ThaiPublica > เกาะกระแส > ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19 (ตอน 1): กลับสู่ภาคเกษตร-ถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี ไม่จ้างเด็กจบใหม่

ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19 (ตอน 1): กลับสู่ภาคเกษตร-ถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี ไม่จ้างเด็กจบใหม่

8 กรกฎาคม 2020


ตลอดทั้งเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานและศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU-ColLaR) ได้จัดกิจกรรมการสัมมนาระดมความคิดเห็นทางระบบออนไลน์ เรื่อง “ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19: ผลกระทบ แนวโน้มและทางออก” เพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัย ความรู้ในเชิงนโยบาย ความร่วมมือเชิงวิชาการ การพัฒนาฐานข้อมูล และสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับแรงงานและทุกคนในสังคม โดยมีผู้แทนจากนายจ้าง ลูกจ้าง นักวิชาการ ภาครัฐ ภาคประชาชน มาร่วมหารือว่าจะร่วมกันจับมือก้าวข้ามวิกฤตินี้ไปได้อย่างไร

ในตอนแรกจะกล่าวถึงการปรับตัวของแรงงานในภาคการผลิต ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรกร ขณะที่ในตอนต่อๆ ไปจะกล่าวถึงตั้งแต่แรงงานในภาคบริการที่ได้รับผลกระทบโดยตรง, การปรับตัวของกลุ่มแรงงานจบใหม่และกลุ่มแรงงานสูงอายุ, ผลกระทบต่อแรงงานนอกระบบ, การปรับตัวของกลุ่มแรงงานอิสระต่างๆ ในยุคของ gig economy และกลุ่มแรงงานระหว่างประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโลกไปทั่วโลก

ผลกระทบกระจุกตัว “บางอุตสาหกรรม-บางพื้นที่”

ผศ. ดร.เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู แห่ง Universidad Carlos III de Madrid และนักวิจัยเครือข่าย CU-ColLaR นำเสนอผลกระทบของโควิด-19 ต่อตลาดแรงงานไทยในภาพรวม โดยหยิบยกผลวิเคราะห์จากงานวิจัยเรื่อง “เมื่อโควิด-19 ปิดเมือง: ผลกระทบต่อแรงงานไทยในมิติ supply-side หลายมิติของความเสี่ยงที่ตลาดแรงงานไทยต้องเผชิญ” มาชี้ให้เห็นว่านโยบายปิดเมือง และการเว้นระยะห่างทางสังคม ที่รัฐบาลประกาศใช้เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น ส่งผลกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 25 ประเภทต่างกัน โดยเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลจาก labor force survey เพื่อดูการกระจายตัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบ พบว่า สถานศึกษา สถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า รวมถึงภาคบริการ ร้านอาหาร และภาคการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงสูง ประมาณ 3-5 ล้านคน และในแง่ของพื้นที่พบว่า ผลกระทบรุนแรงกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองภาคเหนือ ภาคใต้ และในทุกสถานที่ที่เป็นภาคการท่องเที่ยว

ไม่ใช่แรงงานทุกคนจะ Work from Home ได้

หากพิจารณาระดับความรุนแรงของผลกระทบที่มีต่อแรงงานตามลักษณะงานใน 2 ประเด็น คือ 1) พิจารณาว่าเป็นลักษณะงานที่สามารถทำภายในที่พักได้หรือไม่ โดยหากเป็นงานที่ง่ายต่อการปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงานจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสที่ต่ำกว่า ส่วนมากมักเป็นงานที่มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ ซึ่งต่างกับงานอีกประเภทที่จำเป็นต้องทำนอกบ้านหรือที่สถานประกอบการเท่านั้น เช่น งานที่ต้องใช้เครื่องจักรใหญ่ เครื่องมือ ที่มีความเสี่ยงสูงกว่า 2) พิจารณาว่าเป็นลักษณะงานที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อหรือไม่ โดยงานที่ทำจะต้องใกล้ชิดกับกลุ่มคนมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อที่สูง ซึ่งสามารถแบ่งแรงงานเป็น 4 กลุ่มตามระดับของผลกระทบที่จะได้รับ ดังนี้

  • กลุ่มที่ 1 งานที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดต่ำ ทำงานจากบ้านได้ง่าย เช่น นักสังคมวิทยา โปรแกรมเมอร์ และนักเศรษฐศาสตร์ แรงงานกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
  • กลุ่มที่ 2 งานที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดต่ำ ทำงานจากบ้านได้ยาก เช่น ผู้ควบคุมเครื่องจักรทอผ้า ช่างทำแบบหล่อโลหะ และงานก่อสร้าง แรงงานกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบปานกลาง
  • กลุ่มที่ 3 งานที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดสูง ทำงานจากบ้านได้ง่าย เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพด้านงานบุคคล ครูในระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป และผู้จัดการด้านงานสังคมสงเคราะห์ กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบปานกลาง
  • กลุ่มที่ 4 งานที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดสูง ทำงานจากบ้านได้ยาก เช่น งานทำความสะอาดบ้าน อาคาร งานร้านอาหาร และมัคคุเทศก์ กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบมากที่สุด

“จะเห็นว่างานบางกลุ่มสามารถทำที่บ้านได้โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงาน จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อย ซึ่งจะแตกต่างกับกลุ่มที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้และมีความเสี่ยงสูง กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบสูงจำเป็นต้องมีนโยบายช่วยเหลือ โดยผลกระทบจะยิ่งมากขึ้นหากยังคงมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ โดยเฉพาะกลุ่มงานบริการ กลุ่มก่อสร้างและโลจิสติกส์ รวมทั้งอาจยังมีผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำด้วย เพราะกลุ่มแรงงานที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมากขึ้น”

ผศ. ดร.เนื้อแพร ให้ข้อเสนอแนะและนโยบายที่รัฐควรจะทยอยดำเนินการคือ การให้เงินช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางโดยเร็ว การทยอยเปิดบางกิจการที่สามารถเปิดได้ และในบางกิจการที่มีความเสี่ยงสูงในการแพร่เชื้อโรค ภาครัฐควรต้องมีมาตรการที่เหมาะสมการให้ความช่วยเหลือแทนการเปิดกิจการ

เอสเอ็มอีในห่วงโซ่อุปทานรถยนต์กระทบหนัก

ดร.ชฎาธาร โอษธีศ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยเครือข่าย CU-ColLaR นำเสนอผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานและอุตสาหกรรม กรณีศึกษาภาคยานยนต์ โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็นดังนี้

ประเด็นที่ 1 โครงสร้างอุตสาหกรรมและภาพรวมภาวะการทำงานของประชากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทย จากข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (The Thai Automotive Industry Association:TAIA) พบว่า จำนวนผู้ประกอบรถจักรยานยนต์มีทั้งหมด 11 บริษัท ผู้ประกอบรถยนต์มีทั้งหมด 21 บริษัท ซึ่งมีบุคลากรทั้งผู้ผลิตและผู้ประกอบรถยนต์จำนวน 100,000 คน รวมทั้งตัวแทนจำหน่ายจำนวนทั้งสิ้น 200,000 คน แรงงานส่วนใหญ่กว่า 300,000 คน จบการศึกษาระดับมัธยม และมีสถานะเป็นลูกจ้างเอกชน ประมาณ 80%ได้รับค่าตอบแทนรายเดือนและอีก 20%ได้รับค่าตอบแทนรายวัน

ประเด็นที่ 2 ผลกระทบจากโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมและตลาดแรงงาน พบว่ากลุ่ม tier 2 และ tier 3 ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดกลางและขนาดเล็กได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จึงควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ด้วยเหตุผลทุนสำรองมีน้อย ผลิตภาพแรงงานยังต่ำ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี และระบบประกันคุณภาพยังไปไม่ถึง ผลกระทบที่เห็นได้ชัดจากโควิด-19 คือยอดการสั่งซื้อและยอดการผลิตที่ลดลง (เดือนกุมภาพันธ์ลดลง 18% เดือนมีนาคมลดลง 25-30% และเดือนเมษายนลดลง 50%) ทำ ให้แรงงานส่วนใหญ่ถูกเลิกจ้าง ตกงาน ว่างงาน ยิ่งไปกว่านั้น แนวโน้มการปรับเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และสมาร์ทคาร์ส่งผลให้ใช้ชิ้นส่วนลดลงในอัตรา 100:1 (20,000:2,000 ชิ้น) ซึ่งยิ่งทำให้ผู้ผลิตมีแนวโน้มลดการใช้แรงงานคน หากแต่พึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น

กระนั้นตำแหน่งที่ยังคงความสำคัญอยู่ ได้แก่ พนักงานควบคุมเครื่องจักร เทคนิคซ่อมบำรุง ไอที และที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น งานสนับสนุน(back-office) แต่ตำแหน่งที่ต้องปรับลดจำนวนคนลง ได้แก่ พนักงานประกอบชิ้นส่วน พนักงานในไลน์การผลิต QC Technician และที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายผันแปรตามยอดการผลิต

ประเด็นที่ 3 กรอบนโยบายเพื่อกำหนดมาตรฐานแรงงานในช่วงวิกฤติโควิด–19 และมาตรการภาครัฐ ซึ่งมี 3 กรอบสำคัญดังนี้

  1. คุ้มครองแรงงานในสถานที่ทำงาน ผ่านการบังคับใช้มาตรการความปลอดภัยและชีวอนามัย การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่น เช่น ทำงานผ่านระบบออนไลน์ สลับตาราง รวมถึงการจัดหาการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ และขยายสิทธิการให้ลาป่วยโดยได้รับเงินค่าตอบแทน
  2. กระตุ้นเศรษฐกิจและความต้องการแรงงาน ผ่านนโยบายทางการคลังเชิงรุก นโยบายทางการเงินที่ผ่อนปรน การสนับสนุนเงินกู้และช่วยเหลือด้านการเงินกับบางอุตสาหกรรม เช่น การบริการทางการแพทย์
  3. ส่งเสริมการจ้างงานและรายได้เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน การขยายการคุ้มครองทางสังคมสำหรับทุกคน เช่น การทำงานระยะสั้น การหยุดงานโดยได้รับค่าตอบแทนและความช่วยเหลืออื่นๆ การผ่อนปรนทางด้านภาษีและการเงินกับสถานประกอบการรายย่อย

รัฐบาลเองก็ได้ออกมาตรการภาครัฐมาช่วยเหลือแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสิทธิผู้ประกันตน การลดอัตราการจ่ายเงินสมทบในส่วนของประกันสังคม โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน โครงการจ้างงานเร่งด่วน และฝึกทักษะอาชีพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อช่วยแรงงานนอกระบบ โครงการจ้างบัณฑิตที่ว่างงานเพื่อให้เป็นผู้ประสานงานโครงการของกระทรวงแรงงานในระดับพื้นที่ จำนวน 1,682 ตำแหน่ง และเปิดคอร์สออนไลน์เพื่อพัฒนาทักษะสำคัญสำหรับเศรษฐกิจในอนาคตหลังวิกฤติโควิด-19 ฯลฯ

สังคมประสานเสียงจะรับมือโควิด-19 อย่างไร

นอกเหนือจากนักวิชาการแล้ว ยังมีตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง นักวิชาการ ภาครัฐ ภาคประชาชนอีก 8 มุมมองเกี่ยวกับผลกระทบ การปรับตัว แนวโน้มตลาดแรงงานหลังยุคโควิด-19

นางสาวสิริวัน ร่มฉัตรทอง สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ชี้ว่า สถานการณ์โควิด–19 ส่งผลให้สถานประกอบการหลายแห่งใช้มาตรการ work from home โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับกระบวนการทำงาน สะท้อนให้เห็นว่าในอนาคตบางตำแหน่งงานอาจไม่มีความจำเป็น เพราะสามารถนำเทคโนโลยีมาทดแทนกำลังคนได้ อีกทั้งมีความสะดวกรวดเร็วและทันสมัยกว่า ดังนั้นภาครัฐจึงควรส่งเสริมการลงทุนในด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัยและเทียบเท่านานาประเทศ

แรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดจากวิกฤติโควิด-19 คือ แรงงานภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ดังนั้น ภาครัฐควรมีการพัฒนาทักษะแรงงาน re-skill และ up-skill ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เช่น ธุรกิจออนไลน์ ธุรกิจการขนส่งออนไลน์ เป็นต้น เพื่อยกระดับศักยภาพและคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดีขึ้น

นายทวี เตชะธีราวัฒน์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย ได้อภิปรายต่อในประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อภาคอุสาหกรรมการผลิตว่า สถานประกอบการหลายแห่งไม่สามารถดำเนินกิจการได้ แรงงานไม่ได้รับค่าจ้าง และแรงงานบางส่วนเดินทางกลับภูมิลำเนาตนเอง จึงมีความเห็นว่า กระทรวงแรงงานควรชี้แจงกฎหมาย หรือสิทธิประโยชน์ที่แรงงานควรจะได้รับอย่างชัดเจนและทั่วถึง ซึ่งหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่ลดลง มีความเห็นว่า ทุกภาคส่วนควรหาแนวทางการแก้ไขร่วมกัน และระบบแรงงานสัมพันธ์ถือเป็นทางออกที่ดี ในการเปิดโอกาสให้นายจ้างและลูกจ้างได้ร่วมกันหารือเพื่อหาวิธีดำเนินการให้ผ่านพ้นวิกฤติไปด้วยกัน

นางสาวอัจฉรา งามสมจิตร ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัด กระทรวงแรงงาน เริ่มต้นโดยกล่าวถึงมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤติการณ์จากโควิด-19 ที่รับผิดชอบโดยกระทรวงแรงงาน 3 ด้านดังนี้

ด้านที่ 1 ด้านต่างประเทศ กักกันการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย โดยชะลอการอนุมัติการนำเข้าแรงงานต่างด้าว และมีสำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศที่ดูแลแรงงานไทยร่วมกับสถานทูต อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการส่งกลับแรงงานต่างด้าวเป็นเรื่องยากพอสมควร แต่กระทรวงแรง งานได้พยายามดำเนินการอย่างเต็มที่ และเสนอให้ยับยั้งการระบาดภายในประเทศ หากแต่ผ่อนปรนแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่เดิมให้สามารถทำงานต่อได้ จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563

ด้านที่ 2 ด้านการป้องกัน ในช่วงแรกก่อนมีมาตรการ work from home หน่วยงานต้องมีการคัดกรอง ตรวจวัดไข้ และกำหนดให้สถานประการมีมาตรการ 10 ข้อสำหรับการป้องกันการแพร่ระบาด แต่เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้น จึงได้มีการเสนอมาตรการ work from home และประชาสัมพันธ์ให้สถานประกอบการ นายจ้าง ลูกจ้าง และแรงงานต่างด้าวตระหนักสถานการณ์ และร่วมกันลดความเสี่ยงที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรค รวมถึงความพยายามสร้างการบริการออนไลน์และระบบประกันสังคมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการมากขึ้นด้วย

ด้านที่ 3 ด้านเยียวยา ผ่านมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหา และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรการมาโดยตลอด โดยอ้างอิงกับมาตรการที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ ภาพรวมของมาตรการการป้องกันด้านการเยียวยาจะเน้นไปที่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง ว่างงาน หรือชะลอตามมาตร การต่างๆ เช่น การให้บริการทางด้านการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ติดเชื้อ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ว่างงาน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ได้รับผลประ โยชน์จากส่วนนี้ประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งขณะนี้มีผู้มาใช้สิทธิ์และได้รับการอนุมัติแล้วประมาณ 5 แสนราย ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างรอนายจ้างมารับ รองเพื่อทำการอนุมัติ นอกเหนือจากการช่วยเหลือลูกจ้างแล้ว กระทรวงแรงงานเองก็ได้ทำโครงการสินเชื่อวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท สำหรับช่วยเหลือนายจ้างด้วยเช่นกัน รวมทั้งโครงการแก้ไขความเดือดร้อนด้านอาชีพสำหรับผู้ที่ตกงาน ว่างงาน โดยจะมีการจ้างงานในพื้นที่วันละ 300 บาท

นางสาวอัจฉราได้ทิ้งท้ายว่า จากสถานการณ์นี้ จำเป็นต้องมีการติดตาม เฝ้าระวัง และพิจารณาสถานการณ์การแพร่ระบาดว่าดีขึ้นหรือไม่ หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น อาจต้องขยายเวลาสิทธิประโยชน์ต่างๆ ออกไป แต่หากสถานการณ์ดีขึ้น ต้องหาวิธีทำงานและการคุ้มครองแรงงานอาชีพใหม่ๆ ที่เกิดเพิ่มขึ้น

ภาคอุตสาหกรรม: กรณีศึกษาในภาคยานยนต์

นางปาริชาติ ประจันพาณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล สยามมิชลิน ประเทศไทย นำเสนอมาตรการรับมือของบริษัทว่าเมื่อเจอวิกฤติโควิด-19 ว่า สิ่งแรกที่ทางบริษัทได้ดำเนินการ คือ การดูแลความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงานทุกคน โดยเริ่มจากการมีมาตรการในการดูแลและป้องกันสุขภาพความปลอดภัยของพนักงาน เช่น การเว้นระยะห่าง การปรับระบบการทำงานด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการประชุม การสื่อสาร แทนการพบปะกันโดยตรง การตรวจสุขภาพของพนักงานก่อนเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ และมีอุปกรณ์การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

นอกเหนือจากสุขภาพทางด้านร่างกายแล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญกับสุขภาพทางจิตใจของพนักงานด้วย โดยพนักงานสามารถโทรขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่บริษัทได้มีให้เป็นการเฉพาะในกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือเมื่อเกิดภาวะความเครียด ในช่วงที่สถาน
การณ์โควิด-19 เริ่มรุนแรงขึ้น สำนักงานใหญ่ได้มีมาตรการ work from home เพื่อให้พนักงานทุกคนปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรค โดยทุกคนสามารถทำงานผ่านระบบออนไลน์ได้ด้วยตนเอง และนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับกระบวนการการทำงาน พนักงานส่วนใหญ่สามารถปรับตัวและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการของบริษัทเป็นอย่างดี และมีการพัฒนาตัวเองมากขึ้น เช่น การเรียนรู้ออนไลน์ หรือสามารถทำงานผ่านระบบได้ ทำให้ธุรกิจและการดำเนินงานของบริษัทสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้

นางปาริชาติได้กล่าวทิ้งท้ายถึงประเด็นความท้าทายของบริษัทขนาดเล็กในการเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ว่า เป็นเรื่องที่อธิบายค่อนข้างยาก เนื่องจากโครงสร้างและระบบการทำงานของแต่ละบริษัทมีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจของพนักงานและองค์กรต้องดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติดังกล่าวไปได้

นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนตร์แห่งประเทศไทย เริ่มต้นโดยการเล่าว่า ที่ผ่านมานั้นอุตสาหกรรมยานยนต์ในหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปมีมาตรการเปลี่ยนแปลงจากการใช้น้ำมันเป็นใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนยานยนต์แทน ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยค่อนข้างมาก เพราะในปัจจุบันประเทศไทยยังใช้รถยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาปเป็นส่วนมาก ดังนั้นทิศทางอุตสาหกรรมการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยยังต้องมีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น หากมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า องค์ประกอบอื่นๆ จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนตามไปด้วย เช่น ชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต

การประกาศเคอร์ฟิวทำให้บริษัทยานยนต์เกือบทุกค่ายหยุดการผลิตตั้งแต่เดือนเมษายน แต่บางบริษัทอาจมีการทำการผลิตบ้างแต่ไม่มาก ในส่วนของพนักงานออฟฟิศ เปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็น work from home ซึ่งพนักงานได้มีการปรับตัวตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น หากสถานการณ์ความรุนแรงของการแพร่ระบาดยังไม่ลดลง อาจทำให้หลายบริษัทประกาศหยุดการผลิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อส่วนอื่นๆ ตามไปด้วย

สำหรับทิศทางภายหลังจากวิกฤติโควิด-19 นายมานิตย์มีความเห็นว่า สถานการณ์อาจเปลี่ยนไปเพราะหลายบริษัทหยุดงาน และอาจเลิกจ้างพนักงาน รวมถึงมีการเกษียณก่อนกำหนดจำนวนมาก และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นอุตสาหกรรมการผลิตจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน เพราะทุกบริษัทไม่มีการรับคนเข้าทำงานใหม่ และในอนาคต AI จะเข้ามามีบทบาทในการทำงานแทนคนมากขึ้น ดังนั้น ทั้งภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง ควรร่วมมือกันระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นายจิตรพงศ์ พุ่มสอาด ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ไว้ว่า ในภาคการผลิตไม่มีความต้องการรับเด็กจบใหม่เข้าสู่การจ้างงาน จึงส่งผลให้เด็กที่ไม่มีทักษะและประสบการณ์การทำงานเข้าสู่อุตสาหกรรมค่อนข้างยาก แนวโน้มการจ้างงานในพื้นที่หลังสถานการณ์โควิด-19 จะเปลี่ยนไปแน่ นอน เช่น รูปแบบการจ้างงาน การจ่ายค่าตอบแทน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ การลดจำนวนแรงงานในการผลิต จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเพราะมีการนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาทดแทนกำลังแรงงานมากขึ้น ดังนั้น อนาคตของอุตสาหกรรมในประเทศจะต้องเตรียมคนให้พร้อมเพื่อรองรับการทำงานในยุคดิจิทัล

นายจิตรพงศ์ได้เสนอข้อเสนอแนะเพื่อบรรเทาผลกระทบ ในส่วนของระยะสั้น ก็คือการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีของแรงงาน เช่น การใช้งานฐานข้อมูลในการพัฒนา การแก้ไขปัญหาและติดตามสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว และระบบการเรียนการสอนควรมีการเพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีเข้าไปด้วย ควรเปิดโอกาสให้ครูในโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ชิ้นส่วนเข้ามาช่วยฝึกอบรม ส่วนข้อเสนอแนะระยะยาวคือ ควรให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย ให้มากขึ้น เนื่องจากการศึกษาในระบบมีข้อเสียบางประการ เช่น ทำให้ผู้เรียนปรับตัวได้ช้าในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนากำลังคนยังไม่มีเอกภาพ ควรมีการลดในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ เพื่อความสามารถในการปรับตัวที่ดีขึ้น

ภาคการผลิต: กรณีศึกษาในภาคเกษตร

นางสาวทัศนีย์ วีระกันต์ ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก อภิปรายต่อมาในประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า แรงงานในภาคการเกษตร แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ แรงงานภาคการเกษตร และแรงงานรับจ้างในภาคการเกษตร ก่อนประสบกับวิกฤติโควิด-19 นั้น แรงงานภาคการเกษตรอยู่ที่ 28% ของผู้มีงานทำ ซึ่งมีแนวโน้มลดลงอยู่ก่อน และส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ประมาณ 20% ในขณะที่แรงงานอายุน้อยที่เข้าสู่ภาคการเกษตรมีจำนวนลดลง ประมาณ 14%

ในส่วนของแรงงานรับจ้างในภาคการเกษตร สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มแรงงานรับจ้างชั่วคราว ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีที่ดินทำกินของตนเอง โดยอาจจะไปรับจ้างตามฤดูกาล หรือเป็นแรงงานรับจ้างรอบๆ หมู่บ้าน หรือชุมชนใกล้ๆ
  2. กลุ่มแรงงานรับจ้างที่เป็นอาชีพ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง มีที่ดินน้อย ซึ่งมีฐานะยากจนกว่าแรงงานในกลุ่มแรก โดยจะรับจ้างการเกษตรในพื้นที่อื่น หรืออาจจะรับจ้างบริเวณรอบๆ ชุมชน เป็นการรับจ้างรายวัน รายเดือน หรือจ้างเหมา
  3. กลุ่มแรงงานต่างชาติ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในภาคการเกษตรจำนวนมาก ซึ่งมีลักษณะการจ้างเป็นรายเดือน การจ้างเหมา หรือการแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง

นางสาวทัศนีย์ยังกล่าวถึงผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 ต่อแรงงานภาคการเกษตรว่า มีการหลั่งไหลของคนเมืองกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไม่สามารถหาเลี้ยงชีพต่อไปได้ ฉะนั้นการกลับภูมิลำเนาจึงเป็นทางออกอีกทางหนึ่งสำหรับความอยู่รอดและสามารถดูแลตนเองได้ ทั้งนี้ปรากฏการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ที่สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ กลุ่มแรงงานคนเมืองได้ใช้ภาคการเกษตรเป็นหลักพิงเพื่อความอยู่รอดและการหาเลี้ยงชีพ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประมาณการไว้ว่าอาจจะมีแรงงานที่กลับภูมิลำเนาประมาณ 76,000 ราย

“แรงงานที่กลับภูมิลำเนาอาจมีลักษณะ 2 แบบ แรงงานที่ไม่พร้อมจะกลับไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมแล้ว ทำให้การกลับภูมิลำเนาไปทำการเกษตรจึงเป็นทางออกอีกทางหนึ่งของพวกเขา และกลุ่มแรงงานรุ่นใหม่ ซึ่งรอดูจังหวะของเศรษฐกิจหรืองานที่พอจะหาได้ แล้วจึงกลับเข้าสู่ระบบของแรงงานอุตสาหกรรม แรงงานภาคการผลิตอื่นต่อไป”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรไม่ใช่แค่วิกฤติโควิด-19 เพียงอย่างเดียว แต่มีปัญหาเรื่องภัยแล้งและหมอกควันร่วมด้วย โดยในปี 2563 ปัญหานี้ส่งผลกระทบรุนแรงอย่างมากจึงทำให้แรงงานภาคการเกษตรต้องมีการปรับตัวและเตรียมพร้อมในการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น

“เราอาจต้องกลับมาพิจารณาว่า ศักยภาพของสังคมไทยอยู่ตรงไหน การสร้างความยั่งยืนและการพึ่งพาตนเองมากขึ้นของระบบภาคการ เกษตรที่เป็นหลักอิงสำคัญของสังคมควรมีวิถีการผลิตแบบใด ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบเกษตรกรรมยั่งยืน มีความปลอดภัยและมีความมั่นคงทางอาหาร อีกทั้งสวัสดิการของเกษตรกรที่มีอยู่ในปัจจุบันเพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานรับจ้างภาคการ เกษตรให้ดีขึ้นหรือไม่ และสวัสดิการของเกษตรกรควรกล่าวถึงเรื่องการประกันราคาผลผลิต การประกันความเสี่ยง หรือการมีสวัสดิการเมื่อสูงอายุ ซึ่งควรจะเป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้าสำหรับประชาชนทั้งประเทศ และควรมีการใช้เครือข่ายองค์กรชุมชนเข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน”

นางสาวปสุตา ชื้นขจร มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวถึงการจ้างงานในภาคการเกษตร ภายใต้บริบทของจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงในภาคเหนือ ซึ่งในการสัมมนาได้จะเน้นกลุ่มแรงงานข้ามชาติเป็นหลัก โดยกล่าวถึงสถานการณ์แรงงานในจังหวัดเชียงใหม่ว่า ขณะนี้มีอัตราการจ้างงานแรงงานข้ามชาติภาคการเกษตร ในจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 96,511 คน ส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว เช่น การปลูกลำไย สวนฝรั่ง ไร่ข้าวโพด ฯลฯ ผลิตในลักษณะอุตสาหกรรมนำไปส่งต่อ

“การจ้างงานแรงงานข้ามชาติจะมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งกฎหมายนี้จะอนุญาตให้แรงงานมีนายจ้างได้มากกว่า 1 คน ดังนั้น แรงงานข้ามชาติภาคการเกษตรสามารถรับจ้างในพื้นที่ใกล้เคียงอื่นๆ ได้ แต่เมื่อมีวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้ในหลายพื้นที่เกิดการปิดพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถออกไปรับจ้างที่อื่นได้ ขาดรายได้”

ในบางพื้นที่การเกษตรห่างไกลยากต่อการเข้าถึง รวมถึงการเข้าไม่ถึงข้อมูลสถานการณ์ของโรค และไม่สามารถเข้าถึงกลไกข้อมูลด้านสุขภาพได้ เพราะข้อมูลส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะออนไลน์ สิทธิแรงงานในภาคการเกษตรส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม มาตรการในการเยียวยา และการเข้าไม่ถึงการขึ้นทะเบียนของนายจ้างที่ได้รับผลกระทบ เพราะระบบจัดอยู่ในรูปแบบออนไลน์ซึ่งยากต่อการเข้าถึง โดยเฉพาะนายจ้างภาคการเกษตร

นางสาวปสุตาได้เสนอแนวทางในการช่วยเหลือภาคการเกษตรว่า ภาครัฐควรดูแลประชาชนในประเทศอย่างถ้วนหน้า รวมถึงควรดูแลแรงงานข้ามชาติด้วย เพราะในต่างประเทศ เช่น ประเทศออสเตรีย หากมีการขึ้นทะเบียนแรงงานอย่างถูกต้อง รัฐจะดำเนินการโอนเงินช่วยเหลือถ้วนหน้าเข้าระบบทันทีโดยที่ไม่ต้องมีการคัดกรอง และแรงงานส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการเป็นผู้ประกันตน ดังนั้น ในระยะยาวภาครัฐควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยให้นายจ้างทุกกิจการนำลูกจ้างเข้าสู่ระบบประกันสังคม อีกทั้งควรมีกองทุนสำหรับการช่วยเหลือเมื่อเจอวิกฤติ เพื่อนำเงินมาอุดหนุนทั้งภาคนายจ้าง และลูกจ้าง ให้ผ่านวิกฤติไปได้

อ่านต่อตอนที่ 2 ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19 (ตอน 2): มองใหม่ภาคบริการไทย เติบโตสูงแต่สร้างรายได้ต่ำ