ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สตง. ตรวจสอบการใช้เงินพัฒนา 25 ลุ่มน้ำ(1) : ใช้เงิน 160,591 ล้านบาทไม่คุ้มค่า-ไม่ตอบโจทย์ชุมชน

สตง. ตรวจสอบการใช้เงินพัฒนา 25 ลุ่มน้ำ(1) : ใช้เงิน 160,591 ล้านบาทไม่คุ้มค่า-ไม่ตอบโจทย์ชุมชน

13 พฤษภาคม 2012


http://www.siamfishing.com/board/upload2009/200909/125192672171275.jpg
ฝายกั้นน้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2555 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานปัญหาและความเสี่ยงสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หลังจากที่ได้ตรวจสอบการใช้งบประมาณในช่วงปี 2548-2552 เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ใน 25 ลุ่มน้ำหลัก เป็นเงิน 160,591.86 ล้านบาท ซึ่งเป็นภารกิจของกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาพื้นที่ลุ่มน้ำให้เป็นเอกภาพได้ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญในพื้นที่ลุ่มน้ำได้อย่างเป็นระบบและไม่เกิดความยั่งยืน รวมทั้งไม่สามารถแก้ไขปัญหาตามสภาพพื้นที่ที่เกิดขึ้น และไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของชุมชน โดยมีประเด็นข้อตรวจพบสำคัญ 2 ประเด็นคือ

1. การทำแผนงบประมาณการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเชิงบูรณาการยังไม่เกิดสัมฤทธิ์ผล ซึ่ง สตง. พบว่า โครงการของหน่วยงานที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการในพื้นที่ลุ่มน้ำ ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในแผนงานหรือโครงการที่เสนอผ่านองค์กรลุ่มน้ำ โดยตั้งแต่ปี 2548-2551 ใช้งบประมาณ 160,591.86 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงบประมาณที่ไม่ได้เสนอผ่านองค์กรลุ่มน้ำถึง 139,955 ล้านบาท (87.15%) ที่เสนอผ่านองค์กรลุ่มน้ำมีเพียง 20,6363.19 ล้านบาท (12.85%)

นอกจากนี้ได้มีการจ้างที่ปรึกษาจัดทำแผนรวมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ รวม 19 สัญญา คิดเป็นเงิน 266.46 ล้านบาท ในช่วงปี 2544-2548 แต่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ศึกษา ตรวจสอบพบว่าเป็นข้อมูลภาพรวมของพื้นที่ลุ่มน้ำ แต่ไม่มีรายละเอียดข้อมูลปัญหาหรือความต้องการในระดับพื้นที่ ชุมชนหรือลุ่มน้ำย่อยแต่อย่างใด ทำให้ไม่สามารถนำแผนไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชนได้ จึงทำให้การป้องกันและแก้ปัญหาใน 25 ลุ่มน้ำไม่ได้ตามนโยบาย และเป็นการใช้เงิน 160,591.86 ล้านบาทที่ไม่คุ้มค่า ไม่มีประสิทธิภาพ

2. การดำเนินโครงการเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาสำคัญในพื้นที่ลุ่มน้ำได้อย่างเป็นระบบและไม่เกิดความยั่งยืน ทั้งนี้ สตง. ได้สุ่มตรวจสอบในระดับพื้นที่ จำนวน 171 โครงการในพื้นที่ 35 จังหวัด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ 14 ลุ่มน้ำ 68 ลุ่มน้ำสาขา ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2548-2552 วงเงินงบประมาณ 1,637.34 ล้านบาท พบว่า

1) โครงการยังไม่สามารถแก้ปัญหาของพื้นที่ได้ จำนวน 30 โครงการ (เฉพาะโครงการที่ดำเนินแล้วเสร็จ) คิดเป็น 17.54% ของจำนวนโครงการที่สุ่มตรวจสอบ เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินกิจกรรมกับปัญหาของพื้นที่ก่อนมีโครงการ พบว่าสภาพปัญหายังคงเดิม 18 โครงการ สิ่งก่อสร้างชำรุดไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ 9 โครงการ ลักษณะโครงการเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงกับความต้องการของพื้นที่ 1 โครงการ และเป็นการเพิ่มปัญหาให้กับพื้นที่อีก 2 โครงการ

2) โครงการที่ไม่คุ้มค่า เพราะแก้ปัญหาของพื้นที่ได้น้อยถึงปานกลาง เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะที่ ไม่ได้เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบในระดับพื้นที่ลุ่มน้ำ จำนวน 80 โครงการ คิดเป็น 46.78% ของโครงการที่สุ่มตรวจสอบ

3) โครงการในพื้นที่ที่มีปัญหาไม่รุนแรง ยังไม่จำเป็นเร่งด่วนต่อการใช้เงินงบประมาณ เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่น จำนวน 19 โครงการคิดเป็น 11.11% ของจำนวนโครงการที่สุ่มตรวจสอบ

โดยสรุปจากจำนวน 171 โครงการที่สุ่มตรวจสอบมี 96 โครงการ เท่ากับ 56.14% คิดเป็นเงิน 764.21 ล้านบาท ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น แผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ยังมีปัจจัยความเสี่ยงในการจัดการ ซึ่ง สตง. ได้สรุปปัญหาไว้ดังนี้(อ่านรัฐบาลเร่งล้างท่องบน้ำท่วม 1.2 แสนล้านให้หมดภายใน ส.ค. นี้ จี้ปลัดมหาดไทยบี้ผู้ว่าฯ ใช้เป็นเคพีไอ “โยกย้าย”)

1. ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยงข้องโดยตรงกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเชิงบูรณาการอย่างเป็นระบบ กลไกขับเคลื่อนค่อนข้างซับซ้อนเพราะเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน และเกี่ยวข้องกับทุกระดับตั้งแต่ระดับชาติ กระทรวง จังหวัด ชุมชนท้องถิ่น รวมถึงประชาชน ทำให้กระบวนการทำงานยังไม่มีเครื่องมือที่สามารถนำไปสู่การบังคับใช้ให้เกิดที่เป็นรูปธรรม เอกภาพ และไม่ชัดเจนในอำนาจทางปฎิบัติของหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง

2. รัฐบาลมีกรอบวงเงินงบประมาณแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำ แต่ไม่มีรายละเอียดของแผนการปฏิบัติ โดยเฉพาะในระดับพื้นที่เป้าหมายและหน่วยงานที่รับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากไม่มีข้อมูลรายละเอียดปัญหาที่แท้จริงและความต้องการในระดับพื้นที่เป้าหมายแต่ละพื้นที่ ซึ่งทำให้การจัดทำโครงการและนำเสนอโครงการเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายแต่ละปีของแต่ละหน่วยงานจึงเสนอโครงการไปจำนวนมากหรือเป็นลักษณะเสนอไว้เผื่อถูกตัด หรือไม่สอดคล้องต่อการแก้ไขปัญหาของพื้นที่อย่างเป็นระบบเชื่อมโยงกัน

3. การจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อาจไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม หรือเกิดประโยชน์ต่อการจัดการและการแก้ไขปัญหาในทิศทางเดียวกันได้อย่างเป็นเอกภาพ สตง. พบว่างบประมาณที่ใช้ดำเนินการมีจำนวนมาก แต่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ที่ให้ผลคุ้มค่า เพราะแผนรวมหรือแผนแม่บทไม่มีรายละเอียดเชิงลึกในระดับพื้นที่ที่จะสามารถนำไปสู่การวางแผนปฏิบัติให้ตรงกับปัญหา ความต้องการ และความจำเป็นของพื้นที่เป้าหมายได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งไม่มีหน่วยงานหลักในการติดตามประเมินผล รวมทั้งกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผน

4. การทำแผนงานโครงการไม่ชัดเจน มีข้อมูลไม่เพียงพอ ทำให้กระบวนการกลั่นกรองไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมาจากปัญหาตั้งแต่ระดับพื้นที่จังหวัดจนถึงระดับประเทศที่รัฐบาลมอบหมายแต่งตั้งขึ้นมา รวมทั้งสำนักงบประมาณไม่มีข้อมูล จึงไม่สามารถอนุมัติได้ตามลำดับความสำคัญและความจำเป็นของพื้นที่ที่แท้จริง

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากแผนบรรเทาอุทกภัยระยะเร่งด่วน รวมถึงแผนระยะยาวตามนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน กรณีลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งครอบคลุม 8 ลุ่มน้ำ วงเงินงบประมาณ 300,000 ล้านบาท และแผนงาน/โครงการอีก 17 ลุ่มน้ำ งบประมาณ 50,000 ล้านบาท เป็นการกำหนดกรอบวงเงินโดยไม่มีรายละเอียด สภาพของปัญหาในระดับพื้นที่ และรายละเอียดแผนงาน/โครงการในระดับพื้นที่ที่ชัดเจน ก็จะทำให้การทิศทางการแก้ปัญหาไม่ชัดเจน

5. ปัญหาด้านข้อมูลโครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูลทั่วไป และสภาพทางภูมิประเทศของพื้นที่เป้าหมาย เพื่อให้การแก้ปัญหาเกิดความสำเร็จและคุ้มค่า พบว่าปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการจัดทำข้อมูลระดับพื้นที่เพื่อรองรับต่อการบริหารจัดการที่ครอบคลุมทุกด้านอย่างเป็นเอกภาพและมาตรฐานเดียวกัน

ปัญหาความไม่สำเร็จในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของไทย จึงเป็นเรื่องการขาดข้อมูลรายละเอียดเชิงลึกในระดับพื้นที่ ที่ใช้เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงสำหรับการพิจารณาแผน/โครงการได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใด

6. องค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไม่สามารถเป็นกลไกขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่แท้จริงในการปฏิบัติงาน ขาดความเข้มแข็ง ขณะที่คณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงในวางแผนแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่เชื่อมโยงกัน และคณะทำงานต่างๆ ที่แต่งขึ้นในทุกระดับส่วนใหญ่ประชุมน้อยมากและกรรมการส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับการเข้าประชุม โดยเฉพาะกรรมการที่มาจากภาคราชการหรือผู้บริหารระดับสูง จะส่งตัวแทนหมุนเวียนกันมาทำให้ขาดความต่อเนื่อง และไม่สามารถตัดสินใจได้ที่ประชุมเพื่อกำหนดแผนหรือหาข้อยุติเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สตง. ระบุว่า ปัจจุบันมีการแต่งตั้งองค์กรด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำหลายหน่วยงาน ระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องอยู่ในระหว่างดำเนินการและไม่มีความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติ บางอันยังคงเดิม บางอันยกเลิก หรือมีส่วนเพิ่มเติมใหม่ อาจทำให้ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะหน่วยงานระดับท้องถิ่นสับสน ผู้รับผิดชอบขาดความเชื่อมั่น

7. ปัญหาหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักหรือหน่วยงานกลาง จากการตรวจสอบพบว่ายังไม่สามารถประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกได้อย่างเต็มที่ ไม่มีอำนาจบังคับให้หน่วยงานอื่นปฏิบัติ และไม่มีการติดตามประเมินผลงานของหน่วยงานต่างๆ จึงไม่มีข้อมูลหรือรายงานผลที่ผลักดันให้องค์กรสูงสุดด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปรับปรุงนโยบายหรือแผนงานอย่างถูกต้อง

8. การทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นลักษณะต่างคนต่างทำภายใต้นโยบายและภารกิจของหน่วยงานเป็นสำคัญ และเป็นโครงการแก้ไขปัญหาเฉพาะที่ ไม่ได้เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบตั้งแต่ระดับพื้นที่ รวมทั้งการเสนอโครงการเพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดสรรงบประมาณไม่ได้มีการบูรณาการตั้งแต่ขั้นตอนการเสนอจนถึงขั้นตอนการอนุมัติ

9. ไม่มีระบบการติดตามและประเมินผล การทำงาน ตลอดจนการรวบรวมข้อมูลของทุกหน่วยงานในแต่ละปีงบประมาณ