ThaiPublica > เกาะกระแส > “ชาญชัย” ยกคำวินิจฉัยศาลปกครอง ชี้ใช้ ม.44 อุ้มค่ายมือถือ อาจไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย รธน.

“ชาญชัย” ยกคำวินิจฉัยศาลปกครอง ชี้ใช้ ม.44 อุ้มค่ายมือถือ อาจไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย รธน.

22 เมษายน 2019


นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์
อดีต ส.ส. จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์

ต่อกรณีที่นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาให้สัมภาษณ์กรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งเลื่อนการชำระเงินของบริษัทที่รับสัมปทานใบอนุญาตให้บริการโทรศัพท์คลื่น 900 Mhz

นายชาญชัยกล่าวถึงกรณี คสช.ใช้ ม.44 ออกคำสั่งเลื่อนการชำระเงินของ 3 บริษัทโทรศัพท์ ที่ได้รับสัมปทานใบอนุญาตบริการคลื่น 900 Mhz คิดเป็นมูลค่าสูงถึงแสนล้านบาทว่า ประเด็นนี้คงต้องย้อนกลับไปดูที่เงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ซึ่งระบุว่า บริษัทที่เข้าประมูลงานจะต้องยินยอมชำระเงิน และปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดไว้ใน TOR เช่น เงื่อนไขของการกำหนดราคา, เงื่อนไขของการคิดราคากับผู้ใช้บริการ และอื่นๆ ซึ่งปรากฏรายละเอียดอยู่ในช่วงท้ายของเอกสารตอนยื่นซองประกวดราคา

  • 7 เรื่องที่คนไทยควรรู้เกี่ยวกับคำสั่ง มาตรา 44 อุ้มผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่
  • นายชาญชัยกล่าวต่อว่า การประมูลครั้งนั้น ทั้ง 3 บริษัทใช้เวลาในการเสนอราคากว่า 30 ชั่วโมง เพื่อให้ได้รับใบอนุญาตผู้ให้บริการโทรศัพท์คลื่น 900 MHz ย่อมแสดงให้เห็นว่าบริษัทเหล่านี้รู้อยู่แล้วว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจได้กำไรมหาศาล ซึ่งถือว่าเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว ปรากฏว่าในปี 2561 มีการชงเรื่องถึงรัฐบาล เพื่อขอให้เลื่อนการชำระเงินค่าใบอนุญาตโทรศัพท์มือถือ ซึ่งในขณะนั้นตนได้ออกมาคัดค้านเรื่องนี้ไปแล้ว ไม่ใช่เพิ่งออกมาคัดค้านหลังจากที่ คสช.ออกคำสั่ง มาตรา 44 ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ ตนถือว่าเป็นการทำลายระบบธรรมาภิบาลและผลประโยชน์ของประเทศชาติ เพราะเงินจำนวนนี้สามารถนำไปใช้เพื่อการพัฒนาประเทศด้านอื่นได้มากมาย

    “นี่คือคลื่นของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่คลื่นของใครคนใดคนหนึ่ง ที่ผ่านมาก็ คนในรัฐบาลออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า เรื่องการเลื่อนชำระเงินเพื่อช่วยเหลือบริษัทมือถือนั้นเอาไว้ทีหลัง แต่ขอช่วยทีวีก่อน แสดงให้เห็นว่ามีการดำเนินการกันมาเป็นปีแล้ว เพียงแต่หาจังหวะที่จะทำ หากไปพิจารณาที่งบดุลของบริษัทมือถือ ผมขอยกตัวอย่าง ผลประกอบการของบริษัท เอไอเอส ช่วงปี 2559 – ปี 2561 พบว่า บริษัทมีกำไรที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายต่อปีประมาณ 128,000-14,4000 ล้านบาท และเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว มีกำไรสุทธิ 3 ปีรวมกันอยู่ที่ 90,000 ล้านบาท และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทเอไอเอสจ่ายค่าสัมปทาน 16,000 ล้านบาท คำถาม คือ กำไรสุทธิมากขนาดนี้ ทำไมบริษัทไม่นำเงินมาลงทุนต่อ เหตุใดรัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือบริษัท โดยนำเทคโนโลยี 5G มาเป็นข้ออ้าง เพื่อเลื่อนการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ออกไป โดยไม่ได้คิดดอกเบี้ย แม้แต่ต่างประเทศเองก็ยังผลิตอุปกรณ์มารองรับระบบนี้ไม่จบ ขณะที่รัฐบาลได้นำเอาเรื่องอนาคต ซึ่งยังไม่รู้จะเกิดเมื่อไหร่มาเป็นเงื่อนไขเพื่อลบล้าง TOR ในการประกวดราคาครั้งที่แล้ว ถือเป็นการทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรงชนิดที่ไม่เคยเห็นใครกล้าทำได้ขนาดนี้มาก่อน นายชาญชัยกล่าว

    นายชาญชัยกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลาง เคยวินิจฉัย คำสั่ง คสช. ในคดีโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ประมาณ 5 พันเมกะวัตต์ ศาลฯ วินิจฉัยว่า “คำสั่งของ คสช.นั้นไม่ใช่อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ เป็นเพียงคำสั่งทางปกครอง เพื่อให้นายกฯ และหน่วยงานนำไปปฏิบัติ” ดังนั้น คำสั่ง คสช.ดังกล่าวอาจไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ประชาชนที่ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นค่ายเอไอเอส ทรู หรือดีแทค ที่เสียเงินค่าบริการรายเดือน ถือเป็นผู้เสียหายโดยตรง สามารถยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อดำเนินคดีกับเลขาธิการ กสทช.พ่วงบริษัทและ คสช.ได้