ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 3 กองทุน จับมือตั้งกรรมการร่วม กำหนดราคากลางจัดซื้อยาเครื่องมือแพทย์ สกัดงบฯ บานปลาย

3 กองทุน จับมือตั้งกรรมการร่วม กำหนดราคากลางจัดซื้อยาเครื่องมือแพทย์ สกัดงบฯ บานปลาย

23 กุมภาพันธ์ 2012


3 กองทุนจับมือตั้งกรรมการกำหนดราคากลางจัดซื้อยา

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ลงนามความร่วมมือจัดทำราคากลางยาและเครื่องแพทย์ โดยมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการดำเนินการจัดทำราคากลางยาและเครื่องมือแพทย์” มีหน่วยงานกลางทำหน้าที่ด้านธุรการ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และยังช่วยรัฐประหยัดเงินงบประมาณ

น.พ.เทียม อังสาชน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ (สพคส.) กล่าวว่า ปัจจุบันการสั่งจ่ายยาที่มีความจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายมีแนวโน้มว่าจะมีการสั่งจ่ายยาไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะยาที่อยู่ในบัญชี จ 2 ซึ่งเป็นยาที่ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญเฉพาะโรค หรือใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และที่สำคัญเป็นยาที่มีราคาแพงมาก จนกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายของสังคมและผู้ป่วย

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ทั้ง 3 กองทุนต้องมาร่วมกันหาแนวทางในการบริหารจัดการยา โดยการจัดตั้งหน่วยงานงานกลางขึ้นมากำกับดูแลการสั่งจ่ายยาให้มีความเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามข้อบ่งใช้ และเงื่อนไขการสั่งใช้ยา

สปสช

“ความร่วมมือดังกล่าวนี้ เริ่มทดลองใช้กับกลุ่มยาในบัญชี จ 2 โดยเฉพาะยา Immunoglobulin G (IVIG) ที่ใช้ในการรักษาโรคยากๆ เช่น โรคเกล็ดเลือดต่ำที่เกิดจากภูมิคุ้มกันต่อต้านเกล็ดเลือดของตนเอง โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคคาวาซากิ โรคภูมิต้านทานตั้งแต่กำเนิด ชนิดที่ร่างกายไม่สร้างอิมมูโนโกลบูลิน หรือโรคทางพันธุกรรม เป็นต้น” น.พ.เทียมกล่าว

น.พ.เทียมกล่าวต่อไปอีกว่า การจัดทำราคากลางมีสาระสำคัญดังนี้ 1) การจัดทำราคากลางยาและเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของทั้ง 3 กองทุนมีความเป็นมาตรฐานเดียวกัน 2) จัดทำราคากลางยาและเครื่องแพทย์ ในรูปแบบของคณะกรรมการ ประกอบไปด้วยผู้แทนจาก 4 หน่วยงาน และผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ประกอบไปด้วยอธิบดีกรมบัญชีกลาง, เลขาธิการ สปส. และเลขาธิการ สปสช. โดยมอบหมายให้หน่วยงานกลางทั้ง 3 หน่วยงาน เห็นชอบร่วมกันเป็นประธานกรรมการ และมีอำนาจลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงาน 3) หน่วยงานกลางที่ผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานกลาง ทำหน้าที่ประสานงานกับกรมบัญชีกลาง, สปส., สปสช. และหน่วยงานอื่นๆ จัดทำราคากลางยาและเครื่องแพทย์ให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.

น.พ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า เหตุผลที่ทำให้ทั้ง 3 กองทุน ต้องมาร่วมกันกำหนดราคากลางยาและเครื่องมือแพทย์นั้น เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงมาก อย่างในปีงบประมาณ 2555 คิดเป็นสัดส่วน 15% ของวงเงินงบประมาณโดยรวม หากไม่วางระบบการบริหารจัดการให้ดี ภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ก็จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ยกตัวอย่างเช่น การจัดซื้อสเต็นท์ หรือ โครงลวดที่ค้ำยันหลอดเลือดหัวใจตีบ ระเบียบของกรมบัญชีกลางเขียนไว้ว่าราคาต้องไม่เกิน 40,000 บาท แต่ สปสช. ซื้อได้ในราคาเส้นละไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งเป็นของคุณภาพดีและมีผลการวิจัยรองรับด้วย

ส่วนกลุ่มยา IVIG ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่ใช้ในการรักษาโรคยากๆ เช่น โรคภูมิต้านทานที่บกพร่อง เดิม สปสช. สั่งซื้อยากลุ่มนี้ที่ราคา 12,000 บาท สปสช. ได้เจรจาต่อรองกับบริษัทผู้ผลิตยาหลายราย กระทั่งล่าสุด สปสช. สามารถซื้อยากลุ่มนี้ที่ราคาไม่เกิน 6,000 บาท ประหยัดเงินไปได้มากกว่า 50% ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของ สปสช. ได้ปีละ 100 ล้านบาท

ลดต้นทุนยา
เจรจา2

“ที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางก็ต้องการทำระบบนี้มาก เพราะมีปัญหาเรื่องการควบคุมค่าใช้จ่าย ทำไม สปสช. ซื้อได้ในราคานี้แต่โรงพยาบาลทั่วไปซื้อได้อีกราคาหนึ่ง และกรมบัญชีกลางก็ยอมจ่ายในราคานี้ด้วย สิ่งที่ สปสช. ทำไปนั้นไม่ได้เจตนาไปกดดันกองทุนอื่นๆ ถ้าโรงพยาบาลไหนไม่มีผลประโยชน์ในการจัดซื้อจัดจ้าง ก็คงไม่เดือดร้อน แต่ถ้าทั้ง 3 กองทุนไม่ช่วยกันวางระบบควบคุมค่าใช้จ่ายให้ดี ในอนาคตจะมีปัญหา รัฐบาลต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี โตเร็วกว่าจีดีพีเสียอีก” น.พ.วินัยกล่าว

น.พ.วินัยกล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนประเด็นที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ฝากให้ทั้ง 3 กองทุนกลับไปคิดเป็นการบ้าน คือ การปรับปรุงสิทธิของผู้ป่วยที่พึงได้รับจากระบบประกันสุขภาพต่างๆ ซึ่งทั้ง 3 กองทุน (สวัสดิการข้าราชการ, สปส. และสปสช.) ต้องกลับมากำหนดว่า สิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่ผู้ป่วยควรได้รับมีอะไรบ้าง นอกจากเรื่องสิทธิประโยชน์แล้วยังมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาอีกหลายเรื่อง อาทิ วิธีการเบิกจ่ายเงิน, อัตราการจ่ายเงิน และการให้บริการผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน อัตราการเบิกจ่ายเงินตาม DRG ควรเป็นระบบเดียวกัน โดยจะเริ่มทดลองนำมาใช้ในกรณีของผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุก่อน เพราะมีลักษณะคล้ายๆ กัน

“จริงๆ วันข้างหน้า ทั้ง 3 กองทุนต้องมาทำวิจัยร่วมกัน ดูว่าต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในระบบมันเท่าไหร่กันแน่ และตั้งราคากลางให้ได้มาตรฐาน ลดความเหลื่อมล้ำในการมาใช้บริการ ตอนนี้โจทย์มันชัด แต่ผมคิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องรวม 3 กองทุน หากปรับระบบให้เข้าหากันให้ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องรวม” น.พ.วินัยกล่าว

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง

ด้านนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตอนนี้งบฯ ค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการมีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นมาก จึงต้องหาวิธีลดค่าใช้จ่ายบางรายการลง โดยไม่ให้กระทบกับสิทธิประโยชน์เดิมที่เข้าราชการได้รับ แต่ปัญหาของระบบสวัสดิการข้าราชการคือ กรมบัญชีกลางจะปล่อยให้โรงพยาบาลจัดซื้อยากันเอง ทำให้มีค่าใช้จ่ายของเซลส์ ค่าส่งเสริมการขายต่างๆ ให้กับโรงพยาบาลเข้ามารวมอยู่ด้วย ขณะที่ สปสช. ซื้อยาหรือเครื่องมือแพทย์เป็นล็อตใหญ่ จึงซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่ากรมบัญชีกลาง ด้วยเหตุนี้เอง จึงต้องตั้งหน่วยงานกลางเข้ามากำหนดราคากลาง สมมติว่า ระเบียบกำหนดให้โรงพยาบาลซื้อสเต็นท์ได้ในราคากลางไม่เกิน 20,000 บาท แต่ถ้าซื้อเกินกว่าที่กำหนด ก็ต้องส่งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สำนักงาน ป.ป.ช. มาตรวจสอบ เพราะราคากลางเป็นราคาที่กำหนดผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลางมาแล้ว

“ตอนนี้บริษัทยาและโรงพยาบาลอยากรักษาผู้ป่วยที่เป็นข้าราชการมากกว่า เพราะกำไรดี มีเงินบำรุงโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ซึ่งเงินส่วนนี้ไม่ต้องส่งเข้าคลัง โรงพยาบาลนำไปใช้อะไรก็ได้ และที่ออกมาโวยวายว่าโรงพยาบาลขาดทุน จริงๆ ไม่ขาดทุน โดยภาพรวมโรงพยาบาลของรัฐกำไรเป็นหมื่นล้านบาท” นายรังสรรค์กล่าว