รศ.ดร.จิรประภา อัครบวร
ผู้อำนวยการหลักสูตรนานาชาติการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
จากหนึ่งสัปดาห์ที่นักศึกษาปริญญาเอก ได้ร่วมกันคิดโครงการ “กู้ภัย กู้บ้าน กู้ชิวิต” เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในเรื่องการกลับเข้าบ้านของเหยื่อน้ำท่วมในครั้งนี้ โดยพิจารณาจากสื่อในปัจจุบันเน้นการเตรียมรับน้ำท่วม และขณะน้ำท่วม มากกว่าการกลับเข้าบ้าน ซึ่งโครงการนี้ถือกำเนิดจากการที่นักศึกษาบางคนได้สละเวลาไปบรรจุถุงยังชีพ เติมกระสอบทราย แล้วตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราทำได้แค่นี้เองหรือ?
เมื่อคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สอนในเรื่อง “พัฒนาคนเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ดังนั้นโครงการนี้จึงเริ่มขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และเครือข่ายองค์กรที่เป็นพันธมิตรจำนวนมาก จึงขอสรุปภาพโครงการ และความต้องการในการสานต่อโครงการ เพื่อหาแนวร่วมจัดทำโครงการนี้ต่อไปอีกสักระยะ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
โครงการฯ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ (1) เพื่อให้ข้อมูลความรู้ที่จำเป็นแก่ผู้ประสบภัยในการใช้ชีวิตในศูนย์พักพิงเเละใช้ชีวิตหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมผ่านไป ให้สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง (2) เพื่อให้สามารถวางแผนการบริหารศูนย์พักพิงให้สามารถรองรับผู้ประสบภัยได้ในระยะยาว อย่างน้อยเป็นเวลา 1 เดือน (3) เพื่อสร้างตัวแบบการเรียนรู้ในการบริหารจัดการศูนย์พักพิงต่อไป โดยตัวแบบการเรียนรู้ประกอบไปด้วย 4 ส่วนหลักได้แก่
-การสร้างและปลูกฝังการจัดการกับความเปลี่ยนแปลง – เพื่อกระตุ้นความตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้และการบริหารจัดการกับความเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีกิจกรรมให้ความรู้ และให้คำปรึกษา (Counseling)
–การเรียนรู้เพื่อ “กู้ภัย” – เพื่อสร้างความสามารถในการดูแลผู้ประสบภัยในระยะยาวให้ศูนย์พักพิง
–การเรียนรู้เพื่อ “กู้บ้าน” – เพื่อให้ประชาชนได้ความรู้และทักษะในการดูแลบ้านเรือนและเครื่องใช้ต่างๆ หลังอุทกภัย เช่นการดูแลระบบไฟฟ้า ประปา ตัวบ้าน เครื่องใช้ไฟ้ฟ้า เป็นต้น
–การเรียนรู้เพื่อ “กู้ชีวิต” – เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการตั้งต้นชีวิตหลังอุทกภัยในด้านต่างๆ อาทิภาระหนี้สินและการเงิน การประกันชีวิต ประกันภัย การติดต่อหน่วยงานราชการ การหางานทำและการสร้างอาชีพ ฯลฯ
โดยมีการเตรียมงานใน 1 สัปดาห์ รวมทั้งจัดตั้งทีมประสานงานขึ้น 3 ทีมด้วยกัน
(1) “ทีมจัดหาความรู้” เพื่อทำการสืบค้นข้อมูล และทำการขอความรู้จากผู้รู้ในเรื่องต่างๆ ที่จำเป็นต่อผู้ประสบภัย
(2) “ทีมจัดทำสื่อ” เป็นทีมศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันที่มีความสามารถในการทำสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อทำการสื่อสารให้ชาวบ้านทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยแบ่งสื่อเป็น 3 ประเภท คือ สื่อเพื่อใช้ในการบรรยาย (PowerPoint) สื่อ 1 หน้าจบ (One-page Communication) และสื่ออิเล็กโทรนิคส์ เช่น Facebook, YouTube
(3) “ทีมประสานงาน” เป็นทีมนักศึกษาปริญญาเอกที่ทำการประสานงานกับทุกภาคส่วน คือ ประสานศูนย์พักพิง จัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ ของรางวัล วิทยากร
คณะทำงานเริ่มปฏิบัติการครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน โดยได้รับการอนุญาตจากศูนย์พักพิง 2 แห่ง คือ วัดชูจิตรธรรมาราม ในมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งทั้งสองแห่งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่มีมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และมูลนิธิชัยพัฒนา คอยดูแลอยู่ตามลำดับ ซึ่งทั้งสองศูนย์มีผู้ประสบภัยมาพักพิงอยู่ที่ละกว่า 400 คน
กิจกรรมแรกที่โครงการฯ เข้าไปให้ความรู้ คือ เรื่อง “ไฟ้ฟ้าต้องระวังหลังเข้าบ้าน” โดยคณะทำงานตระหนักว่า อันดับสองของการตายในช่วงน้ำท่วมคือ ตายเพราะไฟฟ้าช็อต (รองจากการจมน้ำตายที่มาเป็นอันดับหนึ่ง) ซึ่งมีมากกว่า 40 รายแล้ว และทางโครงการฯ คาดว่าอาจจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากขึ้นหลังน้ำท่วมหากผู้ประสบภัยไม่ระมัดระวังกับภัยที่มองไม่เห็นนี้ โดยทางโครงการฯ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เริ่มตั้งแต่กองมาตรฐานและความปลอดภัย เป็นผู้ให้เนื้อหา “การใช้ไฟฟ้าในภาวะน้ำท่วม” ซึ่งทางคณะทำงานขอเพิ่มเนื้อหาในส่วนของการใช้ไฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าหลังน้ำท่วม ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประสบภัยที่ยังเหลือบ้านอยู่ไม่ต้องมาพบชะตากรรมไฟฟ้าช็อต หรือไฟไหม้ซึ่งอาจทำให้ไม่เหลืออะไรได้
โครงการฯ ได้รับความกรุณาจากคุณพรสันต์ ล้อสุวรรณ ผู้จัดการไฟฟ้าจังหวัดนครนายก คุณราเชนทร์ สมใจนึก นักบริหารงานทั่วไประดับ 9 (ศิษย์เก่าคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นิด้า) และคุณสมศักดิ์ พุทธการ ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกปฏิบัติการ ร่วมเป็นวิทยากรกับศิษย์เก่าของคณะ คุณเกษมสันต์ สารภี และคุณชัยวัฒน์ ศิริโต โดยเราจัดเป็นกิจกรรมสัมพันธ์ ผสมผสานการให้ความรู้ เรื่องไฟฟ้า พร้อมการสาธิตอุปกรณ์ไฟฟ้าให้ผู้ประสบภัยได้รับทราบสิ่งจำเป็นที่ต้องปฏิบัติเมื่อกลับเข้าบ้าน การตรวจเช็คความพร้อมของระบบไฟ จะรู้ได้อย่างไรเมื่อไฟรั่ว หากไม่ทำ จะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง และถ้าต้องติดตั้งระบบไฟใหม่ ควรติดตั้งอย่างไร เพื่อปลอดภัยเมื่อต้องประสบอุทกภัยอีกครั้ง
การไปครั้งนี้นอกจากการไปให้ความรู้เรื่องไฟฟ้าแล้ว ทางโครงการฯ ได้นำเอกสารสื่อสารแบบหนึ่งหน้าจบ (One-page Communication) เรื่อง ก่อนใช้ระบบไฟฟ้าภายในบ้าน (โดยคุณดาวใจ ศรลัมพ์ นักศึกษาภาคปกติ รุ่น 16) หมายเลขโทรศัพท์ที่ควรรู้ (โดยคุณดาวใจ ศรลัมพ์ นักศึกษาภาคปกติ รุ่น 16และคุณรัตนศักดิ์ เจริญทรัพย์ นักศึกษาภาคพิเศษ รุ่น 4) และการทำบัตรใหม่ไม่ต้องแจ้งความ (โดยคุณนันทพร สรรพอาษา นักศึกษาภาคพิเศษ รุ่น 6) ไปแจกจ่ายเป็นความรู้ โดยมีช้างน้อยชมพูเป็นตัวเดินเรื่อง ซึ่งได้แนวคิดจาก การสื่อสารด้วยปลาวาฬ ดังนั้นเมื่อส่งปลาวาฬกลับทะเลแล้ว ช้างน้อยของเราขอร่วมออกช่วยปลาวาฬปฏิบัติการช่วยชาติอีกแรงหนึ่ง
จากการไปร่วมทำกิจกรรม พูดคุยกับท่านเจ้าอาวาส พระคุณเจ้า ผู้ดูแลศูนย์พักพิง รวมทั้งผู้ประสบภัยหลายๆ ท่าน ทำให้คณะทำงานได้รับทราบความต้องการ และความจำเป็นในการช่วยเหลือได้ดียิ่งขึ้น และนั่นเป็นที่มาของการเขียนบทความนี้ เพื่อสานต่อผู้ที่ต้องการหาทางช่วยเหลือคนเหล่านี้ ซึ่งคณะทำงานมีกำลัง(กาย)จำกัด ทั้งนี้จึงหวังว่าบรรดาผู้อ่านบทความนี้ที่มีความต้องการช่วยผู้ประสบภัยจากน้ำท่วม หรือต้องการทำอะไรตามความรู้ ความสามารถที่มีอยู่ จึงขอสรุปถึงความจำเป็นและความต้องการที่ได้ประสบมาดังนี้
ขอเริ่มจากผลการเข้าทำกิจกรรมเรื่อง “ไฟ้ฟ้าต้องระวังหลังเข้าบ้าน” ทำให้เห็นข้อจำกัดของผู้ประสบภัยในเรื่องการตรวจสอบไฟฟ้าภายในบ้าน และการซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยตนเอง ซึ่งหากเราได้กำลังจากนักศึกษาวิศวกรรม นักเรียนอาชีวะศึกษาร่วมกับทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวงในการเข้าตรวจสอบไฟฟ้าก่อนใช้ให้กับบ้านผู้ประสบภัย อาจเป็นการช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นหากเราได้รับความร่วมมือในการเปิดศูนย์ซ่อมแซม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ของนักศึกษาวิศวกรรม และนักเรียนอาชีวะในท้องถิ่นที่ประสบภัย ก็เท่ากับได้ร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีกทางหนึ่ง
ปัญหาที่เร่งด่วนของผู้ประสบภัยคือ “ความเครียด” สาเหตุความเครียดส่วนหนึ่งมาจากความเจ็บป่วยที่มีมาก่อนน้ำท่วม และภาวะการเงิน เช่นเรื่องหนี้สิน การผ่อนชำระ และการกู้ยืมเพื่อการลงทุน ซึ่งความเครียดของผู้ประสบภัยมีอาการถึงขั้นจะฆ่าตัวตายแล้วในขณะนี้ ซึ่งทางสองศูนย์มีการเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ทางโครงการฯ จึงได้ระดมพลเพื่อช่วยเหลือทำการให้คำปรึกษา หรือ Counseling โดยจะมีอาจารย์ของคณะเป็นผู้นำทีม คือ รศ.ดร.นันทา สู้รักษา ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำแนะนำปรึกษาและการวางแผนอาชีพ ส่วนด้านการเงินทางคณะกำลังระดมพลสำรวจเนื้อหาและขอข้อมูลจากธนาคาร หน่วยงานการเงินต่างๆ เพื่อไปพูดคุยกับผู้ประสบภัย
ถัดมาเป็นปัญหาเรื่องการงาน ซึ่งผู้ประสบภัยกังวลเรื่องรายได้ ซึ่งหากน้ำท่วมนานตนเองก็ขาดรายได้จากงานที่ทำอยู่ ไม่ว่าจะค้าขาย หรือรับจ้างทำงาน อีกทั้งหลายคนได้เป็นผู้ตกงานอย่างสมบูรณ์ไปแล้วเนื่องจากโรงงานปิดตัวลงเพราะอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมที่โดนภัยพิบัติครั้งนี้ด้วย
ขณะนี้ทางศูนย์ผู้ประสบภัยในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้มีการจัดทำกิจกรรม ได้รับความอนุเคราะห์จาก “กลุ่มศิลป์อาสารอช่วย” มาจัดวัสดุอุปกรณ์ และสอนให้ผู้ประสบภัยได้ทำ “ถุงยังช่วย(กัน)” เพื่อลดความเครียดและเป็นการสร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ ให้ผู้ประสบภัย โดยทางมหาวิทยาลัยรับซื้อถุงผ้าในราคา 19-39 บาทต่อใบขึ้นกับความสวยงาม ซึ่งในแต่ละวันผู้ประสบภัยบางคนสามารถทำได้ถึง 3 ใบต่อวัน นั้นคือรายได้ประมาณ 100 บาทต่อวันนับเป็นรายได้ที่ดีทีเดียวกับการอยู่แบบมีที่พักและอาหารสามมื้อแล้ว
ทางโครงการฯ จึงคิดต่อยอดเรื่องการหาตลาด และการทำสินค้าโดยผู้ประสบภัยเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับบริษัทที่กำลังหาของขวัญปีใหม่ปีนี้ ซึ่งทั้งนี้ได้เรียนเป็นแนวทางในการประสานงานเรื่องนี้กับทางพระปณต คุณวฑุโฒ เพื่อจัดทำเป็นโครงการหารายได้เพื่อยังชีพของผู้ประสบภัยขณะอยู่ที่ศูนย์พักพิง และหลังจากกลับบ้านไปแล้ว บริษัทห้างร้านใดต้องการช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยวิธีนี้ก็สามารถทำได้อีกช่องทางหนึ่ง
นอกจากนี้สิ่งของที่เป็นที่ต้องการของผู้ประสบภัย เช่น เรือ ของเล่นเด็ก เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ยารักษาโรค เป็นต้น ทางวัดชูจิตรยังขาดแคลนน้ำใช้อย่างมากจนต้องทำการจัดการน้ำเสียให้มาเป็นน้ำสะอาดเพื่อใช้ ในโรงพยาบาลภาคสนาม โดยการนำทีมของคุณหมอจากโรงพยาบาลจากอุบลราชธานี ซึ่งมาตั้งเป็นโรงพยาบาลภาคสนามอยู่ที่วัดแห่งนี้
องค์ความรู้ที่ทางผู้ประสบภัยต้องการอย่างมากนอกเหนือจากเรื่องการเงิน การงาน คือเรื่องการฟื้นฟูบ้าน และรถยนต์ รถมอเตอร์ไซต์ที่จมน้ำอยู่ หากหน่วยงาน องค์การ บริษัทใดช่วยได้เรายินดีเป็นมือประสานสิบทิศให้ โดยทางโครงการมีนักศึกษาปริญญาเอกที่ทำหน้าที่ประสานงานประจำศูนย์พักพิงทางคุณสัมฤทธิ์ ยิบยินธรรม เป็นผู้ประสานงานวัดชูจิตรฯ คุณศัลยา รตโนภาส ผู้ประสานงานมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ และผู้ประสานงานส่วนกลางคือ คุณดาวิษา ศรีธัญรัตน์ โทร 089-454-2202 E-mail address: [email protected]
จากการสำรวจความต้องการของผู้ประสบภัยมีข้อหนึ่งที่ทำให้เห็นเป็นนิมิตหมายที่ดี คือ “ต้องการเห็นคนไทยรัก สามัคคีกัน”
หากน้ำท่วมครั้งนี้จะทำให้คนไทยรักกัน และรักประเทศไทยมากขึ้น จนเกิดเป็นความร่วมมือร่วมใจกันในการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืน น้ำท่วมครั้งนี้ถือเป็นภัยพิบัติของประเทศที่คุ้มค่าสุดๆ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านทั้งที่ประสบภัย และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย เราทางโครงการ “กู้ภัย กู้บ้าน กู้ชีวิต” ขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยชาติครั้งนี้