ThaiPublica > เกาะกระแส > “ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์” ติวเข้มเอกชน เทคนิคการฟื้นฟูกิจการหลังน้ำลด

“ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์” ติวเข้มเอกชน เทคนิคการฟื้นฟูกิจการหลังน้ำลด

12 ธันวาคม 2011


นายถาวร รุจิวนารมย์ หัวหน้าหุ้นส่วนกรรมการอาวุโสและกรรมการบริหาร บริษัทที่ปรึกษาไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ฯ (กลาง) และทีมผู้บริหารแถลงข่าวกับสื่อมวลชน

ภาคธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่ามหาศาล ถึงแม้ตอนนี้ หลายพื้นที่น้ำจะลดลงไปหมดแล้ว แต่ผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัย ก็ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาที่จะตามมาอีกนานับประการ

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย ที่ปรึกษากฎหมายและภาษีอากร ได้จัดสัมมนา”แนวทางในการฟื้นฟูธุรกิจหลังวิกฤตน้ำท่วม” เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นความรู้แก่เจ้าของกิจการและฝ่ายบัญชีของบริษัทที่เป็นลูกค้า ได้นำไปใช้วางแผนการดำเนินธุรกิจต่อไป

นายถาวร รุจิวนารมย์ หัวหน้าหุ้นส่วนกรรมการอาวุโสและกรรมการบริหาร ของบริษัทที่ปรึกษาไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ฯ กล่าวถึงสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาหลังน้ำลดว่ามีหลายประเด็น เช่น ในลงบันทึกความเสียหายที่เกิดขึ้นในทางบัญชีจะมีผลกระทบอย่างไร บางรายเอกสารหาย ฐานข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ไม่สามารถกู้กลับคืนมาได้ แล้วจะนำข้อมูลหลักฐานอะไรไปยื่นแสดงให้กับส่วนราชการ

“สิ่งที่ผู้ประกอบการกำลังรอดูอยู่ในตอนนี้ คือ กรณีที่เอกสารหายไม่สามารถค้นหาต้นฉบับได้ จะไปให้ซัพพลายเออร์ออกเอกสารให้ใหม่ ขณะที่ซัพพลายเออร์ก็จมน้ำเหมือนกันจะทำอย่างไร ผู้ตรวจสอบบัญชีจะเซ็นต์รับรองงบดุลได้หรือไม่ ขณะที่กรมสรรพากรเอง ก็ยังไม่ได้ออกแนวปฎิบัติอะไรออกมาให้ชัดเจน”

ส่วนมาตรการเดิมที่ออกมาแล้ว กรณีก็ยังมีความคลุมเครือ อย่างเช่น กรณีเจ้าของกิจการได้รับเงินบริจาค ตามกฏหมายจะได้รับยกเว้นภาษีได้ แต่ต้องไม่เกินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงงาน สมมุติว่า โรงงานเสียหาย 300 ล้านบาท ได้ทำประกันภัยความเสียหายจากน้ำท่วมเอาไว้ บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ 200 ล้านบาท บังเอิญมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินให้โรงงานใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนมา 500 ล้านบาท ในประมวลรัษฎากรเองก็เขียนไว้ไม่ชัดเจนว่าเงินบริจาคที่ได้รับมาถือเป็นเงินได้ที่ต้องนำไปคำนวณเสียภาษีเงินได้เต็มจำนวนเลยหรือไม่ หรือจะต้องนำไปหักค่าสินไหมที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยก่อน

หนุนคลังออกกฏ-นำมูลค่าความเสียหายหักภาษี 5 ปี

ส่วนมาตรการทางด้านภาษี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดใหม่ มีแต่มาตรการเดิมๆซึ่งเป็นระเบียบปกติอยู่แล้ว เช่น บุคคลธรรมดาบริจาคเงินช่วยน้ำท่วมได้ไม่เกิน 10 % ของรายได้ นิติบุคคลบริจาคได้ไม่เกิน 2 % ของรายได้ แต่สิ่งที่ถือว่าเป็นมาตรการใหม่ในตอนนี้คือสรรพากรอนุญาตให้นำเงินบริจาคผ่านตัวแทน เช่น บริษัทเอกชน ส่วนราชการ เพื่อช่วยเหลือน้ำท่วม สามารถนำมาหักภาษีได้ ตรงนี้ถือว่าเป็นมาตรการใหม่ล่าสุด อย่างที่ญี่ปุ่นเวลาเกิดปัญหาภัยพิบัติสึนามิสามารถนำเงินที่บริจาคมาหักภาษีได้ 80 % ของเงินได้ ซึ่งปกติหักได้แค่ 40 % ของรายได้

“รัฐบาลควรจะมีมาตรการมาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมมากกว่านี้ อย่างในช่วงที่เกิดวิกฤติต้มย้ำกุ้ง ภาคธุรกิจเอกชนเป็นจำนวนมากขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน รัฐบาลในสมัยนั้นอนุญาตให้นำผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนมาหักเป็นรายจ่ายเฉลี่ยออกไปได้ถึง 5 ปี ซึ่งแนวทางนี้น่าจะนำมาประยุกค์ใช้กับวิกฤติอุทกภัยในครั้งนี้ได้ เพราะหลายโรงงานได้รับความเสียหาย เกือบถึงขั้นล้มละลาย แต่ตอนนี้แทบจะไม่มีมาตรการใหม่ๆออกมาช่วยเหลือภาคเอกชนเลย”นายถาวร กล่าว

นายศิริพงษ์ ศุภกิจจานุสรณ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษากฏหมาย บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ฯ

ขณะที่มาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ถือว่าเครื่องมือของรัฐบาลที่จะเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา โดยนายศิริพงษ์ ศุภกิจจานุสรณ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษากฏหมาย บริษัทไพร้ซ์วอเตอร์เฮ้าส์ฯ กล่าวว่าหลังจากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ให้บีโอไอ ไปศึกษาหามาตรการเรียกความเชื่อมั่น แต่มาตรการที่บีโอไอยกร่างขึ้นมาในตอนนี้ ยังไม่มีเรื่องใดที่มีผลบังคับใช้ในทางกฏหมาย ยกเว้นมาตรการยกเว้นภาษีน้ำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม นอกนั้นยังเป็นแค่นโยบาย สาเหตุที่ยังไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากบอร์ดของบีโอไอ เห็นว่าหากมีการขยายระยะเวลาในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลออกไปอีก 8 ปี จะทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้มากเกินไป

“มาตรการของบีโอไอที่จะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ที่จะเสนอกลับเข้ามาที่บอร์ดใหญ่ในครั้งหน้านั้น ควรจะมีการกำหนดเขตที่จะได้รับการส่งเสริมไม่ใช่ให้ทุกเขต ดูความสำคัญของโครงการ และก็ให้ผู้ประกอบการรายเดิมที่ถูกน้ำท่วม หากมีการขยายการลงทุนใหม่ในจังหวัดที่เคยถูกน้ำท่วมจะได้รับการยกเว้นภาษี 8 ปี” นายศิริพงษ์กล่าว

ส่วนมาตรการยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป สำหรับโรงงานผลิตรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมนั้น และยกเว้นภาษีนำเข้าให้กับโรงงานผลิตอะไหล่ชิ้นส่วนยานยนต์ตามมติดครม.เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ไม่ใช่มาตรการของบีโอไอ แต่เป็นมาตรการที่นำเสนอโดยกรมศุลกากรผ่านกระทรวงการคลัง โดยทุกครั้งที่จะมีการนำเข้า ผู้ประกอบการจะต้องได้รับอนุมัติจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.)ก่อน

ประเด็นที่มีการวิพากย์วิจารณ์กันมาก คือเรื่องการยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป สำหรับโรงงานผลิตรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2554 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2555 หากรัฐบาลไม่อนุญาตให้ทำเช่นนี้ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย เพราะไม่สามารถส่งมอบสินค้าให้กับตัวแทนจำหน่าย ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ตามสัญญา ซึ่งในที่นี้คือบริษัทฮอนด้ารายเดียวที่อยู่ในข่ายได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป

ส่วนค่ายโตโยต้าเอง ซึ่งได้รับผลกระทบทางอ้อม โดยโรงงานผลิตอะไหล่ชิ้นส่วน ซึ่งเป็นซัพพลายเชนของโตโยต้าถูกน้ำท่วมไม่สามารกส่งมอบชิ้นส่วนเข้าโรงงานผลิตรถยนต์ที่จังหวัดสมุทรปราการได้ ก็ได้รับประโยชน์จากมติครม.นี้ด้วย โดยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าอะไหล่ชิ้นส่วนจากต่างประเทศเหมือนกัน

รวมทั้งมติครม.ดังกล่าวไม่ได้จำกัดเฉพาะธุรกิจยานยนต์เท่านั้น ยังเปิดช่องให้โรงงานอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆที่ประสบภัยน้ำท่วมจนไม่สามารถเดินเครื่องผลิตสินค้าได้ สามารถไปนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาทดแทน โดยจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าด้วยเช่นเดียวกัน แต่ต้องขออนุมัติสศอ.ทุกครั้ง

“เหตุสุดวิสัย”ประเด็นใหญ่

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่จะต้องมีการตีความกันตามกฏหมาย โดยเฉพาะคำว่า เหตุสุดวิสัยภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Act of God” คือ เป็นปรากฏการณ์ที่พระเจ้าเป็นผู้ประทานลงมา ไม่สามารถควบคุมได้

ตามกฏหมายแรงงานระบุว่า กรณีเกิดเหตุสุดวิสัย นายจ้างสามารถหยุดจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างได้ แต่ถ้าไม่ใช้กรณีเกิดเหตุสุดวิสัย แต่เป็นกรณีของความจำเป็น ที่นายจ้างต้องปิดกิจการลง ตามกฏหมายแรงงานกำหนดให้จ่ายค่าแรงให้กับลูกจ้างไม่น้อยกว่า 75 % ซึ่งกฏหมายนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน คาดว่าจะต้องมีการตีความออกมาว่ากรณีน้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้โรงงานมีความจำเป็นต้องปิดกิจการ ผลลัพธ์คือนายจ้างต้องจ่ายเงินเดือนอย่างน้อย 75 % ตามกฎหมาย

นี่คือกฎหมายแรงงาน แต่อาจจะไปขัดแย้งกับกฏหมายของประกันภัย ถ้าไม่ใช่กรณีเหตุสุดวิสัย หรือพระเจ้าประธาน บริษัทประกันภัยไม่จ่ายค่าสินไหม

ตรงนี้คล้ายคลึงกับสัญญาการส่งมอบสินค้า ถ้าเป็นกรณีสุดวิสัย ทำให้ส่งมอบสินค้าไม่ได้ ถือว่าไม่ผิดนัด แต่ฝ่ายผู้ซื้อซึ่งได้รับความเสียหาย ก็จะต้องพยายามโต้แย้ง ดังนั้นจึงต้องมีการตีความประเด็นเรื่องเหตุสุดวิสัยกันให้ชัดเจนก่อน เพราะไปเกี่ยวโยงกับกฏหมายอื่นๆอีกหลายตัว

นายชาญชัย ชัยประสิทธิ์ หุ้นส่วนที่ปรึกษาสายงานตรวจสอบ บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ฯ

จะลงบัญชีกันอย่างไร

ส่วนประเด็นการลงบันทึกบัญชี นายชาญชัย ชัยประสิทธิ์ หุ้นส่วนที่ปรึกษาสายงานตรวจสอบ บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ฯ กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้สามารถแบ่งผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง กับกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม บางกิจการที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม อาจจะได้รับความเสียหายไม่แพ้กัน กิจการที่ได้รับผลกระทบทางตรง อย่าง บริษัทฮอนด้าอยู่ในจ.พระนครศรีอยุธยาได้รับผลกระทบน้ำท่วมโดยตรง แต่โตโยต้าอยู่สมุทรปราการน้ำไม่ท่วม แต่ซัพพลายเออร์ของโตโยต้าอยู่ที่อยุธยาถูกน้ำท่วมหมด ต้องลดกำลังการผลิตเหลือแค่ 50 % ซึ่งไม่ใช่กระทบเฉพาะเมืองไทยเท่านั้น ยังส่งผลกระทบไปถึงต่างประเทศด้วย

ประเด็นต่อมาคือการปิดงบดุล ปิดงบการเงิน แต่ละกิจการจะมีรอบระยะเวลาบัญชีแตกต่างกัน ดังนั้นการบันทึกความเสียหายที่เกิดขึ้น ก็จะมีผลกระทบต่องบดุลแตกต่างกันไปด้วย อย่างเช่น ทรัพย์สินของกิจการเคยบันทึกไว้ 10,000 ล้านบาท หลังจากถูกน้ำท่วมอาจจะลดลงเหลือ 8,000 ล้านบาท หรืออาจจะลดลงไปมากกว่านี้ขึ้นอยู่กับความเสียหาย ซึ่งในประเด็นนี้ทั้งเจ้าของกิจการ นักลงทุนที่เข้ามาซื้อหุ้นต่างให้คความสนใจมากว่าปีนี้กิจการจะมีกำไรหรือขาดทุน หากกิจการใดปิดงบวันที่ 31 ธันวาคม รับรองว่าปีนี้ งบดุล งบกำไร-ขาดทุนไม่สวยแน่

แต่ก็มีบางกิจการที่ปิดงบดุลไปก่อนที่จะเกิดเหตุการน้ำท่วม หรือปิดงบในเดือนกันยายนที่ผ่านมา กรณีนี้ยังไม่ต้องบันทึกความเสียหายลงไปเป็นค่าใช้จ่าย หรือตีราคาทรัพย์สินที่ลดลง แต่จำเป็นที่จะต้องทำการประมาณการความเสียหายไว้ในหมายเหตุของงบดุล แต่ในปีหน้าจะไปกระทบกับงบกำไร-ขาดทุนเต็มๆ

หลังจากน้ำลดควรทำอย่างไร

ประการแรกที่เจ้าของกิจการต้องทำ คือสำรวจทรัพย์สินว่ามีอะไรเสียหาย ก็จะมีทรัพย์สินที่มีตัวตนจับต้องได้ เช่น ตัวโรงงาน เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ หากพบว่าเสียหายเท่าไหร่ ก็ตัดออกจากบัญชีได้เลย

แต่ถ้าเป็นสิ่งทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน ก็ตีมูลค่ายากหน่อย เช่น พวกค่าความนิยม หรือกู๊ดวิล สิทธิในสัมปทาน ค่าลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า ซึ่งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มักจะชอบไปเทคโอเวอร์กิจการเหล่านี้ และตีมูลค่าบัญชีเข้ามารวมอยู่ในบริษัทแม่ แต่ปรากฏว่าบริษัทลูกที่เข้าไปเทคโอเวอร์มาถูกน้ำท่วม ผลิตไม่ได้ไป 6 เดือน ก็จะต้องตีมูลค่ากู๊ดวิลกันใหม่

ในอดีตเป็นกิจการดี แต่ตอนนี้เสียหายไปกับน้ำหมด ต้องมาเริ่มทำธุรกิจกันใหม่ มูลค่าทางบัญชีลดลง หน้าที่ของผู้สอบบัญชีต้องไปตีราคาทรัพย์สินที่เป็นตัวตน ซึ่งยากมาก เราต้องไปประเมินราคา ต้องใช้ทฤษฎีคณิตศาสตร์ทางการเงิน เข้ามาคำนวณ

ด้านสถาบันการเงินเอง เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางตรงคือสาขาถูกน้ำท่วม ส่วนทางอ้อมคือลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อถูกน้ำท่วม จนไม่สามารถเยียวยาได้ ก็ต้องสำรองหนี้สูญเต็มจำนวน

ส่วนกิจการที่ไม่ใช้สถาบันการเงิน ลูกค้าถูกน้ำท่วมเรียกเก็บเงินไม่ได้ มูลค่าหนี้ที่เคยบันทึกไว้ในบัญชีก็จะต้องลดลง และต้องตั้งสำรองหนี้สูญด้วย ประเด็นที่เจ้าของกิจการจะต้องพิจารณาต่อไป เมื่อลูกหนี้มีสภาพเป็นอย่างนี้แล้วยังจะปล่อยสินเชื่อ หรือส่งสินค้าให้ขายต่อไปอีกหรือไม่

อีกประเภทเป็นพวกที่ทำสัญญาซื้อ-ขายสินค้าไว้ล่วงหน้า (ONEROUS CONTACT) ถ้าถึงเวลาแล้วส่งของให้ผู้ซื้อในต่างประเทศไม่ได้ ซึ่งผู้ซื้อที่อยู่ต่างประเทศ เขาก็เห็นใจว่าโรงงานคุณถูกน้ำท่วม แต่จำเป็นต้องฟ้อง เพราะเขาก็เสียหาย ผลิตสินค้าส่งมอบให้ลูกค้าไม่ได้ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเหมือนกัน ถ้าเป็นบริษัทแม่กับบริษัทลูกไม่เป็นไร แต่ถ้าส่งให้เจ้าอื่นข้ามกลุ่ม ก็จะมีปัญหา ฟ้องกันเป็นทอดๆ คนรวยคือทนายความ

สต็อกหายทำอย่างไร

ส่วนสินค้าคงค้างที่อยู่ในสต็อก หากถูกน้ำท่วม ผู้สอบบัญชีก็ต้องไปประเมินว่าอยู่ในสภาพที่ขายได้ไหม ถ้าไม่อยู่ในสภาพที่ขายต้องตัดเป็นศูนย์แล้วนำไปบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายทั้งก้อน สมมุติ อาหารกล่องที่ใส่แพ็คเกจจิ้งอย่างดีข้างในน้ำไม่เข้า ข้างนอกสกปรก ถามว่าจะมีคนซื้อไหม โดยปกติคงจะไม่มีใครซื้อหรอก เพราะอาหารเป็นเรื่องของความสะอาด แต่ถ้าไปขายตามตลาดนัด คนอาจจะซื้อ

ตรงประเด็นนี้ก็ต้องมาประเมินกันว่ามูลค่ามันจะเหลือสักเท่าไหร่ แต่ถ้าจะเอามาหักภาษีเป็นค่าใช้จ่ายทั้งก้อนต้องให้เจ้าหน้าที่สรรพากรมาดู ทางบัญชีตัดได้ แต่สรรพากรกลัวว่าจะไปวางขายตามตลาดนัด ซึ่งกฏนี้มีมานานแล้ว ตามระเบียบต้องเอาไปทำลาย เชิญสรรพากรมาเป็นพยาน ถ้าสรรพากรไม่มาดู ตามกฏหมายให้ผู้สอบบัญชีไปดูและเซ็นต์รับรองแทนได้

แต่บริษัทใหญ่ๆ เขาจะรักษาแบรนด์เขา สต็อกสินค้าที่จมน้ำ เขาจะเอาไปเผาทำลาย อย่างกรณีรถยนต์ฮอนด้า จมน้ำบางส่วน แต่เขาทุบทั้งคัน เพื่อต้องการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าเขาไม่ได้ไปเอารถยนต์ที่จมน้ำมาขาย

แต่สินค้าบางอย่าง ถึงแม้จะมีตำหนิ ผู้บริโภคก็ยังซื้ออยู่ดี อย่าง ที่นอนเอามาขายลดราคาขาย 50 % ผู้บริโภคดูไม่รู้หรอกว่ามันมีตำหนิตรงไหน ดังนั้นสินค้าที่ถูกน้ำท่วมบางชนิด ก็ขายได้ แต่ราคาขายต้องลดต่ำกว่าราคาต้นทุน

สมมุติ สินค้าลงบัญชีต้นทุนไว้ 10,000 บาท ตั้งราคาขายที่ 15,000 บาท แต่ถ้าถูกน้ำท่วมเสียหายบางส่วนขายที่ 8,000 บาท เอา 2,000 ไปบันทึกเป็นค่าใช้จ่าย แต่ถ้าเสียหายขายไม่ได้เลยต้องบันทึกเป็นรายจ่ายทั้งก้อน

กรมศุลฯ-สรรพากรไล่บี้ภาษีย้อนหลัง

สำหรับประเด็นเรื่องบีโอไอ ก็มีปัญหาหลายกิจการได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออก แต่มีข้อแม้ว่าวัตถุดิบที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าต้องผลิตให้เสร็จแล้วส่งออกไปขายต่างประเทศภายใน 1 ปี บริษัทพวกนี้ต้องบันทึกข้อมูลเอาไว้ทุกขั้นตอน

ตอนนำสินค้าเข้าโรงงานผลิตได้รับการยกเว้นภาษี ปรากฏว่าตอนนี้สต็อกสินค้าที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดอยุธยา 5-6 แห่ง ส่วนใหญ่สูญหายลอยไปกับน้ำ บางส่วนเหลือแต่ซาก ปัญหาคือถ้าไม่สามารถนำวัตถุดิบเหล่านี้มาผลิตเพื่อส่งออกให้เสร็จภายใน 1 ปี จะต้องเสียภาษีนำเข้าย้อนหลังให้กับกรมศุลกากร เพราะไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฏหมายศุลกากรกำหนด

ทางบีโอไอจึงออกประกาศเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กำหนดให้ผู้สอบบัญชีเข้าไปตรวจและรับรอง สต็อกวัตถุดิบที่สูญหาย ซึ่งตรงนี้ผู้ตรวจสอบบัญชีคงรับรองให้ไม่ได้ เพราะผู้สอบบัญชีไม่ได้ไปนอนเฝ้าอยู่ที่โรงงานตลอดเวลา สินค้าบางสวนอาจจะถูกขโมยออกไป บางส่วนสูญหายไปกับน้ำ

แต่ผู้สอบบัญชีจะใช้วิธีการรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ ยกตัวอย่าง น้ำท่วมโรงงานวันที่ 2 ตุลาคม ทางผู้สอบบัญชีก็จะนำข้อมูลสต็อกสินค้าก่อนถูกน้ำท่วม คือข้อมูล ณ วันที่ 1 ตุลาคม สต็อกสินค้ามีจำนวนเท่าไหร่ มาเปรียบเทียบกับช่วงหลังน้ำลดไปแล้วเหลือซากของสินค้าให้ดูเท่าไหร่ ที่เหลือสูญหายไปเท่าไหร่ แต่ไม่ใช่เป็นการรับรอง เพราะเราไม่ทราบข้อเท็จจริง

เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ก็เช่นเดียวกัน ปกติจะเสีย VAT ก็ต่อเมื่อมีการขาย แต่ถ้าเมื่อไหร่สต็อกหายไป สรรพากรถือว่าต้องเสีย VAT สมมติสินค้าในสต็อกมี 5,000 ชิ้น สรรพากรไปตรวจ พบว่าหายไป 3,000 ชิ้น หากผู้ประกอบการพิสูจน์ไม่ได้ว่าหายไปไหน ก็ต้องเสีย VAT ทันที

โชว์เทคนิคทางบัญชีหลังน้ำลด

ในเรื่องของบัญชี คนทำการค้า ก็อยากจะรู้ว่าผลสุดท้ายกำไร-ขาดทุนมันจะเป็นเท่าไหร่ ด้านบัญชีงบดุลจะแสดงว่าบริษัทมีสินทรัพย์ หนี้สิน เท่าไหร ส่วนงบกำไร-ขาดทุน ก็จะแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีรายได้ รายจ่าย กำไรเท่าไหร่ เวลาคนไปลงทุน ก็อยากรู้ว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะเป็นอย่างไร

ในส่วนนี้เราจะต้องไปดูที่รอบระยะเวลาบัญชี คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกันที่รอบบัญชีเริมตั้นวันที่ 1 มกราคม แล้วมาปิดงบวันที่ 31 ธันวาคม แต่ทุกบริษัทไม่ได้เป็นแบบนี้ ส่วนใหญ่บริษัทญี่ปุ่นปิดบัญชีวันที่ 31 มีนาคม ส่วนออสเตรเลียเกือบ 80 % ปิดบัญชีวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผมพูดคือต้องการชี้ให้เห็นว่าแต่ละบริษัทมีรอบระยะเวลาบัญชีไม่เมือนกัน

ถ้ารอบปกติปิดวันที่ 31 ธันวาคม ความเสียหายมันเกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมหนักที่สุด ก็จะต้องบันทึกความเสียหายลงไป สำหรับทรัพย์สินที่เคยลงบัญชีเอาไว้มีมูลค่า 20 ล้านบาท ถ้าเป็นอิเลกทรอนิกส์ มันก็คือเศษเหล็ก ขายได้กิโลกรัมเท่าไหร่ ก่อนน้ำท่วมมีมูลค่า 20 ล้านบาท หลังน้ำลดอาจจะมีมูลค่าเหลือแค่ 2,000 บาท

“กรณีนี้ถ้าเป็นกิจการที่เคยมีกำไรอยู่ 10 ล้านบาท เจอแบบนี้เข้าไป จากที่เคยกำไรอยู่ดีๆ ก็กลายเป็นขาดทุนทันที ทรัพย์สินลดแน่นอน เพราะเสียหาย ขณะเดียวกันรายจ่ายเพิ่มขึ้น เพราะต้องไปฟื้นฟูกิจการ ดูแลพนักงาน ส่วนรายได้ก็ลดลง เพราะยังเดินเครื่องผลิตสินค้าไม่ได้ ปีนี้งบกำไร-ขาดทุนสำหรับกิจการน้ำท่วมไม่สวย และทรัพย์สินหดด้วย”นายชาญชัย กล่าว

ส่วนลูกค้าที่ปิดบัญชีไปก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม (เดือนกันยายน) กรณีนี้ยังไม่ต้องบันทึกความเสียหาย แต่จะต้องทำประมาณการความเสียหายเอาไว้ แล้วระบุไว้ในหมายเหตุของงบดุล เพื่อรอการนำไปบันทึกบัญชีในรอบถัดไป ปีหน้าก็จะรับไปเต็มๆ

ขณะที่กิจการอื่นเขาอาจจะรับรู้ หรือบันทึกความเสียหายไปหมดแล้วตั้งแต่ปีนี้ ปีหน้าเริ่มทำธุรกิจกันใหม่ ผลประกอบการก็จะดูดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ถูกน้ำท่วม

“หลายโรงงานน้ำลงต้องทำความสะอาด บางโรงงานต้องจ้าง คนมาติดตั้งเครื่องจักรใหม่ ต้องเซ็ทอัพเครื่องจักรใหม่หมดและต้องทำการทดสอบการผลิตอีก 1 เดือน กระบวนการ คือต้องใช้เวลา 3-6 เดือน ในการกู้เครื่องจักรให้กลับคืนมามีค่าใช้จ่ายประเมินออกมา 50 ล้านบาท จะลงบัญชีในปีนี้เลยหรือไม่ คำตอบคือไม่ได้ ถ้าเดือนนี้จ่ายไป 20 ล้านบาท ก็ต้องลงบัญชี 20 ล้านบาท อีก 30 ล้านบาทไปจ่ายกันปีหน้า ก็ต้องลงบันทึกบัญชีปีหน้า”

ขณะที่บางกิจการมองว่าในปีนี้ไหนๆ งบมันก็เละอยู่แล้ว งบไม่สวย ขอลงบันทึกความเสียหายในปีนี้เลยได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้ แต่นักธุรกิจบางคน อยากจะเอารายจ่ายมาลงให้เต็มในปีนี้ พอปีหน้าผลประกอบการก็ดูดี เมื่อเทียบกับปีที่ฐานต่ำๆ แต่ถ้าลงบันทึกความเสียหายในปีนี้ไว้น้อยๆ ก็จะไปโผล่ปีหน้า คนอื่นเขาฟื้นกันหมดแล้ว ทำไมคุณยังมีน้ำท่วมอีก ปัจจัยพวกนี้มีผลต่อการวัดฝีมือในการบริหารจัดการของผู้บริหาร และโบนัสของเขาด้วย แต่ละบริษัทจะมีการดำเนินการแตกต่างกัน บางบริษัทอยากจะบันทึกมากๆในปีนี้ แต่บางบริษัทก็อยากบันทึกน้อยๆแล้วแต่เงื่อนไข

ทั้งนี้ในสภาวิชาชีพบัญชีก็มีการหารือกันว่าควรจะมีการแยกความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมออกมาไว้อีกหมวดหนึ่ง ถ้าเอามาปนกันกับยอดขาย เพื่อให้นักลงทุนมาดูแล้วเข้าใจ