ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาหอการค้า – สวทช. – สทอภ. ผลักดันมาตรฐาน Thai GAP ผลิตผักปลอดภัย

สภาหอการค้า – สวทช. – สทอภ. ผลักดันมาตรฐาน Thai GAP ผลิตผักปลอดภัย

18 ธันวาคม 2014


จากซ้ายไปขวา นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ ประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรกรไทย, นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช., นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สทอภ.
จากซ้ายไปขวา นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ ประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรกรไทย, นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช., นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สทอภ.

การร่วมลงนาม MOU ระหว่าง 3 หน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สวทช. และ สทอภ. เป็นก้าวแรกในการยกระดับมาตรฐานการผลิตอย่างมีคุณภาพที่เริ่มตั้งแต่ตัวเกษตรกร ผ่านกระบวนการตรวจสอบโดยมาตรฐาน Thai GAP ผนวกกับการใช้เทคโนโลยีคิวอาร์โค้ดเข้ามาช่วยในระบบตรวตสอบย้อนกลับ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรไทย สามารถแข่งขันได้ในสากล

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ “การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย Thai GAP” และสภาหอการค้ายังได้ร่วมกับสำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ในการลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง ว่าด้วย “ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ”

ในการลงนามความร่วมมือโครงการ “การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย Thai GAP” นั้น ทาง สวทช. ได้อนุมัติเงินสนับสนุนจำนวนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเกษตรกรผู้เข้ามาร่วมทำการเกษตรในระบบ Thai GAP (Thai Good Agricultural Practice) อันเป็นระบบปฏิบัติการที่ถูกต้องในการจัดการผลิตทางการเกษตรตามข้อกำหนด

โดยโครงการดังกล่าวนั้นมีเป้าหมายที่จะทำการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในเบื้องต้น 50 ราย ปัจจุบันกลุ่มผู้ค้าปลีกนำร่อง อาทิ เทสโก้ โลตัส, แม็คโคร, ท็อป, ซีพี ออลล์ และภาคเกษตรอีกกว่า 30 ราย อยู่ในโครงการ ในการดำเนินงานจะเริ่มจากการฝึกอบรม ทำความรู้จักกับมาตรฐาน Thai GAP ตรวจสอบแปลงเกษตรว่ามีบกพร่องส่วนใด และในการดำเนินการจะมีเจ้าหน้าที่ทำการประเมินแปลงเกษตร เพื่อให้การรับรองในระบบการผลิตที่ปลอดภัย และสินค้าที่มีคุณภาพ

ผักจากเกษตรในระบบ Thai GAP ที่มี QR Code
ผักจากการเกษตรในระบบ Thai GAP ที่มี QR Code

นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ ประธานคณะกรรมการ สถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกรไทยให้เพิ่มขีดความสามารถในการทำการเกษตร โดยสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรกรไทย ทำงานร่วมกับสถาบันอาหาร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้จัดทำมาตรฐานข้อกำหนดสำหรับพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร Thai GAP

ทั้งนี้ มาตรฐานการทำระบบ Thai GAP นั้น เป็นการทำการเกษตรอย่างปลอดภัย โดยในขั้นตอนของระบบ Thai GAP จะมีการตรวจสอบการทำงานของเกษตรกร จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบแปลงเกษตร ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ในจุดนี้จึงได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สวทช.

นายชูศักดิ์กล่าวต่อไปว่า สินค้าที่ได้มาตรฐาน Thai GAP ทั้งหมดนั้น นอกจากต้องมีระบบการผลิตที่มีคุณภาพ ยังจะต้องสามารถทำการตรวจสอบย้อนกลับได้

เนื่องจากในอนาคต สินค้าเกษตรจำเป็นต้องตรวจสอบย้อนกลับถึงแปลงผู้ผลิตได้ (traceability) ด้วยเทคโนโลยีคิวอาร์โค้ดสำหรับติดลงบนผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน Thai GAP เป็นการสร้างความมั่นให้แก่ผู้บริโภค จึงมีการลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สทอภ. ในการจัดทำ “โครงการระบบตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าเกษตรด้วยคิวอาร์โค้ด”

“สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อยกระดับมาตรฐานการจัดการฟาร์มที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ให้มีความปลอดภัยในทุกกระบวนการผลิต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐิจอาเซียน (AEC) โดยประสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ ที่จะนำเครื่องไม้เครื่องมือที่มีเข้าไปพัฒนาเกษตรกร อันจะเป็นคำตอบให้กับสินค้าเกษตรไทยในอนาคต” นายชูศักดิ์กล่าว

ด้านนางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ปัจจุบัน การที่แต่ละประเทศกำหนด “ค่ามาตรฐาน” ต่างๆ ขึ้นนั้นถือเป็นการ “กีดกัน” ทางการค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งการที่ประเทศไทยมีระบบ Thai GAP จะเป็นส่วนช่วยภาคเกษตร โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการเกษตรและการแปรรูปอาหาร ทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

ระบบตรวจสอบย้อนกลับโดยใช้ QR Code
ระบบตรวจสอบย้อนกลับโดยใช้ QR Code

“หากไม่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำ ในวันข้างหน้าอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศ โดยในโครงการจะเริ่มตั้งแต่การฝึกอบรมให้เกษตรกรทราบว่ามาตรฐาน Thai GAP คืออะไร และแปลงเกษตรของเขามีจุดบกพร่องตรงใน ซึ่งในส่วนนี้ สวทช. จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการสนับสนุนงานวิจัยต่างๆ ในด้านการเกษตรที่มีให้เป็นประโยชน์แก่เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย หรือการปรุงดิน”

นางสุวิภากล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการความร่วมมือยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้ถือเป็นเตรียมสู่การเปิดประเทศในอนาคต อีกทั้ง Thai GAP เป็นอีกระบบที่สามารถสร้างช่องทางการส่งออกให้กับประเทศได้ เนื่องจากสินค้าที่ได้คุณภาพและมีความปลอดภัยย่อมเป็นที่ต้องการของตลาด

ในเบื้องต้นตนมุ่งหวังว่าผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะผ่านการประเมินคุณภาพทั้งหมดในการได้รับการรับรองตามมาตรฐาน Thai GAP ระยะที่ 2 อันเป็นมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัยที่สามารถวางขายในประเทศได้ ซึ่งจะขยายผลต่อไปในอนาคตให้ได้รับมาตรฐาน Thai GAP ระยะที่ 1 ซึ่งมีคุณภาพเทียบเคียงกับการตรวจสอบระดับสากล Global GAP ที่ได้รับการยอมรับจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก

QR Code ที่สามารถแสกนได้
QR Code ที่สามารถแสกนได้

ด้าน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สทอภ. หรือ GISTDA ได้กล่าวถึงการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการยกระดับมาตรฐานการเกษตรไทยว่า ในการผลิตสินค้านั้น ผู้ผลิตจำเป็นที่จะต้องเอาผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง ในแนวคิดที่ว่าจะทำอย่างไรให้ได้ของดีที่เป็นธรรม โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ผู้บริโภคมีความ “อ่อนไหว” มาก เนื่องจากขาดข้อมูล ดังนั้น ข้อมูลที่มีจะต้องบ่งบอกให้ผู้บริโภคทราบถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมไปถึงสามารถคาดการณ์ได้ในอนาคต

“เมื่อผู้บริโภคเลือกซื้ออาหาร ข้อมูลบนฉลากที่กำหนดส่วนผสม วันหมดอายุ อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ผู้บริโภคย่อมต้องการทราบถึงที่มาที่ไปของอาหาร และคุณภาพในกระบวนการผลิต ว่าตนจะได้รับความปลอดภัยเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว นอกจากการตรวจสอบจะเป็นกระบวนการหนึ่งในการบวนการที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการผลักดันให้เกษตรกรเข้ามาสู่ระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานด้วยเช่นกัน”

เนื่องจาก GISTA มีหน้าที่ในการจัดการเกี่ยวกับกับดาวเทียม เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภูมิสารสนเทศ ผนวกกับเทคโนโลยีคิวอาร์โค้ด สามารถนำฐานข้อมูลต่างๆ ในการนำข้อมูลแหล่งผลิต การค้า การเพาะปลูก แหล่งน้ำของเกษตรกร แม้กระทั่งตลาด มาระบุไว้ให้ผู้บริโภคทำการตรวจสอบได้ โดยฐานข้อมูลเหล่านี้มักมีความเชื่อมโยงกับพื้นดิน สามารถตรวจสอบ ติดตามได้จากดาวเทียม GISTDA จึงเป็นเสมือนแหล่งข้อมูลอันทำให้คิวอาร์โค้ดที่ติดอยู่บนผลิตภัณฑ์นั้นเป็นมากกว่าฉลากแผ่นเดียว

“ในปันจุบันฐานข้อมูลทั้งหลายมีความเชื่อมโยงกับแผนที่ รวมไปถึงทิศทางการเดินไปของภูมิสารสนเทศไทยในอนาคต โดยเฉพาะภาคการเกษตร ที่มีความเกี่ยวโยงกับพื้นที่สูง เนื่องจากไม่ว่าอย่างไรพืชยังคงต้องปลูกบนดิน ลักษณะของที่ดิน และสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร ในจุดนี้ที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเราต้องใช้ประโยชน์ในจุดนี้ให้เกิดมูลค่าขึ้นมา” ดร.อานทน์กล่าว

ทำความรู้จักกับ GISTA กับเทคโนโลยีศักยภาพสูงที่ไทยมี

GISTDA องค์กรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับดาวเทียม ในการเป็นศูนย์ให้ข้อมูลภาพถ่ายทางดาวเทียม ข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศอื่นๆ หรือข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ดาดการณ์สถานการณ์ต่างๆ ในด้านภัยพิบัติ ได้เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อปี 2554 ที่ประเทศไทยประสบกับมหาอุทกภัย โดยสังคมได้ประโยชน์จากการรายงานสถานการณ์น้ำ ที่ใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมขององค์กรแห่งนี้ในการเตรียมรับมือและป้องกันน้ำ

สำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) หรือ GISTDA เป็นองค์กรมหาชนในกำกับของรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สทอภ. ระบุว่า GISTDA ได้เปิดให้บริการมาแล้วกว่า 10 ปี โดยมีดาวเทียมสำรวจโลกเป็นของตัวเอง 1 ดวง ถ่ายภาพได้ทั่วโลก และมีสัญญารับสัญญาณภาพจากสถานีต่างๆ ทั่วโลกอีกกว่า 20 สถานี

เนื่องด้วยข้อมูลที่ GISTDA มี สามารถทำการตรวจสอบย้อนหลังได้ถึง 30 ปี ทำให้สามารถนำข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมมาประยุกต์ใช้งานได้ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น

– ด้านการเกษตร ที่นำข้อมูลจากดาวเทียมไปใช้ในการศึกษาหาพื้นที่เพาะปลูก พืชเศรษฐกิจต่างๆ ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการติดตามการเจริญเติบโตของพืช การพยากรณ์ผลผลิต ตลอดจนการประเมินความเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติ และจากศัตรูพืช

“จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการในการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยาง ก็ได้มีการนำภาพถ่ายดาวเทียมจาก GISTDA ไปใช้ในการตรวจสอบอายุของยาง ว่าเป็นยางที่อายุต่ำกว่า 7 ปีหรือไม่ จากข้อมูลที่มีก็สามารถตรวจดูได้ว่าพื้นที่นั้นเริ่มปลูกยางตั้งแต่เมื่อไร โดยตรวจสอบพื้นที่ย้อนหลังกลับไป 7 ปี ว่ามีการปลูกจริงหรือไม่ หรือจะเป็นการกำหนดที่นาของชาวนาที่จะทำการขึ้นทะเบียนชาวนา ตรวจสอบพื้นที่ทางการเกษตรที่ได้รับผลจากอุทกภัย เพื่อใช้เป็นข้อมูลรับเงินประกันพืชผลจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น” ดร.อานนท์กล่าว

– ด้านทรัพยากรธรรมชาติ โดยข้อมูลจากดาวเทียมสามารถนำไปใช้ในการหาแหล่งน้ำผิวดิน ใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงศึกษาแหล่งน้ำใต้ดิน

– ด้านการทำแผนที่ ข้อมูลจากดาวเทียมสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงแผนที่ภูมิประเทศ ตรวจสอบการขยายตัวของพื้นที่เมือง และจัดทำแผนที่ตัวเมือง เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษี

“ในการใช้แผนที่เพื่อบริหารจัดการชุมชน เป็นอีกส่วนหนึ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องอาศัยข้อมูลจาก GISTDA ในการกำหนดแผนที่ภาษี เนื่องจากภาพถ่ายดาวเทียมสามารถทำให้เห็นพื้นที่ทั้งหมดได้อย่างชัดเจน เห็นจำนวนอาคารสถานที่ ทำให้รัฐสามารถเรียกเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น จากข้อมูลที่ถูกต้องเป็นจริง”

– ด้านภัยพิบัติ ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมในการติดตามสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น สามารถใช้วางแผนป้องกันความเสียหาย วางแผนอพยพ ตลอดจนประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติได้ อันจะเห็นได้จากสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้มีการนำเทคโนโลยีจากดาวเทียมมาใช้ในการติดตามสถานการณ์น้ำ เป็นต้น

– ข้อมูลทางด้านป่าไม้และทรัพยากรของชาติ เป็นการใช้ข้อมูลในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่า สำรวจการบุกรุกป่า สภาพป่า รวมไปถึงข้อมูลดังกล่าวนั้นสามารถใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลงตามแนวชายแดน เฝ้าระวังการลักลอบขนยาเสพติตก็ได้เช่นกัน

ดร.อานนท์กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากนี้ GISTDA ยังได้ให้บริการข้อมูลกับเอกชนในการประกอบธุรกิจที่ต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ GISTDA ได้จัดตั้งอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ณ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อเป็นฐานเชื่อมโยงระบบภาคพื้นดินของดาวเทียมต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ดร.อานนท์เปิดเผยว่า ในปัจจุบันยังมีผู้ที่รู้จักองค์กรอยู่จำนวนไม่มากเท่าที่ควร ทำให้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีอยู่ไม่เต็มที่ หากเทียบศักยภาพขององค์กรแล้วมีการใช้ประโยชน์ไปเพียง 1 ใน 3 ของขีดความสามารถทั้งหมดที่องค์กรจะให้บริการได้เท่านั้น