ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โมเดลแก้น้ำท่วมที่ไร้คนสั่งการ ไม่พูดความจริง

โมเดลแก้น้ำท่วมที่ไร้คนสั่งการ ไม่พูดความจริง

21 ตุลาคม 2011


นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่น้ำท่วม
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่น้ำท่วม

ความสับสนอลหม่านของข้อมูลน้ำท่วมที่ไม่ชัดเจนและไม่พูดความจริงกับประชาชน ด้วยเหตุผลว่ากลัวประชาชนตื่นตระหนก เมื่อไม่รู้ข้อเท็จจริงก็ยิ่งตื่นตกใจจากการคาดเดา ตั้งแต่พนักงานบริษัทไม่เป็นอันทำงาน ประชาชนแห่ซื้อกระสอบทราย ก่อพนังกั้นน้ำ ตุนเสบียง จอดรถบนทางด่วนกีดขวางจราจร เกิดความโกลาหล เพราะขาดข้อมูลที่ถูกต้องในการตัดสินใจ

แหล่งข่าวจากนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องน้ำซึ่งเป็นหนึ่งในทีมที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้กล่าวว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาคือ กรมชลประทาน กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ทหาร กรุงเทพมหานคร กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท หน่วยงานเหล่านี้ต่างล้วนเข้ามาช่วยแก้ปัญหาทั้งหมดแต่ไม่มีอำนาจในการสั่งการแต่อย่างใด

“ปัญหาใหญ่ในการแก้น้ำท่วมครั้งนี้คือรัฐบาลไม่มีคนสั่งการ เพราะทุกกลัวผลกระทบเนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก จึงกลัวว่าจะถูกประชาชนด่า จึงปล่อยให้น้ำกำหนดที่อยู่ของมันเอง แทนที่เราจะเป็นคนกำหนดว่าจะให้ไปที่ไหน แล้วเตรียมอพยพเด็ก คนแก่ ผู้หญิง ผู้ป่วยออก แล้วเตรียมที่พัก เตรียมโรงครัว สัญญาณโทรศัพท์ ห้องน้ำห้องส้วม เพื่อระบายน้ำออกตามที่กำหนด ก็จะทำให้ลดความเสียหายที่รุนแรงลงได้ แต่ไม่สามารถทำได้เพราะไม่มีคนตัดสินใจและสั่งการ”

ทั้งนี้การแก้ปัญหาได้หารือกับหน่วยงานหลายฝ่ายว่าจะเลือกแก้ปัญหาตามแนวทางที่ตกลงกัน โดยมีเป้าหมายคือต้องเร่งระบายน้ำออก แต่ไม่สามารถเอาสิ่งกีดขวางทางน้ำออกไปได้ อย่างกรณีที่จะเอาน้ำออกผ่านรังสิตคลอง 8-9-10 แต่ต้องย้ายคนออก พร้อมประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ และประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่ปรากฏว่าไม่มีใครสั่งการ โดยอ้างว่ากลัวประกันภัยไม่จ่าย

“อะไรก็ไม่เอา ไม่สั่งการใดๆ ถามว่าแล้วรัฐบาลไม่จ่ายหรือ ทำไมต้องรอประกันภัยอย่างเดียวหรืออย่างไร หรือแม้แต่ประชาชนไม่ยอมให้เปิดประตูน้ำ ถือปืนขู่ พร้อมอ๊อกประตูน้ำ อย่างนี้ควรต้องประกาศภาวะฉุกเฉินหรือไม่ ก็ไม่มีใครกล้าออกคำสั่ง ไม่มีใครทำอะไร จนหลายแห่งพนังกั้นน้ำพังเอง ปล่อยให้น้ำหาที่อยู่เอง ก็เสียหายมหาศาล ในทางปฏิบัติเราต้องกำหนดว่าพรุ่งนี้น้ำจะไปอยู่ไหน แต่กลับปล่อยให้น้ำเป็นตัวกำหนดว่าจะไปไหน ถ้ารัฐบาลเป็นห่วงว่าประกันภัยไม่จ่ายแล้วรัฐบาลไม่เอาด้วย แล้วจะแก้ปัญหายังไง ถามว่ามีใครไปหารือสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย( คปภ.)ไหม คุยกับประกันภัยไหม แล้วประชาชนจะเอาอย่างไร ไม่มีใครพูดความจริง ความเสียหายจึงมหาศาล ทุกคนต้องรอๆ กระวนกระวายไปหมด” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่าในส่วนพื้นที่ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูงสุด ตามข้อมูลของทีม พื้นที่สีแดงต้องทำพนังกั้นน้ำอย่างน้อย 3.50 เมตร จากระดับน้ำทะเล ถามว่าระดับน้ำทะเลอยู่ตรงไหนก็ต้องไปคิดกันเอง แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน และต้องเป็นพนังที่แข็งแรงด้วย ส่วนพื้นที่สีส้มขอให้นั่งลุ้นทุกวัน ต้องยกทรัพย์สินขึ้นที่สูงอย่างน้อย 2 เมตร พร้อมขนย้ายเด็ก คนแก่ ผู้หญิง ผู้ป่วย ออกนอกพื้นที่ไปอยู่ที่ปลอดภัย

น้ำท่วมพื้นที่จังหวัดอยุุธยา เดือนตุลาคม 2554
น้ำท่วมพื้นที่จังหวัดอยุุธยา เดือนตุลาคม 2554

“น้ำที่ท่วมอยู่ตอนนี้ เหมือนข้าศึก โดยที่เราอยู่ในป้อมสี่เหลี่ยม เราสร้างป้อมชั้นใน สร้างป้อมชั้นนอก แต่ข้าศึก น้ำมาประชิดล้อมทุกด้านน้ำเข้ามาวันละ 500 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่เอาน้ำออกได้ 400 – 450 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ยังเหลืออยู่ประมาณ 50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน สะสมเพิ่มขึ้นทุกๆวัน พนังกั้นน้ำตรงไหนอ่อนแอก็เอาไม่อยู่ การระบายน้ำตอนนี้ไปออกปากเจ้าพระยาได้ 330 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ท่าจีน 40-50 ล้านลูกบาศก์เมตร จะเร่งให้มากกว่านี้ได้ไหม แต่ปรากฏว่าตอนนี้ตอนปลายทางที่จะระบายน้ำออกทะเล ยังแห้งสนิท ทั้งๆ ที่พร้อมจะระบายน้ำออกแต่ไม่มีน้ำให้ระบาย เมื่อไม่มีทางเดิน น้ำก็ซ้อนขึ้นๆ” แหล่งข่าวกล่าว

เมื่อถามว่าทำไมปีนี้ถึงรุนแรงมากแหล่งข่าวกล่าวว่าตามแบบจำลองแก้ไขน้ำท่วมต้องเพิ่มความสูงของพนังกั้นน้ำทุกปี เพราะมีการถมที่ ทำพื้นที่ปิดล้อม แก้มลิงประเทศไทยจึงหายไป เหลือแต่ผิวถนน ดังนั้นฝนตกลงมา 100 มิลลิเมตร ก็มีน้ำเหลือ 100 มิลลิเมตร และปริมาณน้ำปีนี้ที่ไหลลงมาใกล้เคียงปี 2538 แต่น้ำที่ลงมาสูงกว่าปี 2538 เพิ่มขึ้น 30 ซม.

นอกจากนี้แหล่งข่าวกล่าวว่าปี 2554 ปริมาณน้ำในลุ่มเจ้าพระยา ทั้งแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณฝนสะสมเฉลี่ย 30 ปี และปี 2553 ตามภาพประกอบ จะเห็นว่าปริมาณฝนสูงกว่าเฉลี่ย 30 ปีทุกลุ่มน้ำและสูงกว่าปี 2553 ด้วย

ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่มาภาพ : บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จํากัด
ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่มาภาพ : บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จํากัด
ลุ่มน้ำปิง ที่มาภาพ : บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จํากัด
ลุ่มน้ำปิง ที่มาภาพ : บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จํากัด
ลุ่มน้ำวัง(ลำปาง)ที่มา : บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จํากัด
ลุ่มน้ำวัง(ลำปาง)ที่มา : บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จํากัด
ลุ่มน้ำยม ที่มา : บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จํากัด
ลุ่มน้ำยม ที่มา : บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จํากัด
ลุ่มน้ำน่าน ที่มา : บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จํากัด
ลุ่มน้ำน่าน ที่มา : บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จํากัด

กรมอุตุฯ ชี้สัญญาณน้ำหลากตั้งแต่ มี.ค. 2554

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า วิกฤตการณ์น้ำท่วมในปีนี้ ต้องถือว่าเป็นปัญหาปราบเซียนเพราะตอนนี้รัฐบาลแทบจะไม่สามารถเข้าไปบริหารจัดการอะไรได้ ขณะเดียวกันก็มีมวลน้ำที่ถูกปล่อยมาจากภาคเหนือไหลเข้ามาเติมขังอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดการสะสมของมวลน้ำก้อนมหึมาขังอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง นอกจากรัฐบาลจะเร่งระบายมวลน้ำที่ท่วมขังออกสู่อ่าวไทยแล้ว ก็ได้มีการตรวจสอบถึงสาเหตุของปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในครั้งนี้ว่ามีที่มาอย่างไร

สำหรับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องน้ำมีอยู่ 2 หน่วยงานคือกรมชลประทานทำหน้าที่จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรและการบริโภค ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ทำหน้าที่กักเก็บนำเพื่อผลิตไฟฟ้า ทุกต้นปีทั้ง 2 หน่วยงานมีการประมาณการปริมาณน้ำ เพื่อที่จะนำไปใช้ในการเพาะปลูกและผลิตกระแสไฟฟ้า โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 หน่วยงานทั้ง 2 แห่ง ประเมินว่าในปีนี้น้ำจะน้อย เนื่องจากช่วงนั้นเกิดปัญหาภัยแล้งในภาคเหนือและภาคอีสาน

ในช่วงนั้นรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขอความร่วมมือชาวนาให้งดปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 ในพื้นที่ภัยแล้ง ขณะเดียวกันได้สั่งการให้กรมชลประทาน และกฟผ. กักเก็บน้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนสิริกิติ์ให้อยู่ที่ระดับ 60-70 % ของปริมาตร ยิ่งกักเก็บน้ำไว้มากเท่าไหร่ ก็จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตกระแสไฟฟ้าของกฟผ. และอีกส่วนหนึ่งเตรียมเอาไว้ใช้ด้านการเกษตรกรรม

แต่ในทางตรงกันข้าม หากกรมชลประทานประเมินว่าปีนี้น้ำจะมาก ทางกฟผ.ก็จะปรับลดปริมาณน้ำในเขื่อนลงหรือเรียกว่า “พร่องน้ำ” ให้เหลือ 20 % เพื่อเตรียมตัวรับน้ำที่จะไหลเข้ามาที่เขื่อนต่างๆ

ต่อมาในช่วงเดือนพ.ค.2554 เริ่มมีสัญญาณมาแล้ว โดยมีพายุไหหม่า เป็นลูกแรกพัดถล่มภาคเหนือ จนทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมที่จ.เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และมีน้ำไหลเข้ามาสะสมเขื่อนในภาคเหนืออยู่เป็นจำนวนมาก

จากนั้นก็มีพายุ “นกเต็น” ตามด้วยไห่ถางและเนสาด ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนแทบจะล้นเขื่อน ทาง กฟผ.ต้องปล่อยน้ำจากเขื่อน ทำให้เกิดมวลน้ำก้อนมหึมาไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านลูกบาศ์กเมตรขังอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ยกเว้นจ.สุพรรณที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด จึงทำให้มวลน้ำทะลักออกไปทางซ้าย และขวา มวลน้ำจึงไปขังกองรวมกันอยู่ที่ชัยนาท สิงหบุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพ

จากข้อมูลของศูนย์ภูมิอากาศ สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่าในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งขึ้น นับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งปกติในเดือนนี้จะร้อนอบอ้าวและมีฝนตกไม่มากนัก แต่ปรากฏว่ากลับมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งเดือน และมีฝนตกในบ้างช่วง เนื่องจากอิทธิพลของความกดอากาศสูงที่มาจากประเทศจีนแผ่นปกคลุมประเทศไทยตอนบน

ขณะที่ทางภาคใต้ตอนกลางได้รับอิทธิพของย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ทำให้เกิดฝนตกหนักจนกลายเป็นอุทกภัยเป็นวงกว้างและรุนแรงเป็ินประวัติศาสตร์ ในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง นราธิวาส ยะลา ตรัง พังงา กระบี่ และสตูล แถมยังเกิดปัญหาดินโคลนถล่มซ้ำที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง กระบี่

เฉพาะในเดือนมีนาคมนี้ ทั้งประเทศมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยมากที่สุดในรอบ 36 ปี (2519 – 2554) กล่าวคือ ภาคเหนือ 82.1 มิลลิเมตร เพิ่มขึ้นจากค่าปกติ 334 %, ภาคกลาง 93.2 มิลลิเมตร เพิ่มขึ้น 305 % ภาคตะวันออก 61.6 มิลลิเมตร เพิ่มขึ้น 113 % , ภาคใต้ฝั่งตะวันออก 506.6 มิลลิเมตร เพิ่มขึ้น 1,00 5% และภาคใต้ฝั่งตะวันตก 353.7 มิลลิเมตร เพิ่มขึ้น 502 % เว้นแต่ภาคอีสานมีปริมาณฝน 14.6 มิลลิเมตร ต่ำกว่าค่าปกติ 39 %

จากนั้นในช่วงวันที่ 11-20 พ.ค.2554 เริ่มเห็นสัญญาณฝน เมื่อมีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย ขณะที่ภาคเหนือ ภาคกลางและตะวันออกมีร่องความกดอากาศพาดผ่าน ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ เริ่มตั้งแต่ในวันที่ 14 พ.ค.จึงเกิดปัญหาน้ำท่วมที่จ.สุโขทัย และเกิดปัญหาน้ำป่าไหลหลากที่จ.ลำปาง และในวันที่ 25 – 26 พ.ค.น้ำป่าไหลหลายที่เลย นครราชสีมา และพิจิตร

ปลายมิ.ย.โดน “ไหหม่า” ถล่มลูกแรก

โดยภาพรวม 5 เดือนแรกในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานมีปริมาณน้ำฝนมากเกินความต้องการ จากนั้นช่วงวันที่ 24-26 มิ.ย. พายุโซนร้อน “ไหหม่า”(HAIMA1104) เคลื่อนผ่านเวียดนามแล้วสลายกำลังลงกลายเป็นพายุดีเปรสชั่นผ่านลาวและทางตอนบนของไทย ในวันที่ 25 มิ.ย.จึงเกิดปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มที่จ.แพร่ เชียงราย พะเยา น่าน ตากและสุโขทัย

ตามติดด้วย “นกเต็น”

ต่อมาในเดือนก.ค.ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “นกเต็น”( NOCK TEN) ขึ้นที่ประเทศเวียดนาม พัดผ่านประเทศลาว ทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่น วันที่ 30 ก.ค. เกิดปัญหาน้ำท่วมที่แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร หนองคาย เลย อุดรธานี สกลนครและนครพนม

ส่วนเดือนส.ค.ไม่มีพายุเข้า แต่ประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และร่องความกดอากาศต่ำกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านประเทศไทยตอนบน ทำให้ภาคเหนือและภาคอีสานมีฝนตกหนักมากเป็นระยะๆ และเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่

ไห่ถ่าง-เนสาดถล่มซ้ำ

จนกระทั่งในเดือนก.ย.ประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และร่องความกดอากาศต่ำ ยังได้รับอิทธิพลจากพายุหมุนเขตร้อนอีก 2 ลูก คือ ในวันที่ 27 ก.ย. มีพายุโซนร้อน “ไห่ถาง” (HAITANG) ขึ้นที่เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม วันที่ 28 ก.ย. มีพายุใต้ฝุ่น “เนสาด”(NESAT) ขึ้นที่เมืองฮาลอง ประเทศเวียดนาม พายุทั้ง 2 ลูก ส่งผลทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกชุกหนาแน่นถึงหนักมากๆ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในวงกว้าง และต่อเนื่องในหลายพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางตอนบน รวมทั้งพื้นที่ที่ไม่เคยมีปัญหาน้ำท่วมมาก่อน จนเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงมาจนถึงปัจจุบันนี้

และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงเดือนก.ย.นี้ ปรากฏว่าปริมาณน้ำฝนรวมทั้งประเทศสูงกว่าค่าปกติประมาณ 32 % ซึ่งสูงกว่าทุกกปีที่เคยตรวจวัดมา ขณะที่อันดับ 2 คือปี 2496 สูงกว่าค่าปกติ 27% อันดับที่ 3 ปี 2513 สูงกว่าปกติ 23 %

หากพิจารณาจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเฉพาะในช่วงฤดูฝน (พ.ค.-ก.ย.) ปรากฏว่าอันดับที่ 1 คือปี 2513 มีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าปกติ 23.6 %, อันดับที่ 2 ปี 2499 มีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าปกติ 20.7 % และอันดับที่ 3 คือปี 2554 มีปริมาณน้ำฝนสูงกกว่าค่าปกติ 20.1 %

ที่มาภาพ :บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จํากัด
ที่มาภาพ :บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จํากัด

จากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเป็นจำนวนมากกว่าปกติ (ดูภาพประกอบ) ทั้งที่มาจากภาคเหนือและภาคอีสานเกิดการสะสมมวลน้ำก้อนมหึมาที่มีปริมาณ 41,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่เขื่อนมีความสามารถในการกักเก็บน้ำไว้ได้แค่ 11,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงมีปริมาณน้ำส่วนเกินเหลืออยู่ 30,000 ล้านลููกบาศก์เมตร ในจำนวนนี้เอ่อล้นตะลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ลุ่ม 8,000 ล้านลูกกบาศก์เมตร ส่วนที่เหลือ 22,000 ล้านลูกบาศก์เมตร กลายเป็นมวลน้ำขนาดใหญ่ไหลลงสู่ภาคกลางต่อ ในจำนวนนี้ผันน้ำออกไปได้ 4,200 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงเหลือมวลน้ำที่เป็นปัญหาที่จะะต้องเร่งระบายอออกสู่ทะเลอีก 17,800 ล้านลูกบาศก์เมตร