ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปัญหาสาธารณสุขไทย ความจริงของ “แพทย์ไทย” กับอนาคตไร้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ปัญหาสาธารณสุขไทย ความจริงของ “แพทย์ไทย” กับอนาคตไร้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

7 พฤศจิกายน 2011


น.อ.(พิเศษ)นพ.อิทธพร คณะเจริญ (ที่3 จากขวา) กรรมการและรองเลขาธิการ แพทยสภา ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “ระบบสุขภาพของคนไทย จะไปทางไหน”ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้วิจัยและผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์

น.อ.(พิเศษ)นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการ แพทยสภา ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “ระบบสุขภาพของคนไทย จะไปทางไหน”ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้วิจัยและผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์

น.อ.(พิเศษ)นพ.อิทธพร ได้กล่าวว่าตามโจทย์ประเทศไทยระบบสุขภาพจะไปทางไหน “เราจะฟรีหรือจะแชร์” ฟรีคือใช้เงินภาษีร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าแชร์เอาเงินคนที่มีรายได้ระดับหนึ่งที่ป่วยหรือดูแลสุขภาพตนเองไม่ดีมาร่วมจ่าย

วันนี้เรามีระบบสุขภาพดีถ้วนหน้า เราหลอกตัวเองไหม ทั้งที่เรามีปัญหาเยอะมาก แต่ไม่บอกความจริง และท่ามกลางวิกฤตวันนี้ น้ำท่วม ปัญหาสุขภาพเยอะมาก ต้องใช้เงินเยอะ อยากชี้ให้เห็นว่าระบบสุขภาพนั้น ประกอบด้วย 1.โรคภัย 2.แพทย์ 3.ผู้ป่วย ทั้ง 3 อันนี้อยู่ในกล่องเดียวกัน

“โรคที่เข้ามาหาแพทย์ก็เป็นภาระงาน โรคที่เข้ามาหาผู้ป่วยก็เป็นความเจ็บป่วย เป็นทุกข์ ผู้ป่วยมาหาแพทย์ แพทย์ใช้ความรู้ มาช่วยผู้ป่วย คนไข้กับแพทย์ ทั้งสองต้องจับมือกันสู้กับโรคดังกล่าว แต่ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไป มีกฏหมายใหม่บังคับ หมอจะทำอะไรก็กลัวกฎหมาย กลัวสังคม และปัจจุบันสิ่งแวดล้อมโลกที่มีอินเตอร์เนต มีเฟซบุ๊ก คนไข้เป็นโรคอะไรค้นกูเกิ้ลได้ อยู่แล้ว ..ขณะที่ประเทศยังมีคนจนเยอะ และต้องการให้บริการฟรีและคุณภาพต้องดี หากไม่ดีก็ฟ้องได้อีก และถ้าฟ้อง ผู้มีอำนาจของรัฐบาลก็มาเอาผิดผู้ให้บริการอีก แถมตอนนี้โรงพยาบาลหลายแห่งมีปัญหายังไม่มีงบการจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง ตอบแทนบุคคลากรสาธารณสุขในปี 2553 ตามเวลาอีกด้วยซ้ำ ถามว่าแพทย์จะอยู่ได้นานแค่ไหน แพทย์หลายคนจึงตัดสินใจลาออก”

ตั้งแต่มีนโยบายสุขภาพดีถ้วนหน้า วันนี้โรคมากขึ้น เด็กตายมากขึ้น(จาก ข้อมูล ศ.นพ.สมศักดิ์ฯ) ผู้ป่วยมากขึ้น ทั้งๆที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ใช้เงินจำนวนมากในการรณรงค์ป้องกันโรค แต่ผลประกอบการบริษัทเหล้าเบียร์ รวมทั้งบุหรี่ต่างๆ กำไรมากขึ้น ไม่ทราบวัดผลกันอย่างไร ขณะเดียวกันทีมการรักษาทั้งแพทย์ พยาบาล บุคคลากร ขาดแคลนหมด เมื่อ การรณรงค์ลดการป่วย ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ในขณะที่ทีมให้บริการสาธารณสุขรับได้เท่านี้ แต่มีความต้องการมากกว่านั้น ..นี่คือข้อขัดแย้ง และรัฐบาลจะแก้อย่างไร?

วันนี้ปัญหา ที่ต้องดูคือ สำนักงานกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้บริการสุขภาพดีถ้วนหน้าเป็นอย่างไร มีความสมดุลมากน้อยแค่ไหน คุณภาพเป็นอย่างไร ?

สปสช.ให้บริการสุขภาพดีถ้วนหน้าด้วยวงเงินเริ่มต้นที่ 6.2 หมื่นล้านบาทในปี 2545 วันนี้เงินกองทุนโตขึ้นมาเป็น 1.2 แสนล้านบาท โดยที่ประชาชนต้องการการรักษาที่ดี ทั้งยาดี บริการที่ดี คนไข้ทุกคนที่มารักษาต้องการได้ยากลับบ้าน คนไข้ไม่ได้รับยามักจะไม่ยอม รพ.จึงต้องเอาเงินไปซื้อยาจำนวนมาก ซึ่งต้องราคาถูก มาเก็บไว้จ่ายให้ผู้ป่วย มีคนพูดเสมอว่าคนไข้คนไทยมารักษา ถ้าไม่ได้ยา ไม่ยอม แต่ฝรั่งได้ยา ต้องถามว่าทำไมต้องให้ยา นี่คือปัญหาของคน ในปัจจุบัน ลองสังเกตุว่า บ้านคนไข้ หลายท่าน มียากองเต็มไปหมด บางทียาชนิดเดียวกันแต่คนละบริษัทคนละสีกัน ก็มี..

ในแง่ความสมดุล คืออะไร ผู้รับบริการ(คนไข้)เยอะ ผู้ให้บริการ(บุคลากรสาธารณสุข)มีน้อย ในกว่า 800 โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข ที่สปสช.ดูแล ปัญหาของแพทย์คือ มีการฟ้องร้อง(เกินจริง) คุณภาพชีวิตไม่ดี แพทย์ที่อยู่ใกล้(บ้านหรือเมือง)ก็อยู่ได้ แพทย์ที่อยู่ไกลมากก็ลาออก เบี้ยเลี้ยงผลตอบแทนก็ไม่จ่ายตามเวลา ถามว่าใครรับผิดชอบ ผู้มีอำนาจ(บางท่าน)บอกว่าคุณต้องมีจิตใจมนุษย์ ถ้าลาออกแสดงว่าไม่ใช่จิตใจมนุษย์ นั้นเป็นไปไม่ได้ในโลกความจริง ดังนั้นรัฐบาลต้องแก้ปัญหาโดยดูแลคุณภาพชีวิตแพทย์และบุคคลากรสาธารณสุขให้เขาอยู่ได้ (เช่นที่ทหารใช้) แต่โจทย์นี้ไม่เคยคุยกัน รัฐบาลต้องเอาภาพรวมปัญหาทั้งระบบมาดูพร้อมกัน

การให้บริการสาธารณสุข วันนี้ต้องดู 3 วง คือ คุณภาพของ 1.แพทย์ 2.บุคลากรสาธารณสุข 3.ประชาชน ถ้าหมอรักษาได้คุณภาพ บุคคลากรมีคุณภาพ แต่ตัวสำคัญประชาชน ต้องร่วมเป็นหมอดูแลตนเองด้วย วันนี้โรคหลายโรค หายไม่หายอยู่ที่คนไข้ กินยาดีไหม ป้องกันตัวดีไหม ดูแลตัวเองดีไหม แยกผู้รับผิดชอบกันไม่ได้ ประชาชนต้อง(ร่วม)เป็นหมอของตัวเอง และต้องมีส่วนร่วม เป็นหมอของชุมชน ด้วย

สุขภาพที่ดีต้องเริ่มจากผู้ให้บริการเพียงพอ แต่บุคคลากรมีน้อย ขณะที่ผู้มาใช้บริการมาก ซึ่งปัจจุบันมองว่าอยาก
ให้ได้ของดี และฟรีทุกอย่าง ถ้าดูจากตัวเลขการมาใช้บริการของผู้ป่วย 120 ล้านครั้งต่อปี เพิ่มเป็น 140 ล้านครั้งต่อปี พอเริ่มรักษาฟรีก็ยิ่งเพิ่มขึ้น เป็น 160 ล้านครั้งต่อปี เมื่อมีการใช้บริการมากขึ้น เกิดการใช้ซ้ำซ้อน ทั้งนี้ไม่ได้ใช้ทรัพยากรแค่ ยา ยังรวมถึง เตียง และหมอ ที่ฟุ่มเฟือยมากขึ้น ดังนั้นหากเป็นเช่นนี้ ถ้าต้องการคุณภาพยาดี มีงบประมาณมากพอไปซื้อยาดี ราคาสูงขึ้น ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก

คุณภาพการรักษาที่ดี ต้องไปขึ้นกับการป้องกันโรคด้วย ให้ป่วยน้อย ดังนั้นงบประมาณจึงไม่ควรเท่ากันในแต่ละภูมิภาค เพราะลักษณะการกินอาหารไม่เหมือนกัน ภูมิอากาศไม่เหมือนกัน อายุก็ไม่เท่ากัน ป่วยไม่เท่ากัน ฯลฯ ซึ่งปีนี้นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บอกว่าจะคุมโรค 5 กลุ่มซึ่งได้แก่ เบาหวาน มะเร็ง ความดันโลหิตสูง หัวใจ สมองให้ได้ แต่วันนี้ ค่าใช้จ่ายรายหัวของ สปสช.ในการรักษาพยาบาล 2,400 บาทต่อคนต่อปี แต่เป็นตัวเลขหลอก จริงๆแค่ค่ารักษาพยาบาลต่อคนต่อปีประมาณ 1,800 -1,900 บาทเท่านั้น เพราะใน 2,400 บาทมีเงินเดือนบุคลากรรวมอยู่ด้วย และเวลาจ่ายจริง สปสช.ก็ไม่ได้จ่ายครบทั้งก้อน ให้โรงพยาบาล ยังมีโปรแกรมต่างๆอีกหลายส่วน ที่กันเงินไว้นอกจากเงินเดือน

ที่มา : แพทยสภา

ขณะที่รายจ่ายกองทุนประกันสังคมต่อหัวต่อปีประมาณ 2,000 บาท ใน 9.4-9.7 ล้านคน และสวัสดิการข้าราชการได้มากที่สุด วงเงินรวม 64,000 ล้านบาท ต่อ 4.9 ล้านคน เฉลี่ย ต่อคนประมาณ 12,000 บาทต่อปี แต่ถ้าเฉลี่ยรายเดือนๆละ 1,000 บาท

วันนี้กลุ่มข้าราชการกำลังโดนตัดค่ารักษาพยาบาล ทั้งๆที่ค่ายาค่ารักษา ประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน ถามว่าเยอะไหม ผมว่าไม่นะครับ เพราะสวัสดิการข้าราชการส่วนใหญ่คือ พ่อ,แม่ ก็เป็นคนแก่ ถามว่าคนแก่เป็นโรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน สมอง ค่ายา 1,000 บาทต่อเดือน ถามว่าแพงไหม ไม่เลย เวลาฟังตัวเลข เจ้าหน้าที่รัฐบาลต้องถามว่าอายุเท่าไหร่ ถ้าเป็นความดัน เบาหวาน ถามว่าแพงไหม

นี่คือรายละเอียดที่ต้องดู เป็นรายๆ การรวมเฉลี่ยทำให้การจัดการไม่เป็นธรรม แต่หากมีการใช้เกินจริงซ้ำซ้อน ทุจริต ต้องไปจัดการตามระบบ ดำเนินคดีเลย อย่าให้คนไข้ปกติต้องเดือดร้อนไปด้วย

ระบบสุขภาพดีถ้วนหน้าปัญหาเยอะกว่ามาก ท่ามกลางความขาดแคลนบุคลากร ถามว่าจะทำได้หรือไม่ วันนี้เราใช้ระบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข หากทุกท่านไปโรงพยาบาลอำเภอจะเห็นคนไข้เยอะมาก พอตอนเที่ยงคนไข้ก็จะต้องถูกตรวจให้ครบจนสลายตัว (ไม่นับคลินิกพิเศษตอนบ่าย)ทำได้เพราะหมอต้องตรวจเร็วมาก ปกติหมอเวลานั่งตรวจคนไข้ต้องคิดวินิจฉัยทั้งโรค ทั้งซักประวัติ ทั้งเขียน แต่ว่าทำไมหมอบ้านนอกตรวจเร็วมาก เดินเข้าไปปุ๊บ พูดยังไม่ทันจบก็ได้ยาแล้ว เหตุเพราะ หารเวลาแล้ว จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น ไม่อย่างนั้นคนสุดท้ายจะไม่ได้ยากลับบ้าน เพราะไม่ทันเพราะห้องยาปิดตอนช่วงเย็น หรือ ไม่ทันรถ-เรือ เข้าหมู่บ้าน เสียก่อน

ปัญหาเรื่องนี้ ถามว่าทำไมรัฐบาลทำไม ไม่แก้เรื่องพื้นฐานแบบนี้ก่อน เงินงบประมาณควรเอาไปทำพื้นฐานก่อนไหม เมื่อแก้ได้แล้ว ค่อยไปต่อยอดรักษาโรคแพงๆเฉพาะทาง อาทิ โรคข้อ โรคตา โรคหัวใจ อย่างที่สปสช.ทำอยู่ให้มากขึ้น ซึ่งสปสช.ควรคิดใหม่ว่าต้องทำอย่างไร ขณะที่คนส่วนใหญ่ยังแออัดที่โรงพยาบาลรัฐ หลายคนมองว่าควรจะทำบริการพื้นฐานดูแลคนไข้ส่วนใหญ่ให้ดีก่อนที่จะไป ขยายทำโครงการแยกกองทุนของสปสช. โดยโรคพื้นฐานยังมีเงินไม่เพียงพอ ประชาชนระดับพื้นฐานจะเดือดร้อน

ต่อมาคือเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ มีการใช้งบประมาณปีละเป็นหมื่นล้านบาท ถามว่าส่งเสริมอย่างไรทำไมคนป่วยไม่ลดลง กลับมีตัวเลขว่าหลายโรคเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่สงสัยหรือครับ มีสถิติมาโชว์ให้เราดูไหมในฐานะเจ้าของเงินที่เสียภาษี ระบบระบบสุขภาพดีถ้วนหน้าต้องตอบได้ว่าส่งเสริมแล้วผู้ป่วยลดลง เช่น โรคไข้เลือดออกลดลงไหม หรือโรคร้ายๆหายไปไหม สักเท่าไรคุ้มค่าหรือไม่

“รัฐบาลเอาเงินไปส่งเสริมสุขภาพอย่างไร เราต้องไปทวงถาม เอาเงินไปใช้หมื่นล้านแล้วโรคอะไรลดลงบ้าง ไม่ใช่คนยังมารักษาแน่นเท่าเดิม คนไข้ฉุกเฉินลดลงไหม ยาเสพติดลดลงไหม แก้ไขได้ไหม เด็กถูกพัฒนาตั้งแต่ในครรภ์หรือไม่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการดูแลดีแค่ไหน”

วันนี้เรามองว่าระบบสุขภาพไม่มั่นคง เพราะต่างจังหวัดซึ่งมีหมอแค่ 1 ใน 4 คือ 25 % จากหมอทั้งหมดแต่ต้องดูแลคนไข้ 80 %ของคนป่วยทั้งประเทศ วันนี้หมอลาออกจากภาครัฐในต่างจังหวัดเยอะ วันนี้หมอเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหายไป หมอที่รักษาโรคยากๆหายไป.. จากที่เป็นหมอผ่าตัดไส้ติ่งได้ กลับมารักษาสิวแทน กลับมาอยู่ในเมืองกันหมด ทำหน้า ทำผิวหนัง ซึ่งเราบังคับเขาไม่ได้

ทิศทางการให้บริการสาธารณสุขประเทศไทยวันนี้เปลี่ยนไป ทุกคนเลือกปลอดภัยและสบายมากขึ้น ต้องยุติสมองไหลออกให้ได้ ยุติความเจ็บป่วยที่ป้องกันได้ จะผลักดันอย่างไรให้โรงพยาบาลขาดทุนน้อยลง เพื่อให้เอาเงินงบประมาณไปซื้อยา สร้างตึก สร้างเตียงให้เพียงพอ แก้ไขให้เกิดความพอเพียง มีเตียง มี เจ้าหน้าที่ให้เพียงพอ โรงพยาบาลรัฐมีคนไข้เยอะมาก เตียงล้นมาถึงหน้าลิฟท์ หรือระหว่างเตียงสองเตียง ก้มไปที่พื้นมีอีกเตียง มันแน่นมาก .. ต้องยอมรับความจริง

ทำอย่างไรให้บริการที่พอเพียงและมั่นคง โดยการสร้างคุณภาพชีวิตบุคคลกรสาธารณสุขให้เขาอยู่ได้ ใช้เชิงบวก ไม่ควรใช้เชิงลบ อย่างเช่น การใช้ทุนของแพทย์ปกติ 3 ปี แต่ มีผู้เสนอรัฐบาลว่าน้อยไป เอา 6 ปี เลยกลายเป็นเหมือนติดคุก เพราะต้องการให้หมออยู่ในระบบนานๆ แต่ไม่ได้ดูว่าระบบที่เป็นอยู่ เขาอยู่ได้หรือเปล่า จะพัฒนาอย่างไรที่สร้างสมดุล ทั้งการเจ็บป่วยและการรักษา ต้องอุดรูรั่วให้ได้ก่อน มีคนพอเพียง สุดท้ายจึงจะพัฒนาได้

ทุกข์ทั้งสองด้าน..ผู้มาใช้บริการและผู้ให้บริการ มีความสำคัญ การจะยกระดับบริการให้คนไทยยิ้มได้ด้วย 30 บาทรักษาทุกโรค คุณภาพต้องดีขึ้น ยาต้องดีขึ้น คือไม่ใช่ซื้อยาเผื่อแจกให้กับทุกคน จึงได้ยาราคาถูกหมด เราต้องการคุณภาพ.. วันนี้รัฐจะเก็บ 30 บาท โดยหวังว่าคนไข้ต้องเข้าระบบลดลงส่วนหนึ่ง(ในส่วนที่ใช้บริการเกินจริง) แต่นั่นหมายความว่าเราต้องสร้างเสริมสุขภาพให้เห็นเป็นรูปธรรม ลดความเจ็บป่วย บริการต้องรวดเร็ว และพอเพียง

“สรุปว่าปัญหาต้องเอามาวางบนโต๊ะ หมอไม่ใช่ตัวประเด็นหลักที่เป็นปัญหา เราพบว่าบุคคลากรสาธารณสุขอื่นก็ขาด หลายสาขา อาทิ พยาบาลขาดมากถึง 4 หมื่นอัตรา โรงพยาบาลต้องถูกแก้ไขปรับปรุงตามปัญหาจริง งบประมาณต้องถูกจัดสรรใหม่ ประชาชนที่คาดหวัง ต้องพูดความจริงกับเขา ว่าระบบเรามีกำลังแค่นี้ เราจะแก้ไขให้เขาได้อย่างไร ไม่ใช่บอกว่าฟรีทุกอย่าง ดีทุกอย่าง รักษาได้หมด แล้วเกิดความขัดแย้งขึ้นมา การชดเชยเวลาเกิดความเสียหายจะต้องแก้ไข (มาตรา41) การจ่ายเงินของสปสช. ต้องตรงไปยังรพ. ถึงมือคนไข้จริงๆ นี่คือภาพรวมที่น่าจะเกิด”

“เราต้องกลับมาคิดใหม่ ผมมองว่าประกันสังคมเป็นทางเลือก น่าจะดีที่สุด ของประเทศไทยปัจจุบัน คนที่อยู่ในระบบรักษา 48 ล้านคน “ฟรี”หมด เอาระบบภาษีไปจ่าย แต่ถ้าเป็นระบบประกันสังคม ทุกคนจ่ายเงินเข้าระบบ โดยมี “ส่วนร่วม”ด้วย แต่ถ้าจะทำจริงๆ บริการและคุณภาพต้องดีกว่า 30 บาท ต้องเหนือกว่า ต้องพิเศษกว่า ถ้าบัตรทั่วไปเป็นบัตรทอง อันนี้ต้องเป็นบัตรแพลทตินัม เข้าโรงพยาบาลง่ายกว่า มีห้องที่ดีกว่า ได้ยาชนิดที่ อยู่ในบัญชีที่สูงกว่า จูงใจให้คนเข้ามาในระบบประกันสังคม คนต้องอยากเข้ามาในระบบ ไม่ใช่ยี้ แล้วขอออกนอกระบบ ได้เคยมีการคุยหารือกับท่านเลขาธิการ สำนักงานประกันสังคมว่าน่าจะพัฒนาระบบนี้ให้เหนือกว่าให้ได้ ให้คนอยากเข้ามา เมื่อไหร่ที่คนเข้าสู่ระบบประกันสังคมมากขึ้น นั่นหมายความว่าแรงงานประเทศไทยมั่นคง แปลว่าเขามีรายได้ เป็นคนมีเงินเดือน มีความเป็นอยู่ที่มั่นคงขึ้น และการเพิ่มค่าแรง 300บาทก็ทำให้เงินกองทุน เก็บได้ใหญ่ขึ้นทันที แต่ต้องแก้ไขปรับสิทธิ”ขั้นต่ำ”เท่ากับบัตรทองทุกประการ ห้ามต่ำกว่าบัตรทอง”

เพราะฉะนั้นทิศทางต้องมาคิดจัดสรรเงินกองทุนสปสช.ใหม่ ให้สอดคล้องกับที่ประชาชนต้องการ จัดระบบบุคคลากรใหม่ คนไข้นอกของโรงพยาบาลรัฐต้องไม่แออัด ต้องปรับระบบการจ่ายเงินใหม่ ให้ฟรีกับคนที่รายได้น้อย คนแก่ เด็ก แต่คนที่มีเงินต้องร่วมจ่ายด้วยบ้าง และระบบต้องสมดุล มั่นคงในระยะยาว โดยคนป่วยต้องลดลง…

นี่คือโจทย์สาธารณสุขของไทย

เรื่องของ “หมอๆ” ประเทศไทย

น.อ.(พิเศษ)นพ.อิทธพร ได้อธิบายถึงภาพรวมบุคคลากร“แพทย์”ของไทยว่า ภาพรวมของแพทย์ ในฐานะแพทยสภา แพทย์ไทยทุกวันนี้ทำงานอยู่ใน 5 กระทรวง และภาคเอกชน โดยในปี 2554 ค่าประมาณการแพทย์ มีผู้อายุน้อยกว่า 60 ปี จำนวน 32,000 คน มีแพทย์จบใหม่ 1,818 คน โดยแพทย์ที่ทำงานใช้ทุน 3 ปี อยู่ที่กระทรวงสาธารณะสุขราว 3,500 คน เมื่อทำงานใช้ทุนเสร็จ ก็เป็นอิสระ มักเรียนต่อและบางส่วนเลือกสังกัดการทำงานใหม่ แพทย์ไทยมีใน 5 กระทรวง ได้แก่

1.กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีอยู่ 2 ส่วน คือ(1) กลุ่มนครบาลทำงานอยู่ในเมือง ขึ้นกับกรมการแพทย์ เช่น โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเด็ก สถาบันมะเร็ง เป็นต้น กลุ่มนี้เรียกว่านครบาล เป็นพวกดูแลชาวเมือง มีราว 1,000 คน ส่วน (2)หมอต่างจังหวัด หลายคนเรียกว่ากลุ่มหมอบ้านนอก ซึ่งมีโรงพยาบาลอยู่กว่า 830 แห่ง และเป็น รพ.ขนาดใหญ่ในจังหวัด ราว 100 แห่ง หมอต่างจังหวัดจึงดูแลคนไข้ส่วนใหญ่ของประเทศ โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ควบคุมแพทย์ทั้งหมดราว 12,000 คน ทั้งนี้กลุ่มนี้ยังมี 1,500-1,700 คนที่ได้ทุนไปเรียนต่อผู้เชี่ยวชาญของสาธารณสุข เรียกว่าเรสซิเด้นเทรนนิ่ง ในจำนวนผู้เรียนทั้งหมด 4,500 คน(ทุกสังกัดและทุนอิสระหมอกลุ่มนี้จะทำงานอยู่ในโรงพยาบาลของคณะแพทย์เช่น จุฬาฯ, รามาธิบดี, ศิริราช ฯลฯ ที่เราเห็นใส่เสื้อกาวน์สีขาวสั้นๆ) ในต่างจังหวัด สธ.จึงเหลือแพทย์ทำงานเพียง 10,000 คน(ไม่รวมกระทรวงอื่นๆและเอกชน)

2. กระทรวงศึกษาธิการ รวมสภากาชาดไทย มีคณะแพทย์ทั้งหมด 19 แห่ง (มีม.รังสิตที่เป็นเอกชน) ที่มีโรงพยาบาล มีอาจารย์กว่า 6,000 คน มีนักเรียนกว่า 4,500 คน จะเห็นว่าตัวเลขหมอที่อยู่ในโรงพยาบาล 19 แห่ง มีแพทย์ใกล้เคียงกระทรวงสาธารณสุข(ต่างจังหวัด)ที่มีอยู่ 10,000 คน ในการทำงานในโรงพยาบาล 800 แห่งต่างจังหวัด ทั้งที่ จะเห็นว่าสัดส่วนตัวเลขแพทย์ ต่อแห่ง ใน 19 รพ.กับ 800 รพ. ต่างกันมากแค่ไหน

3. กระทรวงกลาโหม มี หมอทหารบก,ทหารเรือ, ทหารอากาศ เมื่อรวมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมีอยู่ราว 2,000 คน

4. แพทย์ที่ทำงานอยู่ใน สังกัดกทม.อีกกว่า 1,000 คน ได้แก่ รพ.วชิระพยาบาล รพ.กลาง รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ เป็นต้น..เวลาใช้บริการโรงพยาบาลในเมืองจึงต้องตรวจสอบดีๆ เพราะเป็น มีหลายสังกัด แค่เดินข้ามฝั่งถนนแถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก็เจอหลายกระทรวงแล้ว ด้วยเหตุนี้งบประมาณจึงมีปัญหาในการจัดการ เพราะคนละเรื่องกัน เช่น รพ.รามาธิบดี สังกัดม.มหิดล กระทรวงศึกษาธิการ รพ.พระมงกุฎ สังกัดกระทรวงกลาโหม รพ.ราชวิถีของกรมการแพทย์ สธ. จึงเป็นประเด็นที่ทำให้ระบบจัดการซับซ้อน ถ้าเดินเข้าไปผิดโรงพยาบาลการให้บริการจะเป็นคนละระบบ คนละเรื่องกันเลย เพราะงบประมาณได้ไม่เท่ากัน ภารกิจก็ต่างกัน ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้ระบบบริหารการจัดการสาธารณสุขไทยยุ่งยาก

5. โรงพยาบาลรัฐในสังกัดอื่นๆ เช่น สังกัดราชทัณฑ์ สังกัดองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เช่น อบจ.ของพัทยา ภูเก็ต หรือรัฐวิสาหกิจ เช่น รพ.รถไฟ,ไฟฟ้า,ยาสูบ เป็นต้น ซึ่งมีแพทย์อีกจำนวนหนึ่ง ไม่เกิน 1,000 คน
กลุ่มนอกภาครัฐที่ยังเป็นแพทย์ คือกลุ่มเอกชน มีทั้งองค์กรเอกชน และโรงพยาบาลเอกชน ที่ทำงานเต็มเวลาราว 4,000 คน ไม่รวมแพทย์ไม่น้อยกว่า 3,000 คนที่เปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น ทั้งนักบริหาร นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ นักการเมือง หลายคนไปอยู่บนเวทีตามสีที่ชอบ ไม่รวมที่ไปเป็นนักขายตรงระดับเพชรมงกุฎอีกจำนวนหนึ่ง นี่คือแพทย์กลุ่มที่หายไป และน่าเสียดาย

วันนี้แพทย์ที่ “เดือดร้อน”ก็คือแพทย์ที่ทำงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นแพทย์จำนวนน้อยนิดเพียง 25 % ซึ่งเป็นหมออยู่ในต่างจังหวัด (10,000 จาก 40,000) ที่ดูแลประชากรของประเทศถึง 80 % ขณะที่โรงพยาบาลสังกัดอื่นๆจะพบว่ามี สัดส่วนหมอต่อคนไข้มากกว่าชัดเจน ที่เห็นทั่วไปอาทิ รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รพ.จุฬาฯ มีหมอเต็มไปหมด นี้คือประเด็นที่อาจมองว่าไม่สมดุล แต่เป็นเรื่องจริง ที่มีเหตุผลเฉพาะ และเกิดจากภารกิจของตนเอง

“เราพูดถึงสิทธิการรักษาคนไข้ ถ้านึกวาดภาพจะเห็น 3 วง คือวงที่ (1). การดูแลคนไข้ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) คือ 48 ล้านคน วงที่ (2) ดูแลสิทธิข้าราชการ 5 ล้านคน ประกอบไปด้วย ตัวข้าราชการ มีแค่ 1.6 ล้านคน อีก 3 แสนคน เป็นข้าราชการบำนาญเกษียณแล้ว ที่เหลืออีก 3 ล้านคน เป็นลูกๆและพ่อแม่ของข้าราชการ อีกวงคือวงที่ (3)ดูแลประชาชนคือประกันสังคม 9.7 ล้านคน เป็นกลุ่มที่พึ่งพาตัวเอง ใช้สิทธิผ่านสำนักงานประกันสังคม

อย่างไรก็ตามถ้าดูตามทะเบียน ประเทศไทยมีแพทย์ทั้งหมด 41,000 คน มีชีวิตอยู่ 39,000 คน ในจำนวนนี้เป็นแพทย์ที่มีอายุไม่เกิน 60 ปีมีอยู่ 32,000 คน แต่แพทย์ที่มีอายุเกิน 60 ปี จริงๆแล้วหลายท่านก็ยังปฎิบัติหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยอยู่ นี่คือตัวเลข แพทย์ในประเทศไทย พ.ศ.นี้

ที่มา : แพทยสภา

จากนั้นแบ่งแพทย์เป็น 4 ขั้น คือขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2.แพทย์ใช้ทุน ขั้นที่3แพทย์เรียนต่อผู้เชี่ยวชาญ ขั้นที่ 4 เป็นแพทย์จบผู้เชี่ยวชาญแล้ว (ตามรูปประกอบ) ขั้นที่1 คือนักเรียนแพทย์ที่เรียนหนังสืออยู่ 6 ปีแรก จะต้องสอบความรู้ระดับประเทศ3ครั้ง กับแพทยสภา ในการเรียนช่วง ปี 3 ปี 5 ปี 6 หากไม่ผ่านไม่ได้เป็นหมอ ได้วุฒิ“พบ.”แต่ไม่ได้ใบประกอบวิชาชีพ ตรวจคนไข้ไม่ได้ ซึ่งวันนี้เรามีปัญหาว่ามีหมอที่เป็น นายแพทย์แต่ไม่ได้ใบประกอบวิชาชีพอยู่จำนวนหนึ่ง(จากผลกระทบการเพิ่มการรับนักศึกษาแพทย์และเร่งผลิต)

ปัญหาต่อมาคือ พอแพทย์กลุ่มนี้เรียนจบ จะใช้ทุน 3 ปี ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่(85%)จะกลับมาเรียนต่อผู้เชี่ยวชาญ แพทย์ส่วนนี้อยู่ในชนบทเพราะเราบังคับเขาใช้ “ทุน” เมื่อครบแล้วควรต้องให้โอกาสเขามาเรียน ถ้าไม่ให้ทุนเขากลับไปเรียน เมื่อใช้ทุนเสร็จเขาก็จะ “ลาออก” พบว่าการไม่ได้รับทุน เป็นประเด็นที่ทำให้แพทย์ลาออกมากที่สุด

ปี 2553 มีแพทย์ใช้ทุนครบ 3 ปี จำนวน 1,300 คน กระทรวงสาธารณสุขให้ทุนมาเรียน 500 คน อีก 800 คนไม่มีทุนมาเรียน แต่ตำแหน่งเรียนต่อมี 1,000 ตำแหน่ง เมื่อไม่มีทุนให้เรียน แพทย์เหล่านี้ก็ไปขอทุนกระทรวงอื่น และจำต้องลาออกทิ้งตำแหน่งจากกระทรวงสาธารณสุข ไปรับทุนรัฐอื่น เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ทหาร ตำรวจ กทม. และ หน่วยราชการอื่น รวมถึง ทุนอิสระ เพื่อให้ตนกลับมาเรียนต่อได้ ใช้เวลาเรียน 3 ปีจบก็เป็นผู้เชี่ยวชาญ แพทย์กลุ่มนี้ อาจถูกตราหน้าว่า ไม่รักชนบท แต่ทำไมกระทรวงสาธารณสุขไม่ให้ตำแหน่งเขาจนเพียงพอ เป็นอีกคำถามหนึ่ง? (พบว่าแพทย์ที่เรียนราว 4,500 คน มีทุน สธ.เพียง 1,700-1,900 คน ดังนั้นที่เหลือส่วนใหญ่ จึงเป็นกลุ่มที่ลาออกมาจาก สธ.รับทุนที่อื่น หรือทุนอิสระ)

สิ่งที่รัฐบาลพูดเสมอว่าอยากให้แพทย์ทั่วไปดูแลรักษาชาวบ้าน แต่ยังไม่มีหมอไปอยู่.. จึงแก้ปัญหาเอาหมอจบใหม่ไปอยู่หนึ่งคนก็แล้วกัน แต่วันนี้ไม่ใช่ ชาวบ้าน มีอินเตอร์เน็ต มีความรู้ อยากให้รัฐบาลสะท้อน ภาพประชาชนของจริงว่าต้องการอะไร.. อย่าดูถูกประชาชนในต่างจังหวัด ..เขาต้องการหมอผู้เชี่ยวชาญ ดูแลเช่นกัน

“เวลาลูกท่านป่วย ท่านจะไปหาหมอจบใหม่ 3 ปีแรก หรือไปหาหมอเด็ก เวลานี้รัฐบาลแก้ปัญหาเพราะไม่มีหมอไปอยู่ชนบท จึงเอาหมอที่รู้เรื่องสักคน..ไปอยู่ชนบทก็พอแล้ว แต่วันนี้ ไม่ใช่น่ะครับ ประชาชนรู้มากขึ้น ฉลาดขึ้น เขารู้ว่าอะไรเป็นอะไร เข้าถึงแพทย์ได้ง่ายขึ้น การแก้ปัญหาอย่าไปดูถูกประชาชนว่าเขาไม่รู้ วันนี้เขารู้หมดน่ะครับ เพราะฉะนั้นผู้เชี่ยวชาญจะต้องเข้าถึงเขา และมีมากขึ้น ไม่ใช่ว่าจะปล่อยให้เขาไปหาหมออะไรก็ได้ แบบในอดีต”

ที่มา : แพทยสภา

ถามว่าแพทย์จบใหม่อยู่ที่ไหน แพทย์อยู่ในชนบท ตามการใช้ ”ทุน” โดยปีแรกให้หมอจบใหม่ไปอยู่รพ.ใหญ่ ปี 2-3 ไปอยู่ รพ.เล็กในชนบท ซึ่งตอนนี้มีแพทย์ใช้ทุนราว 3,000 คน วันนี้ชนบทขาดแพทย์อีก 2,000 คน แต่เราผลิตแพทย์ต่อปีในอนาคตอันใกล้จะเกินอยู่แล้ว ปีนี้รับนักเรียนแพทย์ 2,475 คน ปีที่แล้วจบไป 1,800 คน ผู้ใช้ทุน 3 ปี ต่อไปจะสูงถึง 7,000 คน หากไม่ต้องกระจายไปกระทรวงอื่นๆ อนาคตปัญหาคือตำแหน่งข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุข จะมีไม่พอมากกว่า(ม.รังสิตไม่ต้องใช้ทุน) โดยอนาคตแพทย์จะเรียนต่อได้ยากขึ้น และเป็นแพทย์ทั่วไปมากขึ้น (แพทย์จบ 2,400 แต่เรียนต่อผู้เชี่ยวชาญได้แค่ 1,000 ที่นั่ง)ซึ่งทำให้ในชนบทจะมีแพทย์ทั่วไปคงอยู่มากขึ้น เป็นปัญหาในอีกมุมหนึ่ง

ส่วนแพทย์เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ มีจำนวน 22,000 ในสาขาต่างๆ 77 สาขา เช่น สูตินรีแพทย์มี 2,200 คน แต่ละปีผลิตได้ 80 คน แต่ระยะหลัง หมอสูติ(ทำคลอด)เกิดความกลัว เปลี่ยนไปทำ นรีเวช (ผ่าตัดโรคอื่นๆทางสตรีเช่นมะเร็ง)แทน เนื่องจากกลัวการฟ้อง เพราะสาวๆที่ท้องแต่ละคน จะดูแลตัวเองดีไม่เท่ากัน บางคนดูแลตัวเองดีมาก บางคนดูแลไม่ดี ครื้นเครง ทานเหล้า สูบบุหรี่ นอนดึก ทำให้ลูกคลอดมามีผลออกมาต่างกัน รวมถึงกรรมพันธ์ พอคลอดออกมาไม่ดี ค่านิยมวันนี้กลับไปโทษหมอ หมอหลายคนยอมรับไม่ได้ที่ต้องไปสู้คดี (แม้รู้ว่าไม่ผิดก็โดนขึ้นศาลไปก่อนบางคดี ขึ้นศาลหลายๆปี ) หมอสูติฯจึงหายไปเยอะ ทางแพทยสภาก็ทำอะไรไม่ได้ บังคับก็ไม่ได้ ต้องทำใจ..เช่นเดียวกับในต่างประเทศหลายแห่งที่ขาดหมอสูติทำคลอด

ขณะที่หมอวิสัญญี(ดมยา)มี 1,000 คน อยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขเพียง 100 กว่าคน ส่วนใหญ่อยู่ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ขณะที่โรงพยาบาลชุมชน 700 แห่ง แต่มีหมอดมยาราว 10 คน ที่เปิดห้องผ่าตัดได้ พอเกิดโมเดล “ร่อนพิบูลซินโดม” (หมอถูกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาให้ติดคุก ไม่รอลงอาญาโดยข้อกล่าวหาว่า เกิดจากการไม่มีวิสัญญีแพทย์ แม้คดีจะยกฟ้องภายหลังเมื่อคดีอุทธรณ์ ) โรงพยาบาลชุมชนส่วนใหญ่จึงไม่กล้าผ่าตัด และส่งคนไข้เข้าโรงพยาบาลระดับจังหวัดกันหมด เพราะต่างก็ไม่มีหมอดมยา ทำให้คนไข้เสียโอกาส เดินทางไกล และหลายโรคก็ได้รับการรักษาที่แย่ลง เพราะเกิดความแออัด มารอคิวนานที่ โรงพยาบาลระดับจังหวัดแทน …

นี่คือความจริงของวงการแพทย์ไทย ที่ “มืออาชีพ” กำลังหายไป ..