ThaiPublica > คนในข่าว > “ทนายวันชัย” ซักค้านนอกศาล ก่อน “ยิ่งลักษณ์” ตกเป็นจำเลยน้ำท่วมที่มีโจทก์ร่วมมากสุด

“ทนายวันชัย” ซักค้านนอกศาล ก่อน “ยิ่งลักษณ์” ตกเป็นจำเลยน้ำท่วมที่มีโจทก์ร่วมมากสุด

18 พฤศจิกายน 2011


“…รัฐบาลอย่าทำเป็นตื่นตระหนกตกใจกับการฟ้องคดี รัฐบาลควรตกใจต่อเมื่อคนรวมตัวกันเป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน แล้วลุกขึ้นมาเรียกร้อง มาชุมนุมประท้วง แต่การใช้สิทธิทางกฎหมายต้องถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ยามที่เขามีปัญหา เขาไม่พอใจอะไร ดีกว่าเขายกปืนไปถล่มกัน ดีกว่าเขายกถุงบิ๊กแบ๊คไปปาทำเนียบฯ หรือดีกว่าเขาลุกมาไล่รัฐบาลออกไป้… ออกไป…”

จากโอกาสก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ที่ใช้เวลาในสนามการเมืองน้อยที่สุดเพียง 49 วัน

จากแรงสนับสนุนของมิตรรัก-แฟนเพลง-สาวก “พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เทคะแนนเสียงให้พรรคเพื่อไทย (พท.) ถึง 15.7 ล้านเสียง โดยหวังให้ “โคลนนิ่ง” เข้าควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน

จากภาพลักษณ์ “นางเอก” ขวัญใจมหาประชาชนคนเสื้อแดง กลายร่างเป็น “นางร้าย” ในสายตาคนไทย-ผู้ประสบภัยใน “มหาอุทกภัย” ครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปี

“น้ำตา” ของ “นารี” คำอุทธรณ์ที่ว่า “พยายามแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างเต็มที่แล้ว(ค่ะ)” ไม่อาจทำให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี รอดพ้นจากการตกเป็น “จำเลย” ของสังคมได้

ด้วยเพราะมี “ประจักษ์พยาน” กว่า 30 ล้านคนยืนยันว่าพวกเขาตกอยู่ในสถานะผู้สูญเสีย หลายคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว

มี “พยานวัตถุ” เป็นภาพ-เสียง-บันทึกคำสั่งการจาก “ผู้นำสูงสุด” และ “ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.)” ชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดในการแก้ไขปัญหาแต่ละขั้นตอน

เป็นผลให้นักวิชาการ และสภาทนายความออกมาชี้ช่อง ตั้งโต๊ะรับเรื่องร้องทุกข์ ก่อนฟ้องดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้อง โดยเชื่อว่าจะเป็นคดีที่มี “โจทก์ร่วม” มากที่สุดครั้งหนึ่ง

นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา อดีตเลขาธิการสภาทนายความ
นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา อดีตเลขาธิการสภาทนายความ

จึงได้เวลาที่ “วันชัย สอนศิริ” ส.ว.สรรหา อดีตเลขาธิการสภาทนายความ จะออกมา “ซักค้าน” รัฐบาลนอกศาล ผ่านสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

ไทยพับลิก้า : ในวิกฤตน้ำท่วม มองเห็นความผิดพลาดของรัฐบาลในการบริหารจัดการและการบังคับใช้กฎหมายอย่างไร

ก่อนจะตอบข้อกฎหมาย ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าอุทกภัยต่างจากภัยต่างๆ ทั้งอัคคีภัย วาตภัย หรือโจรภัย ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่สามารถเตรียมตัวตั้งรับได้ เพราะเป็นภัยที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ไม่มีทางวางแผนเตรียมการตั้งรับได้ แต่อุทกภัยมันไม่ใช่ เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าปีนี้น้ำจะมากหรือน้อย พายุแต่ลูกที่มา จะมาที่ไหนอย่างไร สามารถคำนวณได้ว่าน้ำจะลงที่จังหวัดนั้นจังหวัดนี้ จะอยู่กี่วันกี่เดือนถึงมาท่วมที่จ. นครสวรรค์ ลพบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อยุธยา มากรุงเทพฯ ทั้งหมดมันคำนวณได้เพราะใช้เวลาเป็นเดือน นั่นหมายความว่าเราสามารถเตรียมการ วางแผน ตั้งรับได้ ถ้าวางแผนดี ความเสียหายก็อาจจะน้อย ประเภทที่เสียหายใหญ่โต ความโกลาหลอลหม่านต่างๆ จะไม่เกิดขึ้น

ทีนี้การเตรียมการวางแผนมันอยู่ที่การบริหารจัดการ ซึ่งต้องเป็นเอกภาพ มีมวลพลังจัดการเป็นหนึ่ง จึงจะจัดการกับมวลน้ำมหาศาลได้ เพราะการจัดการเรื่องคนสำคัญกว่าน้ำ การจัดการคนมันมีถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนน้ำแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ตราบใดที่คุณไม่สามารถจัดการทั้งคนที่ได้รับความเดือดร้อน คนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา อย่าหวังว่าจะสู้กับอุทกภัยได้ อย่างในกทม. เคยเห็นไหมว่าทั้งรัฐบาล ผู้นำชุมชุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นส.ส. ส.ว. ส.ก. ส.ข. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือบรรดาเหล่าทัพมาประชุมร่วมกัน นายกฯ เคยเป็นประธานนั่งบริหารจัดการให้คนเข้าใจเหมือนกันไหม ไม่มีเลย พอไม่มี ศปภ. (ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย) จะทำอะไร ชาวบ้านเขาเลยไม่รู้ กทม. จะบริหารอะไร ศปภ. ก็ไม่รู้ ไปคนละทิศคนละทาง เราจะเห็นบ่อยๆ ว่าส.ส. นำมวลชนไปเปิดประตู ไปทำลายคันกั้นน้ำ หรือเวลานั่งประชุม ก็มานั่งทะเลาะกันต่อหน้านายกฯ ถามว่าตรงนี้ใครจะจัดการ ตัวนายกฯ เพราะเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ จะถือว่าเรื่องของกทม. ไม่ได้ เพราะตัวผู้ว่าฯ มันเล็กกว่านายกฯ โดยตำแหน่ง ดังนั้นนายกฯ ต้องเป็นผู้นำในการทำความเข้าใจกับคนทุกระดับอย่างมีเอกภาพ

นอกจากนี้ต้องมีการเตรียมความพร้อม ซึ่งต้องเริ่มจาก 1.การให้ความรู้แก่เขาว่าน้ำจะมาถึงเขาเมื่อไรอย่างไร ถ้าอยู่บ้านต้องทำอย่างไร 2.การซักซ้อม ถ้าน้ำมาจริงๆ เวลาอพยพต้องทำอย่างไร ไปที่ไหน และ 3.การวางแผน ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการวางแผนในการช่วยเหลือเลย พอเกิดปัญหาก็แจกถุงยังชีพ ซึ่งทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน แกได้ ฉันไม่ได้ แกเป็นฐานเสียง ฉันไม่ใช่ฐานเสียง แต่ทั้งหมดนั้นมันแค่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่นี่มันเป็นเดือนๆ การกินการอยู่จึงถือเป็นหัวใจสำคัญ พอพูดถึงศูนย์พักพิง เราเคยบอกหรือไม่ว่านอกจากโรงเรียนหรือวัด มีอะไร ยังไม่รวมเรื่องการจราจรที่ไม่มีการบริหารจัดการ ปล่อยไปจนกระทั่งเกือบถึงภาวะที่น้ำจะลดแล้ว ถึงมาบริหารจัดการ ทั้งหมดนี้เกิดจากการไม่เป็นเอกภาพ ไม่มีการเตรียมพร้อม ไม่เคยซักซ้อม และไม่เคยวางแผน

ไทยพับลิก้า : ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด เป็นเพราะผู้นำไม่รู้จะใช้เครื่องมือไหนอย่างไร หรือเกิดจากอะไร

ทั้งหมดผมว่าภาวะผู้นำคือเรื่องสำคัญสุด ผู้นำมีส่วนสำคัญในการทำให้งานสำเร็จ ดังนั้นผู้นำต้องมีความรู้ ความสามารถ และต้องมีบารมีในการนำคนให้เชื่อถือและศรัทธาได้ เพราะเชื่อเหลือเกินว่าผู้นำไม่ได้หมายความว่าต้องรู้ไปเสียทุกเรื่อง ถ้าเราไม่รู้ แต่มีบารมีที่คนเชื่อและศรัทธา เราก็จะสามารถหาคนอื่นๆ มาทำงานแทนได้ ไม่เช่นนั้นจะหามือหาเท้ามาทำงานไม่ได้ เมื่อผู้นำเราไม่มี 2 ส่วนนี้ บ้านเมืองจึงมีปัญหา เมื่อเกิดวิกฤตจึงรู้เลยว่าผู้นำสำคัญมาก

เราเคยมีผู้นำมาหลายคน ไม่ว่าจะเป็นคุณบรรหาร ศิลปอาชา คุณชวน หลีกภัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หรือพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ถามว่าคนเหล่านั้นมีบารมีในการนำคนไปในภาวะวิกฤตได้หรือไม่ ผมว่าเฉยๆ เพราะเขาเป็นผู้นำในภาวะปกติ มันไม่เคยมีวิกฤตอะไรในชาติเลย เราจึงไม่เห็นภาวะผู้นำของเขา คนอื่นๆ ใครก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเหล่านี้ ดังนั้นภาวะผู้นำจะเห็นเด่นชัดในยามวิกฤตว่า จะนำคนที่ทุกข์ยากแสนเข็นไปในทิศทางไหน เมื่อเราได้ผู้นำที่ไม่มีภาวะผู้นำ วิกฤตนี้จึงกลายเป็นวิกฤตที่ยิ่งใหญ่ สำหรับนายกฯ คนนี้กล่าวได้เลยว่าเขายังไม่มีภาวะผู้นำในการนำประชาชนให้ไปในทิศทางเดียวกัน

ไทยพับลิก้า : พอมองเห็นคนในพท. หรือในพรรคร่วมรัฐบาลที่มีบารมีมากพอ ในการนำคนไทยออกจากภาวะวิกฤตครั้งนี้หรือไม่

เท่าที่ดูแล้วนะครับ ผมเชื่อว่าคนในครม. ก็ดูนายกฯ ของเขาออกว่าไม่มีบารมี ไม่มีภาวะผู้นำ เพราะ 2 สิ่งนี้ไม่ได้เกิดจากบุญหล่นทับ มันต้องเกิดจากการบำเพ็ญ ประพฤติ ปฏิบัติ ศึกษาอบรม และทำเรื่องนั้นๆ มาจนแก่ สุกงอม มันจึงเกิดบารมีขึ้น พระอยู่ดีๆ จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์เลยไม่ได้ นายกฯ ก็เหมือนกัน มันไม่ใช่ลักษณะบุญหล่นทับ ต้องยอมรับว่านายกฯ คนนี้ไม่ได้เกิดในลักษณะสร้างสมบารมี อบรมบ่มเพาะมา เขามาด้วยวิธีพิเศษ และมาจากเหตุปัจจัยอื่น ซึ่งไม่ได้เกิดจากตัวเขา เขาอาจเป็นเพียงตัวแทนพี่ชายเขาเท่านั้น ซึ่งถึงเวลาจะรบ ถึงเวลาต้องแสดงในภาวะวิกฤต เห็นชัดเลยว่าเขายังไม่พร้อม

ถามว่าคนในครม. คนในพท. รู้ไหมว่าเขาไม่มีความรู้ ความสามารถ ไม่มีภาวะผู้นำ รู้ เพราะคนที่นำจริงๆ ไม่ใช่เขา เมื่อรู้อย่างนี้เขาจะยอมศิโรราบไหม ยอมเชื่อถือแบบที่ยอมรับว่าเป็นผู้นำของเขาได้ไหม ผมเชื่อว่าเขาอาจทำตามหน้าที่ แต่ใจลึกๆ เขารู้อยู่ว่าคนนี้ไม่ใช่ผู้นำตัวจริง

ดังนั้นความเกรงใจ ความยอมรับจึงไม่มี ภาษาพระเขาใช้คำว่าสทฺธา สาธุปติฏฺฐิตา ศรัทธาที่ตั้งมั่นแล้ว ยังประโยชน์ให้สำเร็จ นั่นหมายความว่าคนจะเป็นผู้นำได้ คนเขาต้องศรัทธา คนในพรรคต้องศรัทธา ประชาชนต้องศรัทธา ถึงจะนำพาประเทศไทยไปได้ ถามว่าคนในพท. ที่เก่งกว่าเขามีไหม มี และอาจมีหลายคนด้วย แต่คนที่อยากให้เป็นไว้เนื้อเชื่อใจไหม ไม่ เขาไว้เนื้อเชื่อใจน้องสาวเขา เพราะเป็นสายเลือดเดียวกัน เป็นโคลนนิ่งตามที่เขาบอก

นายวันชัย สอนศิริ  ส.ว.สรรหา อดีตเลขาธิการสภาทนายความ
นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา อดีตเลขาธิการสภาทนายความ

ไทยพับลิก้า : ถึงนาทีนี้คิดว่าบารมีพ.ต.ท. ทักษิณเพียงพอต่อการทำให้คุณยิ่งลักษณ์ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้หรือไม่

ถ้าบ้านเมืองไม่วิกฤต ยังมีเวลาให้คุณยิ่งลักษณ์ได้ศึกษาความเป็นผู้นำได้ ศึกษางานในสภา คอยตอบกระทู้ คอยนั่งร่วมประชุม คอยตอบโต้ เป็นประธานประชุมครม. ไปต่างประเทศ นั่นคือภาวะบ้านเมืองปกติ แม้ไม่มีบารมี แม้ไม่เคยอบรมบ่มเพาะมา มันยังพอทุเลาได้ บารมีคุณทักษิณก็ยังพอค้ำให้ทำงานได้ต่อไป แต่พอบ้านเมืองวิกฤตมันต้องมีภาวะผู้นำของตัวเอง ต้องมีแสง ต้องกล้าตัดสินใจปัจจุบันทันที พี่ชายเนี่ย บางทีมันก็ไม่สามารถมาสั่งการอะไรได้อยู่ตลอดเวลา และไม่ได้มานั่งประชุมด้วยตลอดเวลา ดังนั้นถ้ามีบารมีพี่ชาย แล้วตัวเองมีความเฉลียวฉลาด เด็ดขาด มีสั่งสมมาบ้าง มันก็ไปได้ แต่ในภาวะบ้านเมืองวิกฤตเช่นนี้ ผมเชื่อเหลือเกินว่าบารมีของพี่ชายที่อยู่แดนไกล ไม่เพียงพอในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ และถ้าในพรรคยังไม่เป็นเอกภาพ ประชาชนไม่เป็นเอกภาพ รังแต่จะทำลายบารมีของนายกฯ ให้อับแสง ด้อยค่าลงไปเสียอีก และไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤต ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ เท่ากับเป็นการทำลายบารมีและภาวะผู้นำของตัวคุณยิ่งลักษณ์ และยังเสียหายไปถึงตัวคุณทักษิณด้วย

ไทยพับลิก้า : หลายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น อาทิ การพังบิ๊กแบ๊ค การเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ ฯลฯ สะท้อนภาพว่ากฎหมายและคำสั่งรัฐบาลไม่ศักดิสิทธิ์ หรือคนส่วนหนึ่งไม่ยอมรับเชื่อถือในตัวผู้ปกครองของเขาแล้ว จึงทำในสิ่งตรงกันข้าม

เอ่อ… ผมว่าทั้ง 3 อย่างแหล่ะ จะสังเกตได้เลยว่า เอ๊ะ! บางคนที่มีความเด็ดขาดขึงขัง ทำไมไม่มาทำ คนที่ใกล้ชิด เท่าที่ผมสังเกตดูมีลักษณะอีกแบบหนึ่ง นิ่มๆ นุ่มๆ อย่างคุณยงยุทธ (วิชัยดิษฐ์ รองนายกฯ และรมว. มหาดไทย) ที่จะว่าไปไม่ค่อยมีอะไรโดดเด่นในเรื่องภาวะผู้ รวมทั้งพล.ต.อ. ประชา (พรหมนอก รมว. ยุติธรรม ในฐานะผอ.ศปภ.) ที่มองดูไม่มีอะไรให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่ามีความรู้ความสามารถ มีภาวะผู้นำ มีบารมี แต่คนที่มีความเด็ดขาด เช่น ร.ต.อ. เฉลิม (อยู่บำรุง รองนายกฯ) ก็อยู่ห่างๆ เพิ่งเข้ามาจัดการเรื่องการจราจรในช่วงท้าย ผมจึงสงสัยว่ามีเอกภาพหรือเปล่า ตราบใดก็ตามถ้ายังใช้คนไม่ถูกงาน ไม่มีเอกภาพ อย่าหวังเลยว่าประชาชนเขาจะเชื่อ จะยอมรับในสิ่งที่คุณทำ แรกๆ อาจจะยอมรับเรื่องบิ๊กแบ๊ค แรกๆ อาจจะยอมรับเรื่องประตูระบายน้ำ แต่ไปๆ มาๆ ความเดือดร้อนเขามีมากกว่า และคุณก็ไม่เคยทำความเข้าใจกับเขาให้เห็นเด่นชัดเลย เมื่อเดือดร้อน เมื่อทุกข์ทรมาน บางทีเขาก็ไม่สนใจต่อคำสั่งของคุณ และยิ่งคุณไม่แสดงภาวะผู้นำว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เสร็จเมื่อไร เขาก็ไม่เชื่อถือ ดังนั้นเรื่องกฎหมายไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่อยู่ที่คุณสร้างศรัทธา สร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนได้หรือเปล่า

ไทยพับลิก้า : ถ้านายกฯ ยอมประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่ต้น จะทำให้คำสั่งการต่างๆ เด็ดขาด ชัดเจน และได้รับความร่วมมือมากกว่านี้หรือไม่

ต่อให้มีกฎหมายพิเศษกี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่นฉบับไปอยู่ในเมื่อคุณยิ่งลักษณ์ ตราบใดที่เขาไม่มีความรู้ ความสามารถ ไม่มีภาวะผู้นำ จะมีกี่ฉบับก็ไม่ได้สร้างน้ำหนักอะไรใดๆ ให้แก่เขา แต่คนที่มีภาวะผู้นำ มีบารมี ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายกี่ฉบับ ไม่จำเป็นต้องประกาศพ.ร.ก. ฉุกเฉิน เขาก็สามารถนำไปได้ ไอ้กฎหมายเนี่ย มันเป็นเพียงการเสริมในตัวเขาเท่านั้น ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเขา

ไทยพับลิก้า : มองว่าสถานการณ์ของคุณยิ่งลักษณ์ในวันนี้ ใกล้เคียงกับคำว่ามีอำนาจ แต่บริหารไม่ได้หรือยัง

ปกติผมว่าเขาก็บริหารไม่น่าจะได้อยู่แล้ว (ยิ้มมุมปาก) เท่าที่มอง เขาไม่น่าจะบริหารได้ด้วยตัวเอง เขาเป็นเพียงแต่นายกฯ ในนาม ถามว่าประชาชนทั้งประเทศรู้ไหม แม้จะผ่านการเลือกตั้ง แม้จะได้รับการโหวตในสภา ประชาชนรู้ว่ามันเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้นเอง แต่คนที่จะสั่งให้เขาเป็นหรือไม่เป็น อยู่ที่พี่ชายเขา ดังนั้นไม่ต้องมาปิดหูปิดตา คนเขารู้ว่าเขาไม่ได้เป็นเพราะตัวเขาเอง แต่เป็นเพราะคนอื่นสั่งให้เป็น หรือขอร้องให้เป็น เขามีอำนาจในตัวไหม ไม่มี คนที่มีอำนาจจริงๆ คือพี่ชาย ถามว่าเขาบริหารได้ไหม เขาก็บริหารในนามเท่านั้นเอง แต่ตัวจริงเสียงจริงไม่ใช่เขา

ไทยพับลิก้า : แต่เวลาติดคุก คุณยิ่งลักษณ์ต้องติดเอง หากเกิดความผิดพลาดบกพร่อง

ก็… ถ้าเกิดอะไรผิดพลาดขึ้นมา ติดคุกก็ต้องติด ถูกฟ้องก็ต้องฟ้อง ถูกขับไล่ก็ต้องถูกขับไล่ ถูกชุมนุมก็ต้องถูกชุมนุม เพราะคุณเป็นตัวแสดง เหมือนเวลาดูทีวี คนเกลียด คนรัก เขาวัดจากพระเอก นางเอก ไม่ใช่ผู้กำกับ ดูหนังดูละครเนี่ย ผู้กำกับมันเป็นคนสั่งว่าต้องทำอย่างนี้ แต่เวลาคนเกลียด คนรัก คนขับไล่ คนนิยมไม่นิยม เขาไปนิยมผู้กำกับหรือเปล่า เปล่า เขานิยมพระเอก นางเอก ผู้ร้าย ดารา เหมือนกัน คุณยิ่งลักษณ์ก็เป็นเพียงผู้แสดงแทนคนหนึ่ง

ไทยพับลิก้า : เวลามอบรางวัลโทรทัศน์ทองคำ มีรางวัลสำหรับผู้กำกับด้วย

ผู้กำกับอาจจะได้ด้วย ผู้แสดงก็ได้ด้วย แต่คนจะรู้จักผู้แสดงมากกว่าผู้กำกับ ได้เสียก็อยู่ที่ผู้แสดงมากกว่า

ไทยพับลิก้า : ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจากสภาทนายความและนักวิชาการในการตั้งโต๊ะให้ผู้ประสบภัยมาลงชื่อและขอรับความช่วยเหลือด้านกฎหมาย ประเมินว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่อะไร และจะมีคนลุกขึ้นมาฟ้องรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน

เอ่อ… สิทธิการฟ้องเนี่ย ผมถือว่าเป็นเรื่องปกติ รัฐบาลอย่าทำเป็นตื่นตระหนกตกใจกับการฟ้องคดี รัฐบาลควรตกใจต่อเมื่อคนรวมตัวกันเป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน แล้วลุกขึ้นมาเรียกร้อง มาชุมนุมประท้วง แต่การใช้สิทธิทางกฎหมายต้องถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ยามที่เขามีปัญหา เขาไม่พอใจอะไร ดีกว่าเขายกปืนไปถล่มกัน ดีกว่าเขายกถุงบิ๊กแบ๊คไปปาทำเนียบฯ หรือดีกว่าเขาลุกมาไล่รัฐบาลออกไป้… ออกไป

ดังนั้นการใช้สิทธิทางกฎหมายจึงเป็นเรื่องปกติ ถือเป็นอำนาจอธิปไตยของทุกคน เป็นการใช้สิทธิทางศาล ส่วนศาลจะตัดสินให้ได้หรือไม่อย่างไร นั่นเป็นอีกเรื่อง รัฐบาลอย่าไปตอบโต้ รัฐบาลก็รอสู้คดีให้ดีที่สุดก็เท่านั้น เพราะประชาชนอาจเห็นว่าทั้งหมดนี้อยู่ที่การบริหารจัดการ ถ้าคุณบริหารจัดการไม่ได้ เท่ากับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือเปล่า หรือถือว่าทำล่าช้าไปหรือเปล่า มันอาจจะเข้าทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง ผมว่าให้ประชาชนใช้สิทธิไป ให้ศาลท่านตัดสินไป และที่สุดว่าอย่างไรก็เคารพ อย่าไปเที่ยวแสดงท่าทีเย้ยหยัน เฮ้ย! ไอ้พวกนี้มันเป็นพวกขาเก่า ไอ้พวกนี้เป็นพวกฝ่ายตรงข้าม ผมว่าดีแล้วที่เขาใช้สิทธิแบบนี้ และรัฐบาลควรสนับสนุนและยอมรับด้วย

ไทยพับลิก้า : ช่วยอธิบายขั้นตอนการฟ้องร้องคดีน้ำท่วมหน่อยว่าอาศัยช่องทางกฎหมายใด ฐานความผิดใด และใครอยู่ในข่ายตกจำเลย

สภาทนายความเขาไม่ใช่เจ้าของเรื่อง แต่เป็นองค์กรที่บริการประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทางกฎหมาย กรณีนี้เขาเห็นว่าเขาได้รับความเดือดร้อน และเขาก็ยากไร้ ไม่ได้รับความเป็นธรรม หมดเนื้อหมดตัว จึงมาขอให้สภาทนายความช่วย สภาทนายความต้องช่วยเหลือตามพ.ร.บ. สภาทนายความ ที่กำหนดไว้ การปฏิเสธนั้นอาจมีปัญหากับตัวองค์กรเอง ดังนั้นเมื่อสภาทนายความจึงรับเรื่องไว้ทั้งหมด สอบข้อเท็จจริง ดูข้อกฎหมายแล้ว ถ้าสามารถฟ้องได้ เช่น

1.ฟ้องฐานละเมิด จงใจหรือประมาทเลินเล่อ คำว่าประมาทเลินเล่อคือคุณปล่อยปละละเลย มีหน้าที่ทำ แต่คุณไม่ทำ มีหน้าที่ป้องกัน แต่คุณไม่ป้องกัน มีหน้าที่วางแผน แต่คุณไม่วางแผน ทั้งหมดอาจจะเข้าเรื่องละเมิด เขาก็อาจจะไปฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง

หรือ 2.ถ้าเขาบอกว่าทำแล้ว แต่ล่าช้า ควรต้องทำแต่เนิ่นๆ ควรรีบสกัดยับยั้ง แต่ไม่ทำ จนเขาได้รับความเสียหาย เขาอาจฟ้องไปที่ศาลปกครองได้

หรือ 3.ถ้าเขาได้รับบาดเจ็บ เขาตาย ทั้งหมดเกิดจากรัฐ ทราบว่ามีไฟช็อตคนตายไป 50 กว่าคน เขาก็อาจจะฟ้องเป็นคดีอาญาก็ได้ คดีแพ่งก็ได้ ฟ้องเรียกค่าเสียหาย

สำหรับวิธีการส่งฟ้อง อาจจะรวมเป็นเรื่องเดียวกันก็ได้ โดยระบุว่าผู้เสียหายมีจำนวนเท่านี้ๆ ใครเท่าไรก็แจกแจงไป เพราะตัวจำเลยมันอาจจะเป็นคนเดียวกัน เช่น หน่วยงานไหนก็ว่าไป ดังนั้นตัวคนที่เป็นโจทก์อาจจะเป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น ตามบัญชีแนบท้ายนี้ก็แล้วแต่ แล้วจะไปฟ้องศาลไหนก็แล้วแต่ที่สภาทนายความจะพิจารณา ถ้าเข้าหลักเกณฑ์กฎหมายแพ่ง ก็ฟ้องแพ่ง อาญาก็ฟ้องอาญา ปกครองก็ฟ้องปกครอง เมื่อฟ้องไปเสร็จ หากศาลพิจารณาแล้วว่าเข้าหลักเกณฑ์ ศาลอาจจะประทับรับฟ้องไว้ รับคดีไว้พิจารณา เขาก็จะมีหมายแจ้งไปยังตัวผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นจำเลย หรือผู้ถูกฟ้อง พวกนี้ก็ต้องมาแก้ตัว มายื่นคำให้การว่าเหตุที่มันเกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของรัฐบาล มันเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่สามารถจะยับยั้งได้ มันเป็นเหตุสุดวิสัย เข้าลักษณะเหมือนภูเขาไฟระเบิด เกิดสงคราม น้ำท่วมฉับพลันกะทันหัน ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่มันเกิด แล้วก็เตรียมพร้อมแล้ว แต่มันสุดวิสัยจริงๆ ซึ่งศาลจะต้องพิจารณาต่อไปว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ รัฐบาลอาจจะไม่ผิดก็ได้ แต่ถ้าดูแล้วไม่ใช่เหตุสุดวิสัย คุณสามารถป้องกัน สามารถระงับยับยั้งได้ แต่คุณไม่ทำ เขาอาจตัดสินให้ประชาชนชนะก็ได้

ไทยพับลิก้า : ทันทีที่ศาลประทับรับฟ้องคดีของประชาชน นั่นเท่ากับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐ ไม่ใช่ปัญหาจากภัยธรรมชาติ

(พยักหน้า) ใช่ ไอ้เรื่องภัยธรรมชาติต่างๆ ทั้งหมดมีสิทธิเกิดขึ้นได้ แต่ทั้งหมดก็ต้องมาดูว่า… ภาษากฎหมายเขาใช้คำว่า “ป้องกัน หรือหลีกเลี่ยงให้พ้นไปได้หรือเปล่า” ก็เป็นเรื่องที่ศาลต้องให้แต่ละฝ่ายนำพยานมาสืบ ก่อนพิจารณาแล้วตัดสิน

ไทยพับลิก้า : ในทางการเมือง มีการตั้งข้อสังเกตว่าคนที่ออกมาเคลื่อนไหวล้วนแต่เป็น “ขาเก่า-ขาประจำ” ทั้งนั้น และพอส่งเรื่องให้ศาลพิจารณา ก็เริ่มมีการพูดถึงตุลาการภิวัฒน์อีกรอบ

(ตอบสวนทันควัน) มันไม่ได้เกี่ยว เพราะมันไม่สามารถทำให้รัฐบาลอยู่ได้ หรืออยู่ไม่ได้ ไม่ได้อยู่ที่ศาลเลย เพราะมันไม่ใช่เรื่องยุบพรรค ไม่ใช่เรื่องให้นายกฯ พ้นจากตำแหน่ง มันไม่มีเลย มันเป็นเรื่องที่ต้องชดเชยค่าเสียหาย ปกติก็มีคนฟ้องหน่วยงานของรัฐทุกวัน มีคนฟ้องการประปา การไฟฟ้า หน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้ เป็นตุลาการภิวัฒน์หรือเปล่า เปล่า เพียงแต่ครั้งนี้มันเป็นวงกว้าง มันเยอะ และมันใหญ่ และตัวที่จะเป็นจำเลยมันเกี่ยวกับหน่วยงานที่บริหารจัดการเรื่องน้ำ อาจเป็นนายกฯ โดยตรง ถ้าจะจ่ายเงิน ถามว่านายกฯ ต้องเอาเงินตัวเองมาจ่ายหรือเปล่า เปล่า ก็ใช้เงินหลวงทั้งนั้น ดังนั้นถ้าไปมองแบบนั้นก็ถือเป็นการมองที่ตื้นเขิน มองแบบหาเรื่อง มองแบบความคิดเก่าๆ ซึ่งไม่เป็นธรรม การที่เขาใช้สิทธิทางศาลก็ดีแล้ว ดีกว่าเขาไปยกขบวนกันมาขับไล่รัฐบาล

ไทยพับลิก้า : ประเมินสถานการณ์รัฐบาลหลังน้ำลดอย่างไร

ผมว่าเขาน่าจะวิกฤต ความจริงผมคาดหวังเอาไว้สูง ผมก็ให้กำลังใจเขานะทีแรก เพราะมองดูแล้วถ้าเป็นรัฐบาลปชป. มันไม่จบ เพราะคนที่อยากมีอำนาจ เขายังไม่ได้ ดังนั้นมันก็จะมีการปั่นป่วนวุ่นวาย ชุมนุมประท้วง ขับไล่ไสส่ง คนก็เบื่อ ผมก็เบื่อ ดังนั้นพอคุณยิ่งลักษณ์มีอำนาจ ตัวจริงเสียงจริงเลย ผมก็หวังจะให้รัฐบาลชุดนี้เดินไป พอขึ้นมาก็หวังว่าเขาจะลดละเลิกการแบ่งสีแบ่งฝ่าย แต่เขากลับแต่งตั้งคนที่แสดงพฤติกรรมต่างๆ ทั้งหมดมาอยู่ในอำนาจรัฐเสียเอง คนก็เริ่มรู้สึกผิดหวังแล้ว เอาล่ะ ยังพอทน หวังว่าคนมันคงไม่ได้เลวอะไรไปหมด ก็ยังอาจหวังดีกับประเทศชาติ จึงยังให้โอกาส แต่พอเกิดวิกฤตครั้งนี้ ปัง! เขากลับไม่สามารถแก้ปัญหา นำพาประชาชนไปได้ ทำให้ความหวังที่คนมีต่อรัฐบาลสูญเสียไป ภาวะผู้นำก็ไม่มี เสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อหลากสี เดือดร้อนหมด หลังน้ำลด เหล่านี้จะนำมาซึ่งความเรียกร้อง นำมาซึ่งการต่อรอง เชื่อเหลือเกินว่าตราบใดที่คุณไม่มีภาวะผู้นำ ไม่สามารถนำพาประชาชนได้ในภาวะที่คนเดือดร้อน แม้จะมีเสียงกี่ล้านเสียง จะชนะเด็ดขาด ผมไม่เชื่อว่าบ้านเมืองจะไปได้ราบเรียบดั่งที่คุณหวังไว้หลังการเลือกตั้ง เชื่อว่าไม่ง่าย เชื่อว่าจะรุนแรง

ไทยพับลิก้า : การที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะอยู่หรือไป จะล้มด้วยกระบวนการทางกฎหมาย เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ การยื่นถอดถอน หรือล้มด้วยอะไร

ผมว่ายากมาก ฝ่ายค้านที่จะล้ม การที่ฝ่ายค้านจะล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และคะแนนเสียงมากกว่าฝ่ายค้านเยอะ ถ้าจะล้มก็ล้มด้วยตัวเอง เช่น ภายในมีปัญหา หรือประชาชนลุกฮือประท้วงชุมนุมขับไล่ ทำให้เขาไม่สามารถอยู่ได้ จนอาจต้องลาออก หรือยุบสภา แต่ลำพังกลไกในสภาคงทำอะไรเขาไม่ได้ แล้วไอ้เรื่องที่คิดจะปฏิวัติรัฐประหารก็ไม่น่าจะมี ถ้าจะมีก็เกิดจากตัวเขาเอง เช่น ภายในของเขาบีบเขาว่าไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยน หรือไม่ก็เกิดจากประชาชนลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องให้เขาต้องเปลี่ยน

นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา อดีตเลขาธิการสภาทนายความ
นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา อดีตเลขาธิการสภาทนายความ