ThaiPublica > เกาะกระแส > “TRUE-AIS” คว้าใบอนุญาตคลื่น 1800 หลังประมูลเดือด 33 ชม. 8 หมื่นล้าน – TDRI ยันไม่กระทบค่าบริการ

“TRUE-AIS” คว้าใบอนุญาตคลื่น 1800 หลังประมูลเดือด 33 ชม. 8 หมื่นล้าน – TDRI ยันไม่กระทบค่าบริการ

13 พฤศจิกายน 2015


พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ (กลาง) รองประธาน กสทช. ในฐานะประธาน กทค. แถลงผลการยื่นซองประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz
หลังได้ผู้ชนะการประมูลใช้ใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz กรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. ที่มี พ.อ. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ (คนกลาง) เป็นประธาน จะต้องไปพิจารณาว่าจะให้รับรองผลการประมูลหรือไม่ภายใน 1 สัปดาห์

หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดให้เคาะราคาประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เพื่อนำไปให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 4G ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 เวลา 10.00 น. โดยมีบริษัทเอกชนจำนวน 4 ราย ที่เข้าร่วมประมูล ประกอบด้วย

  1. บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด
  2. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด
  3. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด
  4. บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด

ผลการเคาะราคาประมูลเป็นไปอย่างเข้มข้น ใช้เวลาถึง 33 ชั่วโมง ก่อนจะได้ผู้ชนะการประมูล 2 ราย ประกอบด้วย

– ใบอนุญาตที่ 1 คลื่นความถี่ 1710-1725 MHz คู่กับ 1805-1820 MHz ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ราคาสุดท้ายที่เสนอ 39,792 ล้านบาท

– ใบอนุญาตที่ 2 คลื่นความถี่ 1725-1740 MHz คู่กับ 1820-1835 MHz ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ราคาสุดท้ายที่เสนอ 40,986 ล้านบาท

ส่วนผู้ไม่ชนะการประมูลประกอบด้วย บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ราคาสุดท้ายที่เสนอ คือ 38,996 ล้านบาท สำหรับใบอนุญาตที่ 1 และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ราคาสุดท้ายที่เสนอ 17,504 ล้านบาท สำหรับใบอนุญาตที่ 1

ขั้นตอนต่อไป กรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) จะประชุมเพื่อพิจารณาผลการประมูล ภายใน 1 สัปดาห์ หากไม่พบว่ามีปัญหาอะไร ที่ประชุม กทค. จะลงมติรับรองการผลประชุมคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ครั้งนี้ จากนั้นผู้ชนะการประมูลจะต้องจ่ายค่าประมูลงวดแรก ในอัตรา 50% ของราคาสุดท้ายที่เสนอ จากนั้น กทค. จะนัดวันรับใบอนุญาตต่อไป

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

TDRI ยันราคาประมูลสูงไม่กระทบค่าบริการ

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้วิจารณ์สาเหตุที่ราคาประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz พุ่งสูงถึง 8 หมื่นล้านบาท ว่า เกิดจากการที่มีผู้ประกอบการรายใหม่ อย่าง บริษัทแจสโมบายฯ เข้าร่วมประมูลด้วย กสทช. ไม่จำกัดเพดานการถือครองคลื่นสูงสุดของผู้ประกอบการแต่ละราย และมีการเลื่อนประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ออกไปอีก 1 เดือน ทำให้ยากที่จะเกิดการสมทบกันระหว่างผู้ประกอบการแต่ละราย

สำหรับข้อสงสัยว่า ราคาประมูลสูงเกินไปหรือไม่ ระบุว่า ในทางวิชาการ หากมีการแข่งขันกันระหว่างผู้ที่มีข้อมูลครบถ้วน ราคาที่ได้จากการประมูลจะเป็น “ราคาที่เหมาะสม” ไม่ใช่ราคาที่สูงหรือต่ำ เพราะไม่มีใครทราบมูลค่าคลื่นที่แท้จริง ในอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนว่า กสทช. ตั้งราคาตั้งต้นต่ำเกินไป

ประธานทีดีอาร์ไอกล่าวว่า ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่า ราคาประมูลที่สูงจะส่งผลกระทบต่อค่าบริการ ขอยืนยันว่ามูลค่าประมูลไม่มีผลต่อค่าบริการ เพราะค่าบริการจะขึ้นอยู่กับความเต็มใจที่จะจ่ายของผู้บริโภค (demand) และการแข่งขันในตลาด (supply) ไม่ได้ขึ้นกับมูลค่าประมูล มูลค่าประมูลเป็นเพียงการแบ่งกำไรของผู้ประกอบการมาให้รัฐเท่านั้น โดยการประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันที่ 15 ธันวาคม 2558 อาจเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกัน หากเปิดให้มีการแข่งขันกันอย่างเต็มที่เช่นการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz

ห่วง 3 เรื่อง – แนะนำเงินประมูลปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจให้แข่งขันได้

อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวัง 3 เรื่อง สำหรับการประมูล 4G

  1. อย่าให้มีการล้มการประมูลคลื่น 1800 MHz และอย่าให้มีการล้มหรือเลื่อนการประมูลคลื่น 900 MHz ไม่ว่าจะโดยเกิดจากการฟ้องศาลของรัฐวิสาหกิจ หรือด้วยเหตุอื่น เพราะจะทำให้เกิดการผูกขาดในบริการ 4G และผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและ กสทช.
  2. อย่ายอมให้เกิดบริการนอกระบบใบอนุญาต เช่น การแอบไปทำสัมปทานเพื่อใช้คลื่นของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการ
  3. อย่าอุ้มผู้ประกอบการที่ประมูลคลื่นไป แล้วอ้างว่าขาดทุนในการประกอบการ เช่น ลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต หรือผ่อนเพลากฎเกณฑ์การกำกับดูแลต่างๆ โดยไม่เหมาะสม

“สิ่งที่รัฐบาลและ กสทช. จะต้องทำหลังจากนี้ ก็คือ คุ้มครองผู้บริโภคในด้านราคาและคุณภาพการบริการให้เป็นไปตามกฎหมายและเงื่อนไขการประมูล กำหนดกติกาที่จะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการในลักษณะที่ส่งเสริมการแข่งขัน เช่น การให้ผู้ประกอบการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน และนำรายได้จากการระมูลบางส่วนไปปรับโครงสร้างและฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนเร่งหาพันธมิตรทางธุรกิจให้แก่รัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว” นายสมเกียรติกล่าว

ศูนย์วิจัยSCB เชื่อประมูลคลื่น 900 ดุเดือดไม่แพ้กัน – “แจสโมบาย” มีโอกาสชนะ

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (Economic Intelligence Center : EIC) ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ผลการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ว่า ราคาประมูลรวมที่สูงกว่าราคาตั้งต้นถึง 154% สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันของผู้ประกอบการเพื่อขยายโครงข่ายให้รองรับกับความต้องการใช้งานด้านข้อมูลที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งระหว่างปี 2000-2014 ผู้ใช้บริการมือถือมีความต้องการใช้งานด้านข้อมูลเพิ่มขึ้นกว่า 35% ต่อปี ทั้งนี้ แม้ราคาประมูลที่ค่อนข้างสูงจะส่งผลกระทบบางส่วนต่อผู้ประกอบการ แต่คงไม่มากเท่าการประมูลดิจิทัลทีวี เนื่องจากธุรกิจโทรคมนาคมมีผู้เล่นน้อยราย และแต่ละรายต่างก็มีฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ อีกครั้งมีเงินทุนและสายป่านที่ยาวกว่า

และแม้ผู้ชนะประมูล อย่างบริษัททรูมูฟฯ และบริษัทแอดวานซ์ฯ จะยังเป็นผู้เล่นรายเดิม แต่ต้องจับตาการประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่คาดว่าบริษัทแจสโมบายฯ มีโอกาสสอดแทรกเป็นผู้เล่นรายใหม่ในตลาดได้ เพราะดูมีความต้องการคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz มากกว่า 1800 MHz และอาจทุ่มเม็ดเงินเพื่อก้าวเข้ามาทำธุรกิจในตลาดมือถือ เนื่องจากคลื่นความถี่ที่ต่ำสามารถครอบคลุมพื้นที่ให้บริการได้มากกว่า 2 เท่า และสามารถลดการลงทุนด้านโครงข่ายลงได้กว่า 10 เท่า นอกจากนี้ ยังจะช่วยส่งเสริมธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของบริษัท และต่อยอดบริการข้อมูลให้ครอบคลุมการใช้งานมากขึ้น

“การประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันที่ 15 ธันวาคม 2558 น่าจะมีการแข่งขันเพื่อแย่งชิงคลื่นความถี่จากผู้เล่นรายเดิมอย่างดุเดือด เพื่อรักษาฐานลูกค้าและส่วนแบ่งการตลาดให้ได้มากที่สุด”

ท้ายสุดศูนย์วิจัยฯ ของธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่าการประมูล 4 G จะมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ทั้งเร่งอัตราการใช้ข้อมูลของลูกค้าและเพิ่มรายได้ค่าบริการเฉลี่ยต่อเลขหมาย เห็นได้จากกรณีศึกษาของประเทศเกาหลีใต้ เมื่อบริษัท เอสเค เทเลคอม จำกัด ผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่ของเกาหลีใต้เริ่มให้บริการ 4G ทำให้รายได้ค่าบริการเฉลี่ยต่อเลขหมายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 14% ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี

“กรณีของประเทศไทย การเข้ามาของเทคโนโลยี 4G จะทำให้รายได้จากการให้บริการข้อมูลของผู้ประกอบการมือถือในปี 2015 มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง 20-25%” บทวิเคราะห์ดังกล่าวระบุ