ThaiPublica > เกาะกระแส > กสทช. ถอนใบอนุญาตมือถือจีน 280 รุ่นแล้ว ตรวจสอบรายชื่อรุ่นได้ที่นี่

กสทช. ถอนใบอนุญาตมือถือจีน 280 รุ่นแล้ว ตรวจสอบรายชื่อรุ่นได้ที่นี่

22 มิถุนายน 2012


จากที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมเสนอให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) พิจารณาเพิกถอนใบรับรองโทรศัพท์มือถือนำเข้าจากประเทศจีน 34 ยี่ห้อ จำนวน 280 รุ่น จากผู้นำเข้าไทย 27 ราย หลังพบมีการใช้ผลการทดสอบจากห้องแล็บปลอม ในการขอใบรับรองเครื่องเพื่อนำมาจำหน่ายในประเทศไทย (กสทช. เตรียมถอนใบอนุญาตมือถือจีน 280 รุ่น พบใช้ผลการทดสอบจากห้องแล็บปลอม)

ล่าสุด วันที่ 20 มิถุนายน 2555 หลังการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) นายพิทยาพล จันทนะสาโร รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่าที่ประชุม กทค. ได้มีมติเพิกถอนใบรับรองโทรศัพท์มือถือนำเข้าจากประเทศจีน 34 ยี่ห้อ จำนวน 280 รุ่นของผู้นำเข้าไทย 27 รายแล้ว(ดูรายละเอียดรายชื่อเครื่องโทรคมนาคม และอุปกรณ์แบบรุ่นที่ถูกเพิกถอน )

ผลจากการเพิกถอนใบรับรอง จะทำให้โทรศัพท์มือถือรุ่นที่มีประกาศเพิกถอน ไม่สามารถนำเข้ามาจำหน่ายเพิ่มเติม โดยในปัจจุบัน มีการตรวจพบโทรศัพท์มือถือทั้งหมด 34 ยี่ห้อ จำนวน 280 รุ่น ดังกล่าว หมุนเวียนในตลาดตั้งแต่ปี 2552–2555 ประมาณ 970,000 เครื่อง ทั้งที่อยู่ในมือของผู้นำเข้า ร้านค้า และผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ

นายพิทยาพล จันทนะสาโร รองเลขาธิการ กสทช.
นายพิทยาพล จันทนะสาโร รองเลขาธิการ กสทช.

นายพิทยาพลได้กล่าวว่า การเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าวมาจากตรวจพบการปลอมแปลง หรือแก้ไขเอกสารหลักฐาน เพื่อขอใบรับรองเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ จึงถือว่าใบรับรองที่เคยมีการออกให้ไปก่อนหน้าไม่ถูกต้องตามกฎระเบียบ เมื่อตรวจพบจึงต้องทำการเพิกถอนเพราะการใช้เอกสารปลอม ไม่ใช่ประเด็นเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย

“ในที่ประชุมได้มีการพูดถึงกรณีการซื้อขายหรือนำเข้าโทรศัพท์มือถือดังกล่าว ก่อนที่จะมีการเพิกถอนใบอนุญาต กทค. เห็นว่า เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายต่อประชาชนและผู้ใช้โดยสุจริต กรณีโทรศัพท์ที่อยู่ในการครอบครองของผู้ใช้ หรือร้านค้าที่ซื้อโทรศัพท์มาก่อนจะมีการเพิกถอนใบอนุญาต ไม่มีคำสั่งห้ามใช้ หรือห้ามร้านค้าปลีกจำหน่าย” นายพิทยาพลกล่าว

โดยคำสั่งทั้งหมดจะเน้นไปที่ผู้นำเข้าเป็นหลัก หลังจากที่มีประกาศภายใน 30 วัน ผู้นำเข้าทั้งหมด 27 รายที่นำเข้าโทรศัพท์มือถือรุ่นดังกล่าว จะต้องรายงานการครอบครองทั้งหมดต่อ กสทช. ว่า ที่ผ่านมาได้มีการส่งโทรศัพท์มือถือให้ร้านค้าไปจำนวนเท่าไร และปัจจุบันมีอยู่ในการครอบครองเท่าไร และไม่ให้นำเข้าโทรศัพท์รุ่นดังกล่าวได้อีก หากยังมีโทรศัพท์ที่ยังตกค้างอยู่ในสต๊อกสินค้าของผู้นำเข้า จะต้องทำการส่งออกนอกประเทศหรือทำลายทั้งหมด

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้นำเข้าจะสามารถแอบอ้างได้หรือไม่ หากมีการนำเข้าโทรศัพท์ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตหลังจากมีการออกประกาศ หรือจงใจไม่ทำลาย หรือไม่ส่งโทรศัพท์ออกนอกประเทศไทย นายพิทยาพลกล่าวว่า เรื่องนี้สามารถทำการตรวจสอบได้ เนื่องจากการนำเข้าโทรศัพท์มือถือ ผู้นำเข้าต้องซื้อสติ๊กเกอร์จาก กสทช. เพื่อติดบนโทรศัพท์มือถือก่อนที่จะวางจำหน่ายในประเทศ โดยรายละเอียดในสติ๊กเกอร์จะระบุหมายเลข บอกว่าใครเป็นผู้ขอ และขอเมื่อไหร่ ทำให้สามารถตรวจสอบการครอบครองทั้งหมดได้

และในกรณีการใช้เอกสารปลอมที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นและประชาชน สำนักงาน กสทช. อาจดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัทที่ยื่นเอกสารปลอมต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป

“ในอนาคต หากผู้นำเข้ายังคงต้องการนำเข้าโทรศัพท์มือถือรุ่นที่มีการเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป ยังคงทำได้ แต่ต้องทำเรื่องเพื่อขอใบอนุญาตใหม่ โดยใช้เอกสารที่ถูกต้องมาเป็นหลักฐานยืนยัน” นายพิทยาพลกล่าว

นายพิทยาพลได้กล่าวถึงมาตรการป้องกันการปลอมแปลงเอกสารในอนาคตว่า ตั้งแต่ปี 2554 สำนักงาน กสทช. ได้ปรับขั้นตอนในการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานใหม่ โดยเพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบรายงานผลการทดสอบกับห้องปฏิบัติการของต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และจะเฝ้าระวังผู้ประกอบการที่ถูกเพิกถอนใบรับรองเป็นพิเศษ โดยทำการตรวจสอบด้วยวิธีการเดียวกันนี้กับโทรศัพท์มือถือทุกยี่ห้อและทุกรุ่นต่อไป

หลังจากการลงมติในครั้งนี้ กสทช. จะประกาศรายชื่อเครื่องโทรคมนาคม และอุปกรณ์แบบรุ่นที่ถูกเพิกถอน ในเว็บไซต์ กสทช. และจะนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

สำหรับผู้ประกอบการ 27 ราย ได้แก่ 1. บริษัท พี.ที.อี. อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด 2. บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท ชาเทอเว คอร์พอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด 4. บริษัท ซันไรซ์ อินเตอร์เทรด จำกัด 5. บริษัท ออลเทค มาร์เก็ตติ้ง จำกัด 6. บริษัท มาสเตอร์ เทคโนคอม จำกัด 7. บริษัท โมเดิร์น เทคโนโลยี โมบาย จำกัด 8. บริษัท ลอง เชียร์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 9. บริษัท เออีซี แอนด์ ที จำกัด 10. บริษัท ทีดับบลิวแซด จำกัด (มหาชน) 11. บริษัท มีเดีย อินฟินิตี้ จำกัด 12. บริษัท ไอโอเทค เทคโนโลยี จำกัด 13. บริษัท แม๊ค คอลเลคชั่น จำกัด 14. บริษัท ไมโครเทเลคอม จำกัด 15. นายอริยะ บุพศิริ 16. บริษัท คูล คอมพิวเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด 17. บริษัท เจเจเค. คอร์ปอเรชั่น จำกัด 18.บริษัท ดี โมบาย (ประเทศไทย) จำกัด 19. บริษัท ที.ซี. โมบายโฟน จำกัด 20. บริษัท ไทยเวย์ อินฟอร์เมชั่น คอมพิวเตอร์ จำกัด 21. บริษัท นีโอลูชั่น เทคโนโลยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด 22. บริษัท เอ. โมบายล์ เวิลด์ จำกัด 23. บริษัท แอล บี แอล (2004) จำกัด 24. บริษัท เบสคิงส์ จำกัด 25. บริษัท 108 มาร์เก็ตติ้ง จำกัด 26. บริษัท โมบาย อาร์ อัส จำกัด 27. บริษัท สไมล์ โฟน (ประเทศไทย) จำกัด

หากผู้ใช้โทรศัพท์มือถือสงสัย หรือต้องการตรวจสอบว่าโทรศัพท์มือถือของตน มีการตรวจสอบรับรองมาตรฐานของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์อย่างถูกต้องหรือไม่ สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ กสทช.