ThaiPublica > คนในข่าว > “พิภพ ธงไชย” ฟื้นลมหายใจพธม.ชูธงเหลือง ปฏิรูปการเมือง ยุค “แดง”

“พิภพ ธงไชย” ฟื้นลมหายใจพธม.ชูธงเหลือง ปฏิรูปการเมือง ยุค “แดง”

22 ตุลาคม 2011


"พิภพ ธงไชย" 1 ใน 5 แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)
"พิภพ ธงไชย" 1 ใน 5 แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)

“เรามี 1.5 ล้านจากโหวตโน แต่เราก็เชื่อว่ายังมีอีก 1.5 ล้านนะ ที่กลัวปีศาจทักษิณแล้วไปลงคะแนนให้ประชาธิปัตย์ ทั้งหมดก็ประมาณ 3 ล้านเสียง ดังนั้นเรากำลังจะจัดพลังตัวนี้ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูป”

ตลอด 6 ปีเต็ม (2548-2554) ที่วิกฤติการเมืองรุมเร้าประเทศไทย นำพาสังคมเข้าสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)” ถือเป็นหนึ่งใน “กลุ่มอำนาจ” สำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

การชุมนุมใหญ่ 33 วันในปี พ.ศ.2549 ตามมาด้วยการปฏิวัติ “19 กันยายน 2549” ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตรย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

การชุมนุมยืดเยื้อ 193 วันในปี พ.ศ. 2551 ยึดทำเนียบรัฐบาล – สนามบินสุวรรณภูมิ – สนามบินดอนเมือง นำมาซึ่งการยุบพรรคพลังประชาชน โค่นล้มรัฐบาลในเครือข่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถึง 2 ชุดติดต่อกัน คือ “รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช” และ “รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์”

ในจังหวะที่สอดคล้องกับการพลิกโอกาสของ “พรรคประชาธิปัตย์” ให้ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

แต่หลังจากนั้นดูเหมือนมนต์ขลังของ “พธม.” จะเสื่อมลง เพราะในการชุมนุม 158 วันในปี พ.ศ.2554 ที่ชูประเด็น “เขาพระวิหาร” และ “พื้นที่พิพาทไทยกัมพูชา” เหลือแนวร่วมเพียงน้อยนิด

และจบลงตรงที่ “วีระ สมความคิด” และ “ราตรี พิพัฒนาไพบูลย์” 2 แกนนำเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ต้องไปต้องถูกจองจำอยู่ในดินแดนของประเทศคู่กรณี

จนต้องมีการปรับกระบวนทัพ ในการการเลือกตั้ง “3 กรกฏาคม 2553” แต่สุดท้ายก็ไม่อาจต้านทานกระแสของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงได้

หลังการจัดตั้ง “รัฐบาลพรรคเพื่อไทย” ที่มี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” น้องสาว “พ.ต.ท.ทักษิณ” เป็น “นายกรัฐมนตรี”

“พธม.” เหมือนจะเงียบหายไปจากกระแสการเมืองไทย ท่ามกลางกระแสข่าวความแตกแยกภายใน การแอบไปเจรจากับ “พ.ต.ท.ทักษิณ” และอีกมากมาย

แต่ “พิภพ ธงไชย” 1 ใน 5 แกนนำ พธม. ยืนยันกับ “สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ว่า ไม่มีความแตกแยกภายใน และไม่มีแกนนำคนไหนหันกลับไปเจรจากับ “พ.ต.ท.ทักษิณ”

และวันนี้ พธม.ยังเคลื่อนไหว เพื่อนำไปสู่การต่อสู้ครั้งใหม่ ที่จะมีประเด็น “การปฏิรูปการเมืองไทย” เป็นธงนำ

ไทยพับลิก้า : สิ่งที่พธม. กังวลใจที่สุดหลังเครือข่ายพ.ต.ท. ทักษิณกลับมาเป็นรัฐบาลคืออะไร

ผมไม่ได้มีความกังวลใจอะไรกับการที่พรรคเพื่อไทยกลับมาอีกครั้ง พูดอย่างนี้ไม่ได้เล่นลิ้นนะ แต่ด้วยความที่ผมเป็นนักประวัติศาสตร์สังคมการเมือง มองการพัฒนาการเมืองในเชิงประวัติศาสตร์ แล้วเปรียบเทียบทั้งโลกว่าวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ และวิวัฒนาการของสังคมการเมืองมันไปอย่างไร ประเทศไทยตอนนี้อยู่ระหว่างวิวัฒนาการทางการเมืองและสังคม ก็ต้องผ่านตรงนี้ ตราบใดที่ยังมีการเอารัดเอาเปรียบ มีการกดขี่ และไม่มีความสมดุลทางอำนาจ ก็จำเป็นจะต้องมีการจัดดุลทางอำนาจอยู่ตลอดเวลา

อย่างเหตุที่เกิดที่สหรัฐอเมริกาตอนนี้ ที่มีการยึดวอลสตรีท (Occupy Wall Street) ก็เพราะอำนาจในสังคมมันไม่ได้ดุลกัน คนรวย 1 เปอร์เซ็นต์รวยมากเหลือเกิน คนอีก 90 กว่าเปอร์เซ็นต์จนลง หรือเป็นคนชั้นกลางระดับพอมีพอกิน แต่คนพวกนี้ถูกดูดเงินในรูปของภาษีให้ไปรักษาธนาคาร อะไรต่ออะไรพวกนั้น มันก็เกิดความไม่สมดุลทางสังคม ที่รู้ๆ กันอยู่ ในสังคมไทยก็มีหลายอำนาจ มีทหาร พรรคการเมือง สถาบันต่างๆ กระบวนการยุติธรรม ประชาชน ศาสนา และกลุ่มธุรกิจ เหล่านี้คืออำนาจในสังคม แต่ปัญหาก็คือตอนนี้ใครมีอำนาจมากกว่ากัน

เมื่อก่อนสถาบันมีอำนาจมากที่สุด พอพ.ศ.2475 ก็ถูกลดลงอำนาจลง ข้าราชการเข้ามาแทนที่ โดยเฉพาะ ทหาร ที่ครองอำนาจมาตลอดด้วยการส่งพรรคการเมืองเข้ามาในระบอบประชาธิปไตย พอมีการจัดดุลอำนาจใหม่อีกครั้ง ประชาชน ปัญญาชนและสื่อมวลชนก็เข้ามา ซึ่งสังคมไทยมีการจัดดุลอำนาจกันอยู่แบบนี้ตลอด ต่อมากลุ่มทุนธุรกิจที่เคยอยู่ข้างนอกก็เข้ามาในพรรคการเมือง ทหารก็เริ่มถูกกันออกไป

มาตอนนี้ก็กำลังจัดดุลอำนาจกัน พ.ต.ท.ทักษิณที่เคยถูกให้ออกไป โดยการรัฐประหารของทหาร ก็ยังสามารถกลับเข้าสู่อำนาจได้ โดยผ่านพรรคการเมืองก็คือ กลุ่มธุรกิจของพ.ต.ท.ทักษิณ กำลังช่วงชิงอำนาจจากกลุ่มธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่ง ที่คล้ายๆกับว่าฝ่ายประชาธิปัตย์เป็นตัวนำ ซึ่งก็เป็นการจัดดุลอำนาจกัน ก็ต้องมีการกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา ดังนั้นถ้าถามผมว่าผมวิตกอะไรหรือไม่… ผมไม่ได้วิตกอะไร เพราะหน้าที่ของผมก็คือทำให้ดุลอำนาจของประชาชนเพิ่มขึ้น เพราะสุดท้ายดุลอำนาจต่างๆ ไม่ว่าจะมีกี่ฝ่ายก็แล้วแต่ มันต้องได้ดุลกัน

ไทยพับลิก้า : ในระหว่างการจัดดุลอำนาจ พธม. ที่สมัยหนึ่งเคยเป็นหนึ่งในอำนาจสำคัญกลับเงียบหายไป

พธม.เกิดขึ้นมาแค่ 5-6 ปีเท่านั้น มาในเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ มาในเรื่องการปกป้องสถาบัน การทุจริตคอรัปชั่น การใช้อำนาจที่มิชอบ โดยเป็นการรวมตัวของชนชั้นกลางใหม่ ซึ่งถือเป็นชนชั้นล่างด้วยซ้ำ ซึ่งเรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปกระทบกับชนชั้นกลุ่มนี้ ที่ยอมไม่ได้เรื่องทุจริตคอรัปชั่น กระบวนการประชาชนมันไม่ใช่เรื่องชั่วคราว แต่มันจะเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไป ดูจากกระบวนการของประชาชนทั่วโลกได้เลย อาจจะเป็นกลุ่มเดิมหรือมีการตั้งกลุ่มขึ้นมาใหม่ก็ได้ พธม.ตอนนี้จะเรียกว่าชั่วคราวหรือไม่ชั่วคราวก็แล้วแต่ แต่ตอนนี้ พธม.ยังเคลื่อนไหวอยู่

เราเคลื่อนไหว ตรงที่ว่าไม่ให้อำนาจของนักการเมือง ไม่เฉพาะพ.ต.ท.ทักษิณ เท่านั้น แม้แต่ประชาธิปัตย์ที่ฉ้อฉลเข้ามามีอำนาจ ถ้าสังเกตดูนะการชุมนุม 193 วัน (พ.ศ.2551) เป็นประเด็นพรรคไทยรักไทยและพ.ต.ท.ทักษิณ มาในการชุมนุม 158 วัน (พ.ศ.2554) เป็นประเด็นเรื่องดินแดนและการทุจริตในรัฐบาลประชาธิปัตย์

ไทยพับลิก้า : หลายฝ่ายมองว่า พธม. หลุดกระแสไปแล้ว

ใครเป็นคนบอกว่าใครตกหรือไม่ตก…

ไทยพับลิก้า : ขั้วพ.ต.ท.ทักษิณทำเหมือนมองข้าม พธม.ไปเลย

เราไม่ใช่ไม่มีความเคลื่อนไหว แต่เราจำกัดการเคลื่อนไหวต่างหาก ต้องลองไปดูแถลงการณ์ล่าสุด กับแถลงการณ์ก่อนหน้านี้จะเห็นว่าเราได้จำกัดกรอบการเคลื่อนไหวให้รัดกุมขึ้น ตอนปลายการชุมนุม 158 วัน นอกจากจะเคลื่อนไหวเรื่องดินแดนและทรัพยากรในทะเล คือเรื่องน้ำมัน และเรื่องพ.ต.ท.ทักษิณ ก็มีการเคลื่อนไหวเรื่องการเมืองสะอาด พอมีการยุบสภา เราก็ชูประเด็นโหวตโน แล้วก็เคลื่อนไหวเรื่องปฏิรูปการเมือง สนับสนุนรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ตั้งคุณอานันท์ ปันยารชุน น.พ.ประเวศ วะสี คุณวสิษฐ เดชกุญชร และอาจารย์สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ มาทำเรื่องปฏิรูป แต่ประชาธิปัตย์ไม่จริงจังกับการปฏิรูป สนใจเฉพาะประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2-3 ประเด็นเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัว

เมื่อมีการยุบสภา พธม.ก็ประกาศโหวตโน เพราะคิดว่าไม่ว่าจะเป็นใคร นักการเมืองไม่ว่าพรรคไหน ที่เคยห้ำหั่นกันก็จะนำไปสู่การคอรัปชั่น และที่ชูประเด็นโหวตโนก็เพื่อนำไปสู่การปฏิรูป แต่ตอนนั้นก็เกิดอาการกลัวโหวตโนกันขึ้นมา มีการปล่อยข่าวทำลายโหวตโนกันทั้งนักวิชาการ สื่อ และประชาธิปัตย์ ที่ปล่อยข่าวให้เกิดอาการกลัวทักษิณ ผลก็คือโหวตโน ได้มา 1.5 ล้าน บัตรเสียก็ออกมาเยอะ แล้วยังมีคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งแต่ถูกตัดสิทธิ์อีกกว่า 2 ล้านคน

เรามี 1.5 ล้านจากโหวตโน แต่เราก็เชื่อว่ายังมีอีก 1.5 ล้านนะ ที่กลัวปีศาจทักษิณแล้วไปลงคะแนนให้ประชาธิปัตย์ ทั้งหมดก็ประมาณ 3 ล้านเสียง ดังนั้นเรากำลังจะจัดพลังตัวนี้ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูป… แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะ? ตอนนี้มีกระแสเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราก็จะเข้าไปดำเนินการเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีเนื้อหาเรื่องการปฏิรูป

"พิภพ ธงไชย" 1 ใน 5 แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)
"พิภพ ธงไชย" 1 ใน 5 แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)

ไทยพับลิก้า : 1.5 ล้านเสียง บวกกับ 1.5 ล้านเสียง มาจากไหน เพราะฉากสุดท้ายพธม. ที่คนจำได้คือประเด็นดินแดนจบลงที่นายวีระ สมความคิด กับน.ส. ราตรี พิพัฒนาไพบูลย์ ติดคุก ประเด็นโหวตโนก็ได้นักการเมืองหน้าเก่ากลับมา

ประเด็นคือสังคมยังมีอาการกลัวพ.ต.ท.ทักษิณ ความรู้สึกของสังคมถูกทำลายไปด้วยการเลือกตั้ง อย่างที่ผมบอกไง ก่อนหน้านี้กระแสปฏิรูปสูงมาก ไม่ใช่เพราะ พธม.ทำนะ แต่สังคมรู้สึก เหมือนตอนนี้ที่คนอเมริกันรู้สึก คนอียิปต์รู้สึก คนในกลุ่มอาหรับรู้สึกว่าต้องปฏิรูปประเทศเขา แม้ประธานาธิบดีจะมาจากการเลือกตั้ง หน้าที่ของเราคือจะฟื้นความจำของสังคมให้กลับมาสู่การปฏิรูปได้อย่างไร ปฏิรูปอะไร ปฏิรูปลดความเหลื่อมล้ำ ปฏิรูปความเป็นธรรม ถ้าเราเห็นพ้องต้องกันว่าประเทศไทยอยู่แบบเดิมไม่ได้ เพราะถ้าอยู่แบบเดิมจะนำไปสู่ความรุนแรง เพราะมีความเหลื่อมล้ำที่ขัดแย้งกันอยู่ หากยังไม่ยุติเรื่องเหล่านี้ ก็จะเห็นความขัดแย้ง เหมือนที่ได้เกิดขึ้นแล้วในอเมริกา และที่กำลังจะเกิดในกรีก รวมไปถึงอังกฤษ ที่แม้ประเทศเหล่านั้นจะไม่มีการรัฐประหาร แต่ก็จะมีความวุ่นวาย เกิดการชุมนุมเดินขบวน ซึ่งนี่เป็นงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มีความชัดเจน

เหมือนกันกับเรื่องน้ำท่วม หากไม่มีการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำทั้งระบบ ไม่มีการปฏิรูปเรื่องน้ำ เดี๋ยวก็เกิดน้ำท่วมขึ้นมาอีก ซึ่งถ้าเราไม่ปฏิรูป ก็จะเกิดความวุ่นวายอีก มีโอกาสรัฐประหารอีก ซึ่งเรื่องนี้ต้องถามกับสังคมว่าแล้วคุณจะเอาอย่างไร พธม.จะชูธงให้ว่าต้องเอาปฏิรูป ซึ่งเรื่องนี้ หมอประเวศ เชื่อว่าจะต้องสร้างกระแสในเนื้อหาของการปฏิรูปต่อไป จึงตัดสินใจทำงานต่อแม้รัฐบาลประชาธิปัตย์จะยุบสภาไปแล้ว

ไทยพับลิก้า : วันนี้หลายดุลอำนาจในสังคมได้กลายเป็นแนวร่วมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปแล้ว ถ้าพร้อมใจกันไม่สนใจเรื่องปฏิรูป พธม.จะทำอย่างไร

ถ้าทั้งหมดรวมใจกันไม่เคลื่อนไหวอะไรเลย ปัญหาก็ยังอยู่เหมือนเดิมใช่หรือเปล่า ปัญหาจะขยายตัวไหม แล้วถ้าขยายตัวจะนำไปสู่อะไร

ไทยพับลิก้า : ถ้าเป็น พธม.ยุคปี 2548 ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องแนวร่วม แต่ พธม.ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์จะหาแนวร่วมจากที่ไหน

ก็กำลังทำไง กำลังเริ่ม เรากำลังเริ่มเรื่องการปฏิรูปประเทศ เราจะให้ความรู้ก่อน… คือผมคิดว่าเราขวางการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้ เพราะสังคมต้องการ แต่แต่ละกลุ่มมีความต้องการแตกต่างกัน กลุ่มทักษิณก็ต้องการอย่างหนึ่ง เมื่อเราขวางไม่ได้ เราก็ต้องเอาเนื้อหา ปฏิรูปและภาคประชาชน ไปอยู่ในรัฐธรรมนูญใหม่ให้ได้ ในหมวดสิทธิเสรีภาพจะต้องเข้มข้นกว่าเดิม ตอนนี้ประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วมของรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เป็นการมีส่วนร่วมแบบชายขอบ การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ถ้าสภาไม่เอา คุณก็ทำอะไรไม่ได้ องค์กรอิสระก็เป็นองค์กรที่ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมน้อยที่สุด ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วมให้มาเป็นประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนกำหนด

ไทยพับลิก้า : ประชาชนจะแหยงกับคำว่า “ภาคประชาชน” หรือเปล่า เพราะภาพนปช.เผาเมือง หรือภาพพธม. บุกสนามบินยังหลอนอยู่

ทุกคนก็เป็นประชาชน แล้วอยากมีส่วนกำหนดหรือเปล่า ถามกันง่ายๆ อย่าไปคิดว่ากระบวนการภาคประชาชนจะมีกลุ่ม พธม. กลุ่มเดียว หรือมีกลุ่ม นปช.กลุ่มเดียว ใน นปช.เองก็มีหลายเฉด เฉดทักษิณ เต็มที่ก็มี เฉดที่ชอบใช้ความรุนแรงก็มี เฉดพรรคคอมมิวนิสต์ ที่แดงจริงๆ ก็มี เฉดปฏิรูปก็มี และผมคิดว่าเฉดที่สำคัญที่สุดในเสื้อแดง คือเฉดที่สำนึกเรื่องความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรม โดยไม่ติดเรื่องทักษิณ ไม่ติดความรุนแรง และพวกนี้แหละจะมารวมตัวกัน

ในประวัติศาสตร์การเมือง มันจะเกิดการรวมตัวของประชาชนขึ้นมาใหม่เสมอ ในประเด็นที่ไม่ถูกจัดการ อย่างวันนี้เกิดเหตุ ยึดวอลสตรีท (Occupy Wall Street) คนรุ่นผมบอกว่าพอได้ยินเรื่องนี้ ก็ต้องกลับไปซื้อเพลงสมัยสงครามเวียดนามมาฟังเลย ก็ลองย้อนไปดูสิ กลุ่มนักศึกษารวมตัวกันใหญ่ต่อต้านอเมริกาเรื่องสงครามเวียดนาม เรียกว่ายุคบุปผาชน พอสิ้นสุดสงครามเวียดนามพวกนี้หายไปเลย…หายไป แล้วตอนนี้ก็กลับมา เหมือนกัน พธม.มีภารกิจมา 4-5 ปี ปัญหาตอนนี้คือ 1.พธม.จะสามารถนำเรื่องการปฏิรูปได้ไหม 2.สังคมต้องถามตัวเองว่าการปฏิรูปจำเป็นหรือไม่ หากเห็นว่าจำเป็น ก็ต้องถามว่า 3.แล้วใครจะมานำเรื่องการปฏิรูป

ตอนนี้ พธม.จะมานำเรื่องการปฏิรูป สังคมยอมให้นำไหม ผมหมายถึงสังคมส่วนใหญ่นะ… เหมือนสมัย นักศึกษา 14 ตุลาฯ 2516 ตอนนั้นเฟื่องฟูมาก เมื่อถึงจุดหนึ่ง สังคมก็บอกว่านักศึกษาพอได้แล้ว แต่จิตวิญญาณและอุดมคติของ 14 ตุลาฯ มันส่งต่อมาถึง พฤษภาฯ 2535 หรือเปล่า มีคนบอกว่า พวกที่ไปชุมนุมตอนพฤษภาฯ 35 ก็เป็นพวกที่โตมาสมัย 14 ตุลาฯ พลังมันส่งต่อกันมา

ไทยพับลิก้า : ถ้าเดินเกมปฏิรูปด้วยกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเกมเดียวกับพ.ต.ท.ทักษิณและเสื้อแดง ฝ่ายหลังอาจจะไปถึงเป้าหมายก่อน พธม.

ก็ไม่รู้…ไม่รู้และไม่กังวล เราพูดแล้วว่าแดงมีหลายเฉดนะ ต้องรู้ว่าเฉดไหนที่นำ ตอนนี้เฉดพ.ต.ท.ทักษิณนำ ถ้าเฉด พ.ต.ท.ทักษิณชนะ สังคมก็จะกลับไปเผชิญกับพ.ต.ท.ทักษิณ แล้วคิดว่าพ.ต.ท.ทักษิณจะชนะไหม ผมทุบโต๊ะเลย…ไม่ชนะ พ.ต.ท.ทักษิณรู้นะ ตอนนั้นคุณยิ่งลักษณ์ชูเรื่องนิรโทษกรรมหาเสียง ยังต้องถอดออกเลย พ.ต.ท.ทักษิณตระหนักดีว่า 15 ล้านเสียงที่ได้มาครั้งนี้ มันแค่ 1 ใน 4 ของคนไทยทั้งประเทศ คนลืมประเด็นนี้ไปว่าคนไทยมี 65 ล้านคน แล้วในเฉด 15 ล้านเสียงนั้นที่ยอม พ.ต.ท.ทักษิณเต็มที่มีกี่เปอร์เซ็นต์…ลดลงอีกนะ เอาเข้าจริงๆ คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นด้วยกับ พ.ต.ท.ทักษิณทุกเรื่อง แล้ว 15 ล้านเสียงนี่เลือกแบบมีอาการ 2-3 อาการด้วย คือในนั้นมีอาการไม่พอใจประชาธิปัตย์ก็มี

ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ทำไมตอนที่เขาได้ 19 ล้านเสียงจึงอยู่ไม่ได้ จำได้ไหม วันแรกที่เป็นรัฐบาลครั้งที่ 2 ถูกวิจารณ์ ถูกต่อต้านแล้วนะ ส.ส. 377 เสียงตอนนั้นทำไมต้องยุบสภา อย่าลืมประวัติศาสตร์พวกนี้ ตอนนั้น พ.ต.ท.ทักษิณมีอำนาจเด็ดขาด บัญชาการเองทั้งหมด และถ้าไม่มีรัฐประหารนะ พ.ต.ท.ทักษิณจะแพ้โดยขบวนการประชาชน ซึ่งการรัฐประหารครั้งนั้นไม่ได้ทำลายเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ นะ แต่เป็นการทำลายขบวนการประชาชนและเป็นตัวก่อให้เกิดคนเสื้อแดงด้วย

ไทยพับลิก้า : ถ้า พธม. ออกมาขับเคลื่อนอีกครั้งในประเด็นการปฏิรูป ระหว่างที่ทุกฝ่ายทั้ง นปช. พธม. และทหาร มีคดีติดตัว น้ำหนักของการเคลื่อนไหวมันจะมีแค่ไหน

ก็ต้องลองดู…ผมถือหลักว่าถ้าเราเชื่อว่าสิ่งที่เราจะเปลี่ยนแปลงเป็นของดี เราก็ทำเสียเลย

ไทยพับลิก้า : ทุกคนมีชนักปักหลังกันหมด

ไม่เกี่ยวนี่…ติดคุกก็ทำได้ เนลสัน แมนเดลล่า (อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้) ติดคุก แต่กลายเป็นพลังทางจิตวิญญาณของคนแอฟริกันใช่หรือเปล่า… จินตนา แก้วขาว (ผู้นำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด) ที่เพิ่งถูกศาลพิพากษาให้จำคุก 4 เดือนก็จะกลายเป็นจิตวิญญาณของภาคประชาชน ตอนนี้เราอาจจะรู้สึกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีอำนาจ ทหารมีอำนาจก็ไม่เป็นไร แต่เราเป็นนักเคลื่อนไหวที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม ไม่ต้องไปสนใจว่าจะสำเร็จหรือไม่ แต่ต้องเชื่อว่าจะสำเร็จ วิธีการทำอย่างไร ก็ต้องสร้างวาทะกรรมก่อน สร้างแนวคิดก่อน สถานการณ์ตอนนี้คือวาทะกรรมมันกำลังต่อสู้กันระหว่างปฏิรูปกับปฏิวัติ

ไทยพับลิก้า : ขณะที่ พธม.กำลังจะจุดประเด็นปฏิรูป ระหว่างการจัดสมดุลทางอำนาจในประเทศ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ก็เสนอเรื่องกระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน ยุติคดีทั้งเสื้อแดง เสื้อเหลืองและฝ่ายต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศของการปรองดอง

เราไม่สนับสนุน คือเราเห็นว่าถ้าอยากจะนำประเทศไปสู่ระบบนิติรัฐ ก็ต้องให้กระบวนการยุติธรรมทำงาน แต่ขอให้ยุติธรรมก็แล้วกัน ดังนั้น พธม.จึงไม่เคยเรียกร้องให้ถอนคดีของ พธม.เลย เพราะสุดท้ายกระบวนการยุติธรรมก็เป็นกระบวนการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ถ้าไม่ทำงานหรือทำงานแล้วไม่ยุติธรรม ประชาธิปไตยก็จะสะดุด

ไทยพับลิก้า : ถ้าติดคุกก็ต้องติด

ก็ติด (ตอบสวน) เพราะ พธม.ไม่เคยปฏิเสธตัวนี้ ผมก็ไปศาลมา พ.ต.ท.ทักษิณฟ้องผมจมเลย

ไทยพับลิก้า : แม้เขาจะเสนอเรื่องนิรโทษกรรมทุกสีเสื้อ

เราแสดงจุดยืนไปแล้วว่าเราไม่เห็นด้วย ความจริงคือเขาพยายามจะเอา พธม. ไปเป็นแนวร่วม ผมว่าเขาไม่ได้จริงใจกับ พธม.หรอก แต่เขาคิดว่าถ้าไม่นิรโทษกรรม พธม.ด้วย การนิรโทษกรรมฝ่ายคนที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณก็จะทำไม่ได้ เราเป็นแค่เหยื่อเท่านั้น แต่เราประกาศจุดยืนไปแล้วว่าไม่เห็นด้วย แล้วก็บอกว่าถ้ามีนิรโทษกรรมพ.ต.ท.ทักษิณ เราจะออกมาคัดค้าน

ไทยพับลิก้า : แต่พ.ต.ท.ทักษิณ มีมวลชนของตัวเองอยู่แล้ว ไม่ต้องสนใจ พธม.ก็ได้

ภาพภายนอก เขาพยายามจะทำให้เป็นอย่างนั้น แต่ถ้าคุณไม่สนใจภาคประชาชนแสดงว่าคุณเป็นนักการเมืองรุ่นเก่า กลุ่มทุนก็เหมือนกัน ถามหน่อยเหอะว่ากลุ่มทุนที่ชนะคดีคุณจินตนา เนี่ย… ตอนนี้สร้างโรงไฟฟ้าได้ไหม แล้วผมบอกเลยว่าถ้าพ.ต.ท.ทักษิณ ลืมเรื่องนี้นะ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ วันนี้ในทางการเมือง อำนาจของประชาชนอยู่ในภาวะที่ยันไม่ได้ ในเรื่องการเลือกตั้ง แต่เมื่อคุณเข้ามาบริหารประเทศแล้วไม่คำนึงถึงพลังของภาคประชาชนนั้นเป็นไปไม่ได้ วันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณไม่เข้าใจมวลชนของเขา ไม่เข้าใจว่าแดงมีหลายเฉด แล้วเมื่อไรที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้เกิดความเหลื่อมน้ำ เฉดเหล่านี้ก็จะลุกขึ้นมาสู้กับรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ เอง พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องเข้าใจตัวนี้ ต้องไม่คิดว่าเสื้อแดงทุกเฉดสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ…ไม่จริง พวกเขากำลังใช้ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุบางเรื่องเท่านั้น

ไทยพับลิก้า : การกลับมาของพ.ต.ท.ทักษิณในนามน้องสาว คิดว่ามีเป้าหมายจะทำอะไร

ถ้าดูการเร่งของพ.ต.ท.ทักษิณ แสดงว่ายังไม่ได้สรุปบทเรียนตัวเอง เพราะเขาไม่ทำให้เกิดความชัดเจนว่าตัวเองไม่อยู่ข้างหลังอำนาจใดๆ ผมรู้สึกว่าเขาอยากกลับมามีอำนาจอีก แต่วันนี้สังคมไทยไม่ให้เวลากับ พ.ต.ท.ทักษิณอีกแล้ว ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณไม่เข้าใจตรงนี้

พลิกปมปฏิรูปที่แปร “พธม.-ปชป.” เป็น “ปฏิปักษ์”

ทันทีที่ฝุ่นควัน จากเหตุการณ์ “พฤษภาเผาเมือง” 19 พฤษภาคม 2553 เริ่มจางลง

“รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เลือกใช้วิธีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ขึ้นมาเพื่อแก้ไขวิกฤติสีเสื้อ ความขัดแย้งที่กัดกินสังคมไทยมานานกว่า 5 ปี

มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ” ที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน

แต่งตั้ง “คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป” ที่มี “นพ.ประเวศ วะสี” เป็นประธาน

ทั้ง 2 คณะ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาสังคมไทย

พร้อมกันกับ แต่งตั้ง “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป.” ที่มี “ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร” เป็นประธาน

ขณะเดียวกันก็แต่งตั้ง “พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร” ขึ้นมาเป็น “ประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ”

รวมไปถึง แต่งตั้ง “ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” ขึ้นมาเป็น “ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมาย” เพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

"พิภพ ธงไชย" 1 ใน 5 แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)
"พิภพ ธงไชย" 1 ใน 5 แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)

ในจังหวะนั้น “พิภพ ธงไชย” แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปัตย์ ยอมรับว่า เครือข่าย พธม. ตอบรับและให้การสนับสนุนวิธีการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลอภิสิทธิ์อย่างมาก

ช่วงนั้น พธม. ขับเคลื่อนเรื่องการเมืองสะอาด เรื่องการปฏิรูปการเมืองทั้งระบบหลังเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 กระแสการปฏิรูปมันขึ้นมาก และคุณอภิสิทธิ์ ก็รู้กระแสนี้และจับกระแสตรงนี้ได้” พิภพ ย้อนกลับไปเล่า ในจุดที่พธม. และรัฐบาลประชาธิปัตย์ยังถือว่ามีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

แม้จะมีข้อระหองระแหงอยู่บ้าง จาก ประเด็นปัญหา “เขาพระวิหาร” และ “พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา” แต่เขาบอกอย่างเต็มปากว่า พธม. ในตอนนั้นเห็นด้วย และหวังว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองทั้งระบบ

“เราทำมาก่อนแล้วเรื่องการเมืองสะอาด จะเห็นได้ว่าเราเคยเสนอเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับมาแล้วในช่วงรัฐบาลประชาธิปัตย์ โดยให้เอาเนื้อหาปฏิรูปเข้าไปใส่ ซึ่งเราบอกเลยว่าจะสามารถแก้ปมการเมืองได้ 2 เรื่องสำคัญคือ 1.คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) ล้มรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2.ปมเรื่องรัฐธรรมนูญ 2550…”

“แต่ประชาธิปัตย์ไม่ทำ!” พิภพ เน้นเสียง

ก่อนจะกล่าวต่อว่า “ประชาธิปัตย์ก็ไม่จริงจังกับการปฏิรูป แทบจะทิ้งหมอประเวศและคุณอานันท์ ทิ้งพล.ต.อ.วสิษฐ กลับไปสนใจประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญของอาจารย์สมบัติ แต่ก็แค่เอามาแก้ไข 2-3 มาตราเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง เป็นการมองการปฏิรูปการเมืองแค่มุมแคบๆ สุดท้ายพอประกาศยุบสภา ประชาธิปัตย์ก็เสนอนโยบายประชานิยม คุณทักษิณก็เสนอนโยบายประชานิยม กระแสปฏิรูปก็หายไป…ตกไป”

1 ใน 5 แกนนำ พธม. พูดด้วยน้ำเสียงที่ซ่อนความเสียดาย โอกาสที่จะได้เริ่มการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จนกลายเป็นปมปัญหาคาใจระหว่าง “พธม.” และ “พรรคประชาธิปัตย์” ที่มีผลไปถึงการเลือกตั้ง

เขาทิ้งท้ายว่า “ตอนนั้นเราบอกเลยว่า ไม่มีทางที่พรรคประชาธิปัตย์จะชนะการเลือกตั้ง…เพราะตอนที่ พธม.หนุนพรรคประชาธิปัตย์เต็มที่ เขายังได้มาแค่ 165 เสียงเลย”

สุดท้ายผลการเลือกตั้ง 3 กรกฏาคม 2554 ก็ออกมา ยืนยันคำทำนาย ของ “พธม.” ครั้งนั้น!!!