การตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี โสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยหรือเอสเอ็มอีแบงก์ ในการปล่อยสินเชื่อ “โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน” เมื่อปี 2552-2553 ทำให้แบงก์ต้องเสียหายอย่างน้อย 750 ล้านบาท ยังดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น
โดยประเด็นที่ “คณะกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์” หยิบยกขึ้นมาสอบสวน ประกอบด้วยการปล่อยสินเชื่อเกินกว่าวงเงินโดยพลการ เนื่องจากโครงการนี้ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้อนุมัติวงเงินฝากกับเอสเอ็มอีแบงก์เพียง 7,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 1% แต่วงเงินที่แบงก์ปล่อยจริงทั้งสิ้น 23,350 ล้านบาท ซึ่งแหล่งเงินที่เกินเพดานที่ได้รับจาก สปส. นั้น มีต้นทุนดอกเบี้ยที่แบกรับภาระสูง
ขณะเดียวกัน โสฬสยังถูกตั้งประเด็นสอบเชิงลึก เรื่องการอนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหญ่ในช่วงเวลาดังกล่าวถึง 15 บริษัท วงเงินรายละ 150-500 ล้านบาท บางกรณีอาจเป็นการให้สินเชื่อแก่บุคคลที่คุ้นเคย จนทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกรายงานแสดงความเป็นห่วงฐานะของเอสเอ็มอีแบงก์
นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์คนล่าสุด มีความพยายามที่จะสร้างภาพลักษณ์ของแบงก์รัฐแห่งนี้ใหม่ ไม่ให้ซ้ำรอยเมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งเอสเอ็มอีแบงก์เคยมีหนี้เสียมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 50% นับเป็นเรื่องท้าทายความสามารถ ส่วนจะสำเร็จหรือล้มเหลว ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
ไทยพับลิก้า : ความคืบหน้าการสอบทุจริตเป็นอย่างไรบ้าง มีความเสียหายเท่าไร และใครต้องรับผิดชอบบ้าง
จริงๆ เรื่องที่ได้รับมอบหมายให้มาให้สอบมี 5-6 เรื่อง แต่ไม่ขอแจกแจงว่ามีเรื่องอะไรบ้าง เพราะการสอบสวนนั้นเป็นเรื่องลับ เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกและเป็นการปกป้องผู้ที่ถูกกล่าวหา เพราะไม่แฟร์ที่จะพูดถึงผู้ถูกกล่าวหาถ้าเขายังไม่ถูกพิสูจน์ว่าผิดจริง
อย่างไรดี ผมอยากชี้แจงเป็นภาพรวมว่า ใน 5-6 เรื่องที่มีการกล่าวหาและได้รับมอบหมายให้สอบสามารถแยกได้ 3 ลักษณะ คือ หนึ่ง เรื่องทุจริตในการพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งเรื่องนี้คิดว่าไม่ค่อยยากเท่าไร เพราะสามารถรวบรวมหลักฐานได้ และระบุผู้รับผิดชอบได้ชัดเจน แต่เรื่องที่สอง เป็นการสอบสวนที่เกี่ยวกับการดำเนินการที่ผิดพลาดของผู้บริหาร จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคาร และการบริหารที่ไม่ถูกหลักธรรมาภิบาล เรื่องนี้ต้องระมัดระวังที่สุด ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบว่า การกระทำที่ว่านั้นเป็นการกระทำที่เกิดจากความประมาทหรือจงใจทุจริต รวมทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนเรื่องที่สาม เป็นข้อกล่าวหาถึงการปลอมแปลงรายการทางบัญชี เพื่อแสดงผลประกอบการที่ดีกว่าความเป็นจริง และใช้ผลประกอบการอันเป็นเท็จ รายงานต่อคณะกรรมการธนาคารและกระทรวงการคลัง
สำหรับความคืบหน้าของการสอบสวนนี้ อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน เชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ โดยจะใช้พยานหลักฐานที่รวบรวมได้ทั้งหมดวินิจฉัยและให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกสอบสวนอย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องความเสียหาย คณะกรรมการสอบสวนจะพิจารณาเฉพาะความเสียหายที่เห็นได้ชัดเจนก่อน แต่หากผลการสอบสวนพบว่าเป็นการกระทำโดยเจตนา หรือประมาทเลินเล่อ ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหายแล้ว ก็จะต้องปฏิบัติไปตามข้อกำหนดในสัญญาจ้าง หรือระเบียบคำสั่งของธนาคาร ซึ่งจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง เพื่อพิจารณาความเสียหายทั้งหมดทั้งทางตรงและทางอ้อม และดำเนินการเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายทั้งหมดจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป
นอกจากนี้ หากพบว่ามีการกระทำอันเป็นมูลความผิดทางอาญา ก็จะต้องส่งเรื่องผ่านกระทรวงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนใครจะต้องรับผิดชอบบ้าง ต้องรอผลสอบที่จะออกมา
ไทยพับลิก้า : มีคนมองกันว่า กรรมการตั้งเป้าสอบเพื่อต้องการปลดคุณโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ โดยมีใบสั่งมาจากฝ่ายการเมือง
ไม่จริงเลย บอกตามตรงว่าถ้าเลือกได้ ผมไม่อยากสอบใครหรือปลดใคร เพราะผมก็อยากให้ทุกคนรักใคร่ผม แต่เมื่อมาทำหน้าที่ตรงนี้ คือมาเป็นคณะกรรมการธนาคาร ทุกคนต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ เมื่อมีเรื่องที่ส่งมาโดยช่องทางที่ถูกต้อง และมีหลักฐานที่สามารถชี้เบาะแสได้ตามสมควร คณะกรรมการธนาคารก็ต้องดำเนินการเพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏออกมาว่าเป็นเช่นไร หากคณะกรรมการธนาคารไม่ดำเนินการ และปรากฏภายหลังว่าเรื่องเหล่านั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อธนาคาร ก็จะกลายเป็นว่าคณะกรรมการธนาคารละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ไทยพับลิก้า : การทำงานของกรรมการกับคุณโสฬส เป็นอุปสรรคในการบริหาร หรือแก้ปัญหาของธนาคารหรือไม่
เรียนตามตรงว่าใน 6 เดือนเศษที่เข้ามาเป็นกรรมการธนาคารนี้ คณะกรรมการสามารถทำงานร่วมกับคุณโสฬสได้อย่างดี ข้อร้องเรียนทั้งหมดและการสอบสวนที่กำลังดำเนินอยู่นี้ เป็นเรื่องการกระทำก่อนที่คณะกรรมการส่วนใหญ่จะเข้ามาปฎิบัติหน้าที่ ซึ่งเราก็คุยกับคุณโสฬสและก็มีความเข้าใจร่วมกันว่า คณะกรรมการธนาคารและฝ่ายจัดการต่างก็ทำหน้าที่ของตนเอง คณะกรรมการธนาคารมีหน้าที่กำหนดนโยบาย และทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติในเรื่องที่นอกเหนือจากที่ได้มอบอำนาจให้กับฝ่ายจัดการ ส่วนฝ่ายจัดการมีหน้าที่นำเอานโยบายจากคณะกรรมการธนาคารไปบริหารจัดการให้บรรลุตามเป้าประสงค์ในแต่ละนโยบาย หากทั้งสองฝ่ายทำหน้าที่ของตนเอง ก็จะไม่มีอุปสรรคหรือปัญหาใดเกิดขึ้น
ไทยพับลิก้า : การทำงานของคุณโสฬส ถือว่าสอบผ่านหรือไม่
ผมคงไม่สามารถให้คะแนนคุณโสฬสเป็นส่วนตัว เนื่องจากการประเมินเป็นเรื่องของกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้ง โดยการประเมินผลการทำงานของกรรมการผู้จัดการ คณะกรรมการธนาคารจะพิจารณาจากผลประกอบการของธนาคารในแต่ละด้าน ซึ่งจะต้องมาจากรายงานที่เชื่อถือได้ และสอดคล้องกับผลการตรวจสอบของหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เช่น การตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กระทรวงการคลังขอความร่วมมือให้ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานของธนาคารของรัฐ การประเมินผลการดำเนินงานจึงต้องนำเอาความเห็นจากรายงานการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทยมาพิจารณาด้วย
ไทยพับลิก้า : การแก้ไขหนี้เสียของธนาคารเป็นอย่างไร และมีจำนวนเท่าไร
กระบวนการแก้ไขหนี้ NPL ของธนาคารที่ผ่าน อาจจะเน้นถึงการลดลงของเปอร์เซ็นต์หนี้ NPL ในระยะสั้นมากจนเกินไป จึงมีความพยายามปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้หลายครั้งหลายหน โดยเฉพาะมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่สูญเสียความสามารถในการชำระหนี้ไปแล้ว ซึ่งเมื่อปรับโครงสร้างหนี้แล้ว จะทำให้หนี้ NPL ถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นหนี้ปกติในทันที แต่เป็นเพียงในระยะสั้น เมื่อเวลาผ่านไปไม่นานลูกหนี้ก็จะหวนกลับมา (Re-entry) เป็นหนี้ NPL อีก ซึ่งปัจจุบันตัวเลขหนี้ NPL ของธนาคาร ถ้าจำไม่ผิดอยู่ที่ประมาณ 13% หรือประมาณ 13,000 ล้านบาท แต่มีหนี้อีกส่วนหนึ่งที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถชำระหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ได้ตลอดไปหรือไม่ หรือเป็นลูกหนี้ที่เพิ่งชำระหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างไปได้ไม่นาน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ธนาคารยังต้องแก้ไขและติดตามผลการชำระหนี้อย่างใกล้ชิด
คณะกรรมการธนาคารจึงได้ให้นโยบายกับฝ่ายจัดการในเรื่องการแก้ไขหนี้ NPL ว่า หากไม่มีเหตุผลเพียงพอก็ไม่ควรมีการปรับโครงสร้างให้กับลูกหนี้เกินกว่า 2 ครั้ง ควรใช้วิธีการแก้ไขหนี้ที่สามารถเห็นผลในระยะยาว มากกว่าวิธีที่เห็นผลเพียงระยะสั้น นอกจากนี้ควรปฏิบัติต่อลูกหนี้ทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน มิใช่เลือกปฏิบัติ และต้องสำรองหนี้ตามสภาพความเป็นจริง
ไทยพับลิก้า : ทำไมการแก้หนี้เสียของธนาคารถึงแก้ได้ไม่ประสบความสำเร็จ พบว่าหนี้เสียจะลดๆ เพิ่มๆ
สาเหตุที่หนี้ NPL ของธนาคาร ขยับขึ้นลงอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารไม่ได้ใช้มาตรการที่เข้มงวดและสามารถเห็นผลได้ในระยะยาว กับลูกหนี้ที่มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถชำระหนี้กับธนาคารได้แล้ว จึงทำให้เมื่อธนาคารปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ ยอดหนี้ NPL ของธนาคารก็จะลดลง แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง ลูกหนี้กลุ่มนี้ก็จะกลับมาเป็นหนี้ NPL อีก สลับกันไปมาเช่นนี้
ไทยพับลิก้า : ฐานะของธนาคารวันนี้เป็นอย่างไร เทียบกับอดีตที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และในอนาคตมีเป้าหมายอย่างไร
ถ้าจะเทียบกับอดีต ผมก็ถือว่าธนาคารในปัจจุบันมีความมั่นคงและแข็งแรงกว่าธนาคารในอดีต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องทำอะไรอีก เพราะผลประกอบการที่แท้จริงของธนาคารในวันนี้ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังไม่สูงพอกับค่าใช้จ่ายดำเนินงานได้ จึงทำให้มีตัวเลขขาดทุน ซึ่งเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ในอดีต แต่การที่บางปีผลประกอบการของธนาคารมีกำไร เนื่องมาจากรายการพิเศษต่างๆ เช่น ในปี 2554 ธนาคารมีกำไรสุทธิประมาณ 500 ล้านบาท เป็นผลเนื่องมาจากมีกำไรจากการปริวรรตเงินตรา
การแก้ปัญหาผลประกอบการขาดทุนของธนาคาร ต้องแก้ไขที่โครงสร้างทางการเงินของธนาคาร ทั้งทางด้านแหล่งที่มาของเงินทุน ซึ่งจะต้องแสวงหาแหล่งเงินอัตราดอกเบี้ยต่ำ และทางด้านการใช้ไปของเงินทุน ซึ่งส่วนใหญ่คือการปล่อยสินเชื่อ จะต้องมีอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม และเมื่อหักค่าใช้จ่ายดำเนินงาน จะต้องเหลือเป็นกำไรอีกบางส่วน จึงจะทำให้ธนาคารสามารถที่จะเลี้ยงตนเองได้ โดยไม่ต้องเป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องจัดสรรเงินเพื่อเพิ่มทุนให้กับธนาคารมากจนเกินไป
ไทยพับลิก้า : การปรับโครงสร้างองค์กรจะทำอย่างไร
คณะกรรมการธนาคารได้มีมติอนุมัติโครงสร้างองค์กรใหม่ ในการประชุมเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2555 โดยเพิ่มกลุ่มงานจากเดิม 7 กลุ่มงาน เป็น 8 กลุ่มงาน โดยเพิ่มกลุ่มงานการตลาดเป็นกลุ่มงานใหม่ สำหรับกลุ่มงานทางด้านสินเชื่อ แยกเป็น 2 กลุ่มงานตามพื้นที่ ได้แก่ กลุ่มงานสินเชื่อนครหลวง และกลุ่มงานสินเชื่อภูมิภาค ที่เหลืออีก 5 กลุ่มงาน มีลักษณะใกล้เคียงกับโครงสร้างเดิม คือ กลุ่มงานปฏิบัติการ กลุ่มงานบริหารสินทรัพย์ กลุ่มงานบริหารเงินและบัญชี กลุ่มงานบริหารความเสี่ยง และกลุ่มงานสนับสนุนงานบริหาร
นอกจากการปรับโครงสร้างองค์กรแล้ว ยังมีนโยบายให้หมุนเวียนผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้จัดการ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับความถนัดของแต่ละคน และเพื่อให้มีประสบการณ์ในงานหลายๆ ด้าน
ไทยพับลิก้า : อะไรที่เป็นงานหินที่สุด และหากไม่ดำเนินการแก้ไขจะเป็นความเสี่ยงกับธนาคารอย่างมาก
จริงๆ แล้วไม่มีงานอะไรที่ถือว่ายากจนกระทั่งไม่มีหนทางแก้ไข ผมมาทำงานธนาคารแห่งนี้ผมมีความสบายใจ 4 อย่าง ที่ทำให้ผมเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาของธนาคารทุกเรื่องได้ในที่สุด
อย่างแรกคือ ต้องบอกว่าฝ่ายการเมืองเปิดโอกาสให้ทำงานเต็มที่
ข้อที่สองที่ทำให้ผมสบายใจมากๆ คือ ตัวคณะกรรมการธนาคาร ผมกล้าพูดได้เลยคณะกรรมการธนาคารปัจจุบันเป็นคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจที่ดีที่สุดชุดหนึ่ง
ข้อที่สาม ผมเชื่อว่าไม่มีใครเคยมีประสบการณ์ในสถาบันการเงินของรัฐมากเท่าผม เพราะผมเคยผ่านการเป็นกรรมการของสถาบันการเงินมาของรัฐมาแล้วถึง 7 แห่ง เป็นประธาน 5 แห่ง เคยทำงานสำนักงานเศรษฐกิจการคลังหรือ สศค. ซึ่งดูแลสถาบันการเงินของรัฐ 3 ปี เคยมีประสบการณ์เป็นบอร์ดแบงก์ชาติและคณะกรรมการกำกับสถาบันการเงิน จึงพอมีพื้นฐานอยู่บ้างและน่าที่จะสามารถนำเอาประสบการณ์เหล่านั้นมาช่วยธนาคารได้ไม่มากก็น้อย
6 ปีที่ไม่เปลี่ยนแปลง
เอสเอ็มอีแบงก์ถือเป็นแหล่งเงินนอกงบประมาณของนักการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
โดยเฉพาะในยุคที่รัฐบาลส่งเสริมให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ด้วยการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ในเรื่องของหลักทรัพย์ค้ำประกัน และมี “ใบสั่ง” จากนักการเมืองเพื่อขออนุมัติสินเชื่อ
ในยุคที่ จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เป็นประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์เมื่อปลายปี 2549 หรือ 6 ปีก่อน ได้เข้ามาล้างบางการกระบวนเหล่านี้ที่แบงก์รัฐแห่งนี้ พร้อมขู่จะยุบทันทีหากผลดำเนินงานไม่ดีขึ้น
โดยจักรมณฑ์ตรวจสอบพบว่า ธนาคารแห่งนี้มีหนี้เน่าหรือเอ็นพีแอลสูงถึง 50% เพราะต้องสนองนโยบายรัฐบาล บวกกับการบริหารงานที่ไม่โปร่งใสของอดีตผู้บริหาร ทำให้ต้องตั้งทีมสอบสวนและไล่บี้ฟ้องเพื่อนำคนผิดมารับผิดชอบจำนวน 2 ครั้งใหญ่
ในครั้งแรกมีการตรวจสอบทุจริตการปล่อยสินเชื่อรวม 27 บริษัท มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท โดยตั้ง ศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากรในขณะนั้น เป็นประธานการสอบสวน ซึ่งพบความผิดร่วมกันของเจ้าหน้าที่และได้มีการดำเนินคดีตามกฎหมาย
ต่อมามีรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยพบอีกว่า อาจมีคดีทุจริตเพิ่มเติมอีก 25 บริษัท ทำให้จักรมณฑ์ต้องตั้งกรรมการสอบใหม่อีก 1 ชุด โดยมี นริศ ชัยสูตร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลังเป็นประธานการสอบสวน
พบว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการทุจริต “ตีมูลค่าหลักประกัน” ให้สูงเกินความเป็นจริง และยังตรวจสอบพบการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทนักการเมือง ใช้ที่ดินรกร้างในต่างจังหวัดมาขอสินเชื่อจำนวนมาก รวมถึงบางบริษัทมีการตกแต่งบัญชีเพื่ออำพรางการขอสินเชื่อ โดยรู้เห็นกับเจ้าหน้าที่
อย่างไรก็ตาม หลังมาตรการ “กวาดบ้าน” ครั้งนั้นได้ผล เอสเอ็มอีแบงก์กลับมาปล่อยสินเชื่ออีกครั้ง ทำให้ผลดำเนินงานดีขึ้นเป็นลำดับ แม้จะขาดทุนอยู่แต่ก็ไม่มากมายเหมือนที่ผ่านมา
ณ สิ้นปี 2554 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 222.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 93.93 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 73.11% และมีสินทรัพย์รวม 115,440.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 30.26%
โดยปีที่ผ่านมามียอดปล่อยสินเชื่อถึง 39,047.54 ล้านบาท ให้กับลูกค้าจำนวน 40,655 ราย และมีเงินให้สินเชื่อคงค้าง 97,581.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16,294.54 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20.05%
ในจำนวนนี้ เป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพหรือเอ็นพีแอล จำนวน 15,347.03 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1,162.60 ล้านบาท ทำให้ธนาคารมีสัดส่วนเอ็นพีแอลอยู่ที่ 15.73% ของเงินให้สินเชื่อคงค้าง
แม้ตัวเลขทางบัญชีจะดูดี แต่คณะกรรมการธนาคารชุดใหม่ ที่นริศเป็นประธาน ตรวจสอบ “ไส้ใน” แล้วพบว่า มีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นกับแบงก์รัฐแห่งนี้อีก
หากไม่ “ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม” อาจทำให้เอสเอ็มอีแบงก์กลับไปสู่ยุคตกต่ำอีกครั้ง เหมือนเมื่อ 6 ปีก่อน