ThaiPublica > เกาะกระแส > พลังผู้หญิง…กลิ้งโลกกลมๆ

พลังผู้หญิง…กลิ้งโลกกลมๆ

28 มีนาคม 2012


สำนักพิมพ์สามสีจัดสัมนาโครงการ “ผู้หญิงกลิ้งโลก” และมอบทุนสนับสนุนโครงการใน 4 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม การศึกษา ศิลปะเพื่อสังคม และสิทธิมนุษยชน เพื่อนำผลงานเหล่านี้ไปสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อชุมชน สังคม และโลก
สำนักพิมพ์สามสีจัดสัมนาโครงการ “ผู้หญิงกลิ้งโลก” และมอบทุนสนับสนุนโครงการใน 4 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม การศึกษา ศิลปะเพื่อสังคม และสิทธิมนุษยชน เพื่อนำผลงานเหล่านี้ไปสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อชุมชน สังคม และโลก

หากใครได้อ่าน “ผู้หญิงกลิ้งโลก” ของสฤณี อาชวานันทกุล ในคำนำของเธอได้กล่าวว่า “ในหลายประเทศที่ผู้หญิงเผชิญกับการกีดกันทางการเมือง กฎหมาย และวัฒนธรรม ไม่มีแม้สิทธิขั้นพื้นฐานที่ทัดเทียมผู้ชาย ตั้งแต่สิทธิในการได้รับการศึกษาไปจนถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็น บ่อยครั้งที่ผู้หญิงลุกขึ้นมาทวงสิทธิอันชอบธรรมของตัวเอง…และหมดสมัยแล้วที่จะถามว่าผู้หญิงทำอะไรได้ คำถามเดียวที่ยังอยู่คือ มีอะไรที่เธอยังไม่ได้ทำ…”

นี่คือพลังของผู้หญิง ที่กำลังกลิ้งโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2555 สำนักพิมพ์สามสีจัดสัมนาโครงการ “ผู้หญิงกลิ้งโลก” และมีการมอบทุนสนับสนุนให้กับโครงการที่เป็นประโยชน์กับสังคมในด้านต่างๆ ที่ถูกคัดเลือกจากคณะกรรมการ ซึ่งโครงการนี้เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักพิมพ์สามสี และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ภายในงานมีการจัดนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาในโครงการต่างๆ ที่ได้รับรางวัลในแต่ละสาขา และมีการจัดเวิร์คช็อปประดิษฐ์สิ่งของจากขยะทางทะเล ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับรางวัล

โครงการ “ผู้หญิงกลิ้งโลก” เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้หญิงได้ใช้ความรู้ ความสามารถ และศักยภาพที่มีอยู่ มีการให้ทุนสนับสนุนการทำงานใน 4 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม การศึกษา ศิลปะเพื่อสังคม และสิทธิมนุษยชน เพื่อนำผลงานเหล่านี้ไปสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อชุมชน สังคม และโลก

"รองเท้าที่หายไป" โครงการ The Missing Shoes
"รองเท้าที่หายไป" โครงการ The Missing Shoes
ขยะจากทะเลที่นำมาทำเป็นงานศิลปะ
ขยะจากทะเลที่นำมาทำเป็นงานศิลปะ
โครงการที่ชนะเลิศในหมวดศิลปะเพื่อสังคมคือ “โครงการ The Missing Shoes” ประติมากรรมรองเท้าที่หายไป โดย“กัญญารัตน์ โฆษะวิสุทธิ์”
โครงการที่ชนะเลิศในหมวดศิลปะเพื่อสังคมคือ “โครงการ The Missing Shoes” ประติมากรรมรองเท้าที่หายไป โดย“กัญญารัตน์ โฆษะวิสุทธิ์”

ในส่วนของโครงการที่ชนะเลิศในหมวดศิลปะเพื่อสังคมคือ “โครงการ The Missing Shoes” ประติมากรรมรองเท้าที่หายไป โดย “กัญญารัตน์ โฆษะวิสุทธิ์” กล่าวว่า เมื่อเปลือกหอยหายไปจากทะเล มีขยะจำพวกของเล่น เชือก แห อวน รองเท้า ฯลฯ เข้ามาแทนที่บนชายหาด ซึ่งผู้คนในท้องถิ่นก็มีการจัดกิจกรรมในการเก็บขยะ แต่ก็เพียงนำขยะเหล่านี้ไปฝังกลบเท่านั้น ประกอบกับตัวของผู้เขียนโครงการเองได้ทำงานกับองค์กรชื่อ “กรีนฟิน(Greenfins” ทำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางทะเลอยู่แล้ว และได้ไปดูงานที่ประเทศแอฟริกาก็มีปัญหาขยะทางทะเลเหมือนกับประเทศไทย จึงได้แรงบันดาลใจนำกลับมาสร้างโครงการนี้ที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่

“The Missing Shoes” เป็นโครงการที่ทำให้นักท่องเที่ยวตระหนักถึงขยะที่เกิดขึ้น และสร้างจิตสำนึกให้นักท่องเที่ยวผู้มาเที่ยวชมความงามของท้องทะเล เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวกลับไปกลับทิ้งขยะไว้ในทะเล เมื่อฤดูมรสุม มีขยะถูกพัดเข้ามายังชายหาดจำนวนมาก และประมาณ 20% ของจำนวนขยะ เป็นรองเท้าแตะที่บรรดานักท่องเที่ยวได้หลงลืมเอาไว้

ดังนั้น ตัวของโครงการจึงเกิดขึ้น มีการทำประดิษฐ์เป็นสิ่งของต่างๆ จากขยะในทะเลเพื่อลดปริมาณของขยะลง เช่น สร้อยคอ พวกกุญแจ พรม ฯลฯ นำมาขายให้กับนักท่องเที่ยว ณ ร้าน Loy-Lay Art & Gallery เพื่อเมื่อบรรดานักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมก็จะรู้ถึงต้นตอของวัสดุที่นำมาทำ

มีการเริ่มเก็บขยะในช่วงเดือนมรสุมในเดือนกันยายน-ตุลาคม ลองจินตนาการดู แค่ 5 วัน เก็บรองเท้าแตะได้ประมาณ 3,000 ข้าง ซึ่งรองเท้าแตะ 1 ข้าง สามารถนำมาทำสร้อยได้ 1 เส้น

ผลที่ได้รับจากการดำเนินโครงการนี้คือ นักท่องเที่ยวรับรู้ถึงที่มาที่ไปของขยะที่เป็นวัสดุตั้งต้นของเครื่องประดับหรือของใช้เหล่านี้ เมื่อนักท่องเที่ยวรู้และซื้อกลับไปเป็นของที่ระลึก ก็เป็นการสนับสนุนโครงการอีกแรงหนึ่ง เพื่อที่จะนำเงินไปจ้างชาวบ้านการเก็บขยะและดำเนินต่อไป

ส่วนผลในระยะยาวที่ผู้เขียนโครงการคาดหวังคือ ต้องการจะให้ผู้คนเล็งเห็นและตระหนักถึงขยะในปริมาณมหาศาลที่อยู่ในทะเล โดยที่มนุษย์เป็นผู้สร้าง

แกลอรี่แสดงผลงานโครงการ  แม้ลมหายใจสุดท้ายก็ไม่ท้อ
แกลอรี่แสดงผลงานโครงการ แม้ลมหายใจสุดท้ายก็ไม่ท้อ
โครงการ “แม้ลมหายใจสุดท้ายก็ไม่ท้อ” ได้รับรางวัลชนะเลิศในหมวดสิทธิมนุษยชน โดย พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง
โครงการ “แม้ลมหายใจสุดท้ายก็ไม่ท้อ” ได้รับรางวัลชนะเลิศในหมวดสิทธิมนุษยชน โดย พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง

ต่อมาคือโครงการ “แม้ลมหายใจสุดท้ายก็ไม่ท้อ” ได้รับรางวัลชนะเลิศในหมวดสิทธิมนุษยชน โดย พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการต่อยอดมาจากโครงการศิลปะบำบัดของผู้เขียนโครงการเอง ที่ทำอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลเด็กก่อนแล้ว ด้วย พญ.พัชรินทร์เห็นว่าบรรดาเด็กที่ป่วยและต้องใช้เวลาอยู่พักรักษาตัวที่โรงยาบาลเป็นเวลานาน ขาดโอกาสในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ และสิ่งสำคัญคือ การศึกษา

จึงเริ่มดำเนินโครงการด้วยตัวเองก่อน เริ่มแรกจึงเป็นเพียงรถเข็นห้องสมุด เพื่อที่จะเข็นหนังสือและสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ไปมอบให้เด็กๆ ผู้ป่วยได้อ่านกัน สิ่งที่ได้กลับมาคือความตื่นเต้นและความสนใจของเด็กๆ ในการได้อ่านหนังสือ เมื่อมองเห็นปัญหาเหล่านี้ ประกอบกับมีโครงการผู้หญิงกลิ้งโลก พญ.พัชรินทร์จึงได้เขียนโครงการ “แม้ลมหายใจสุดท้ายก็ไม่ท้อ” ขึ้นมา

กิจกรรมในโครงการนี้มีตั้งแต่การอ่านหนังสือ การทำงานศิลปะของเด็กผู้ป่วย มีชมรมคณิตศาสตร์ ภาษาไทย สังคมศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และศิลปะเกิดขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่เด็กๆ ที่ขาดโอกาสในการเรียนเพราะต้องเข้ารับการรักษาโรคที่เป็นอยู่

พญ.พัชรินทร์เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ ผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการนี้ว่า “เด็กๆ ดูมีความสุขขึ้น แต่ก่อนเวลานอนโรงพยาบาล เด็กเหล่านี้จะหมดสิทธิในการเรียนหนังสือ หมดสิทธิในการสอบ หมดสิทธิในการเรียนรู้สังคม แต่เมื่อมีโครงการนี้เกิดขึ้น เด็กมีกิจกรรมก็สามารถที่จะพูดคุยกับคนรอบข้างมากขึ้น และในระยะยาวก็คงจะดำเนินโครงการนี้ต่อไปเพื่อเด็กผู้ป่วยที่จะมีโอกาสเรียนรู้อย่างเด็กๆ ทั่วไป และหาช่องทางที่จะต่อยอดพัฒนาโครงการให้ดียิ่งขึ้นไป”

Popular Vote จาก Facebook ของโครงการผู้หญิงกลิ้งโลก คือ โครงการ “Anyone Can Draw ใครๆ ก็วาดได้” โดย” กิตติอาภา ปุรณะพรรค์”
Popular Vote จาก Facebook ของโครงการผู้หญิงกลิ้งโลก คือ โครงการ “Anyone Can Draw ใครๆ ก็วาดได้” โดย” กิตติอาภา ปุรณะพรรค์”

อีกโครงการที่ได้รับรางวัล Popular Vote จาก Facebook ของโครงการผู้หญิงกลิ้งโลกwww.facebook.com/worldrollers คือ โครงการ “Anyone Can Draw ใครๆ ก็วาดได้” โดย “กิตติอาภา ปุรณะพรรค์” เดิมเรียนอยู่ที่คณะวิศวะกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อโครงการของทางมหาวิทยาลัยหาอาสาสมัครไปช่วยดูแลเด็กที่พิการ “กิตติอาภา” จึงสนใจเข้าร่วมโครงการที่โรงเรียนสอนเด็กพิการโดยเฉพาะ ทำให้เห็นว่าจำนวนของผู้พิการในไทยมีถึง 1,871,860 คน แต่ที่น่าตกใจและเป็นปัญหาของคนพิการคือ 64% ของผู้พิการเป็นผู้ที่ไม่มีงานทำ หรือเงินเดือนต่ำกว่า 4,000 บาทต่อเดือน เนื่องจากในสังคมไทยยังไม่เปิดโอกาสให้คนพิการเข้าทำงาน

ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างอาชีพให้กับผู้พิการที่ไม่มีโอกาสได้ทำงานอย่างบุคคลธรรมดา และหาอาชีพให้คนพิการทำด้วย เนื่องด้วย “กิตติอาภาและกลุ่มเพื่อน” ถนัดในเรื่องของการเขียนการ์ตูน และเล็งเห็นว่ามีการลงทุนน้อย เป็นอาชีพที่ไม่ค่อยเหลื่อมล้ำระหว่างของคนพิการและคนปกติ

กิจกรรมในโครงการคือ มีการนำนักวาดการ์ตูนอาชีพมาสอนเด็กพิการถึงโรงเรียน สอนทักษะการวาดการ์ตูน ในเรื่องของคุณภาพในการวาดภาพของเด็กพิการถือได้ว่าสวยไม่แพ้คนปกติ แต่โครงการนี้ไม่ใช่แค่จะสร้างอาชีพอย่างเดียว แต่จะเน้นรวมไปถึงการหางานให้กับคนพิการด้วย และสามารถประกอบอาชีพได้จริง เมื่อโครงการผู้หญิงกลิ้งโลกเปิดให้ผู้คนทั่วไปโหวตโครงการที่ชื่นชอบ โครงการ “Anyone Can Draw” ได้รับการโหวตสูงสุด

เด็กอาข่า โชว์การแสดงพื้นบ้านบนเวที
เด็กอาข่า โชว์การแสดงพื้นบ้านบนเวที
โครงการ “เรียนรู้และถ่ายทอดศิลปะการละเล่นพื้นบ้านสำหรับผู้หญิงอาข่า” โดย”อาพี สะโง้” กลุ่มชาติพันธุ์สามเหลี่ยมทองคำ จ.เชียงราย
โครงการ “เรียนรู้และถ่ายทอดศิลปะการละเล่นพื้นบ้านสำหรับผู้หญิงอาข่า” โดย”อาพี สะโง้” กลุ่มชาติพันธุ์สามเหลี่ยมทองคำ จ.เชียงราย

โครงการสุดท้าย อยู่ในหมวดการศึกษา คือ โครงการ “เรียนรู้และถ่ายทอดศิลปะการละเล่นพื้นบ้านสำหรับผู้หญิงอาข่า” โดย “อาพี สะโง้” กลุ่มชาติพันธุ์สามเหลี่ยมทองคำ จ.เชียงราย โครงการนี้จะเน้นในเรื่องของการละเล่นพื้นบ้านของบรรดาผู้หญิงชาวเขาที่สืบทอดกันมาช้านาน แต่ปัจจุบันอาจจะเลือนหายไปจากชีวิตประจำวันและความทรงจำของชาวเขา

ดังนั้น นายอาพีจึงนำเอาการละเล่นในสมัยก่อน เช่น การละเล่นพื้นบ้าน เครื่องดนตรี การอื่อทา เป็นต้น ขึ้นมาเพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่จะเลื่อนหายไป ให้ผู้หญิงชาวเขาที่มีวิถีชีวิตที่ไม่ค่อยได้พบปะกับเพื่อนๆ ร่วมเผ่าเดียวกันเท่าไหร่ออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน พบปะพูดคุยเรื่องราวต่างๆ แลกเปลี่ยนความคิด เรื่องราวต่างๆ สร้างพื้นที่ความมีตัวตนในสังคมชาวเขา โดยใช้การละเล่นพื้นบ้านนี้เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์

ผู้หญิงในสังคมชาวเขาไม่มีบทบาทมากนักเมื่อเทียบกับผู้ชายซึ่งจะเป็นผู้นำในทุกด้าน ผลที่ได้นับจากโครงการนี้คือ เกิดการพบปะพูดคุยกันในหมู่ผู้หญิงชาวเขามากขึ้น มีการทำกิจกรรมออกกำลังกายร่วมกัน สร้างสัมพันธ์ให้เหนียวแน่ของคนในเผ่า รักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมไว้ไม่ให้เลื่อนหายไป

ในส่วนของทางผู้จัดงานได้เน้นในเรื่องของการสร้างพลัง และบทบาทของผู้หญิงที่สามารถพัฒนาสังคม และพัฒนาโลกใบนี้ไปได้เทียบเท่าผู้ชาย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในตัวผู้หญิงที่มีและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาล

นี่เป็นส่วนเล็กๆ ของผู้หญิงกลิ้งโลกไปข้างหน้า