ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > วิกฤตน้ำท่วม บั่นทอนความเชื่อมั่น “คุณภาพน้ำประปา”

วิกฤตน้ำท่วม บั่นทอนความเชื่อมั่น “คุณภาพน้ำประปา”

7 พฤศจิกายน 2011


ปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ เป็นเวลานานติดต่อกันมาหลายเดือน ส่งผลทำให้แหล่งน้ำที่ใช้ในการอุปโภคและบริโภค เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียตามมา จากข้อมูลของ “ศูนย์ปฎิบัติการบรรเทาปัญหามลพิษในพื้นที่ประสบอุทกภัย 2554” กรมควบคุมมลพิษที่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปเก็บตัวอย่างน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังทั้งหมด 149 จุด เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่าคุณภาพของน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมาก คิดเป็นสัดส่วนรวมกันถึง 71 % นอกจากนี้ยังได้ทำการตรวจสอบแหล่งน้ำบนผิวดินอีก 18 จุด พบว่าอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมาก คิดเป็นสัดส่วน 84 %

กรมควบคุมมลพิษ ชี้คลองประปาเริ่มเน่า

แต่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ ปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้น้ำที่มีคุณภาพต่ำเหล่านี้ได้ไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง โดยเฉพาะน้ำในคลองประปาที่ประชาชนใช้ในการอุปโภค-บริโภค ดังนั้นในระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษจึงส่งเจ้าหน้าที่ไปเก็บตัวอย่างน้ำในคลองประปามาทำการตรวจสอบ พบว่า คูณภาพของน้ำในคลองประปาหลายพื้นที่ หรือน้ำดิบที่ใช้ในการลิตน้ำประปา ตอนนี้อยู่ในอาการโคม่าแล้ว โดยมีค่าออกซิเจนละลายน้ำ (DO) ต่ำกว่า 2 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งในภาวะปกติ น้ำควรที่จะมีค่า DO ไม่ต่ำกว่า 5 มิลลิกรัมต่อลิตร ถ้าต่ำกว่า 2 มิลลิกรัมต่อลิตร ถือว่าเริ่มเสื่อมโทรมไปจนถึงน้ำเน่าเสีย ถ้าในน้ำไม่มีออกซิเจนผสมอยู่เลย ส่วนค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำ (PH) มาตรฐานจะอยู่ในช่วง 5.5-9 หน่วย หากค่า PH ต่ำกว่า 5.5 ลงมาถือว่าน้ำมีค่าความเป็นกรด ถ้าสูงกว่า 9 ขึ้นไป ก็ถือว่ามีค่าเป็นด่าง แต่ตัวบ่งชี้ความน่าเสียของน้ำที่สำคัญ คือ ค่าออกซิเจนละลายน้ำ

น้ำเน่าเสียทะลักเข้าท่วมคลองประปา

ปัญหาน้ำท่วมทำให้มีน้ำคุณภาพต่ำไหลข้ามคันกันน้ำเข้าไปท่วมคลองประปากว่า 17 จุด รวมทั้งไหลเข้าไปท่วมโรงงานผลิตน้ำประปาด้วย

เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา น้ำจากคลองมหาสวัสดิ์ไหลทะลักเข้าไปท่วมโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ของการประปานครหลวง(กปน.) ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำประปาในหลายพื้นที่ ต้องบริโภคน้ำประปาที่มีสีขุ่นเข้ม และมีกลิ่นไปหลายวัน อาทิ อ.เมืองนนทบุรี, ปากเกร็ดฝั่งตะวันตก, บางบัวทอง, บางใหญ่, ไทรน้อย, บางกรวย, อ.พระประแดง, พระสมุทรเจดีย์ฝั่งตะวันตก,เขตธนบุรี, คลองสาน, บางกอกน้อย, บางกอกใหญ่, ทวีวัฒนา, บางพลัด, หนองแขม, ภาษีเจริญ, บางแค, บางบอน, ทุ่งครุ, จอมทอง, ราษฎร์บูรณะ, บางขุนเทียน และ ตลิ่งชัน เป็นต้น

สาเหตุที่ทำให้น้ำประปามีกลิ่นและสีขุ่นเข้ม เกิดจากสาหร่ายหลุดเข้าในโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ในปริมาณที่มาก จนทำให้เครื่องกรองน้ำอุดตัน วันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา นายเจริญ ภัสระ ผู้ว่าการการประปานครหลวง ได้ประกาศลดกำลังการผลิตน้ำประปา จากเดิมมีกำลังการผลิตน้ำประปาวันละ 900,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ลดเหลือ 400,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทั้งนี้เพื่อปรับปรุงแก้ไข พร้อมกับปรับลดเวลาในการจ่ายน้ำแค่ 2 ช่วง คือในเวลา 06.00-09.00 น. และ 17.00-20.00 น.

ต่อมาในช่วงเช้าของวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา กปน.ได้แก้ไขปัญหาน้ำขุ่นเหม็นในเขตพื้นที่ฝั่งธนบุรี จ.นนทบุรี และ จ.สมุทรปราการได้สำเร็จ ปรากฏว่าในวันเดียวกันนั้นเอง ก็เกิดปัญหาจากเมืองเอกมีระดับเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆจนไหลบ่าเข้าท่วมคลองประปาเป็นช่วงๆ ตั้งแต่รังสิตถึงแยกสรงประภา และวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา เกิดปัญหาน้ำท่วมล้นเข้ามาในคลองประปา ช่วงวัดนาวง เขตหลักหก จ.ปทุมธานี แต่กปน.ได้ดำเนินการแก้ไขได้

เดินเครื่องเพิ่มออกซิเจน-อัดสารฆ่าเชื้อโรคเต็มพิกัด

สรุปสถานการณ์ของน้ำในคลองประปาโดยภาพรวม (น้ำดิบ) ในช่วงที่เกิดปัญหาน้ำท่วม ทางกปน.ยอมรับว่าน้ำในคลองประปาจะมีปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ (DO) ในปริมาณที่ต่ำมาก ซึ่งกปน.ได้แก้ปัญหาด้วยการเดินเครื่องเติมออกซิเจนเข้าไปในน้ำ, เพิ่มปริมาณคลอรีนเข้าไปฆ่าเชื้อโรค, เพิ่มการใช้ด่างทับทิม (โปแตสเซียม เปอร์แมงกาเนต), เพิ่มถ่านกัมมันต์ (Activated Carbon) เข้าไปดูดสีและกลิ่นในน้ำ และเพิ่มปริมาณสารส้ม เพื่อทำให้น้ำตกตะกอน และมีสีใสมากขึ้น รวมทั้งทำการล้างบ่อกรองน้ำให้ถี่มากยิ่งขึ้นด้วย

นอกจากนี้นายเจริญ ยังได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาทุกวัน ซึ๋งนายเจริญ ยืนยันว่า ผลการตรวจสอบในขณะนี้ ยังไม่พบเชื้ออี.โคไล และเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร สารพิษ โลหะหนักเช่น ตะกั่ว แคทเมียม โครเมียม ปรอท และสารหนู เจือปนอยู่ในน้ำประปา ยกเว้นสีและกลิ่น แต่คูณภาพของน้ำประปา ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก (WHO)

กปน.แจงประปาไทยไร้สารพิษ-ปลอดเชื้อโรค

และเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในคุณภาพของน้ำประปาไทย เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางกปน.จึงได้มอบหมายให้นางจงกลนี อาศุเวทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุณภาพน้ำ กปน.นำข้อมูลผลการตรวจวัดคุณภาพของน้ำประปา โดยใช้เครื่องพารามิเตอร์เข้ามาใช้ในการตรวจวัดคุณภาพน้ำ ทั้งในทางกายภาพ, เคมี-ฟิสิกส์และจุลชีววิทยา ออกมายืนยันว่า “น้ำประปาไม่มีเชื่อโรค และสารเคมีปนเปื้อน ส่วนเรื่องสีและกลิ่นที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น เกิดจากสารอินทรีย์”

นางจงกลนี อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกปน.จะนำน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำแม่กลองมาใช้ในการผลิตน้ำประปา แต่หลังจากที่เกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้มีน้ำที่ไหลผ่านจากทุ่งหญ้า ท้องนา คันดินต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งของสารอินทรีย์ ไหลลงไปยังแม่น้ำ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำประปามีสีและกลิ่น นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำท่วมล้นเข้ามาในคลองประปาในหลายจุด อาทิ คลองบางหลวง เชียงราก เมืองเอก และบริเวณวัดนาวง ต.หลักหก จ.ปทุมธานี เป็นต้น จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำประปามีสีและกลิ่น

แต่สารอินทรีย์ที่ทำให้ลักษณะทางกายภาพของน้ำเปลี่ยนแปลงไปนั้น ยืนยันว่าไม่มีผลต่อสุขภาพ เนื่องจากไม่มีเชื้อโรคและสารพิษ หากไม่รังเกียจสีและกลิ่น ยังสามารถนำมาอุปโภคบริโภคได้ แต่ต้องนำน้ำไปต้มโดยเปิดฝาภาชนะ ก็จะช่วยลดสีและกลิ่นลงไปได้บ้าง

ผลการตรวจวัดระบุน้ำฝั่งธนฯต่ำกว่ามาตรฐาน WHO

นอกจากนี้ ทางฝ่ายคุณภาพน้ำ กปน. ยังได้นำข้อมูลผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาที่โรงงานผลิตน้ำประปา 4 แห่ง ออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยผลการตรวจวัดโดยภาพรวมนั้นถือว่าเป็นไปตามมาตรฐาน WHO 2006

ยกเว้นที่สถานีสูบจ่ายน้ำเพชรเกษม ผลการตรวจวัดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ปรากฎว่าน้ำประปามีสีเหลืองเข้มสูงถึง 18 แพลตินัม-โคบอลต์ ขณะที่มาตรฐาน WHO 2006 กำหนดไว้สูงสุดได้ไม่เกิน 15 แพลตินัม-โคบอลต์ แถมยังมีกลิ่นดินปนอยู่ในน้ำด้วย ส่วนค่าความขุ่นของน้ำประปา ตามมาตรฐานของ WHO กำหนดเอาไว้ไม่เกิน 5 NTU ซึ่งเป็นอัตราที่มีความยืดหยุ่นมาก ซึ่งปกติถ้าความขุ่นมีค่าเกิน 2 NTU ก็จะสังเกตุเห็นด้วยตาเปล่าได้ว่าน้ำมีสีขุ่น แต่ในวันนั้นค่าความขุ่นขึ้นไปสูงถึง 3.33 NTU และมีค่า PH อยู่ที่ 6.96

ตารางคุณภาพน้ำคลองประปา

ล่าสุด วันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายเจริญ ได้ออกแถลงข่าวชี้แจงว่า ขณะนี้กปน.ได้ป้องกันไม่ให้มีน้ำไหลเข้ามาท่วมคลองประปาได้แล้ว ทำให้คุณภาพน้ำดิบมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ ค่าออกซิเจนในน้ำดิบเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 มิลลิกรัมต่อลิตร จากเดิมที่มีค่า DO ไม่ถึง 1 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่การผลิตน้ำประปา ยังคงต้องเพิ่มออกซิเจนอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งด่างทับทิม, ผงถ่านกัมมันต์ และเนื่องจากน้ำได้ท่วมไปเป็นบริเวณกว้าง กปน. จึงได้เพิ่มการจ่ายคลอรีนที่สถานีสูบจ่ายน้ำเป็นกรณีพิเศษ 4 แห่ง ได้แก่ สถานีสูบจ่ายน้ำลาดกระบัง สถานีสูบจ่ายน้ำเพชรเกษม สถานีสูบจ่ายน้ำราษฎร์บูรณะ และสถานีสูบจ่ายน้ำ ท่าพระ ทำให้น้ำประปาในช่วงนี้มีกลิ่นคลอรีนมากขึ้น แต่สามารถแก้ไขได้โดยรองน้ำใส่ภาชนะเปิด ตั้งทิ้งไว้ กลิ่นคลอรีนจะระเหยหมดไป

ที่ผ่านมากปน.ยืนยันมาโดยตลอดว่า คุณภาพของน้ำประปาไทยเป็นไปตามมาตรฐานของ WHO และแจ้งให้ประชาชนนำน้ำประปาสีขุ่นไปต้มก่อนดื่ม ถ้าไม่รังเกียจสีและกลิ่น และเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีข่าวพบเศษส่วนศพคนลอยขึ้นอืดมาติดตะแกรงกรองเศษขยะของโรงสูบน้ำบางซื่อ สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของน้ำประปาไทย