ThaiPublica > เกาะกระแส > วิวัฒนาการม็อบการเมือง สู่ล็อก 3 ชั้น ตีกรอบการชุมนุม

วิวัฒนาการม็อบการเมือง สู่ล็อก 3 ชั้น ตีกรอบการชุมนุม

15 สิงหาคม 2017


หลังจากคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินยกฟ้องคดีจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551

ไม่เพียงแค่ส่งผลให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท. สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. จำเลยทั้ง 4 คน พ้นมลทินแล้ว

ผลจากคำพิพากษาครั้งนี้ยังส่งผลต่อทิศทางการชุมนุม หรือม็อบการเมืองในอนาคตอย่างมีนัยยะสำคัญ

คำพิพากษาระบุถึงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ว่า การที่ผู้ชุมนุมปิดล้อมประตูเข้าออกทุกด้านของอาคารรัฐสภาถือว่าเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ และไม่ได้เป็นการชุมนุมโดยสงบสันติตามที่แกนนำได้ประกาศไว้

เนื่องจากตามทางนำสืบของเจ้าหน้าที่พบว่าภายหลังเกิดเหตุ ในพื้นที่พบระเบิดปิงปองและตามรายงานตามทางข่าวพบว่าผู้ชุมนุมพกอาวุธ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้โล่ผลักดัน ผู้ชุมนุมได้ใช้หนังสติกยิงลูกเหล็ก หัวน็อต ลูกแก้ว รวมทั้งขว้างปาไม้ ขวดน้ำใส่เจ้าหน้าที่

การปิดล้อมอาคารรัฐสภาก็นำรั้วลวดหนามที่คล้ายกับที่ใช้ในทางการทหารและแผงกั้นเหล็กมาวางไว้ที่กลางถนน อีกทั้งยังนำยางรถยนต์ขวางทางดังกล่าว และราดน้ำมันไว้บนพื้นผิวจราจรด้วย

การชุมชุมนั้นจึงไม่ได้เป็นการที่ชุมนุมที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

ไม่ต่างจากคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2551 ที่แม้ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ดำเนินการเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความเหมาะสม และมีลำดับขั้นตอน

แต่ศาลระบุด้วยว่า การปิดล้อมประตูทางเข้าทุกด้านของรัฐสภา เพื่อมิให้ ส.ส. และ ส.ว. เข้าและออกรัฐสภาได้ โดยใช้รั้วลวดหนาม ยางรถยนต์ราดน้ำมันขวางกั้นถนนไว้ การกระทำดังกล่าวจึงมีลักษณะทำให้ผู้อื่นกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ จนไม่กล้าเข้าและออกจากรัฐสภา อันเป็นการกระทบสิทธิเสรีภาพผู้อื่น

การชุมนุมดังกล่าวจึงมิใช่การชุมนุมโดยสงบอันจะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับ 2550)

แน่นอนว่านี่อาจยังไม่ใช่คำวินิจฉัยชี้ขาดเสียงทั้งหมด เพราะขั้นตอนหลังจากนี้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ยังเปิดช่องให้ทางคู่ความสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ใน 30 วัน และเวลานี้ กลุ่ม พธม. ก็เริ่มกดดันไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้พิจารณาอุทธรณ์คดีเพื่อทำให้ทุกอย่างเกิดความชัดเจน

แต่ลำพังคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ออกมาครั้งนี้ ย่อมจะสะกดไม่ให้มีการชุมนุมในรูปแบบเช่นเดิมอีกต่อไป

เมื่อคำพิพากษานี้อาจมีผลต่อไปถึงการต่อสู้ทางคดีอื่นๆ ทั้ง ทางอาญา และ ทางแพ่ง และไม่ใช่เพียงแค่ของกลุ่ม พธม. แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มอื่นๆ อีกด้วย

ทำให้ “ม็อบมีเส้น” ตามฉายาที่ พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ รมว.มหาดไทย ในขณะนั้น กำลังจะต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริงในเวลานี้

นี่จึงเป็น “ล็อกตัวแรก” ที่จะสะกดให้การชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้นได้ยากนับจากนี้ต่อไป

แถมยังมี “ล็อกตัวที่สอง” นั่นก็คือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 158 เสียงเห็นชอบในวาระ 3 และมีผลบังคับใช้ในเวลาต่อมา

กฎหมายฉบับนี้ถูกมองว่าออกมาดักทางการชุมนุมด้วยรูปแบบเดิมๆ จนยากจะขยับตัว หรือสามารถใช้สิทธิแสดงความคิดความเห็นได้อย่างมีพลังอีกต่อไป

เริ่มตั้งแต่ “ทำเลทอง” หรือจุดยุทธศาสตร์ที่ใช้เป็นพื้นที่ชุมนุมในอดีตล้วนแต่ถูกขึ้นบัญชีห้ามชุมนุม ทั้ง รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และ ศาล (ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร และศาลอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาล) เว้นแต่มีการจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะในพื้นที่นั้น

รวมทั้งจะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานในพื้นที่ ได้แก่ 1. สถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ 2. ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ 3. โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน 4. สภานทูตหรือสถานกงศุลของรัฐต่างประเทศ หรือสถานที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ 5. สถานที่อื่นตามกฎหมายกำหนด

ยังไม่รวมกับขั้นตอนที่มีระเบียบแบบแผนชัดเจนมากขึ้น ทั้งต้องแจ้งความประสงค์ก่อนการชุมนุมอย่างน้อย 24 ชม. โดยระบุ วัน เวลา สถานที่ และขออนุญาตใช้สถานที่ และเครื่องขยายเสียง

ผู้จัดการชุมนุมจะต้องรับผิดชอบการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่ปิดบังหรืออำพรางตนเอง ไม่บุกรุกหรือทำให้เสียหาย ทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย ทรัพย์สิน เสรีภาพ

ที่สำคัญ การเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมหรือเดินขบวนจะทำได้ก็ต่อเมื่อแจ้งต่อหัวหน้าสถานีตำรวจซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบดูแลการชุมนุมนั้น

ทั้งหมดหากฝ่าฝืนมีทั้งโทษจำคุกและปรับ

จนมาถึง “ล็อกที่สาม” คือ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

แม้จะเป็นคำสั่งที่คาดว่าจะปลดล็อกในเร็วๆ นี้เพื่อสร้างบรรยากาศเตรียมความพร้อมเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง

ทั้งหลายทั้งปวง ย่อมไม่อาจสกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกของประชาชนที่ได้รับการคุ้มครอง ตามาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ 2560

“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจํากัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น”

ปัจจัยเหล่านี้ล้วนจะทำให้รูปแบบการชุมนุมในอนาคตตต้องเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตที่ผ่านมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

วิวัฒนาการม็อบจาก พธม. – นปช. – กปปส.

หากไล่เรียงย้อนไปดูรูปแบบการชุมนุมเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมาจะพบว่า รูปแบบการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ล้วนแต่มี “พลวัต” ที่สอดรับไปกับสถานการณ์และบริบทในขณะนั้น

พร้อมด้วย ลูกเล่น สีสัน ที่ทางแกนนำหยิบยกมาชักจูง หล่อเลี้ยงมวลชน ให้เข้าร่วมการชุมนุมอย่างพร้อมเพรียงและเหนียวแน่น

  • พธม. ต้นแบบ ม็อบดาวกระจาย ล้อมทำเนียบ-ปิดสนามบิน
  • การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2551 ที่ สะพานมัฆวานรังสรรค์ ภายใต้การนำของ สนธิ ลิ้มทองกุล เจ้าของสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและเว็บไซต์ ที่ประกาศตัวนำมวลชนขับไล่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ถูกมองว่าเป็นนอมินีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

    กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มมาตรการกดดันหนักขึ้นด้วยการเคลื่อนขบวนภายใต้ยุทธการสงคราม 9 ทัพ ฝ่าวงล้อมเจ้าหน้าที่ไปปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ต่อด้วย ปฏิบัติการไทยคู่ฟ้า เข้ายึดทำเนียบรัฐบาล 26 ส.ค. ทำให้รัฐบาลไม่สามารถใช้พื้นที่ทำเนียบสำหรับทำงานได้จนถึงรัฐบาล สมชาย

    การชุมนุมยืดเยื้อปักหลักข้ามวันข้ามคืนมาร่วมเดือนด้วยรูปแบบกิจกรรมความบันเทิงสลับปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล จนเกิดวลี “อาหารดี ดนตรีไพเราะ”

    พร้อมเคลื่อนไหวด้วยยุทธการดาวกระจายพามวลชนเคลื่อนขบวนไปจุดต่างๆ ทั้ง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด สถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกฯ ทักษิณ

    ก่อนทิ้งไพ่ใบสุดท้ายด้วยการยึดท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ แม้จะเพิ่มแรงกดดันแต่ก็ไม่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

    ภายหลังจากมีคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลอีก 2 พรรค อันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. วันรุ่งขึ้นแกนนำพันธมิตรฯ ได้ประกาศยุติการชุมนุมรวมเวลาทั้งสิ้น 190 วัน

  • นปช. ม็อบเลือด กับ วาทกรรม ไพร่-อำมาตย์
  • แนวรวมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เริ่มต้นชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2553 ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ภายใต้การนำของ วีระกานต์ มุสิกพงศ์ เพื่อขับไล่รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และต่อต้านเผด็จการ ท่ามกลางข้อครหาเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

    กลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันเจาะเลือดเพื่อนำไปเทยังสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่ทำเนียบรัฐบาล ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ บ้านพักนายอภิสิทธิ์ ด้วยแนวคิดใช้เลือดเป็นสัญลักษณ์ในการสละเลือดเพื่อชาติ

    กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มกดดันรัฐบาลมากขึ้นด้วยการไปชุมนุมที่แยกราชประสงค์อันเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ในวันที่ 27 มี.ค. พร้อมกับการเคลื่อนไหวเรื่อง ไพร่-อำมาตย์ ที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคม

    จากการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ถนนดินสอ ช่วงวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และถนนตะนาว ช่วงแยกคอกวัว จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก กลุ่มผู้ชุมนุมนำศพผู้เสียชีวิตแห่ขบวนไปยังจุดต่างๆ

    9 เม.ย. กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังสถานีดาวเทียมไทยคม เพื่อเรียกร้องให้ยุติการระงับการเผยแพร่สัญญาณการออกอากาศของดี-สเตชัน ต่อมา 29 เม.ย. พายัพ ปั้นเกตุ แกนนำ นปช. ระบุว่า ในโรงพยาบาลจุฬาฯ มีกำลังทหาร หากไม่ถอนกำลังทหารออกไปให้หมดภายในคืนนี้ จะนำสื่อมวลชนและกลุ่มคนเสื้อแดงไปตรวจสอบที่โรงพยาบาล จนแกนนำคนอื่นต้องออกมาขอโทษ

    ท่ามกลางเสียงระเบิดที่หนักขึ้นเรื่อยๆ และปริศนาเรื่องชายชุดดำที่ยังไม่อาจหาข้อสรุป สุดท้าย หลังรัฐบาลตัดสินใจสลายการชุมนุม 19 พ.ค. แกนนำเข้ามอบตัวและยุติการชุมนุม รวมระยะเวลาการชุมนุม 65 วัน

    ตามมาด้วยเหตุการณ์เผาอาคาร และสถานที่ราชการ ทั้งเซ็นทรัลเวิร์ล และศาลากลางจังหวัดหลายแห่ง

  • กปปส. ม็อบนกหวีดชัตดาวน์กรุงเทพ
  • ฟางเส้นสุดท้ายจากการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทำให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ นำคณะ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ส่วนหนึ่งลาออกมาเคลื่อนไหว ชุมนุมในนาม กปปส. ต่อสู้ข้างถนนหลังไม่อาจใช้เสียงในฐานะฝ่ายค้านทัดทานความพยายามการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ได้สำเร็จ

    การชุมนุมครั้งแรกเริ่มต้นเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2556 ที่สถานีรถไฟสามเสน ก่อนขยับมายังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 4 พ.ย. ก่อนผุดเวทีตามที่ต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มแรงกดดัน

    รูปแบบการเคลื่อนไหวเน้นไปที่การเดินขบวนไปจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อระดมมวลชนให้ออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก่อนยกระดับเป็นการขับไล่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

    นอกจากจะใช้วิธีเน้นการระดมมวลมหาประชาชนออกมาเคลื่อนไหวจำนวนมากแล้ว ยังใช้รูปแบบการเดินขบวนไปยังสถานที่ราชการให้ข้าราชการออกมาเคลื่อนไหว

    จนพัฒนาเป็นการปิดกรุงเทพฯ พร้อมกันในหลายจุด แยกปทุมวัน ราชประสงค์ อโศกมนตรี แยกศาลาแดง ห้าแยกลาดพร้าว อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แจ้งวัฒนะ ท่ีไม่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

    ก่อนขยับมาทีสวนลุมพินีและสะพานมัฆวานรังสรรค์ จนเกิดการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 22 พ.ค. 2557 ปิดฉากการชุมนุมอันยาวที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 203 วัน