ThaiPublica > เกาะกระแส > มติคนร.ตั้ง “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” คาดชงเข้า สนช. มี.ค. ’59 – “ประสาร” แจงการมี พ.ร.บ.เพื่อ “ปฏิรูปสถาบัน” สร้างความทนทานต่อมิติท้าทายยุคใหม่

มติคนร.ตั้ง “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” คาดชงเข้า สนช. มี.ค. ’59 – “ประสาร” แจงการมี พ.ร.บ.เพื่อ “ปฏิรูปสถาบัน” สร้างความทนทานต่อมิติท้าทายยุคใหม่

19 มกราคม 2016


ดร.ประสาร
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล (ซ้าย) ประธาน คณะอนุกรรมการการเตรียมการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ และกรรมการ คนร. และนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ (ขวา) ผู้อำนวยการ สคร. ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คนร.

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธาน คณะอนุกรรมการการเตรียมการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ และกรรมการในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) กล่าวภายหลังการประชุม คนร. ครั้งที่ 1/2559 ว่าที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. … ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงหลังเผยแพร่ร่าง พ.ร.บ. ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558 และรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจตรงกันถึงความตั้งใจในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาล ไม่ว่าจะในงานสัมมนาใหญ่เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 หรือการประชุมกลุ่มย่อยจากกระทรวงการคลัง กระทรวงเจ้าสังกัดรัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ผู้แทนแรงงาน สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ธนาคารโลก

ทั้งนี้ ขั้นตอนถัดไปสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะหน่วยงานเลขานุการของ คนร. จะนำมติเสนอต่อกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ หลังจากนั้นจึงส่งต่อไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจสอบ สุดท้ายจึงส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบประกาศเป็นกฎหมายต่อไป โดยคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ได้ภายในเดือนมีนาคม 2559

“พูดถึงรัฐวิสาหกิจ บางครั้งก็พบว่าระบบการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจของไทยอาจจะยังไม่เป็นระบบที่ชัดเจน มีความทับซ้อน มีปัญหาการบริหารงานไม่น้อย ที่ผ่านมาเรามีข้อเสนอในการปรับปรุงรัฐวิสากิจgเข้ามาที่ คนร. สิ่งที่ยังขาดอยู่คือยังไม่เขียนกรอบออกมาให้ชัดเจน อีกประการคือยังไม่มีกลไกเพียงพอที่จะขับเคลื่อน เราจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา ที่ผ่านมาเราได้รับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและปรับปรุงจนเป็นร่างฉบับล่าสุดที่ คนร. เห็นชอบ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นกังวลว่าจะแปรรูปตามมาตรา 50 และ 52 ที่ให้ ครม. กำหนดทุนเรือนหุ้นขั้นต่ำและสามารถมีมติขายได้ เราก็ได้ตัดข้อความดังกล่าวออกไป หรือเรื่องของพนักงานที่เดิมมีการกำหนดคุณสมบัติของฝ่ายบริหารเพื่อความคล่องตัว เราก็ระบุให้ชัดเจนขึ้นว่าสำหรับเฉพาะฝ่ายบริหารเท่านั้น เป็นต้น” ดร.ประสารกล่าว

ดร.ประสารกล่าวต่อว่า สำหรับรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ. ฉบับปรับปรุงนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน 1) ว่าด้วยการกำกับดูแลและระบบบรรษัทภิบาลที่ดี 2) การเพิ่มกลไกขับเคลื่อนรัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อมในเชิงพาณิชย์ ได้แก่ รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในรูปบริษัทจำกัดและบริษัทจำกัด (มหาชน) 12 แห่ง

โดยในส่วนของการกำกับดูแลที่ดีจะแยกบทบาท 4 องค์ประกอบของรัฐวิสาหกิจออกจากกัน ได้แก่ ผู้ออกนโยบาย, ผู้กำกับดูแลของสาขาอุตสาหกรรม, ผู้ทำบทบาทเจ้าของรัฐวิสาหกิจ และตัวรัฐวิสาหกิจ ต่างจากเดิมที่หลายหน่วยงานยังคงมีบทบาททับซ้อนกันอยู่ เช่นเดียวกับการสร้างกรอบระบบบรรษัทภิบาลที่ดีจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ระบบการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการ, ระบบการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชน, มาตรการลดโอกาสที่จะถูกรัฐบาลใช้เพื่อดำเนินนโยบายอย่างไม่รับผิดชอบ

สำหรับกลไกขับเคลื่อนรัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อม จะมีองค์กรที่เรียกว่าบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือซูเปอร์โฮลดิ้ง จะเป็นหน่วยงานของรัฐ โดยกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% ทำหน้าที่เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นสำหรับรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทหรือบริษัทมหาชน 12 แห่ง ขณะที่รัฐวิสาหกิจอีก 44 แห่ง สคร. ยังคงดูแลเหมือนเดิม แต่จะมีกรอบบรรษัทภิบาลต่างๆ มากำกับเพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการทำงานของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

“สิ่งที่ คนร. พยายามทำเป็นการปฏิรูปเชิงสถาบัน คือ เราพยายามตั้งกรอบให้ชัดเจนเข้มแข็ง แต่น้ำหนักขั้นต่อไปจะลงไปที่การบริหารจัดการ ตรงนี้จะไปพูดในลักษณะสัญญามากเกินไปไม่ได้ แต่เราเชื่อว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่จะสร้างพื้นฐานที่เอื้อให้การทำงานรัฐวิสาหกิจของเราเป็นไปได้ด้วยความปกติมากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้ทนทานความท้าทายต่างๆ อย่าลืมว่าบางแห่งต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงมาก เช่น การบินไทย เราเห็นบริษัทสายการบินเก่งๆ ที่มีบรรษัทภิบาลดีเยี่ยมแต่ก็ต้องเผชิญการท้าทายจำนวนมากอยู่ มันมากับโลกธุรกิจสมัยใหม่ แต่ถ้าภายในไม่เข้มแข็ง มันล้มตั้งแต่วันแรกเลย โอกาสที่จะไปสู้มันยาก เปรียบเหมือนกระดูกของเราที่ธรรมชาติสร้างมาดีมาก ชิ้นเล็กชิ้นน้อยทำงานประสานกันจนรับการทำงานต่างๆ ได้มากขนาดนี้ ดังนั้น ถ้าเราทำองค์ประกอบชิ้นเล็กชิ้นน้อยของรัฐวิสาหกิจทำหน้าที่ประสานกันได้ดี มันก็จะทำงานได้ดีเป็นปกติ แต่ว่าเพียงเท่านี้แล้วจะบอกว่าเราจะทนกับแรงกระแทกได้ทุกอย่างมันก็เกินเลยไป บอกว่าออกกฎหมายแล้วปีหน้าจะวิ่งฉิวเลย ไม่ใช่ และคิดว่าคงไม่เป็นแบบนั้น เราคงต้องเผชิญความท้าทายต่างๆ อยู่ แต่ตอนนี้ขอให้ช่วยให้มันทำงานเป็นปกติก่อน ไม่ได้ให้ทำงานเป็นซูเปอร์แมนเป็นผู้วิเศษ บรรษัทไม่ใช่ยาวิเศษแบบนั้น” ดร.ประสารกล่าว

3 เสาหลัก “บรรษัทภิบาล”

ดร.ประสารกล่าวต่อไปว่า โดยหลักการในระบบบรรษัทภิบาลที่ดีจะต้องอาศัยการทำงานของ 3 เสาหลักประกอบกัน 1) ข้อบังคับกฎหมายต่างๆ ต้องออกแบบให้มีกลไกรักษาสมดุลของอำนาจ มีการคานอำนาจ มีการป้องกันการปฏิบัติไม่ชอบ ตัวอย่างเช่น ร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดไว้ว่า ถ้ารัฐบาลจะให้ดำเนินนโยบายที่อาจจะกระทบกับรัฐวิสาหกิจ ต้องตกลงกันว่าจะชดเชยกันอย่างไร 2) การรับรู้ผิดถูกและการสร้างความสัมพันธ์กับภาคประชาสังคม หากองค์กรทำงานสร้างความสัมพันธ์กับประชาสังคม รวมทั้งการแสดงออกว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก เมื่อเวลาผ่านไปจะเป็นตัวช่วยกำกับดูแล โดยภาคประชาสังคมจะเข้ามาช่วยกันตรวจสอบเมื่อมีประเด็นที่ไม่ชอบมาพากล ซึ่งบางครั้งมีผลกระทบมากกว่าตัวบทกฎหมาย 3) จรรยาบรรณและจริยธรรมขององค์กร ซึ่งต้องเริ่มต้นจากวัฒนธรรมขององค์กรที่ดีว่าถ้าไม่ดีสำหรับประเทศชาติจะต้องลุกขึ้นมาจัดการ

“ถ้าบริหารจัดการเสาหลักเหล่านี้มันจะช่วยระบบไม่เฉพาะระบบรัฐวิสาหกิจของเรา แต่อาจจะหมายถึงระบบการเมืองของประเทศด้วย การตัดขาดจากการเมืองคงเป็นไปไม่ได้ แต่เราน่าจะสามารถสร้างระบบที่ดีได้ผ่านเสาหลักต่างๆ แต่ท้ายที่สุด ความสำเร็จหรือไม่สำเร็จขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการด้วย ให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการ” ดร.ประสารกล่าว

คนร 1_2559

ฟื้นฟู 7 รัฐวิสาหกิจเส้นตายมีนาคม 2559

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สคร. ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คนร. ได้กล่าวถึงการพิจารณาการดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ 7 แห่งว่า คนร. รับทราบผลการดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ตามที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจเสนอ ซึ่งเห็นว่ารัฐวิสาหกิจมีความคืบหน้าและพัฒนาดีขึ้นตามลำดับ แต่การแก้ไขปัญหาในบางประเด็นสำคัญยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และจำเป็นต้องมีการติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด และจะมีการประเมินผลการดำเนินงานอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2559

ทั้งนี้ คนร. มีข้อสังเกตและความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจรายแห่ง ดังนี้

1) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ.ทีโอที) และ 2) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ.กสท)

– มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวง ICT) กำหนดทิศทางและบทบาทที่ชัดเจนร่วมกันของรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง และกำกับดูแลการดำเนินงานดังกล่าวให้มีความชัดเจนและเห็นผลเป็นรูปธรรมภายในเดือนมีนาคม 2559

– ต้องหาข้อยุติเรื่องการใช้ประโยชน์เสาโทรคมนาคมที่อยู่ในครอบครอง

– ทีโอทีสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าเป้าหมายกำหนดไว้ 6,000 ล้านบาท หรือ 10% ของค่าใช้จ่ายเดิม โดยลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 10,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 26% ของค่าใช้จ่ายเดิม

3) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

– ในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ รฟท. กำหนดให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท. ต้องมีความชัดเจนถึงแหล่งเงินลงทุนก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และให้เริ่มลงทุนให้ได้ภายในปี 2559-2560

– กำหนดนโยบายให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนสำหรับโครงการของ รฟท. เพิ่มขึ้นแทนการให้ รฟท. ลงทุนเอง เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐในภาพรวม และสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ARL) ยืนยันให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในการดำเนินงานเดินรถ

– กำหนดให้ รฟท. จัดทำแผนงานการส่งมอบพื้นที่ย่านโรงงานมักกะสันให้ชัดเจน โดยยืนยันให้ รฟท. ทยอยส่งมอบพื้นที่ให้กระทรวงการคลังภายใน 2 ปี ทั้งนี้ ในส่วนพื้นที่ที่เป็นโรงพยาบาล โรงเรียน และบ้านพักผ่อนผัน ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายใน 3 ปี

– การก่อสร้างรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง สามารถลงนามสัญญาก่อสร้างแล้ว 2 เส้นทาง อยู่ระหว่างให้ ครม. พิจารณา 1 เส้นทาง และอยู่ระหว่างพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ 3 เส้นทาง

4) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

– เร่งรัดให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนแผนการจัดหารถ โดยให้พิจารณาประเภทและจำนวนที่เหมาะสมภายในเดือนมีนาคม 2559

– เร่งจัดซื้อรถโดยสารก๊าซธรรมชาติ (NGV) 489 คัน ให้สามารถประกวดราคาให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2559

– การจัดทำระบบตั๋วร่วม ให้เริ่มดำเนินการในส่วนที่สามารถดำเนินการได้เลยทันที โดยเฉพาะในส่วนของ ขสมก. ก่อน

– ให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการให้เอกชนเข้ามาเดินรถในส่วนของ ขสมก. เพิ่มเติม และให้กำกับรถร่วมบริการให้มีคุณภาพการให้บริการที่ดีขึ้น

5) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.การบินไทย)

– ให้จัดทำแผนงานและกำหนดเวลาการจัดการตัวแทนจำหน่าย (Agent) ให้มีความชัดเจน และเสนอภายในเดือนมีนาคม 2559

– ให้ชะลอการจัดหาเครื่องบินที่ยังไม่มีความจำเป็น ในกรณีมีการจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติม จะต้องเป็นเครื่องบินประเภทเดียวกับที่มีอยู่แล้วในฝูงบิน

– สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ 7,200 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 10,000 ล้านบาท

6) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)

– เร่งลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

7) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)

– ให้เร่งดำเนินการจัดหาพันธมิตรให้เป็นไปตามแผนงานและลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้เป็นตามเป้าหมาย

นายเอกนิติกล่าวต่อว่า เพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง คนร. จะติดตามผลการดำเนินงานตามแผนที่ยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง โดยได้กำหนดตัวชี้วัดการประเมินผลการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง เพื่อประเมินผลต่อไปในเดือนมีนาคม 2559 และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ พิจารณาแผนการดำเนินงานในปี 2559 ของรัฐวิสาหกิจ โดยให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปและนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งกำหนดแนวทางการประเมินผลการแก้ไขปัญหาและมาตรการเพื่อบังคับใช้ ในกรณีที่รัฐวิสาหกิจไม่สามารถดำเนินการได้บรรลุตามเป้าหมาย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559

ขณะที่แนวคิดก่อนหน้านี้ที่จะให้ไฟเหลืองไฟแดงเพื่อเตือนหรือลงโทษรัฐวิสาหกิจที่ไม่สามารถฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาได้ตามเป้าหมาย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุว่า อยากให้ปรับเกณฑ์การประเมินใหม่ เนื่องจากการให้ไฟเหลืองไฟแดงเป็นเกณฑ์ที่หยาบเกินไปและเป็นการบั่นทอนกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจต่างๆ โดยอาจจะเปลี่ยนไปใช้เป็นเกณฑ์ดีมาก ดี พอใช้ ต้องแก้ไข เป็นต้น