ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดรายงานอนุกรรมาธิการ วุฒิสภา ทำไมรพ.ขาดทุน-บริษัทยาฟ้อง-ค้างค่าน้ำค่าไฟ

เปิดรายงานอนุกรรมาธิการ วุฒิสภา ทำไมรพ.ขาดทุน-บริษัทยาฟ้อง-ค้างค่าน้ำค่าไฟ

30 กันยายน 2011


จากการนำเสนอข่าวการขาดทุนของโรงพยาบาลรัฐไปก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจากรายงานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและปัญหาเร่งด่วนของสาธารณสุข ในคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ประจำปีงบประมาณ 2553 ซึ่งได้เชิญผู้เกี่ยวข้องในประเด็นที่มีผลกระทบต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุขไทยในช่วงปี 2552-2553 มาชี้แจง ใน 5 ประเด็น 1.ความเสี่ยงของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการบริหารจัดการงบประมาณหลักประกันสุขภาพ 2.ปัญหาวิกฤตการเงินของโรงพยาบาลภาครัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 3.ปัญหาค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นภาระกับงบประมาณอย่างมาก 4.นโยบายเรื่องการขยายสิทธิประกันสังคมแก่คู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตน และ 5.ปัญหาผลกระทบของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ…..

ภาพจาก thaihealth.or.th
ภาพจาก thaihealth.or.th

ในการนำเสนอนี้ขอสรุปในประเด็นที่ 1 และ 2 ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นการขาดทุนของโรงพยาบาล คณะอนุกรรมาธิการฯรายงานว่าจากข้อมูลปี 2552 โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการสาธารณสุข สังกัดกระทรวงสาธารณสุขขาดทุน 505 แห่ง (คิดเป็น 62.58%) เป็นเงิน 5,572 .21 ล้านบาท และขาดสภาพคล่อง 175 โรงพยาบาล และในช่วงปลายปีงบประมาณ 2553 มีโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 841 แห่ง มีโรงพยาบาลขาดทุน 585 แห่ง วงเงิน 7,300 ล้านบาท มีโรงพยาบาลวิกฤตการเงิน 304 แห่ง แต่ในทางตรงข้ามงบประมาณด้านสุขภาพของกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มขึ้นทุกปี

จากรายงานได้ระบุว่า ประเด็นปัญหาวิกฤตการเงิน โรงพยาบาลรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กำลังเผชิญภาวะวิกฤตทางการเงินในระดับที่ต้องดำเนินมาตรการแก้ไขโดยเร่งด่วน และกลไกการจัดสรรงบฯหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นปัจจัยหลักทำให้หน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลประสบปัญหาทางการเงินซ้ำซ้อนอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ทางการเงินของทุกกลุ่มโรงพยาบาล (โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน )มีแนวโน้มสภาพคล่องลดลงทุกปี และปี 2553 โรงพยาบาลทุกประเภทมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงกว่ารายได้ เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดลดลง และหนี้สินมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกประเภทของโรงพยาบาล

คณะอนุกรรมาธิการฯระบุว่าในประเด็นเชิงลึกเกี่ยวกับข้อมูลการเงินของกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติยังไม่ชัดเจน ในการแสดงให้เห็นสถานการณ์ความเดือดร้อนทางด้านการเงินการคลังของโรงพยาบาล จึงได้ไปสำรวจโรงพยาบาลระดับจังหวัดและระดับต่างๆในพื้นที่

ต้นเหตุสปสช.จัดสรรเงินไม่สอดรับค่าใช้จ่าย รพ.ต้องเอาเงินกองทุนอื่นชดเชย

ผู้อำนายการโรงพยาบาลอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี ชี้แจงสาเหตุการขาดทุนว่าการจัดสรรเงินของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับโรงพยาบาลไม่สอดคล้องกับสภาพค่าใช้จ่ายที่เป็นจริงของแต่ละโรงพยาบาล เนื่องจากแต่ละโรงพยาบาลมีต้นทุนค่าใช้จ่ายไม่เท่าเทียมกัน แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเห็นว่าทุกโรงพยาบาลมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เหมือนกันและเท่ากัน

อีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ คือหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขไม่สอดคล้องกับบริบทที่แท้จริงของโรงพยาบาล โดยสำนักงบประมาณกำหนดหลักเกณฑ์หักเงินเดือนร้อยละ 60 ของเงินเดือนรวมทั้งประเทศ จากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว ทำให้โรงพยาบาลที่มีบุคลากรมากถูกหักมาก แต่การที่โรงพยาบาลยังสามารถให้บริการอยู่ได้ เพราะมีแหล่งรายได้จากกองทุนอื่นๆ เช่น กองทุนประกันสังคม ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ มาชดเชยข้ามกองทุน

หนี้ล้น -บริษัทยาฟ้อง –ไม่มีเงินซื้อยา -ไม่มีเงินจ่ายค่ำน้าค่าไฟ -รักษาคนไข้ตามสภาพ

ขณะที่ผู้อำนายการโรงพยาบาลพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ชี้แจงความเดือดร้อนว่าฐานะการเงินการคลังของโรงพยาบาลทุกแห่งในอุตรดิตถ์ อยู่ในเกณฑ์วิกฤต ต้องแบกภาระขาดทุนสะสม และใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลที่มีอยู่มาแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง จนอยู่ในระดับวิกฤตทุกโรงพยาบาล และโรงพยาบาลพิชัยถูกบริษัทยาหลายบริษัททวงหนี้และฟ้องคดีต่อศาล แม้โรงพยาบาลได้ปรับการบริหารโดยเพิ่มรายรับและลดค่าใช้จ่ายทุกรูปแบบแล้วก็ตาม

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ ให้ข้อมูลว่าโรงพยาบาลพิชัยมีอัตราการใช้บริการค่อนข้างสูงมาก เฉลี่ยประมาณ 3 ครั้งต่อคนต่อปี ซึ่งสูงกว่าจังหวัดพิษณุโลกที่มีประชากรมากกว่า ทำให้โรงพยาบาลในอุตรดิตถ์มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เฉพาะค่าตอบแทนบุคลากรที่ปฏิบัติงาน ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา โรงพยาบาลในจังหวัดอุตรดิตถ์ขาดทุนมาตลอด โดยเฉพาะในปี 2553 ขาดทุนประมาณ 200 ล้านบาท โรงพยาบาลที่วิกฤตอย่างรุนแรงได้แก่ โรงพยาบาลพิชัย โรงพยาบาลท่าปลา โรงพยาบาลน้ำปาด เป็นต้น

โรงพยาบาลน้ำปาด จ.อุตรดิตถ์  ภาพจาก nampadlab.igetweb.com
โรงพยาบาลน้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ภาพจาก nampadlab.igetweb.com

นอกจากนี้การให้บริการรักษาพยาบาลทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ของโรงพยาบาลและสถานีอนามัย ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยตลอด ไม่สอดคล้องกับงบประมาณได้รับจัดสรร โรงพยาบาลต้องแบกภาระขาดทุน มีหนี้สินมากขึ้น ถูกบริษัทยาเอกชนฟ้องให้ชำระหนี้ แต่ไม่สามารถชำระหนี้จนบริษัทยาบางบริษัทระงับการจ่ายยา รวมถึงปัญหาการค้างหนี้ยาขององค์การเภสัชกรรมด้วย บางโรงพยาบาลถึงขนาดไม่มีเงินชำระหนี้ ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ และเงินบำรุงที่มีอยู่ถูกนำมาใช้แก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินจนอยู่ในระดับวิกฤตเกือบทุกโรงพยาบาล

ส่วนโรงพยาบาลขอนแก่น รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารกล่าวว่า เงินที่ได้รับการจัดสรรไม่เพียงพอ และปัจจุบันโรงพยาบาลมียอดลูกหนี้ค้างชำระและคาดว่าจะเป็นหนี้สูญปี 2553 จำนวน 469.50 ล้านบาท (เฉพาะสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)

ด้านโรงพยาบาลเกาะยาวชัยพัฒน์ จังหวัดพังงา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชี้แจงว่า ขาดทุนจนขาดสภาพคล่องรุนแรง ไม่มีเงินชำระหนี้ค่ายา จนบริษัทยาไม่ขายยาให้ ขณะนี้ต้องรักษาผู้ป่วยตามสภาพที่มียาและเวชภัณฑ์ที่เหลืออยู่ และติดค้างชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ด้วยโรงพยาบาลมีต้นทุนในการให้บริการสูงเพราะตั้งอยู่บนเกาะ การคมนาคมไม่สะดวก

โรงพยาบาลที่อยู่ได้ต้องรัดเข็มขัด คุมต้นทุน เกลี่ยเงินในจังหวัดช่วย

นอกจากนี้คณะอนุกรรมาธิการฯได้ศึกษาโรงพยาบาลที่ฐานะดีซึ่งมีจำนวนหนึ่ง เพื่อสรุปหาปัจจัยที่ทำให้โรงพยาบาลอยู่รอดได้ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ชี้แจงว่าถ้าพบว่าโรงพยาบาลกำลังประสบภาวะวิกฤตการเงินรุนแรง ต้องชี้แจงและทำแผนฟื้นฟูภายใน 1 เดือน ควบคุมงบลงทุนและงบดำเนินการ และควบคุมอำนาจการบริหารจากผู้อำนวยการ ถ้ามีโรงพยาบาลขาดทุน จังหวัดชลบุรีใช้วิธีเกลี่ยงบประมาณช่วยเหลือ

เช่นเดียวกับโรงพยาบาลสระบุรีมีการควบคุมค่าใช้จ่าย ตั้งคณะกรรมการเพื่อควบคุมระบบการใช้ยาเพื่อควบคุมการจ่ายยาของแพทย์ โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างแพทย์ เภสัชกร เพื่อควบคุมต้นทุนต่อหน่วยของโรงพยาบาล ควบคุมการจ้างบุคลากร การเพิ่มค่าแรงและเน้นประสิทธิภาพการให้บริการ

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ชี้แจงว่ามีบุคลากรน้อยจึงมีรายรับมากกว่ารายจ่าย โรงพยาบาลจึงมีกำไรดี เช่นเดียวกับโรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นโรงพยาบาล 30 เตียง การบริหารเน้นความคุ้มค่าและประหยัดทรัพยากร

กระทรวงสาธารณสุขแก้ปัญหาแบบซุกปัญหา

คณะอนุกรรมาธิการฯสรุปว่าโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารสุข กำลังประสบภาวะขาดทุน และขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ ได้รวมเงินเดือนบุคลากรด้วย ทำให้ไม่ทราบตัวเลขงบประมาณที่แท้จริงที่จัดสรรให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขว่าเป็นจำนวนเท่าใด

เมื่อการจัดสรรงบประมาณให้แก่โรงพยาบาลต่างๆไม่เพียงพอ ทำให้โรงพยาบาลไม่มีงบประมาณในส่วนบริหารจัดการ หรือจ่ายเป็นค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข ส่งผลให้โรงพยาบาลต้องนำเงินบำรุงมาจ่ายเป็นค่าตอบแทนแก่บุคคลากรและลูกจ้างชั่วคราว ทำให้เงินบำรุงโรงพยาบาลลดลงมาโดยตลอด ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้แก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการเกลี่ยงบประมาณในระดับจังหวัด ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดูเหมือนเป็นการซุกปัญหา

ทั้งนี้บางส่วนมีความเห็นว่าสาเหตุที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเกิดวิกฤตการเงิน เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มค่าตอบแทนให้แก่บุคคลากรด้านสาธารณสุข เพื่อรักษาบุคลากรสาธารสุขให้อยู่ในระบบราชการมากขึ้น และได้เสนอแนะว่าโรงพยาบาลไม่ควรนำงบฯในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการหรือกองทุนประกันสังคมมาชดเชยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

นอกจากนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ควรจัดสรรงบประมาณให้แก่ Vertical Program ต่างๆ มากเกินไป เพราะยิ่งให้มาก งบประมาณสำหรับหลักประกันสุขภาพยิ่งน้อยลง รวมทั้งต้องมีการแก้ปัญหาการกระจายงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงในแต่ละพื้นที่