ThaiPublica > เกาะกระแส > สตง.สุ่มตรวจ อปท. 71 แห่ง พบ 51 แห่ง เก็บ “ค่าขยะ” ไม่ครบ – 67 แห่ง ขาดทุนปีละ 4,000 ล้าน

สตง.สุ่มตรวจ อปท. 71 แห่ง พบ 51 แห่ง เก็บ “ค่าขยะ” ไม่ครบ – 67 แห่ง ขาดทุนปีละ 4,000 ล้าน

13 พฤษภาคม 2021


นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

สตง.สุ่มตรวจ อปท. 71 แห่ง พบ 51 แห่ง เก็บ “ค่าขยะ” ไม่ครบถ้วน – ทุกแห่งไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียม “ขยะพิษ” – 67 แห่ง ขาดทุนปีละ 4,000 ล้าน ทำให้รัฐต้องจัดงบอุดหนุนเพิ่มขึ้นทุกปี แจ้งผู้ว่าฯทั่วประเทศ-อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เร่งแก้ไขด่วน

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมการเก็บและขนมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในปีงบประมาณ 2562 โดยสุ่มตรวจสอบ อปท.จำนวน 71 แห่ง ในพื้นที่ 70 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ อปท.ให้ความสำคัญและเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมการเก็บและขนมูลฝอยได้อย่างครบถ้วน ทั่วถึง และเป็นธรรม รวมถึงเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง จากการตรวจสอบมีข้อตรวจพบที่สำคัญ ดังนี้

1. การจัดทำประมาณการรายได้ค่าธรรมเนียมการเก็บและขนมูลฝอยไม่ครอบคลุมจำนวนครัวเรือนที่ อปท. ให้บริการเก็บและขนมูลฝอย

จากการตรวจสอบพบว่า อปท.จำนวน 67 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 94.37 จัดทำประมาณการรายได้ค่าธรรมเนียมไม่ครอบคลุมจำนวนครัวเรือนที่ให้บริการเก็บและขนมูลฝอย โดยรายได้ที่จัดเก็บได้จริงไม่สัมพันธ์กับการจัดทำประมาณการรายได้ เช่น อปท. จำนวน 35 แห่ง ตั้งประมาณการรายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไว้เท่ากับปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 แต่จัดเก็บรายได้จริงได้ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ถึง 13 แห่ง นอกจากนี้ ยังพบว่า อปท.จำนวน 51 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 71.83 สามารถระบุข้อมูลจำนวนครัวเรือนที่ให้บริการเก็บ และขนมูลฝอยได้ แต่ไม่สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ จากครัวเรือนที่ให้บริการได้อย่างครบถ้วน ในขณะที่ อปท. จำนวน 20 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 28.17 ไม่สามารถระบุจำนวนครัวเรือนที่ให้บริการเก็บและขนมูลฝอย และจำนวนครัวเรือนที่สามารถจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียม ฯได้ เนื่องจากไม่ได้จัดทำฐานข้อมูลหรือทะเบียนคุมผู้อยู่ในข่ายต้องชำระค่าธรรมเนียมอย่างครบถ้วน ทั้งนี้ วงเงินของการประมาณการรายได้เป็นตัวกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย งบประมาณรายได้จึงควรเป็นจำนวนที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เพราะหากการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่ารายได้ที่ประมาณการจะส่งผลให้การจัดเก็บไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และเสียโอกาสในการนำเงินรายได้ค่าธรรมเนียมฯ ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาด้านการบริหารจัดการเก็บและขนมูลฝอยหรือด้านอื่น ๆ

2. การจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมการเก็บและขนมูลฝอยของ อปท. ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้

  • การจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนคุมเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน และไม่เป็นปัจจุบันจำนวน 57 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 80.28 เช่น ไม่ได้จัดทำทะเบียนคุมผู้ใช้บริการเก็บและขนมูลฝอยและทะเบียนคุมลูกหนี้ผู้อยู่ในข่ายต้องชำระค่าธรรมเนียมการเก็บและขนมูลฝอย ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการชำระค่าธรรมเนียมครบถ้วนและครอบคลุมครัวเรือนผู้ใช้บริการหรือไม่ รวมทั้งผู้จัดเก็บค่าธรรมเนียมจัดเก็บและนำส่งครบถ้วนหรือไม่ การไม่วิเคราะห์เปรียบเทียบและจัดทำทะเบียนคุมดังกล่าว ทำให้ขาดเครื่องมือในการควบคุมและตรวจสอบการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ส่งผลกระทบให้เกิดความเสี่ยงที่จะจัดเก็บไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน และไม่เกิดประสิทธิภาพ
  • การจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมไม่เป็นไปตามอัตราที่ประกาศในท้ายเทศบัญญัติจำนวน 38 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 53.52 เช่น มีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามประเภทของที่อยู่อาศัยหรือสถานประกอบการ ทั้งที่ตามเทศบัญญัติได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามประเภทและปริมาณขยะ
  • นอกจากนี้ ยังพบกรณีการจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมการเก็บและขนมูลฝอยไม่ครบถ้วนครอบคลุม ทุกครัวเรือนที่ให้บริการ การจัดทำหลักฐานการรับเงินมีรายละเอียดไม่ครบถ้วนและการนำส่งเงินไม่เป็นไปตามระเบียบ หรือ มีการบันทึกรายการบัญชีไม่ถูกต้องและไม่เป็นปัจจุบัน ตลอดจนการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมไม่ครอบคลุมทุกประเภทของผู้รับบริการ

    3. อปท.ส่วนใหญ่มีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมแนบท้ายประกาศแตกต่างกันและไม่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ และการจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการมูลฝอย

    จากการตรวจสอบพบว่า อปท.จำนวน 64 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 90.14 ใช้เทศบัญญัติที่ประกาศไว้ก่อนปี พ.ศ. 2559 ทั้งที่กฎกระทรวงว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการเก็บขนและกำจัดสิ่งปฏิกูล หรือ มูลฝอย และอัตราค่าธรรมเนียมอื่น พ.ศ. 2538 และ 2545 ที่ อปท.ใช้อ้างอิงดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และยังพบความแตกต่างในการกำหนดค่าธรรมเนียม เช่น มีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมจัดเก็บประเภทมูลฝอยทั่วไปสำหรับบ้านเรือน กรณีปริมาณมูลฝอยไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน ตั้งแต่เดือนละ 5 บาท ถึง 40 บาท ทั้งที่กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตหนังสือรับรองการแจ้งและการให้บริการในการจัดการ สิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. 2559 ซึ่งใช้สำหรับอ้างอิงการเก็บค่าธรรมเนียมในปี 2562 กำหนดให้จัดเก็บได้ถึงเดือนละ 65 บาท นอกจากนี้ ยังพบว่า อปท.ทั้งหมด 71 แห่ง ไม่มีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บประเภทมูลฝอยที่เป็นพิษอันตรายจากชุมชน ทั้งที่เป็นการจัดเก็บที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าปกติเนื่องจากต้องจัดเก็บและขนแยกจากขยะทั่วไป เป็นต้น ซึ่งเมื่อพิจารณาในภาพรวมของรายได้ค่าธรรมเนียมฯ เปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายของ อปท. ที่ให้ข้อมูลรวม 67 แห่ง ระหว่างปี 2560-2562 พบว่า รายได้ค่าธรรมเนียมฯ ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการเก็บและขนมูลฝอยประมาณปีละ 4,000 ล้านบาท ซึ่งรายได้ค่าธรรมเนียมคิดเป็นเพียงร้อยละ 17 ของค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการเก็บและขนมูลฝอยแต่ละปีเท่านั้น ส่งผลทำให้รัฐต้องจัดสรรงบประมาณในการบริหารการจัดเก็บและขนมูลฝอยเพิ่มขึ้นทุกปี

    4. ข้อสังเกตสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมการเก็บและขนมูลฝอยของ อปท.

    จากการตรวจสอบพบว่าส่วนใหญ่เป็นกรณีการไม่นำลูกหนี้ค้างชำระมาตั้งเป็นลูกหนี้ ณ วันสิ้นปีงบประมาณ และ ไม่มีมาตรการเร่งรัด ติดตามการจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมการเก็บและขนมูลฝอย ส่งผลให้เป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมอย่างเสมอภาคต่อประชาชนที่ได้ชำระครบถ้วน และอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน รวมถึง อปท. บางแห่งไม่มีการจัดทำประกาศ หรือ การประชาสัมพันธ์ หรือ หนังสือแจ้งให้ชำระค่าธรรมเนียม และไม่มีการจัดทำรายงานสรุปผลการปฏิบัติงาน เพื่อเสนอผู้บังคับบัญชาให้ทราบปัญหา อุปสรรค และหาแนวทางแก้ไข

    ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมการเก็บและขนมูลฝอยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและ เกิดประโยชน์สูงสุด สตง. จึงมีข้อเสนอแนะดังนี้

      1. ให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณานำร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย พ.ศ. …. เสนอผู้มีอำนาจเพื่อให้มีการบังคับใช้ รวมถึงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขนและกำจัดมูลฝอยให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง และหากร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีเหตุไม่สามารถประกาศใช้บังคับได้ในอนาคตอันใกล้ให้แจ้ง อปท. พิจารณาทบทวนการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการเก็บและขนมูลฝอยตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่
      2. แจ้งให้อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พิจารณาดำเนินการส่งเสริม สนับสนุนและให้ความรู้กับผู้บริหาร อปท. ให้ทราบถึงความสำคัญในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำและช่วยเหลือข้าราชการในส่วนท้องถิ่นในการจัดทำแผนงานโครงการในการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด
      3. แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดพิจารณาดำเนินการเร่งรัดให้ อปท.ออกข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ การจัดการขยะมูลฝอยของ อปท. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยและกิจการอื่นใดที่จำเป็นเกี่ยวข้องและกำชับให้บันทึกข้อมูลด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยลงในระบบสารสนเทศของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้ครบถ้วนถูกต้องและเป็นปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการบริหารจัดการการเก็บและขนมูลฝอยให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงแจ้งให้ผู้บริหาร อปท.ให้ความสำคัญกับการจัดทำประมาณการรายรับ ทุกประเภทพร้อมทั้งเร่งรัดการประเมินค่าธรรมเนียม เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมให้ครบถ้วนถูกต้องและครอบคลุมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนที่ชำระค่าธรรมเนียมอย่างถูกต้อง

    อนึ่ง กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้แจ้งผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินว่า กระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอย “จังหวัดสะอาด” ประจำปี พ.ศ. 2564 ซึ่งกำหนดบทบาทของผู้บริหาร อปท. การปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ด้านการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บและขนมูลฝอย โดยได้กำหนดตัวชี้วัดให้ อปท. ร้อยละ 100 ออกข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติการจัดการขยะมูลฝอย พร้อมจัดทำหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้กำชับ อปท. ในการนำรายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมการเก็บและขนมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฉบับดังกล่าวไปใช้ประโยชน์โดยการวิเคราะห์หาแนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดกรณีตามผลการตรวจสอบและกำหนดเป็นมาตรการ เพื่อให้ อปท. ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป โดยเบื้องต้นได้ดำเนินการจัดประชุมผู้บริหาร อปท. ทั่วประเทศ เพื่อแจ้งกำชับให้มีการบันทึกข้อมูลในระบบสารสนเทศ (มฝ.1) อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน รวมถึงได้ดำเนินการแจ้งกำชับ อปท. ในการจัดทำประมาณการรายรับทุกประเภทโดยสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำการสำรวจครัวเรือน สถานประกอบการทุกประเภท รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่อยู่ในข่ายที่ให้บริการการเก็บและขนมูลฝอยให้ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน

    สำหรับกรณีการพิจารณานำร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม และยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย พ.ศ. …. เสนอผู้มีอำนาจเพื่อให้มีการบังคับใช้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนรายละเอียดในการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่ระบุในร่างกฎกระทรวงฯ เดิม เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid–19) โดยจะแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นทราบต่อไป