มเติมให้กับสังคม

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ไทยได้ร่วมมือกันปรับปรุง “จรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์” ให้ทันสมัยเท่าทันกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป และเท่าทันกับความคาดหวังของลูกค้าและสังคม ธนาคารพาณิชย์ไทยได้ตกลงร่วมกันที่จะยึดมั่นจรรยาบรรณนี้เป็นหลักในการประกอบธุรกิจ หลายเรื่องที่ปรากฏในจรรยาบรรณฉบับนี้ เป็นเรื่องที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยมีข้อกังขาหรือประสบปัญหาอยู่และธนาคารพาณิชย์ตกลงร่วมกันที่จะแก้ไขอย่างจริงจัง เช่น การเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่ต้องตรงกับความต้องการของลูกค้า การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การเงินอย่างตรงไปตรงมา การรักษาข้อมูลลูกค้าเป็นความลับ การจัดการเรื่องร้องเรียนของลูกค้าด้วยขั้นตอนที่ชัดเจนและเหมาะสม รวมถึงตกลงที่จะไม่ร่วมกันกำหนดราคาการให้บริการอย่างไม่เป็นธรรม สิ่งเหล่านี้ด้านหนึ่งสะท้อนความตั้งใจที่จะดูแลและให้บริการลูกค้าอย่างตรงไปตรงมาและเป็นธรรม และอีกด้านก็สะท้อนความพยายามที่จะไม่สร้างปัญหาเพิ่มเติมให้กับสังคม

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ผมเชื่อว่าทุกท่านคุ้นเคยดี คือ การร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา“คอร์รัปชัน” ผ่าน “องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน” เพราะถ้าเราไม่สามารถหยุดยั้งปัญหาคอร์รัปชันได้ ต้นทุนการทำธุรกิจจะสูงขึ้นมาก อัตราการจ่ายเงินใต้โต๊ะจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการแข่งขันจะไม่วัดที่ความสามารถ เพราะการแข่งขันจะขึ้นอยู่กับว่า “ใครจ่ายมากกว่า” ผลที่ตามมาคือ “ธุรกิจที่เก่งและดี” จะไม่มีที่ยืนในสังคมไทย

ด้านที่สอง ของการทำหน้าที่ Good Corporate Citizen คือการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาในเรื่องที่ตนเองมีความชำนาญ หรือมีบทบาทเกี่ยวข้อง

เรามักจะได้ยินบ่อยๆ ว่า ภาคธุรกิจเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาของเศรษฐกิจไทย เรามีภาคธุรกิจที่เก่งในหลายด้าน ถ้าแต่ละแห่งช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาในงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตนหรือที่ตนมีความชำนาญ เมื่อรวมกันก็จะกลายพลังใหญ่ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพของสังคมได้

ช่วงที่ผ่านมาเราเห็นภาคธุรกิจเข้าไปร่วมในหลายโครงการพัฒนาสังคมโครงการประชารัฐ แต่อาจจะไม่พอ ไม่เท่าทันกับปัญหาของสังคมไทยที่ไหลลงเร็วและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดเร็วขึ้น ผมขอสนับสนุนให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะคณะกรรมการบริษัทมองกว้างถึงความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจของตนกับภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม มองยาวไปในอนาคตถึงผลประโยชน์ หรือผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ถ้าเราทำแต่เพียงแบบเดิมๆ หรือนิ่งเฉยไม่ทำอะไร การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ผมขอเล่าให้ฟังถึง 2 โครงการที่ธนาคารพาณิชย์ได้ดำเนินการร่วมกันในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาเพิ่มเติมจากเรื่องจรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์

1. โครงการ “พร้อมเพย์” ที่สมาคมธนาคารไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลังและอีกหลายหน่วยงานร่วมมือกันผลักดันให้เกิดขึ้น แม้ว่าระบบพร้อมเพย์เมื่อประชาชนใช้บริการจนเป็นที่นิยมเต็มที่แล้ว จะทำให้ธนาคารพาณิชย์เสียรายได้จากค่าธรรมเนียมเงินโอนผ่านช่องทางเดิมๆ นับหมื่นล้านบาทต่อปี และมีต้นทุนต้องปรับรูปแบบช่องทางการให้บริการอีกไม่น้อย แต่ธนาคารพาณิชย์ได้ร่วมกันเสียสละผลประโยชน์ เพื่อสร้างระบบพร้อมเพย์ขึ้นมา ซึ่งเปรียบเหมือน “ถนนสายใหม่ด้านการชำระเงิน” ของประเทศ เป็นถนนที่จะช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงิน เพิ่มประสิทธิภาพการจ่ายเงิน รวมทั้งการจ่ายเงินสวัสดิการของภาครัฐ และช่วยให้ประชาชนในระดับฐานรากเข้าถึงบริการชำระเงินในราคาที่ถูกที่สุดในโลก เพราะการโอนเงินต่ำกว่า 5 พันบาทที่ไม่มีค่าธรรมเนียม มีความหมายต่อคนระดับฐานรากมาก และในระยะยาว พร้อมเพย์จะช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการ เงินสดของประเทศ ซึ่งสูงกว่าหลายหมื่นล้านบาทในแต่ละปี รวมทั้งระบบพร้อมเพย์สามารถช่วยต่อยอดการทำธุรกิจ ได้อีกมาก โดยเฉพาะธุรกิจด้าน e-commerce

2. โครงการที่สองที่เราเพิ่งประกาศไป คือ โครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ด้วยการจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานกลางเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับลูกหนี้บุคคลที่มีเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งปกติลูกหนี้ต้องเจรจากับเจ้าหนี้แต่ละแห่งที่มีหลักเกณฑ์และมาตรฐานแตกต่างกัน ทำให้ประสบความสำเร็จได้ยาก คนก็จะติดในวงจรหนี้ โครงการคลินิกแก้หนี้จะช่วยให้ลูกหนี้ที่สุจริตและมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหา มีทางออก สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จและมีภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงมาก ในขณะเดียวกันก็ลดปัญหา coordination failure ระหว่างเจ้าหนี้หลายราย โดยจะมีบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางที่จะทำหน้าที่แทนเจ้าหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับศักยภาพการจ่ายของลูกหนี้ โครงการคลินิกแก้หนี้จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ภาคธุรกิจสามารถร่วมกันช่วยแก้ไขปัญหาสังคมที่ตนอาจจะมีส่วนร่วมทำให้เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจที่ผ่านมา

แนวคิด “ธุรกิจชนะ สังคมวัฒนา” ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินฝัน หากทุกคนมีทัศนคติในการทำงานเช่นนี้ จะสามารถช่วยกันยับยั้งปัญหาของประเทศที่ไหลลงได้ ภาคธุรกิจไม่ควรประเมิน “พลัง” ของตัวเองในการเป็น Good Corporate Citizen ต่ำเกินไป ในเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ เกี่ยวกับการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า

“…ตั้งแต่สมัยโบราณ ใครเป็นพระเจ้าแผ่นดินเป็นพระเจ้าอยู่หัวก็ต้องดูแลราษฎร อีกประการหนึ่งคือ ท่านเป็น “พลเมืองดี” ของชาติ การเป็นพลเมืองดีคือ เห็นอะไรที่เราจะทำเพื่อบ้านเมืองได้ก็ต้องทำ …”

ในทางตรงกันข้าม หากภาคธุรกิจยัง “รีรอ” ไม่คิดจะใช้ “พลัง” ที่มีเพื่อช่วยแก้ปัญหาสังคม เพราะ “กลัว” เสียผลประโยชน์ในระยะสั้น แล้วปล่อยให้ปัญหาต่างๆ ใหญ่โตขึ้น สุดท้าย ปัญหาเหล่านั้นก็จะส่งผลย้อนมากระทบตัวธุรกิจเอง เพราะถ้าปัญหาสังคมโดยรวมรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แล้วธุรกิจจะต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งต้นทุนทางตรงและต้นทุนแฝง

คณะกรรมการบริษัทที่ดี ภูมิคุ้มกันที่สร้างได้

มิติที่ 2 ที่คณะกรรมการบริษัทอาจจะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่ม “ผลิตภาพ”

วันนี้ที่เราเห็นศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจลดต่ำลง และประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในไม่ช้า หมายความว่าในอนาคต คนไทยในวัยทำงานต้องเก่งขึ้นกว่าคนไทยในวันนี้มาก ต้องมีผลิตภาพสูงขึ้น เพราะคนไทยแต่ละคนต้องทำงานเพื่อเลี้ยงดูผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น เรื่องผลิตภาพเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญ การเพิ่มผลิตภาพสามารถทำได้หลายแนวทาง เช่น การใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลิตภาพ เป็นเรื่องที่สำคัญการลงทุนของภาคธุรกิจไม่ควรคิดเพียงเพื่อ เพิ่มกำลังการผลิตอย่างเดียว แต่จำเป็นที่จะต้องลงทุนเพื่อเป็นฐานของการสร้างนวัตกรรม การวิจัยและการพัฒนา (R & D) เพื่อยกระดับศักยภาพและผลิตภาพของธุรกิจของตน พลังของเทคโนโลยีสมัยใหม่จะทำให้โลกใหม่ของเรามีข้อมูลรายธุรกรรม (digital footprint) ของทุกกิจกรรมในการดำเนินชีวิตของเรา ข้อมูลในระบบ digital จะเป็นพลังมหาศาลที่จะช่วยให้เรายกระดับประสิทธิภาพการทำงานได้หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการวางแผน การทำการตลาด รวมถึงการบริหารความเสี่ยง มองไปข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าเดิมมาก ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทัน

นอกจากนี้ การลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพที่จะสำคัญมากขึ้นในโลกใหม่ คือ การลงทุนในสิ่งที่เรียกว่าเป็นทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ (intangible assets) ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property) การสร้างบุคลากรโดยเฉพาะผู้นำขององค์กร การสร้างระบบจัดการความรู้ในองค์กร ตลอดจนการพัฒนาความรู้และทักษะตลอดชีวิตการทำงานของพนักงาน

การพัฒนาคนในภาคธุรกิจมีความสำคัญมาก ทุกวันนี้คนไทยในวัยแรงงานอยู่ในภาคเอกชนมากกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด การสร้างคนของภาคธุรกิจจึงเท่ากับการสร้างคนให้กับประเทศ ในบริบทของโลกยุคใหม่ คนไทยต้องมีทักษะหลายอย่างที่ระบบการศึกษาดั้งเดิมอาจจะไม่ได้สอนไว้ ถ้าจะให้คนไทยเก่งขึ้น เท่าทันกับบริบทของโลกยุคใหม่แล้ว ภาคธุรกิจจะสามารถมีบทบาทสำคัญ ในการยกระดับศักยภาพของคนไทยให้มีทักษะที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ได้ ตลอดชีวิต มีทักษะที่จะรับมือ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้

ในโลกที่ซับซ้อนมากขึ้น ทักษะที่จะมีความสำคัญมากขึ้น มีหลายเรื่องตั้งแต่ทักษะในการคิดอย่างเป็นระบบ มีตรรกะ ทักษะในการคิดสร้างสรรค์ ทักษะในการสื่อสาร และที่สำคัญคือทักษะในการประสานความร่วมมือกับคนอื่นในการแก้โจทย์ที่ยาก เรามักได้ยินว่าคนไทย “เก่ง” แต่เป็นความเก่งเฉพาะบุคคล ขณะที่การทำงานร่วมกับผู้อื่นกลับ “มีข้อจำกัด” ในอนาคตความสามารถประสานความร่วมมือจะยิ่งสำคัญมากขึ้น ซึ่งตรงนี้คือจุดแข็งของภาคธุรกิจไทย และภาคธุรกิจสามารถที่จะช่วยสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะแบบนี้แก่สังคมไทยได้

มิติที่ 3 ของการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ คือ ธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการ “สร้างภูมิคุ้มกัน”

ในบริบทโลกที่เป็น VUCA ที่ผันผวนมากขึ้น ไม่แน่นอน ซับซ้อน ยากที่จะคาดเดา จำเป็นอย่างยิ่งที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญต่อ “การสร้างภูมิคุ้มกัน” ธุรกิจจำเป็นต้องมีทักษะและความสามารถในการบริหารจัดการความผันผวนและความไม่แน่นอนในรูปแบบต่างๆ
ในด้านการเงินนั้น ธุรกิจต้องเข้าใจลักษณะความเสี่ยงทางการเงินสมัยใหม่ สามารถบริหารจัดการความเสี่ยง กระจายความเสี่ยง และจัดโครงสร้างทางการเงินได้อย่างเหมาะสม เราต้องช่วยกันดูแลไม่ใช้เงินกู้ระยะสั้นสำหรับลงทุนในโครงการระยะยาว (maturity mismatch) ไม่ใช้เงินสกุลต่างกันระหว่างหนี้สินและทรัพย์สินโดยไม่ปิดความเสี่ยงจนเกิด (currency mismatch) และต้องบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยไม่ชะล่าใจว่าจะมีใครมาคอยดูแลความเสี่ยงเรื่องค่าเงินให้ เราต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นในช่วงหลังนี้มีสาเหตุสำคัญมาจากเหตุการณ์นอกประเทศเป็นหลัก ในวันนี้น่ากังวลใจเพราะงานศึกษาของ ธปท. ที่ลงรายละเอียดพบว่า ผู้ส่งออกกว่าร้อยละ 60 ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

นอกจากด้านการเงินแล้ว การสร้างภูมิคุ้มกันที่สำคัญมาก คือ การบริหารความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ หรือ strategic risks หนึ่งในความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ของโลกยุคใหม่คือ การไม่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (business model) ได้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ในโลกยุคใหม่นี้ การยึดติดกับความสำเร็จในอดีตก็นับว่าเป็นความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ที่ต้องระมัดระวัง เราเห็นบทเรียนของหลายบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องล้มไปเพราะปรับตัวไม่ทัน ดังนั้น การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีความคล่องตัว (agility) มีกรอบความคิดที่ยืดหยุ่น เป็นภูมิคุ้มกันที่จำเป็นสำหรับธุรกิจในโลกยุคใหม่

นอกจากนี้ การละเลยและไม่คำนึงถึงผลกระทบของการทำธุรกิจต่อสังคม และไม่เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจของตนกับของสังคม ก็เป็นความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์และความเสี่ยงต่อชื่อเสียงที่สำคัญของธุรกิจเช่นกัน ธุรกิจจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการมองรอบ มองกว้าง มองไกล และมองด้วยความเข้าใจ

แนวทางหนึ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องนี้ในระยะยาวในความคิดของผมคือ “การสร้างความไว้วางใจ” จากผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งในประเทศไทยมีหลายบริษัทได้ยึดถือเรื่องนี้เป็นแนวปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องและเป็นต้นแบบที่ดี ในโลกธุรกิจที่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นรวดเร็วจากพัฒนาการทางเทคโนโลยี ความคาดหวังและมาตรฐานของสังคมจะสูงขึ้น จะทำให้โจทย์ของธุรกิจยากขึ้น ในสภาวะที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เรื่องหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจได้เปรียบคู่แข่งคือ “ความไว้วางใจ” จากคนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้บริโภค ผู้ผลิตวัตถุดิบต้นทาง พนักงาน ตลอดจน ชุมชนและสังคมรอบตัว จะต้องสร้างความไว้วางใจให้ประชาชนสามารถตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจได้อย่างโปร่งใส

“สิ่งเหล่านี้ผมเชื่อว่าทุกท่านคงเห็นด้วยว่าไม่ได้เป็นเพียงเรื่องการสร้างภาพ แต่เป็นการสร้างความไว้วางใจจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้วย “จิตวิญญาณ” และ “ปรัชญา” การทำงานขององค์กร ซึ่งหมายความว่า คณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ต้องมีความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง และจริงใจในการดำเนินธุรกิจ”

ภายใต้ความท้าทายและบริบทโลกที่ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และยากที่จะคาดเดา รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างหลายเรื่องที่เรากำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาศักยภาพการเติบโตที่ลดลง ปัญหาผลิตภาพ ปัญหาคุณภาพขององค์กรภาครัฐ ภาคธุรกิจเป็นภาคที่มีศักยภาพสูงมากที่จะมีบทบาทในการเป็นผู้นำ มีบทบาทช่วยแก้ไขปัญหา ยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย และยกระดับคุณภาพสังคมไทยได้ และเป็น “แนวทาง” ที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วย “คณะกรรมการบริษัท” เป็นกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดในการ “กำหนดทิศทาง” จัดสรรทรัพยากรและกำกับการดำเนินงานของภาคธุรกิจเพื่อให้ธุรกิจไทย เศรษฐกิจไทยและสังคมไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ผมเชื่อมั่นว่า ธุรกิจไทยจะชนะได้ก็ต่อเมื่อสังคมไทยวัฒนา