อุบัติภัยสาธารณภัยในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดยังคงเกิดขึ้นซ้ำๆ ราวกับว่ารัฐบาล หน่วยงาน บริษัท ไม่เคยมีบทเรียนในเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่หลายบริษัทเกิดเหตุการณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก อย่าง 2 กรณีล่าสุด โรงงานของบริษัทบีเอสทีอิลาสโตเมอร์ ในเครือบริษัทกรุงเทพซินธิติกส์ (BST) เกิดระเบิดและเพลิงไหม้ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เมื่อวันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 2555 และกรณีบริษัทอดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) ก๊าซคลอรีนรั่ว ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2555
นายศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ และกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (เฉพาะกาล) ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ต่อ 2 วัน 2 เหตุการณ์ ที่ผ่านมาว่า
“ชาวบ้านมาบตาพุดบอกว่าหลายครั้งที่เกิดเหตุแต่ไม่เป็นข่าว จะรู้เฉพาะอุบัติภัย สาธารณภัยที่เป็นข่าว กรณีโรงงานกรุงเทพซินธิติกส์ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เท่าที่มีข้อมูลคือเมื่อ 5 ธันวาคม 2552 เรือขนสารเคมีสำหรับมาใช้ที่โรงงานเกิดรั่วและสารเคมีฟุ้งกระจาย โดยมีรายงานเป็นทางการจากสาธารณสุข จังหวัดระยอง มีผู้ได้รับผลกระทบ 109 คน รอบนั้นชาวบ้านเรียกร้องให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การท่าเรือ และบริษัทกรุงเทพซินธิติกส์ รับผิดชอบกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่เรื่องก็เงียบไป ก็ไม่ชัดเจน ไม่ทราบว่าบริษัทกรุงเทพซินธิติกส์รับผิดชอบอย่างไร มารอบนี้เกิดอีกครั้งเมื่อ 5 พฤษภาคม 2555”
และวันอาทิตย์ที่ 6 พค.2555 เวลาประมาณ 19.00 น. มีก๊าซคลอรีนรั่วจากโรงงานของบริษัทอดิตยาฯ โดยในระยะ 4-5 ปี บริษัทอดิตยาฯ เกิดอุบัติภัยสารพิษรั่วมาแล้ว 3 ครั้ง เป็นสารตัวเดิม ตั้งแต่ครั้งแรกปี 2551-2552 มีผู้ได้รับผลกระทบ เกิดรั่วใหญ่และเป็นประเด็นใหญ่ ปี 2553 ที่ถังเก็บโซเดียมไฮโปคลอไรด์ล้มทั้งถังและไปโดนท่อ ทำให้ท่อแตก และไปโดนกรดอีก ส่งผลกระทบเยอะมาก
ในปี 2553 ได้มีรายงานของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งลงพื้นที่หลังเกิดเหตุประมาณ 4–5 วัน ทำรายงานออกมาและชี้ประเด็นเชิงระบบว่า ระบบรองรับสาธารณภัยมันมีจุดโหว่อย่างไรบ้าง นำมาสู่การสัมมนาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อปรับปรุงนโยบายและระบบการรองรับสาธารณภัยด้านสารเคมีอุตสาหกรรมเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม ปี 2553
ล่าสุดยังเกิดเหตุอุบัติภัยเมื่อ 5-6 พฤษภาคมที่ผ่านมาอีก สะท้อนว่าแผนรองรับอุบัติภัยสาธารณภัยยังมีปัญหา เรื่องสำคัญแบบนี้ วัวหายไม่ล้อมคอก หรือว่ารอให้เกิดเหตุบาดเจ็บเสียชีวิตก่อน แล้วเราค่อยพัฒนากันแต่ละรอบไปหรือ
ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา อุบัติภัยในนิคมมาบตาพุดหรือพื้นที่มาบตาพุดที่เป็นข่าวออกมา เกิดเหตุสาธารณภัยสารเคมีเฉลี่ยเกือบจะปีละครั้ง อย่างในปี 2552 ปีเดียวที่เป็นข่าว 4 ครั้ง ขณะที่เทศบาล ชาวบ้านในพื้นที่ บอกว่าที่ไม่เป็นข่าวก็มี อย่างไฟไหม้ สารเคมีรั่ว จนถึงล่าสุด กรณีบริษัทกรุงเทพซินธิติกส์ มีผู้บาดเจ็บ 130 คน เสียชีวิต 12 คน แต่ผลในระยะยาว ชาวบ้านเรียกร้องต้องให้ติดตามผลด้วย
ดังนั้น ระบบการตรวจสอบตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)ต้องทำตามมาตรการเหล่านี้ทั้งหม แต่มันก็มีปัญหา
นี่เป็นประเด็นแรกที่อยากจะเน้นว่าเกิดแล้วก็แก้ไม่ได้เสียที
เรื่องแรกที่ผมอยากจะเน้นคือแทนที่เราจะ…เหมือนวัวหายล้อมคอก คือมาแก้ระบบให้ดีขึ้นๆ แต่ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่ามันไม่สำเร็จ ขนาดข้อตกลงจากการสัมมนาที่มาจากทุกฝ่ายที่ทำเนียบก็แล้วอะไรก็แล้ว ก็ยังเกิดเหตุอีก และข่าวล่าสุดในสื่อมวลชนบอกว่านายกฯ (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) บอกว่าสั่งคุมเข้มและตั้งคณะกรรมการอีก ก็ไม่รู้จะเมื่อไหร่…
เพราะฉะนั้น แนวทางแก้ไขแรกที่อยากจะเน้นคือพื้นที่กันชน 2,000 เมตร เป็นมาตรการป้องกันเรื่องสาธารภัยสารเคมี และป้องกันผลกระทบอื่นๆ ด้วย ในหลายประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลีย โรงงานกับชุมชนต้องห่างกัน สำหรับของไทยคณะกรรมการ 4 ฝ่าย สมัยคุณอานันท์ ปันยารชุน คุยกันจนได้ข้อตกลงในหลักการว่า พื้นที่กันชนต้องไม่ใช่ที่โล่ง ต้องมีต้นไม้ใหญ่ ต้องมีกำแพง ต้องมีอะไรกั้นไว้
ข้อตกลงนี้ไม่มีใครปฏิเสธ ทั้งฝ่ายรัฐและเอกชนยอมรับ แต่ปัจจุบันไม่มีผลบังคับใข้ ไม่ทำ ทั้งๆ ที่ไม่ปฏิเสธ
ดังนั้นก็จะวนกลับมาเกิดเหตุอีก เราจะแจ้งเหตุทันไหม จะอพยพคนทันไหม จะตาย จะเจ็บ กี่คน ข้อแรกที่จะแก้คือต้องมีพื้นที่กันชน อยากเน้นเรื่องนี้ ไม่ว่าจะมีระเบิด ไฟไหม้ จะป้องกันไปได้ส่วนหนึ่ง แม้จะมาถึงชุมชน ก็จะมีเวลามากกว่าในการเตรียมการอพยพ
เหตุเกิดรอบนี้น่าจะทำให้สังคมต้องตระหนัก แทนที่จะวัวหายแล้วล้อมคอก ไม่ล้อมคอกก็ต้องทำพื้นที่กันชนก่อน มีหลักการ 2,000 เมตร ไม่งั้นเรื่องนี้จะหายไปและไม่ได้ทำอีก
ไทยพับลิก้า : บางพื้นที่ที่มีพื้นที่กันชนไม่ถึง 2,000 เมตรจะทำอย่างไร
ตรงไหนที่มีพื้นที่ชัดเจนให้ทำพื้นที่กันชนก่อน ส่วนพื้นที่กันชนขนาด 2,000 เมตรนั้น ใน 5 นิคมที่อยู่ในมาบตาพุดมีพื้นที่รกร้างและว่างอยู่ ตอนที่ทำผังเมืองทางเลือกมีข้อเสนอและก็มีการพูดคุยกันในหมู่ประชาชน ว่าตรงไหนจะทำพื้นที่กันชนได้ ผมอาจจะไม่มีชื่อเรียก แต่เป็นพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของนิคมมาบตาพุด ถ้าทำตรงนี้ จะเป็นจุดที่ช่วยป้องกันชุมชนและประชาชนได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกพื้นที่ และในรอบนี้ที่ได้รับผลกระทบด้วยคือชุมชนตลาดมาบตาพุด เป็นชุมชนใหญ่ที่สุด หากทำพื้นที่กันชนก็จะช่วยประชาชนได้หลายชุมชน นับเป็นหมื่นคน และยังมีพื้นที่อื่นๆ เช่น ทางตะวันออกของนิคมมาบตาพุดก็มีที่ว่างอยู่ หรือทางตะวันตกเฉียงเหนือไปทางบ้านฉาง มีพื้นที่ว่างเยอะขนาด 2,000 เมตร ยังทำได้ ดังนั้น แทนที่จะถกเถียงก็ทำเลย แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ทำ
ไทยพับลิก้า : ใครจะเป็นผู้ลงทุน
โดยหลักการผมเสนอว่าเอกชนต้องลงทุน เพราะเอกชนเป็นผู้ประกอบการที่ได้ผลประโยชน์ และผลกระทบเกิดจากการดำเนินการของเอกชน ส่วนวิธีการจะมาจากการร่วมลงทุนจากหลายโรงงานหลายบริษัท โดยมีการนิคมอุตสาหกรรมฯ ประสานงาน แต่การที่จะเอางบประมาณของรัฐโดยผ่านการนิคมอุตสาหกรรมฯ เอาเงินภาษีไปทำพื้นที่กันชน ผมคิดว่าเป็นการเอาทรัพยากรสาธารณะไปเอื้อให้เอกชน เพราะเขาต้องรับผิดชอบ จึงไม่ควรเอาเงินจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไปทำ เพราะเป็นงบประมาณแผ่นดิน
ดังนั้น การทำพื้นที่กันชนเป็นความรับผิดชอบของเอกชน แทนที่จะทำแค่ติดเซ็นเซอร์เตือนมลพิษ ติดตามมลพิษ หรือจ่ายค่าชดเชย ตายแล้วจ่ายเงินให้ ผมว่าเอกชนต้องลงทุนในเรื่องนี้
ขณะที่รัฐบาลควรทำในเชิงกฎหมาย กฎระเบียบ อาจจะเป็นในมุมของผังเมือง ข้อกำหนด เพราะการนิคมอุตสาหกรรมฯ มี พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรม มีอำนาจ one stop service อยู่แล้ว ฉะนั้น การใช้อำนาจที่รวบมานั้น ไม่ใช่แค่ส่งเสริมอุตสาหกรรม ขยายพื้นที่เวนคืนอย่างเดียว อำนาจที่รวบมาจาก พ.ร.บ. จำเป็นต้องใช้ในการป้องกันผลกระทบมากกว่า
“ไม่ใช่บอกว่าการนิคมฯ มีการรับมือการเกิดเหตุได้ดีอย่างนั้นอย่างนี้ เราจะรับผิดชอบคนที่ตาย เราจะรับผิดชอบคนที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่ใช่อย่างนี้ มันยังขาดจุดสำคัญไป”
ถ้าสังคมโดยรวมเข้าใจชัดเจนว่าพื้นที่กันชนมันเป็นมาตรการที่แก้ที่ต้นเหตุ เพราะฉะนั้น การนิคมอุตสาหกรรมฯ น่าจะใช้อำนาจที่ตัวเองมีตาม พ.ร.บ. มาใช้จัดการให้มีพื้นที่กันชนที่ชัดเจน ตรงไหนทำได้ต้องทำเลย ไม่ใช่มาหาเหตุหาข้ออ้างเพื่อจะชะลอการทำ
ไทยพับลิก่า : มีพื้นที่เสนอไปแล้วว่าต้องทำที่ไหนบ้าง
ใช่ครับ มีการเสนอไปแล้ว มีพื้นที่รกร้างในร่างผังเมืองทางเลือกก็ได้เสนอไปแล้ว พยายามตีพื้นที่ 2,000 เมตร จากแผนที่กูเกิลเลย พื้นที่ไหนทำไม่ได้ก็ถอย ตรงไหนเป็นไปได้ก็เสนอเลย การทำพื้นที่กันชน นอกจากป้องกันผลลบแล้ว ก็มีผลประโยชน์ในแง่ชีวิตของคนมาบตาพุดด้วย เขาต้องการพื้นที่สีเขียวมากกว่าที่เป็นอยู่เยอะเลย เขาเป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีสิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม จริงๆ การมีพื้นที่สีเขียวเยอะๆ จะช่วยคุณภาพชีวิต คุณภาพอากาศ ออกซิเจน รวมไปถึงการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งประเด็นหลังนี้จะต้องปลูกป่าเพื่อชดเชยอีกเยอะเลย เพราะอุตสาหกรรมที่นี่ต้องปลูกป่าทดแทนเป็นแสนไร่ ถ้ารวมโรงไฟฟ้าก็อาจจะเป็นล้านไร่ ที่ต้องปลูกป่าชดเชยคาร์บอนไดออกไซด์ที่บริษัทปล่อยแต่ละปี
ที่อยากจะเน้นคือ พื้นที่กันชนจะเสริมผลประโยชน์ได้มาก สอดคล้องกับชุมชน สอดคล้องกับธุรกิจที่ยั่งยืน ธุรกิจที่ดี
ไทยพับลิก้า : หากย้อนกลับไปดู แทบจะไม่มีการทำมาตรการวัวหายแล้วล้อมคอก หรือไม่เคยล้อมคอกแต่อย่างใด ในแง่อุบัติภัยสาธารณภัย
ระบบสาธารณภัยที่ควรจะทำมีเยอะ หลักๆ ตอนที่ไปสัมมนาที่ทำเนียบ เดือนสิงหาคม ปี 2553 มีข้อเสนอเชิงระบบค่อนข้างชัดเจน คือ
1. การแบ่งเหตุฉุกเฉินและระดับของเหตุฉุกเฉิน เพราะการแบ่งระดับเป็นหัวใจสำคัญ ถ้าระดับนี้ควรแจ้งใคร จะปฏิบัติอะไรบ้าง หากเป็นอีกระดับหนึ่ง จะต่างกันแล้วว่าต้องแจ้งกว้างขึ้น ต้องปฏิบัติการมากขึ้น
ปัจจุบันแต่ละหน่วยแบ่งระดับฉุกเฉินไม่ตรงกัน ซึ่งเกิดเป็นความเสี่ยงว่า การสื่อสารจะเป็นปัญหาระหว่างเอกชน การนิคมอุตสาหกรรมฯ หน่วยงานของจังหวัด ชุมชน ตกลงว่ามันเป็นระดับไหน และเงื่อนไขการแบ่ง ตอนนี้ขึ้นอยู่กับวิจารณญานของบริษัท ว่าอันนี้คุมเองอยู่ไหม ถ้าคุมอยู่ระดับ 1 ถ้าไม่อยู่เป็นระดับ 2-3 จึงเป็นความเสี่ยง ว่าแต่ละรอบเขาใช้วิจารณญานถูกหรือไม่
ดังนั้น เรื่องเหตุฉุกเฉินที่หารือกันว่าเงื่อนไขต้องไม่ใช้วิจารณญานมากเกินไป เช่น ถ้าผลกระทบออกนอกเขตโรงงาน ชัดว่าเป็นระดับ 2-3 หรือถ้ามีผู้บาดเจ็บ เป็นระดับ 2 หรือมีผู้เสียชีวิต ก็เป็นระดับ 3 แล้ว จะได้มีความชัดเจน ไม่ใช่ว่าชัดว่าบริษัทคุมอยู่ไม่อยู่
ปัจจุบันยังแบ่งเหตุฉุกเฉินไม่ตรงกัน ยังเป็นปัญหาเหมือนเดิม
ไทยพับลิก้า : ทำไมไม่มีใครมาดูแล
ตอนสัมมนาที่ทำเนียบนี่คุยกันชัดเจนแล้ว แต่ไม่มีใครมาทำให้เสร็จ รอบนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และการนิคมอุตสาหกรรม แต่ว่าถึงปัจจุบันก็ยังไม่แก้ ยังไม่ทำให้เหตุฉุกเฉินของทุกหน่วยงานตรงกัน และเงื่อนไขยังใช้วิจารณญาณของโรงงานที่เกิดเหตุอยู่ ว่าคุมอยู่ไม่อยู่เหมือนเดิม
อยากจะเน้นประเด็นนี้เพราะมันสำคัญ ยิ่งรอบนี้ความแรงที่เกิดเหตุเป็นระดับ 3 ไปแล้ว เพราะต้องอพยพคน ต้องให้คนมาช่วยทั้งสาธารณสุข ทั้งจังหวัดเข้ามาช่วย
หากย้อนไปดูข่าวระเบิดของกรุงเทพซินธิติกส์ บอกว่าเหตุเกิดบ่าย 15.45 น. แต่แถลงการณ์บริษัทบอกว่าเหตุเกิด 15.20 น. ดังนั้น ถ้าเรื่องเงื่อนไขแบ่งระดับฉุกเฉินชัดเจนต้องแจ้งและพร้อมไปหมดแล้ว แต่ว่าอันนี้คนในพื้นที่ไม่ทราบข้อมูล อาจจะมีช่องว่างตรงนี้อยู่ มันโยงว่าบริษัทเทคแอคชั่นอะไรบ้าง แจ้งใคร แจ้งไปถึงประชาชนอย่างไร
2. การสื่อสารที่ยังเป็นปัญหา การแจ้งประชาชน เหตุครั้งนี้ที่ รมต.อุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์ว่าระบบที่ใช้หลักตัวหนึ่งคือหอกระจายข่าว แต่มีฝนตกเลยเสียงไม่ดังพอ ชาวบ้านเลยไม่ได้ยิน จะไปเพิ่มเสียงให้ดังขึ้น โห ชีวิตบนเส้นด้ายจริงๆ เลย (หัวเราะ)
เพราะฉะนั้น การแจ้งควรทำหลายช่องทาง ต้องดูชาวบ้านที่เป็นคนรับว่าจะใช้วิธีไหน เรื่องวิธีการสื่อสารยังเป็นปัญหาไม่เลิก ก่อนหน้านั้นบอกว่าส่งเอสเอ็มเอสในเครือข่าย แต่ปัญหาคือถ้าไม่มีมือถือทำอย่างไร ถ้าเหตุเกิดวันอาทิตย์ตีสองแล้วใครจะมาดูเอสเอ็มเอส หรือส่งไปที่ผู้อำนวยการโรงเรียนคนเดียว แต่ผู้อำนวยการไปประชุมที่กรุงเทพฯ ไม่รู้ ไม่ได้เทคแอคชั่นอะไร ขณะที่ครูคนอื่นในโรงเรียนไม่รู้ อันนี้มาจากบทเรียนก่อนหน้านี้ในปี 2553 คือบริษัทอดิตยาฯ ที่สารคลอรีนรั่ว และโรงงานที่เกิดเหตุอยู่ติดกับโรงเรียนที่มีเด็กเล็ก เด็กประถมถึง ป.6 มีการส่งเอสเอ็มเอสแต่โรงเรียนไม่รู้ ซึ่งตอนนั้นรอง ผอ.รร.วัดมาบชะลูดโกรธมากที่ไม่รู้เรื่อง ทำไมไม่โทรมาแจ้ง เพราะเขาต้องการเวลาในการอพยพเด็ก และรอบนี้ก็ยังไม่มีการพูดว่ามีการแจ้งอย่างไร
ไทยพับลิก้า : ปัญหาระบบสื่อสารจะใช้วิธีสื่อแบบไหน สื่ออย่างไร กับประชาชนแต่ละกลุ่ม
ใช่ครับ ที่จะตอบโจทย์จริงๆ เพราะเอสเอ็มเอสก็มีปัญหา หอกระจายข่าวก็มีปัญหา มันยังไม่ชัด
3. แผนฉุกเฉินระดับชุมชน เรื่องนี้พูดมานานแล้ว ขณะที่บริษัทมี การนิคมฯ มี จังหวัดมี แต่ชุมชนไม่มี ชุมชนต้องทำตามแผนคนอื่น ชุมชนไม่มีแผนอะไร เราเคยเสนอที่สัมมนาที่ทำเนียบว่าทุกชุมชนต้องทำแผนเสนอให้ครอบคลุมทุกความเสี่ยง ต้องมีการซ้อมทุกชุมชน แต่ไม่มีการทำ
แผนฉุกเฉินชุมชนจะบอกเรื่องการสื่อสารว่ามีช่องทางอะไรบ้าง ชุมชนมีความเสี่ยงอะไรบ้าง มีโรงงานอะไรบ้าง มีสารเคมีอะไรบ้าง ทิศทางลม เดือนไหนจะพัดไปทิศทางไหน จะได้สอดคล้องกับการอพยพ แต่ชุมชนไม่รู้ และการซ้อมก็ซ้อมไปตามโรงงาน ทุกโรงงานมีแผนฉุกเฉินหมด เพราะโรงงานอยู่ติดกับชุมชน ปีหนึ่งก็เลือกหนึ่งชุมชนมาซ้อม ทั้งๆ ที่โรงงานติดกับ 5 ชุมชน แต่ซ้อมกับหนึ่งชุมชนก็ถือว่าซ้อมแล้ว ขณะที่ 10 ชุมชนเสี่ยงไม่ได้ซ้อม โดยโรงงานเป็นฝ่ายเลือกซ้อม
“ในทางปฏิบัติ โรงงานในกลุ่มรวมกัน 5 โรงงานไปซ้อมกับหนึ่งชุมชน และไม่รู้ว่าซ้อมอย่างไร ไม่ชัดเจน เวลาซ้อม ซ้อมกับหนึ่งชุมชนหรือซ้อมกับชุมชนจำนวนหนึ่ง แต่มันไม่ใช่ทุกชุมชน และคำว่าชุมชน เวลาซ้อมยังมีประเด็นอีกว่าซ้อมกับใคร เช่น ผู้นำชุมชน ผู้อำนวยการโรงเรียน แต่ในความเป็นจริงต้องทุกคนในชุมชนต้องมาซ้อมด้วยกัน
เราจึงเสนอว่า นอกจากฝ่ายโรงงานมีแผนฉุกเฉินแล้ว ชุมชนต้องมีแผนฉุกเฉินของเขาด้วย เอาชุมชนเป็นตัวตั้ง ทุกคนในชุมชนต้องมาซ้อมด้วยกัน ซ้อมอย่างเข้าใจความเสี่ยง เข้าใจทิศทางลม แต่เรื่องนี้ไม่เกิดขึ้น ยังเป็นแบบเดิม จนมาถึงรอบนี้ รมต.อุตสาหกรรม ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะทำแล้ว จะให้มีแผนฉุกเฉินระดับชุมชน และให้มีการซ้อมสม่ำเสมอ
เพราะฉะนั้น ปัญหาช่องว่างคือไม่ใช่ทุกชุมชนเสี่ยงได้ซ้อมแผนฉุกเฉิน และการซ้อมไม่ได้ซ้อมทุกปี แล้วแต่จะวนไป แม้แต่ในชุมชนก็ไม่ใช่ทุกคน เป็นบางคน
และการซ้อมเราซ้อมแบบละคร ไม่ใช่ซ้อมแบบเข้าใจ ชาวบ้านพูดเรื่องนี้มาตลอด เพราะถึงเวลาเกิดเหตุจริงมันจลาจล มันสับสนทุกที ชุมชนบอกว่าเวลาซ้อมก็มีรถมารอ เดินขึ้นรถ พาไปส่งจุดหนึ่งก็ลง แต่เวลาเกิดเหตุจริงมันไม่มีรถมารอ ทำไมไม่ซ้อมแบบรถไม่มา หรือซ้อมแบบทุกคนเอารถออก จะทำอย่างไร ถ้ามีโรงงานที่สองระเบิดทำอย่างไร นี่เป็นการซ้อมแบบเน้นความเข้าใจ ถ้ามันแย่กว่านี้ทำอย่างไร เป็นอย่างไร มีหลายซีนนาริโอ แต่การซ้อมที่ผ่านมาเป็นซ้อมแบบละคร เกิดเหตุแบบนี้ ต้องไปอย่างนี้ ทำอย่างนี้ จบ แต่ถึงเวลาจริงไม่เคยเป็นอย่างนี้
ไทยพับลิก้า : ใครจะมีบทบาทช่วยชุมชนซ้อมแผนฉุกเฉิน
อันแรกคือ เทศบาลควรมีบทบาทในเรื่องนี้ แต่ต้นทุนควรมาจากเอกชน ปัจจุบันเวลาซ้อมเอกชนเป็นคนจ่ายเงิน การทำแผนของชุมชนเอกชนควรรับผิดชอบ ส่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดูในภาพรวม
ทุกชุมชนต้องรู้ความเสี่ยง อาทิ มีสารเคมีอะไร มีโรงานกี่โรง ทิศทางลม เดือนนี้จะหนีไปทางนี้ อีกเดือนจะหนีไปอีกทางไปหนึ่ง วิธีอพยพ อพยพอย่างไร จะมีรถมารับ หรือมีรถมอเตอร์ไซค์ แล้วจราจรจะเป็นอย่างไร ชุมชนมีจุดเสี่ยงอะไร มีโรงเรียน โรงพยาบาล มีสถานีอนามัย มีผู้พิการ มีผู้ป่วย มีคนแก่ ที่ไหนบ้าง แผนอุบัติภัยที่ดีต้องครอบคลุมหมด และต้องซ้อมทุกปี
ภาคเอกชนมักอ้างว่าการซ้อมทำให้ชุมชนลำบาก รบกวนชุมชน ขณะที่ชุมชนบอกว่า สถานการณ์ตอนนี้ต้องการซ้อม และหากผ่านไปช่วงหนึ่งแล้วชุมชนจะบอกเองว่าโอเค ค่อยเว้นช่วงการซ้อมไป แต่สถานการณ์ปัจจุบันมันน้อยไป และต้องทุกคนต้องซ้อม
มีตัวอย่างจากอาจารย์ที่ไปเรียนที่ญี่ปุ่นเล่าให้ฟังว่า พอไปถึงปั๊บ มีรัฐบาลท้องถิ่นคล้ายๆ กับเทศบาลเรียกไปคุยเลย ประมาณครึ่งชั่วโมง อธิบายว่าระบบสาธารณภัยชุมชนมีอะไรบ้าง คุณต้องทำตัวอย่างไรบ้าง ทุกคนที่มาอยู่ต้องรู้ จะเรียกมาให้ข้อมูล และมาบตาพุดก็มีโจทย์นี้ เพราะมีแรงงานอพยพมาอยู่ 3-6 เดือนก็ไป มาอยู่ 1 ปีก็ไป มาอยู่ 3-5 ปีแล้วไป ดังนั้นแผนต้องครอบคลุมทุกกลุ่มเสี่ยง นี่คือว่าทำไมจึงต้องพลิกกลับมาตั้งฐานที่ชุมชน
ไทยพับลิก้า : ชุมชนต้องมีข้อมูลพร้อม
ใช่ และต้องซ้อมแบบเน้นความเข้าใจและซ้อมบ่อยๆ และมีหลายซีนนาริโอ เพราะเวลาเกิดเหตุจริงมันไม่ได้สมบูรณ์แบบเป็นตามแผนที่วางไว้เสมอไป เช่น เกิดเหตุวันหยุด วันอาทิตย์เที่ยงคืน ทำอย่างไร เป็นต้น
นี่คือแผนรองรับ
4. ถัดมาเป็นเรื่องการให้ข้อมูล กรณีกรุงเทพซินธิติกส์ ตกลงว่ามันเป็นสารเคมีอะไร ย้อนกลับไปดูการประเมินความเสี่ยงของโรงงานกรุงเทพซินธิติกส์ ขององค์การอิสระก่อนหน้านี้ ในรายงานไม่มีการประเมินความเสี่ยงอันตรายร้ายแรงของถังเก็บโทลูอีนที่ไฟไหม้และเกิดระเบิดรอบนี้ ผมพยายามกลับไปดูรายงานเอกสารการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ไม่มีการประเมินถังเก็บโทลูอีน เพราะในรายงาน EHIA จะต้องประเมินทุกจุดเสี่ยง ว่าถ้าเกิดเหตุจะมีความรุนแรงแค่ไหน จะไกลกี่เมตร ใครจะได้รับผลกระทบบ้าง เท่าที่ตรวจสอบไม่มีการประเมินเรื่องเก็บถังโทลูอีน มันโหว่ไป
อันที่สอง ในรายงานขององค์การอิสระ มีคอมเมนต์ไว้ คือบริษัทกรุงเทพซินธิติกส์ไม่ประเมินความเสี่ยงแบบระเบิดต่อเนื่องที่เรียกว่าโดมิโนเอฟเฟ็กต์ ถ้าอันนี้ไฟไหม้ระเบิด แล้วอีกจุดระเบิดตามมา อาจจะออกไปนอกรั้วโรงงาน โครงการนี้ไม่มีการประเมิน จึงไม่มีการกำหนดมาตรการสำหรับประเด็นที่ไม่ประเมิน
โรงงานเขารายงานการประเมินอันอื่น แต่ถังเก็บโทลูอีน ผมพยายามดูแต่ไม่มี ดังนั้นมันจึงไม่ครอบคลุม
“การให้ข้อมูลของโรงงานไม่ชัดเจนว่าตกลงที่ระเบิดคืออย่างไร และอันตรายเป็นอย่างไร เท่าที่ทราบไม่ชัดเจน ชุมชนและหลายฝ่ายก็งงอยู่นานว่าเป็นสารอะไรกันแน่ ต้องถามสาธารณสุข ปกติเวลาเขารับผู้ป่วย เขาจะต้องรู้ว่าโดนสารอะไรจึงจะรักษาถูก หากไม่รู้ก็รักษาแค่พื้นฐาน”
ตอนเหตุของบริษัทอดิตยาฯ สารคลอรีนรั่วหลายปีก่อน แต่ทางการเขาไม่รู้ว่าสารอะไร สาธารณสุขเขาต้องเช็คโดยใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวถึงรู้และรักษาถูก แต่ระบบทางการไม่รู้ว่ามีสารอะไรบ้าง
ไทยพับลิก้า : ทุกคนในชุมชนที่พูดถึง รวมทั้งสาธารณสุข ชุมชนต้องรู้ข้อมูลความเสี่ยงทั้งหมด
ใช่ ซึ่งปัจจุบันชุมชนยังไม่รู้ว่าแต่ละโรงงานมีสารเคมีอะไรบ้าง เสี่ยงแค่ไหนบ้าง ยังไม่ชัดเจน แม้เกิดเหตุแล้วยังต้องมาคุยกันว่าสารที่เกิดเหตุกระทบอะไรบ้างกับสุขภาพ ตกลงก่อมะเร็งหรือไม่ก่อมะเร็ง ยังต้องมาเถียงกัน ทั้งๆ ที่ข้อมูลพวกนี้ต้องเข้าใจชัดเจนตรงกันทุกอยู่แล้ว ว่าถ้าเป็นตัวนี้เป็นอย่างไร ตัวนั้นเป็นอย่างไร แต่ของเราไม่ใช่ ยังเป็นรอบๆ ไป (หัวเราะ)
ไทยพับลิก้า : ทำไมไม่สามารถบังคับให้โรงงานเปิดเผยข้อมูลสารเคมี
เคยได้ยินประเด็นเดียวกันจาก ปภ.ว่าเขาไม่ทราบข้อมูลเรื่องสารเคมี ทั้งที่เป็นเรื่องที่เขาต้องรู้ เขาจะได้วางแผนรองรับได้ เขาเคยขอข้อมูล เขายังไม่ได้เลย ข้อมูลนี้อยู่ที่การนิคมอุตสาหกรรมฯ เพราะทุกโรงงานต้องรายงานการนิคมฯ ทุกเดือน มีแบบฟอร์มรายงานอยู่ เช่น มีการใช้สารเคมีอะไร จำนวนเท่าไหร่ และหลังจากที่นำไปใช้แล้ว ออกมาเป็นกากของเสียเท่าไหร่ ต้องรายงานการนิคมทุกเดือน แต่การนิคมฯ ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลนี้เลย ไม่ว่าจะเรียกร้องมานานกี่ปีก็ตามก็ยังไม่เปิดเผย
เปรียบเทียบกับต่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกา มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างนี้ต่อสาธารณะ เขามีระบบการเปิดเผยที่ดีมาก มีการเอาไปจัดอับดันว่า 10 โรงงานที่ปล่อยน้อยที่สุดมีใครบ้าง ปล่อยกี่ตัน สูงสุด-ต่ำสุด หรือที่ปล่อยมากสุดมีใครบ้าง ซึ่งสามารถนำไปใช้รณรงค์ได้มากมาย และข้อมูลเขาบอกหมดว่าโรงงานนี้ใช้สารเคมีอะไรบ้าง ปล่อยมลพิษตัวไหนบ้าง ทางอากาศเท่าไหร่ ทางน้ำเท่าไหร่ อยู่ที่ไหน มีแผนที่ กดดูได้หมด บอกชัดเจนหมด ทั่วโลกเข้าไปดูได้ เพราะเขามีกฏหมายบังคับว่าใครต้องอยู่ในข่ายที่ต้องเปิดเผยบ้าง
ไทยพับลิก้า : ของไทยการนิคมอุตสาหกรรมฯ บังคับได้ไหม
บังคับได้แน่ แต่ยังไม่มีการบังคับ รวมทั้งการเปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งฐานข้อมูลการปล่อยสารเคมีและการเคลื่อนย้ายมลพิษ การเปิดเผยข้อมูลยังมีปัญหา
4. การรับผิดชอบและเยียวยา อันแรกระบบรับผิดชอบยังไม่ชัด ตกลงว่าจะรับผิดชอบอะไรบ้าง เหมือนขึ้นอยู่กับการเจรจาเป็นครั้งๆ ไป จะจ่ายเท่าไหร่ จะรับผิดชอบแค่ไหน อันนี้ยังไม่มีระบบที่ชัดเจน มันเหมือนกับว่าถ้าเป็นข่าวเยอะ อย่างรอบนี้ ก็จะมีตัวเลขรับผิดชอบเท่าไหร่ แต่ที่ผ่านมาไม่เป็นข่าว ก็จะไม่มีตัวเลขว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจะได้การรับผิดชอบเท่าไหร่อย่างไร ดังนั้นควรมีการกำหนดระบบรับผิดชอบที่ชัดเจน
ไทยพับลิก้า : ใครกำหนดระบบเงื่อนไขความรับผิดชอบ
รัฐต้องกำหนดให้เอกชนรับผิดชอบ เป็นข้อตกลงร่วมกันว่าหากเกิดอุบัติภัยแล้วความรับผิดชอบทางแพ่งจะเป็นอย่างไร ความรับผิดชอบทางอาญาจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจนทุกครั้ง คดีอาญาเป็นเรื่องที่รู้สึกว่าแรง ไม่ค่อยพูดกันมากนัก และมีการตั้งข้อสังเกตว่าคดีหายไป ต้องมีคนไปแจ้งความ มีหลักฐานชัดเจนพอ หรือมีการเรียกร้องที่เป็นระบบ ไม่งั้นจะขึ้นกับรัฐบาล หรือโรงงานที่เกิดเหตุว่าจะจัดการอย่างไรบ้าง หากจัดการได้เรื่องก็เงียบไป
ที่ผ่านมาในแง่คดีอาญามีการพูดถึง แต่ไม่เคยเห็นผลว่ามีใครถูกจำคุก ลงโทษใครไม่ได้เลย
รอบนี้มีการไปสัมภาษณ์ตำรวจผู้กำกับเพราะเกิดเหตุใหญ่ และได้บอกว่ามีการสอบปากคำ บอกว่าจะดำเนินการต่อไป ต้องติดตามต่อไปว่าจะมีผลจริงไหม
นอกจากนี้เรื่องการเยียวยารับผิดชอบในระยะยาว เวลาเกิดเหตุ มีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และการก่อผลกระทบในมนุษย์ระยะยาว จะเป็นเรื่องที่ถูกทำให้ไม่ชัด ก็เลยเป็นเรื่องที่ไม่ต้องรับผิดชอบ
อย่างเหตุการณ์ล่าสุด กรณีกรุงเทพซินธิติกส์ เรื่องสารเคมีโทลูอีน ฝ่ายภาคประชาชนจากมูลนิธิบูรณะนิเวศบอกว่า โทลูอีนต้องตามต่อเรื่องการปนเปื้อนในแหล่งน้ำด้วย แต่กรมควบคุมมลพิษให้สัมภาษณ์ว่าโทลูอีนไม่ละลายน้ำ เพราะฉะนั้นไม่ต้องตรวจ ผมไม่ได้เชี่ยวชาญสารเคมี แต่ไปดูรายงาน EHIA ของโรงงาน BST เขาตรวจโทลูอีนในน้ำเสียของเขาด้วย นั่นแสดงว่าโทลูอีนย่อมสามารถปนเปื้อนและเป็นมลพิษในน้ำได้แน่ โรงงานจึงมีระบบตรวจโทลูอีนในน้ำเสียของเขา ดังนั้นการที่บอกว่าโทลูอีนไม่ละลายน้ำ ไม่ต้องตรวจ ข้อมูลคงจะไม่ครบ
แต่ว่าโรงงานนี้ผมขอเน้นว่าไม่ใช่มีแค่โทลูอีนตัวเดียว แต่มีสารเคมีอื่นๆ อีก โดยเฉพาะประเด็นสารก่อมะเร็ง และโทลูอีนไม่ใช่สารก่อมะเร็งในมนุษย์โดยตรง แต่ว่าการพิสูจน์ว่าเป็นสารก่อมะเร็งหรือไม่มันคือการพัฒนาความรู้ วิจัยไปเรื่อยๆ เมื่อชัดเจนก็ประกาศออกมา แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่เป็นตอนนี้แล้วจะไม่เป็นตลอดไป แต่ว่าที่โรงงานนี้มีสารเคมีหลายชนิดและมีสารเคมีที่ก่อมะเร็งในมนุษย์แน่ๆ ชัดๆ คือสาร 1,3 บิวทาไดอีน ซึ่งมีในโรงงานและเป็นประเด็นที่มาบตาพุด ว่าสารตัวนี้เมื่อตรวจวัดค่าในหลายปีที่ผ่านมา เกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ในมาบตาพุด ล่าสุดกันยายน 2554 มี 4 จุดที่เกินค่ามาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง
“สาร 1,3 บิวทาไดอีนเป็นประเด็นแน่ สารเคมีตัวนี้มีในโรงงานและเกิดระเบิดแรงขนาดนี้ เกิดไฟไหม้ใหญ่โต ดังนั้น สารที่ออกมาจากอุบัติภัยครั้งนี้มีแต่โทลูอีนอย่างเดียวจริงไหมนั้นยังไม่ชัดเจน ตกลงมันออกมาจริงไหม แต่ในแง่ความเสี่ยงมันเสี่ยงแน่ เพราะโรงงานนี้มีสารอื่น และสารอื่นออกมาจริงไหม การตอบต้องไม่ใช่แค่การยืนยัน ต้องมีการตรวจวัด การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส หากไม่มีการตรวจวัดจะมายืนยันได้อย่างไรว่าสารอื่นไม่ออกมา เพราะสาร 1,3 บิวทาไดอีนเป็นโจทย์ในพื้นที่ แต่ไม่แน่ว่า พอยิ่งมีสารก่อมะเร็งเยอะๆ เขายิ่งปิด ถ้ามีข้อมูลว่า 1,3 บิวทาไดอีน แม้จะออกมาบ้าง ก็ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ที่มันเกินค่ามาตรฐานต่อเนื่องอยู่แล้ว”
ไทยพับลิก้า : กรมควบคุมมลพิษหรือหน่วยราชการอื่นบอกว่าค่ามลพิษไม่เกินมาตรฐาน แต่มันไปสะสมเพิ่มขึ้นไหม
อุบัติภัยครั้งนี้เขาพยายามจำกัดวงที่โทลูอีนว่าไม่ก่อมะเร็ง แต่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าแม้จะไม่ใช่สารก่อมะเร็งแต่มันกระทบสุขภาพได้หลายส่วน ตับ ไต เลือด หากมันกระทบไปนานๆ มันอาจจะก่อมะเร็งได้ แต่ฝ่ายรัฐออกมาปกป้องเต็มที่ว่าโทลูอีนไม่ก่อมะเร็ง
ไทยพับลิก้า : ภาครัฐทุกฝ่ายออกมาบอกว่าไม่เกินค่ามาตรฐาน
เขาพยายามตีสโคปที่โทลูอีนตัวเดียว และบอกว่าโทลูอีนไม่เกินค่ามาตรฐาน มัน 2 ชั้น แต่ประเด็นแรกมันใช่สารโทลูอีน จริงไหม แสดงข้อมูลมา แต่ในโรงงานมีถังเก็บสาร 1,3 บิวทาไดอีน มีการใช้และมีหน่วยผลิต 1,3 บิวทาไดอีนด้วย เพราะฉะนั้นมันเสี่ยงอยู่แล้ว
ขอย้ำประเด็นนี้นิดหนึ่ง บริษัทมีการชี้แจงว่าตอนที่เกิดระเบิดไม่ใช่การผลิตตามปกติ เป็นช่วงหยุดซ่อมบำรุงและบริษัทผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการดูแล และรัฐมนตรีอุตสาหกรรมบอกว่าจะต้องอบรมผู้รับเหมาด้วย จริงๆ ตามข้อเสนอตอนสิงหาคมที่ทำเนียบรัฐบาลได้เสนอครอบคลุมทุกความเสี่ยง ซึ่งรวมทั้งการซ่อมบำรุง หากเกิดเหตุขนาดนี้และคนงานกรุงเทพซินธิติกส์ ตาย 7 คนตามที่เป็นข่าว แผนต้องครอบคลุมทุกความเสี่ยง อันนี้เป็นช่องโหว่ชัดเจนว่าไม่ครอบคลุมซ่อมบำรุง
วิศวกรบอกว่าช่วงหยุดซ่อมบำรุงและเดินเครื่องใหม่เป็นช่วงที่เสี่ยงที่สุด เพราะโรงงานมีจุดเสี่ยงหลายพันจุด การจะเดินเครื่องใหม่ต้องตรวจสอบว่าโอเคทุกจุด ดังนั้น ช่วงซ่อมบำรุงเป็นจุดเสี่ยงที่สุด แต่แผนรองรับอุบัติสาธารณภัยไม่รองรับ ตอนนั้นได้เสนอว่าการเริ่มเดินเครื่องใหม่โรงงานต้องแจ้งกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ปภ. สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ชุมชน ว่าจะเดินเครื่องใหม่เมื่อไหร่ ตอนนั้นมีข้อเสนอว่าให้เป็นเสมือนสถานการณ์เตรียมพร้อมรับอุบัติภัย เพราะว่าจุดนี้เสี่ยงสุด โรงงานต้องแจ้งว่าวันนี้ เวลานี้ โรงงานจะเดินเครื่องใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมกันทุกฝ่าย จนกว่าโรงงานบอกว่าเดินเครื่องเต็มที่และเป็นปกติแล้ว
นี่เป็นการย้ำว่าข้อเสนอนี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่งขึ้น เพราะทุกโรงงานต้องหยุดซ่อมบำรุงทุกปี
นอกจากนี้ยังมีประเด็นหนึ่งคือข่าวว่า 6 โรงงานรอบๆ กรุงเทพซินธิติกส์ต้องหยุดด้วย และให้กรุงเทพซินธิติกส์รับผิดชอบทั้งหมดด้วย
“ผมว่าถึงเวลาที่หยุดและตรวจกันหมด ของเราเกิดเหตุแบบที่รู้ คาดได้ และเกิดแล้วเกิดอีก นับเป็น 10 ปี มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต รวมกันหลายคงพันคนแล้ว ดังนั้นถึงเวลาที่ต้องสรุปความเสี่ยงทั้งหมดและหยุดโรงงานเพื่อตอบโจทย์ทุกจุดให้ครบเสียที แล้วถึงจะดำเนินการต่อไป ไม่งั้นเราจะรอว่าจะเกิดอีกไหม จะเสี่ยงอีกไหม จะเกิดเหตุอีกไหม เราจะรับผิดชอบไปถึงไหน”
รวมถึงพื้นที่กันชนที่ต้องเป็นรูปธรรม ชัดเจน มันถึงจะเดินหน้าโรงงานต่อ หากเดินหน้าเมื่อไหร่ความเสี่ยงจะเกิดขึ้นเมื่อนั้น ก็จะบอกว่าเรื่องนี้ไม่รวมในแผนฉุกเฉิน เหมือนกรณีอดิตยาเบอร์ล่าฯ สารคลอรีนรั่ว เกิดซ้ำหลายครั้ง ควรทบทวนเพื่อให้มีมาตรฐานบังคับจริงจังตามแผนรองรับสาธารณภัยทั้งหมด
ไทยพับลิก้า : เสนอกันมานานมากแต่ไม่ทำ
ทำเรื่องนี้มานาน เสนอมาหลายรอบ แต่ไม่สำเร็จเสียที ก็คิดว่าจะทำอะไรที่เป็นช่องทางใหม่เพื่อให้ได้ผลมากกว่าเดิม เช่น ทำเป็นเฟซบุ๊ก แฟนเพจ จะทำให้มีคนให้ความสนใจมากขึ้นไหม เผื่อจะได้ผลมากกว่าเดิม รวมทั้งจะได้รณรงค์ในประเด็นที่ชัดเจนขึ้น เช่น รณรงค์ให้ทำพื้นที่กันชน 2,000 เมตร ระบุพื้นที่ไปเลย และต้องซ้อมอุบัติภัยทุกปี ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการซ้อม
ขณะนี้มาตรการต่างๆ คืบหน้าน้อย เกิดเหตุทีก็มาพูดกันที
ที่ผ่านมา กฎระเบียบ กฎหมาย ไม่มีผลบังคับใช้ แต่กรณีมาบตาพุดมีการไม่บังคับใช้อีกขั้นหนึ่ง มันไม่ใช่ไม่มีกฎหมายไม่มีกฎระเบียบอยู่ แต่มีข้อเสนอหรือระเบียบอยู่แล้ว เช่น พื้นที่กันชน การปรับระบบรองรับสาธารณภัยด้านสารเคมี แต่ไม่มีการนำไปบังคับใช้
เติมอีกนิดเรื่องพื้นที่กันชน…ตอนที่เสนอเราเสนอว่าไม่ได้มีผลบวกทางสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว มีผลทางเศรษฐกิจด้วย ในแง่การท่องเที่ยว เพราะมีคนมาดูงานที่มาบตาพุดปีหนึ่งๆ เยอะมาก เขามาดูโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเดียว ประชาชนมาบตาพุดไม่ได้อะไรจากคนมาดูงาน หากเราทำกรีนเบลท์ พื้นที่กันชน ทำให้ต่อเนื่องจากทะเลตะวันออกไปทะเลตะวันตก นอกจากมาดูอุตสาหกรรมก็มาดูกรีนเบลท์ได้ด้วย เป็นการท่องเที่ยวได้ด้วย ชาวบ้านบอกว่าเป็นการท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรม (หัวเราะ) มีตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนในส่วนกรีนเบลท์ได้ด้วย
ก่อนหน้านี้ที่ชุมชนหนองแฟบทำสบู่สมุนไพรขาย โรงงานมาสั่งในช่วงเทศกาลปีใหม่ ชุมชนใช้ศาลาวัดผลิตของ เราก็เสนอว่าที่หนองแฟบมีบึงร้าง ก็พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว เป็นพื้นที่กันชนและเป็นศูนย์ผลิตภัณฑ์ชุมชน และที่มาบตาพุดยังมีป่าชายเลน ก็เป็นอะเมซซิ่งมาบตาพุด ฟื้นฟูกลับมาได้ หรือปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ในส่วนกรีนเบลท์ที่ไม่ใช่ฝั่งอุตสาหกรรม
ไทยพับลิก้า : แล้วรายงาน EHIA ที่บอกว่ากรุงเทพซินธิติกส์ขออนุญาตมา
เมื่อไม่นานนี้เอง เป็นโครงการขอขยายโรงงานอีก ซึ่งมาตรา 67 มี 3 กลไก ที่ต้องผ่าน 1.สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ผ่านคณะผู้ชำนาญการ (คชก.) เมื่อกรกฎาคม 2554 2. องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพิ่งให้ความเห็นเมื่อพฤศจิกายน 2554 และ3.หน่วยงานอนุมัติ อนุญาตคือการนิคมอุตสาหกรรมเพิ่งจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เมื่อ 9 มีนาคม 2555
ตอนที่องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นก็ต้องลงพื้นที่ดูโรงงาน เราดูทั้งส่วนปัจจุบันและส่วนที่โรงงานจะขยาย จึงมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง ในรายงานองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เน้นประเด็นเกี่ยวกับระเบิด คือ ครึ่งหนึ่งของกรรมการให้ข้อคิดเห็นว่าไม่ควรอนุมัติอนุญาตให้มีการขยายโรงงานด้วยหลายเหตุผล
1. เนื่องจากสารอินทรีย์ระเหยง่ายหรือ VOC ในพื้นที่ โดยเฉพาะสาร 1,3 บิวทาไดอีนในพื้นที่ยังเกินค่ามาตรฐานอยู่ และมีความเสี่ยงที่อาจจะเพิ่มออกมามากขึ้น
2. ระบบรองรับอุบัติภัยที่ยังมีช่องว่าง ยังเป็นปัญหา ยังเชื่อมั่นไม่ได้
3. การประเมินอันตรายร้ายแรงยังไม่ครบทุกความเสี่ยง ยังไม่มีมาตรการรองรับทุกความเสี่ยง และที่รายละเอียดกว่านั้น แม้แต่มีมาตรการรองรับก็ยังมีช่องว่าง เช่น โรงงานมีเซ็นเซอร์ตรวจสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่รั้วโรงงาน แต่ตั้งค่าที่เซ็นเซอร์ตรวจเจอสูงเกินไปหากเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานนานาชาติ จึงมีข้อคิดเห็นว่า กรณีสารอินทรีย์ระเหยง่ายก่อมะเร็ง ควรตั้งค่าเซ็นเซอร์ให้ต่ำกว่านี้ตามมาตรฐานนานาชาติ
ไทยพับลิก้า : มาตรฐานของไทยมีไหม
ของไทยไม่มี ต้องเทียบค่ามาตรฐานนานาชาติ ของเราค่ามาตรฐานสารอินทรีย์ระเหยง่ายจะมีแค่เฉลี่ยรายปี 9 ตัว และค่าเฝ้าระวัง 24 ชม. 19 ตัว นี่คือค่าสำหรับคนงาน 8 ชม. และค่าสำหรับชุมชนควรจะเท่าไหร่
ผมจำตัวเลขเป๊ะไม่ได้ หากวัดค่าเซ็นเซอร์ได้ 10 เริ่มเตือนครั้งที่ 1 เตือนเบื้องต้น หากวัดค่าได้ 20 เตือนครั้งที่ 2 คือซีเรียสแล้ว เพราะฉะนั้นค่าที่จะเริ่มเตือนเมื่อวัดได้ 10 แต่ค่ามาตรฐานของนานาชาติที่นำมาเทียบเคียงเขาเริ่มที่ 1 ก็เตือนได้แล้ว
นี่คือรายงานขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ระบุว่า ระบบรองรับอุบัติภัยมีปัญหาเรื่องประเมินความเสี่ยงไม่ครบ และสารก่อมะเร็งที่จะเพิ่มความเสี่ยงในพื้นที่ เพราะในพื้นที่เกินค่ามาตรฐานอยู่แล้ว โดยเฉพาะ 1,3 บิวทาไดอีน มีปัญหาอยู่แล้ว
ส่วนการปนเปื้อนของสารโทลูอีนในน้ำ ในพื้นที่มาบตาพุด ตรวจพบโลหะหนักและสารอินทรีย์ระเหยง่ายอยู่แล้ว หากมีโรงงานที่จะมาเพิ่มความเสี่ยงของการปนเปื้อนสาร VOC ในน้ำใต้ดินอีก เรียกได้ว่าพื้นที่ไม่สามารถรองรับเพิ่มในเรื่องนี้แล้ว เพราะปัจจุบันเกินค่าอยู่แล้ว และโทลูอีนเป็นมลพิษที่มีความเสี่ยงตัวหนึ่งด้วย
ไทยพับลิก้า : อธิบดีกรมควบคุมมลพิษบอกว่าจะควบคุมน้ำฉีดดับเพลิง เพราะมีการปนเปื้อนสารโทลูอีน เพื่อไม่ให้ปนเปื้อนในน้ำใต้ดิน
ผมพยายามคิดว่าถ้าทำให้ได้จริงต้องกั้นนำที่ไหลลงมาไว้ทั้งหมด ไม่ให้ออกไปนอกพื้นที่ หรือสูบไปเข้าบ่อบำบัดน้ำเสียทั้งหมด แต่จะทำได้หรือไม่ สำหรับผม ผมมองประเด็นนี้ใหญ่กว่านั้นเยอะ คือผมมองการจัดการสาธารณภัยสารเคมีมากกว่า ไม่ใช่แค่ประเด็นน้ำฉีดดับเพลิงออกไปนอกโครงการ
ไทยพับลิก้า : รัฐอาจพยายามคิดแก้ปัญหาเฉพาะหน้าว่าเขาดูแลอยู่
รัฐพยายามแสดงว่าเมื่อเกิดเหตุแล้วเขาจัดการได้และจัดการได้ดี แต่มันก็เละไปหลายเรื่อง อาทิ ระบบที่ไม่เกิดเหตุต้องชัดเจนกว่านี้ อย่างเรื่องการเปิดเผยข้อมูล ระบบป้องกันเหตุ ไม่ใช่ทำเป็นครั้งๆ ไป ต้องป้องกันเชิงพื้นที่กันชน แต่ก็ไม่ชัดเจน และระบบที่รองรับการเกิดเหตุแล้วก็จะต้องมีแผนรองรับ เช่น ระบบการแจ้งผู้ได้รับกระทบ การอพยพ การเยียวยารับผิดชอบ มันยังมีช่องโหว่ในจุดสำคัญทุกขั้นตอนเลย
ไทยพับลิก้า : ส่วนขยายโรงงานกรุงเทพซินธิติกส์ที่องค์การอิสระ ให้ความเห็นไปแล้ว มีการอนุมัติหรือไม่อย่างไร
การนิคมอุตสาหกรรมฯ ยังเงียบอยู่ ไม่ตัดสินใจ มีคนตั้งประเด็นว่า หน่วยงานที่อนุมัติจะตัดสินใจเมื่อไหร่ เขาอาจจะนิ่งไปเรื่อยๆ ได้ อยู่ที่ว่าโรงงานรีบหรือไม่ แต่พอเกิดเหตุแบบนี้ ก็ชัดเจนว่าห้ามทำ ห้ามขยาย และจัดการโรงงานที่เกิดปัญหาอยู่ให้ชัดเจน แต่ทั้งนี้ไม่ทราบอุบัติเหตุครั้งนี้กระทบแค่ไหน เรื่องนี้การนิคมฯ ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบเข้าไปตรวจสอบ ว่าเขาจัดการเรียบร้อยในทุกจุดตามที่ให้ข้อคิดเห็นเอาไว้ ต้องปรับทั้งหมด รวมถึงเรื่องอื่นๆ อย่างพื้นที่กันชน ไม่ใช่อีก 6 เดือนพอสังคมลืมเขาก็จะเปิดกลับมาได้
ไทยพับลิก้า : มีคนเล่าว่า ปภ. เขียนแผนเหมือนกันทุกจังหวัด
อุบัติภัย ภัยพิบัติ มีทั้งเหมือนและไม่เหมือนกัน ผมเคยได้ร่วมทีมวิจัยอยู่ชิ้นหนึ่งที่เขาทำเรื่องแผนรองรับอุบัติภัย กล่าวคือ ทุกหน่วยงานมีแผนหมดเลย พอเกิดเหตุ ทุกหน่วยงาน ชุมชน ประชาชน จะจัดการเผชิญกับภัยที่ควรประสานเป็นเนื้อเดียวกันให้เป็นอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ทุกคนทำตามแผนของตัวเอง พอทำแล้วเละหมดเลย ตั้งแต่วิธีการขนคน อพยพคน เวลาก็ไม่พอ ข่าวสารก็ไม่รู้ การให้ข่าวมั่วไปหมด
การจะเป็นเนื้อเดียวกัน เขาเรียกว่ามี “กฎการปฏิบัติ” (rule of engagement) หลักคิดจริงๆ มาจากทหาร เวลาเกิดสงคราม คุณไม่ต้องบอกว่าหน่วยไหนมีแผนอะไร มันคือ rule of engagement เราทราบว่าแต่ละหน่วยงานมีแผน แต่เกิดเหตุทีไรมั่วทุกที จึงมีการพัฒนากฎการปฏิบัติขึ้นมา ทำเป็นโครงการวิจัย และได้ทดลองปฏิบัติการในพื้นที่ภัยพิบัติต่างๆ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ ดินถล่ม สารเคมีรั่วไหล ทีมผมรับเรื่องน้ำท่วม ดินถล่ม เราซ้อมกับชุมชนที่จังหวัดน่าน และชุมชนเขาก็อยากได้แบบนี้