ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดเบื้องหลังแนวคิดกองทุนมั่งคั่งยุคประชาธิปัตย์

เปิดเบื้องหลังแนวคิดกองทุนมั่งคั่งยุคประชาธิปัตย์

16 กันยายน 2011


ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล ภาพจาก http://www.intell.rtaf.mi.th

เปิดเบื้องหลังแนวคิดกองทุนมั่งคั่งยุคปชป. ตั้งบริษัทลูกให้แบงก์ชาติถือหุ้น 100 % แก้กฎหมายนำเงินทุนสำรองที่ลงทุนไม่เสี่ยงไปลงทุนสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น คนธปท.ค้าน ถ้าจะทำไทยต้องเล่นบทเจ้าหนี้แล้ว ขณะที่หม่อมเต่าเผย เคยเสนอออกพรก.นำกำไรจากดอกเบี้ยในบัญชีสำรองเงินตราใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) เปิดเผยว่า ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คณะกรรมการธปท. เคยพิจารณาแนวทางการจัดตั้งกองทุนมั่งคั่ง หรือ Sovereign Wealth Fund (SWF) ซึ่งในหลักการเห็นว่าควรทำ ถ้ามีการบริหารที่ดี มีความซื่อสัตย์ และการเมืองไม่เข้ามายุ่ง

โดยแยกเงินสำรองระหว่างประเทศมาตั้งเป็นกองทุนความมั่งคั่ง จะทำให้กรอบการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศยืดหยุ่น และได้ผลตอบแทนในระยะยาวมากกว่า เพราะปัจจุบันได้รับผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยต่ำ และยังขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยรูปแบบกองทุนคือตั้งเป็นบริษัทลูกให้ธปท. ถือหุ้น 10 %

ที่มีแนวคิดเช่นนี้เพราะแบงก์ชาติเชื่อมั่นตัวเอง เพราะเคยบริหารเงินสำรองมาก่อน และในแง่ความซื่อสัตย์ มุ่งปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ส่วนบอร์ดต้องเป็นมืออาชีพ เป็นผู้รู้ด้านตลาดการเงิน ตลาดทุนระหว่างประเทศเป็นอย่างดี พร้อมเขียนกรอบให้สามารถบริหารได้อย่างยืดหยุ่น

สำหรับเงินที่จะนำมาใช้ตั้งกองทุนความมั่งคั่ง จะเอาเงินที่เรียกว่าเป็น “ตะกอน” ที่กองอยู่นิ่งๆ ไปลงทุนหาผลประโยชน์ ซึ่งหมายถึงเงินสำรองระหว่างประเทศที่ธปท. ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอเมริกา หรือพันธบัตรรัฐบาลยุโรป 10 ปี หรือ 30 ปี แต่ได้ผลตอบแทนเพียง 2% แถมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจริง จากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศด้วย ดังนั้นควรนำเงินสำรองระหว่างประเทศในส่วนนี้ไปบริหารหาประโยชน์เพิ่มขึ้น

แต่การจะนำเงินสำรองระหว่างประเทศไปหาประโยชน์เพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งทำไม่ได้ถ้าเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในงบดุลของธปท. เนื่องจากหลักการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ ธปท. ยึดหลักเงินต้นต้องมั่นคงและปลอดภัยเป็นอันดับแรก

ดังนั้น ต้องแบ่งส่วนที่ต้องการบริหารออกมาต่างหาก แต่ถ้าธปท. ไม่มั่นใจ ต้องการป้องกันความเสียหาย ไม่จำเป็นต้องนำเงินตะกอนนี้ออกมาทั้งหมด อาจแบ่งออกมาบางส่วน หรือทำตามที่ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ประธานคณะกรรมการธปท. เสนอ คืออย่างน้อย 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“ตอนนี้เป็นโอกาสดี ที่อเมริกา ยุโรปมีของถูก ทั้งอสังหาริมทรัพย์ และธนาคารพาณิชย์ถูกมาก จังหวะนี้ถือว่าเหมาะสมที่จะตั้งกองทุนฯ เพื่อไปลงทุนต่างประเทศ เพราะสินทรัพย์ในอเมริกาและยุโรปราคาถูก ในระยะยาวน่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เมื่อมีกำไร ก็นำไปชำระคืนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ เงินตะกอนดังกล่าวไม่ใช่เงินในบัญชีสำรองพิเศษ ที่มีเงินบริจาคของหลวงตามหาบัว แหล่งข่าวย้ำว่า ตรงนี้จะไม่แตะต้อง รวมในส่วนที่ต้องสำรองไว้ใช้หมุนเวียนอยู่เรื่อยๆ เพื่อรองรับความผันผวน และเป็นสภาพคล่องรองรับการค้าขายและสนับสนุนการลงทุน เพราะจะเป็นความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของธปท. ที่ดูแลเรื่องนี้ส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่ง โดยอ้างตลอดเวลาว่าฐานะการลงทุนระหว่างประเทศของไทยยังติดลบหรือมีฐานะเป็นลูกหนี้ จึงยังไม่เหมาะสมที่จะพิจารณาเรื่องนี้ ทั้งนี้คาดว่าการประชุมคณะกรรมการธปท. ในเดือนกันยายนนี้ คงมีวาระพิจารณาตามที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีคลัง สั่งให้ดำเนินการศึกษาจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่ง

การตั้งกองทุนความมั่งคั่งตามแนวทางดังกล่าวต้องแก้กฎหมาย แต่กองทุนความมั่งคั่งหน้าตาเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับจังหวะ โอกาสในการเสนอกฎหมาย เพราะจะเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้สิ่งที่กำหนดไว้ตอนแรกออกมาเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากธปท. ไม่ใช่ผู้เสนอกฎหมาย ต้องส่งให้กระทรวงคลังเป็นผู้เสนอ ที่เป็นห่วงคือระหว่างการพิจารณากฎหมาย ทางการเมืองอาจมีการปรับแก้ ซึ่งอยู่ในวิสัยที่ทำได้ แต่คิดว่ารัฐบาลคงไม่ถอยจริงอย่างที่พูด เพียงแต่ไม่ต้องการสร้างศัตรูหลายฝ่ายมากกว่า

นอกจากนี้ แหล่งข่าวได้ชี้ถึงประเด็นที่ต้องระวังในการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่ง คือการนำเงินสำรองมาใช้จ่ายลงทุนในประเทศ กรณีนี้ไม่ควรทำเด็ดขาดเพราะเท่ากับว่าธปท. พิมพ์เงินเพิ่มเข้าระบบอย่างมโหฬาร ซึ่งอาจสร้างความเสี่ยง และความเสียหายต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก จึงต้องชัดเจนว่าเงินสำรองระหว่างประเทศต้องนำไปใช้เพื่อลงทุนในต่างประเทศไม่ใช่ในประเทศ

ทั้งนี้ ม.ร.ว.จัตุมงคลให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า เคยนำแนวคิดการจัดตั้งกองความมั่งคั่งเสนอต่อรัฐบาลชุดก่อน ทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคลัง โดยโครงสร้างกรรมการเสนอให้มีผู้แทนกระทรวงการคลัง 2 คน ผู้แทนธปท. 2 คน ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ ผู้แทนจากภาคเอกชน ซึ่งทางรัฐบาลเห็นด้วย แต่เมื่อเอากลับมาเสนอธปท. เขาไม่เอาด้วย

“ตอนนี้เปลี่ยนรัฐบาลใหม่(ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เห็นจังหวะไม่ดีก็เลยนั่งทับไว้ แต่รัฐบาลใหม่ก็คุยกับผู้ว่าฯ อยู่” ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าว

นอกจากนี้ ม.ร.ว.จัตุมงคลยังกล่าวว่า ทางธปท. บอกให้รอฐานะการลงทุนระหว่างประเทศเป็นบวกก่อน คือให้เราอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ก่อนแล้วค่อยพิจารณาเรื่องนี้ ก็รอมาหลายปี แต่เมื่อต้นปีเขาบอกว่าจะเป็นแล้ว แต่ก็ยังเป็นลบอยู่ เพราะมีเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เยอะทำให้ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศยังเป็นลบหรือมีสถานะเป็นลูกหนี้ คนธปท. จึงยังไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้

สำหรับเงินที่จะลงทุนในกองทุนความมั่งคั่ง ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าวว่า ดูเรื่องกองทุนมั่งคั่งมาหลายปี ถ้าหากธปท. แบ่งเงินมาให้ลงทุน จะขออย่างน้อยประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในต่างประเทศมีกองทุนมั่งคั่งที่ใช้เงิน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ทำแล้วส่วนใหญ่จะนิ่ง สันนิษฐานว่าทำแล้วเจ๊ง หรือไม่ก็ไม่มีเงินเข้ามาใหม่ แล้วนั่งทับไปเรื่อยๆ

“หลักสำคัญคือกระบวนการตัดสินใจ การจะเอาเงินไปใช้อะไร ต้องมุ่งประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ประเด็นคือเงินสำรองระหว่างประเทศ เป็นเงินของประเทศ ไม่ใช่เงินแบงก์ชาติ หรือเงินของผู้ชนะการเลือกตั้ง แต่เป็นเงินของผู้ที่เคยเข้ามาลงทุน ดังนั้นกลไกการตัดสินลงทุนของกองทุนฯ จะต้องมีตัวแทนจากธปท. ผ่านกลไกทางสังคม ให้มีผู้ร่วมตัดสินใจ แต่ไม่ใช่นักการเมือง” ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าว

ทั้งนี้ ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศของไทยติดลบ หรืออยู่ในฐานะสุทธิเป็นลูกหนี้มาโดยตลอด แต่มีแนวโน้มปรับลดลง ดังรายละเอียดจากเว็บไซต์ ธปท.:

งบกำไรขาดทุน บัญชีฝ่ายการธนาคารธปท.

นอกจากนี้ ม.ร.ว.จัตุมงคลระบุว่า การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท ได้เสนอแนวทางให้รัฐบาลประชาธิปัตย์ เอาสินทรัพย์ในส่วนที่หนุนหลังเงินบาทที่นำไปลงทุนได้ดอกเบี้ยมาเท่าไรก็ยกให้รัฐบาล เพื่อไปใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งขณะนี้ธนบัตรหมุนเวียนมีกว่า 1 ล้านล้านบาท นำไปลงทุนได้ดอกเบี้ยประมาณ 3% ปีหนึ่งประมาณ 30,000 ล้านบาท

“ผมเสนอให้รัฐบาลประชาธิปัตย์ออกเป็นพระราชกำหนดแก้ไขกฎหมายเงินตรา ให้สามารถดำเนินการได้อย่างที่เสนอ แต่รัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่ได้ทำ ซึ่งถ้ากองทุนฟื้นฟูฯ โอนสินทรัพย์ให้กระทรวงการคลังเพื่อชดเชยหนี้กองทุนฯ ก็สามารถลดหนี้ได้บางส่วน” ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าว