ThaiPublica > เกาะกระแส > แนะเคลมประกันภัย “บ้าน-รถยนต์” หลังน้ำท่วม

แนะเคลมประกันภัย “บ้าน-รถยนต์” หลังน้ำท่วม

1 ธันวาคม 2011


น้ำท่วมใหญ่ร้ายแรงครั้งนี้ ทำให้บ้านที่อยู่อาศัย และรถยนต์จำนวนมากถูกน้ำท่วม สร้างความเสียหายและความเดือนร้อนอย่างรุนแรงต่อผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร และพระนครศรีอยุธยา

โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ มีการประเมินว่าสุดท้ายหลังภาวะน้ำท่วมสิ้นสุดลงแล้ว จำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยเฉพาะในโครงการบ้านจัดสรรที่ได้รับความเสียหายน่าจะอยู่ที่ประมาณ 170,000 หน่วย แต่ถ้านับรวมหน่วยบ้านนอกโครงการจัดสรร หรือบ้านที่ประชาชนสร้างเอง หรือบ้านเช่า โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้นิคมและอุตสาหกรรม ซึ่งหากรวมกันทั้งหมดแล้วจะมีจำนวนสูงถึงประมาณ 1 ล้านหน่วย

ส่วนกรณีรถยนต์ ยังไม่มีข้อมูลระบุชัดเจนว่ามีจำนวนมากน้อยแค่ไหน แต่ภาพเหตุการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในสื่อพอจะคาดการณ์ได้ว่ามีรถยนต์จมน้ำ หรือถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินเหล่านั้น ผู้ที่ทำประกันภัยหรือซื้อประกันภัยบ้านและรถยนต์ไว้ จำเป็นต้องรู้หลักเกณฑ์ เงื่อนไขสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหม หรือเคลมค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัยที่ทำไว้ เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับจากการประกันภัยทรัพย์สิน

นายชัยนันท์ อุโฆษกุล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้บริโภค แนะนำว่า สิ่งแรกที่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมต้องดูคือ กรมธรรม์ประกันภัยที่ซื้อไว้เป็นประเภทใด ในกรณีที่อยู่อาศัย หรือบ้าน ต้องดูว่ากรมธรรม์ประกันภัยที่ซื้อเป็นประเภทครอบคลุมทุกความเสี่ยง (all risk) หรือครอบคลุมเฉพาะกรณีไฟไหม้เท่านั้น

หากซื้อประกันภัยครอบคลุมทุกความเสี่ยง ก็สามารถเคลมค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัยได้ แต่ถ้าทำประกันภัยเฉพาะไฟไหม้ จะไม่ได้รับการคุ้มครอง หรือเรียกค่าเสียหายไม่ได้

http://www.smi.or.th/webdatas/news/news_1663.jpg
http://www.smi.or.th/webdatas/news/news_1663.jpg

การทำประกันภัยที่อยู่อาศัย หรือ บ้านนั้น นายชัยนันท์ ระบุว่า ส่วนใหญ่จะซื้อเฉพาะประกันภัยไฟไหม้ ไม่ได้ซื้อประกันภัยครอบคลุมทุกความเสี่ยง เนื่องจากผู้ซื้อประกันหรือผู้บริโภคส่วนมากจะไม่ทราบว่ามีการประกันภัยประเภทครอบคลุมทุกความเสี่ยง เพราะคนขายประกันภัยมักไม่บอก หรือไม่เสนอขายถ้าผู้ซื้อประกันภัยไม่สอบถาม

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเบี้ยประกันภัยไฟไหม้จะแพงกว่า และได้ค่านายหน้า (commission) สูงกว่าการประกันความเสี่ยงประเภทครอบคลุมทุกความเสี่ยง

http://news.clicknect.com/media/contents/20111105/20111105173510-567.jpg
http://news.clicknect.com/media/contents/20111105/20111105173510-567.jpg

ส่วนในกรณีประกัยภัยรถยนต์ นายขัยนันท์กล่าวว่า กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ความคุ้มครองภัยน้ำท่วม ประเภท 1 เท่านั้นที่ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากน้ำท่วม ผู้ที่ซื้อประกันภัยประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากประเภท 1 จะไม่ได้รับความคุ้มครอง

หลักเกณฑ์การพิจารณาชดใช้ค่าสินไหม

ในการพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมจากการที่น้ำท่วมนั้น แบ่งออกเป็น 2 กรณี ซึ่งพิจารณาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง

กรณีที่ 1 เสียหายโดยสิ้นเชิง (total loss) เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยที่ได้รับการพิจารณาจากบริษัทว่า รถยนต์คันดังกล่าวไม่คุ้มที่จะซ่อมแซมให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมได้ ซึ่งกรณีดักกล่าวนั้นยังรวมถึงเครื่องยนต์ ที่ต้องได้รับการซ่อมแซมให้สามารถใช้ได้ดังเดิมก่อนเกิดภัยพิบัติด้วย โดยมากบริษัทประกันจะประเมินมูลค่าความเสียหายที่ 70 % ของมูลค่ารถคันนั้น

ทั้งนี้ ระดับน้ำท่วมที่เรียกว่า เสียหายโดยสิ้นเชิง คือ รถยนต์ถูกน้ำท่วมทั้งคัน หรือน้ำท่วมระดับเกินคอนโซลหน้าขึ้นไป

กรณีที่ 2. เสียหายบางส่วน (partial loss) ความเสียหายจากภัยน้ำท่วมนั้น สามารถสร้างความเสียหายได้มาก แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการประเมินของบริษัทประกันด้วยว่าเสียหายมากน้อยเพียงใด และถ้ารถคันนั้นไม่เสียหายมากนัก สามารถซ่อมกลับมาใช้ได้ ประกันภัยก็จะตีเป็นลักษณะความเสียหายบางส่วน

อย่างไรก็ตาม ลักษณะความเสียหายบางส่วนนั้น ถือเป็นความรับผิดชอบของประกันภัยในการซ่อมแซมรถที่ประสบภัยให้กลับมาใช้งานได้ปกติ โดยที่ประกันภัยนั้นจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการคืนสภาพรถคันดังกล่าว ซึ่งรวมตั้งแต่เรื่องเครื่องยนต์กลไกไปจนถึงการทำความสะอาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายเรื่องการซักพรม หรือทำความสะอาดภายในก็สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ทั้งสิ้น

ขั้นตอนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

สำหรับขั้นตอนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้น ถ้าเป็นไปได้ระหว่างน้ำท่วมให้ถ่ายรูปบางส่วนเอาไว้ก่อน และหลังจากน้ำลดแล้วให้โทรศัพท์ไปยังบริษัทประกันภัยที่ทำประกันไว้ เพื่อให้มาตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ หรือเพื่อความสะดวกมากขึ้นอาจจะเรียกบริษัทประกันภัยนัดเจอยังสถานที่ที่จะนำเข้าไปซ่อมก็ได้ แต่ถ้าจะให้ดีซ่อมที่อู่กลางประกันภัยต่อจะค่อนข้างได้รับความสะดวก

เมื่อบริษัทประกันภัยรับทราบแล้ว ก็จะดำเนินการประเมินมูลค่าความเสียหาย หากรถยนต์ของคุณเข้าข่ายเสียหายสิ้นเชิงก็จะได้รับเงินจากบริษัทประกันภัย

แต่กรณีได้รับความเสียหายบางส่วนนั้น เมื่อบริษัทประกันภัยทราบความเสียหาย และเมื่อคุณได้รับใบรับรองความเสียหายเรียบร้อย รถยนต์ของคุณก็จะได้รับการซ่อมแซมตามความเสียหายที่แท้จริง โดยคุณสามารถเข้าไปตรวจสอบการซ่อมแซมที่อยู่รถนั้นได้ตามสมควร และเมื่อรถยนต์ซ่อมเสร็จ สามารถนำกลับมาใช้ หากพบปัญหาอันอาจจะเกิดจากภัยที่ได้รับมานั้น สามารถแจ้งอู่ หรือบริษัทประกันภัยได้ทันที เพื่อแจ้งความเสียหายต่อเนื่อง

สำหรับเอกสารประกอบการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ได้แก่ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุ บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขับขี่/ ผู้เอาประกันภัยของรถยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุ บันทึกประจำวันของเจ้าหน้าที่ตำรวจ (กรณีรถยนต์สูญหาย) และ บัตรประชาชนผู้ขับขี่

ทั้งนี้ เพื่อรู้เท่าทันการเคลมประกันภัยน้ำท่วม สภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย จึงกำหนดจัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับการประกันภัยน้ำท่วมให้กับสมาชิกสภาหอการค้าไทยฯ และผู้ที่สนใจร่วมเข้าฟัง ในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ ที่สภาหอการค้าไทยฯ ห้อง activity hall โดยมีผู้เชียวชาญในวงการประกันภัยกว่า 30 ปี มาบรรยาย