ดร.วิรไท สันติประภพ
[email protected]
ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีข่าวดีหลายเรื่องจากการประชุมผู้นำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ทั้งข้อตกลงที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจร่วมกัน ข้อตกลงที่จะร่วมกันแก้ปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินในสเปนและอิตาลี ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการรวมศูนย์การกำกับดูแลสถาบันการเงินไปไว้ที่ธนาคารกลางยุโรป ตลอดจนถึงการผ่อนปรนวิธีที่กองทุนกลางของยุโรปจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่มีปัญหา ผลการประชุมผู้นำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปรอบนี้ เป็นรูปธรรมเกินความคาดหวังของนักวิเคราะห์ที่ติดตามสถานการณ์ในยุโรป ส่งผลให้ดัชนีหุ้นยุโรปและหุ้นทั่วโลก ราคาน้ำมัน และค่าเงินยูโร กระโดดขึ้นอย่างรวดเร็ว ข่าวที่ว่าบางประเทศอาจจะต้องออกจากเงินยูโร หรือที่ว่าเงินยูโรจะแตกดูเบาลงไปมาก
คนไทยที่เป็นห่วงสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจยุโรปอาจจะใจชื้นขึ้นบ้าง แต่ผมคิดว่าเราไม่สามารถนอนใจได้ เศรษฐกิจยุโรปจะซึมลงเรื่อยๆ ไปอีกหลายปี มาตรการแก้ไขปัญหาที่ออกมาคงช่วยได้เพียงลดความเสี่ยงไม่ให้วิกฤตการคลังและวิกฤตสถาบันการเงินในบางประเทศ ลามต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว จนทำให้เศรษฐกิจยุโรปโดยรวมตกเหวลึก และฟื้นขึ้นมาใหม่ยาก
เศรษฐกิจยุโรปจะซึมลงเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ ประการแรก แนวทางแก้ไขวิกฤตระบบสถาบันการเงิน และการใช้กองทุนกลางของยุโรปเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีปัญหานั้น จะต้องใช้เวลาแก้ไขกฏหมายและกฏระเบียบต่างๆ มากมาย หลายเรื่องจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาของแต่ละประเทศ รัฐบาลเยอรมันอาจจะยอมรับภาระและรับความเสี่ยงในการแก้ไขวิกฤตสถาบันการเงินในสเปนและอิตาลี แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้นักการเมืองและประชาชนเยอรมันเห็นด้วย ถ้าหลายท่านจำวิกฤตปี 2540 ของเราได้ จะนึกออกว่าแค่ให้รัฐบาลไทยเอาเงินภาษีของคนไทยไปอุ้มธนาคารพาณิชย์ไทยยังไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น การจะให้คนเยอรมันยอมเอาเงินภาษีของคนเยอรมันไปอุ้มธนาคารพาณิชย์สเปน อิตาลี ย่อมยากกว่าหลายเท่า
ประการที่สอง แนวทางแก้ไขวิกฤตสถาบันการเงินที่ประกาศออกมาเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เวลาที่นึกถึงฐานะของสถาบันการเงิน เราต้องดูงบดุลที่มีทั้งด้านสินทรัพย์ และด้านหนี้สินบวกทุนมาตรการที่เราได้ยินเรื่องการเพิ่มทุนให้สถาบันการเงิน การปล่อยสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้สถาบันการเงิน หรือการรับประกันเงินฝาก เป็นเพียงมาตรการด้านหนี้สินบวกทุนเท่านั้น มาตรการเหล่านี้จำเป็นที่จะช่วยกันไม่ให้วิกฤตสถาบันการเงินลามเป็นวงกว้าง แต่ภาระใหญ่ของการแก้ไขวิกฤตสถาบันการเงินคือ การจัดการด้านทรัพย์สินหรือหนี้เสีย ซึ่งต้องใช้เวลานานและจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ถ้ามองย้อนกลับไปวิกฤตบ้านเราเมื่อปี 2540 รัฐบาลไทยต้องดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อจัดการทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และแก้ไขกฏหมายและกฏเกณฑ์ด้านภาษีที่เกี่ยวข้อง การจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) มาขายทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ การจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) เพื่อรับโอนหนี้เสียจากธนาคารพาณิชย์ ไปจนถึงการผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์จัดตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สินขึ้นอีกหลายแห่งเพื่อจัดการหนี้เสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การจัดการหนี้เสียของสถาบันการเงินมักใช้เวลาค่อนข้างนาน และจำเป็นต้องให้กลไกตลาดเข้ามาจัดการโดยเร็ว เพราะนักลงทุนชอบของถูก จึงมักรอให้มูลค่าของหนี้เสียตกลงจนต่ำสุดหรือใกล้ต่ำสุดก่อนที่จะเข้ามาซื้อ เรื่องนี้เป็นเรื่องของจิตวิทยาไม่น้อยไปกว่าเรื่องของเศรษฐศาสตร์ ถ้าเรายังไม่เห็นแนวทางจัดการหนี้เสียของสถาบันการเงินในยุโรปอย่างเป็นระบบ การลงทุนใหม่ๆ จะไม่เกิดขึ้น เพราะทุกคนจะรอให้ราคาสินทรัพย์ไหลลงเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อราคาสินทรัพย์ไหลลงต่อเนื่อง จะกระทบต่อฐานะของสถาบันการเงิน รวมทั้งความมั่งคั่งและอำนาจซื้อของผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประการที่สาม การกระตุ้นเศรษฐกิจยุโรปมีข้อจำกัดหลายด้าน ประเทศที่เศรษฐกิจหดตัว ต่างมีฐานะการคลังย่ำแย่ มีหนี้สาธารณะที่สูงมาก ไม่สามารถใช้มาตรการด้านการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจแบบแรงๆ ได้ต่อเนื่อง ในทางกลับกัน รัฐบาลจะต้องรัดเข็มขัดมากกว่าเดิมอีก นโยบายการเงินก็ใช้ไม่ค่อยได้ผลเพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำมากแล้ว และระบบสถาบันการเงินมีปัญหา ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคเศรษฐกิจจริงได้ การใช้เงินยูโรยังเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้ประเทศที่เศรษฐกิจอ่อนแอไม่สามารถลดค่าเงินของตนได้ ต่างจากวิกฤตของไทยหลังปี 2540 ที่ค่าเงินบาทลดลงเกือบเท่าตัว ส่งผลให้การส่งออกช่วยดึงเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นรวดเร็วได้ ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปต่อไปนี้ จะต้องมาจากการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจหรือการจัดการด้านอุปทาน เพื่อให้เศรษฐกิจยุโรปมีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีการแข่งขันมากขึ้น ลดไขมันส่วนเกินในด้านต่างๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่สามารถทำได้ง่ายในช่วงที่การว่างงานอยู่ในระดับสูงมาก และคุณภาพชีวิตของคนยุโรปตกต่ำลงมาก จากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาแล้วหลายปี
เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปจะซึมลงและลากยาวไปอีกหลายปี คำถามสำคัญคือ ทางการไทยควรตั้งรับวิกฤตยุโรปอย่างไร ผมคิดว่ามีอย่างน้อยสี่เรื่องที่ทางการไทยควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
เรื่องแรก ทางการไทยจะต้องไม่เป็นกระต่ายตื่นตูม รีบออกมาตรการระยะสั้นมากระตุ้นเศรษฐกิจแบบหมดหน้าตัก วิกฤตเศรษฐกิจยุโรปรอบนี้ต่างจากวิกฤตที่เกิดขึ้นหลังธนาคารเลห์แมน บราเธอร์ส ล้มเมื่อปี 2551 ซึ่งเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่มีผลกว้างไกลมาก และทุกประเทศต้องช่วยกันกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแรงโดยเร็ว แต่วิกฤตเศรษฐกิจยุโรปรอบนี้เป็นวิกฤตต่อเนื่อง ซึมลงเรื่อยๆ ทางการไทยจึงจำเป็นต้องวางแผนอย่างเป็นระบบ มีลำดับขั้นของการดำเนินการให้เหมาะสม และที่สำคัญจะต้องเก็บเงินสำรองไว้สำหรับสถานการณ์เลวร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ โดยไม่คาดคิดอีกด้วย
เรื่องที่สอง มาตรการของทางการไทยต้องช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยและของคนไทยอย่างตรงจุดและจริงจัง ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ธุรกิจไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทางการไทยจะต้องปฏิรูปเรื่องที่มีผลต่อต้นทุน และผลิตภาพของธุรกิจไทยและคนไทย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการศึกษา การพัฒนาการขนส่งระบบราง ตลอดจนการลดต้นทุนของธุรกิจไทยที่เกิดจากการคอร์รัปชั่น ทางการไทยควรหยุดออกมาตรการลดหย่อนภาษีรายวันหรือเพิ่มรายจ่ายรายวัน เพราะนอกจากจะไม่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจไทยอย่างยั่งยืนแล้ว จะกลายเป็นภาระให้คนไทยต้องรับผิดชอบในอนาคตอีกด้วย
เรื่องที่สาม ทางการไทยจะต้องเร่งดำเนินมาตรการเชื่อมโยงกับประเทศอาเซียน จีนตอนใต้ และประเทศเพื่อนบ้าน อย่างจริงจังและเป็นระบบ วันนี้การส่งออกของไทยไปพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม รวมกันถึงร้อยละ 8 ของการส่งออกไทยทั้งหมด เทียบกับการส่งออกไปยุโรปเพียงร้อยละ 10 ผมเชื่อว่าในอีกสองปีข้างหน้า การส่งออกของไทยไปพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม จะแซงการส่งออกไปยุโรปได้โดยง่าย ประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวอีกมาก ธุรกิจไทยและคนไทยควรได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นรอบบ้านเรา
เรื่องที่สี่ ทางการไทยควรทบทวนหรือยกเลิกมาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร ถ้าวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปจะลากยาวแล้ว ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ไม่ว่า ข้าว ยาง น้ำตาล หรือมันสำปะหลัง มีแนวโน้มที่จะลดลง หนีไม่พ้นว่าสต็อกสินค้าเกษตรที่รัฐบาลจำนำไว้แล้วจะขาดทุนมากขึ้น การกำหนดราคารับจำนำสำหรับปีหน้าและปีต่อๆ ไปจะต้องอิงราคาตลาดมากขึ้น ถ้ารัฐบาลไม่สร้างความคาดหวังที่ถูกต้องให้แก่เกษตรกรแล้ว เกษตรกรจะคิดแต่ขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชที่รัฐบาลรับจำนำ โดยหวังว่าจะขายให้รัฐบาลที่ราคาแพงๆ ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลขาดทุนมากขึ้นไปเรื่อยๆ
ขอย้ำอีกครั้งนะครับ ว่าวิกฤติยุโรปคงจะซึมลงเรื่อยๆ ไปอีกระยะหนึ่ง จำเป็นอย่างยิ่งที่ทางการไทยจะต้องตั้งรับแบบยั่งยืนครับ
หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร ฉบับ 11 กรกฎาคม 2555