ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เชื่อมโลกให้ไทยแล่น > เศรษฐกิจ EEC ในภาวะ COVID-19 ระบาดระลอกใหม่

เศรษฐกิจ EEC ในภาวะ COVID-19 ระบาดระลอกใหม่

12 มกราคม 2021




EIC ธนาคารไทยพาณิชย์วิเคราะห์ เศรษฐกิจ EEC ในภาวะ COVID-19 ระบาดระลอกใหม่ โดยมองว่า

การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในเขตพื้นที่ EEC (Eastern Economic Corridor:เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก)หลังจากจำนวนผู้ป่วยในพื้นที่มีการเพิ่มสูงขึ้นมาก และนำไปสู่การใช้มาตรการควบคุมการเดินทางและจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ

ข้อมูลตัวหนึ่งที่สามารถนำมาประเมินเบื้องต้นถึงแนวโน้มของผลทางเศรษฐกิจได้ค่อนข้างเร็วก็คือข้อมูล Facebook Movement Range ซึ่งเป็นข้อมูลรายวันที่วัดกิจกรรมการเดินทางของผู้ใช้ Facebook ซึ่งสามารถบ่งชี้ทิศทางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวจากทั้งคนในและนอกพื้นที่ การเดินทางไปจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการในพื้นที่ การเดินทางไปทำงาน หรือ การขนส่งสินค้าในพื้นที่ เป็นต้น โดยที่ผ่านมาดัชนีตัวนี้ของไทยจะอ่อนไหวค่อนข้างมากต่อการพบผู้ติดเชื้อในแต่ละพื้นที่

จากข้อมูลดังกล่าว พบว่า กิจกรรมการเดินทางในเขตพื้นที่ EEC ทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา หลังจากเกิดการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในช่วงสัปดาห์แรกของปี 2021 ลดลงถึงราว -22.6% เทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว (ก่อน lockdown ครั้งแรก) โดยเฉพาะปริมาณการเดินทางในจังหวัดระยองที่ลดลงสูงถึง -29.5% ซึ่งหดตัวใกล้เคียงช่วง lockdown ในปีที่แล้ว ขณะที่ปริมาณการเดินทางของพื้นที่นอก EEC โดยเฉลี่ยลดลงเพียง -6.3% เท่านั้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต่างจากช่วง lockdown ครั้งแรกที่ดัชนีกิจกรรมการเดินทางสำหรับเขต EEC มีการลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ซึ่งการที่ในรอบนี้ EEC ดูจะ underperform กว่าพื้นที่อื่น ๆ นั้น มีสาเหตุหลักมาจากจำนวนผู้ติดเชื้อโดยเปรียบเทียบในเขตพื้นที่ EEC ที่สูงกว่ารอบก่อนค่อนข้างมาก โดยในช่วง 3 สัปดาห์แรกของการระบาดในรอบแรก จำนวนผู้ติดเชื้อนอก State Quarantine ใน 3 จังหวัด EEC สะสมอยู่ที่ 75 คน หรือคิดเป็น 4% ของทั้งประเทศ แต่สำหรับในรอบของการระบาดระลอกใหม่ จำนวนสะสมในช่วงกลางเดือนธันวาคมถึงสัปดาห์แรกของปี 2021 (ข้อมูลถึงวันที่ 6 มกราคม 2021) เป็นระยะเวลาประมาณ 3 สัปดาห์เท่ากัน กลับมีจำนวนสูงถึง 1,101 คน คิดเป็นสัดส่วนถึง 23% ของทั้งประเทศในช่วงดังกล่าว

ปริมาณการเดินทางที่ลดลงอันเป็นผลจากทั้งมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและความกังวลของประชาชนโดยทั่วไปนั้น มีแนวโน้มส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายด้านใน EEC โดยเฉพาะในภาคบริการ แม้เศรษฐกิจของ EEC จะพึ่งพาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่าง กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี ยานยนต์ ฯลฯ โดยมูลค่าทางเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของมูลค่าเศรษฐกิจรวมใน EEC แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มกิจการบริการที่จะได้รับผลกระทบนั้นมีความสำคัญไม่น้อยต่อกิจการขนาดเล็กจำนวนมาก โดย SMEs ในภาคบริการในเขต EEC มีจำนวน 6 หมื่นราย คิดเป็นถึง 85% ของจำนวนกิจการทั้งหมดที่จดทะเบียนใน EEC ซึ่งมีการจ้างงานรวมประมาณ 5 แสนคน ถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของครัวเรือนในพื้นที่

สิ่งที่จะพลิกฟื้นวิกฤติรอบนี้ให้ผ่านพ้นไปได้คงหนีไม่พ้นการหยุดยั้งการระบาดของโรคที่เป็นต้นตอของผลกระทบในครั้งนี้ให้ได้โดยเร็ว และกลับมาเร่งสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ฟื้นกลับมาได้อีกครั้ง และในขณะเดียวกัน การเร่งพัฒนาพื้นที่ EEC ทั้งจากการลงทุนของภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศก็ควรที่จะเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพราะการลงทุนส่วนนี้มีความสำคัญทั้งในแง่ของเม็ดเงินที่จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น อีกทั้งสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือการพัฒนาศักยภาพของ EEC ที่มีความจำเป็นต่อการเติบโตของประเทศในอนาคต

ผู้เขียนบทวิเคราะห์: กระแสร์ รังสิพล