ThaiPublica > เกาะกระแส > นักวิชาการเสนอผ่าตัดกระบวนการ EIA/EHIA ลดความแตกแยก สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

นักวิชาการเสนอผ่าตัดกระบวนการ EIA/EHIA ลดความแตกแยก สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

16 กรกฎาคม 2014


ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ และคณะยื่นหนังสือปฏิรูปอีไอเอหรืออีเอชไอเอต่อคสช. เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2557
ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ และคณะยื่นหนังสือปฏิรูปอีไอเอ-อีเอชไอเอต่อคสช. เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2557

ม.ร.ว.ดร.อคิน รพีพัฒน์, ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์, นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์, ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต, รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล, ดร.บัณฑูร เศษฐศิโรฒ และนางสาวสมพร เพ็งค่ำ ยื่นหนังสือถึงคสช. เพื่อขอให้ยกเลิกรายงาน/ กระบวนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ที่สร้างความขัดแย้งในชุมชน 3 โครงการ คือโครงการเหมืองแร่โพแทซจังหวัดอุดรธานี โครงการก่อสร้างท่าเรือคลองรั้วเพื่อขนส่งถ่านหินจังหวัดกระบี่ และโครงการขยายพื้นที่ขอสัมปทานเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย เนื่องจากชาวบ้านถูกกีดดันไม่ให้เข้าร่วมรับแสดงความคิดเห็นและให้ปฏิรูประบบการประเมินอีไอเอหรืออีเอชไอเอให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน รวม 5 ด้านได้แก่ ด้านหลักการ ด้านโครงสร้างการบริหารงาน ด้านกระบวนการจัดทำรายงาน ด้านการพิจารณารายงาน และด้านการติดตามตรวจสอบ

โดยเมื่อวันที่ 3 กรกฏาคม 2557 ที่ผ่านมา เครือข่ายนักวิชาการปฏิรูประบบอีไอเอจัดงานเสวนาวิชาการ “ผ่าตัด EIA/EHIA ลดความแตกแยก สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ณ ห้องประชุมพระยาสุนทรพิพิธ ชั้น 2 ห้อง 202 อาคารคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาดังนี้

1.รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อดีตกรรมการสี่ฝ่ายแก้ปัญหามาบตาพุด
2.ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และผู้ประสานงานชุดโครงการวิจัย การพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ความตกลง พหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
3.นางสาวสมพร เพ็งค่ำ นักวิจัยสมทบ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4.นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณนิเวศ
5.รศ.ดร.สมิทธิ์ ตุงคะสมิต วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต วิศวกรและอดีตผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและโรงบำบัดของเสีย
6.ดร.อาภา หวังเกียรติ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ดำเนินการเสวนาโดย ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ทั้งนี้ได้มีข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปทั้ง 5 ด้าน เพื่อลดความขัดแย้งในพื้นที่รวมถึงป้องกันและลดผลกระทบจากโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ เนื่องจากระบบและโครงสร้างของระบบอีไอเอหรืออีเอชไอเอในปัจจุบันมีปัญหาและข้อจำกัดหลายประการ ดังนี้

การประเมินสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์

เนื่องจากที่ผ่านมาการทำอีไอเอหรืออีเอชไอเอนั้นกำหนดให้จัดทำเป็นรายโครงการ เฉพาะในโครงการที่มีขนาดใหญ่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งโครงการที่ขนาดใหญ่ไม่ถึงก็ไม่ต้องทำอีไอเอหรืออีเอชไอเอ แต่ในความเป็นจริงตามสภาพพื้นที่มักเกิดการกระจุกตัวของโครงการที่ไม่ต้องทำอีไอเอหรืออีเอชไอเอหลายๆ โครงการ ซึ่งรวมกันแล้วมีขนาดใหญ่และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มาก ดังนั้นทางเครือข่ายจึงเสนอให้ประเมินสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) ก่อน และกำหนดให้ต้องใช้เป็นข้อมูลในพัฒนาโครงการ การประเมินผลกระทบในระดับโครงการโดยศึกษาความเหมาะสมและคุ้มประโยชน์ และวิเคราะห์ต้นทุนสิ่งแวดล้อมและสังคมร่วมด้วย

ทั้งนี้หากการประเมินผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพบ่งชี้ว่าผลกระทบมีความรุนแรงและไม่อาจมีมาตรการลดผลกระทบอย่างเหมาะสมและปฏิบัติได้จริง หรือไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจต้องเป็นเหตุให้ยุติโครงการได้ ไม่ใช่มีรายงานอีไอเอหรืออีเอชไอเอได้เท่ากับมีโครงการแน่นอนเหมือนที่เป็นมาตลอด

นอกจากนี้ต้องปรับปรุงกฎ กติกาที่สร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพ และสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการแสดงข้อมูลหลักฐานและความคิดเห็นในกระบวนการมีส่วนร่วมด้วย เพราะทุกๆ ความขัดแย้งในพื้นที่โครงการนั้น มีสาเหตุสำคัญมาจากชาวบ้านที่คัดค้านหรือไม่เห็นด้วยจะถูกกีดกันการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมในโครงการ รวมถึงชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ข้อเท็จจริงของโครงการด้วย

ปัญหาการไม่ยอมรับอีไอเอหรืออีเอชไอเอที่จัดทำขึ้น

อย่างไรก็ตามในวงเสวนามองว่าหลายโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในปัจจุบันจะมีปัญหา “การไม่ยอมรับอีไอเอหรืออีเอชไอเอที่จัดทำขึ้น” เช่น ถ้าเจ้าของโครงการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำ ชาวบ้านก็จะไม่ยอมรับและเชื่อถือ เพราะเจ้าของโครงการเป็นผู้จ่ายเงินโดยตรง และตามสัญญาว่าจ้างถ้ารายงานไม่ผ่านบริษัทที่ปรึกษาก็จะไม่ได้ค่าจ้างอีกครึ่งหนึ่ง หรือถ้าชาวบ้านทำอีไอเอหรืออีเอชไอเอขึ้นมาเสนอ เจ้าของโครงการก็ไม่ยอมรับเช่นกัน นั่นเพราะต่างฝ่ายต่างคิดว่าเป็นรายงานที่ไม่โปร่งใส

ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทางเครือข่ายจึงเสนอให้ “จัดตั้งกองทุนการประเมินอีไอเอหรืออีเอชไอเอที่เป็นอิสระ” เพื่อให้เกิดความเป็นกลางทางวิชาการ โดยเรียกเก็บเงินจากเจ้าของโครงการลงทุน เพื่อตัดวงจรการว่าจ้างจัดทำรายงานอีไอเอหรืออีเอชไอเอโดยตรงระหว่างเจ้าของโครงการและผู้รับจ้าง ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะต้องมีระเบียบวิธีปฏิบัติการบริหารกองทุนที่โปร่งใสชัดเจน ปลอดจากอิทธิพลของฝ่ายการเมืองโดยแยกขาดจากการดำเนินงานของกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และขอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาอนุมัติอีไอเอหรืออีเอชไอเอ ต้องเป็นองค์กรอิสระ รวมถึงกระบวนการสรรหาบุคคลบริหารองค์กรจะต้องโปร่งใสและผ่านกระบวนการกลั่นกรองโดยมีภาคประชาชนร่วมด้วย

การทุจริตในการทำอีไอเอ-อีเอชไอเอ

นอกจากนี้การลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนประกอบการทำรายงานอีไอเอหรืออีเอชไอเอนั้น ที่ผ่านมาเป็นกระบวนการที่เกิดปัญหามากที่สุด อาทิ ไม่ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจริงในพื้นที่, ว่าจ้างประชาชนนอกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมาเข้าร่วมเวทีแสดงความคิดเห็น, กีดกัดประชาชนที่ไม่เห็นด้วยไม่ให้เข้าร่วมเวทีแสดงความคิดเห็น, ปลอมแปลงสำเนาประชาชนมาใช้ยืนยันว่าเห็นด้วยกับโครงการโดยที่ชาวบ้านไม่รู้ตัว ฯลฯ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ตรวจสอบพบการทุจริตกระบวนทำอีไอเอหรืออีเอชไอเอบ่อยที่สุด

ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Scoping) ที่ดำเนินการโดยองค์กรอิสระร่วมกับภาคประชาชนก่อนที่ออกเป็นข้อกำหนดในการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษา (TOR) โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการทำรายงานร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาด้วย

รวมทั้งต้องเพิ่มมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงการทำอีไอเอหรืออีเอชไอเอ เช่น มีข้อกำหนดในการปรับปรุงบัญชีโครงการที่เข้าข่ายต้องทำอีไอเอหรืออีเอชไอเอทุกๆ ปี หรือมีระบบร้องเรียนโครงการที่หลบเลี่ยงโดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย โดยเพิ่มเติมข้อกำหนดการลดผลกระทบสำหรับโครงการที่ไม่เข้าข่ายจัดทำอีไอเอหรืออีเอชไอเอ

การพิจารณาอีไอเอ-อีเอชไอเอต้องโปร่งใส

ส่วนทางด้านการพิจารณารายงานต้องปรับปรุงกระบวนการทำงานของคณะผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณาอีไอเอหรือีเอชไอเอ โดยเปิดเผยและโปร่งใสมากขึ้น รวมถึงปรับปรุงโครงสร้างของคชก. ให้ครอบคลุมทุกประเด็นที่มีผลกระทบด้วย หากอีไอเอหรืออีเอชไอเอฉบับไหนไม่ผ่านก็ต้องไม่ผ่าน ไม่ใช่เป็นอย่างกรณีของบริษัทเชฟรอนที่คชก. พิจารณา 4 ครั้งแล้วไม่ให้ผ่าน จึงเป็นคชก. ชุดใหม่แล้วพิจารณาให้ผ่าน

ท่าศาลาประกาศเชฟรอนต้องถอน EHIA

ทั้งนี้ภาคประชาชนและนักวิชาการต้องมีโอกาสเสนอข้อมูลและความคิดเห็นการพิจารณาโครงการทุกขั้นตอน เพราะที่ผ่านมาข้อมูลของภาคประชาชนและนักวิชาการมักไม่นำไปใช้ประกอบการพิจารณาของคชก. รวมถึงนำผังเมืองที่ประกาศใช้หรือร่างผังเมืองที่ผ่านความเห็นชอบมาใช้ประกอบการพิจารณาอีไอเอหรืออีเอชไอเอด้วย

สุดท้ายคือ “กำหนดระยะเวลาการปรับปรุงรายงานหลังจากที่คชก. ให้ความเห็นปรับแก้ไขแล้ว” เพราะปัจจุบันอีไอเอหรืออีเอชไอเอไม่มีอายุ ดังนั้นเมื่อจะเริ่มโครงการใดๆ ก็สามารถนำอีไอเอหรืออีเอชไอเอฉบับเก่าๆ มาใช้ได้ เช่น โครงการในปี 2557 แต่นำรายงานเมื่อปี 2540 มาใช้ นอกจากนี้บางโครงการจัดอีไอเอหรืออีเอชไอเอบนข้อมูลทุติยภูมิ ที่มีหน่วยงานต่างๆ รวบรวมเอาไว้แล้ว โดยไม่ได้ลงสำรวจพื้นที่จริงว่าปัจจุบันสภาพทางสังคมเปลี่ยนแปลงไปเช่นไรบ้าง

กระบวนการติดตามตรวจสอบ

ทางด้านการติดตามตรวจสอบผู้เข้าร่วมเสวนามองว่าเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะถึงแม้ว่าโครงการจะมีอีไอเอหรืออีเอชไอเอที่ถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ ดีพร้อม แต่หากไม่ได้ปฏิบัติตามอีไอเอหรืออีเอชไอเอนั้นก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อเกิดปัญหาขึ้นกระทรวงอุตสาหกรรมมักจะอ้างว่ามีบุคลากรไม่เพียงพอ

ดังนั้นจึงต้องปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้หน่วยงานอนุมัติ อนุญาตมีอำนาจนำมาตรการป้องกันและมาตรการลดผลกระทบในอีไอเอหรืออีเอชไอเอ ไปกำหนดเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมในคำสั่งอนุมัติโครงการ รวมถึงกระจายอำนาจและหน้าที่การติดตามตรวจสอบไปยังสำนักสิ่งแวดล้อมภาคและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามความเหมาะสม และให้เครือข่ายชุมชนและสถาบันการศึกษาในพื้นที่มีส่วนร่วมติดตามและตรวจสอบอีไอเอหรืออีเอชไอเอด้วย

ทั้งนี้เจ้าของโครงการต้องจัดเวทีเสนอผลการปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบทุกช่วงระยะเวลาที่กำหนด เช่น ทุกเดือน หรือทุก 3 เดือน เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านมักไม่ได้รับรู้ข้อมูลใดๆ จากโครงการ นอกจากการทำทำซีเอสอาร์ของบริษัท โดยการแจกเงิน แจกของ ให้ชาวบ้าน หรือสร้างสิ่งปลูกสร้างให้กับชุมชน ซึ่งบางกรณีก็ทำให้ชาวบ้านจริง บางกรณีเพียงพูดให้ชาวบ้านฟังในวันที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น

ด้านนางสาวสมพร เพ็งค่ำ กล่าวว่าการเสวนาในครั้งนี้เป็นการสร้างความเข้าใจระหว่างภาคประชาชนว่าการปฏิรูปอีไอเอหรืออีเอชไอเอครั้งนี้ มีอะไรบ้าง ทำไมต้องปฎิรูป โดยมองว่าสภาปฏิรูปที่คสช. กำลังจะจัดตั้งขึ้นเป็นโอกาสดีที่ทำให้เราสามารถเสนอข้อมูลเพื่อการปฏิรูปเข้าไปสู่ระดับนโยบาย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคม ซึ่งก็หวังว่าข้อเสนดดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาจากคสช.

อ่านเพิ่มเติม

1.มติ-การปฏิรูป EIA-EHIA

2.เอกสารหลัก-สถานการณ์ปัญหาและผลกระทบ

3.เอกสารผนวก1-แนวทางการแก้ป้ญหา

4.เอกสารผนวก2-timelineการพัฒนาและปรับปรุง ระบบ EIA

ป้ายคำ :