ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท.แจง ผลงานปี 2561 – ระยะต่อไปเน้น Distribution Impact กระจายผลของนโยบาย

ธปท.แจง ผลงานปี 2561 – ระยะต่อไปเน้น Distribution Impact กระจายผลของนโยบาย

27 ธันวาคม 2018


การแถลงข่าวของธนาคารแห่งประเทศ โดย (จากซ้ายไปขวา)นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน และนางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดแถลงข่าวที่สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในโอกาสนำผู้สื่อข่าวสำรวจเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือและฟังการบรรยายสรุปแนวทางการพัฒนาจังหวัดขอนแก่นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ร่วมกับผู้บริหาร 5 สายงานได้แก่ นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน และนางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ได้สรุปการดำเนินงานของธปท.ปี 2561 และเปิดเผยแผนงานในปี 2562

คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน

ดร.วิรไทเริ่มการแถลงข่าวโดยกล่าวว่า ทุกครั้งที่มีการแถลงข่าวประจำปีก็จะถามว่างานที่ธปท.ทำคนไทยจะได้อะไร ในปี 2561 ธปท.ได้ทำงานหลากหลายด้านในการสร้าง การพัฒนาสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยและระบบการเงินยุคใหม่ และชื่อว่าจะให้ประโยชน์ต่อคนไทยในกลุ่มต่างๆได้

งานของธปท.เกี่ยวข้องกับคนไทยหลายกลุ่ม ซึ่งแบ่งออกมาได้แก่ ภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ที่การโอนเงินสะดวกและถูกลง รวมทั้งได้สร้างการชำระเงินอิเลคทรอนิคส์ยุคใหม่ที่ส่งเสริม ปริมาณธุรกิจเพิ่มขึ้นทุกเดือนต่อเนื่อง ยอดเงินต่อธุรกรรรมลดลง แสดงว่าประชาชนได้มีการใช้การโอนเงินอิเลคทรอนิคส์มากขึ้น ขณะที่ยอดการโอนเงินผ่านสาขา ผ่านเอทีเอ็มลดลง มาสู่แพล็ตฟอร์มโมบายแบงกิ้งและอิเลคทรอนิคส์มาก

นอกจากนี้แม้แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนสูงขึ้นจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก การบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องสำคัญ เครื่องมือที่มีในระบบการเงินอาจจะไม่สอดคล้องกับความต้องการ ปีที่แล้วจึงได้พัฒนาเครื่องมือมากขึ้น จะเห็นได้ว่าช่วงครึ่งหลังของปีอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนแต่ภาคธุรกิจบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น ธปท.พยายามลดต้นทุนและความเสี่ยงในการชำระค่าสินค้าด้วยบริการใหม่ ซึ่งตอบโจทย์ธุรกิจ

สำหรับภาคประชาชน ดร.วิรไทกล่าวว่า งานของธปท.เกี่ยวข้องในหลายมิติ อันแรก ส่งเสริมให้ประชาชน เข้าถึงบริการทางการเงินขั้นพื้นฐานและสามารถเลือกใช้บริการทางการเงินได้อย่างเหมาะสม ปีที่แล้วเป็นปีที่ธปท.ประกาศว่าสิทธิการเข้าถึงบริการทางการเงิน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทย และคนไทยจะต้องได้รับบริการด้านนี้จากสถาบันการเงิน ซึ่งนำมาสู่ 2-3 เรื่องสำคัญ เรื่องแรกบัญชีเงินฝากขั้นพื้นฐาน ที่ไม่มีค่าธรรมเนียมสำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อยและประชาชนที่เป็นผู้สูงอายุ

รวมไปถึงการยกระดับกฎเกณฑ์การกำกับดูแลในการให้ความคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินหรือ Market Conduct เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งได้ยกเครื่องระบบปฏิบัติของสถาบันการเงินเกี่ยวกับ Market Conduct นำไปสูการลงโทษสถาบันการเงินที่มีพฤติกรรมที่ไม่สอด คล้องกับแนวปฏิบัติที่ต้องการจะเห็น ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า เรื่องร้องเรียนต่างๆที่รับผ่านศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน 1213 ลดลงมากไม่ว่าจะเป็นการขายพ่วง การบังคับขาย มีสถิติลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยังมีเรื่องที่จะทำต่อไป ไม่ได้หมายความว่าจะจบลงสำเร็จลงแล้ว

ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง การได้รับบริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม ต้องเริ่มต้นจากการที่ประชาชนเข้าถึงอัตราดอกเบี้ยดีแต่ไม่ทราบว่ามีเงื่อนไขเต็มไปหมด เห็นโครงการดอกเบี้ยเงินฝากเก้นอัคราดอกเบี้ยเงืนกาดีแต่ไม่รู้เงื่อนไขอื่น เช่น ต้องซื้อประกันอะไรบ้าง ต้องคงเงินฝากขึ้นต่ำเท่าไร การคงเงินขั้นต่ำ การต้องซื้อผลิตภัณฑ์อื่นพ่วง ซึ่งได้พัฒนาแพล็ตฟอร์มที่สถาบันการเงินเมื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆก็ต้องส่งข้อมูลเข้าแพล็ตฟอร์มของธปท.ให้ประชาชนสามารถเปรียบเทียบได้ ซึ่งเริ่มจากเงินฝากและขยายไปสู่หลายผลิตภัณฑ์ ทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล

อีกด้านหนึ่งที่สำคัญคือการทำให้ประชาชนมีความรู้ทางการเงิน มีความเข้าใจในการบริหารจัดการทางเงินได้ดีขึ้น มีภูมิคุ้มกันทางการเงินได้ดีขึ้น ที่ศูนย์เรียนรู้ของธปท. การสร้างความรู้ความเข้าใจบริการทางการเงิน การสร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดการทางการเงิน เป็นแนวคิดสำคัญที่ธปท.จัดกิจกรรมมาต่อเนื่อง BoT Money Terminal เป็นกิจกรรมที่มุ่งตอบโจทย์เด็กและเยาวชนให้มีความรู้ทางการเงิน

ธปท.ยังทำกิจกรรม Fin ดี we can do เป็นโครงการสำหรับเด็กอาชีวะปีที่แล้ว 17 โรงเรียนได้มาแข่งขันคิดกลไก โมเดลในการส่งเสริมความรู้ในด้านการบริหารจัดการทางการเงินที่นำไปใช้ได้จริง เพราะเน้นย้ำตลอดเวลาว่า ความรู้ที่ให้นั้น ต้องเป็นความรู้ที่มีผลต่อพฤติกรรมของประชาชน ไม่ใช่เพียงเป็นการให้ข้อมูลและใช้ชีวิตในการจัดการทางการเงินเหมือนเดิม

นอกจากนี้การแก้ไขปัญหาหนี้สิน เป็นสิ่งที่ธปท.ให้ความสำคัญ Debt Clinic คลีนิคแก้หนี้ที่เริ่มเมื่อปีที่แล้วมีการขยายเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งขณะนี้พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชกำหนดเอเอ็มซีที่จะทำให้คลีนิคแก้หนี้ขยายเข้าไปสู่วง Non-bank ได้ด้วย และได้ผ่านวาระ 1 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ไปแล้ว เชื่อว่า หากแก้ไขได้เสร็จภายใน 1 เดือน จะทำให้สามารถให้บริการกับลูกค้า non bank ได้ ซึ่งหนี้ประชาชนที่มีปัญหาอยู่ใน non bank จำนวนมาก

ส่วนของสถาบันการเงิน สิ่งที่ธปท.ได้ดำเนินการในปีที่แล้วซึ่งมีส่วนในการสร้างรากฐานให้ระบบสถาบันการเงินของไทยเป็นระบบสถาบันการเงินที่มีเสถียรภาพทางการเงินระยะยาวและสามารถปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนปลงของโลก โดยเฉพาะโลกดิจิทับ ความท้าทายใหม่ๆ ความเสี่ยงใหม่ๆที่กำลังเกิดขึ้น ธปท.ให้ความสำคัญมากกับการสร้างระบบ ecosystem ให้เหมาะสม ซึ่งช่วยให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลาย ซึ่งเมื่อปรับตัวได้เร็วขึ้น ให้บริการได้เร็วขึ้น ต้นทุนทางการเงินกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมจะลดลง ธปท.ต้องการให้สิ่งที่ทำผ่านสถาบันการเงินไปส่งผลไปสู่ประชาชนคนไทย ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจไทย ทำให้ต้นทุนการเงินถูกลง มีนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆมากขึ้น

ยกระดับกำกับดูแลเพื่อให้บริการการเงินที่เป็นธรรม

ธปท.ได้ยกเครื่องการกำกับดูแลให้เป็นสากลมากขึ้น เพราะมีความเสี่ยงใหม่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่ความเสี่ยงเรื่องเงินกองทุนไม่พอหรือความเสี่ยงจากการมีสภาพคล่องจำกัด ความเสี่ยงในขณะนี้ เช่น ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ ถ้าเกิดปัญหาไซเบอร์ขึ้นสถาบันการเงินจะรับมืออย่างไร ตั้ทั้งการป้องกัน ตรวจจับให้ได้เร็ว การกู้คืนระบบ Response and recovery ให้กลับมาทำงานปกติ ที่สำคัญสถาบันการเงินเป็นกลไกที่จัดสรรทรัพยากรที่สำคัญที่สุดหนึ่งของไทย คือ ทรัพยากรทุน ในโลกที่เห็นปัญหาต่างๆที่เกิดจากกระบวนการพัฒนา แนวคิดเรื่องความยั่งยืนเป็นแนวคิดที่สถาบันการเงินไทยต้องให้ความสำคัญมากขึ้น ซึ่งธปท.ได้เริ่มจัดกิจกรรม Sustainable Banking Forum การสร้างความคาดหวังในเรื่องมาตรฐานธุรกิจ เพื่อนำไปสู่การสร้างความยั่งยืน การทำธุรกิจที่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและ ธรรมาภิบาล

ดร.วิรไทกล่าวว่า ปีที่ผ่านมามีการยกเครื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายเรื่องตั้งแต่พระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน เพื่อตอบโจทย์ระบบการชำระเงินอิเลคทรอนิคส์ใหม่ๆ ซึ่งมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในระบบมากขึ้น ลดความกระจัดกระจายของกฎเกณฑ์มากขึ้น จากเดิมที่กระจายอยู่ที่กระทรวงดิจิทัล กระทรวงการคลัง ทำให้กระบวนการกำกับดูแลผู้ให้บริการระบบการชำระเงินไม่เป็นหนึ่งเดียว ไม่สามารถส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆได้ ก็มีการออกพระราชบัญญัติระบบการชำระเงินใหม่ ที่มีผลบังคับใช้เดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีพระราชบัญญัติสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ธปท.ได้เข้าไปมีส่วนร่วมให้ความคิดเห็นกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ผู้รับผิดชอบหลัก

สำหรับการยกเครื่องกฎหมายในส่วนของธปท. ดร.วิรไทกล่าวว่า เนื่องจากมีความเสี่ยงใหม่ๆเกิดขึ้น เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะความเสี่ยงทางด้านการตลาด Market Risk มีความผันผวนสูงขึ้นมาก การกำกับดูแลจะต้องเท่าทัน จึงมีแนวคิดเรื่อง on-going supervision คือการกำกับดูแลโดยต่อเนื่อง เดิมการตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ ธปท.ใช้วิธีการส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบทุกอย่างถึงสถานที่ซึ่งใช้เวลา 45-50 วัน ขึ้นอยู่กับขนาดของธนาคาร แต่โลกยุคใหม่ที่มีข้อมูลสามารถเข้าถึงได้ทุกวัน หลั่งไหลเข้าสู่ธปท.ได้ทุกวัน ธปท.สามารถสามารถคำนวณความเสี่ยงต่างๆได้ทันที และใช้กลไกใหม่ที่มี เช่น Data Analytic การวิเคราะห์ข้อมูล Machine Learning ที่จะยกธงให้ธปท.ได้เห็นชัดเจนว่าความเสี่ยงต่างๆมีอะไรบ้าง และการตรวจสอบสามารถตรวจได้ตรงกับประเด็นความเสี่ยงได้ชัดเจนมากขึ้น

ดร.วิรไทกล่าวถึงมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ได้ประกาศบังคับใช้เมื่อเร็วนี้ว่า ธปท.เห็นว่ามีการลดหย่อนมาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อและมีการรับความเสี่ยงเกินพอดี เวลาที่พูดถึงเศรษฐกิจที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานา การพูดถึง search for yield มากขึ้น การหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นโดยประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร เดิมมีการพุดว่าคนมีเงินเย็นและโยกเงินฝากออกไปลงทุนในสหกรณ์ออมทรัพย์ ในกองทุนประเทต่างๆโดยไม่เข้าใจความเสี่ยง แต่ตอนหลังมีการ search for yield ด้วยการกู้ ไม่ได้ใช้เงินที่มี แต่อาศัยช่องทางสินเชื่อเพื่อที่อยูอาศัย ที่สถาบันการเงินมีการแข่งขันจนเกินพอดี ไปกู้เงินแบบที่เรียกว่ามีเงินทอน และธนาคารก็ให้กู้มากกว่าราคาบ้าน ผู้กู้ได้เงินก้อนมา ดอกเบี้ยค่อนข้างถูก เพราะดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย 3 ปีแรกค่อนข้างถูกก็นำเงินนั้นมาลงทุน หรือทำธุรกรรมอื่น หรือประกอบอาชีพอื่น โดยไม่เข้าใจความเสี่ยง และเชื่อว่าราคาบ้านมีแต่เพิ่มขึ้น และจะปล่อยเช่าได้ แต่อุปทานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมีอุปทานคงค้าง ก็เป็นเหตุผลว่าธปท.ต้องเข้ามาดูแลเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน ด้วยการออกมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

“ในช่วงอีกไม่นานจะมีอีกมาตรการหนึ่ง คือ มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เป็นประเภทของสินเชื่อที่มีจำนวนเป็นแสนล้านบาท แต่ไม่มีกำกับดูแล อันนี้ไม่ได้เป็นประเด็นเสถียรภาพ แต่เป็นการดูแลผู้ใช้บริการทางการเงิน ดูแลเรื่อง market conduct มีเยอะมากที่ผู้ให้บริการมีสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน ซึ่งธปท.จะเข้าไปกำกับดูแลมากขึ้น” ดร.วิรไทกล่าว

ปีที่แล้วธปท.ได้ทดลองทำนวัตกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ที่ธปท.จัดให้มีขึ้น ซึ่งนอกจากจะมี sandbox ต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้สถาบันการเข้ามาทดลอง ก็ยังได้ริเริ่มโครงการ Digital Currency ที่ออกโดยธนาคารกลาง หรือโครงการอินทนนท์ Central Bank Digital Currency ใช้เทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT) เพื่อวางกลไกการชำระเงินระหว่างธนาคารพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแนวคิดการตรวจสอบ

นอกจากนี้ยังได้ใช้ DLT กับกระบวนการขายพันธบัตรออมทรัพย์ให้กับประชาชน ที่เกี่ยวโยงกับหลายหน่วยงาน ซึ่งย่นระยะเวลาที่จะได้รับพันธบัตรจากเดิมใช้เวลา 15 วัน เหลือแค่ 2 วัน ซึ่งจะขยายไปสู่หุ้นกู้ภาคธุรกิจอื่น นอกเหนือจากพันธบัตรรัฐบาล

ปิดช่องโหว่ในระบบสถาบันการเงิน

เรื่องสำคัญอีกหนึ่งเรื่องที่มีความสำคัญ คือ การนำประเทศไทยเข้าสู่การประเมิน FSAP (Financial Sector Assessment Program) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(International Monetary Fund:IMF) ซึ่งไทย ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการการประเมิน FSAP มา 10 ปี FSAP เป็นกลไกประเมินกฎเกณฑ์การกำกับดูแลเสถียรภาพของภาคการเงินทั้งหมดที่ไม่ได้เฉพาะธนาคารพาณิชย์ แต่รวมทั้ง ก.ล.ต. สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ตลาดทุน ประกันภัยประกันชีวิต โดยการประเมินรอบแรกเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาและการประเมินรอบสองเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า หลังจากนั้นจะได้รู้ว่ากลไกการกำกับดูแลของไทยเป็นอย่างไร

“การที่เราเอาระบบการกำกับดูแลกฎเกณฑ์เข้าสู่การประเมินของธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟซึ่งเป็นกระบวนการมาตรฐานสากลที่ดีที่สุดที่เข้มที่สุด ทำให้ต้องเตรียมตัวเยอะมาก ต้องยกเครื่อง ปิดช่องโหว่ต่างๆที่เราอาจจะเคยมีในระบบการเงิน ซึ่งจะทำให้มั่นใจว่าระบบการเงินของเราจะสามารถทนทานต่อแรงกดดันความผันผวน ปัจจัยเสี่ยงต่างๆในอนาคตได้” ดร.วิรไทกล่าว

สำหรับการเตรียมการรับความเสี่ยงใหม่ ดร.วิรไทกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆในการรับมือกับภัยไซเบอร์ โดยปีที่แล้วประสานงานกับสมาคมธนาคารไทยจัดตั้ง CERT (Computer Emergency Response Team )ของภาคธนาคาร เป็นทีมที่แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสถาบันการเงินสามารถร่วมกันคิดหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นจากภัยไซเบอร์ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน Cyber Security ให้กับอุตสาหกรรมด้วย และมีการทดสอบต่อเนื่อง มีการอบรม”

“เรื่องภัยไซเบอร์ใกล้ตัวกว่าที่คิดมาก เมื่อก่อนเราอาจจะตั้งสมมติฐานว่าจะป้องกันอย่างไร ทำอย่างไรจะไม่ให้ถูกโจมตี แต่ยุคนี้ต้องคิดใหม่ว่าหากมีการเจาะเข้ามาในระบบเราได้ เราจะตอบสนองอย่างไร เราจะต่อสู้อย่างไร ดังนั้นจึงต้องมีการซ้อมบ่อย ซึ่งอันนี้ได้ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมในประเทศไทย และทำให้คณะกรรมการตระหนักถึงเรื่องนี้ ว่าไม่ใช่เรื่องของฝ่ายไอทีอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกคนทุกฝ่ายงานที่เกี่ยวข้อง” ดร.วิรไทกล่าว

ทางด้านการปฏิรูปกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินเป็น Regulatory Impact Assessment หรือที่เรียกว่า Regulatory Guillotine ปีที่แล้วได้เริ่มนำมาใช้กับกฎเกณฑ์การกำกับดูแลด้านการแลกเปลี่ยนเงินตรา มีการตัดกฎเกณฑ์ที่ไม่เท่ากันกับสภาวะแวดล้อม ไม่เอื้อต่อการต่อยอด การคิดนวัตกรรมใหม่ๆและสร้างต้นทุนให้กับภาคธุรกิจโดยไม่จำเป็น ออกไป ปีนี้ขยายผลมาสู่การกำกับสำคัญ 2 เรื่อง คือ Digital Banking เพราะกฎเกณฑ์ที่เขียนไว้ไม่เท่าทันสภาวะแวดล้อม และ SME Financing ที่หลายเรื่องเกี่ยวกับกฎเกณฑ์สร้างต้นทุนให้เอสเอ็มอีอย่างไม่จำเป็น

“การปฏิรูปกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินต้องทำต่อเนื่อง มีกฎเกณฑ์อีกหลายอย่างที่เราต้องทำ ที่สำคัญการออกกฎเกณฑ์ใหม่ RIA ต้องเป็นส่วนหนึ่งวัฒนธรรมองค์กรในการออกกฎใหม่”ดร.วิรไทกล่าว

ประสานหน่วยงานอื่นแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ

ดร.วิรไทกล่าวต่อว่า ในปีที่แล้วธปท.ได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เพื่อทำให้นโยบ่ายสอดประสานกันและเห็นความเชื่อมโยงของโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมมากขึ้น ขณะนี้เศรษฐกิจไทยและเศราฐกิจกำลังเข้าสู่ช่วงที่มีการปรับตัว เข้าสู่การปรับโครงสร้างอย่างรุนแรง ด้วยเรื่องของเทคโนโลยี ดิจิทัล ขณะเดียว ไทยมีปัญหาทางโครงสร้างเดิมในหลายมิติ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกำลังเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ไม่มีนโยบายใดนโยบายหนึ่ง ไม่มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมาตอบโจทย์ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ ต้องทำบูรณาการกัน ทำงานอย่างใกล้ชิดกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน หาทางออกช่วยกันแก้ไขปัญหาให้กับระบบเศรษฐกิจ สังคมไทย ซึ่งมีหลายงานที่ธปท.ทำร่วมกับหน่วยงานอื่น ได้แก่ โครงการ National e-payment ที่ทำกับกระทรวงการคลัง ที่ขับเคลื่อนร่วมกันหลายเรื่อง

ด้าน Data Analytic ก็เป็นงานที่สำคัญ ธปท.ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือทุกหน่วยงานที่มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ แต่อาจจะขาดบุคลากร ขาดเครื่องมือที่จะใช้ในการประมวลผล การจัดระเบียบข้อมูล โดยในปีที่แล้ว ธปท.ได้ทำงานร่วมกับกรมศุลกากร กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม ช่วยเข้าไปช่วยจัดการฐานข้อมูลและมาวิเคราะห์ร่วมกัน

งานด้าน Data Analytic ของธปท.มีการพัฒนาที่ค่อนข้างรวดเร็วมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากตั้งหน่วยงานใหม่ เป็นกลุ่มงานด้าน Data Analytic ซึ่งกำลังขยายคาดว่าในปีหน้าจะมีบุคลากรจำนวน 20 คน ขณะเดียวกันมีการให้ทุนพนักงานจากสายงานต่างๆไปเรียนเรื่อง Data Analytic ขณะนี้มีจำนวนกว่า 10 ทุน เพราะ Data Analytic จะต้องเข้าไปเป็นวิธีการทำงานของทุกสายงานของแบงก์ชาติ ทั้งสายนโยบายการเงิน สายสถาบันการเงิน สายตลาดเงิน การกำกับดูแลสถาบันการเงิน การทำงานยุคใหม่การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นทักษะที่สำคัญ

โลกยุคใหม่การเชื่อมต่อข้อมูลต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากและมีเทคโนโลยี API (Application Protocol Interface) ที่ทำให้ข้อมูลไหลเชื่อมต่อกันได้ง่าย ปีที่แล้วได้เริ่มทำเรื่อง API ส่งผลให้ขณะนี้ ข้อมูลกว่า 2 หมื่นรายการที่ส่งออกไปผ่าน API และมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานราชการ ภาคธุรกิจ รวมทั้งองค์กรที่รับfeed ข้อมูลธปท.ต่อเนื่องทุกวัน

นอกจากนี้มีการตั้งฝ่ายงานใหม่ คือ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะตระหนักว่าความรู้ความเข้าใจเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจมีความสำคัญ ธปท.จะสนใจเพียงนโยบายการเงิน เศรษฐกิจมหภาพคในภาพใหย๋อย่างเดียวไม่ได้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงปรับโครงสร้าง และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างมีผลต่อการทำงานของธปท.ค่อนข้างมา ทั้งตลาดแรงงานที่มีผลต่อค่าจ้าง และมีผลกลับมาถึงเงินเฟ้อ เมื่อพูดถึงศักยภาพของเศรษฐกิจไทย จะอาศัยความคิดความเข้าใจศักยภาพเศรษฐกิจไทยในโครงสร้างแบบเดิมไม่เหมาะ เพราะโลกกำลังเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก

งานด้านวิชาการก็เป็นเรื่องที่ธปท.ให้ความสำคัญต่อเนื่อง ซึ่งสถาบันวิจัยป๋วย อึ้งภากรณ์ สายนโยบายการเงิน และสายงานต่างๆได้ให้ความสนใจงานวิจัยมากขึ้น มีผลงานวิจัยออกมาต่อเนื่องและเป็นงานวิจัยที่ใช้ได้จริง เข้าใจปัญหาตอบโจทย์ของปัญหาชัดเจนมากขึ้น เป็นการเริ่มเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรที่เข้าใจปัญหาต่างๆที่ติดดินมากขึ้น เข้าใจที่รากเหง้าของปัญหา การแก้ปัญหาจะได้ตรงประเด็น

“นี่เป็นการสรุปงานที่เราได้ทำในปี 2561 สิ่งที่ถามตัวเองมาตลอดว่า สิ่งที่เราทำแล้วคนไทยได้อะไรคนไทยแต่ละกลุ่มที่เราคาดหวังว่า เขาจะได้รับประโยชน์ เขาได้อะไรจากงานที่เราทำ”ดร.วิรไทกล่าว

ชี้ต้องทำงานเร็วขึ้นรับโลกเปลี่ยน

ดร.วิรไทกล่าวต่อว่า ปีหน้า 2562 เป็นปีที่ 3 ของการทำงานตามแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี ปี 2560-2562 ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มสำคัญ กลุ่มแรก การรักษาเสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็น core mandateภารกิจหลักของแบงก์ชาติ โดยเสถียรภาพมีด้วยกัน 4 ด้าน คือ เสถียรภาพทางการเงิน เสถียรภาพระบบการเงิน เสถียรภาพสถาบันการเงิน และ เสถียรภาพระบบการชำระเงิน เมื่อพ.ร.บ. ระบบชำระเงินฉบับใหม่ออกมา ธปท ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักหน่วยงานเดียวที่ดูแลเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน

ดร.วิรไทกล่าวว่ากลุ่มสองเป็นงานด้านพัฒนา ซึ่งกำหนดงานด้านพัฒนา 3 ด้านด้วยกันคือ หนึ่งพัฒนาระบบการเงิน สองการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำเพื่อการเชื่อมโยงกับต่างประเทศดีขึ้น ต้นทุนทางการเงินที่เกี่ยวการเงินข้ามพรมแดนยังสูงมาก ต้องทำเพิ่มอีกมากเพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยแข่งขันได้ และสามการส่งเสริมบริการอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน

กลุ่มสาม มีความสำคัญมากขึ้นต่อการทำหน้าที่ของธปท.ในระยะยาว คือ การสร้างความเป็นเลิศภายในองค์กร การสร้างความเข้มแข็งภายในองค์กรหรือ Internal Excellence ซึ่งให้ความสำคัญกับการยกเครื่องระบบข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล ความเป็นเลิศด้านงานวิจัย เพราะธปท.เป็นองค์กรนโยบาย จะต้องมีส่วนในชี้นำทิศทาง ชี้นำความคิดต่างๆให้กับสังคม ตั้งบนพื้นฐานของงานวิจัยที่เป็น evidence-based

“การยกระดับบุคลากรเป็นหัวใจสำคัญเพราะทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดที่แบงก์ชาติมีคือ บุคลากร ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงเราต้องยกระดับศักยภาพบุคคลากรในทุกสายงาน ทุกฝ่ายงาน ทุกคน การยกระดับศักยภาพขององค์กร ด้วยวิธีการทำงานใหม่ๆ ก็เป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญ”

“ท้ายสุดการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง ทำอย่างไรให้คนเข้าใจแบงก์ชาติมากขึ้น แบงก์ชาติมีหน้าที่ตอบโจทย์คนไทย มีหน้าที่ให้บริการกับคนไทยหลากหลายกลุ่ม ในโลกที่มีความเห็นขัดแย้งกันมากขึ้น มีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องที่สำคัญ” ดร.วิรไทกล่าว

บริบทที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย สังคมโลกทำให้งานธปท.ใน 1 ปีข้างหน้า กว้างขึ้น ยากขึ้น และต้องทำให้เร็วขึ้น ในเศรษฐกิจโลกไทยต้องเผชิญกับการปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ขณะนี้ไม่เฉพาะประเทศอุตสาหกรรมหลักเท่านั้น แต่จะเห็นว่าประเทศอื่นๆที่เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ประเทศ Advanced Economy แต่ไม่ใช่ประเทศใหญ่ ก็เริ่มปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากวันที่คณะกรรมการนโนบายการเงิน (กนง.) ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในคืนเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมไปถึง สวีเดน เม็กซิโก ที่ปรับดอกเบี้ยขึ้นด้วย

เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะที่นโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น สภาพคล่องในระบบการเงินโลกค่อยๆปรับลดลง และความไม่แน่นอนทางการค้าโลก วันนี้ผลที่เกิดขึ้นและอาจจะเป็นผลที่กว้างและมีผลในระยะยาว ไม่ใช่การต่อสู้กัน เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของอเมริกาเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับภูมิรัฐศาสตร์โลก ปัญหาที่ป้องกันไม่ให้จีนมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะยาว ภูมิรัฐศาตร์โลกเป็นเรื่องใหญ่ที่ไทยต้องเผชิญในปีหน้า ราคาน้ำมันดิบที่ขึ้นลงเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก

สำหรับในประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่มีความไม่แน่นอน มีผลต่อการลงทุนของทั้งไทยและต่างชาติ นโยบาย ต่างๆความต่อเนื่องที่รัฐบาลที่ผ่านมาทำไว้ ก็อาจจะเป็นจุดที่ต้องจับตาเพราะเป็นต่อการฟื้นตัวและการขยายตัวของเศรษฐกิจ การเปลี่ยน แปลงเชิงโครงสร้างมีหลายเรื่องที่ต้องเผชิญ ความคาดหวังของสังคมมีความคาดหวังที่หลากหลายขึ้นและมีความคาดหวังที่แตกต่างกันมากขึ้นสำหรับคนกลุ่มต่างๆของสังคม ในสภาพสังคมเศรษฐกิจไทยที่มีความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น มีความคาดหวังที่จะให้องค์กรภาครัฐที่จะเข้ามาตอบโจทย์ หลายเรื่อง นโยบายเศรษฐกิจ มีการกล่าวกันว่าทำไมแบงก์ชาติไม่คิด ทำไมแบงก์ชาติไม่ช่วยทำ บางเรื่องเกินพันธกิจของแบงก์ชาติ บางเรื่องไม่สามารถทำได้เพียงองค์กรเดียว นโยบายหลักของแบงก์ชาติคือการดูแลเศรษฐกิจในภาพรวม แต่บางเรื่องในช่วงต่อไปต้องให้ความสำคัญกับการกระจายผลประโยชน์ การกระจายผลของนโยบาย (Distribution impact) ที่แบงก์ชาติไปยังคนกลุ่มต่างๆมากขึ้น เพราะสังคมไทยมีแนวโน้มที่มีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

“เราเองก็เผชิญกับความคาดหวังของพนักงานที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยคนรุ่นใหม่เข้ามา วิถีชีวิตพนักงานที่หลากหลายมากขึ้น ตลาดแรงงานมีการแข่งขันที่สูงมากขึ้น บุคคลากรของเราเป็นที่ต้องการของตลาด ดังนั้นใน 3 มิติ การรักษาเสถียรภาพ การพัฒนา และการสร้างความเป็นเลิศให้กับองค์กร ยากขึ้น มีความคาดหวังสูงขึ้นและเราต้องทำเร็วขึ้น” ดร.วิรไทกล่าว

เกาะติดกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่โยงใยเศรษฐกิจในประเทศ

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน กล่าวว่า ยุคนี้เป็นยุคผันผวน มีความไม่ชัดเจนทำให้การมองไปข้างหน้า ประเมินสถานการณ์ทำได้ยากขึ้น ความเสี่ยงในการมองไปข้างหน้ามีหลายเรื่อง ทั้งการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ ภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่กระจายในหลายจุดของโลก ทั้งยุโรป ตะวันออกกลาง คาบสมุทรเกาหลี แม้ในประเทศการเลือกตั้งก็ยังมองไม่ชัดเจน

นายเมธีกล่าวว่า ในภาวะที่มีความผันผวน เศรษฐกิจการเงินต้องแข็งแกร่ง ต้องสามารถรองรับแรงกระแทกจากคลื่นลมได้ ผู้กำกับดูแลนโยบายและผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องมีความสามารถในการหลบเลี่ยงผลกระทบต่างๆและแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างทางได้ และต้องพยายามนำประสบการณ์ที่มีมาใช้ในการแก้ไขปัญหา

การผสมผสานเครื่องมือนโยบาย ที่มีหลายเครื่องมือ ต้องมีส่วนผสมที่ลงตัว เป็นการผสมผสานนโยบาย (policy mixed) ที่ต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ของไทย ทั้งนโยบายอัตรา นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ต้องตอมรับกันและสอดคล้องกับเศรษฐกิจแต่ละช่วง ส่วนการดูแลระบบเสถียรภาพทางการเงิน ที่เมื่อเร็วๆนี้ได้ออกมาตรการสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ เป็นเครื่องมือที่สำคัญ ปีต่อไปมีบางเรื่องอาจจะต้องนำมาเข้ามาพิจารณา

นโยบายของธปท.จะเข้ามาช่วยให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ นโยบายที่สำคัญ คือ นโยบายด้าน supply side ทั้งเป็นการแก้ปัญหาที่มีอยู่และรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ซึ่งทุกประเทศดำเนินการ หากไทยไม่ทำอะไรก็ไม่สามารถแข่งขันได้ สิ่งที่ธปท.จะดำเนินการแม้ว่าไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ แต่สามารถให้คำแนะนำได้ ทั้งสามด้านจะทำให้มีความสอดคล้อง เสริมกันให้ได้ประโยชน์สูงสุดกับประเทศ

นายเมธีรกล่าวถึงแนวทางที่จะสร้างเสถียรภาพระบบการเงินคือ จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน ป้องกันไม่ให้ลาม โดยการจับควันให้ไว คือ การที่รู้ว่าจุดไหนมีความเสี่ยงอะไรมีข้อมูลที่เพียงพอ ซึ่งธปท.ได้ทำไปเยอะ คิดตามภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ ภาคอสังหา และสหกรณ์ออมทรัพย์ ตลาดทุน สถาบันการเงิน ติดตามและมีข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามาในปีที่แล้วค่อนข้างมาก รวมทั้งเห็นถึงความเสี่ยงต่างๆ

“สำหรับระยะต่อเป็นคิดว่าเป็นข้อต่อสำคัญและเป็นจุดที่มีผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินมาก คือกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความโยงใยกับธุรกิจภาคเศรษฐกิจในประเทศค่อนข้างมาก และกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มีบริษัทลูกในต่างประเทศมาก ซึ่งความเสี่ยงในต่างประเทศมีมาก หากต่างประเทศเกิดอะไรขึ้น อาจจะทำให้มีผลกระทบตามไปด้วย จะพยายามข้อมูลติดตามให้ครบถ้วนมากขึ้น เป็นความท้าทาย เพราะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่จะมีวิธีการในการระดมทุนหลากหลาย มีการกระจายการลงทุนที่หลากหลาย ต้องติดตามให้มากขึ้น” นายเมธีกล่าว

ส่วนการดับไฟให้ทัน คือ การออกมาตรการ เช่น ที่ทำมาตรการอสังหาริมทรัพย์ ที่ใช้เวลาไม่มากทำได้ครบถ้วนตามประบวนการ ทั้งการใช้ข้อมูล ประเมินผลกระทบ การรับฟังความเห็นกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อนำมาปรับก่อนประกาศใช้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เร็วและมีประสิทธิภาพมาก หากสามารถทำแบบนี้กับกระบวนการอื่น ก็จะทำให้มีเสถียรภาพมาก

การป้องกันไม่ให้ลาม การป้องกันไม่ให้ลามไปยังจุดอื่นต้องมีการประสานข้อมูล ความร่วมมือด้านนโยบายต่างๆ กับหน่วยงานด้านกำกับดูแล ซึ่งก็ได้ทำอยู่แล้ว แต่อาจจะทำให้เป็นระบบมากขึ้น ที่สำคัญต้องมีความเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับเสถียรภาพระบบการเงิน เพราะแม้แต่ละหน่วยงานดูแล้วว่ามีเสถียรภาพ แต่มีข้อต่ออาจจะเป็นจุดอ่อนอยู่

ทางด้านอัตราแลกเปลี่ยน นายเมธีกล่าวว่า ไทยมีความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจด้านเสถียรภาพมากกว่าหลายประเทศ มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างมาก มีเงินทุนที่ไหลเข้ามามาก ทำให้ค่าเงินบาทแข็ง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานระยะหนึ่ง พยายามหาวิธีที่จะแก้ไข อาจจะเป็นแนวทาง 3 แนวคือ ทางแรก ให้การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดได้มากขึ้น ให้ตลาดสามารถปรับตัวได้ด้วยตัวเอง

ขณะเดียวกันทำให้กฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินมีความสะดวกคล่องตัวมากขึ้น มีต้นทุนต่ำลง ไม่ดึงเงินจากต่างประเทศโดยไม่จำเป็น เพราะไทยไม่ต้องการเงินตราต่างประเทศมากเท่ากับในอดีต ให้เอกชนถือครองเงินตรามากขึ้น และสร้างระบบนิเวศตลาดเงินตราต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ มีความคล่องตัว การป้องกันความเสี่ยงก็สามารถทำได้อย่างสะดวก โดยเฉพาะเอสเอ็มสามารถป้องกันความเสี่ยงด้วยต้นทุนต่ำ มีความเข้าใจตลาดเงินตราต่างประเทศ ซึ่งแนวทางที่ธปท.ได้ทำมา จะช่วยทั้งในแง่ของธุรกิจและประเทศ และธปท. จุดที่สำคัญถ้าสามารถกระตุ้นการลงทุนของประเทศให้เพิ่มขึ้นการเกินดุลบัญชีจะลดลง แต่การลงทุนนั้นต้องเพิ่มศักยภาพให้ประเทศด้วย

พัฒนาเครื่องมือตรวจสอบเข้มตามความเสี่ยง

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน กล่าวว่า สายงานเสถียรภาพสถาบันการเงินเกี่ยวข้องกับงาน 3 ด้านหลัก คือ หนึ่ง การพัฒนาระบบการเงินการชำระเงิน สอง เสถียรภาพระบบการเงิน และสาม การคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนและตอบโจทย์ว่าประชาชนได้อะไรจากการทำงานของธปท.

สิ่งที่เป็นความท้าทาย คือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบของการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ การแข่งขันที่สูงขึ้น ความต้องการของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินหลาก หลายขึ้น รวมทั้งเทคโนโลยี่ที่เปลี่ยนแปลงไป โจทย์ยากขึ้นกว้างและต้องตอบโจทย์อย่างรวดเร็ว ในช่วง 2 ปีในช่วงปี 2560-2561 ได้มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

“ปี 2562 สิ่งสำคัญคือทำให้โครงสร้างพื้นฐานนี้ตอบโจทย์ได้ ระบบการเงินเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี ดังนั้นเรื่องของสถาบันการเงินต้องทบทวนโครงสร้างปัจจุบัน บทบาทของธนาคาร non-bank รวมทั้งกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และ financial landscape ให้ชัดเจน แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน financial master plan ในปีหน้าต้องมาทบทวนกัน สภาวะแวดล้อม การตอบสนองต่างๆ”,นายรณดลกล่าว

นายรณดลกล่าวว่า โครงสร้างของ financial landscape ต้องเห็นเด่นชัดขึ้นในปีหน้า บทบาทของผู้เล่นแต่ละรายจะตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างไร ส่วนแบงก์ชาติก็ต้องทำให้เสถียรภาพมีความเข้มแข็งและทำให้การพัฒนาทางการเงินไม่เป็นอุปสรรค ต้องสร้างสมดุลให้ชัดเจน แนวคิดของธปท. ที่ผ่านมา ในการที่จะออกหลักเกณฑ์ต่างๆ ยึดแนวคิด principle based แทนที่ rules based โดยเพียงแต่กำหนดหลักเกณฑ์และหลักการ ที่เหมือนกับเป็น best practice ให้สถาบันการเงิน หากจะนำนวัตกรรมทางการเงินเข้ามาใช้ สิ่งที่ควรทำใน principle based คืออะไร เดิมใน rules based มีการกำหนดเงื่อนไขแบบเจาะจง

“กระบวนการที่จะใช้ในข้างหน้า ที่นำ RIA เข้ามาก็อยู่บนพื้นฐานของ principle based ถ้าจะเป็นเรื่องของนวัตกรรม นำผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามา เทคโนโลยีใหม่มาใช้ อันนี้ก็จะตอบโจทย์ในเรื่องที่จะทำให้ระบบการเงินของเราปรับเปลี่ยนได้รวดเร็วขึ้น สิ่งที่ทดแทนคือความเข้มแข็งของสถาบันการเงิน การที่ต้องมีระบบการควบคุมภายใน การบริหารความเสี่ยงดีขึ้น เป็นความท้าทายของเราที่จะเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นในปี 2562” นายรณดลกล่าว

กระบวนการ RIA ได้นำมาใช้แล้ว Digital Banking และ เอสเอ็มอี แต่ยังมีกระบวนการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสถาบันการเงิน RIA ต้องฝังอยู่ในกระบวนการทำงาน ในการนำ principle based เข้ามาดูแลในเรื่องนี้ ฉะนั้นอันนี้เป็นหลักสำคัญหนึ่ง ในการทำงานการกำกับดูแล RIA และ principle based มากขึ้น ดังนั้นในปีหน้าสิ่งที่ธปท.จะต้องทำคือ ออก principle based ในแนวทางที่ให้สถาบันการเงินนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้บริการครบวงจรงบนพื้นฐาน principle based

นอกจากนี้ธปท.มองว่า การให้สถาบันการเงินทดลองนวัตกรรมใน Sandbox ของตัวเอง คงจะตอบโจทย์ของตัวเอง เพราะเป็นสิ่งที่ริเริ่ม เป็นนวัตกรรมของตัวเองเพื่อได้ทดสอบกับลูกค้าว่าผลิตภัณฑ์ที่คิดขึ้นมาตอบโจทย์ลูกค้าหรือไม่ มีการควบคุมความเสี่ยงที่รัดกุมหรือไม่ แทนที่จะเข้ามาใน sandbox ของ ธปท. ซึ่งแนวทางนี้จะเป็นกรอบและมีหลักการที่ชัดเจนว่า อะไรที่ทำใน sandbox ของตัวกับอะไรที่ควรเข้ามาใน sandbox ของแบงก์ชาติ โดยในหลักการกว้างๆคือ อะไรที่เชื่อมโยงกัน เช่น มาตรฐาน QR ให้เข้ามาใน sandbox แบงก์ชาติ แต่หากเป็นเรื่องเจาะจงของธนาคารก็ทดสอบใน sandbox ของตัวเอง

นายรณดลกล่าวว่า ระบบการชำระเงินเป็นเรื่องที่โดดเด่นในปีที่ผ่านมา มีการใช้เพย์เม้นท์มากขึ้น ที่สำคัญที่สุดคือ ความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการเพย์เม้นท์เหล่านั้น เชื่อมั่นว่ามีความปลอดภัย มีความเสถียรและมีความสะดวก ในการใช้ ธปท.ต้องเร่งพัฒนาในหลายเรื่องในปีหน้า เรื่องแรก คือการทำมาตรฐาน QR Payment ซึ่งธปท.ต้องการเห็นมาตรฐาน ISO 2022 รวมการการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์มาตรฐาน ISO 27100

เรื่องที่สอง ongoing supervision ซึ่งได้นำมาใช้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เป็นการกำกับดูแลสถาบันการเงินของแบงก์ชาติโดยไม่ต้องไปตรวจภาคสนาม ปีที่ผ่านมาได้พัฒนาเครื่องมือจับประเด็นความเสี่ยงได้เร็วขึ้น จากการดูข้อมูลต่างๆ ในลักษณะ market dashboard ที่สามารถบ่งบอกได้ว่าความเสี่ยงด้านตลาด การลงทุน อัตราแลกเปลี่ยน ของแต่ละสถาบันการเงิน

ในไตรมาสแรก ปีหน้า สิ่งที่ธปท.จะออกมา คือ เครื่องมือที่เกี่ยวกับ credit dashboard กับ liquidity dashboard ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญของธนาคารพาณิชย์ และเครื่องมือที่พัฒนานี้จะสามารถเห็นถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ความเสี่ยงด้านสินเชื่อ แต่ละช่วงเวลาของแต่ละสถาบันการเงิน ที่ต้องจับสัญญานและต้องดูแลเป็นพิเศษ เครื่องมือเหล่านี้จะทยอยออกมา ซึ่งจะทำให้ผู้ตรวจสอบทำงานในช่วงที่ ongoing ได้มากขึ้น

ธปท.ได้นำ Data Analytic กับ Text mining เข้ามาใช้กับกระบวนการตรวจสอบ ที่ผ่านมาได้ใช้เทคโนโลยีนี้เข้ามาอ่านรายงานการประชุมของคณะกรรมการ จับว่า ในการประชุมแต่ละครั้งมีการประชุมเรื่องอะไรบ้าง ความคิดเห็นของกรรมการ ความหลากหลายของความคิดเห็น ความสมดุลในการลงความเห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยผู้ตรวจการที่ต้องอ่านรายงานการประชุมเหล่านี้ ซึ่งบางครั้งการอ่านก็อาจจะไม่พบอะไร แต่การใช้ text mining จะช่วย จับสัญญานวัฒนธรรมองค์กร วัฒนธรรมความเสี่ยงได้ดีขึ้น

วัฒนธรรมความเสี่ยงกับพฤติกรรมขององค์กร (corporate behavior) เป็นเรื่องที่ธปท. ให้ความสำคัญในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการออกแบบสอบถามความคิดเห็นคณะกรรมการผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงิน ในด้านวัฒนธรรมองค์กรและการบริหารความเสี่ยงของตัวเอง โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านเครดิต ซึ่งเป็นการประเมินตัวเอง self assessment แบบหนึ่ง ก็ได้ผลลัพธ์ระดับหนึ่ง ต้องยอมรับการประเมินตนเองมีความโน้มเอียงส่วนหนึ่ง ส่วนในปี 2562 การดูแลและการประเมินพฤติกรรม วัฒนธรรมของสถาบันการเงินจะมีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้สถาบันการเงินมีความชัดเจนมากขึ้นในวัฒนธรรมความเสี่ยง

ในแง่มุม IT security ธปท.ให้ความสำคัญมาก รู้ว่าต้องมีเครื่องมือในการป้องกัน สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การตอบสนองต่อเหตุการณ์ให้ระบบกลับขึ้นมาใช้งานได้อย่างปลอดภัยในเวลาที่สมควร ดังนั้นจากการตรวจจับ detect และการป้องกัน protect แล้วในปี 2562 การตอบสนอง response การกู้ระบบ recovery จะเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนแนวทางนั้นเป็นสิ่งที่คณะกรมการ ผู้บริหารแต่ละธนาคารให้ความสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการซักซ้อมกับคณะกรรมการ ผู้บริหารเกี่ยวกับการตอบสนองต่อเหตุการณ์ไปแล้ว

นายรณดลกล่าวว่า ในปีหน้า ธปท.จะประสานงานกับธนาคารกลางอื่นในภูมิภาคเพื่อแลกเปลี่ยน ข้อมูลที่เกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมทั้งว Threat Intelligence การประเมินเหตุการณ์ล่วงหน้า ว่าอาจจะเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์

การตรวจสอบการชำระเงินจะใช้แนวทางการตรวจสอบเดียวกับสถาบันการเงิน คือ ongoing supervision เงิน การบริหารความเสี่ยง สร้างเครื่องมือที่ช่วยให้รู้ได้เกี่ยวกับการชำระเงิน

“ที่สำคัญและมองข้ามไม่ได้ คือ การตอบโจทย์ การคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน การให้บริการทางการเงินที่ทั่วถึงและเป็นธรรม ที่ผ่านมามีหลายเรื่องที่ได้ทำ เช่น คลินิกแก้หนี้ เพื่อตอบโจทย์คนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว หาทางออกไม่ได้ แต่ยังมีข้อจำกัดหลายเรื่อง จึงได้เพิ่มความยืดหยุ่นมากขึ้นในการเข้าถึงคลินิกแก้หนี้ และปีหน้าหวังว่าคลินิกแก้หนี้จะครอบคลุม non bank มากขึ้น” นายรณดลกล่าว

นายรณดลกล่าวว่า Market conduct ได้ดำเนินการไปแล้ว แต่ต้องการให้มีการพัฒนามากขึ้น อยากให้ฝังอยู่ในวัฒนธรรมองค์กร ในการดูแลผู้บริโภคนอกเหนือจากการให้บริการทางการเงิน สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป คือการให้ข้อมูลผู้บริโภคให้เปรียบเทียบ รวมทั้งต้องมีการตรวจสอบด้านการให้ผลตอบแทนภายในของธนาคารให้มีความสมดุลกับการขายกับการคุ้มครองผู้บริโภค

“สิ่งที่เราจะทำมากขึ้นคือ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับโมบายแบงกิ้ง ซึ่งบางครั้งผู้บริโภคตอบรับไปโดยไม่รู้ว่ามีเงื่อนไขอะไรบ้าง อาจจะมีการเปิดเผยข้อมูลโดยไม่รู้ว่าให้อะไรไปบ้าง ปี 2562 จะเพิ่มความสำคัญกับ market conduct ด้านโมบายแบงกิ้งมากขึ้น นอกจากนี้จะให้ความสำคัญด้านการให้ความรู้ด้านการเงิน Financial literacy มากขึ้น เช่น การชำระเงิน ถ้าคนใช้บริการขาดความรู้ความเข้าใจ จะนำไปสู่ความเสี่ยง ขาดความเชื่อมั่น” นายรณดลกล่าว

พัฒนาคนเท่าทันโลกสร้างวัฒนธรรมเรียนรู้ใหม่

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการ ด้านบริหารกล่าวว่า ส่วนงานสนับสนุนได้ทำใน 3 เรื่องหลักมาต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนให้งานส่วนหน้าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ คน กระบวนการทำงานและข้อมูล โดยในเรื่องคน ยอมรับว่าธปท.ก็เข้าสู่สังคมสูงวัย โดยอายุพนักงานเฉลี่ย 47.5 ปี แต่ละปีรับเด็กรุ่นใหม่ราว 100 คน และให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานที่หลากหลายอายุ หลากหลายสาขาวิชาชีพ ให้ผสมกลมเกลียวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ คือ ธปท.จะมีพนักงานที่กำลังจะเกษียณอายุใน 5 ปีข้างหน้าในระดับ ผู้อำนวยการขึ้นไป 44 คน ในจำนวนนี้เป็นระดับผู้ช่วยผู้ว่าการ 11 คนจาก 17 คน ฉะนั้นต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนดูแลการสืบทอดตำแหน่งสำคัญในธปท. ให้มีความต่อเนื่อง มีความมั่นใจทั้งจำนวนคนที่เหมาะสมให้การดำรงตำแหน่งที่สำคัญ มีคุณภาพ ศักยภาพที่ตรงกับตำแหน่งด้วย

นอกจากจำนวนคน ศักยภาพที่เหมาะสมแล้ว ต้องมีกระบวนการทำงานที่ยืดหยุ่นรองรับความท้าทายใหม่ได้ ต้องเท่าทันสภาวะแวดล้อมใหม่ เท่าทันเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว แม้พนักงานค่อนข้างอาวุโสจำนวนมาก แต่พยายามจัดระบบการทำงานต่างๆ ให้พนักงานสามารถมีประสบการณ์ที่หลากหลาย มีวางระบบให้พนักงานย้ายงาน เปลี่ยนหน้างานเพิ่มประสบการณ์ มีการสร้างวัฒนธรรมให้มีการเรียนรู้ใหม่ตลอด เวลา มีการทำงานข้ามสายงานเป็นระบบที่ไม่จำเป็นต้องมีหัวหน้าคนเดียว เป็นงานโครงการที่ต้องประสานความร่วมมือกับหลายฝ่าย มีการส่งเสริมให้พนักงานสมัครขอย้ายงานด้วยตัวเอง และสมัครเลื่อนตำแหน่งได้ด้วย

“เราพยายามสร้างภาวะให้พนักงานตื่นตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ ขยายประสบการณ์ หน้างานให้มากขึ้น และจะให้ความสำคัญมากขึ้นในปีต่อๆไป” นายไพบูลย์กล่าว

ส่วนที่ไม่สามารถสร้างพนักงานได้ทันกับความท้าทายของโลกใหม่ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้มีการรับบุคคลภายนอก ในระดับ mid- career เข้ามาในหลายระดับตั้งแต่ระดับรองผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการอาวุโส และผู้ช่วยผู้ว่าการ เพราะต้องยอมรับความจริงว่าบางครั้งบางจุดไม่มีพนักงานที่มีทักษะเพียงพอ รองรับสิ่งใหม่ได้ทัน ต้องอาศัยบุคลากรจากภายนอก ในปีหน้าสายทรัพยากรจะประเมินว่ามีช่องว่างตรงไหน จะเติมเต็มอย่างไร จะใช้ทรัพยากรจากภายในส่วนใด บางส่วนอาจจะใช้จากภายนอก

นายไพบูลย์กล่าวว่า จะนำหลักการ RIA มาประยุกต์ใช้กับกระบวนการอื่น นอกเหนือจากการนำไปใช้กับการกำกับดูแลการให้บริการ Digital Banking และเอสเอ็มอี โดยหลักเกณฑ์ของ RIA มีด้วยกัน 3-4 ข้อ คือ การออกกฎเกณฑ์ต้องถามว่ามีความจำเป็นหรือไม่ที่จะออกกฎเกณฑ์ ถ้าจำเป็นแล้ว เกณฑ์ที่จะออกมีวิธีเดียวหรือไม่ ได้ผลหรือไม่ มีทางเลือกอื่นหรือไม่ สาม หากมีทางเลือกอื่น ได้ประเมินประสิทธิผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ต้นทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหรือยัง โดยใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงในการวิเคราะห์ และสุดท้ายได้สอบผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วหรือยัง

วิธีการทำงานอย่างนี้ที่ผ่านมาได้ใช้กับกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่น การควบคุมปริวรรตเงินตรา SME Financing หรือ Digital Banking เราต้องการใช้กรอบการทำงานนี้กับทุกงานที่ทำ ปีหน้ากฎเกณฑ์เกี่ยวกับทรัพยากรบุคคลซึ่งมีกฎเกณฑ์จำนวนมาก สลับซับซ้อน คาบเกี่ยวลักลั่น ก็จะสังคายนาให้ง่ายต่อการใช้งานและมีผลลัพธ์ตรงกับสิ่งที่ต้องการ เป็น process driven มีความยืดหยุ่นรองรับความต้องการของพนักงานที่หลากหลายมากขึ้น จะพยายามทำให้เป็นส่วนหนึ่งของ DNA ในการทำงาน” นายไพบูลย์กล่าว

เรื่องสุดท้ายข้อมูล ธปท.มีความน่าเชื่อถือในการดำเนินนโยบายต่างๆ ไม่ใช่เพราะการเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย แต่สิ่งที่ทำมาตลอด คือ นโยบายการแสดงความเห็นต่างได้ใช้ฐานความรู้ ฐานข้อมูลและการวิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมา โดยยึดหลักวิชาการ สิ่งที่ทำในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาคือ การใช้เทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างละเอียด รายธุรกรรม รายคนได้มากขึ้น ที่ผ่านมาได้สรรหาข้อมูลจากหลายองค์กรมาใช้ เพื่อใช้ในการจับชีพจรเศรษฐกิจ

ขอบเขตของการวิเคราะห์มีมากมาย บางครั้งได้ข้อมูลมาก็ให้ data scientist เข้าไปดูแล นอกจากใช้กับงานด้านเศรษฐกิจ สถาบันการเงินแล้ว ก็จะนำมาใช้กับงานด้านบริหารภายในมากขึ้น การดูแลพนักงาน และด้านงบประมาณด้วย อย่างไรก็ตามการที่มีข้อมูลมากมายโดยที่หลายเรื่องเป็นรายธุรกรรม ต้องมีกรอบ การใช้ข้อมูลด้วย หรือ Data governance ที่เข้มงวดและสอดคล้องกับการออกกฎเกณฑ์ มาตรฐานสากลของโลกยุคใหม่ การเก็บ การใช้การแชร์ครบวงจร เพื่อให้ความมั่นใจว่าคนที่ให้ข้อมูลมา ข้อมูลมีความปลอดภัยไม่รั่วไหล โดยจะนำเครื่องมือตรวจสอบการรั่วไหลของข้อมูลมาใช้

เชื่อมโยงต่างประเทศขยายการใช้เงินสกุลท้องถิ่น

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร กล่าวว่า งานต่างประเทศปีหน้าจะยึดแนวทางเดียว กับการทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนของไทย ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดไว้แล้ว คือ การเสริมสร้างการเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน แบงก์ชาติจะเดินต่อภาคการเงินหลายเรื่อง โดยเฉพาะการดูแลความมั่นคงด้านไซเบอร์ การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล data governance การสร้างความร่วมมือด้านนี้ไม่ได้เฉพาะอาเซียน แต่มีกลุ่มอื่น เช่น WEF สนใจที่จะเสนอแนะแนวทางในกรอบของอาเซียน ซึ่งจะทำให้ยกระดับคสวามมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์

“ส่วนที่สองเป็นความร่วมมือที่ทำอยู่แล้ว ทั้ง การส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น ไทยเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับอาเซียนมากที่สุด การทำความเชื่อมโยง การส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นที่ธปท.เป็นผู้ริเริ่ม ก็จะขยายจำนวนประเทศให้มากขึ้น เพราะทุกประเทศตระหนักว่า การมีทางเลือกอื่นในการชำระค่าสินค้าบริการระหว่าง นอกเหนือจากเงินสกุลหลัก เป็นทางเลือกที่สำคัญในภาวะที่เงินสกุลหลัก มีความผันผวนมากในโลกปัจจุบัน”นางจันทวรรณกล่าว

ทางด้านความยั่งยืน เป็นหัวข้อที่รับมาจากแนวคิดหลัก การเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน ภาคการเงินต้องแสวงหาความร่วมมือในกรอบอาเซียนเพื่อเดินไปด้วยกัน เพราะความยั่งยืนคงไม่ได้ทำในปีเดียว เชื่อว่าเมื่อเริ่มจากประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้านที่รับหน้าที่ประธานต่อไป ก็คง จะเดินหน้าเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นวิธีการเดียวที่จะทำให้ภาคการเงินภูมิภาคนี้มีความเข้มแข็ง เพราะคำนึงถึงบทบาทของภาคการเงินต่อส่วนรวมภาคประชาชนมากขึ้น

“เรื่องสุดท้ายคือการมีส่วนของ stakeholder ในปีหน้าจะมีการพัฒนาการสื่อสารให้เท่าทัน ทั้งช่องทางการสื่อสาร และวิธีการสื่อสาร เพราะยุคสมัยใหม่ ที่คนรับสารไม่นิยมอ่านข้อความที่มีความยาว รวมทั้งจะริเริ่มขยายความร่วมกับstakeholder ที่ไม่ได้มีโอกาสใกล้ชิดมาก เช่น องค์การคุ้มครองผู้บริโภค กลุ่มการค้า ภาคเศรษฐกิจต่างๆ” นางจันทวรรณกล่าว

แผน 3 ปียืดหยุ่นตามบริบทคืบหน้า 65%

ดร.วิรไท ได้ตอบคำถามถึงความคืบหน้าของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ว่า จากการประเมินผลงานใน 2 ปีที่ทำมาของแผน 3 ปี คณะกรรมการธปท.ประเมินว่าแผนส่วนใหญ่ทำได้ 65% ตามระยะเวลาที่เกิดขึ้นมีบางแผนทำได้ดี เร็วกว่าที่คาดไว้ เช่น การชำระเงินอิเลคทรอนิคส์ มีการลดค่าธรรมเนียม การโอนเงิน ความต้องการให้ต้นทุนการชำระเงินอิเลคทรอนิคส์ลดลง เดิมคาดว่าจะเกิดขึ้นปลายปีที่สาม แต่กลางปีนี้เกิดขึ้นแล้ว จำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น ในกลุ่มประชาชน แต่ที่ยังไม่เพิ่มมากขึ้นคือกลุ่มธุรกิจต้องผลักดันให้ใช้มากขึ้น

เรื่องงานภายในองค์กร การวิเคราะห์ข้อมูลดีกว่าที่ตั้งไว้และดีกว่าที่คาด การประยุกต์ใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ที่มากขึ้น ทำให้สามารถออกมาตรการที่เร็ว ตรงจุดตรงเป้า เช่น การควบคุมสินเชื่อ บัตรเครดิตอสังหาริมทรัพย์ อีกด้านหนึ่งที่เริ่มทำได้ คือ เสถียรภาพระบบการเงิน มีการตั้งกลุ่มงานใน 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อดูความเชื่อมโยงของระบบการเงินทั้งหมด ทั้งสำนักงานก.ล.ต. กระทรวงการเกษตร คปภ. ทำให้ความเชื่อมโยงของระบบการเงินทั้งหมด หากเกิดปัญหาขึ้นจะส่งไปตรงไหน และสร้าง safety net ขึ้นได้

ด้านการโอนเงินระหว่างประเทศยังมีต้นทุนสูงอยู่ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น กำลังหาทางลดต้นทุนการโอนเงิน โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีอื่น แทนการใช้เครือข่ายต่างประเทศที่มีไม่มากนัก ส่วนการเข้าถึงบริการสินเชื่อของเอสเอ็มอี มีการพัฒนา Information based lending โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็ก

ส่วนที่ยังช้าคือการเชื่อมโยงของต่างประเทศในบางมิติ แต่การรับหน้าที่ประธานอาเซียนของไทยจะส่งเสริมบทบาทการเชื่อมโยงต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเมื่อเร็วนี้ธนาคารกลางกัมพูชาประกาศจะใช้มาตรฐาน QR ของไทย ซึ่งจะช่วยให้การเงินโอนเงินระหว่างประเทศง่ายขึ้น และจะทำให้ประเทศแข่งขันกับผู้ให้บริการรายใหญ่ในโลกที่มีมาตรฐานของตัวเอง การมีมาตรการลดต้นทุนและทำให้ข้อมูลเชื่อมโยงกันได้มากขึ้น เพราะยุคนี้ข้อมูลมีความสำคัญ

สำหรับอีกเรื่องที่รู้สึกว่าดำเนินการได้ช้า และเป็นความเสี่ยงใหญ่ในระบบ เป็นข้อต่อสำคัญของเสถียรภาพระบบการเงิน เป็นความเสี่ยงเชิงระบบ แต่การที่กฎหมายสหกรณ์ฉบับใหม่ผ่านสนช. แล้วและรอลงพระราชกิจจา ซึ่ทำให้การดูแลเดินหน้าอย่างรวดเร็วขึ้น

“แผน 3 ปี มีการปรับมาต่อเนื่องและได้เสนอแผนใหม่ให้คณะกรรมการเห็นชอบ โดยแผนปี 2562 ไม่ได้หยุดนิ่งมีการเพิ่มเติมเป็นระยะ มีความยืดหยุ่นตามบริบท และในกลางปีหน้าจะทำแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี บางเรื่องคิดว่ามีเวลาอีก 2-3 ปี แต่ตอนนี้รอไม่ได้ เช่น มาตรฐาน ISO 2022” ดร.วิรไทกล่าว