ThaiPublica > คอลัมน์ > “หักกลบลบกรรมกับการคอร์รัปชัน”

“หักกลบลบกรรมกับการคอร์รัปชัน”

12 กันยายน 2012


ดร. วิรไท สันติประภพ
[email protected]

ในเดือนที่ผ่านมา มีการแถลงผลวิจัยเรื่อง “ความเชื่อเรื่องกรรมในวิถีชีวิตของสังคมไทย” โดยบัณฑิตวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ข่าวดีคือว่า คนไทยส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 66.5 ยังเชื่อว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว แต่ที่น่าตกใจมากคือ คนไทยถึงร้อยละ 21.1 ที่เชื่อว่าการทำชั่ว โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชัน สามารถลดทอนกรรมได้ด้วยการทำบุญบริจาค

ความเชื่อว่ากรรมสามารถหักกลบลบกันได้นี้ ดูจะระบาดรุนแรงขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะในกลุ่มนักการเมืองที่เป็นต้นตอสำคัญของการทุจริตคอร์รัปชัน เราเห็นข่าวนักการเมืองระดับรัฐมนตรีที่เคยมีเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันหลายคนจัดงานทำบุญใหญ่ สร้างวัด สร้างพระ กันอยู่เรื่อยๆ แม้แต่อดีตรัฐมนตรีที่หนีคดีทุจริตไปอยู่ต่างประเทศยังนิยมสร้างวัดนอกประเทศ และทำพิธีแก้กรรมโดยนิมนต์พระชื่อดังและเชิญคนใหญ่คนโตบินไปร่วมงาน

นอกจากนี้ ในช่วงหลังเราจะได้ยินข่าวนักการเมืองที่มีชื่อเสียระดับเป้งๆ นิยมไปทำบุญที่พุทธคยาและตามสังเวชนียสถานในอินเดีย คิดแล้วด้านหนึ่งน่ายินดีที่นักการเมืองไทยสนใจการทำบุญมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งกังวลใจ เพราะถ้านักการเมืองเหล่านี้เชื่อว่าการมาทำบุญที่พุทธคยาแล้วจะได้บุญใหญ่ สามารถหักกลบลบหนี้กรรมชั่วที่ตนทำไว้ได้เร็วขึ้น นักการเมืองเหล่านี้อาจคิดว่าทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้นบ้างก็คงไม่เป็นอะไร

ความเชื่อที่ว่ากรรมดีกับกรรมชั่วสามารถหักกลบลบกันได้จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก จะส่งผลให้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในบ้านเรารุนแรงขึ้น จนทำลายประเทศได้ในระยะยาว

แนวคิดเรื่องหักกลบลบกรรมนี้เป็นแนวคิดที่เอาหลักการบริหารเงินแบบทุนนิยมไปครอบเรื่องของธรรมะ และเป็นการคิดแบบเข้าข้างตัวเองอย่างที่ตนอยากจะให้เป็น โดยหวังว่าจะเอาตัวรอดจากกรรมชั่วที่เคยทำไว้ มองกรรมดีเหมือนทรัพย์สิน กรรมชั่วเหมือนหนี้สินที่หักกลบลบกันได้แบบหนึ่งต่อหนึ่ง ในทางที่ถูกแล้ว เราต้องเอาหลักของธรรมะ ซึ่งเป็นหลักของชีวิตมาครอบทุนนิยม ชีวิตจึงจะมีความหมายและสังคมจึงจะอยู่ได้อย่างสันติสุขและเป็นธรรม การเอาหลักการทุนนิยมที่ตนคุ้นเคยไปครอบเรื่องธรรมะในสังคมไทยปัจจุบันนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเรื่องของกรรมเท่านั้น ยังมีอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อว่าตายไปแล้วจะขึ้นสวรรค์ชั้นใดขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ทำบุญ ความเชื่อที่ว่าทำทานด้วยเงินแต่เพียงอย่างเดียวก็พอ โดยไม่ต้องสนใจการปฏิบัติภาวนาและการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ตลอดไปจนถึงความเชื่อที่ว่าถ้าทำอาชีพถูกกฎหมายก็ไม่เป็นไร แม้ว่าอาชีพเหล่านั้นขัดต่อศีลธรรม หรือส่งเสริมให้สังคมเสื่อมลง

นายวัฒนา อัศวเหม (ใส่สูท) อดีตนักการเมืองที่ศาลพิพากษาจำคุกคดีคลองด่าน
นายวัฒนา อัศวเหม (ใส่สูท) อดีต รมช.มหาดไทย ถูกศาลพิพากษา 18 ส.ค. 2551 คดีทุจริตที่ดินคลองด่าน จำคุก 10 ปี ในกรณีสืบเนื่องจากนายวัฒนาใช้อำนาจข่มขู่ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นร่วมออกโฉนดที่ดิน 1,900 ไร่ ทับที่คลองสาธารณประโยชน์ และที่เทขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้าม เพื่อนำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษเพื่อก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
ที่มาภาพ: http://pics.manager.co.th

คนที่สนใจศึกษาพุทธศาสนา คงสงสัยว่าเราสามารถหักกลบลบกรรมได้จริงหรือไม่ เพราะเราก็มักจะเห็นหลายวัดจัดพิธีแก้กรรม รวมทั้งถ้าอ่านพุทธชาดกก็จะพบว่า มีผู้ที่เคยทำกรรมหนักๆ ไว้สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) อธิบายเรื่องกรรมไว้ในหนังสือพุทธธรรมอย่างละเอียดว่า แนวคิดเรื่องกรรมในพระพุทธศาสนาเป็นแนวคิดที่ลึกซึ้งและประณีตมาก การวินิจฉัยว่ากรรมที่ทำเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วจะต้องเริ่มพิจารณาที่เจตนาของการกระทำ กรรมดีนั้นจะต้องไม่เกิดจากเจตนาที่เป็นอกุศล และจะต้องทำให้สภาวะของจิตที่เป็นอกุศลลดลง จะต้องไม่เบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนผู้อื่นหรือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และที่สำคัญจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นด้วย

ถ้าคิดตามหลักการนี้แล้ว การกันเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการทุจริตคอร์รัปชันไว้ทำบุญหรือการตั้งใจสะสมบุญใส่กระปุกไว้เพื่อลดผลของกรรมชั่วที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตนั้น คงจะไม่สามารถถือว่าเป็นการทำกรรมดีได้ เพราะไม่ใช่การกระทำที่เริ่มด้วยเจตนาที่เป็นกุศล ไม่ได้ทำให้สภาวะจิตของตนที่เป็นอกุศลลดลง และการทุจริตคอร์รัปชันเป็นการเบียดเบียนสังคมทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนประเด็นเกี่ยวกับการหักกลบลบกรรมนั้น ท่านเจ้าคุณฯ ได้อ้างพุทธสุภาษิตว่า “กรรมดีหรือชั่วทุกอย่างที่คนสั่งสมไว้ย่อมมีผล ขึ้นชื่อว่ากรรม แม้จะนิดหน่อย ที่จะว่างเปล่าไปเลยไม่มี” การให้ผลของกรรมนั้นมีหลายระดับตั้งแต่ระดับจิตใจ ระดับวิถีชีวิตในชาตินี้ ชาติหน้า และชาติต่อๆ ไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งเกินวิสัยแห่งความคิดของคนปกติได้

อย่างไรก็ดี ในทางพุทธศาสนานั้นเชื่อว่า ผลของกรรมสามารถที่จะส่งผลในระดับที่ต่างกันได้ แม้ว่าอาจจะเกิดจากกรรมที่คล้ายกัน บางคนทำกรรมชั่วเพียงเล็กน้อยก็ลงนรกต้องไปชดใช้ในชาติต่อๆ ไป แต่บางคนทำกรรมชั่วอย่างเดียวกัน อาจจะแสดงผลในปัจจุบันแล้วจบกันไปได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพและปริมาณของการรักษากายด้วยศีล และรักษาจิตด้วยการภาวนาให้เข้าใจในหลักธรรมะอย่างถูกต้อง ให้สามารถละการกระทำที่เป็นอกุศลเบียดเบียนคนอื่น

ดังนั้น ความเชื่อที่ว่ากรรมดีกรรมชั่วหักกลบลบกันได้แบบหนึ่งต่อหนึ่งนั้น จึงเป็นแนวคิดเพื่อเอาตัวรอดที่ผิวเผินมาก ถ้าตราบใดที่การทำกรรมดีไม่ทำให้นักการเมืองมีจิตใจที่เป็นกุศลเพิ่มขึ้น หยุดที่จะทุจริตคอร์รัปชันหรือเบียดเบียนคนอื่นต่อไปแล้ว คงยากที่ผลของกรรมชั่วที่เคยทำไว้และที่จะทำในอนาคตจะบรรเทาลงได้

ผมขอย้ำว่าแนวคิดเรื่องกรรมในพุทธศาสนาเป็นแนวคิดที่ประณีตและลึกซึ้งมาก เป็นแนวคิดที่กำกับให้คนมีหิริโอตัปปะ มีความละลายและความเกรงกลัวต่อบาป รวมทั้งมีสติระมัดระวังจิตใจและการกระทำของตนเองไม่ให้ไปเบียดเบียนผู้อื่น แต่ถ้าคนไทยมองเรื่องกรรมแค่ผิวเผิน คิดว่ากรรมดีกรรมชั่วสามารถหักกลบลบกันได้แล้ว สังคมไทยคงจะมีแต่คนที่คิดทำกรรมชั่วก่อนแล้วหวังว่าจะทำกรรมดีมาหักล้างภายหลัง สังคมจะมีแต่ความยุ่งเหยิงเต็มไปด้วยคนที่นิยมการทุจริตคอร์รัปชัน เราจะเกิดบรรทัดฐานที่จะเป็นอันตรายต่อสังคมไทยในระยะยาวอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นโกงกินบ้างก็ไม่เป็นไรถ้าใจมีเมตตา โกหกเรื่อยๆ ก็ไม่เป็นไรถ้าทำให้สบายใจ หรือเลี้ยงเด็กเป็นกิ๊กก็ไม่ผิดเพราะถือว่าให้ทุนการศึกษา

แม้ว่าหลักการเรื่องกรรมและหิริโอตัปปะเป็นหลักการที่สำคัญในพระพุทธศาสนา แต่สังคมไทยในวันนี้ได้กลายเป็นสังคมที่ขาดทั้งความละอายต่อบาปและการยอมรับผิด โดยเฉพาะในกลุ่มนักการเมือง ในวันนี้เรามีรองนายกรัฐมนตรีถึงครึ่งหนึ่งที่สังคมตั้งคำถามด้านจริยธรรมและความเกรงกลัวต่อบาป ไม่ว่าจะเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ถูก ปปช. กล่าวโทษว่าเกี่ยวพันกับการทุจริต เอาที่ดินธรณีสงฆ์ไปให้นักการเมืองทำสนามกอล์ฟ จนมีโทษถึงให้ออกจากราชการ แต่รองนายกรัฐมนตรีคนนั้นยังไม่ยอมหยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยอ้างว่าเป็นเรื่องตั้งแต่เป็นข้าราชการเมื่อหลายปีมาแล้ว หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ลูกเคยพัวพันกับคดีตำรวจโดนยิงตายจนต้องหนีออกนอกประเทศ กลับไม่รู้สึกผิดอะไรที่ลูกจะเข้ารับราชการตำรวจได้โดยง่ายด้วยคุณสมบัติยิงปืนแม่น

ถ้าเรื่องของกรรมดีกรรมชั่วเกิดหักกลบลบหนี้กันได้จริงตามที่นักการเมืองหลายคนเลือกที่จะเชื่อแล้ว ผมก็ยังนึกไม่ออกว่านักการเมืองเหล่านี้จะต้องทำกรรมดีมากเพียงใดและด้วยวิธีใด จึงจะมาหักกลบลบกรรมชั่วที่ตนเองเคยทำไว้หรือคิดจะทำต่อไป

ในการต่อสู้กับปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน นอกจากเราจะต้องอาศัยข้าราชการที่ยืนหยัดในความถูกต้อง นักธุรกิจและประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการทุจริตคอร์รัปชัน และหน่วยงานที่ยังเป็นอิสระและยึดมั่นในอุดมการณ์ (เช่น ปปช.) แล้ว คงต้องอาราธนาพระคุณเจ้าทั้งหลายได้โปรดช่วยกันตอกย้ำเรื่องกรรมที่ถูกต้องตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ชี้ให้เห็นว่ากรรมชั่วไม่ใช่หนี้สิน จะหักกลบลบกับกรรมดีก็ไม่ได้ จะพักกรรมหรือปรับโครงสร้างกรรมก็ไม่ได้ จะออกบัตรเครดิตผ่อนชำระกรรมตามใจผู้ผ่อนก็ไม่ได้ อีกไม่กี่เดือนจะออกพรรษาเข้าสู่เทศกาลกฐินแล้ว คงจะเป็นการดีถ้าพระคุณเจ้าทั้งหลายจะตั้งกฎไม่รับกฐินจากนักการเมืองที่มีข่าวพัวพันกับการทุจริตคอร์รัปชัน และสังคมหยุดร่วมทำบุญกับคนเหล่านี้ ขนาดรับของโจรกฎหมายยังถือว่ามีความผิด ผมไม่แน่ใจว่าสนับสนุนให้โจรแบ่งเงินที่ได้จากการโกงมาทำบุญแก้กรรมจะเป็นบาปมากน้อยเพียงใด

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์พเนจร”หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 12 กันยายน 2555