
หากใครได้อ่าน “ผู้หญิงกลิ้งโลก” ของสฤณี อาชวานันทกุล ในคำนำของเธอได้กล่าวว่า “ในหลายประเทศที่ผู้หญิงเผชิญกับการกีดกันทางการเมือง กฎหมาย และวัฒนธรรม ไม่มีแม้สิทธิขั้นพื้นฐานที่ทัดเทียมผู้ชาย ตั้งแต่สิทธิในการได้รับการศึกษาไปจนถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็น บ่อยครั้งที่ผู้หญิงลุกขึ้นมาทวงสิทธิอันชอบธรรมของตัวเอง…และหมดสมัยแล้วที่จะถามว่าผู้หญิงทำอะไรได้ คำถามเดียวที่ยังอยู่คือ มีอะไรที่เธอยังไม่ได้ทำ…”
นี่คือพลังของผู้หญิง ที่กำลังกลิ้งโลกมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2555 สำนักพิมพ์สามสีจัดสัมนาโครงการ “ผู้หญิงกลิ้งโลก” และมีการมอบทุนสนับสนุนให้กับโครงการที่เป็นประโยชน์กับสังคมในด้านต่างๆ ที่ถูกคัดเลือกจากคณะกรรมการ ซึ่งโครงการนี้เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักพิมพ์สามสี และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ภายในงานมีการจัดนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาในโครงการต่างๆ ที่ได้รับรางวัลในแต่ละสาขา และมีการจัดเวิร์คช็อปประดิษฐ์สิ่งของจากขยะทางทะเล ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับรางวัล
โครงการ “ผู้หญิงกลิ้งโลก” เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้หญิงได้ใช้ความรู้ ความสามารถ และศักยภาพที่มีอยู่ มีการให้ทุนสนับสนุนการทำงานใน 4 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม การศึกษา ศิลปะเพื่อสังคม และสิทธิมนุษยชน เพื่อนำผลงานเหล่านี้ไปสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อชุมชน สังคม และโลก



ในส่วนของโครงการที่ชนะเลิศในหมวดศิลปะเพื่อสังคมคือ “โครงการ The Missing Shoes” ประติมากรรมรองเท้าที่หายไป โดย “กัญญารัตน์ โฆษะวิสุทธิ์” กล่าวว่า เมื่อเปลือกหอยหายไปจากทะเล มีขยะจำพวกของเล่น เชือก แห อวน รองเท้า ฯลฯ เข้ามาแทนที่บนชายหาด ซึ่งผู้คนในท้องถิ่นก็มีการจัดกิจกรรมในการเก็บขยะ แต่ก็เพียงนำขยะเหล่านี้ไปฝังกลบเท่านั้น ประกอบกับตัวของผู้เขียนโครงการเองได้ทำงานกับองค์กรชื่อ “กรีนฟิน(Greenfins” ทำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางทะเลอยู่แล้ว และได้ไปดูงานที่ประเทศแอฟริกาก็มีปัญหาขยะทางทะเลเหมือนกับประเทศไทย จึงได้แรงบันดาลใจนำกลับมาสร้างโครงการนี้ที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่
“The Missing Shoes” เป็นโครงการที่ทำให้นักท่องเที่ยวตระหนักถึงขยะที่เกิดขึ้น และสร้างจิตสำนึกให้นักท่องเที่ยวผู้มาเที่ยวชมความงามของท้องทะเล เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวกลับไปกลับทิ้งขยะไว้ในทะเล เมื่อฤดูมรสุม มีขยะถูกพัดเข้ามายังชายหาดจำนวนมาก และประมาณ 20% ของจำนวนขยะ เป็นรองเท้าแตะที่บรรดานักท่องเที่ยวได้หลงลืมเอาไว้
ดังนั้น ตัวของโครงการจึงเกิดขึ้น มีการทำประดิษฐ์เป็นสิ่งของต่างๆ จากขยะในทะเลเพื่อลดปริมาณของขยะลง เช่น สร้อยคอ พวกกุญแจ พรม ฯลฯ นำมาขายให้กับนักท่องเที่ยว ณ ร้าน Loy-Lay Art & Gallery เพื่อเมื่อบรรดานักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมก็จะรู้ถึงต้นตอของวัสดุที่นำมาทำ
มีการเริ่มเก็บขยะในช่วงเดือนมรสุมในเดือนกันยายน-ตุลาคม ลองจินตนาการดู แค่ 5 วัน เก็บรองเท้าแตะได้ประมาณ 3,000 ข้าง ซึ่งรองเท้าแตะ 1 ข้าง สามารถนำมาทำสร้อยได้ 1 เส้น
ผลที่ได้รับจากการดำเนินโครงการนี้คือ นักท่องเที่ยวรับรู้ถึงที่มาที่ไปของขยะที่เป็นวัสดุตั้งต้นของเครื่องประดับหรือของใช้เหล่านี้ เมื่อนักท่องเที่ยวรู้และซื้อกลับไปเป็นของที่ระลึก ก็เป็นการสนับสนุนโครงการอีกแรงหนึ่ง เพื่อที่จะนำเงินไปจ้างชาวบ้านการเก็บขยะและดำเนินต่อไป
ส่วนผลในระยะยาวที่ผู้เขียนโครงการคาดหวังคือ ต้องการจะให้ผู้คนเล็งเห็นและตระหนักถึงขยะในปริมาณมหาศาลที่อยู่ในทะเล โดยที่มนุษย์เป็นผู้สร้าง


ต่อมาคือโครงการ “แม้ลมหายใจสุดท้ายก็ไม่ท้อ” ได้รับรางวัลชนะเลิศในหมวดสิทธิมนุษยชน โดย พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการต่อยอดมาจากโครงการศิลปะบำบัดของผู้เขียนโครงการเอง ที่ทำอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลเด็กก่อนแล้ว ด้วย พญ.พัชรินทร์เห็นว่าบรรดาเด็กที่ป่วยและต้องใช้เวลาอยู่พักรักษาตัวที่โรงยาบาลเป็นเวลานาน ขาดโอกาสในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ และสิ่งสำคัญคือ การศึกษา
จึงเริ่มดำเนินโครงการด้วยตัวเองก่อน เริ่มแรกจึงเป็นเพียงรถเข็นห้องสมุด เพื่อที่จะเข็นหนังสือและสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ไปมอบให้เด็กๆ ผู้ป่วยได้อ่านกัน สิ่งที่ได้กลับมาคือความตื่นเต้นและความสนใจของเด็กๆ ในการได้อ่านหนังสือ เมื่อมองเห็นปัญหาเหล่านี้ ประกอบกับมีโครงการผู้หญิงกลิ้งโลก พญ.พัชรินทร์จึงได้เขียนโครงการ “แม้ลมหายใจสุดท้ายก็ไม่ท้อ” ขึ้นมา
กิจกรรมในโครงการนี้มีตั้งแต่การอ่านหนังสือ การทำงานศิลปะของเด็กผู้ป่วย มีชมรมคณิตศาสตร์ ภาษาไทย สังคมศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และศิลปะเกิดขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่เด็กๆ ที่ขาดโอกาสในการเรียนเพราะต้องเข้ารับการรักษาโรคที่เป็นอยู่
พญ.พัชรินทร์เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ ผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการนี้ว่า “เด็กๆ ดูมีความสุขขึ้น แต่ก่อนเวลานอนโรงพยาบาล เด็กเหล่านี้จะหมดสิทธิในการเรียนหนังสือ หมดสิทธิในการสอบ หมดสิทธิในการเรียนรู้สังคม แต่เมื่อมีโครงการนี้เกิดขึ้น เด็กมีกิจกรรมก็สามารถที่จะพูดคุยกับคนรอบข้างมากขึ้น และในระยะยาวก็คงจะดำเนินโครงการนี้ต่อไปเพื่อเด็กผู้ป่วยที่จะมีโอกาสเรียนรู้อย่างเด็กๆ ทั่วไป และหาช่องทางที่จะต่อยอดพัฒนาโครงการให้ดียิ่งขึ้นไป”

อีกโครงการที่ได้รับรางวัล Popular Vote จาก Facebook ของโครงการผู้หญิงกลิ้งโลกwww.facebook.com/worldrollers คือ โครงการ “Anyone Can Draw ใครๆ ก็วาดได้” โดย “กิตติอาภา ปุรณะพรรค์” เดิมเรียนอยู่ที่คณะวิศวะกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อโครงการของทางมหาวิทยาลัยหาอาสาสมัครไปช่วยดูแลเด็กที่พิการ “กิตติอาภา” จึงสนใจเข้าร่วมโครงการที่โรงเรียนสอนเด็กพิการโดยเฉพาะ ทำให้เห็นว่าจำนวนของผู้พิการในไทยมีถึง 1,871,860 คน แต่ที่น่าตกใจและเป็นปัญหาของคนพิการคือ 64% ของผู้พิการเป็นผู้ที่ไม่มีงานทำ หรือเงินเดือนต่ำกว่า 4,000 บาทต่อเดือน เนื่องจากในสังคมไทยยังไม่เปิดโอกาสให้คนพิการเข้าทำงาน
ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างอาชีพให้กับผู้พิการที่ไม่มีโอกาสได้ทำงานอย่างบุคคลธรรมดา และหาอาชีพให้คนพิการทำด้วย เนื่องด้วย “กิตติอาภาและกลุ่มเพื่อน” ถนัดในเรื่องของการเขียนการ์ตูน และเล็งเห็นว่ามีการลงทุนน้อย เป็นอาชีพที่ไม่ค่อยเหลื่อมล้ำระหว่างของคนพิการและคนปกติ
กิจกรรมในโครงการคือ มีการนำนักวาดการ์ตูนอาชีพมาสอนเด็กพิการถึงโรงเรียน สอนทักษะการวาดการ์ตูน ในเรื่องของคุณภาพในการวาดภาพของเด็กพิการถือได้ว่าสวยไม่แพ้คนปกติ แต่โครงการนี้ไม่ใช่แค่จะสร้างอาชีพอย่างเดียว แต่จะเน้นรวมไปถึงการหางานให้กับคนพิการด้วย และสามารถประกอบอาชีพได้จริง เมื่อโครงการผู้หญิงกลิ้งโลกเปิดให้ผู้คนทั่วไปโหวตโครงการที่ชื่นชอบ โครงการ “Anyone Can Draw” ได้รับการโหวตสูงสุด


โครงการสุดท้าย อยู่ในหมวดการศึกษา คือ โครงการ “เรียนรู้และถ่ายทอดศิลปะการละเล่นพื้นบ้านสำหรับผู้หญิงอาข่า” โดย “อาพี สะโง้” กลุ่มชาติพันธุ์สามเหลี่ยมทองคำ จ.เชียงราย โครงการนี้จะเน้นในเรื่องของการละเล่นพื้นบ้านของบรรดาผู้หญิงชาวเขาที่สืบทอดกันมาช้านาน แต่ปัจจุบันอาจจะเลือนหายไปจากชีวิตประจำวันและความทรงจำของชาวเขา
ดังนั้น นายอาพีจึงนำเอาการละเล่นในสมัยก่อน เช่น การละเล่นพื้นบ้าน เครื่องดนตรี การอื่อทา เป็นต้น ขึ้นมาเพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่จะเลื่อนหายไป ให้ผู้หญิงชาวเขาที่มีวิถีชีวิตที่ไม่ค่อยได้พบปะกับเพื่อนๆ ร่วมเผ่าเดียวกันเท่าไหร่ออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน พบปะพูดคุยเรื่องราวต่างๆ แลกเปลี่ยนความคิด เรื่องราวต่างๆ สร้างพื้นที่ความมีตัวตนในสังคมชาวเขา โดยใช้การละเล่นพื้นบ้านนี้เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์
ผู้หญิงในสังคมชาวเขาไม่มีบทบาทมากนักเมื่อเทียบกับผู้ชายซึ่งจะเป็นผู้นำในทุกด้าน ผลที่ได้นับจากโครงการนี้คือ เกิดการพบปะพูดคุยกันในหมู่ผู้หญิงชาวเขามากขึ้น มีการทำกิจกรรมออกกำลังกายร่วมกัน สร้างสัมพันธ์ให้เหนียวแน่ของคนในเผ่า รักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมไว้ไม่ให้เลื่อนหายไป
ในส่วนของทางผู้จัดงานได้เน้นในเรื่องของการสร้างพลัง และบทบาทของผู้หญิงที่สามารถพัฒนาสังคม และพัฒนาโลกใบนี้ไปได้เทียบเท่าผู้ชาย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในตัวผู้หญิงที่มีและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาล
นี่เป็นส่วนเล็กๆ ของผู้หญิงกลิ้งโลกไปข้างหน้า