ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปรับราคาก๊าซหุงต้ม แก้ปัญหาโครงสร้างราคาบิดเบือน แท้จริงใครได้ประโยชน์

ปรับราคาก๊าซหุงต้ม แก้ปัญหาโครงสร้างราคาบิดเบือน แท้จริงใครได้ประโยชน์

2 กันยายน 2013


โครงสร้างราคาก๊าซบิดเบือน เป็นประเด็นใหญ่ที่ทุกฝ่ายทราบดี แนวทางแก้ไขมีวิธีเดียว คือ ต้องปรับราคาให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยเฉพาะแอลพีจี (LPG) ที่ใช้ในภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นสินค้าการเมืองที่ถูกตรึงราคาขายปลีก 18.13 บาท/กิโลกรัม มานาน และทั้งที่ยังไม่เปิดประตูการค้าเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็มีการลักลอบขนส่งออกไปขายประเทศเพื่อนบ้าน

สาเหตุเกิดจากนโยบายรัฐเอาใจประชาชนกดราคาขายปลีก LPG เอาไว้ต่ำๆ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านลอยตัวตามราคาตลาดโลก ยกเว้นมาเลเซียกำหนดราคาขายปลีกที่ราคากิโลกรัมละ 20 บาท ลาวกิโลกรัมละ 49 บาท พม่ากิโลกรัมละ 34 บาท กัมพูชากิโลกรัมละ 45 บาท และเวียดนามกิโลกรัมละ 59 บาท จึงมีการลักลอบส่งออก LPG ไปขายประเทศเพื่อนบ้านเพื่อกินส่วนต่างเป็นกำไร

LPG เป็นเชื้อเพลิงสะอาด คุณภาพดี ราคาถูก จึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภค โดยเฉพาะเจ้าของรถยนต์ที่นำรถมาติดแก๊สกันเป็นจำนวนมาก แต่ทว่าเชื้อเพลิงประเภทนี้เป็นพลังงานที่ใช้แล้วมีแต่จะหมดไป หากไม่วางแผนการใช้ให้ดี อนาคตก็จะไม่มีใช้กัน ดังนั้นในประเทศจึงกำหนดราคาขายปลีกเอาไว้ 4 ราคา คือ ถ้าใช้ในภาคครัวเรือน ราคาขายปลีกจะอยู่ที่ 18 บาท/กิโลกรัม ใช้ในภาคปิโตรเคมี 24.93 บาท/กิโลกรัม ภาคขนส่ง 21.38 บาท/กิโลกรัม มีเพียงภาคอุตสาหกรรมเท่านั้นที่ขณะนี้จ่ายเงินซื้อ LPG ในราคาตลาดโลก คือ 30.13 บาท/กิโลกรัม

โครงสร้างราคาก๊าซ LPG

ราคาขายปลีก LPG ที่แตกต่างกัน ถูกกำหนดโดยคณะกรรมบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานฯ โดยใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกลไกในการกำหนดราคา ซึ่งมีอยู่ 2 ส่วน คือ กองทุนน้ำมัน 1 กับกองทุนน้ำมัน 2 ยกตัวอย่าง LPG ที่ใช้ในภาคขนส่งถูกเรียกเก็บเงินนำส่งกองทุนน้ำมันกิโลกรัมละ 1.0364 บาท และต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 2 อีก 3.0374 บาท LPG ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันกิโลกรัมละ 1.0364 บาท และจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 2 อีกกิโลกรัมละ 11.220 บาท ภาคครัวเรือนจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันกิโลกรัมละ 1.0364 บาท แต่ไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 2 ส่วน LPG ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันกิโลกรัมละ 1 บาท แต่ไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 2 เช่นเดียวกับภาคครัวเรือน

ทั้งนี้เนื่องจากกระทรวงพลังงานตีความว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไม่ได้ใช้ LPG, โพรเพน และบิวเทนที่ได้จากโรงกลั่นน้ำมันหรือโรงแยกก๊าซเป็นเชื้อเพลิงเหมือนภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติก จึงเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันไม่ได้ เพราะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

และจากการที่รัฐบาลกำหนดราคาขายปลีก LPG แตกต่างกัน นอกจากทำให้เกิดปัญหาลักลอบส่งออกไปขายประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ในประเทศยังมีปัญหาลักลอบขน LPG ไปใช้ข้ามสาขา หรือใช้ผิดประเภท เช่น การลักลอบนำ LPG จากโรงบรรจุก๊าซไปขายให้ปั๊มแก๊ส หรือโรงงานอุตสาหกรรม ชาวบ้านนำถังก๊าซหุงต้มไปใช้ในเรือ หรือถ่ายใส่รถยนต์

แผนการปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติ

แผนการปรับโครงสร้างราคา LPG ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเริ่มขึ้นหลังจากรัฐบาลประกาศนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา จากนั้น เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ ก็มีมติให้ตรึงราคา LPG ที่ใช้ในภาคครัวเรือนที่ราคา 18.13 บาท/กิโลกรัม ไปจนถึงสิ้นปี 2555 ส่วน LPG ที่ใช้ในภาคขนส่งตรึงราคาถึงวันที่ 15 มกราคม 2555 และให้ทยอยปรับราคา LPG เดือนละ 0.75 บาท/กิโลกรัม หรือ 0.41 บาท/ลิตร พร้อมกับ NGV เดือนละ 0.50 บาท/กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 ปรับขึ้นไปได้ 3-4 เดือน ปรากฏว่าถูกม็อบขนส่งต่อต้านอย่างหนัก และในวันที่ 14 พฤษภาคม 2555 กพช. มีมติให้ตรึงราคา LPG ภาคขนส่งที่ราคา 21.13 บาท/กิโลกรัม ตั้งแต่ 16 สิงหาคม 2555 มาถึงปัจจุบัน

จากนั้นรัฐบาลก็เริ่มแผนปรับราคา LPG ในส่วนของภาคครัวเรือน วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 กพช. มีมติให้ทยอยปรับราคา LPG ภาคครัวเรือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 พอใกล้ถึงวันครบกำหนด กบง. มีมติขยายเวลาปรับขึ้นราคา LPG ภาคครัวเรือนออกไปถึงวันที่ 31 พ.ค. 2556 และขยายเวลาปรับขึ้นราคา LPG เป็นครั้งที่ 2 มีผลบังคับถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2556 และครั้งที่ 3 ขยายเวลาการปรับขึ้นราคา LPG ออกไปเป็นวันที่ 31 สิงหาคม 2556 เป็นครั้งสุดท้าย

นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2556 เป็นต้นไป ราคาขายปลีก LPG ภาคขนส่งทยอยปรับขึ้นเดือนละ 0.50 บาท/กิโลกรัม ส่วน LPG ที่ใช้ในภาคขนส่ง ยังตรึงราคาขายปลีกไว้ที่ 21.38 บาท/กิโลกรัม ต่อไป หลังจากที่การปรับขึ้นราคา LPG ภาคครัวเรือนเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่า กบง. ต้องมีการปรับราคา LPG ภาคขนส่งตามมา ส่วน LPG ที่ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคงจะไม่มีการปรับราคาขายปลีก เนื่องจากบริษัท ปตท. ทำสัญญาขาย LPG ให้กับบริษัทในเครือเอาไว้ ต้องรอให้สัญญาซื้อ-ขายครบกำหนด จึงจะปรับราคาขายปลีกได้

โครงสร้างราคาต้นทุน LPG

สรุป โครงสร้างราคาขายปลีก LPG เดิมมี 4 ราคา ในอนาคตจะลดเหลือแค่ 2 ราคา คือ ราคาขายปลีก LPG ที่ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 24.93 บาท/กิโลกรัม กับ LPG ที่ใช้ในภาคครัวเรือน ขนส่ง และอุตสาหกรรมทั่วไป ใช้ราคาตลาดโลก (30.13 บาท/กิโลกรัม)

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในหนังสือ “รู้ทัน ต้องเข้าใจ LPG” จัดทำโดยบริษัท ปตท. หน้าที่ 60 นำเสนอวิธีการคำนวณต้นทุนเนื้อก๊าซ LPG ของ ปตท. ที่ได้มาจากแหล่งผลิตก๊าซ 3 แหล่งใหญ่ๆ คือ อ่าวไทยต้นทุนอยู่ที่ 470 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน โรงกลั่นมีต้นทุนอยู่ที่ 723 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน และนำเข้าจากต่างประเทศมีต้นทุน 920 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ทั้ง 3 แหล่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 630 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน หรือ 19 บาท/กิโลกรัม เมื่อนำไปกับค่าภาษี กองทุนน้ำมัน และค่าการตลาด ราคาขายปลีกเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 27 บาท/กิโลกรัม โดยแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูกที่สุดจะอยู่ที่อ่าวไทย และมีกำลังการผลิตประมาณ 60-70% ส่วนก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่นำมาผ่านโรงแยกก๊าซ ต้นทุนไม่น่าเกิน 20 บาท/กิโลกรัม

คำถามคือ กรณีที่รัฐบาลออกนโยบายปรับโครงสร้างราคาขายปลีก LPG บังคับให้ทุกภาคส่วนจ่ายเงินซื้อ LPG ในราคาตลาดโลกที่ราคา 30 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีบริษัทในเครือ ปตท. จ่ายเงินซื้อ LPG ราคาเดิม จะเป็นธรรมกับประชาชนแค่ไหน ในอดีต ปตท. ขาย LPG ในราคาต่ำกว่าต้นทุน แต่ในอนาคตกำลังจะขายในราคาตลาดโลก กำไร ปตท. ที่เพิ่มขึ้นอีกนับแสนล้านบาทถือเป็นการเอื้อประโยชน์กันหรือไม่ รัฐบาลจะบริหารจัดการส่วนต่างกำไรของ ปตท. ที่เพิ่มขึ้นอย่างไร เป็นประเด็นที่ต้องติดตาม