หลังจากที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ออกรายงานตรวจสอบการดำเนินงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 เป็นการตรวจสอบการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2546-2553 ว่าฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีหลายข้อ รวมทั้งการจ่ายเงินเดือนเลขาธิการ สปสช.ในอัตราสูงไม่เป็นไปตามสัญญา จ่ายเบี้ยประชุมให้ประธานและอนุกรรมการเกินกว่ามติ ครม.2เท่าตัว และจ่ายโบนัสพนักงานโดยไม่มีมติคณะกรรมการ สปสช. และการจ่ายเบี้ยเลี้ยง จากนั้นในวันที่ 6 ธันวาคม 2554 มีการประชุมคณะกรรมการสปสช.ซึ่งน.พ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช.ได้ชี้แจงหลังการประชุมในทุกประเด็นที่สตง.ระบุว่าเป็นการบริหารจัดการที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม โดยกล่าวว่าได้ส่งเอกสารชี้แจงไปยังสตง.เรียบร้อยแล้ว และในวันเดียวกันนั้น นายวิทยา บูรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่าจะแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ ต่อจากนั้นวันที่ 15 ธันวาคม 2554 นพ.วินัยได้เปิดแถลงข่าวอีกครั้ง ในครั้งนี้ได้ตั้งหัวข้อว่า”ตอบทุกข้อสงสัยกรณีการตรวจสอบของสตง.” ซึ่งในวันดังกล่าวได้ระบุว่าได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ทำหนังสือชี้แจงแทนรัฐมนตรีในฐานะประธานสปสช. และสปสช.ต้องทำหนังสือชี้แจงของสปสช.อีกต่างหาก
ต่อเรื่องดังกล่าวนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รักษาราชการแทน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่าเมื่อในวันที่ 13 ธันวาคม 2554 นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช.ได้มาชี้แจงและหารือเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ในประเด็นเรื่องการขึ้นเดือนเลขาธิการสปสช.โดยอธิบายเปรียบเทียบรายได้ของตนเองกับรายได้หมอ โดยเฉพาะหมอชุมชนที่มีรายได้กว่า1แสนบาทต่อเดือน แต่ตำแหน่งเลขาธิการสปสช. โดยคุณสมบัติต้องเป็นหมอหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ แต่เลขาธิการสปสช.คิดว่าเมื่อตนเองเป็นหมอก็ต้องได้เงินเดือนตามมาตรฐานหมอ
“คำตอบคือคิดแต่ตัวเราว่าเราเป็นหมอ มาอยู่ตรงนี้ได้เงินเดือนน้อยกว่าหมอชุมชน ซึ่งตำแหน่งนี้ใครมาบริหารก็ได้ ดังนั้นอย่าเอาตัวเราเป็นหลัก เอาหลักการ คือความพอเหมาะพอสม จริงๆไม่ต้องพูดถึงระเบียบอะไรมากมายนะ แค่คิดว่าแค่นี้เพียงพอเหมาะสมไหม ถ้าไปคิดเปรียบเทียบว่าเงินเดือนแค่นี้น้อยไป ทั้งๆที่ตำแหน่งนี้ต้องเป็นหมอหรือไม่ ซึ่งผมได้ถามท่านเลขาฯ ท่านก็บอกว่าไม่จำเป็นต้องเป็นหมอ เมื่อเป็นตำแหน่งบริหาร ใครก็ทำได้ และใครก็ได้ที่เป็นนักบริหาร ก็บริหารได้ แต่จะมีความรู้เรื่องหมอหรือไม่ ก็ศึกษาได้ จำเป็นต้องผ่าตัดได้ไหม ไม่จำเป็น และท่านได้ชี้แจงอีกว่าสิ่งที่เลขาฯสปสช.ได้ทำมานั้นเป็นประโยชน์ เนื่องจากช่วยประหยัดเงิน อย่างกรณีการไปต่อรองเครื่องสวนหัวใจ หรือสเตนท์อันละ 8 หมื่นบาท เหลือ 4 หมื่นบาท เป็นการซื้อลอตใหญ่และให้หน่วยงานราชการมาเบิก สตง.ก็คิดว่าหน่วยงานนี้มีหน้าที่ซื้อของหรือ”
นายพิศิษฐ์กล่าวต่อว่าจากที่เลขาฯสปสช.อธิบายก็เกิดคำถามว่าหน่วยงานนี้ทำไมต้องไปลงทุนซื้อของเอง ซึ่งได้ถามท่านเลขาฯสปสช.ว่าทำไมรัฐบาลไม่ให้องค์การเภสัช ไปซื้อของเครื่องมือถูกๆมาขาย เพราะการประมูลซื้อครั้งละมากๆ สามารถซื้อได้ราคาถูกๆ แล้วให้โรงพยาบาลมาซื้อจากองค์การเภสัช ทำไมต้องให้สปสช.มาบริหารเรื่องพวกนี้
อย่างไรก็ตามการมาหารือของเลขาธิการสปสช.ครั้งนี้ จริงๆท่านมาบอกว่าท่านตอบไม่ทัน(ชี้แจง) เนื่องจากน้ำท่วม การตอบครั้งนี้ต้องรัดกุมเพราะมีปัญหาสภาพแวดล้อมและมาปรารภว่าขอเวลา เกรงว่าเรื่องนี้ต่อไปอาจจะกลายเป็นเรื่องการเมืองเข้ามา จึงต้องชี้แจงด้วยความรอบคอบ เพื่อลดปัญหาจะได้ไม่เสี่ยงเกินไป การหารือครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ท่านมีเหตุผลมาเราก็มีเหตุผลพิจารณา”
สำหรับเรื่องเบี้ยประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบนั้น แม้จะบอกว่าถูกระเบียบ เป็นคำสั่งคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเซ็นต์อนุมัติเอาไว้ โดยแบบแผนราชการ หากผู้บังคับบัญชาสั่งในสิ่งที่ไม่เหมาะสม ควรมีความเห็น ควรเสนอได้ว่าไม่เหมาะสม เพราะมันเป็นเงินที่เยอะเนื่องจากเหมาเป็นค่าตอบแทน
“ดังนั้นที่สปสช.ชี้แจงว่าเป็นค่าตอบแทน แต่จะเรียกอย่างไรก็ตาม จริงอยู่สปสช.เป็นหน่วยงานอิสระ แต่สตง.ต้องดูสิ่งแวดล้อมด้วยว่าเขาเป็นหน่วยงานผลิตอะไรบ้าง ถ้าผลิตแล้วหากำไร ก็จ่ายค่าตอบแทนได้ระดับหนึ่ง แต่หากหน่วยงานนั้นมีการตั้งงบประมาณ เอางบประมาณมาใช้จ่าย การให้ค่าตอบแทนเยอะๆ ก็ต้องดูความเหมาะสมตรงนี้ด้วย อย่างสมมติว่าเป็นบริษัทปตท. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งมีรายได้เยอะ ก็จ่ายค่าตอบแทนได้ ขึ้นอยู่กับกิจการ องค์กร หากองค์กรมีแต่ค่าใช้จ่าย และเอามาให้ค่าตอบแทนเยอะๆ มันต้องดูความเหมาะสม ความสมเหตุสมผล หากบอกว่าไม่ผิดกฎหมาย มันไม่ผิดหรอก แต่เราไม่ได้พูดถึงผิดกฏหมายหรือผิดระเบียบอย่างเดียว แต่เราพูดถึงความพอเหมาะพอสมคืออะไร”
“หากต่อไปหน่วยงานใดหากมีรายได้มหาศาล เราเอารายได้ส่วนหนึ่งมาจ่ายผลตอบแทน อย่างนี้ ก็ไม่กระเทือนต้นทุนเท่าไหร่ แต่ถ้าหน่วยงานนั้นไม่ได้ผลิตอะไร มีรายจ่ายอย่างเดียว และจ่ายผลตอบแทนเท่ากับหน่วยงานที่มีผลผลิต ก็ต้องดูความเหมาะสมด้วย” นายพิศิษฐ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าสปสช.เป็นหน่วยงานประเภทไหน นายพิศิษฐ์กล่าวเป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ และใช้เงินภาษีอากร ต้องของบประมาณ ถามว่ารายได้คุณมาภาษีบาปหรือ ถึงจะเป็นภาษีบาปก็คือเงินภาษี เป็นเงินของแผ่นดิน และไม่ใช่เป็นเงินภาษีบาปแล้วจะใช้อย่างสบาย ก็ไม่ใช่ ใช้แล้วต้องไม่เวอร์ ไม่เละเทะ ต้องดูพอเหมาะพอสม อย่างกรณีการเป็นสปอนเซอร์ ให้กิจการโน้นกิจการนี้ ต้องดูว่าเป็นกิจการที่สนับสนุนกิจการของตัวเองหรือไม่ สมมติอย่างงานแฟร์ บอกว่ามีผักกินแล้วสุขภาพดีจึงไปร่วมกิจกรรม ซึ่งคุณจะตีความอย่างไรก็ตีความได้ หรือพืชสวนโลกคุณตีความได้ หากจะตีความแบบตะแบงก็ทำได้ อาทิ คนเราดูต้นไม้ ทำให้จิตใจสดชื่น ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว จิตใจดีร่างกายสิวฝ้าไม่มี ไม่เป็นโรคจิต จริงๆไม่เกี่ยวกับงานหลักๆขององค์กร หากคุณจะจ่ายเงิน ก็ทำได้หมด ตะแบงได้ เพราะใครมาขอเงินก็มีพาวเวอร์
“ผมวิจารณ์ในเชิงหลักการ หากคุณบอกว่ามีอำนาจทำได้ คุณทำได้อีกเยอะ แต่ต้องทำอย่างพอเหมาะพอสม”
อย่างไรก็ตามเลขาฯสปสช.ได้ถามว่าถ้าสตง.ตรวจสอบแล้ว ถ้าไม่มีอะไรแล้วก็แปลว่าจบใช่ไหม สตง.ได้แจ้งว่าเราตรวจผลการดำเนินงานก็แจ้งผลดำเนินงาน ไม่ได้แปลว่าจบนะ เราต้องตรวจอย่างอื่นอีก เราต้องดูในเรื่องขบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ใช่เราออกรายงานนี้แล้ว มาชี้แจงแล้วก็จบนะ ไม่ใช่
นอกจากนี้ประเด็นที่นำเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจากการซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมซึ่งใช้เงินของกองทุนสปสช. แต่นำเงินที่องค์การเภสัชจ่ายคืนมาไปเป็นเงินสวัสดิการโดยนำไปใช้การดูงานศึกษาในต่างประเทศประมาณ 95 ล้านบาทเรื่องนี้นายพิศิษฐ์กล่าวว่า
“จริงๆเงินที่ซื้อยาใช้เงินกองทุนสปสช. และได้คืนมาเป็นเปอร์เซ็นต์ 3 – 5 % แต่ผู้บริหารสปสช.เอาไปตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการ ซึ่งสตง.ได้เขียนข้อเสนอแนะว่าให้โอนเงินก้อนดังกล่าวกลับมาเป็นเงินของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อการซื้อยาสามารถประหยัดงบประมาณได้ เงินก็ต้องกลับมาที่กองทุนสปสช. ไม่ใช่ไปที่กองทุนสวัสดิการ”
ส่วนประเด็นซื้อรถยนต์ ประเด็นนี้สตง.คงต้องส่งให้ฝ่ายสอบสวนไปดำเนินการต่อไป
แหล่งข่าวจากสตง.กล่าวเสริมว่าก่อนหน้านี้สปสช.ได้ทำหนังสือชี้แจงมาแล้ว และได้ขอเอกสารคืน ก่อนที่จะมีการส่งหนังสือชี้แจงกลับมาใหม่อีกครั้ง และถามอีกว่า “หากสปสช.ชี้แจงจบแล้ว สตง.จะมีหนังสือตอบไหมว่าการตรวจสอบจบแล้ว ทางสตง.ได้แจ้งว่า ไม่มี เพราะในหลักตรวจสอบสากล หากหน่วยงานชี้แจงแล้ว ถ้าไม่มีอะไรต่อก็อนุมานว่าอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าคุณมาชี้แจงแล้ว โอเค ไม่มีการตรวจสอบอีกแล้ว เพราะที่สตง.ตรวจสอบนี้ เราไม่ได้ตรวจ 100 % เราสุ่มตรวจ ดังนั้นต้องว่ากันเป็นเรื่องๆ ไม่มีการรับรอง มีแต่รับรองตัวเลข ไม่มีรับรองการปฏิบัติ เราไม่สามารถรับรองได้ เดี๋ยวคนเข้าใจผิด ไม่ใช่ไม่เจอแปลว่าถูก ไม่ใช่