ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “โสฬส สาครวิศว” แจงทุกข้อกล่าวหา ปล่อยกู้โปร่งใส แต่เดินหน้าขอคลังเพิ่มทุน 4.4 พันล้านเติมเงินกองทุน

“โสฬส สาครวิศว” แจงทุกข้อกล่าวหา ปล่อยกู้โปร่งใส แต่เดินหน้าขอคลังเพิ่มทุน 4.4 พันล้านเติมเงินกองทุน

6 มีนาคม 2012


นายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
นายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

ภายหลังจากที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าว รายงานการตรวจสอบธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ เอสเอ็มอีแบงก์) จนกระทั่งกระทรวงการคลังตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ (อ่านเพิ่มเติม “บอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์ตั้งกรรมการสอบ “โสฬส สาครวิศว” ปล่อยกู้เกินวงเงิน ทำแบงก์ขาดทุน 750 ล้านบาท”) และล่าสุด นายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ ได้ชี้แจงกับสื่อมวลชนในทุกเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นร้อนขณะนี้

เริ่มจากรายงานผลสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายโสฬสชี้แจงว่า ธปท. ได้เข้ามาตรวจสอบเอสเอ็มอีแบงก์เมื่อมีนาคม 2554 ขณะนั้น เอสเอ็มอีแบงก์มีภาระที่จะต้องหาเงินมาชำระคืนหนี้เงินกู้ต่างประเทศจำนวน 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่กำลังจะครบกำหนดในวันที่ 7 สิงหาคม 2554 ซึ่ง ธปท. วิตกว่าธนาคารจะมีสภาพคล่องไม่เพียงพอชำระหนี้ แต่ปัจจุบันปรากฏผลว่า ธนาคารได้ชำระคืนหนี้ต่างประเทศไปหมดแล้ว โดยไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องของธนาคาร

ประเด็นการจัดชั้นลูกหนี้ของธนาคาร ธปท. มีความเห็นว่า ลูกหนี้บางรายควรถูกจัดชั้นเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) นายโสฬสชี้ว่า หลักเกณฑ์ที่ ธปท. พิจารณาเรื่องการจัดชั้นหนี้ถือเป็นหลักเกณฑ์ที่เข้มงวด ตัวอย่างเช่น กรณีลูกค้าขอกู้ยืมเงินไปทำกิจการ แหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาชำระคืนหนี้เงินกู้บางส่วนหรือครึ่งหนึ่ง อาจจะเป็นรายได้ของกิจการ และอีกครึ่งหนึ่งเป็นรายได้ของเจ้าของกิจการ หรือรายได้จากแหล่งอื่น ในกรณีแบบนี้ ธปท. มีความเห็นว่า ลูกหนี้ไม่มีศักยภาพในการชำระคืนหนี้ ควรจัดชั้นเป็นเอ็นพีแอล แต่กรณีนี้เอสเอ็มอีแบงก์ถือว่า ลูกค้ายังมีความสามารถชำระคืนหนี้ จึงไม่จัดชั้นเป็นเอ็นพีแอล

ส่วนกรณีที่ ธปท. มีความเห็นว่า การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของเอสเอ็มอีแบงก์มีลักษณะที่ผ่อนปรนมากเกินไป นายโสฬสยอมรับว่า การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้าบางรายมีการทบทวนและปรับโครงสร้างหนี้ 6-7 รอบ แต่สามารถอธิบายได้ เนื่องจากการปรับโครงสร้างหนี้แต่ละครั้งธนาคารต้องให้เวลาลูกค้าปรับตัว และดูความเป็นไปได้ทางธุรกิจประกอบด้วย เช่น ธนาคารปล่อยกู้ให้กิจการเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อ เมื่อดำเนินการไปได้ระยะหนึ่งมีปัญหา ธนาคารก็ปรับโครงสร้างหนี้ให้ ลูกค้าเองก็ต้องปรับตัวโดยการเอาหอยตัวใหญ่ไปขาย

แต่ปรากฏว่าขายหอยตัวใหญ่แล้วยังขาดทุน ไม่มีเงินมาชำระหนี้ ธนาคารก็ต้องปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้อีกครั้ง ลูกค้าก็ปรับวิธีเปลี่ยนเป็นเลี้ยงหอยตัวเล็ก ทำแบบนี้ประมาณ 6-7 ครั้ง ท้ายที่สุดลูกค้าก็มีกำไรสามารถนำเงินมาชำระหนี้ หลุดจากการปรับโครงสร้างหนี้ กลายเป็นลูกหนี้ดีในที่สุด

“ถ้าธนาคารไม่ผ่อนปรนการปรับโครงสร้างหนี้ หรือไม่ให้โอกาสลูกค้าปรับตัว อาจทำให้ธุรกิจของลูกค้าย่ำแย่ ไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้เหมือนเดิม และหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของธนาคาร เป็นหลักเกณฑ์เหมือนธนาคารพาณิชย์อื่นๆ นอกจากนี้ การดำเนินการก็ไม่ได้ช่วยเหลือใครหรือเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ” นายโสฬสกล่าว

ทั้งนี้ได้ชี้แจงเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันตัวเลขเอ็นพีแอลเหลือเพียง 15,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วน 15% ของสินเชื่อทั้งหมด 97,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2552 ที่มีเอ็นพีแอลสูงถึง 22,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 53% ของสินเชื่อรวม เป็นตัวเลขจริงที่พยายามแก้ไขมาตลอดช่วง 3 ปี และที่สำคัญ งบการเงินของเอ็สเอ็มอีแบงก์ต้องส่งให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจ (สตง.) ดังนั้นจะบิดเบือนไม่ได้

ขณะที่เรื่องความเพียงพอของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ( BIS ratio) ที่อยู่ระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด 8.5% และมีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน 5,000 ล้านบาทนั้น นายโสฬสกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกระทรวงคลัง โดยในปีงบประมาณ 2555 ธนาคารขอเงินเพิ่มทุนไปแล้ว 5,000 ล้านบาท แต่กระทรวงคลังจัดสรรให้เพียง 600 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2556 ธนาคารได้ของบเพิ่มทุนในส่วนที่ขาด หรือ 4,400 ล้านบาท แต่จะได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการจัดสรรของกระทรวงคลัง

ส่วนปัญหาเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำกว่าเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด นายโสฬสกล่าวว่าเป็นเพราะธนาคารไม่มีเงินเพิ่มทุน ถ้าขอเงินเพิ่มทุนได้ ก็จะทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นได้ แต่เอสเอ็มอีแบงก์เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ แม้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำกว่าเกณฑ์ ธปท. ก็ไม่น่าเป็นปัญหาต่อการดำเนินการของธนาคาร เพราะถือว่าว่าได้รับการผ่อนปรนในการกำกับดูแล เนื่องจากต้องดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล

“ธนาคารกำลังเขียนรายงานชี้แจงข้อสังเกตทั้งหมดให้ ธปท. รับทราบ และจะส่งให้กระทรวงการคลังด้วย ซึ่งมั่นใจว่าทุกเรื่องอธิบายได้” นายโสฬสกล่าว

สำหรับกรณีที่มีข่าวธนาคารอนุมัติสินเชื่อภายใต้ “โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน” ให้กับลูกค้ารายใหญ่ที่เป็นกิจการในเครือข่ายรวมกัน 3 กิจการ เกินกว่าเพดานสูงสุด 500 ล้านบาทนั้น

นายโสฬสยืนยันว่าทั้ง 3 บริษัท ไม่ถือเป็นกิจการในเครือเดียวกัน ซึ่งตามระเบียบของ ธปท. กำหนดเอาไว้ว่า กรณีที่มีการถือหุ้นในกิจการอื่นไม่ถึง 25% ไม่ต้องนับรวมกัน ซึ่งทั้ง 3 บริษัทเข้าข่ายนี้ กล่าวคือถือหุ้นไม่เกิน 25% ดังนั้น ในการปล่อยสินเชื่อให้กับทั้ง 3 บริษัท จึงไม่ถือว่าเป็นเจ้าของเดียวกัน และไม่ผิดหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการธนาคารกำหนดว่า ให้ปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อราย หรือ รวมบริษัทในเครือแล้วไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อราย

“เรื่องทั้งหมดสามารถอธิบายได้ และพร้อมชี้แจงคณะกรรมการตรวจสอบ และไม่รู้สึกอึดอัดที่มีการดำเนินการตรวจสอบ” นายโสฬสกล่าว

ด้านนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการทรวงการคลัง ผู้รับผิดชอบดูแลเอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามความเห็นและข้อเสนอจากการตรวจสอบของ ธปท. นั้น เป็นกระบวนการตามปกติของกระทรวงคลัง ซึ่งในอดีตก็เคยเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ และก็ไม่เคยถูกใช้เป็นข้ออ้างในการชะลอสินเชื่อ หรือระงับการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

“ขอให้ผู้บริหารและคณะกรรมการของสถาบันการเงินเฉพาะได้โปรดอธิบายให้พนักงานเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย” นายวิรุฬกล่าว

ขณะที่ ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยืนยันว่า แม้เอสเอ็มอีแบงก์จะมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำกว่าเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนดและมีเงินทุนไม่เพียงพอ แต่จะไม่กระทบต่อฐานะและการดำเนินการของธนาคาร เพราะเป็นธนาคารเฉพาะกิจที่ได้รับการผ่อนปรนเรื่องหลักเกณฑ์การกำกับ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สศค. กำลังพิจารณาในเรื่องดังกล่าวให้อยู่ แต่ยืนยันว่าจะไม่ปล่อยให้เอสเอ็มอีแบงก์ล้ม