ThaiPublica > คนในข่าว > กรมควบคุมมลพิษชี้น้ำท่วมจากท่อระบายอันตรายต่อสุขภาพ ยันไม่มีสารพิษอันตราย ส่วนคลองประปาเริ่มเน่าแล้ว

กรมควบคุมมลพิษชี้น้ำท่วมจากท่อระบายอันตรายต่อสุขภาพ ยันไม่มีสารพิษอันตราย ส่วนคลองประปาเริ่มเน่าแล้ว

5 พฤศจิกายน 2011


หน่วยปฏิบัติการบรรเทาปัญหามลพิษในพื้นที่ประสบอุทกภัย
หน่วยปฏิบัติการบรรเทาปัญหามลพิษในพื้นที่ประสบอุทกภัย

ปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทยกินเวลายาวนานหลายเดือนครั้งนี้ นอกจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยตรงแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันก็คือปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาน้ำเน่าเสีย ขยะมูลฝอยและสารเคมี

หน้าที่สำคัญของหน่วยงานต่างๆ จึงไม่ได้มีเพียงแค่ทำอย่างไรให้สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย ดูแลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินให้น้อยที่สุด แต่ยังรวมไปถึงการดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ให้ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในภายหลังอีกด้วย

ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาปัญหามลพิษในพื้นที่ประสบอุทกภัย กรมควบคุมมลพิษขึ้น เพื่อดูและจัดการกับปัญหามลพิษในพื้นที่ประสบอุทกภัย

ท่ามกลางคำถามถึงความอันตรายของน้ำเน่าเสีย ปัญหาด้านคุณภาพน้ำและวิธีจัดการ นายอนุพันธ์ อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมการตรวจสอบคุณภาพน้ำของศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาปัญหามลพิษในพื้นที่ประสบอุทกภัย ได้เปิดเผยปัญหาคุณภาพน้ำที่เกิดขึ้นในอุทกภัยครั้งนี้กับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

นายอนุพันธ์ อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายอนุพันธ์ อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ไทยพับลิก้า:จากสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษเข้าไปดูแลเรื่องคุณภาพน้ำอย่างไรบ้าง

สำนักจัดการคุณภาพน้ำได้ดำเนินการตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อม และการเตรียมแผนปฏิบัติงานเข้าไปช่วยเหลือกรณีที่มีปัญหาน้ำเน้าเสียท่วมขัง ทั้งในระหว่างที่น้ำท่วมและภายหลังน้ำลดแล้ว สิ่งที่เราดำเนินการก็คือ การดูแลเรื่องปัญหามลพิษในพื้นที่ประสบอุทกภัยและเป็นหน่วยงานประสานเรื่องของการจัดหาสารสกัดชีวภาพ ที่เรียกว่าน้ำจุลินทรีย์เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ เอาไปดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย

ขณะนี้เรามีศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาปัญหามลพิษในพื้นที่ประสบอุทกภัย 2554 ตั้งอยู่ที่กรมควบคุมมลพิษ มีชุดปฏิบัติการภาคสนาม 44 ชุด ออกไปสำรวจพื้นที่ทุกวันและมีหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสารเคมีพร้อมปฏิบัติงานกรณีสารเคมีรั่วไหล

ในชุดปฏิบัติการ 44 ชุดจะแยกดำเนินการในพื้นที่ 15 จังหวัดในภาคกลางรวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย เพื่อเข้าไปสำรวจคุณภาพน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขัง ว่ามีน้ำท่วมขังอยู่ที่ไหนบ้าง สภาพน้ำขณะนั้นเป็นอย่างไร เน่าเสียหรือยัง ถ้าเน่าเสียแล้วก็จะมีการนำน้ำสกัดชีวภาพมอบให้หน่วยงานในพื้นที่ช่วยบรรเทาในเบื้องต้น โดยทั้ง 44 ชุดจะออกตรวจคุณภาพน้ำทุกวัน เริ่มทำมาตั้งแต่เดือนตุลาคมและมีแผนที่จะทำต่อไปเรื่อยๆจนสถานการณ์น้ำคลี่คลาย

ไทยพับลิก้า:การตรวจสอบคุณภาพน้ำมีวิธีการอย่างไร

เป็นการตรวจสอบเบื้องต้นแค่ 2 ค่าคือ ค่าความเป็นกรด-ด่างหรือค่า PH ของน้ำและดูค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำ เพื่อความรวดเร็วในการตัดสินใจว่าน้ำเน่าเสียหรือยัง

ปกติสภาวะธรรมชาติค่าความเป็นกรด-ด่าง จะอยู่ในช่วง 5.5 – 9 ถ้าต่ำกว่า 5.5 ลงมาแสดงว่ามีความเป็นกรด ถ้าเกิน 9 ขึ้นไปก็เริ่มเป็นด่าง ซึ่งความเป็นกรดหรือความเป็นด่างก็ตามจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศน์หรือแม้แต่คนที่ไปสัมผัส

ส่วนค่าออกซิเจนในน้ำก็เป็นค่าที่บอกถึงคุณภาพน้ำ ถ้าออกซิเจนในน้ำต่ำกว่า 2 มิลลิกรัมต่อลิตร ถือว่าเสื่อมโทรม ถ้าต่ำลงไปเรื่อยๆจนไม่มีออกซิเจน สิ่งมีชีวิตก็อยู่ไมได้ และจะเริ่มน้ำเน่าเสีย กลายเป็นสีดำ มีกลิ่นอย่างที่เราเห็น สิ่งเหล่านี้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพน้ำ นอกเหนือจากการดูด้วยสายตา

ไทยพับลิก้า:ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำในพื้นที่ต่างๆเป็นอย่างไรบ้าง

ขณะนี้ที่เราไปตรวจสอบมา ถ้าเริ่มจากแม่น้ำก่อน เราพบว่าน้ำในแม่น้ำมีคุณภาพเสื่อมโทรมมาตลอด ตั้งแต่ช่วงที่เกิดภาวะน้ำท่วม โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา ทุกครั้งที่มีการตรวจสอบพบว่ามีคุณภาพอยู่ในระดับเสื่อมโทรมทุกครั้ง ไล่เรียงพื้นที่มาตั้งแต่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างขึ้นไปจนถึงนครสวรรค์ ทางด้านแม่น้ำท่าจีนตั้งแต่ปากแม่น้ำไปจนถึงจังหวัดชัยนาท แม่น้ำยม แม่น้ำบางปะกงที่จังหวัดฉะเชิงเทราขึ้นไปก็ถือว่าเสื่อมโทรม มีออกซิเจนในน้ำต่ำ ส่วนแม่น้ำอื่นๆ นอกจากนั้นยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์พอใช้ถึงดีอยู่

จังหวัดที่ไปสำรวจแล้วพบว่ามีพื้นที่น้ำเสียท่วมขังมากที่สุดคือจังหวัดอยุธยา มีพื้นที่น้ำเสียประมาณ 9,000 ไร่ ที่อำเภอเมือง อำเภออุทัย อำเภอบางบาล เป็นต้น แต่ล่าสุดตอนนี้สถานการณ์น้ำเน่าเสียในจังหวัดอยุธยาก็เริ่มคลี่คลายแล้ว

ส่วนกรุงเทพมหานครนั้น แต่ละคลองตอนนี้อาจยังระบุไม่ได้ เราจะทำการสำรวจอย่างจริงจังในสัปดาห์หน้า เพราะกรุงเทพฯน้ำเพิ่งจะมาท่วมขัง แต่การสำรวจในเบื้องต้นพบว่าน้ำในคลองประปามีคุณภาพต่ำลง มีค่าออกซิเจนต่ำกว่า 2 อยู่ที่ประมาณ 1.2

ไทยพับลิก้า:กรณีของกรุงเทพมหานครน้ำที่ท่วมขังเป็นน้ำที่เอ่อล้นมาจากท่อระบายน้ำ ไม่ได้เคลื่อนที่ผ่านทางผิวดินเหมือนต่างจังหวัด น้ำจะมีอันตรายแตกต่างจากน้ำในพื้นที่อื่นๆหรือไม่

กรณีของกรุงเทพฯต่างจากพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากกรุงเทพฯเป็นเมืองใหญ่มีระบบเส้นท่อระบายน้ำครอบคลุมทุกพื้นที่ ดังนั้นในสภาวะปกติน้ำเสียจากกิจกรรมต่างๆก็จะไหลลงท่อระบายน้ำเพื่อส่งไปบำบัดที่ระบบบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 7 แห่ง บำบัดน้ำเสียรวมแล้วได้ประมาณวันละหนึ่งล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

โดยระบบเส้นท่อบำบัดน้ำเสียนี้เป็นระบบผสมที่รวมทั้งน้ำเสียและน้ำฝนไว้ในทางเดียวกัน แต่การสร้างเส้นท่อต่างๆในบ้านเรายังมีปัญหาเรื่องการลอกท่อที่อาจไม่ดีเท่าที่ควร มีขยะไปอุดตัน เมื่อมีน้ำเสียลงมาก็จะขังอยู่ในท่อ ของเสียจะออกไปจากท่อได้ก็ต่อเมื่อมีฝนตกลงมาชะของเสียออกไป ระบบปกติเป็นแบบนี้

พอมีน้ำท่วมมา น้ำจำนวนมากก็จะไหลลงที่ต่ำ ซึ่งก็คือน้ำจะไหลลงท่อก่อน เมื่อไหลลงท่อแล้วก็จะไปดันน้ำเสียที่อยู่ในท่อเดิมผุดขึ้นมาบนถนน จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมเมื่อน้ำเอ่อขึ้นมาบนถนนจึงเน่าเสียเร็วกว่าน้ำที่ท่วมขังของต่างจังหวัด ในทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯเมื่อน้ำดันมาตามท่อจึงเกิดเน่าเสีย ชุมชนต่างๆที่อยู่ในพื้นที่ต่ำก็ต้องรับน้ำเหล่านี้ไป

เรื่องอันตรายมากน้อยแค่ไหนนั้น เราพบว่าน้ำเสียที่ขึ้นมาจากท่อเป็นน้ำเสียชุมชนธรรมดา เคยมีการตรวจสอบเมื่ออยู่ในสภาวะปกติก่อนน้ำท่วมพบว่าน้ำเหล่านี้มีความสกปรกในลักษณะของน้ำเสียธรรมดาทั่วไป มีสารพิษต่างๆเช่นโลหะหนักต่างๆน้อยมาก มีปัญหาเพียงเรื่องการสะสมในรูปสารอินทรีย์เท่านั้น ซึ่งน้ำเสียชุมชนเหล่านี้ หากถามว่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ มันมีแน่นอนเพราะน้ำเหล่านี้สกปรก การไปอาศัยอยู่ในที่มีน้ำเสียเป็นเวลานานก็จะเกิดอันตราย จึงควรหลีกเลี่ยง ไม่ควรไปสัมผัส ถ้าจำเป็นต้องไปสัมผัสก็ต้องล้างทำความสะอาด แต่ถามว่าน้ำเสียชุมชนเหล่านี้อันตรายมากหรือไม่ ก็พบว่าน้ำเสียชุมชนยังมีสารพิษหรือโลหะหนักน้อยกว่าน้ำเสียโรงงานอยู่มาก

สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องคือขยะที่ตกค้าง ไม่ว่าจะเป็นที่ตกค้างอยู่ในท่อหรือเกิดขึ้นใหม่ก็ตาม ยังไม่มีระบบจัดการให้มีการเก็บเป็นที่เป็นทาง หากทิ้งลงซ้ำไปก็จะทำให้น้ำเสียเร็วขึ้น

ไทยพับลิก้า:การแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในเบื้องต้นมีวิธีการอย่างไร

ตอนนี้ปริมาณน้ำมีสูงมาก การจัดการปัญหาน้ำเสียท่วมขังในระยะฉุกเฉินแบบนี้ เราได้ใช้สารสกัดชีวภาพเพื่อบรรเทาในเบื้องต้นก่อน ซึ่งการใช้สารสกัดชีวภาพเราจะเน้นใช้ในพื้นที่น้ำท่วมขัง เป็นน้ำนิ่ง ไม่ไหลแล้วและเริ่มเน่าเสีย แต่น้ำที่ไหลอยู่การใช้สารสกัดชีวภาพจะไม่มีประสิทธิภาพ เพราะน้ำจะไหลไปเรื่อยๆมีน้ำใหม่เข้ามาแทนที่ตลอด การทำงานของจุลินทรีย์จึงไม่เต็มที่

เท่าที่ทดลองใช้มา ตัวอย่างที่เราทำงานร่วมกับกองทัพ โดยนำสารสกัดชีวภาพไปใช้ในบ่อขยะที่ศูนย์น้ำท่วมที่จังหวัดพิษณุโลกก็พบว่าได้ผลดี มีการรายงานว่าค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำจากเดิมที่มีค่าต่ำกว่า 1 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่พอหลังจากใช้ไปได้ระยะหนึ่ง ค่าก็เพิ่มเป็น 3 กว่ามิลลิกรัมต่อลิตร สีก็เริ่มเปลี่ยนจากสีดำเป็นจางขึ้นเรื่อยๆ แสดงว่าคุณภาพน้ำเริ่มดีขึ้น

เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการบรรเทาปัญหามลพิษในพื้นที่ประสบอุทกภัยกำลังตรวจสอบคุณภาพน้ำ
เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการบรรเทาปัญหามลพิษในพื้นที่ประสบอุทกภัยกำลังตรวจสอบคุณภาพน้ำ

ไทยพับลิก้า:จากกรณีน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษมีการตรวจพบสารเคมีรั่วไหลหรือไม่

เรื่องของสีหรือสารเคมีจากอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรม เมื่อไปตรวจดูก็พบว่าโรงงานขนาดใหญ่เหล่านี้สามารถดูแลตัวเองได้ตั้งแต่เริ่มต้น ก่อนที่น้ำจะท่วมเขารู้ว่าจะป้องกันหรือทำอย่างไร หากเกิดน้ำท่วม มีการจัดเก็บของที่อันตรายในพื้นที่มีการป้องกันไว้แล้ว ตามข่าวจะเห็นว่ามีปัญหาสารเคมีรั่วไหลมีน้อยมาก เป็นแค่บางส่วนที่หลงเหลือออกมา และเมื่อไปตรวจสอบก็พบว่าไม่มีอันตรายใดๆ และเนื่องจากสารจำนวนน้อยที่รั่วไหล เมื่อเจอกับน้ำมันก็จะถูกเจือจางไปหมด

จะมีบางพื้นที่พบว่ามีปัญหาบ้าง แต่เป็นเพียงกรณีถังใช้แล้วที่เคยใส่สารเคมีหลุดออกมา เราก็เพียงแค่เข้าไปเก็บถังในพื้นที่ที่เหมาะสมและจัดการไม่ให้ไหลไปตามน้ำ

โดยรวมจะเห็นว่าโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมต่างๆ มีการดูแลป้องกันดีมากกว่าโรงงานเล็กๆที่ตั้งอยู่ในชุมชน ผมไม่เป็นห่วงโรงงานขนาดใหญ่เลยเพราะเขามีประสิทธิภาพ มีศักยภาพในการดูแลตัวเองอยู่แล้ว ยกเว้นกรณีฉุกเฉินจริงๆเท่านั้นซึ่งมีอยู่น้อยมาก

สิ่งที่ผมกังวลขณะนี้จึงอยู่ที่อุสาหกรรมเล็กๆในพื้นที่ชุมชน เช่น สถานบริการน้ำมัน ปั๊ม อู่ซ่อมรถที่มีน้ำมันใช้แล้วเก็บไว้ หากน้ำท่วมแล้วไม่มีการจัดเก็บน้ำมันที่ใช้แล้วอย่างเป็นที่เป็นทาง น้ำมันก็จะลอยออกมาปนกับน้ำท่วม ชาวบ้านจะเดือดร้อนกับเรื่องนี้มากกว่าปัญหาจากน้ำเน่าเสียธรรมดาอีก ตอนนี้กรมก็พยายามประชาสัมพันธ์ให้สถานบริการช่วยเก็บน้ำมันที่ใช้แล้วในภาชนะที่ปิดมิดชิดเพื่อป้องกันไม่ให้มีการรั่วไหล

ข้อมูลคุณภาพน้ำ ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2554

คุณภาพน้ำในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาปัญหามลพิษในพื้นที่ประสบอุทกภัย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

1.การติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำพื้นที่น้ำท่วมขัง

คุณภาพน้ำจากการตรวจวัดแหล่งน้ำท่วมขังทั้งหมด 149 จุด ร้อยละ 46 อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก ร้อยละ 25 อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 13 อยู่ในเกณฑ์พอใช้ และร้อยละ 16 อยู่ในเกณฑ์ดี แหล่งน้ำผิวดินที่ตรวจวัดทั้งหมด 18 จุด ร้อยละ 78 อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก ร้อยละ 6 อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 11 อยู่ในเกณฑ์พอใช้ และร้อยละ 6 อยู่ในเกณฑ์ดี

ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำและพื้นที่น้ำท่วมขัง - ที่มา กรมควบคุมมลพิษ
ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำและพื้นที่น้ำท่วมขัง - ที่มา กรมควบคุมมลพิษ

2.การตรวจสอบการปนเปื้อนมลพิษจากสารเคมีและคุณภาพน้ำในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม

2.1 นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) เกิดเหตุระเบิดภายในโรงงานมาเจนด์ แมคซิส จากการตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ พบคราบน้ำมันลอยบนผิวน้ำ พบถังสารเคมี (เอทิล อะซิเตท) ขนาด 200 ลิตร และถังหมึกพิมพ์ ขนาด 20 ลิตร กระจายเต็มพื้นที่ จึงกันบริเวณและยึดติดถังสารเคมีให้อยู่ภายในบริเวณโรงงาน ผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำ พบ สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) สูงกว่ามาตรฐานเล็กน้อย แต่ไม่มีผลกระทบต่อประชาชน ได้นําแบคทีเรียสําหรับการจัดการสารเคมีฉุกเฉินไปย่อยสลายสารเคมีที่ปนเปื้อนในน้ำภายในโรงงานที่เกิดเหตุ

2.2 นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน คุณภาพน้ำโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ปกติ บริเวณโรงงานผลิตไบโอดีเซล พบคราบน้ำมันไหลมากับน้ำ ปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย และได้ดําเนินการเก็บกู้ถังสารเคมี (Isopropyl alcohol,IPA) ที่ลอยมากับกระแสน้ำบนถนน

2.3 นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร คุณภาพน้ำโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ปกติ

2.4 สวนอุตสาหกรรมโรจนะ คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ดําเนินการเก็บกู้ถังสารเคมี (Methyl Ethyl Ketone) ขนาด 200 ลิตร และถังบรรจุน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ จํานวนกว่า 20 ถัง

2.5 สวนอุตสาหกรรมแฟคเตอรี่แลนด์ คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ 2.6 นิคมอุตสหกรรมนวนคร คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ

3. การจัดการขยะมูลฝอย

จากการคาดการณ์ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นระหว่างอุทกภัยเพื่อเตรียมการแก้ไขปัญหากองขยะจํานวนมหาศาลหลังน้ำลด จะมีปริมาณขยะที่ต้องได้รับการจัดการประมาณ 1.45 ล้านตัน (เฉลี่ย 0.5 ตัน/คน จากจํานวนประชากรที่ได้รับความเดือนร้อน 9.4 ล้านคน) สถานที่กําจัดขยะมูลฝอยหลักบางจังหวัดได้รับความเสียหาย ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และหลายแห่งแม้ว่าจะยังไม่ได้รับความเสียหาย แต่พื้นที่โดยรอบหรือถนนทางเข้าถูกน้ำท่วม ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร อ่างทอง ลพบุรี สุพรรณบุรี ซึ่งจะต้องมีการสํารวจและฟื้นฟูระบบกําจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมระบบดังกล่าว รวมถึงระบบบําบัดน้ำเสียด้วย