ThaiPublica > คอลัมน์ > ความเสี่ยงจากการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศยูโรโซนต่อเศรษฐกิจโลกและไทย

ความเสี่ยงจากการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศยูโรโซนต่อเศรษฐกิจโลกและไทย

17 มกราคม 2012


เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ
อัครราชทูต (ฝ่ายเศรษฐกิจและการคลัง) ประจำสหราชอาณาจักรและยุโรป

เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard & Poor’s (S&P) ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของ 9 ประเทศ ในเขตยูโรโซนที่มีทั้งหมด 17 ประเทศ โดยมีประเทศที่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง 1 ระดับ (1 Notch) ได้แก่ ฝรั่งเศส ออสเตรีย มอลต้า สโลวาเนีย และสโลวาเกีย และประเทศที่ถูกปรับลดลง 2 ระดับ (2 Notches) ได้แก่ อิตาลี โปรตุเกส สเปน และไซปรัส

สาเหตุหลักที่ S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศดังกล่าว เนื่องมาจากมาตรการแก้ไขวิกฤติหนี้ในยุโรปล่าสุดที่ผู้นำยุโรปได้ตกลงกันเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2554 ที่จะกำหนดกฎเข้มงวดการคลัง (Fiscal Compact) ห้ามประเทศในเขตยูโรโซนขาดดุลงบประมาณพื้นฐานเกิน 0.5% ของ GDP โดยเฉพาะประเทศสมาชิกที่ขาดดุลดังกล่าวเกิน 3% ของ GDP ก็จะถูกมาตรการคว่ำบาตรด้วย อีกทั้งระบุให้ประเทศที่มีหนี้รัฐบาลต่อ GDP เกิน 60% ต้องปรับลดหนี้ให้ได้อย่างน้อยปีละ 0.05% โดย S&P เชื่อว่า มาตรการดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะสามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปอย่างแท้จริง ประกอบกับแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในเขตยูโรโซน ที่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวค่อนข้างเปราะบาง และมีโอกาสที่จะประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในไม่ช้า

ประเด็นสำคัญของการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวข้างต้นคือ การที่ประเทศฝรั่งเศสและประเทศออสเตรีย ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือมาอยู่ที่ AA+ ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่าระดับสูงสุด AAA ส่งผลให้เหลือเพียงแค่ 4 ประเทศ (เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ ลักเซมเบิรก์) ในเขตยูโรโซนทั้งหมด 17 ประเทศ ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ระดับ AAA

สำหรับผลกระทบของการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวต่อเศรษฐกิจโลกและต่อเศรษฐกิจไทย สามารถแบ่งได้เป็นผลกระทบในระยะสั้นและผลกระทบในระยะยาว

ผลระยะสั้นทันที หลังจากการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ S&P ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก โดยในวันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2555 ค่าเงินยูโรต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนลงมาอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 17 เดือนที่ 1.26$/€ ขณะที่ดัชนีหุ้น Dow Jones และดัชนีหุ้น Nasdaq ปรับลดลง 0.5% และดัชนีหุ้น FTSE All-World Index ปรับลด 0.4% ส่วนตลาดทุนของเอเชียซึ่งปิดตลาดไปแล้วในช่วงที่ S&P ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเมื่อคืนวันศุกร์ (ตามเวลาในเอเชีย) ได้ปรับตัวลดลงในวันจันทร์ที่ 16 มกราคม เช่น ดัชนี Nikkei ปรับตัวลดลง

ในระยะต่อไป คาดว่านักลงทุนต่างชาติจะถอนเงินออกจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น หุ้นในเอเชีย ไปถือสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย (Safe-haven Assets) เช่น พันธบัตรสหรัฐและทองคำ ส่งผลให้ค่าเงินในสกุลเอเชีย รวมทั้งค่าเงินบาทน่าจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในระยะสั้น

อย่างไรก็ดี เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่มั่นคงมาก ดังจะเห็นได้จาก ทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่สูงถึงประมาณ 174 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่าหนี้ต่างประเทศทั้งหมดที่มีอยู่ 112 พันล้านเหรียญ และทุนสำรองฯ มีมากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นถึงประมาณ 3.3 เท่า จะสามารถรองรับความผันผวนของค่าเงินดังกล่าวในระยะสั้นได้

สำหรับผลกระทบระยะปานกลางและระยะยาว ของการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ S&P คาดว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศที่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ผ่านต้นทุนในการกู้ยืมเงินของรัฐบาลในประเทศที่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ที่จะปรับตัวสูงขึ้นตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ การปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลของสเปนและของอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในข่ายที่อาจต้องประสบกับวิกฤติหนี้สาธารณะอย่างเต็มรูปแบบ (ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ จนต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงิน เช่นเดียวกับ กรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส) ทั้งนี้ ภายหลังจากที S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าว อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสเปนระยะ 10 ปี ก็ปรับสูงขึ้นทันที โดย 13 Basis points มาอยู่ที่ 5.26% และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีระยะ 10 ปี ก็ปรับสูงขึ้นทันทีเช่นกัน โดย 11 Basis Points มาอยู่ที่ 6.74%

นอกจากนี้ การปรับตัวสูงขึ้นของดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสเปนและอิตาลี จะทำให้ราคาพันธบัตรของสเปนและอิตาลีปรับตัวลดลง และสามารถส่งผลต่อเนื่องต่อฐานะการเงินของสถาบันการเงินในยุโรปที่ถือพันธบัตรสเปนและอิตาลีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากตลาดการเงินขาดความเชื่อมั่นในสถาบันการเงินที่มีแนวโน้มขาดทุนจากการถือพันธบัตรรัฐบาลจำนวนมาก ก็จะส่งผลให้สถาบันดังกล่าวไม่สามารถกู้เงินระยะสั้น Interbank จากตลาดเงินได้ตามปกติ (เพราะไม่มีใครกล้าให้กู้) และอาจจะต้องประสบกับปัญหาการขาดสภาพคล่องได้ในระยะเวลาสั้น กลายเป็นวิกฤติสภาพคล่อง (Liquidity Crisis) และหากสถาบันการเงินขาดสภาพคล่อง ก็สามารถส่งผลให้เกิดวิกฤติสถาบันการเงินล้มละลาย (Banking Crisis) ต่อไป

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงในการลุกลามไปสู่วิกฤติสภาพคล่องในปัจจุบันค่อนข้างน้อย เนื่องจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ออกมาตรการฉุกเฉินเพื่อเพิ่มการป้องกันวิกฤติสภาพคล่องไปแล้วเมื่อเดือนก่อน โดยอนุญาตให้สถาบันการเงินในยุโรปสามารถมาขอกู้เงินระยะยาว 3 ปี (Longer-term Refinancing Operation: LTRO) จาก ECB ได้ และขณะนี้มีสถาบันการเงินในยุโรปถึง 589 แห่ง ได้เข้ามาขอใช้เงินกู้ดังกล่าวถึง 489 พันล้านยูโร ซึ่งน่าจะเพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติสภาพคล่องได้ในระยะปานกลาง

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดของการปรับลดอันดับความน่าเชือถือของหลายประเทศยูโรโซนก็คือ ผลกระทบทางอ้อมจากการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของฝรั่งเศสและออสเตรียต่อกองทุน European Financial Stability Facility (EFSF) ซึ่งเป็นกลไกหลักในการช่วยเหลือประเทศสมาชิกยูโรที่ประสบปัญหาทางการเงิน ทั้งนี้ กองทุน EFSF ดังกล่าวได้ใช้เครดิตของประเทศสมาชิกทั้ง 17 ประเทศในยูโรโซนในการประกันการออกตราสารกู้เงินจากตลาดเงิน เพื่อมาปล่อยกู้ต่อให้ประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหา ซึ่งขณะนี้กองทุนมีความสามารถที่จะออกพันธบัตรระดับ AAA มาปล่อยกู้ต่อได้ในวงเงิน 440 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพราะมีประเทศที่น่าเชื่อถือระดับ AAA ถึง 6 ประเทศ (เยอรมนี ฝรั่งเศส ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ ลักเซมเบอร์ก) คอยสนับสนุน แต่การที่ฝรั่งเศสและออสเตรีย (ซึ่งเป็นประเทศที่ค้ำประกันการออกตราสารของ EFSF รวมกันถึง 40%) ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือให้ต่ำกว่าระดับ AAA น่าจะส่งผลให้พันธบัตรของ EFSF ถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือให้ต่ำกว่าระดับ AAA เช่นกัน ซึ่งในที่สุดจะส่งผลกระทบให้ต้นทุนการกู้เงินของ EFSF สูงขึ้น และทำให้เงินกองทุนที่จะมาช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาก็จะน้อยลง

การที่กองทุน EFSF มีวงเงินน้อยลง จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดการเงินต่อการแก้ปัญหาและการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่ประสบปัญหาในอนาคต ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในสภาวะปัจจุบันที่ตลาดการเงินกำลังจับตาการแพร่ขยายของวิกฤติหนี้สาธารณะจากกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส ไปสู่อิตาลี และสเปน

หากวิกฤติหนี้สาธารณะลุกลามไปสู่อิตาลี สเปน ซึ่งมีขนาดระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 และ 4 ของยูโรโซน เชื่อว่าวิกฤติหนี้สาธารณะจะแพร่ขยายไปสู่ยูโรปในวงกว้าง ซึ่งจะสามารถส่งผลกระทบต่อประเทศไทยได้ 2 ช่องทางหลัก คือ (1) ด้านการเงิน ผ่านเงินทุนไหลออก ตลาดเงินตลาดทุนผันผวน สภาพคล่องตึงตัว และความเสี่ยงของคู่ค้าทางการเงินในยุโรปที่มีความเสี่ยงล้มละลาย (Counterparty Risk) และ (2) ด้านการค้า ผ่านการส่งออกสินค้าและบริการของไทยที่ลดลง ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนการค้าสินค้ากับยุโรปถึงประมาณ 1 ใน 10 ของมูลค่าการค้ารวม และไทยมีสัดส่วนการบริการท่องเที่ยวจากยุโรปถึงประมาณ 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวรวมที่เดินทางมาประเทศไทย