ThaiPublica > คอลัมน์ > ปฎิรูปการศึกษาไทยต้องกระจายคุณภาพอย่างทั่วถึง

ปฎิรูปการศึกษาไทยต้องกระจายคุณภาพอย่างทั่วถึง

14 กุมภาพันธ์ 2012


ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

งานวิจัยเรื่องการศึกษาของประเทศไทยในระยะหลัง เริ่มเล็งเห็นมูลเหตุของความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอุดมศึกษาที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในระดับปริญญาตรี ว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากการขาดแคลนปัจจัยระยะสั้น เช่น การขาดแคลนเงินทุน เพียงอย่างเดียว แต่ต้นเหตุสำคัญเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางปัจจัยระยะยาว ที่รวมถึงคุณภาพของภูมิหลังทางครอบครัว และคุณภาพการศึกษาที่ได้รับตั้งแต่วัยเด็ก ปัจจัยระยะยาวเหล่านี้ มีความสำคัญในการกำหนดความพร้อมในการเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา

ความเหลื่อมล้ำทางความสามารถทางวิชาการ ระหว่างเด็กที่มาจากภูมิหลังของครอบครัวที่แตกต่างกันมีอยู่สูงมากในประเทศไทย ดังเห็นได้จากรูปที่ 1 ซึ่งแสดงความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนสอบ Programme for International Student Assessment (PISA) ในรอบปี 2006 ในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เฉลี่ยของโรงเรียน กับค่าเฉลี่ยดัชนี Economic, Social and Cultural Status (ESCS) ในระดับโรงเรียน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสถานะทางการงาน การศึกษาของพ่อแม่ ฐานะทางเศรษฐกิจ ทรัพยากรด้านการศึกษา และวัฒนธรรมของครอบครัวของเด็กนักเรียน

ความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนเฉลี่ย PISA 2006 ในระดับโรงเรียน กับภูมิหลังทางสังคม (ESCS*) ของกลุ่มนักเรียนไทยอายุ 15 ปี

*ดัชนี ESCS (Economic, Social and Cultural Status) วัดสถานะทางการงาน การศึกษาของพ่อแม่
ฐานะทางเศรษฐกิจ ทรัพยากรด้านการศึกษา และวัฒนธรรมของครอบครัว

ปัญหาหลักที่ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไขคือ การยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง ซึ่งปัจจุบันกำลังประสบปัญหาด้านคุณภาพอย่างรุนแรง ดังที่สะท้อนให้เห็นจากคะแนนสอบที่ตกต่ำของเด็กไทยในการทดสอบในระดับนานาชาติเช่น PISA และ Trends in International Mathematics and Science Study (TIMSS) การปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่นั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องดำเนินไปอย่างถูกทิศทางบนพื้นฐานของข้อมูลและหลักฐานทางวิชาการ เป้าหมายของงานวิจัยชิ้นนี้คือการนำเอาข้อมูลจากการสำรวจของ PISA ซึ่งเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ และใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ มาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อตอบคำถามสำคัญทางนโยบายว่า โครงสร้างการบริการจัดการระบบการศึกษาที่ก่อให้เกิดคุณภาพจะต้องมีปัจจัยอะไรบ้าง โดยวัดจากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียน และกลยุทธ์ในการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ในบริบทของประเทศไทยควรจะเป็นอย่างไร โดยเน้นที่เรื่องกลไกความรับผิดรับชอบที่ผูกกับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน (accountability) และความมีอิสระในการบริหารจัดการของโรงเรียนในเรื่องหลักสูตร และงบประมาณ (autonomy) เป็นประเด็นหลัก

ในส่วนของการปฏิรูปทางด้านการกระจายอำนาจการบริหารสู่โรงเรียน ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับการถกเถียงกันอย่างมากในระดับนานาชาติ เหตุผลสนับสนุนของนโยบายนี้คือ ผู้บริหารโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ย่อมเข้าใจในลักษณะเฉพาะของนักเรียน และโรงเรียนของตนมากกว่าองค์กรส่วนกลางของภาครัฐ ซึ่งความมีอิสระทำให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เหตุผลโต้ตอบของนโยบายนี้คือ ผู้บริหารอาจใช้ความมีอิสระในการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง โดยไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพการศึกษาที่เด็กนักเรียนได้รับเป็นเป้าหมายสำคัญ หลักฐานทางวิชาการในต่างประเทศก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งเป็นผลให้หลายประเทศดำเนินการปฏิรูปใปในทิศทางที่แตกต่างกัน โดยบางประเทศเลือกที่จะกระจายอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากร หรือการกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนสู่โรงเรียนและท้องถิ่น ในขณะที่บางประเทศเดินไปในทิศทางตรงกันข้ามโดยดึงอำนาจกลับสู่ส่วนกลาง

ผลการวิจัยพบว่า การเพิ่มแรงกดดันโดยการกำหนดให้โรงเรียนต้องเปิดเผยข้อมูลผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้ปกครองและผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ สามารถตรวจสอบได้ง่ายนั้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพ (วัดด้วยคะแนนเฉลี่ย) ของโรงเรียนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และผลกระทบจะมีสูงกว่าในกลุ่มโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพต่ำ

การศึกษานี้พบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สำคัญว่า ความมีอิสระในการบริหารงบประมาณไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันความสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพของโรงเรียน การกระจายอำนาจจะประสบความสำเร็จได้ต่อเมื่อโรงเรียนมีความพร้อมในเรื่องกลไกความรับผิดชอบที่เข้มแข็งเสียก่อน ไม่เช่นนั้น การกระจายอำนาจจะก่อให้เกิดผลเสียต่อประสิทธิภาพของโรงเรียนมากกว่าผลดี ในส่วนของการกำหนดหลักสูตร เราพบว่าการกระจายอำนาจจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโรงเรียนที่มีคะแนนสอบเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้เรายังพบอีกด้วยว่า ผลกระทบในทางบวกจะมีมากขึ้น ในกรณีที่มีองค์กรส่วนกลางคอยติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง

สำหรับประเด็นสุดท้าย ซึ่งเป็นประเด็นที่เราพบว่ามีผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพของโรงเรียน และมีนัยสำคัญทางสถิติมากที่สุด คือการปฏิรูประบบการประเมิน และการให้ผลตอบแทนความดีความชอบของครูใหญ่ที่ผูกโยงกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กนักเรียน เราพบว่าการปฏิรูประบบแรงจูงใจนี้ จะประสบผลสำเร็จมากที่สุดภายใต้กลไกการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องจากผู้ปกครองส่วนใหญ่ ในการตรวจสอบคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน

ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า การปฏิรูปการศึกษาจะประสบความสำเร็จได้ จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ปกครอง การปฏิรูปต้องเริ่มต้นที่ข้อมูล โดยจะต้องมีระบบการสอบไล่มาตรฐานที่วัดความสามารถของนักเรียนได้จริงในหลายระดับชั้น ผลการสอบจะต้องมีความหมายทั้งสำหรับนักเรียนและครู และจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนต่อสาธารณะ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเพื่อเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบโรงเรียนสำหรับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ปกครอง และองค์กรในท้องถิ่น ซึ่งจะต้องติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์อย่างต่อเนื่อง และมีช่องทางในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพกับครูและครูใหญ่ และที่สำคัญที่สุด จะต้องมีกลไกที่ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในการประเมิน และให้คุณให้โทษต่อครูและผู้บริหารโรงเรียน โดยผูกการประเมินกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนเป็นหลัก และเมื่อโรงเรียนมีระบบตรวจสอบและกลไกความรับผิดชอบที่ดีแล้ว การปฏิรูปการกระจายอำนาจการบริหารสู่โรงเรียนจึงจะส่งผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพทางวิชาการของนักเรียนเพิ่มขึ้นได้

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาวิชาการประจำปีของทีดีอาร์ไอ เรื่อง “ยกเครื่องการศึกษาไทย: สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง” วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ บี ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯเซ็นทรัลเวิลด์