ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สื่อนอกถามหามาตรฐาน”จุฬาฯ” หลังคดีลอกวิทยานิพนธ์”ศุภชัย หล่อโลหการ” ล่าช้า สภามหาวิทยาลัยเร่งปิดคดีเดือนหน้า

สื่อนอกถามหามาตรฐาน”จุฬาฯ” หลังคดีลอกวิทยานิพนธ์”ศุภชัย หล่อโลหการ” ล่าช้า สภามหาวิทยาลัยเร่งปิดคดีเดือนหน้า

1 มิถุนายน 2012


ภาพข่าว “Innovation boss in duplication row” จาก Times Higher Education
ภาพข่าว “Innovation boss in duplication row” จาก Times Higher Education

วันที่ 19 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตกเป็นข่าวอีกครั้ง หลังนิตยาสารการศึกษารายสัปดาห์ของประเทศอังกฤษ Times Higher Education (www.timeshighereducation.co.uk) ที่มีชื่อเสียงด้านการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของโลก เผยแพร่ข่าวบนหน้าเวบไซต์ของนิตยสาร “Innovation boss in duplication row”

ในเนื้อหาข่าว ส่วนที่เกี่ยวข้องกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Times Higher Education ได้กล่าวหาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ไม่สามารถจัดการกับกรณีของนายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) อดีตนิสิตระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจบการศึกษาไปในปี 2550 ได้ หลังจากทางมหาวิทยาลัยได้ตรวจพบวิทยานิพนธ์ของนายศุภชัย ว่ามีการคัดลอก หรือลอกเลียนวรรณกรรมโดยมิชอบ (Plagiarised)

โดย Times Higher Education ได้อ้างผลการตรวจสอบคณะกรรมการภายในของมหาวิทยาลัย เมื่อเดือนเมษายน 2553 ที่ผ่านมาว่า วิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิตของนายศุภชัย มีการลอกเลียนเนื้อหาจากหลายแหล่งข้อมูล รวมไปถึงผลงานของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายศุภชัยเป็นผู้อำนวยการอยู่ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของเนื้อหาวิทยานิพนธ์ทั้งหมด และทางสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาในเดือนมกราคม 2554 เพื่อสอบสวนว่าควรเพิกถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิตของนายศุภชัยหรือไม่ ซึ่งจนถึงปัจจุบันการสืบสวนดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้า

ล่าสุด วันที่ 28 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา องค์กร Science and Development Network (www.scidev.net) เครือข่ายด้านข้อมูลข่าวสารในวงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพัฒนา ได้นำเสนอข่าว “Thai ‘plagiarism’ saga takes a new turn” บนหน้าเวบไซต์

ทาง SciDev Net ได้พาดพิงถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีที่ไม่สามารถเพิกถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิตของนายศุภชัยได้ ทั้งที่การตรวจพบว่ามีการคัดลอกจริง โดยเนื้อข่าวได้อ้างว่า ความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาของจุฬาฯ เป็นตัวจุดประกายให้เกิดการโต้เถียงของนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งกรณีนี้จะเป็นตัวทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันการศึกษาในประเทศไทย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - ภาพจาก เนชั่น
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - ภาพจาก เนชั่น

ล่าสุด วันที่ 31 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมของสภามหาวิทยาลัย ในฐานนะองค์กรที่มีอำนาจในการอนุมัติปริญญา และมีอำนาจในการเพิกถอนปริญญาเช่นเดียวกัน ถ้าหากพบว่าการอนุมัติปริญญาดังกล่าว ขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยที่ได้กำหนดไว้

หลังจากการประชุมเสร็จสิ้น ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงความคืบหน้า การพิจารณาเพิกถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิตของนายศุภชัย หล่อโลหการ ของสภามหาวิทยาลัย กับศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ นายกสภามหาวิทยาลัย โดยคุณหญิงสุชาดาไม่ตอบคำถามนี้ และได้มอบหมายให้ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ตอบคำถามว่าความคืบหน้าของการไต่สวนขณะนี้ ทางมหาวิทยาลัยกำลังพิจารณา และเตรียมส่งเรื่องให้สภามหาวิทยาลัยตัดสิน

นายแพทย์ภิรมย์ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวต่อว่า “วันนี้ในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ได้มีการหยิบยกประเด็นการเพิกถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิตของนายศุภชัย มาพูดคุยในที่ประชุมจริง โดยเป็นการติดตามความคืบหน้าจากการประชุมสภามหาวิทยาลัยในครั้งก่อนหน้า ที่ได้มีการมอบหมายให้ทางมหาวิทยาลัยเร่งดำเนินการ”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่สื่อต่างประเทศ นำเสนอข่าวเรื่องความล่าช้าในการพิจารณาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายแพทย์ภิรมย์ ได้กล่าวว่า

“สื่อต่างประเทศอาจจะไม่เข้าใจ ถึงความซับซ้อนในการสอบสวน สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การสอบสวนเป็นไปอย่างล่าช้าเนื่องจาก คณะกรรมการที่พิจารณาในเรื่องนี้ประสบปัญหาในการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล เพราะเรื่องนี้มีผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ทั้งภายในและภายนอก และเราไม่ใช่ศาล อำนาจในการเชิญคน หรือการขอหลักฐานจากบุคคลภายนอกจึงมีข้อจำกัด เพราะเขาจะมาช้าหรือไม่มาก็ได้ แต่การสอบสวนบุคคลภายในจุฬาฯ ได้จบไปแล้ว”

ส่วนแนวทางในการตัดสินของสภามหาวิทยาลัย นายแพทย์ภิรมยได้ชี้แจงกับผู้สื่อข่าวว่า เนื่องจากเรื่องนี้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องหลายประเด็น การตัดสินที่จะเป็นไปได้จึงมีหลายแนวทาง แต่จากการประมวลข้อมูลที่มีอยู่ตอนนี้ คาดว่าเรื่องนี้จะจบได้ภายในเดือนหน้า และจะมีการชี้แจงเรื่องราวทั้งหมดในตอนนั้น