ThaiPublica > คนในข่าว > กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ส่วนกลางต้องทำน้อยๆ สร้าง Vertical fiscal balance ภารกิจกับเงินต้องสมดุล

กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ส่วนกลางต้องทำน้อยๆ สร้าง Vertical fiscal balance ภารกิจกับเงินต้องสมดุล

9 ตุลาคม 2011


ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการกระจายรายได้ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

ตั้งแต่เริ่มบังคับใช้พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่สู่องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) เมื่อปี 2542 ซึ่งมีเป้าหมายจัดสรรรายได้ให้ท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 35 % ของรายได้รัฐภายในปี 2549 แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลขอผ่อนผันเลื่อนระยะเวลาออกไปอีก

ความล่าช้าที่เกิดขึ้นมักถูกโยนไปที่ความไม่พร้อมของ “ท้องถิ่น” มากกว่า “ส่วนกลาง” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุคลากร ภารกิจและเงิน แต่ปัญหาดังกล่าวกล่าวไม่ควรถูกนำมาเป็นข้ออ้างกลายเป็นอุปสรรคของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

ต่อประเด็นดังกล่าว ดร. ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการกระจายรายได้ให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความเห็นว่ากระจายอำนาจต้องยึดหลักการคือให้รัฐบาลกลางทำงานน้อยลง เมื่อทำงานน้อยลงก็ต้องได้เงินได้ลง หลักการนี้เรียกว่า Vertical fiscal balance คือภารกิจกับเงินต้องสมดุลกัน

เพิ่มรายได้ท้องถิ่นเป็น 35 % ในปี 2559

ปัจจุบันภารกิจท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต ดังนั้นเม็ดเงินต้องเพิ่มขึ้นตามด้วย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการจัดสรรรายได้ให้ท้องถิ่นมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 35 % ของรายได้รัฐบาล ทีมที่ปรึกษาคณะกรรมการกระจายรายได้ฯ จึงเตรียมจะนำเสนอแผนการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นให้คณะกรรมการกระจายรายได้ฯ พิจารณาในการประชุมนัดแรกของรัฐบาลชุดนี้ เพื่อผลักดันให้ได้ตามแผนเดิมที่ตั้งไว้คือ รัฐบาลต้องจัดสรรรายได้ให้ท้องถิ่นมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 35 % ของรายได้ภายในปี 2559

ข้อเสนอที่ทำไว้คือ ให้รัฐบาลจัดสรรรายได้ให้ท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเป็น 28 % ของรายได้รัฐให้ได้ภายในปี 2555 และทะยอยปรับเป็น 30 % 32 % 34 % และ 35 % ในปี 2559 จากปัจจุบันรัฐบาลจัดสรรรายได้ให้ท้องถิ่นประมาณ 26 % ของรายได้รัฐบาล

“การปรับการจัดสรรรายได้ให้ท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเป็น 28 % ถือว่ากระโดดพอสมควร แต่มีความจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการปรับเพิ่มขึ้นปีละ 2% น่าจะพอไหวอยู่ในวิสัยที่น่าจะทำได้”

ทั้งนี้ การจัดสรรรายได้ท้องถิ่น 35 % ของรายได้รัฐบาลประกอบด้วยรายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง ภาษีแบ่งจากที่รัฐบาลจัดเก็บให้และเงินอุดหนุน (เงินอุดหนุนทั่วไปกับเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ)

ดร.ดิเรกมีความเห็นว่า แหล่งรายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเองและที่รัฐจัดเก็บ กฎหมายดั้งเดิมแบ่งไม่เป็นธรรมคือ รัฐเก็บได้ 100 แบ่งให้ส่วนกลางได้ 90 แต่ท้องถิ่นได้ 10 ซึ่งอาจยอมรับได้ในช่วงนั้นเพราะเกิดขึ้นในยุครวมศูนย์อำนาจ แต่ขณะนี้ควรปรับเป็นส่วนกลาง 70 และท้องถิ่น 30 เพราะท้องถิ่นสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้ดีที่สุด ซึ่งพิสูจน์มาทั่วโลกแล้ว แม้แต่ประเทศไทยหากดูช่วง 10 ที่ผ่านมาจะเห็นว่าบริการสาธารณะ และความเจริญดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมากเมื่อเทียบกับการบริการที่ให้ส่วนกลางบริหารมา 100 ปี

ในต่างประเทศท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บรายได้ค่อนข้างสูง แม้แต่จีนยังให้อำนาจท้องถิ่นจัดเก็บรายได้ถึง 40 % กรณีไทยควรให้อำนาจท้องถิ่นเก็บได้มากขึ้นเป็น 30 % ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในร่างประมวลกฎหมายท้องถิ่น ขณะนี้อยู่ในรัฐสภาแล้ว น่าเสียดายที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่ได้ทำในเรื่องนี้ เพราะถ้ากฎหมายนี้ออกมาจะทำให้ที่มาของรายได้ท้องถิ่นเปลี่ยนคือ สัดส่วนการจัดเก็บภาษีจะมากขึ้น

“ถ้าแบ่ง 70:30 จะทำให้ภาษีแบ่งมากขึ้น แต่เงินอุดหนุนน้อยลงซึ่งไม่เป็นไร เพราะเงินภาษีแบ่งดีกว่า เงินอุดหนุนไม่มีอิสระ”

แฉ “หักหัวคิว” เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ

ดร.ดิเรกอธิบายเพิ่มเติมว่า เงินอุดหนุนทั่วไปท้องถิ่นจะได้ 100 % ในส่วนนี้คณะกรรมการกระจายอำนาจฯ เป็นผู้สั่งจ่าย แต่เงินอุดหนุนเฉพาะกิจต้องเสนอโครงการยื่นขอไปที่กรมส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตรงนี้แหละที่จะ “หักหัวคิว” เพราะมีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องและกระบวนการจะเกิดขึ้นได้ส่วนใหญ่จะมีหน้าม้า

ตัวอย่างเช่น สมมติว่าองค์การบริหารตำบล (อบต.) แห่งหนึ่งต้องการทำโครงการสักโครงการหนึ่งเสนอกรมส่งเสริมฯ ในวงเงิน 10 ล้านบาท ขั้นตอนนี้อาจมีหน้าม้ามาบอกอบต. ว่าทำโครงการวงเงินให้เท่านี้ แต่เม็ดเงินที่ใช้ในโครงการจริงๆ อาจอยู่ที่ 7-8 ล้านบาท คือเป็นเกมส์ที่รู้ทั้งรู้ว่าวงเงินที่เสนอมากกว่าความเป็นจริง แต่ก็เสนอไปก่อนดีกว่าไม่ได้ จุดนี้ทำให้เกิดการคอรัปชั่นซึ่งเป็นคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นจากส่วนกลาง ดังนั้น ถ้าไม่มีตรงนี้หรือกระบวนการตรงนี้ออกไปก็จะแก้ปัญหาได้เปลาะหนึ่ง

ดร.ดิเรกเสนอว่า สมาพันธ์ท้องถิ่นควรทำหน้าที่กำกับควบคุมท้องถิ่นด้วยกันเองแทนกรมส่งเสริมฯ แต่แนวคิดนี้เป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากติดกฎหมายงบประมาณ พ.ศ. 2502 ในมาตรา 4 ระบุนิยามหน่วยที่จะขอรับเงินคือ กรมฯ (กรมส่งเสริมองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น) ดังนั้นกรมฯ จะเป็นหน่วยงานที่ทำเรื่องขอเงิน

เพราะฉะนั้นกรมฯ อาจทำเรื่องขอเงิน 1.8 แสนล้านบาทซึ่งจริงๆ อาจเป็นในส่วนของเงินของกรมฯ 4 แสนบาท ที่เหลือเป็นในส่วนของท้องถิ่น ประเด็นตรงนี้นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่าควรแก้มาตรา 4 ใน พ.ร.บ. งบประมาณ พ.ศ. 2502 โดยระบุให้กรมและอปท. ขอรับเงินได้ กล่าวคือสำนักงบประมาณเป็นหน่วยงานจัดสรรเงิน กรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานโอนเงินก็ให้โอนผ่านตรงไปอปท. จากปัจจุบันที่กรมบัญชีกลางจะโอนเงินผ่านตรงไปอปท. เฉพาะบางเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมาย

“เงิน 1.8 แสนล้านบาทเมื่อเข้าไปที่กรมฯ ทางกรมฯ สามารถบริหารจัดการหักหัวคิวได้และจุดที่หักหัวคิดได้คือเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ จริงๆ แล้วการแก้มาตรการ 4 เคยมีการเสนอกันในสมัยปี 50-51”

ท้องถิ่น “คอรัปชั่น” น้อยกว่าส่วนกลาง

ในกรณีกล่าวหาว่าท้องถิ่นมีความไม่พร้อมในการบริหารจัดการเงิน และมีการทุจริตยากต่อการควบคุม จึงไม่ควรได้รับการจัดสรรรายได้ และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากเกินไปนั้น ดร.ดิเรกชี้แจงในประเด็นนี้โดยยกผลการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่พบว่าท้องถิ่นคอรัปชั่นน้อยกว่าส่วนกลาง

โดยในปี 2550 สตง.ตรวจสอบหน่วยราชการทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค รัฐวิสาหกิจและท้องถิ่น พบหลักฐานจากการประเมินแล้วเสียหาย เช่น ใช้จ่ายมากเกินไป เก็บรายได้ที่ควรเก็บแล้วไม่เก็บ ระบุเป็นตัวเงินรวม 7 พันกว่าล้านบาท ซึ่งท้องถิ่นที่ถูกสุ่มตรวจสอบ 1,000 แห่ง ถูกระบุว่ามีความเสียหายประมาณ 4-5 ร้อยล้านบาทซึ่งน้อยกว่า 10 % ของความเสียหายรวม

“ถ้าใช้หลักอนุมานทางสถิติปัจจุบันท้องถิ่นใช้เงิน 25 % ของงบประมาณกลาง ถ้าโกงเท่ากันหรือความเสียหายเท่ากัน ก็ควรจะเจอ 1-2 พันล้านบาท นี่คือตัวพิสูจน์ได้ดีที่สุด ไม่ใช่ลอยๆ ที่พูดกันทั่วไปอาจเห็นจริงมาจากสัก 1 ตัวอย่างหรือ 5 ตัวอย่าง”

จากข้อมูลของสตง. ซึ่งเผยแพร่สู่สาธารณะอยู่เป็นระยะๆ ได้ตีแผ่ข้อบกพร่องในการจัดซื้อจัดจ้างของอบจ. และเทศบาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาทิ ในปี 2545 พบ 346 หน่วยงาน เป็นกรณีเหตุอันควรสงสัยทุจริตหรือปฏิบัติผิดข้อกำหนด กฎระเบียบและกฎหมายใน อบจ. และเทศบาล 36 เรื่อง มีการเรียกงบประมาณคืน 14 หน่วยงาน มูลค่าที่เรียกคืน 3.13 ล้านบาท

ในปี 2546 สตง. ตรวจพบข้อบกพร่องรวม 285 หน่วยงาน แยกเป็นเหตุอันควรสงสัยทุจริตหรือปฏิบัติผิดข้อกำหนด กฎระเบียบ และกฎหมายใน อบจ. และเทศบาล 40 เรื่อง เป็นกรณีเรียกคืนงบประมาณ 14 หน่วยงาน มูลค่าที่เรียกเงินคืน 8.71 ล้านบาท

ในปี 2547 พบข้อบกพร่องรวม 351 หน่วยงาน เป็นเหตุอันควรสงสัยทุจริตหรือปฏิบัติผิดข้อกำหนด กฎระเบียบ และกฎหมายใน อบจ. และเทศบาล 126 เรื่อง เป็นกรณีเรียกคืนงบประมาณ 22 หน่วยงาน มูลค่าที่เรียกเงินคืน 21.29 ล้านบาท

ปี 2548 สตง. พบข้อบกพร่องรวม 418 หน่วยงาน เป็นเหตุอันควรสงสัยทุจริตหรือปฏิบัติผิดข้อกำหนด กฎระเบียบ และกฎหมายใน อบจ. และเทศบาล 58 เรื่อง เป็นกรณีเรียกคืนงบประมาณ 21 หน่วยงาน มูลค่าที่เรียกเงินคืน 106.89 ล้านบาท

ขณะที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) รายงานรายงานผลการเร่งรัดติดตามเงินขาดบัญชี หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต ในปีงบประมาณ 2552 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551-30 กันยายน 2552 ว่ามีจำนวนเรื่องร้องเรียนการทุจริตทั้งหมด 335 เรื่อง คิดเป็นค่าเสียหาย 1,754 ล้านบาท โดยหน่วยงานที่มีผู้ร้องเรียนมากที่สุดคือองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีทั้งสิ้น 139 เรื่อง คิดเป็นเงินค่าเสียหาย 519 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลทุจริตในกระทรวงหรือหน่วยงานต่างๆ รวบรวมโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งแต่ปี 2543-2548 พบว่า มีการกล่าวหาร้องเรียนว่า เจ้าหน้าที่กระทาการทุจริตเกือบทุกกระทรวง ถูกกล่าวหามากที่สุด ลำดับที่ 1 ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย 9,317 เรื่อง ลำดับที่ 2 ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ 1,387 เรื่องลำดับที่ 3 ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1,247 เรื่อง ลำดับที่ 4 และ 5 ได้แก่ กระทรวงคมนาคม 907 เรื่องและกระทรวงการคลัง 671 เรื่อง

เช่นเดียวกับข้อมูลของสตง. ซึ่งตรวจพบว่า ในปี 2550 เพียงปีเดียว มีเรื่องเงินขาดบัญชีและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตมากถึง 1,128 เรื่อง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 9,623,680,277 บาท โดยหน่วยงานที่มีเรื่องการทุจริตมากที่สุดคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 428 เรื่อง แต่หากตรวจสอบดูยอดความเสียหายที่เป็นจำนวนเงินพบว่า เป็นการทุจริตที่เกิดขึ้นในรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคมซึ่งความเสียหายมากถึง 7,017,286,152 บาท

แนะดึงคนนอก-มืออาชีพตรวจสอบงบ

ที่ปรึกษาคณะกรรมการกระจายรายได้ฯ มองว่า การแก้ปัญหาอปท. ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมีระบบ”ตรวจสอบภายใน” ของท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันตรวจสอบภายในอ่อนแอ เพราะบางพื้นที่มีคนน้อย แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ประเด็นหลัก สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากระบบปัจจุบันส่วนใหญ่จะให้ปลัดเทศบาล หรือปลัดอบต. เป็นประธาน และมีการตีความแบบโบราณ คือตรวจสอบภายในหมายถึง คนในเท่านั้น แต่จริงๆ ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนคนนอกเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

นอกจากนี้ต้องมีระเบียบวางไว้ให้ดี เช่น คณะกรรมการตรวจสอบภายในมี 8 คนควรให้คนนอกเป็นประชาชน 6 คน และกำหนดให้ประชุมอย่างน้อยปีละ 5-6 ครั้งจากปัจจุบันประชุมปีละ 1-2 ครั้งและคณะกรรมการควรมีระยะเวลาการทำงาน 2-3 ปี เพื่อให้เขามีประสบการณ์ อีกประเด็นหนึ่งคือให้เลือกมาจากประชาชน ไม่ใช่นายกเทศบาลหรือนายก อบต. เป็นคนเลือกมา ถ้าเป็นไปได้ในอนาคตการเลือกเทศบาลอาจให้มีรายชื่อปาร์ตี้ลิส 10 คนเพื่อให้มาเป็นคณะกรรมการตรวจสอบภายใน

“เรื่องการตรวจสอบทุกคนไปฝากความหวังกับการตรวจสอบภายนอกเป็นหลัก ซึ่งทำได้น้อยมากเพราะสตง.สุ่มตัวอย่างเพียง 10-15% หลายๆ ดังนั้นหลายๆ แห่งไม่เคยตรวจสอบเลย เพราะสตง.ไปไม่ถึง และการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำงบประมาณ จุดที่ดีที่สุดคือให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบภายใน”

ดร.ดิเรกระบุว่า สถาบันพระปกเกล้า โดยรองศาสตราจารย์อรทัย ก๊กผล ได้เขียนงานวิจัยซึ่งมีแนวคิดแบบฝรั่งคือ ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและมีการยกร่างพรบ. การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการบริหารจัดการท้องถิ่น ซึ่งเห็นว่าการจะมีส่วนร่วมที่ดีที่สุดคือ ตรงรายจ่าย เพราะจริงๆ แล้วตรวจสอบรายจ่ายมีอำนาจดีกว่าตรวจสอบภายนอก

อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบ ดร.ดิเรกมีแนวคิดว่า ถ้าท้องถิ่นมีองค์กรขนาดใหญ่ เช่นมีงบประมาณเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป ควรใช้นักบัญชีบัญชีมืออาชีพ หรือบริษัทที่ปรึกษามาช่วยตรวจสอบงบการเงิน การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุ เมื่อเจอปัญหาเขาจะได้มีคำแนะนำ ตรงนี้อาจมมีค่าใช้จ่าย 2-3 แสนบา แต่เชื่อว่าคุ้มและน่าจะลดความเสี่ยงการทุจริต มาอุดรูรั่วได้อีกทางหนึ่ง

“กรณีท้องถิ่นที่มีองค์กรขนาดเล็ก มีคนไม่มาก เพราะเป็นหน่วย ก็อาจใช้วิธีให้นักบัญชีประจำการเงิน มีตำแหน่งหรือทำหน้าที่เสริมให้ช่วยตรวจสอบงบการเงินเพิ่มขึ้นด้วย”

เงินฝากเพิ่มสูงไม่ผิดปกติ ค้านดึงเงินกลับส่วนกลาง

สำหรับประเด็นเงินฝากของท้องถิ่นที่อยู่ระดับกว่า 2 แสนล้านบาท ในบางมุมมองวิพากษ์วิจารณ์ว่าสะท้อนการไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารเงิน แต่ ดร.ดิเรกมองต่างว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพราะท้องถิ่นต้องมีเงินออม และปกติทั่วไปต้องมีเงินสะสมกันเป็นสภาพคล่องประมาณ 20 % ที่สำคัญเงินฝากของท้องถิ่นซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณ 6 แสนกว่าล้านบาทในปี 2544 เป็น 2 แสนกว่าล้านบาทในปี 2553 สอดคล้องกับงบประมาณหรือเงินที่ท้องถิ่นได้จัดสรร

กล่าวคือตอนปี 2544 ท้องถิ่นมีงบประมาณไม่ถึง 1 ล้านบาท แต่ตอนนี้มีงบประมาณ 4-5 แสนล้านบาท ดังนั้นเงินฝากเพิ่มขึ้น 4-5 เท่าก็ถูกแล้วและเงินฝาก 2 แสนล้านบาท ถ้ากระจายเฉลี่ยตามจำนวนท้องถิ่นประมาณเกือบ 8 พันแห่ง ก็จะเห็นว่าแต่ละแห่งมีเงินฝากไม่กี่ล้านบาท

นอกจากนี้ องค์ประกอบของเงินฝากอปท. ที่ค้างอยู่ในธนาคารพาณิชย์มีทั้งเงินสะสมที่มีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ ซึ่งส่วนนี้นี้จะคล้ายเงินออม มีเงินค้ำประกันสัญญาที่เกิดจากการที่อปท. ทำสัญญาว่าจ้างเอกชนในโครงการต่างๆ อปท. จะเรียกเก็บเงินไว้ก่อน หากเอกชนทำงานไม่ได้ตามเป้าหมาย อปท. ก็จะยึดเงินส่วนนี้ไว้ แต่ถ้าหากเอกชนทำงานได้ตรงตามเป้าหมาย อปท. ก็จะต้องคืนเงินส่วนนี้ให้แก่เอกชน

รวมถึงเงินรอจ่ายเพื่อทำสัญญาก็อยู่ในเงินฝาก เนื่องจากมีระเบียบของกระทรวงมหาดไทยว่า อปท. จะต้องมีเงินเข้ามาที่อปท. ก่อนจึงจะทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ หากยังไม่ไดรั้บเงินมา อปท. จะไม่สามารถทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ซึ่งแตกต่างจากรัฐบาลกลางที่สามารถทำสัญญาไปก่อนที่จะมีเงินเข้ามาได้ แต่ขั้นตอนการทำสัญญาต้องใช้เวลา จึงทำให้อปท. ต้องเก็บเอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีการทำสัญญาเสร็จสิ้น อปท. จึงไม่สามารถใช้เงินจำนวนนี้ออกไปได้ทันที

“เงินฝากอปท. ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการที่อปท. ไม่เร่งใช้จ่าย แต่เกิดจากกฎระเบียบขั้นตอนการใช้เงินและสภาพการใช้จ่ายจริงของอปท. เป็นสาเหตุสำคัญ”

ดังนั้นกรณีมีข้อเสนอจากกระทรวงการคลังให้ดึงเงินกลับเข้าส่วนกลาง ดร. ดิเรกมองว่า ไม่ถูกต้องและไม่เห็นด้วย ที่สำคัญจะเอาอำนาจอะไรดึงเงินท้องถิ่นกลับไป และถ้าดูตัวเลขกันจริงๆ ก็จะพบว่าเงินฝากอปท. จำนวนมากเป็นเงินที่มีสัญญาที่รอจ่าย ไม่ใช่เงินฟรีหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นสภาพคล่องที่รอจ่าย การคิดจะดึงเงินกลับจึงเป็นการมองด้านเดียวซึ่งไม่ถูกต้องและวิธีคิดแบบนี้ ไม่ใช่กระจายรายได้แต่เป็นแบบผูกขาดเท่ากับไม่บริหารความเสี่ยง

“คงต้องโทษความไม่ดีของระบบที่ทำให้ส่วนกลางเกิดความไม่ว่างใจท้องถิ่น แต่ถ้ามองแง่นี้ผมก็ไม่ไว้ใจส่วนกลางได้เช่นกันซึ่งส่วนตัวผมไว้ใจข้างล่างหรือท้องถิ่นมากกว่าส่วนกลาง ดังนั้นมันแล้วแต่มุมมอง”