ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สตง. ตรวจสอบการใช้เงินพัฒนา 25 ลุ่มน้ำ(2) : บริษัทที่ปรึกษาใช้เงิน 266 ล้านบาท “ไม่คุ้มค่า” ส่งผลรัฐจัดงบแบบเบี้ยแตก

สตง. ตรวจสอบการใช้เงินพัฒนา 25 ลุ่มน้ำ(2) : บริษัทที่ปรึกษาใช้เงิน 266 ล้านบาท “ไม่คุ้มค่า” ส่งผลรัฐจัดงบแบบเบี้ยแตก

24 พฤษภาคม 2012


ตามที่ได้เสนอข่าวสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบการดำเนินงานการบริหารจัดการลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำหลักโดยกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2548-2551 วงเงินงบประมาณ 160,591.86 ล้านบาท โดยทำหนังสือด่วนมากนำเสนอนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2555 (สตง. ตรวจสอบการใช้เงินพัฒนา 25 ลุ่มน้ำ วงเงิน 160,591 ล้านบาท ระบุไม่คุ้มค่า-ไม่ตอบโจทย์ชุมชน)

สตง. ได้ระบุว่า โครงการบริหารจัดการ 25 ลุ่มน้ำนี้ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาจัดทำแผนรวมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แต่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดกรอบนโยบายการดำเนินงานสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างคุ้มค่า ซึ่งการว่าจ้างที่ปรึกษาทั้ง 25 ลุ่มน้ำเริ่มตั้งแต่ปี 2544 – 2548 รวม 19 สัญญา เป็นเงินทั้งสิ้น 266.46 ล้านบาท(ดูตารางประกอบ)

สตง. รายงาน ว่าบริษัทที่ปรึกษาได้นำเสนอผลการศึกษาในภาพรวมพื้นที่ลุ่มน้ำหลัก โดยไม่มีรายละเอียดข้อมูลผลการศึกษาและรายงานปัญหา หรือความต้องการของระดับพื้นที่ชุมชน หรือลุ่มน้ำย่อยอย่างชัดเจน ซึ่งทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถนำแผนดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพื้นที่ในเชิงลึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลต่อการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนได้

“ผลการศึกษาไม่มีข้อมูลในเชิงลึกที่สามารถบอกได้ถึงสภาพปัญหา รายละเอียดความต้องการในระดับพื้นที่/หมู่บ้านแต่อย่างใด หรืออาจกล่าวได้ว่าการจัดทำแผนรวมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแผนลุ่มน้ำยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบในแง่การจัดทำข้อมูลรายละเอียดแผน/โครงการไม่ชัดเจน ไม่สามารถนำไปใช้สำหรับการวางแผนแก้ปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำได้ถูกต้องเหมาะสม ตามลำดับความสำคัญและความจำเป็น ดังนั้นการจ้างที่ปรึกษาจัดทำข้อมูลจึงไม่คุ้มค่า”

สตง. ระบุถึงความไม่คุ้มค่าว่า

1. ทำให้กระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำของประเทศไม่บรรลุเจตนารมณ์และนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาโดยยึดพื้นที่เป็นหลักและเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ

2. ทำให้การจัดสรรงบประมาณในโครงการต่างๆ ยังคงเป็นไปในลักษณะการกระจายหรือเป็น “เบี้ยหัวแตก” ที่ไม่คุ้มค่า เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาให้ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ตามสภาพปัญหา ความจำเป็น และลำดับความรุนแรงของปัญหาได้อย่างแท้จริง เป็นผลให้การใช้เงิน 160,591.86 ล้านบาท ในช่วงปี 2548-2551 ไม่คุ้มค่าในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาพรวมของประเทศ สตง. ตรวจสอบการใช้เงินพัฒนา 25 ลุ่มน้ำ วงเงิน 160,591 ล้านบาท ระบุไม่คุ้มค่า-ไม่ตอบโจทย์ชุมชน

ดังนั้นในหนังสือ (ด่วนมาก) ฉบับนี้ที่นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีจึงได้ระบุตอนหนึ่งว่า หากพิจารณาการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยระยะเร่งด่วน ตลอดจนแผนในระยะยาวตามนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ซึ่งได้รับความเห็นชอบในหลักการของร่างแผนปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแบบบูรณาการและยั่งยืน (กรณีลุ่มน้ำเจ้าพระยา) ซึ่งครอบคลุม 8 ลุ่มน้ำ วงเงินงบประมาณ 300,000 ล้านบาท และแผนงาน/โครงการอีก 17 ลุ่มน้ำ งบประมาณ 50,000 ล้านบาท เป็นการกำหนดวงเงินโดยยังไม่มีรายละเอียดสภาพปัญหาในระดับพื้นที่และรายละเอียดแผนงาน/โครงการที่ชัดเจน รวมถึงความต้องการที่แท้จริงในระดับพื้นที่เป้าหมาย อาจทำให้มีความเสี่ยงของการดำเนินงาน เนื่องจากยังไม่สามารถแสดงถึงทิศทางหรือความเหมาะสมของการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับพื้นที่อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ ปัญหาด้านข้อมูลโครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูลทั่วไป และสภาพทางภูมิประเทศของพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางแผนงานในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาให้บรรลุผลและเกิดความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณ พบว่าปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการจัดทำฐานข้อมูลระดับพื้นที่ เพื่อรองรับต่อการบริหารจัดการที่ครอบคลุมทุกด้านอย่างเป็นเอกภาพและมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ จากผลการตรวจสอบการดำเนินงานที่ผ่านมา พบปัญหาความไม่สำเร็จในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากประเทศไทยขาดข้อมูลรายละเอียดเชิงลึกในระดับพื้นที่ที่ใช้เป็นฐานข้อมูลอางอิงสำหรับการพิจารณากำหนดแผนงาน/โครงการได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งชุมชนท้องถิ่นไม่ได้มีบทบาทในการร่วมพิจารณาและวางแผนในกิจกรรมในระดับพื้นที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง