ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 10 ปี 6 รัฐบาลเงินช่วยเหลือน้ำท่วมบาน งบกลาง-งบทดรองฯ พุ่งกระฉูด

10 ปี 6 รัฐบาลเงินช่วยเหลือน้ำท่วมบาน งบกลาง-งบทดรองฯ พุ่งกระฉูด

10 ตุลาคม 2011


ที่มา : http://media.thaigov.go.th/Sitedirectory/471/1779/60054_1899123021457.jpg

นับจากรัฐบาลภายใต้การนำของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เข้ามาบริหารประเทศในช่วงรอยต่อของภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะผลกระทบจากอิทธิพลพายุโซนร้อนนกเต็น การแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่ถือว่ารุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศ กลายเป็นภารกิจเร่งด่วน เนื่องมาจากมีพื้นที่ประสบอุทกภัยฉุกเฉินเป็นบริเวณกว้าง

อิทธิพลของพายุโซนร้อน “นกเต็น” จนถึงร่องมรสุมกำลังแรงพัดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตั้งแต่ 24 กรกฎาคม 2554 ต่อเนื่องจนถึง 25 สิงหาคม 2554ได้ก่อให้เกิดฝนตกหนักและน้ำป่าเฉียบพลัน ส่งผลให้หลายพื้นที่ประสบอุทกภัยเป็นบริเวณกว้างรวมทั้งสิ้น 63 จังหวัด

สถานการณ์น้ำท่วม ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2554 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. รายงานสถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 25 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่นศรีสะเกษ สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี เชียงใหม่ ยโสธร และร้อยเอ็ด ครอบคลุม 179 อําเภอ 1,240 ตําบล 10,703 หมู่บ้าน

ครม.ยิ่งลักษณ์ 3 เดือน กับวาระน้ำท่วม

นั่นจึงไม่แปลกใจที่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ที่ผ่านมาแล้ว 8 นัด (11 สิงหาคม ถึง 27 กันยายน) ประเด็นเกี่ยวกับอุทกภัยจะถูกหยิบยกขึ้นพิจารณาในทุกครั้งและมีถึง 4 นัดที่นำไปสู่การพิจารณาจัดสรรงบประมาณ และงบกลางเข้าไปให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ

ประชุม ครม. นัด 25 สิงหาคม 2554 รับทราบความคืบหน้ามาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2554 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ รวมถึงความช่วยเหลือผ่านกรมบัญชีกลาง โดยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทำให้สามารถดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยอนุมัติให้จังหวัดที่ประสบภัยพิบัติรุนแรงขยายวงเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึง ดังนี้

จังหวัดสุโขทัย จำนวน 200 ล้านบาท รวมเป็น 250 ล้านบาท

จังหวัดแพร่ จำนวน 200 ล้านบาท รวมเป็น 250 ล้านบาท

จังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 150 ล้านบาท รวมเป็น 200 ล้านบาท

จังหวัดตาก จำนวน 50 ล้านบาท รวมเป็น 100 ล้านบาท

6 กันยายน 2554 ครม. มีมติอนุมัติขยายกรอบระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ ปี 2554 ครัวเรือนละ 5,000 บาท ตามที่จังหวัดส่งรายชื่อครัวเรือนให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยภายหลังวันที่ 27 เมษายน 2554 ออกไปจนถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2554

13 กันยายน ครม. อนุมัติกรอบวงเงินจากงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนรวม 8,886 ล้านบาท เพื่อชดเชยความเสียหายการเกษตรจำนวน 8,000 ล้านบาท และช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ประสบภัยเบื้องต้น 2 รายการ คือจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยครัวเรือนละ 5,000 บาท จำนวน 871 ล้านบาท และ 2.ค่าใช้จ่ายเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย อีก 15 ล้านบาท

20 กันยายน ครม. เห็นชอบให้ทางธนาคารจัดเตรียมวงเงินสินเชื่อจำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการใช้ฟื้นฟูปรับปรุง และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับกิจการที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในพื้นที่ตามประกาศของทางราชการ โดยให้กู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ อยู่ที่ร้อยละ 8 ต่อปี ตลอดสัญญา โดยรัฐบาลจะชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ ร้อยละ 2 ในทุกปี ส่วนผู้ประกอบการรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 6 ต่อปีระยะการผ่อนชำระ 6 ปี โดยใน 2 ปีแรกนั้นชำระเพียงดอกเบี้ย

27 กันยายน ครม. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีอุทกภัย) ครัวเรือนละ 5000 บาท (เพิ่มเติมครั้งที่ 2)

วงเงินเหล่านี้ยังไม่นับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยะยาว ซึ่งแต่ละจังหวะเสนอทยอยเสนอเข้ามาบูรณาการเป็นแผนเดียวกันทั้งประเทศ วงเงินเบื้องต้นประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

ที่มา : http://satitfc.files.wordpress.com/2011/04/56541_189912301823471.jpg

ครม.อภิสิทธิ์เยียวยาไม่แพ้กัน

เมื่อเทียบกับรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” มีวาระพิจารณาอนุมัติ เห็นชอบและรับทราบ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยตรงเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ต้นปี 2554 มีการใช้งบกลางรายการฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ประสบภัยไปกว่า 4 หมื่นล้านบาท โดยใช้งบกลางของปี 2554 ช่วยเหลือผู้ประสบภัยท่วมไปทั้งสิ้นประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท (ช่วยเหลือภาคการเกษตร ผ่าน ธ.ก.ส. 2 หมื่นล้านบาท และช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท จำนวน 8 พันล้านบาท ผ่านธนาคารออมสิน) ยังไม่รวมงบที่ส่วนราชการอื่นๆ ให้ความช่วยเหลืออีก

มีรายงานเพิ่มเติมว่า การเบิกจ่ายเงินทดรองจากกรมบัญชีกลางเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติปีงบประมาณ 2554 (ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2553 -16 ก.ย. 2554) มียอดเบิกจ่ายรวม 16,128 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนั้น เป็นการเบิกจ่ายสำหรับภัยพิบัติน้ำท่วม 9,036 ล้านบาท

ปี 2554 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีการประชุม ครม. ทั้งสิ้น 24 ครั้ง (วันที่ 4 มกราคมถึง 1สิงหาคม)

มติ ครม. 18 มกราคม เห็นชอบในหลักการมาตรการให้ความช่วยเหลือที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เสนอ และอนุมัติเงินงบประมาณเพื่อชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ของเกษตรกรให้แก่ ธ.ก.ส. เป็นเงินประมาณ 1,388.40 ล้านบาท

มติ ครม. 22 มีนาคม อนุมัติเงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติปี 2553 ของจังหวัดน่าน นครราชสีมา หนองคาย สระบุรี สุพรรณบุรี และอุบลราชธานี ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ โดยจ่ายผ่านธกส.วงเงินรวมทั้งสิ้น 38,513,188 บาท เพื่อตั้งจ่ายที่กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ ดังนี้ 1) กรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 34,059,328 บาท 2) กรมประมง จำนวน 945,760 บาท 2) กรมปศุสัตว์ จำนวน 3,508,100 บาท

มติ ครม. 4 เมษายน อนุมัติให้หลักการการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัยและดินถล่มในภาคใต้ครัวเรือนละ 5,000 บาท รวม 10 จังหวัด ตามหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือที่คณะกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตามการช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) กำหนด ในกรอบไม่เกินจำนวน 579,062 ครัวเรือน รวมงบประมาณทั้งสิ้นไม่เกิน 2,895,310,000 บาท และเห็นชอบหลักเกณฑ์และแนวทางการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ครัวเรือนละ 5,000 บาท สำหรับอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2554 ให้สิ้นสุดในเวลา 3 เดือน ภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2554 และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยประสานขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยและดินถล่มในภาคใต้ดังกล่าวด้วย

1 สิงหาคม ครม. มีมติอนุมัติการขยายกรอบเวลาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและดินโคลนถล่ม ครัวเรือนละ 5,000 บาท ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 เมษายน

ชาวบ้านตำบลทับยา จ.สิงห์บุรี ประสบภัยน้ำท่วมมานานกว่า 1 เดือน
ชาวบ้านตำบลทับยา จ.สิงห์บุรี ประสบภัยน้ำท่วมมานานกว่า 1 เดือน

จนถึงขณะนี้ยังยากจะประเมินได้ว่า อุทกภัยในปี 2554 จะรุนแรงขนาดไหน เทียบได้หรือไม่กับอุทกภัยในปี 2553 ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นปีที่หลายๆ พื้นที่ของไทยเผชิญวิกฤตน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ 50-100 ปี โดยจุดที่รุนแรงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม เมื่อน้ำป่าไหลบ่าทะลักเข้าท่วมนครราชสีมา

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กระทรวงมหาดไทย สรุปสถานการณ์มีพื้นที่ประสบภัย รวม 51จังหวัด 550 อำเภอ 3,894 ตำบล 31,870 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 2,526,346 ครัวเรือน 8,667,192คน มีผู้เสียชีวิต 233 ราย

ในปี 2553 มีมติที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมออกมาจากการประชุมครม. 42 นัด และน่าสนใจว่า ในจำนวนนั้น เป็นมติขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น นำไปใช้ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทั้งสิ้น 10 มติจากการประชุม 5 นัด ได้แก่ มติครม. วันที่ 19 ตุลาคม วันที่ 26 ตุลาคม วันที่ 2 พฤศจิกายน วันที่ 16 พฤศจิกายน และวันที่ 25 พฤศจิกายน

โดยมติ ครม. วันที่ 19 ตุลาคม เป็นการอนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด จาก 50 ล้านบาท เป็น 100 ล้าน

มติครม. วันที่ 26 ตุลาคม ได้อนุมัติในหลักการให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2554 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน (อุทกภัย) ครัวเรือนละ 5,000 บาท เฉพาะราษฎรผู้ประสบอุทกภัยจากกรณีน้ำท่วมฉับพลัน ทำให้ไม่สามารถขนย้ายทรัพย์สินไปสู่ที่ปลอดภัยได้หรือผู้ที่มีที่พำนักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วัน

นอกจากนี้ ยังมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอในหลักการควรมีการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรที่ประสบอุทกภัย และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้แก่คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณา ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ครอบคลุม 1. การพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกร 2. การชดเชยความเสียหายด้านพืชผลทางการเกษตร 3. มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ 4. มาตรการช่วยเหลือด้านภาษีให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยและผู้ที่บริจาคเงินช่วยเหลือ และ 5.ให้กระทรวงพาณิชย์ทบทวนการระบายสต็อกข้าวเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนอันเนื่องมาจากข้าวนาปีได้รับความเสียหาย

ในคราวเดียวกัน ครม. ยังมีมติรับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยปี 2553 โดยมาตรการข้อแรกที่ให้จังหวัดแต่ละจังหวัดมีเงินทดรองราชการที่สามารถเบิกใช้ได้ทันทีในวงเงิน 50 ล้านบาท หากไม่เพียงพอใหอธิบดีกรมบัญชีกลางสามารถอนุมัติวงเงินให้ได้อีก 200 ล้านบาท (รวมเป็นเงิน 250 ล้านบาท) และให้ปลัดกระทรวงการคลังมีอำนาจอนุมัติวงเงินเพิ่มขึ้นถึง 500 บาท หากเกินกว่านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้อนุมัติ

มติ ครม. วันที่ 2 พฤศจิกายน ได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2554 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 3,161,440,000 บาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน (อุทกภัย) จำนวน 632,288 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 5,000 บาท ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ

มติ ครม. วันที่ 9 พฤศจิกายน อนุมัติการสนับสนุนงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2554 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 403,947,630 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

นอกจากนี้ ยังอนุมัติเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ภาคใต้ จำนวน 373,182 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 5,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,865,910,000 บาท

มติ ครม. วันที่ 16 พฤศจิกายน เห็นชอบในหลักการแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย วาตภัยและดินถล่ม ครอบคลุมเกษตรกรสวนยางพารา ประมง และปศุสัตว์ อาทิ การให้การช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราทุกรายที่ได้รับความเสียหาย เป็นกรณีพิเศษ ร้อยละ 50 ของต้นทุนการผลิตยางพารา 7-22 ปี ในอัตราไร่ละ 6,007 บาท

มติ ครม. วันที่ 25 พฤศจิกายน เห็นชอบแนวทางช่วยเหลือเมล็ดพันธ์ข้าวแก่เกษตรการผู้ประสบอุทกภัย ปี 2553 และอนุมัติในหลักการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2554 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นสำหรับเป็นค่าเมล็ดพันธ์ข้าวในระยะที่ 1 (ปลูกข้าวได้ทันทีหลังน้ำลด) วงเงิน 327,800,000 บาท ครอบคลุมเกษตรกร 80,700 ราย

ในคราวเดียวกัน ครม. ยังอนุมัติงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2554 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ครัวเรือนละ 5,000 บาท เพิ่มเติม จำนวน 22 จังหวัด ครอบคลุม 3,664 ครัวเรือน รวมเป็นเงิน 18,320,000 บาท ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ

สถานการณ์อุทกภัย ปี2544-2552
สถานการณ์อุทกภัย ปี2544-2552

จริงๆ แล้ว ปัญหาความรุนแรงของอุทกภัยในประเทศไทยได้เพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา (ระหว่างปี 2532-2554) ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวพบว่า มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยต่ำสุด 42 จังหวัดในปี 2536 และมากสุดคือ ปี 2537 และ 2539 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 74 จังหวัด

หากพิจารณาในแง่จำนวนหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ความรุนแรงได้เริ่มกลับมาอีกครั้งในปี 2545 ซึ่งเป็นปีที่พบว่า มีหมู่บ้านได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รวม 18,510 หมู่บ้าน จากนั้นจึงลดระดับความรุนแรงลงในปีถัดมา โดยพบว่า ในปี 2546 จำนวนหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยลดลงมากกว่าครึ่งมีทั้งสิ้น 5,281 หมู่บ้าน แต่พอเข้าสู่ปี 2547 อุทกภัยก็เริ่มรุนแรงขึ้น โดยมีหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ 9,964 หมู่บ้าน

ปี 2548 ยอดหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเพิ่มเป็น 10,326 หมู่บ้าน แต่พอย่างเข้าสู่ปี 2549 ตัวเลขหมู่บ้านที่เผชิญกับภัยน้ำท่วมพุ่งเป็น 22,771 แม้จะลดลงมาเกือบครึ่งในปี 2550 แต่ยังคงรุนแรงหลักหมื่นหมู่บ้าน (12,848) อีกทั้งยังพุ่งพรวดเป็นความเสียหาย 38,448 หมู่บ้านในปี 2551 และ 33,847 หมู่บ้านในปี 2552

จากข้อมูลสถานการณ์อุทกภัยของประเทศไทย ปี 2532-2554 รวบรวมโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า ระหว่างปี 2544-2552 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีผลัดเปลี่ยนเข้ามาบริหารประเทศทั้งสิ้น 5 คน ได้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (17 กุมภาพันธ์ 2544 – 19 กันยายน 2549) พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ (1 ตุลาคม 2549 – 29 มกราคม 2551) สมัคร สุนทรเวช (29 มกราคม 2551 – 18 กันยายน 2551) สมชาย วงศ์สวัสดิ์(18 กันยายน 2551 – 17 ธันวาคม 2551) และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (17 ธันวาคม 2551- 1 สิงหาคม 2554) พบว่า มีการให้ความช่วยเหลือผ่านช่องทางเงินทดรองราชการเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก

โดยปี 2544 มีการให้ความช่วยเหลือในส่วนเงินทดรองราชการ 26,384,263 บาท ต่อเนื่องปี 2545 มีการใช้เงินส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 472,827,669 บาท จากนั้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 853,860,799 บาท 1,063,265,356 บาท และ 1,111,404,929 บาท ในปี 2546 ปี 2547 และปี 2548 ตามลำดับ

ในปี 2549 เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในส่วนเงินทดรองราชการได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวเป็น 3,346,597,800 บาท สำหรับปี 2550-2552 เงินช่วยเหลือส่วนนี้ไม่ได้ลดลงเลย มีแต่จะเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มเป็น 4,289,736,260 บาทในปี 2550 เพิ่มเป็น 5,471,365,273 บาทในปี 2551 และลดลงมาที่ 4,452,673,765 บาทในปี 2552