ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 6-12 ธ.ค. 2558
-
– พ้นเลขาฯ กกต. “ภุชงค์” แฉทั้งช้ำ
– ปมทุจริตราชภักดิ์ “บิ๊กต๊อก” กร้าว “ตรวจต้องเจอ” – “บิ๊กโด่ง” ย้อน “ต้องมีสติ ไม่ใช่มีธงในใจ”
– “เอียซา” ประเมินผ่าน “บินไทย” ฉลุยยุโรป
– กทม. ยัน “น้ำขังรอระบาย” แก้ได้ สร้างอุโมงค์ทั่วกรุง 22,000 ล้าน
– ผังทุจริตราชภักดิ์แผลงฤทธิ์ เตรียมจับนับร้อย
พ้นเลขาฯ กกต. “ภุชงค์” แฉทั้งช้ำ
8 ธ.ค. 2558 ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติ 4:1 เสียง ให้เลิกจ้างนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. เนื่องจากผลการประเมินไม่ผ่านเกณฑ์และผลดำเนินงานในหลายโครงการมีความล่าช้า ซึ่งต่อมา ในวันที่ 9 ธ.ค. 2558 นายภุชงค์ได้ให้สัมภาษณ์ว่าหลังจากนี้ตนจะยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ กกต. ภายใน 15 วัน แต่หาก กกต. ยังยืนยันมติเดิมตนก็จะยื่นต่อศาลปกครองเพื่อขอความเป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป เพื่อให้เป็นบทเรียนแก่องค์กร และยืนยันว่าตนไม่ต้องการกลับมารับตำแหน่งเลขาธิการ กกต. อีกต่อไป
ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าตลอด 18 ปีที่ผ่านมา ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ แต่การทำงานกับคณะกรรมการ กกต. ชุดนี้ ตลอด 2 ปีนั้นมีการล้วงลูกการทำงานภายในสำนักงาน ทั้งๆ ที่เป็นอำนาจของเลขาธิการซึ่งต่างจากกรรมการชุดก่อนหน้านี้ ที่ให้เกียรติการทำงานของสำนักงานมาโดยตลอด กลายเป็นว่ากรรมการอยากทำอะไรก็ได้ เพียงแค่มีมติ กกต. มีการเข้ามาล้วงลูกการทำงาน โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่มีการตั้งขึ้นเงินเดือนที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญประจำตัว กกต. แต่ละคน ทำให้แต่ละเดือน กกต. ต้องจ่ายเงินให้กับคนเหล่านั้นถึง 2 ล้านบาท เป็นเงิน 24 ล้านบาทต่อปี ทำให้ขณะนี้งบของ กกต. ร่อยหรอลงมาก นอกจากนั้นการดำเนินงานในโครงการต่างๆ จนเป็นผลให้มีความล่าช้า เพราะทุกโครงการถูกกรรมการ กกต. สั่งรื้อ ถูกสั่งให้แก้ไขและบางโครงการกรรมการ กกต. ก็มีคำสั่งให้ขยายเวลาการดำเนินโครงการออกไปเอง และบางโครงการก็สั่งระงับ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ และในการประเมินผลการทำงานที่ผ่านมาก็ไม่เคยเปิดโอกาสให้ตนเข้าไปชี้แจงเลย
“ผมไม่น้อยใจที่โดนทำแบบนี้ ที่โดนปลดกลางอากาศ แต่ขอเรียกร้องให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยเฉพาะนายอภิชาต สุขัคคานนท์ อดีต ประธาน กกต.และนายประพันธ์ นัยโกวิท อดีต กกต. เขียนรัฐธรรมนูญกำหนดโครงสร้างขอบเขตอำนาจของกรรมการ กกต. กับสำนักงาน กกต. ให้มีเส้นแบ่งที่ชัดเจน เพื่อป้องกันการล้วงลูกอย่างที่เกิดขึ้น ถึงแม้ กรธ.จะให้คณะกรรมการชุดนี้มีวาระอยู่อีก 7 ปีก็ไม่เป็นไร แต่ต้องเขียนกฎหมายให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้มีการล้วงลูก และไม่ให้มีเจ้าหน้าที่ถูกกระทำเหมือนผมอีก” นายภุชงค์กล่าว
นอกจากนี้ นายภุชงค์ยังกล่าวอีกว่า หลังจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ ตนรู้สึกดีใจมาก เพราะหากร่างรัฐธรรมนูญผ่าน กกต. ต้องเป็นผู้ดำเนินการจัดพิมพ์เอกสารร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 20 ล้านฉบับ ซึ่งในขณะนั้นมีใบสั่งเรื่องเกี่ยวกับโรงพิมพ์สะพัด ทั้งที่ กกต. อยากให้มีโรงพิมพ์ทั้งภาครัฐและเอกชน มาร่วมพิมพ์ ไม่ใช่ให้โรงพิมพ์เดียวมารับงาน และอยากให้จับตาดูการพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ว่าจะเป็นอย่างไร
อนึ่ง เว็บไซต์แนวหน้า รายงานว่าเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวถึงกรณี นายภุชงค์ นุตราวงศ์ อดีตเลขาธิการ กกต. ระบุไม่ได้รับความเป็นธรรมและมี กกต. แทรกแซงการทำงานว่า ยิ่งพูดมากก็ยิ่งเสียเอง เท่ากับประจานตัวเอง กกต. เลิกจ้างนายภุชงค์แล้วก็พาลมาด่า กกต. ซึ่งตนเป็นหนึ่งใน กกต. ที่ลงมติ เมื่อเขาด่ามา ตนก็เฉยๆ เพราะคนฟังจะรู้เอง ยิ่งเขาดิ้นมาก หลุมก็ยิ่งลึก ทั้งนี้ตนไม่เคยไปล้วงลูก เพราะงานของตัวเองมีมากอยู่แล้ว จะไปล้วงลูกเลขาธิการฯ ทำไม ที่ผ่านมานายภุชงค์ทำหน้าที่หรือไม่ ตอนนี้ให้เขาพูดไปก่อนแล้วค่อยมาสรุปข้อมูล หากพูดข้อความใดเข้าข่ายหมิ่นประมาท ก็จะฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาททันที
ปมทุจริตราชภักดิ์ “บิ๊กต๊อก” กร้าว “ตรวจต้องเจอ” – “บิ๊กโด่ง” ย้อน “ไม่ใช่มีธงในใจ”
เว็บไซต์มติชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2558 ที่กระทรวงยุติธรรม นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก และนายสมหวัง อัสราษี แกนนำ นปช. เข้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีการก่อสร้างโครงการอุทยานราชภักดิ์ พร้อมทั้งพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับ พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) โดยมี พล.อ. นิวัตร มีนะโยธิน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน พ.ท. กรทิพย์ ดาโรจน์ และนายฉัตรชัย ยอดอุดม รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ร่วมรับฟังข้อมูล โดยใช้เวลาพูดคุยประมาณ 2 ชั่วโมง
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ ภายหลังการหารือ พล.อ. ไพบูลย์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงกรณีทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ว่า
“ไม่เจอได้ไง ในเมื่อผู้ปฏิบัติบอกว่ามีการทุจริต เพราะฉะนั้น มันจะไม่เจอไม่ได้หรอก มันต้องเจอ ผมพูดวันนี้เลยว่าต้องเจอ ก็คนทุกคนรู้ว่ามันมีการทุจริต และจะบอกว่าไม่มีการทุจริตได้อย่างไร ฉะนั้นต้องเจอสิ ส่วนจะเจอที่ไหน ห้วงเวลาไหน ใครเป็นผู้รับผิดชอบนั้น กำลังทำอยู่ บอกพี่น้องประชาชนได้เลยว่าเรื่องนี้มีการทุจริต เพราะผู้ที่รับผิดชอบออกมาชี้แจงเองว่ามีการทุจริต และหากผมไปตรวจและบอกว่าไม่พบการทุจริต มันจะอยู่กันอย่างไร ดังนั้น มันต้องเจอ แต่จะเจอใครที่ไหน อย่างไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
ทำให้ต่อมา วันที่ 11 ธ.ค. 2558 เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าเมื่อผู้สื่อข่าวถาม พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร ถึงกรณีที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ระบุว่าอาจมีการทุจริตหักค่าหัวคิว พล.อ. อุดมเดช กล่าวว่า “ต้องถามว่าถูกต้องหรือไม่ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แล้วมีคนสองคนเดินมาหาแล้วนำซองเอกสารสีน้ำตาลบางๆ มาให้ คุยกันอยู่สักพักเสร็จแล้วมาบอกว่าทุจริตแน่นอน มีที่ไหนเขาทำกัน จริงๆ แล้วทำแบบนี้ผิด เพราะเป็นการชี้นำ เพราะกรรมการที่ตรวจสอบต้องหาคนผิดให้ได้ ต้องเป็นลักษณะที่ว่าเอาข้อมูลมาแล้วไปให้กับ สตง., ป.ป.ช. ไปไล่ดูแต่ละจุดว่ามีความผิดต่างๆ อย่างไร ไม่ใช่ออกมาพูดแบบนี้ อย่างนี้แสดงว่าอย่างไร เป็นนายพรานออกมาจากพุ่มไม้หรืออย่างไร เป็นนายพรานหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ผมไม่ได้ทะเลาะกัน แต่เขาพลาดพลั้งที่พูดไป ถามว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีวุฒิภาวะในตัวเองทุกคน จะต้องมีสติ ไม่ใช่มีธงในใจ พอนักข่าวถามก็ตั้งใจว่าเดี๋ยววันนี้จะฟันแน่ การเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ใช่มีเอกสารอยู่แค่นั้นแล้วจะมาบอกว่าผิดแน่นอน ต้องให้กรรมการเข้าไปตรวจสอบดูบัญชี”
ภายในวันเดียวกัน เว็บไซต์มติชน รายงานว่าพล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีก่อนหน้านี้ออกมาระบุว่ามีการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ว่า วันนี้ตนจะไม่ให้สัมภาษณ์ในเรื่องดังกล่าว ขอให้รอหลังจากมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้สื่อนั่นแหละฟังตนพูดยังไม่ทันไรก็ไปสรุปกันแล้วว่ามีการทุจริต
“เอียซา” ประเมินไทยผ่าน
เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 58 นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมาธิการความปลอดภัยทางการบินของสหภาพยุโรป (Air Safety Committee) ได้มีการประชุมทบทวน Air Safety List เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 58 ซึ่งในวันนี้ ได้มีการประกาศผลอย่างเป็นทางการ ปรากฏว่า ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับประเทศไทยในทางลบ (http://europa.eu/rapid/press-release_IP-15-6284_en.htm) ดังมีข้อความต่อไปนี้
“No air carriers from Thailand were added to the Air Safety List at this time.”
ทำให้การบินไทย ยังคงให้บริการเส้นทางบินสู่ทวีปยุโรป ได้ตามปกติ ทั้งนี้ การบินไทย ยังคงรักษามาตรฐานด้านความปลอดภัยในระดับสูง โดยยึดมาตรฐานของเอียซา (EASA: European Aviation Safety Agency) เป็นแนวทาง นอกจากนี้ การบินไทย พร้อมที่จะให้การสนับสนุนและร่วมมือกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ในการทบทวนการต่ออายุใบรับรอง (Recertificate) ที่จะเกิดขึ้นต่อไป รวมทั้งให้ความช่วยเหลือสายการบินอื่นๆ ของประเทศไทย ในการยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัย เพื่อให้ธุรกิจการบินของประเทศไทยมีความเข้มแข็งขึ้นโดยเร็ว
อนึ่ง การบินไทย ยังคงให้บริการทำการบินไปยังทวีปยุโรป ตามปกติ ปัจจุบัน การบินไทยมีเส้นทางบินสู่ยุโรป 11 จุดบิน ได้แก่ ลอนดอน, โคเปนเฮเกน, แฟรงก์เฟิร์ต, บรัสเซลส์, มิวนิก, ออสโล, ปารีส, สตอกโฮล์ม, ซูริก, มิลาน และโรม ผู้โดยสารสามารถดูรายละเอียดตารางการบินได้ที่ www.thaiairways.com
กทม. ยัน “น้ำขังรอระบาย” แก้ได้ สร้างอุโมงค์ทั่วกรุง 22,000 ล้าน
วันที่ 10 ธ.ค. 2558 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่าแหล่งข่าวจากสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม. ได้ดำเนินโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ มาอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญในการช่วยเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำรอการระบายในพื้นที่ต่างๆ คืออุโมงค์ระบายน้ำ ซึ่งการทำงานของอุโมงค์ระบายน้ำ ถือเป็นสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ ทั้งนี้ กทม.อยู่ระหว่างการก่อสร้างเพิ่มเติมอุโมงค์ระบายน้ำให้คลอบคลุมพื้นที่ทุกพื้นที่ โดยแผนก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำของ กทม. จะเร่งดำเนินใน 7 พื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่กรุงเทพฯฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่
1. อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ ซึ่งจะช่วยในการระบายน้ำพื้นที่เขตบางซื่อ ดินแดง จตุจักร ห้วยขวาง โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างจำนวนกว่า 2,242 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปลายปี 2559 นี้ จะช่วยในการระบายน้ำพื้นที่เขตบางซื่อ ดินแดง จตุจักร ห้วยขวาง 2. อุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน ซึ่งจะช่วยในการระบายน้ำพื้นที่ย่านศรีนครินทร์ สุขุมวิท ต้องใช้งบประมาณดำเนินการกว่า 4,925 ล้านบาท จะเริ่มดำเนินการก่อร้างภายในต้นปี 2559 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2562 3. อุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากร ซึ่งจะช่วยระบายน้ำในพื้นที่เขตหลักสี่ ลาดพร้าว ดอนเมือง โดยต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างขอใช้พื้นที่เพื่อดำเนินโครงการ
4. อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่แนวคลองแสนแสบ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาโดยอุโมงค์ดังกล่าว กทม.จะขอจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลจำนวน 1,500 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้าง 5. อุโมงค์ระบายน้ำฝั่งตะวันออก เชื่อมคลองสุวรรณภูมิ ซึ่งจะช่วยระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯฝั่งตะวันออกให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น แก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรม โดยอยู่ระหว่างการศึกษาและวางรูปแบบโครงการ 6. อุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนา จะช่วยระบายน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตบางแค หนองแขม ทวีวัฒนา โดยต้องใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 2,274 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการ และ 7. อุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี ซึ่งจะช่วยในการระบายน้ำพื้นที่เขตบางบอน บางขุนเทียน ภาษีเจริญ โดยต้องใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 4,580 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจและการเงิน เพื่อดำเนินโครงการต่อไป
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า แผนการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำทั้งหมด จะต้องใช้งบประมาณรวมกว่า 22,000 ล้านบาท หากสามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้น ปัญหาน้ำท่วมขังรอการะบายในพื้นที่กรุงเทพฯจะดีขึ้น เพราะอุโมงค์จะช่วยในการดึงน้ำเข้าสู่อุโมงค์อย่างรวดเร็วโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันน้ำท่วมของกทม.ถือเป็นโครงการเร่งด่วนของรัฐบาลอีกด้วย อย่างไรก็ตามด้วยงบประมาณในการก่อสร้างจำนวนมาก ซึ่ง กทม. ไม่สามารถจัดสรรได้ ดังนั้นการก่อสร้างอาจต้องของบสนับสนุนจากรัฐบาล หรืออาจต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันทางการเงินเพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป
ผังทุจริตราชภักดิ์แผลงฤทธิ์ เตรียมจับนับร้อย
วันที่ 11 ธ.ค. 2558 เว็บไซต์มติชน รายงานว่ากรณี พล.ต. วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อม พ.อ. บุรินทร์ ทองประไพ เสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาฝ่ายกฎหมาย คสช. เข้าพบพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ดำเนินคดีกับนายฐนกร หรือเอฟ ศิริไพบูลย์ อายุ 27 ปี ชาว อ.เมืองสมุทรปราการ ที่ทหารเข้าควบคุมตัวเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา เนื่องจากสืบสวนพบว่าเป็นผู้โพสต์แผนผังการทุจริตโครงการราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในข้อหาหมิ่นเบื้องสูงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ข้อหาปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 นั้น
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พนักงานสอบสวน บก.ป.เข้าขออำนาจศาลทหารเพื่อออกหมายจับนายฐนกร และศาลได้พิเคราะห์หลักฐานแล้วจึงอนุมัติออกหมายจับเลขที่ 63/2558 ให้จับกุม นายฐนกรในข้อหาตามมาตรา 112 มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่พบว่า แอดมินของเพจ “สถาบันคนเสื้อแดงแห่งชาติ” มีจำนวนกว่า 20 คน ขณะนี้เจ้าหน้าที่มีข้อมูลของแอดมินทั้งหมดแล้ว อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเตรียมดำเนินคดี นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังรวบรวมรายชื่อเจ้าของเฟซบุ๊กที่เป็นสมาชิกเพจดังกล่าว ที่กดถูกใจและแชร์ข้อความหรือรูปภาพที่ไม่เหมาะสม ส่อเค้าว่าจะกระทำความผิดข้อหาหมิ่นสถาบันเบื้องสูงฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เอาไว้ทั้งหมดแล้ว สำหรับเรื่องดังกล่าวฝ่ายกฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะ ดำเนินการจับกุมบุคคลที่ทำผิดกฎหมายในลักษณะที่ส่อว่า เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างเด็ดขาด หลังจากนี้จะออกหมายจับกลุ่มบุคคลในฐานความผิดนี้เพิ่มเติมอีกหลายร้อยราย