ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปรับเกณฑ์คำนวนราคากลางก่อสร้าง 2555 เปิดช่องใส่ค่าใช้จ่ายพิเศษ ผู้รับเหมาตอบรับ โปร่งใส ตรวจสอบง่ายขึ้น

ปรับเกณฑ์คำนวนราคากลางก่อสร้าง 2555 เปิดช่องใส่ค่าใช้จ่ายพิเศษ ผู้รับเหมาตอบรับ โปร่งใส ตรวจสอบง่ายขึ้น

15 พฤษภาคม 2012


ที่มาภาพ : http://www.posttoday.com
ที่มาภาพ : http://www.posttoday.com

ผู้รับเหมาชี้ การปรับราคกลางประมูลงานรัฐครั้งล่าสุด ที่มีการเพิ่มรายการค่าใช้จ่ายพิเศษลงในแบบฟอร์มราคากลางและปรับราคาวัสดุให้สะท้อนราคาตลาดปัจจุบันมากขึ้น จะช่วยให้การประมูลจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ มีความโปร่งใส และง่ายต่อการตรวจสอบ

หลังจากมติของคณะรัฐมนตรี ที่กำหนดให้ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ ใช้หลักเกณฑ์การคำนวนราคากลางก่อสร้างใหม่ มาคำนวนราคากลางเพื่อใช้เป็นราคาอ้างอิงในกระบวการจัดซื้อจัดจ้าง และเป็นราคาเริ่มต้นในการประมูลงานก่อสร้างผ่านระบบออนไลน์ โดยให้ยกเลิกหลักเกณฑ์คำนวนราคากลางงานก่อสร้างเดิม ที่อ้างตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 มาเป็นราคากลางงานก่อสร้างที่ทบทวนและปรับปรุงใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2555 เป็นต้นมา โดยในการปรับปรุงราคากลางใหม่นี้ ได้มีการปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 2 ส่วน คือ

ส่วนแรก เป็นแนวทางและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง ซึ่งประกอบด้วย ข้อกำหนด แนวทาง และวิธีปฏิบัติ เพื่อให้มีการนำหลักเกณฑ์ใหม่นี้ ไปใช้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

ส่วนที่สอง เป็น หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง ซึ่งมีจำนวน 3 หลักเกณฑ์ ได้แก่ หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างอาคาร หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างทาง สะพาน และท่อเหลี่ยม และหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างชลประทาน โดยในทั้ง 3 หลักเกณฑ์นี้ ประกอบด้วย หลักเกณฑ์การคำนวณรวม 4 ส่วน คือ

1. ค่างานต้นทุน (Direct Cost) เป็นส่วนของหลักเกณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณค่าราคาทุนของงานก่อสร้าง ได้แก่ ราคาวัสดุ อัตราค่าแรงงาน ค่าขนส่ง ค่างานและค่าดำเนินการต่าง ๆ โดยกำหนดให้ใช้วิธีการถอดแบบก่อสร้าง ที่บัญชีของงานก่อสร้างแต่ละประเภทจะต้องมี มาตรฐานการวัด หลักเกณฑ์การคำนวณปริมาณงาน การเผื่อปริมาณงาน สูตรการคำนวณค่างานต่อหน่วย (Unit Cost) เป็นต้น

2. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก่อสร้าง (Indirect Cost) เป็นส่วนของหลักเกณฑ์ฯ ที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก่อสร้าง ซึ่งประกอบด้วยค่าใช้จ่าย รวมเป็น 4 หมวดใหญ่ ได้แก่ หมวดค่าอำนวยการ หมวดค่าดอกเบี้ย หมวดค่ากำไร และหมวดค่าภาษี (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) แต่อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการแก้ปัญหาข้อผิดพลาดในการคำนวณและเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติ จึงได้กำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก่อสร้างทุกรายการทั้ง 4 หมวดดังกล่าว เป็น ค่า Factor F โดยได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวนให้สอดคล้องกับการคำนวนราคากลางในส่วนอื่นๆ เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ ที่ได้มีการปรับเป็น 7% ต่อปี

3. ค่าใช้จ่ายพิเศษตามข้อกำหนดและค่าใช้จ่ายอื่นที่บางโครงการจำเป็นต้องมี เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์เครื่องจักรกลพิเศษในการก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการกำหนดให้ใช้นั่งร้านพิเศษเพื่อความปลอดภัย ค่าใช้จ่ายในการจัดทำระบบป้องกันฝุ่น เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไม่ได้มีในทุกโครงการ ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะกำหนดเป็นค่าใช้จ่ายที่ชัดเจนไว้ในส่วนของค่างานต้นทุนและในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก่อสร้างได้จึงจำเป็นต้องแยกมากำหนดเป็นหลักเกณฑ์เพื่อคำนวณต่างหาก

4. หลักเกณฑ์การสรุปค่าก่อสร้างเป็นราคากลางและการจัดทำรายงาน ที่เกี่ยวข้องกับการนำค่างานต้นทุน ค่า Factor F และค่าใช้จ่ายพิเศษตามข้อกำหนด มาคำนวณรวมกันได้เป็นราคากลางงานก่อสร้างทั้งโครงการ

กระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) ได้ชี้แจงว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวนราคากลางงานก่อสร้างครั้งนี้ แตกต่างจากการปรับปรุงราคามาตรฐานครุภัณ์และสิ่งก่อสร้างที่มีการแก้ไขเป็นประจำทุกปี เนื่องจากในครั้งนี้ ได้มีเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคำนวน แตกต่างกับปีก่อนหน้าที่มีการแก้ไขเฉพาะราคาให้ตรงกับราคาตลาด แต่วิธีคำนวนยังคงเป็นแบบเดิม การปรับหลักเกณฑ์การคำนวนราคากลางแบบใหม่ทำให้การคำนวนราคากลางในอนาคต มีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและเทคโนโลยีการก่อสร้างในปัจจุบันมากขึ้น การคำนวนราคากลางของหน่วยงานราชการจึงได้ราคากลางที่ใกล้เคียงกับค่าก่อสร้างที่แท้จริง ป้องกันไม้ให้ค่าก่อสร้างที่ได้สูงเกินกว่าความเป็นจริง และง่ายต่อการตรวจสอบ

แหล่งข่าวในวงการรับเหมาก่อสร้าง ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า การปรับปรุงราคากลางในครั้งนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากที่ผ่านมา การจัดทำราคากลางของหน่วยงานภาครัฐภายใต้รูปแบบ หรือแบบฟอร์มเก่านั้น ยังมีข้อบกพร่องในหลายส่วน โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายพิเศษ ที่ในอดีตราคากลางจะไม่มีการคิดค่าใช่จ่ายพิเศษให้ ทำให้ผู้รับเหมาไม่สามารถใส่ต้นทุนในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างความปลอดภัย การป้องกันฝุ่น การขนส่ง หรือเครื่องจักรพิเศษ เช่น ทาวเวอร์เครน ที่ช่วยให้การก่อสร้างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ลงในราคากลางได้

ผู้รับเหมาเป็นจำนวนมากจึงหลีกเลี่ยงที่จะนำมาตรการด้านความปลอดภัยมาใช้ และมักก่อสร้างแบบมักง่ายโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีการใช้เครื่องจักรที่ไม่เหมาะกับงานเนื่องจากมีราคาถูก ทำให้การก่อสรางล่าช้า หรือผลที่ได้ไม่ตรงตามาตรฐาน ซึ่งเป็นผลเสียต่อโครงการ

ในบางกรณีที่โครงการไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากกฎข้อบังคับของแต่ละพื้นที่ ทำให้การทำระบบป้องกันฝุ่น จะถูกนำต้นทุน หรือรายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายพิเศษไปรวมเป็นก้อนอยู่ในรายการที่เป็นวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ทำให้เกิดความไม่โปร่งใส และเสี่ยงต่อการทุจริต เพราะการตรวจสอบทำได้ยาก

แต่การเพิ่มค่าใช้จ่ายพิเศษให้สามารถใส่ลงไปในการคำนวนราคากลางได้ ทำให้ผู้รับเหมาไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายพิเศษเหล่านี้เองทั้งหมด จึงสามารถใช้มาตรฐานด้านความปลอดภัย การป้องกันฝุ่น และใช้เครื่องจักที่มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นผลดีต่อโครงการ

ที่สำคัญแหล่งข่าวจากผู้รับเหมารายเดิมกล่าวฝากเน้นย้ำหน่วยงานภาครัฐว่า ราคากลางอาจเป็นมาตรฐานส่วนหนึ่ง แต่ในการก่อสร้างจริง อาจมีบางโครงการที่ราคาต้นทุนในการก่อสร้าง อาจถูกหรือแพงกว่าราคากลางที่รัฐกำหนดไว้ แต่การทำแบบฟอร์มให้สามารถนำต้นทุนที่มีอยู่ทั้งหมดทั้งทางตรงและทางอ้อมมาใส่ในรายการได้ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่จะช่วยให้การก่อสร้างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

“การก่อสร้างจะไปยึดให้ราคาที่ประมูลได้เท่ากับราคากลางที่กำหนดเป๊ะๆ ไม่ได้ เพราะต้นทุนที่ต่างกันมันมาจากหลายปัจจัย อย่างการก่อสร้างในต่างจังหวัดกับก่อสร้างในกรุงเทพ มันมีต้นทุนที่ไม่เท่ากัน ทั้งค่าแรง หรือค่าเช่าพื้นที่ตั้งแคมป์สำหรับคนงานคนงาน ค่าก่อสร้างของกรุงเทพ จึงมักสูงกว่าต่างจังหวัด ค่าขนส่งวัสดุ ถ้าพื้นที่ก่อสร้างเป็นเกาะ ก็ต้องส่งด้วยเรืออย่างเดียว ทำให้ค่าใช่จ่ายอาจจะสูงกว่า หรือกรณีการก่อสร้างตึกที่มีความสูงไม่เท่ากัน ค่าก่อสร้างในรายการเดียวกันก็อาจต่างกัน เช่น ค่าเทคอนกรีตในชั้นที่ 1 ก็ต้องถูกกว่าค่าเทคอนกรีตในชั้นที่ 10 แน่นอนเพราะทำง่ายกว่า ดังนั้นการคิดราคากลางจึงไม่สามารถกำหนดราคาที่ตายตัวได้ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ ต้องทำให้ต้นทุนทุกอย่างทั้งทางตรงและทางอ้อม ถูกรวมไปอยู่ในแบบฟอร์มให้ได้ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบ และเป็นการบังคับให้ผู้รับเหมาต้องชี้แจงให้ได้ว่าที่แพงกว่าเป็นเพราะอะไร ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่จะสร้างความโปร่งใส ไม่ใช่คิดอย่างเดียวว่าผู้รับเหมาจ้องจะโกง” แหล่งข่าวกล่าว