ThaiPublica > คนในข่าว > “อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม” เปิดใจข่าว “เด้ง” พ้นเก้าอี้ปลัดคลัง ไม่สนข่าวลือ เดินหน้าขับเคลื่อนงานยุทธศาสตร์ของประเทศ

“อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม” เปิดใจข่าว “เด้ง” พ้นเก้าอี้ปลัดคลัง ไม่สนข่าวลือ เดินหน้าขับเคลื่อนงานยุทธศาสตร์ของประเทศ

14 กุมภาพันธ์ 2012


นับแต่มีการปรับคณะรัฐมนตรีเป็น “ครม. ปู 2” มีการโยก “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” มาคุมกระทรวงการคลัง ยิ่งทำให้กระแสข่าวปลด “อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม” นอกฤดูกาล ยิ่งกระพือตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา จนนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องออกมาให้สัมภาษณ์ เพื่อดับกระแสข่าวลือว่าข่าวที่ว่าไม่มีมูลความจริง

และสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้เชิญสื่อมวลชนไปดูงานที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ที่กำลังตกเป็นข่าวลืออยู่ในขณะนี้ เริ่มต้นด้วยคำถามแรก

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง (ถ่ายที่วิหารชเวนันดอร์ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า)
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง (ถ่ายที่วิหารชเวนันดอร์ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า)

ไทยพับลิก้า : รู้สึกหวั่นไหวต่อกระแสข่าวลือปลดปลัดคลังหรือไม่

“ผมยอมรับว่ารู้สึกกังวลอยู่เหมือนกัน แต่ผมไม่มีเวลาไปคิดถึงมันมาก เพราะผมมีภารกิจที่ต้องทำเยอะ คิดอยู่แวบเดียวก็ต้องปล่อยวางแล้วกลับไปทำงาน เพราะมีเรื่องให้ทำเยอะจริงๆ”

ในช่วงสัปดาห์ที่มีกระแสข่าวลือออกมา ผมก็ยุ่งอยู่กับเรื่องการเตรียมเอกสารชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทราบถึงเหตุผล ความจำเป็น ว่าทำไมกระทรวงการคลังถึงต้องออกพระราชกำหนด 4 ฉบับ (พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555, พระราชกำหนดกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ. 2555, พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ. 2555 และ พระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555) ผมต้องเร่งยกร่างเอกสารชี้แจง ส่งไปให้ศาลดูก่อนที่จะถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งในวันนั้น ผมต้องเดินทางไปให้ศาลไต่สวน พร้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย

ไทยพับลิก้า : พ.ร.ก. ทั้ง 4 ฉบับ เรื่องไหนยากที่สุด

ผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องการโอนหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ไปให้แบงก์ชาติรับผิดชอบ ซึ่งคุณกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และคุณคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา บอกว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องออกกฏหมายเป็น พ.ร.ก.

แต่เหตุผลของกระทรวงการคลังคือ ตอนนี้เรากำลังจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2556 อยู่ ซึ่งในปีนี้รัฐบาลมีรายจ่ายประจำสูงมาก มีทั้งรายจ่ายประจำ รายจ่ายที่เกี่ยวกับนโยบายรัฐ เช่น ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และยังมีรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้อีก 1.8 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายจ่ายดอกเบี้ยของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ประมาณ 60,000 ล้านบาท ถ้าเราตัดตรงนี้ออกไปได้ มันก็จะทำให้รัฐบาลมีงบลงทุนเพิ่มขึ้นมาอีก 60,000 ล้านบาท การจัดทำงบฯ ปี 2556 ก็จะทำได้ง่ายขึ้น

คอนเซ็ปต์ของการโอนหนี้กลับไปอยู่ที่แบงก์ชาติครั้งนี้ คือ ปัจจุบันทรัพย์สินมันอยู่ที่กองทุนฟื้นฟูฯ ดังนั้นก็ควรเอาหนี้ไปรวมอยู่ในที่เดียวกันด้วย และให้แบงก์ชาติเป็นผู้บริหารจัดการ แต่ถ้าทรัพย์มีไม่พอที่จะใช้หนี้ ก็ต้องพยายามหาทางเพิ่มรายได้ให้แบงก์ชาติ

ในอดีตที่ผ่านมา ก่อนที่รัฐบาลจะออก พ.ร.ก. มาชดเชยความเสียหายให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ ในกฏหมายระบุว่า ให้แบงก์ชาติรับผิดชอบเงินต้น ส่วนกระทรวงการคลังรับภาระดอกเบี้ย ซึ่งตอนนั้นก็มีการจัดทำประมาณการชำระหนี้ คาดว่าจะใช้หนี้หมดภายใน 30 ปี ปรากฏว่ามันไม่เป็นไปตามประมาณการที่กำหนดเอาไว้ ตลอด 10 ปี เพิ่งจะชำระเงินต้นได้ 10% อีก 90% ไม่รู้ว่าจะใช้หมดเมื่อไหร่ ถ้าขืนปล่อยไว้อย่างนี้ หนี้ไม่หมดแน่นอน

ไทยพับลิก้า : แต่คลังก็จ่ายดอกเบี้ยมาได้ตั้ง 10 ปี มันไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องออกเป็น พ.ร.ก. ทำเป็น พ.ร.บ. ก็ได้ ทำไมไม่รออีกหน่อย

ถ้าออกเป็น พ.ร.ก. ได้ ในปีงบประมาณ 2556 ผมก็จะได้งบลงทุนเพิ่มขึ้นมาอีก 60,000 ล้านบาท แต่ถ้าออกเป็น พ.ร.บ. ก็ต้องรอต่อไป ไม่แน่ใจว่าใช้เวลากี่เดือน และไม่แน่ใจว่าทันปีงบประมาณ 2556 หรือไม่

ส่วนเรื่องการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยปี 2554 วงเงิน 3 แสนล้านบาท หรือ ซอฟต์โลน ตอนนี้เราก็มีรายชื่อผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก รายใหญ่ และเอสเอ็มอี ที่อยู่เขตพื้นที่น้ำท่วมในปี 2554 พร้อมกับส่งข้อมูลเหล่านี้ไปให้ธนาคารพาณิชย์หมดแล้ว เพื่อให้ธนาคารรับทราบว่าจะต้องปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนในพื้นที่ใดบ้าง

ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปี 2555 ตามกฏหมายจะทำไม่ได้ เพราะ พ.ร.ก. กำหนดไว้ว่า จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมในปี 2554 เท่านั้น ตรงนี้เราก็ได้จัดสินเชื่อซอฟต์โลนอีกก้อนหนึ่ง วงเงิน 40,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะจัดหาแหล่งเงินมา 20,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 0.01% ส่วนธนาคารพาณิชย์ต้องร่วมลงขันอีก 20,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยปกติ ซึ่งแพคเก็จนี้สามารถไปช่วยผู้ประกอบการทางภาคใต้ได้ ในเรื่องของซอฟต์โลนคงไม่มีปัญหา

เรื่องประกันภัยก็มีหลายพูดว่ามันช้า ทำไมมันถึงช้า เหตุผลก็คือ ที่ผ่านมาเราใช้เวลาทุ่มไปกับการยกร่างกฏหมาย 4 ฉบับ กว่าจะเข็นออกมาได้ใช้เวลา 3 อาทิตย์ จากนั้นก็ต้องมาเตรียมข้อมูลชี้แจงต่อศาล แต่หลังจากนี้ไป จะเห็นความคืบหน้าของเรื่องการจัดตั้ง “กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ”

หลักการก็คือ บริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการนี้ หากมีการขายกรรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ จะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ในอัตรา 1% ของทุนประกัน (ในเบื้องต้น) โครงการนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของบริษัท ถ้าบริษัทประกันภัยไหนเห็นว่าไม่ดี ไม่เข้าร่วมโครงการ ก็ใช้วิธีเดิมคือรับเบี้ยประกันภัยพิบัติมา ก็รีอินชัวรันส์ออกไป เราไม่ได้บังคับ ซึ่งในวันที่ 20 ก.พ. นี้ ทางกระทรวงการคลังจะมีลงนามในบันทึกความเข้าใจกับบริษัทประกันภัย 60 แห่ง จากนั้นก็จะเริ่มขายกรมธรรม์น้ำท่วม โดยจะเก็บเบี้ยประกันในอัตรา 20% ของทุนประกัน สำหรับภาคประชาชนจะได้รับวงเงินคุ้มครองไม่เกิน 1 แสนบาท แต่ถ้าอยากให้ได้รับความคุ้มครองมากกว่านี้ก็ซื้อเพิ่ม ซึ่งคิดเบี้ยประกันอีกอัตราหนึ่ง ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอีจะได้รับวงเงินคุ้มครองไม่เกิน 10 ล้านบาท และธุรกิจขนาดใหญ่กำหนดเพดานไว้ไม่เกิน 200 ล้านบาท

เราจะมีบริษัทประกันภัยทั้งหมด 60 แห่ง บริษัทไหนคิดว่าดีก็เข้ามา แต่ถ้าบริษัทไหนไม่มั่นใจก็ไม่ต้องเข้ามา ก็ใช้วิธีรีอินชัวรันส์ไปที่อื่น แต่อัตราค่าบริการที่เราคิดกับบริษัทประกันภัยมันถูกกว่ารีอินซัวรันไปที่อื่น เราทำกองทุนนี้ขึ้นมาเพราะต้องการให้ลดต้นทุนให้บริษัทประกันภัยด้วย เบื้องต้นกำหนดอัตราเงินนำส่งไว้ที่ 1% แต่ยังไม่ได้เคาะ กำลังศึกษากันอยู่

เรื่องการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ จะไปเชื่อมโยงกับเรื่องการสร้างเขื่อนในนิคมอุตสาหกรรม อย่าลืมว่าความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 คิดเป็นวงเงินรวม 300,000 ล้านบาท ผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ประมาณ 70% ของมูลค่าความเสียหายคือผู้ประกอบการในเขตนิคมอุตสาหกรรม ดังนั้น จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ก็ต้องสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมใช้เงินลงทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือ 2 ใน 3 หรือ คิดเป็นวงเงิน ประมาณ 4,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมจะเป็นผู้รับภาระ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถไปกู้เงินจากธนาคารออมสินมาสร้างเขื่อนได้ โดยมีระยะเวลาในการผ่อนชำระหนี้นาน 15 ปี

ขณะเดียวกัน ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็เริ่มลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำตามเขื่อนต่างๆ ดูกันตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ

ไทยพับลิก้า : ถ้าหากศาลไม่อนุญาตให้ออกเป็น พ.ร.ก. จะทำอย่างไร

ถ้าออกเป็น พ.ร.ก. ไม่ได้ เราก็เปลี่ยนเป็น พ.ร.บ. ก็คงจะต้องรอกันไปจนถึงเดือนกันยายน 2555 กว่าจะเริ่มทำอะไรกันได้ แต่ถ้า พ.ร.ก. ออกมาได้ก็ไม่ต้องรอ ทำได้เลย ตอนนี้ต้องเข็นออกมาให้ได้ก่อน หากผลักดัน พ.ร.ก. ทั้ง 4 ฉบับ ออกมาได้ ก็จะเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า ประเทศไทยกำลังจะขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าได้อย่างไร ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายก็อยากเห็นอะไรที่มันชัดเจน

ไทยพับลิก้า : หากทบทวนการบริหารงานที่กระทรวงการคลัง คิดว่ามีจุดอ่อนด้านไหน และกำลังทำอะไรอยู่บ้าง

จุดอ่อนหรือ ผมไม่ทราบ แต่ผมคิดว่าผมต้องทำงานให้ดีที่สุด ทำอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากงานเร่งด่วนตามที่กล่าวมาในข้างต้นแล้ว ในระยะปานกลางและระยะยาว ก็มีเรื่องของการปรับโครงสร้างบทบาทและภารกิจของกระทรวงการคลัง ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศ และต้องดูแลเรื่องความยั่งยืนทางการคลัง เพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกัน ก็ต้องดูแลเรื่องความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย

ตอนนี้แผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงการคลังเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อธิบดีกรมในสังกัดกระทรวงการคลังทุกกรม กำลังดำเนินการปรับบทบาทและภารกิจให้มีประสิทธิภาพ อย่างกรมสรรพากร หลังจากที่เริ่มปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% ลงมาเหลือ 23% ของกำไรสุทธิ ก็ต้องมาดูเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อ ซึ่ง 20 ปีที่ผ่านมา ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่เคยปรับปรุงเลย หลักการคือต้องลดความเหลื่อมล้ำ เป็นธรรม ทันสมัย และง่ายต่อการเสียภาษี ไม่ยุ่งยาก

ส่วนโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิต ก็จะมีภาษีตัวใหม่เกิดขึ้นมา อาทิ ภาษีสิ่งแวดล้อม ผู้ที่ก่อมลพิษก็ต้องเป็นผู้จ่าย ด้านภาษีศุลกากรนั้น ต้องเน้นไปที่เรื่องอำนวยความสะดวกทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อมโยงกับอาเซียน ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงพิกัดอัตราภาษีศุลกากร การผ่านพิธีการทางศุลกากร ลดความยุ่งยาก ทุกอย่างต้องลื่นไหล

ส่วนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ก็จะเข้าไปทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ และเข้าไปช่วยสนับสนุนงานของกระทรวงคมนาคม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ปัจจุบันงบประมาณของประเทศมีจำกัด หากรัฐบาลไปกู้มาเงินมามากเกินไป ก็จะไปกระทบกับภาระหนี้สาธารณะ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องไปดึงภาคเอกชนเข้ามาลงทุนร่วมกับภาครัฐ (ผ่านกลไก PPP หรือ Public Private Partnership) ซึ่งสำนักรัฐวิสาหกิจจะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนในเรื่องนี้

และก็ไม่ใช่มองแค่ประเทศไทยประเทศเดียว การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต้องมองไปที่มิติการลงทุนระหว่างประเทศด้วย ยกตัวอย่าง เราทำถนนจากบ่อน้ำพุไปถึงเมืองทวาย ระยะทาง 160 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นในการทำ PPP แล้ว เอกชนควรไม่มองว่าเป็นคนละประเทศกัน แต่ให้มองเป้าหมายข้างหน้าทำแล้วได้ประโยชน์อย่างไร

ตอนที่รัฐบาลไทยเจรจากับรัฐบาลพม่าที่ทวาย ผมได้ร่วมคณะเดินทางมาด้วย ก็ได้มีการพูดถึงเรื่องการสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อจากทวายไปพม่า อาจจะต้องไปชวนรัฐบาลประเทศอื่นๆ ที่สนใจเข้าร่วมลงทุนด้วย ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น หรือพม่า ซึ่งทางรัฐบาลพม่าก็พร้อมที่จะออกประกาศ PPP เพียงฉบับเดียวร่วมกับรัฐบาลไทย เชิญชวนให้ภาคเอกชนที่สนใจเข้ามาลงทุนก่อสร้างทางรถไฟ เป็นต้น

ตอนนี้หลายประเทศให้ความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศพม่า ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น สิงค์โปร์ สหรัฐอเมริกา เนื่องจากประเทศพม่ามีทรัพยากรเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้นำขึ้นมาใช้ ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมของไทยที่อยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมไม่สามารถขยายโรงงานต่อไปได้ อย่างที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุต และมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ค่าแรงก็สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน กระทรวงการคลังและบีโอไอจึงต้องเข้าไปมีบทบาทสนับสนุนให้คนไทยไปลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศพม่าคืออนาคตของประเทศไทย

บทบาทของคลังที่ผ่านมา พยายามสร้างความเชื่อมโยงกับพม่าในเรื่องของเส้นทาง ฃถ้ามีเส้นทางที่ดี ถนนที่ดี เราจะได้เปรียบ ที่พาสื่อมวชนมาที่นี่ สินค้าที่ขายอยู่ที่ประเทศพม่า เป็นสินค้าไทยกับจีนที่เข้ามา เรื่องการผลิตประเทศไทยสุดยอด การขนส่งก็ใกล้ เป็นโอกาสของเรา ในเรื่องของการลงทุนทั้งหลาย สื่อมวลชนเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้คนที่ไม่มีโอกาสได้เห็นได้เข้าใจประเทศพม่ามากขึ้น คนไทยมาท่องเที่ยวเยอะแต่มาลงทุนน้อย ตอนนี้ผมได้ข่าวว่าสิงค์โปร์มาปูพรม ดูว่ามีโอกาสอยู่ตรงไหน

ประเทศไทยยังไม่ค่อยตื่นตัว และเราเกี่ยวโยงกับแรงงานของพม่าอย่างมโหฬาร ถ้าไม่ทำอะไรตรงนี้มันก็เหนื่อย ผมให้องค์กรความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านมาให้ความรู้แก่หน่วยงานต่างๆ ที่จะทำให้สินค้าผ่านแดนอย่างคล่องตัว จะทำเฉพาะประเทศไทยไม่ได้ ถ้าพม่าไม่มีเงินเราก็ต้องให้เงินเพื่อลงทุน เพื่อให้ระบบเดินได้ทั้ง 2 ฝ่าย

ตอนนี้ ทางสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (NEDA) ก็พยายามวางโครงการให้เงินกู้แก่ประเทศพม่า เพื่อสร้างระบบลอจิสติกตั้งแต่ทวายถึงอินเดีย ไม่ได้ทำจากทวายมาถึงที่นี่ (ชายแดนไทย-พม่า จ.กาญจนบุรี) เพราะเป็นหน้าที่ของอิตัลไทย ผมดูว่าหลายๆ อย่างที่นี่มีแรงงานราคาถูกจำนวนมาก แต่ตอนนี้ประเทศไทยไม่มีแล้ว ถ้าจะทำต่อต้องมาที่พม่า ส่วนเขมรก็เป็นอีกที่หนึ่งที่ต้องไปดู ทางสำนักงานส่งเสริมการลงทุนก็ต้องปรับตัว ช่วยให้เอกชนไปลงทุนในต่างประเทศ

ผมไปยุโรป จะเดินทางไปสวิสเซอร์แลนด์ เอารถไปจอดที่อิตาลี เช่ารถจากอิตาลีไปสวิสเซอร์แลนด์ ประเทศไทยขับรถไปมาเลเซีย ก็ต้องตรวจ ถ้าเป็นรถเช่าก็ไปต่อไม่ได้ เช่ารถที่มาเลเซีย ข้ามแดนไปสิงค์โปร์ก็ไม่ได้ เรื่องของการประกัน ถ้ารถทำประกันที่เมืองไทยขับไปมาเลเซีย เกิดอุบัติเหตุประกันก็ไม่จ่าย เพราะกรมธรรม์ไม่ครอบคลุม นี่คือประเด็น ถ้าจะให้มีการเชื่อมโยงกันจริงๆ แล้ว สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าจะให้เกิดความคล่องตัว ต้องมีการพัฒนากันในเชิงลึกอีกมาก เพราะการส่งออกสินค้า ถ้าจะให้เชื่อมโยงกับฐานการผลิตในประเทศไทยได้ จะต้องมีถนนเขาไปเชื่อมโยง แล้วยังต้องมีรถไฟ ทางกระทรวงคมนาคมกำลังผลักดันอยู่ แต่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีและผู้บริหารของคมนาคม ก็เลยหยุดชะงักไป

ผมได้คุยเจ้าของโรงแรมที่นี่ เขาบอกว่าเขาได้สิทธิเช่าที่ดิน 30 ปี ให้เช่าไม่มีการซื้อ สัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติเขาก็ไม่ได้สนใจจะถือ 100% หรือ 50% เพราะว่าเรื่องที่ดินเป็นเรื่องของการเช่าทั้งหมด ไม่มีเรื่องกรรมสิทธิ์ ถ้าเป็นคนต่างชาติมาตั้งบริษัทที่ประเทศพม่า เรื่องค่าไฟฟ้าก็จะถูกชาร์จอัตราต่างชาติ แต่ถ้าเป็นนักลงทุนพม่าก็คิดค่าไฟฟ้าอัตราพม่า อัตราแตกต่างกัน

ตอนนี้เขาเริ่มเชิญชวนให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศพม่าเยอะมาก จริงอยู่ที่กลไกต่างๆ อาจจะไม่คล่องตัวนัก แต่ว่าได้พบผู้บริหารของประเทศพม่าแล้ว เขาเปิดมากเลย ตอนไปทวาย ผู้บริหารของประเทศพม่ามาครบเซ็ต ไทยเราเสียอีกที่มาไม่ครบเท่ากับเขา เขามาจากทุกสายงาน ทั้งด้านพลังงาน ไฟฟ้า สิ่งแวดล้อม มากันหมด นี่คือความตั้งใจของประเทศพม่ากับการเปิดประเทศครั้งนี้

ในเมืองไทยมีแรงงานพม่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ถ้าในอนาคตประเทศพม่าเป็นที่สนใจของประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิงค์โปร์ จีน ญี่ปุ่น ทุกคนสนใจหมด และก็มีเรื่องการลงทุน การขยายกิจการ แรงงานอาจจะต้องไปประเทศพม่า เราอาจจะมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน เราก็ต้องมองไปไกล ประเทศไทยจะทำอย่างไรกับปัญหาเหล่านี้ ประเทศพม่ามีวัตถุดิบ มีทรัพยากรเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้ขุดค้นและนำขึ้นมาใช้เลย

ขณะที่ประเทศไทย เรื่องของอุตสาหกรรมเริ่มมีปัญหาไม่สามารถขยายโรงงานได้ อย่างเช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แต่เรามีรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนที่แข็งแกร่ง และประเทศเพื่อนบ้านเองก็มีพื้นที่ที่จะทำให้การลงทุนขยายต่อไปได้ เพราะฉะนั้น ประเทศไทยถึงต้องมีนโยบายส่งเสริมให้คนไทยไปลงทุนนอกประเทศ ที่ง่ายที่สุดคือประเทศเพื่อนบ้าน

ไทยมีการลงทุนค้าขายในประเทศพม่าเยอะเหมือนกัน อาทิ ปูนซีเมนต์ของไทยขายในประเทศพม่า ครองมาร์เก็ตแชร์ 60% ซีพีก็มีสาขาอยู่ที่นี่เป็น 100 แห่ง นี่คือบริษัทใหญ่ๆ ทั้งนั้น

พม่าเริ่มปรับตัวอย่างรวดเร็ว ประเทศต่างๆ ส่งคนมาดูกันหมดแล้ว แต่ประเทศไทยยังช้า ผมได้พบกับเพื่อนคนหนึ่งที่นี่เขามาดูลู่ทางการผลิตเสื้อผ้า นั่นคือไอเดียที่ถูกต้อง เพราะว่าประเทศไทยเราโตมาด้วยแรงงานราคาถูกสมัยกก่อน แต่ตอนนี้เริ่มแข่งขันไม่ได้ แต่ในระยะยาว ค่าแรงไทยกำลังจะขึ้นเป็น 300 บาท และเราจะไปต่อได้หรือไม่ บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กก็เริ่มมองประเทศเพื่อนบ้าน ใกล้ที่สุดก็พม่า

ไทยพับลิก้า : ขอกลับมาที่เรื่องเรื่องโควต้าหวยของทหารผ่านศึกหายจะแก้ปัญหาอย่างไร

เรื่องหวยผมก็จะทำให้ดีที่สุด อย่าลืมว่าผมเพิ่งเข้ามาใหม่ (เป็นประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลแทนนางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมสรรพสามิต) เข้ามาเพื่อแก้ปัญหา โดยหลักการคงต้องดูแลครอบครัวของทหารผ่านศึกให้เขามีรายได้เลี้ยงครอบครัว แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่ามีการเอาโควต้าหวยไปให้ใคร ก็ต้องพยายามหาทางเอากลับคืนมา