ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “อานันท์ ปันยารชุน” กับบริบทใหม่ของประเทศด้วยธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตย – ยุคแห่งการตัดสินใจแบบ “ฉันรู้ดีที่สุด” ได้หมดไปแล้ว

“อานันท์ ปันยารชุน” กับบริบทใหม่ของประเทศด้วยธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตย – ยุคแห่งการตัดสินใจแบบ “ฉันรู้ดีที่สุด” ได้หมดไปแล้ว

17 กันยายน 2015


นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ :  นฤพนธ์ รักษ์พงษ์
นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : นฤพนธ์ รักษ์พงษ์

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ จัดงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2558 “BOT Symposium 2015 :เศรษฐกิจไทยกับบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ” เพื่อวิเคราะห์สาเหตุและศึกษาผลกระทบของ New Normal หรือบริบทใหม่ในมิติต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นโอกาสและความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องทำความเข้าใจและปรับตัวให้พร้อมรับ

ทั้งนี้ นายอานันท์  ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สู่บริบทใหม่ของประเทศด้วยธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตย” หรือ “Democratic Governance – A New Normal to Strive For ดังนี้

“ผมขอขอบคุณ ธปท. ที่เชิญผมมากล่าวปาฐกถาในวันนี้ และผมขอถือโอกาสนี้ แสดงความชื่นชมท่านผู้ว่าประสาร ที่ได้ผสมผสานศาสตร์และศิลป์ในการทำงานในตำแหน่งที่ท้าทายนี้ ได้อย่างดีเยี่ยมตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้จะไม่เคยมีโอกาสร่วมงานกันโดยตรง แต่ผมก็ได้ชื่นชมท่านผู้ว่าประสารอยู่ห่างๆ ในการเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ยืนหยัดบนหลักการ มีความเป็นวิชาการ และที่สำคัญ เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ และมุ่งมั่นในผลประโยชน์ส่วนรวมเสมอ ซึ่งสะท้อนในค่านิยม 4 ประการที่ท่านผู้ว่าได้พยายามบ่มเพาะใน ธปท. ได้แก่ “ยืนตรง” “มองไกล” “ยื่นมือ” และ “ติดดิน”

ในขณะเดียวกัน ผมมั่นใจว่า ดร. วิรไท สันติประภพ จะสามารถสานและต่อยอดจากพื้นฐานค่านิยมที่ดีนี้ได้ ผมรู้จักและติดตามผลงานของ ดร. วิรไท มาสิบกว่าปี เป็นคนหนุ่มไฟแรง ที่มีความคล้าย ดร. ประสาร ในหลายมิติ โดยเฉพาะในการยึดถือหลักการ ความซื่อสัตย์ และการมุ่งผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติ ผมขอให้กำลังใจ ดร. วิรไท ในการสืบต่อตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป

สำหรับปาฐกถาในวันนี้ ผมคิดว่าหัวข้อของงานสัมมนาเกี่ยวกับ New Normal เหมาะสมอย่างยิ่งกับบริบทของประเทศไทยในปัจจุบันที่กาลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นในมิติเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง ซึ่งสืบเนื่องจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก และมีผลกระทบต่อประเทศและประชาชน ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องตระหนักถึงและปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สำหรับทางด้านเศรษฐกิจนั้น มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านในงานสัมมนานี้ที่สามารถอธิบายความท้าทายได้อย่างลึกซึ้ง ผมจึงจะขอกล่าวถึงเพียงเล็กน้อย และจะเน้นการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมและการเมือง ซึ่งผมเห็นว่ามีความเกี่ยวโยงโดยตรงกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจจนยากที่จะแยกออกจากกันได้

ในขณะนี้ เรากำลังอยู่ระหว่างช่วงรอยต่อที่สำคัญทางการเมือง หลายท่านคงพยายามที่จะคาดว่าเมื่อผ่านรอยต่อนี้ไปแล้ว New Normal ของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ผมเองก็ไม่สามารถคาดคะเนได้ดีกว่าท่าน แต่เท่าที่ผ่านมาในอดีต กระแสโลกาภิวัตน์ บริโภคนิยม ความฟุ้งเฟ้อ ความไม่ซื่อสัตย์สุจริต และการใช้จ่ายโดยไม่ประมาณตนเอง เป็นต้นเหตุของความล้มเหลวในการบริหารของทั้งภาคราชการและภาคธุรกิจ ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องจริงจังกับการปรับบทบาทและจิตสำนึกของเราเข้าสู่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะหลักคิดในเรื่องความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน เพื่อช่วยให้เราสามารถเผชิญกับปัญหาหรือวิกฤตต่างๆ พร้อมกับสามารถหาคำตอบและทางออกให้กับปัญหาเหล่านี้ได้ และด้วยสาเหตุและความจำเป็นดังกล่าว ผมอยากใช้โอกาสนี้เสนอองค์ประกอบสี่ประการที่ขาดไม่ได้ในบรรทัดฐานใหม่ (New Normal) ของเส้นทางการพัฒนาประเทศไทย ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและทรงพลัง

นายอานันท์ ปันยารชุน (บวาสุด) นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล (กลาง) นายวิรไท สันติประภพ (ซ้ายสุด) ที่มาภาพ :  นฤพนธ์ รักษ์พงษ์
นายอานันท์ ปันยารชุน (ขวาสุด) นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล (กลาง) นายวิรไท สันติประภพ (ซ้ายสุด) ที่มาภาพ : นฤพนธ์ รักษ์พงษ์

ประการแรก New Normal ของประเทศไทยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึง ผมขอเน้นคำว่ายั่งยืนและทั่วถึง ที่ผ่านมาเรามักจะมุ่งเป้าไปที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นหลัก ให้ความสำคัญแค่ตัวเลข โดยละเลยมิติด้านคุณภาพและการแบ่งสรรผลประโยชน์และรายได้ให้ทั่วถึง วิกฤตต้มยำกุ้งและวิกฤตการเงินโลกที่ผ่านมา เป็นสิ่งเตือนใจถึงอันตรายของการขยายตัวแบบสุดโต่ง ในขณะเดียวกัน เราก็ได้เห็นแล้วว่าการขยายตัวแบบอัดฉีดมาตรการประชานิยมที่ไร้วินัยทางการคลังนั้น เป็นการขยายตัวที่ไม่ยั่งยืน และสร้างปัญหามากมายในภายหลัง โครงการรถคันแรกและโครงการรับจำนำข้าวเกินราคาตลาด เป็นเพียงตัวอย่างของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบชั่วครู่ชั่วขณะที่รัฐบาลหลายรัฐบาล ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ ได้ใช้เพื่อคะแนนนิยมระยะสั้นโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

การจะพัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืนในระยะยาว ควรมุ่งเน้นการเสริมโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งมากกว่า ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐหรือราชการ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ การพัฒนาแรงงาน รวมทั้งการยกระดับการศึกษาและงานวิจัย การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันต้องอาศัยแรงกระตุ้น ผ่านกลไกตลาดที่มีประสิทธิภาพ ภาครัฐมีหน้าที่ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาของภาคเอกชน ภายใต้แรงกดดันจากการแข่งขันในตลาด สิ่งที่รัฐ “ต้องทำ” คือ เป็นผู้กำกับดูแล ในการป้องกันการผูกขาด และคุ้มครองผู้บริโภค และสิ่งที่ “ต้องไม่ทำ” คือ ประกอบกิจการที่แข่งขันกับเอกชน หรือ ออกกฎหมายกฎเกณฑ์ที่บั่นทอนกลไกตลาด

อันที่จริงแล้วหลักการดังกล่าวได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และสะท้อนอยู่ใน พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าตั้งแต่ปี 2542 แต่การบังคับใช้กฎหมายไม่เคร่งครัด ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ การแข่งขันในธุรกิจหลายประเภท โดยเฉพาะในบริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น การขนส่ง การสื่อสาร และ พลังงาน จึงยังไม่สมบูรณ์ การเพิ่มประสิทธิภาพกิจการของรัฐ เป็นมิติสำคัญในด้านนี้ซึ่งผมจะกล่าวถึงในภายหลัง

ในขณะเดียวกัน เพื่อให้การพัฒนามีความยั่งยืน ต้องมีการแบ่งสรรผลประโยชน์ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน จึงจะก่อให้เกิดความสมานฉันท์ในสังคม และความชอบธรรมของระบบเศรษฐกิจและการเมืองในที่สุด ความเหลื่อมล้ำเป็นบ่อเกิดหรือนำมาซึ่งความยุ่งยากของอีกหลากหลายปัญหา ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งปัญหาการเมืองที่คุกรุ่นและปะทุเป็นระยะในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา

อีกทั้งยังมีงานศึกษาในระยะหลังที่ชี้ให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจโดยตัวเองสามารถเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งในทุกประเทศ แม้แต่ในสหรัฐฯ เอง ซึ่งเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก แต่ก็เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเกือบจะมากที่สุดในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว และความเหลื่อมล้ำนี้หากไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง จะเป็นปัจจัยที่เหนี่ยวรั้งการพัฒนาของประเทศในอนาคต และในที่สุดจะกลับกลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่รุนแรงได้

ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงต้องนำไปสู่สังคมที่เปิดและมีส่วนร่วมของคนในสังคม โดยนอกจากการกระจายรายได้อย่างเสมอภาคที่ผมกล่าวเมื่อสักครู่แล้ว เรายังต้องให้สิทธิเสรีภาพ และโอกาสที่ทัดเทียมกันแก่ทุกภาคส่วน ทุกกลุ่ม ทุกศาสนา และทุกพื้นที่ในสังคม ในการมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศ และพร้อมที่จะตรวจสอบการทำงานของภาครัฐตลอดเวลา

สิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันนั้น มิได้หมายถึงเพียงการที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการเลือกตั้ง แต่รวมไปถึงการให้ความสำคัญและรับฟังความเห็นหรือข้อเรียกร้องของทุกๆ ฝ่าย ไม่ใช่เพียงแต่ฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้ง หรือหมู่คนส่วนใหญ่ ระบบการปกครองโดยเสียงข้างมากไม่ได้หมายถึงการปกครองลักษณะผู้ชนะกินรวบ หรือ winner takes all ที่ผู้ชนะสามารถดำเนินการทุกอย่างได้ตามที่ต้องการ ดังที่นักเขียนท่านหนึ่ง (James Bovard) เคยกล่าวไว้ว่า “ประชาธิปไตยต้องมีความลึกซึ้งมากกว่าการที่หมาป่าสองตัวกับแพะตัวหนึ่งมาลงคะแนนกันว่าควรรับประทานอะไรเป็นมื้อเย็น” ถ้าจะให้ประชาธิปไตยคงอยู่ได้ในระยะยาวและเกิดความสงบสุขต้องมีขันติธรรม

กล่าวคือ การยอมรับความหลากหลายในสังคม กลุ่มเสียงข้างน้อยต้องได้รับผลประโยชน์อย่างเที่ยงธรรมจากกระบวนการการเลือกตั้ง ฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้งต้องตระหนักว่าตนเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ และมีหน้าที่ที่จะรักษาและส่งเสริมฉันทามติที่สมดุลในสังคม ซึ่งเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง

ที่มาภาพ :  นฤพนธ์ รักษ์พงษ์
ที่มาภาพ : นฤพนธ์ รักษ์พงษ์

การเป็นสังคมที่เปิดและมีส่วนร่วมนั้น ย่อมต้องดำเนินควบคู่ไปกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ในเอเชียส่วนใหญ่รวมทั้งในประเทศไทย ความสามัคคีและการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเป็นค่านิยมสำคัญ สิ่งที่ท้าทายเราคือว่า จะทำอย่างไรให้มีการยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ การชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสีย ของความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน โดยถือว่าทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเติบโต หรือพัฒนาการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในกระบวนการประชาธิปไตยเราไม่ควรมองทุกเรื่องเป็นขาวและเดา ผิดหรือถูก ในความเป็นจริงหลายเรื่องไม่มีผิดไม่มีถูก มีแค่มุมมองหรือวิจารณญาณที่แตกต่าง เพื่อไปสู่การเป็นสังคมที่เปิดและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เราต้องหัดที่จะเดินหน้าไปด้วยกันบนพื้นฐานของความแตกต่างโดยไม่สร้างความแตกแยก หรือก่อให้เกิดการเกลียดชัง ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้กาลังอาวุธ และความรุนแรงในด้านต่างๆ

การจะนำไปสู่สังคมที่เปิดและมีส่วนร่วมนั้น การทำงานของสื่อนับว่ามีบทบาทสำคัญมาก ในการเป็นตัวกลางนำเสนอความคิดเห็นต่างๆ ให้เกิดความสมดุลและไม่บิดเบือน เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เปิดทางให้มีการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสาร พร้อมกับพื้นที่สำหรับวาทกรรมสาธารณะอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

อินเตอร์เน็ตได้ยกระดับการมีส่วนร่วมในการอภิปรายและดำเนินการทางการเมือง และได้เกื้อกูลให้เกิดชุมชนออนไลน์ขึ้นมากมาย เสียงเหล่านี้อาจขัดกันเอง บางเสียงอาจมีความรู้มากกว่าเสียงอื่น บางเสียงอาจเป็นการซุบซิบนินทาหรือคาดเดา ทั้งหมดนี้คือตลาดแห่งความคิด ซึ่งก็เหมือนตลาดทั่วไปตรงที่สินค้าแต่ละอย่างมีคุณค่าไม่เท่ากัน ตราบใดที่เราทำให้คนสามารถรู้จักวิธีประเมินคุณค่าของความคิดในตลาดนี้ รู้จักคัดเอาความคิดที่ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ มีเหตุมีผล มาใช้ รู้จักปฏิเสธความคิดที่สุกเอาเผากิน ไม่เพียงแต่ประชาธิปไตยจะยั่งยืนเท่านั้น แต่จะเจริญงอกงามขึ้นอีกด้วย

องค์ประกอบประการที่สาม ของ New Normal ที่สำคัญยิ่ง คือการทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ปกครองโดยหลักนิติธรรม ไม่ใช่คำนึงถึงแต่ตัวบทกฎหมาย แต่ต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์แห่งกฎหมายและความเป็นธรรมด้วย จริงอยู่หลักนิติธรรมต้องอาศัยกฎกติกาที่รัดกุมและมีหลักการ แต่กฎกติกาเหล่านั้นต้องบังคับใช้อย่างตรงไปตรงมากับทุกๆ คนโดยไม่มีกรณียกเว้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือองค์กรในภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งตัวรัฐบาลเอง ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย กระบวนการร่างและบังคับใช้กฎหมายต้องมีความโปร่งใสและเป็นธรรม กระบวนการยุติธรรม ซึ่งรวมทั้งกระบวนการตุลาการ ต้องมีอิสระ มีคุณภาพ ไม่ลำเอียง มีความเที่ยงธรรม และไม่ชักช้า ที่สำคัญ กฎหมายไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายทางการเมือง ลำดับขั้นตอนการดำเนินงานของรัฐบาลต้องคงเส้นคงวา รัฐบาลไม่ควรดำเนินการตามอำเภอใจ จับกุมผู้คนที่คัดค้านนโยบายของตน และลิดรอนสิทธิเสรีภาพที่บุคคลเหล่านั้นพึงมีตามกฎหมาย สิทธิมนุษยชนของราษฎรทุกคนควรได้รับการปกป้องอย่างเคร่งครัดและเท่าเทียมกัน

การปกครองด้วยหลักนิติธรรมนั้นต่างจากการปกครองด้วยกฎหมาย เราต้องมี rule of law ไม่ใช่ rule by law ตรงนี้มีความละเอียดอ่อนที่สำคัญ ยกตัวอย่างการปราบปรามคอร์รัปชันในประเทศจีน ที่ผ่านมาเป็นการปราบปรามด้วยกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งแม้ว่าจะสามารถนำผู้กระทำผิดรายใหญ่มาลงโทษได้ แต่ก็มีคำถามเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ จึงไม่เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน หรือในประเทศไทยเราเอง ขณะนี้เหตุการณ์สงบ แต่เป็นเพียงผิวเผิน สังคมจะอยู่ไม่ได้ในอนาคตหากความสงบนั้นเกิดจากกฎหมายที่เข้มงวด มีมาตรการทำให้คนพูดไม่ออกหรือพูดไม่ได้ เป็นการกำหนดให้มีความสงบ มากกว่าการเกื้อกูลให้ความสงบเกิดขึ้นเองภายใต้ครรลองของกฎระเบียบและหลักปฏิบัติในสังคม เมื่อเป็นเช่นนี้ความโปร่งใสก็ไม่เกิดขึ้น

หากพิจารณาตัวเลขวัดความสมบูรณ์ของหลักนิติธรรมของประเทศทั่วโลกโดย World Justice Project ตัวเลขล่าสุดสำหรับปี 2558 พบว่าสี่อันดับต้นได้แก่กลุ่มประเทศนอร์ดิกคือ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน และ ฟินแลนด์ ส่วนประเทศไทยได้คะแนนเพียง 0.52 จากคะแนนเต็ม 1 นับเป็นลำดับที่ 56 จาก 102 ประเทศ และลำดับที่ 11 จาก 15 ในภูมิภาค ต่ำกว่าประเทศฟิลิปปินส์ กรีซ และกานา จะเห็นได้ว่าหนทางสู่การพัฒนาหลักนิติธรรมของเรายังอีกยาวไกล

เมื่อการบังคับใช้หลักนิติธรรมอ่อนแอ การฉ้อราษฎร์บังหลวงทุจริตคอรัปชันก็เฟื่องฟู ประชาธิปไตยจะผิดเพี้ยนไม่ทำงานเมื่อนักการเมือง ข้าราชการ ภาคเอกชน ตำรวจ และทหารล้วนใช้อำนาจที่ตนมีอยู่เพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับตนเอง และเอื้อประโยชน์ส่วนตัวบนความทุกข์ยากของประชาสังคม ความเป็นอิสระและเที่ยงธรรมของภาคตุลาการเป็นฐานหลักอย่างหนึ่งของหลักนิติธรรม หากผู้พิพากษาใช้กฎเกณฑ์ชุดหนึ่ง

สำหรับผู้ที่มีอำนาจวาสนา และใช้อีกชุดหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่มีสิ่งเหล่านั้น ระบบการเมืองและยุติธรรมทั้งหมดก็จะตกต่ำเสื่อมเสีย และเซาะกร่อนความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลในการให้ความยุติธรรม

ที่มาภาพ :  นฤพนธ์ รักษ์พงษ์
ที่มาภาพ : นฤพนธ์ รักษ์พงษ์

หลักนิติธรรมย่อมเกิดขึ้นควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสาธารณะ และความโปร่งใสของสถาบันรัฐและบุคคลในสถาบันเหล่านั้น ความรับผิดชอบต่อสาธารณะและความโปร่งใสในแก่นแท้แล้วมีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือเพื่อคุ้มครองพลเมืองจากนโยบายที่หลงทาง หรือการตัดสินใจที่เอื้อประโยชน์ให้แก่คนกลุ่มน้อย รัฐบาลที่ไม่รับผิดชอบ รัฐบาลที่ไม่ต้องอธิบายอะไรต่อใคร รัฐบาลที่ดำเนินการต่างๆ ได้โดยไม่มีการตรวจสอบ มีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจในทางที่ผิดและเพิกเฉยต่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเช่นนั้น กระบวนการตัดสินใจจะต้องโปร่งใสและเปิดต่อการตรวจสอบ ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทั้งหมดที่เกี่ยวกับนโยบายและโครงการสาธารณะ และทันกับเหตุการณ์ การถ่วงดุลและคานอำนาจเช่นนี้เป็นหัวใจของความรับผิดชอบที่รัฐจะพึงมีต่อสังคม

การปกครองด้วยหลักนิติธรรมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใสและรับผิดชอบของภาครัฐ เป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่รัฐบาลที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน หรือ responsive government ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบประการที่สี่และสุดท้ายของ New Normal ที่ผมอยากจะพูดถึง นั่นก็คือการปรับสมดุลในโครงสร้างเชิงอำนาจระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน

รัฐบาลที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนเป็นผลลัพธ์ของการมีประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการกระจายอำนาจอย่างสมบูรณ์แบบ ระบบปกครองที่ควบรวมอำนาจทั้งหมดไว้ที่ส่วนกลาง ไม่สามารถที่จะรองรับความสลับซับซ้อนของสังคมที่นับวันจะทวีสูงขึ้นได้ การกระจายอำนาจการปกครองจะช่วยเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งเป็นวิธีหนึ่งที่จะลดอิทธิพลของกลุ่มพลังทางการเมือง

ทั้งนี้ ผมไม่ได้หมายถึงการกระจายอำนาจให้กับองค์กรท้องถิ่นโดยควบคุมจากส่วนกลาง แต่การกระจายอำนาจให้ถึงมือประชาชนหรือกลุ่มตัวแทนประชาชนที่แท้จริง ที่ผ่านมาเรามีการตั้งองค์กรในท้องถิ่น แต่ยังควบคุมอำนาจในการแต่งตั้งจัดการส่วนใหญ่ไว้ที่ส่วนกลาง เราจำเป็นต้องปฏิรูปองค์กรท้องถิ่นให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ไม่ใช่ความต้องการของส่วนกลาง

หัวใจของการกระจายอำนาจ คือการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดสิ่งที่กระทบเขาโดยตรงมากที่สุด ในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด แต่ละภาค ความต้องการในการแก้ปัญหาอาจจะเหมือนกัน และอาจจะต่างกัน การกำหนดนโยบายหรือแผนงานต่างๆ จึงควรให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่มีส่วนร่วมในการออกแผนแม่บทของตนเอง โดยรัฐเป็นเพียงผู้ให้ความรู้ ให้ข้อมูล ให้การสนับสนุนงบประมาณ และสนองความต้องการอื่นๆ ตามความจำเป็นเท่านั้น แน่นอนว่าในเรื่องนโยบายเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ นโยบายป้องกันประเทศ นโยบายต่างประเทศ หรือนโยบายเศรษฐกิจการเงินการคลังมหภาค ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล แต่ในเรื่องที่กระทบประชาชนโดยตรง เขาควรมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางปฏิบัติ เช่นระบบการศึกษา ทำไมเราจึงต้องมีกระทรวงศึกษาธิการมากำหนดหลักสูตรสำหรับทุกหมู่บ้าน ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด

บทบาทของกระทรวงอาจจะเปลี่ยนจากการกำหนดเป็นการสนับสนุนข้อมูลและทักษะให้กับครูมากกว่าในด้านการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ ระบบคมนาคม หรือการรักษาความปลอดภัย การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นนอกจากจะเพิ่มความคล่องตัวในการตอบสนองความต้องการของประชาชนแล้ว ยังจะเป็นการช่วยลดภาระให้กับรัฐบาลส่วนกลาง ไม่อย่างนั้นทุกครั้งที่มีปัญหาหรือเกิดความขัดแย้ง ก็ต้องยกขบวนมาที่ทำเนียบหรือกระทรวงต่างๆ อย่างที่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้ ทำไมเราจึงไม่ให้องค์กรในท้องถิ่นดูแลเรื่องเหล่านี้โดยตรง ในเมื่อเราก็ได้เห็นชัดแจ้งแล้วว่ารัฐบาลส่วนกลางนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ที่สำคัญ เมื่อกระบวนการการเมืองกระจายออกจากส่วนกลาง พลเมืองจะมีความตื่นตัว สนใจ และพร้อมที่จะมีส่วนร่วมมากขึ้น เป็นการบ่มเพาะประชาธิปไตยให้ก้าวหน้าและอยู่ยืนยาวในสังคม

ทั้งนี้ ความสำเร็จของการกระจายอำนาจนั้นขึ้นอยู่กับการมีกระบวนการกลั่นกรองและนำเสนอข้อมูลที่รอบด้าน และเป็นที่มาของบทบาทของภาคประชาสังคมที่สำคัญยิ่ง ประชาสังคมเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญสำหรับการถกเถียงกันด้วยสติปัญญาในเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสาธารณะ อีกทั้งยังเป็นกลไกที่จะช่วยให้ทัศนะส่วนรวมของพลเมืองสามารถมีส่วนกำหนดนโยบาย และโน้มน้าวการตัดสินใจของรัฐบาลได้ กระบวนการพิเคราะห์นโยบายผ่านการนาข้อถกเถียงและข้อมูลเข้าสู่เวทีสาธารณะ สามารถกดดันให้รัฐบาลจำต้องนำเสนอข้อโต้แย้งหรือปรับเปลี่ยนท่าที ประชาสังคมที่ตื่นตัวจึงทำให้มีการตัดสินใจที่รอบคอบมากขึ้นในสังคมประชาธิปไตย

การมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง ย่อมต้องมีประชาชนที่มีการศึกษา ความรู้ และความรู้จักนึกคิด ที่สามารถตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลและเหตุผล ประชาธิปไตยจะมีพลังก็ต่อเมื่อผู้ลงคะแนนเสียงเข้าใจประเด็นปัญหาที่ตนเผชิญอยู่ และทางเลือกที่ตนมี รวมทั้งเข้าใจถึงหน้าที่ความรับผิดชอบที่พึงมีภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เราจึงต้องเร่งปฏิรูประบบการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อเสริมสร้างความสามารถของประชาชนในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่ดีของสังคม เรื่องนี้พูดกันมากแต่ไม่ค่อยมีความคืบหน้า เราต้องตั้งหลักใหม่ ตั้งหลักให้ดี อย่าลืมนะครับว่าเด็กที่เริ่มเรียนประถม 1 ในปีนี้ จะเกษียณอายุในปี 2612 ไม่มีใครในที่นี้หรือในโลกหรอกครับ

นายอานันท์ ปันยารชุน (ขวา) นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล (ซ้าย) ที่มาภาพ : นฤพนธ์ รักษ์พงษ์
นายอานันท์ ปันยารชุน (ขวา) นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล (ซ้าย) ที่มาภาพ : นฤพนธ์ รักษ์พงษ์

ที่สามารถจะคาดเดาได้ว่าโลกในปีนั้นจะเป็นอย่างไร แค่ให้คาดเดา 5 ปีข้างหน้าก็แทบจะจนปัญญาแล้ว แต่เรากำลังต้องสอนเด็กเหล่านั้นเพื่อให้สามารถอยู่ในโลกใบนั้น แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อนั้น หนทางเดียวที่ผมเห็นคือ การศึกษาจะต้องเปลี่ยนจากการเน้นการท่องจำ ไปสู่การรู้จักคิดอย่างสร้างสรรค์และความสามารถในการปรับตัว เริ่มต้นด้วยการให้ครูบาอาจารย์สอนน้อยลง ให้นักเรียนนักศึกษาอ่านหนังสือหลากหลายมากขึ้น มีการสนทนาระหว่างครูกับนักเรียนมากขึ้น มิใช่เน้นการหาคำตอบที่ถูกหรือผิด แต่เน้นการกระตุ้นให้เด็กกล้าคิด กล้าพูด กล้าออกความเห็น และรู้จักใช้เหตุผล

ในยุคที่ข้อมูลมหาศาลอยู่แค่ปลายนิ้วผ่านโทรศัพท์มือถือ สิ่งที่จำเป็นคือทักษะในการเลือกใช้และวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเหมาะสม มากกว่าการท่องจำข้อมูลต่างๆการสอนวิธีการเรียนรู้จะสำคัญกว่าการให้ความรู้ หากลูกหลานของเราจะสามารถแก้ปัญหาที่สลับซับซ้อนในอนาคต เช่น ปัญหาโลกร้อน เขาต้องอาศัยความสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก ซึ่งผมมองว่าระบบการศึกษาปัจจุบันให้ความสำคัญน้อยไป ศัตรูสำคัญของความสร้างสรรค์คือการติเตียนความผิดพลาด ผมคิดว่าเด็กทุกคนเกิดมาด้วยทุนความสามารถในการสร้างสรรค์ที่สูงมาก

แต่ระบบการเรียนการสอนที่เน้นการตอกย้ำตีตราการทำผิด ตีโจทย์ผิด ตอบข้อสอบผิด เป็นการขจัดความสร้างสรรค์ของเด็กไปเรื่อยๆ จนเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ไม่มีความกล้าเหลือเพียงพอที่จะลองสิ่งใหม่ๆ เพราะกลัวผิดพลาด แต่ในความเป็นจริง ไม่มีความสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมใดๆ ในโลกนี้ที่เกิดขึ้นจากความกลัวที่จะผิด ตรงกันข้าม ความกล้าที่จะผิด การลองผิดลองถูก และความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าต่างหากเป็นพื้นฐานของการสร้างนวัตกรรมหรือวิธีการใหม่ๆ iPhone ที่ทุกท่านถืออยู่นั้น ตอนที่วางตลาดในปี 2550 มีแต่คนคิดว่าจะขายไม่ออก และเป็นตัวอย่างของผลลัพธ์ที่มาจากความกล้าที่จะผิด มากกว่าความกลัวที่จะล้มเหลว

การพัฒนาของมนุษย์นั้นไม่ได้เป็นไปตามเส้นตรง เราไม่ควรมองว่าทุกคนควรจะเดินตามขั้นตอนเดียวกันเพื่อไปสู่ความสำเร็จ กระบวนการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน การมีแผนแม่แบบเดียวหรือวิธีสอนลักษณะ one size fits all ไม่สามารถนาไปสู่การให้เด็กแต่ละคนเข้าถึงสมรรถนะสูงสุดของตนได้ ประเทศฟินแลนด์เป็นต้นแบบของระบบการศึกษาที่ประสบความสำเร็จมาก เป็นระบบที่ไม่ได้พึ่งการกำหนดหลักสูตรส่วนกลางหรือการสอบมาตรฐาน แต่ส่งเสริมการทดลองวิธีการสอนต่างๆ

โดยให้อำนาจโรงเรียนในแต่ละท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดแนวทางการสอน ให้ความสำคัญแก่ความแตกต่างของนักเรียน ใช้การทดสอบเพื่อวิเคราะห์และส่งเสริมความถนัดของเด็กมากกว่าการจัดลำดับ การเน้นการศึกษาเพื่อตอบสนองชีวิตประจำวันสะท้อนอยู่ในตัวเลขที่ประมาณหนึ่งในสามของจำนวนนักเรียนทั้งหมดเรียนอยู่ในสายอาชีวศึกษา

หากการศึกษาสร้างเด็กให้มีทักษะในการเรียนรู้ที่ดี เขาย่อมมีทักษะในการเรียนรู้บริบทของประเทศรวมทั้งแก่นสารที่สำคัญของประเด็นต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้เขามีศักยภาพที่จะตัดสินใจบนพื้นฐานของเหตุและผล รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่ของประชาชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสมบูรณ์

ทั้งหมดที่ผมได้กล่าวมานั้น เป็นภาพ New Normal ของประเทศไทยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตย หรือ Democratic Governance เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงบนพื้นฐานของความชอบธรรม ซึ่งในมุมมองของผม ประเทศไทยไม่เคยมี เรามีแต่ประชาธิปไตยที่เน้นรูปแบบมากกว่าสาระ มีการเลือกตั้งแล้วก็จบ ไม่ได้มีการใส่ใจในการพัฒนาสถาบันต่างๆ ที่จำเป็นของประชาธิปไตย

สิ่งที่เรากำลังเผชิญตอนนี้ หากมองลึกลงไปแล้วมีต้นตอมาจากการที่เราไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นเพียงการตกแต่งผิวเผิน เป็นเพียงเหล้าใหม่ในขวดเก่า หรือไม่ก็เหล้าเก่าขวดเก่าแต่จุกใหม่ ที่สำคัญ เรายังไม่พยายามค้นหาเหตุที่แท้จริงของความแตกแยกในเมืองไทย หลายสิ่งหลายอย่างไม่เกี่ยวกับนโยบายที่รัฐบาลในอดีตและปัจจุบันกำลังทำ ไม่ใช่เรื่องการต่อสู้ระหว่างคนที่นิยมประชาธิปไตยหรือไม่นิยมประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องของความยากจน ความไม่ยุติธรรมในสังคม ความเหลื่อมล้ำในสิทธิและโอกาส และความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน และแม้แต่ระหว่างประชาชนด้วยกันเอง

ผมมักจะมองว่าคนไทยสร้างปัญหาเก่ง และก็แก้ปัญหาเก่ง เรามีกระบวนการพัฒนาแบบลองผิดลองถูกตามสถานการณ์ หรือ muddling-through แต่ไม่ค่อยมีการวางแผนกลยุทธ์ระยะยาวและปฏิบัติอย่างจริงจัง ถึงแม้ทางด้านเศรษฐกิจเราได้มีพัฒนาการมาในระดับหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันเราได้ละเลยการพัฒนาด้านสังคมและการเมือง มาถึงบัดนี้ เราจึงตระหนักว่า สถาบันหลายอย่างของเราไม่พร้อมที่จะเผชิญความท้าทายของยุคโลกาภิวัตน์ ขณะที่โลกได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ทว่าสถาบันทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของเรากลับก้าวตามไม่ทัน

ที่มาภาพ : นฤพนธ์ รักษ์พงษ์
ที่มาภาพ : นฤพนธ์ รักษ์พงษ์

ธรรมาภิบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตยจะเป็นฐานในการพัฒนาประเทศในทิศทางที่สมดุลกว่าที่ผ่านมา การที่เรารับฟังความเห็นที่หลายหลายจากกลุ่มประชาชนที่กว้างขวาง จะทำให้รัฐบาลให้น้ำหนักกับการพัฒนาที่รอบด้านและยั่งยืนมากกว่า เราคนไทยมักใฝ่ฝันให้มีอัศวินขี่ม้าขาวเข้ามาช่วยเมื่อประเทศเราประสบปัญหา แต่ยุคแห่งการตัดสินใจแบบ “ฉันรู้ดีที่สุด” ได้หมดไปแล้ว แม้ว่ารัฐจะมีข้อมูลและอำนาจที่กว้างขวาง แต่ก็ไม่ได้รู้ดีไปทุกอย่าง โดยเฉพาะในระบบเศรษฐกิจที่ในยุคปัจจุบันความสลับซับซ้อนได้ทวีสูงขึ้นมาก

ทาไมธรรมาภิบาลคือกุญแจดอกสำคัญสำหรับการบริหารเศรษฐกิจที่ดี ผมขอยกตัวอย่างการกำกับดูแลกิจการในภาครัฐ ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมามีพัฒนาการที่น่าเป็นห่วง เห็นได้ชัดจากความสามารถในการแข่งขันที่ถดถอย และผลการดำเนินงานที่ตกต่ำลง รัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดยังสามารถทำกำไรได้ ในขณะที่รัฐวิสาหกิจที่ต้องแข่งขันส่วนใหญ่ขาดทุน ต้นตอของปัญหาเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับโครงสร้างการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่มีความซับซ้อน ขาดเอกภาพ และมีปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายด้าน อาทิ การแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ปัญหาการโกงกิน การมีเป้าหมายหลายด้านทั้งด้านสังคมและด้านธุรกิจ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องขาดความชัดเจนในการแยกแยะบทบาทที่สำคัญระหว่าง ฝ่ายนโยบาย ฝ่ายกากับดูแล และผู้ทำหน้าที่คล้ายเจ้าของ รวมถึงปัญหาการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งทาให้รัฐวิสาหกิจขาดแรงผลักดันในการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านต่างๆ

ปัญหานี้จำเป็นต้องแก้ไขโดยเร็ว เนื่องจากรัฐวิสาหกิจเป็นชิ้นส่วนที่ใหญ่และมีอิทธิพลมากต่อประสิทธิภาพของเศรษฐกิจโดยรวม การที่กิจการรัฐวิสาหกิจมักมีลักษณะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นต้นธารของธุรกิจอื่นๆ ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า น้ำประปา คลื่นความถี่ ระบบขนส่ง สนามบิน หรือท่าเรือ รัฐวิสาหกิจที่ไร้ประสิทธิภาพ จึงไม่เพียงจะบั่นทอนผลประกอบการของตัวเอง แต่จะเหนี่ยวรั้งธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมด เพราะราคาที่แพง และคุณภาพที่ต่ำของโครงสร้างพื้นฐาน ย่อมไม่เอื้อให้เอกชนนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการแข่งขันที่ดีได้ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่กำลังดาเนินการอยู่ รวมทั้งการจัดตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” จึงอาจเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ย่อมขึ้นกับความซื่อตรงและความสามารถในตัวบุคคลที่มีอำนาจบริหารบรรษัทนี้ด้วย

จะว่าไปแล้ว ประสิทธิภาพของภาครัฐวันนี้ได้กลายเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ ในการกำหนดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และประสิทธิภาพดังกล่าวมักจะไปควบคู่กับความเป็นประชาธิปไตย ทั้งนี้ภาครัฐที่มีประสิทธิภาพไม่จำเป็นต้องมีขนาดเล็กเสมอไป แต่แก่นของมันอยู่ที่ความสามารถในการบริหารจัดการ และตอบสนองต่อความต้องการและความเดือดร้อนของประชาชน หลักการในการพัฒนาประเทศโดยยึดถือบทบาทของภาครัฐในการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน เป็นที่มาของชื่อหนังสือ “Development as Freedom” ของ Amartya Sen ผู้ได้รับรางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์ และเป็นแก่นหลักของประชาธิปไตยที่แท้จริง

ในการเดินหน้าไปสู่ New Normal ที่ผมได้กล่าวถึงนั้น เราจาเป็นต้องมีการปฏิรูปอย่างจริงจังตั้งแต่บัดนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก กระบวนการปฏิรูปย่อมนำมาซึ่งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ และผู้เสียประโยชน์นั้นมักจะมีการรวมตัวกันดีกว่าผู้ที่ได้ประโยชน์ การถ่วงดุลอำนาจไม่ให้ผู้เสียประโยชน์กีดขวางการเปลี่ยนแปลงอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จำเป็นต้องพึ่งกลไกการกระจายผลประโยชน์ที่ได้ระหว่างสมาชิกในสังคมอย่างสมดุล ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อประเทศมีกระบวนการ หรือสถาบันทางเศรษฐกิจและการเมืองแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งต้องอาศัยจังหวะท่วงทีที่เหมาะสม

ในความเป็นจริง การปฏิรูปที่สำเร็จมักเป็นการฉวยโอกาสจากสถานการณ์ที่เอื้อ โดยเฉพาะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ บ่อยครั้งเป็นการแปลงวิกฤตเป็นโอกาส ซึ่งผมมองเสมอว่าไทยเราเองไม่ได้ใช้ประโยชน์จากวิกฤตการเงินปี 2540 อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นมาถึงตอนนี้ อย่าไปเสียเวลาถกเถียงกันว่า ที่เรามาถึงจุดนี้ อย่างนี้ ถูกต้องไหม แม้ว่าเป็นคำถามที่สำคัญ ที่ควรศึกษา แต่ไม่ควรเป็นประเด็นหรืออุปสรรคที่จะทำให้เราไม่เดินหน้า หรือพยายามแก้ไขสิ่งที่ควรจะแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงไป

การปฏิรูปนั้นควรมองเป็นองค์รวม ในช่วงที่ผ่านมาเราได้มุ่งการแก้ไขปัญหาทั้งปวงไปที่รัฐธรรมนูญเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น เราเป็นประเทศที่ใช้รัฐธรรมนูญค่อนข้างเปลือง ปัจจุบันก็ถึงฉบับที่ 19 แล้วในเวลา 83 ปีซึ่งเท่ากับอายุผมพอดี

ในฐานะผู้ที่มีส่วนในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งเป็นการยกร่างโดยมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ของประชาชนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ผมก็เคยมีความหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นจะช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นสังคมประชาธิปไตยที่เปิดกว้าง โปร่งใส และมีความรับผิดชอบ ในขณะที่การปรับกระบวนการเลือกตั้งจะช่วยลดการเมืองแบบหว่านเงินและการฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่ผมก็ได้ตระหนักอยู่ตลอดว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ปัญหาทั้งปวงของสังคมได้

สังคมทุกส่วนจะต้องอ้าแขนรับอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังรัฐธรรมนูญก่อนที่มันจะสร้างความแตกต่างได้ และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็เป็นประจักษ์แล้วว่าการเปลี่ยนแปลงที่มุ่งเน้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามลาพังนั้น ไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สมบูรณ์ได้หากไม่เกิดขึ้นพร้อมกับการปฏิรูปกลไกอื่นๆ ที่เป็นเสาหลักของประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยเฉพาะการปฏิรูปวิธีคิดของคนและการปฏิรูปการเมือง

ที่มาภาพ  :  นฤพนธ์ รักษ์พงษ์
ที่มาภาพ : นฤพนธ์ รักษ์พงษ์

การปฏิรูปนั้นไม่ใช่การกระทำที่เสร็จไปครั้งเดียว แต่เป็น “กระบวนการ” ที่อาจเริ่มขึ้นด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา แต่กระบวนการนั้นต้องพัฒนาต่อไป เราต้องไม่ตกหลุมของการใช้ทางลัดต่างๆ นานาในการบรรลุเป้าหมายสูงสุด หรือการคิดว่าการกระทำใดๆ ที่หากสามารถทำได้ในวันนี้ จะเป็นการแก้ปัญหาอย่างถาวร เป็นการปฏิรูปที่เสร็จสรรพ ทุกอย่างต้องปรับปรุง และปรับตัวให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาไม่ได้อยู่นิ่ง ต้องปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง สังคมที่ไม่มีการ

ปฏิรูปเป็นสังคมที่เฉื่อยชา และในกระบวนการปฏิรูปนั้น ไม่มีประโยชน์ที่จะถามว่าข้อเสนอต่างๆ นั้นสามารถรับประกันได้ไหมว่าจะสำเร็จและเป็นที่ยอมรับ ไม่มีอะไรที่สามารถรับประกันได้ แต่ต้องทำด้วยเจตนาดีและความบริสุทธิ์ใจ และพร้อมที่จะแก้ไขใหม่ภายหลังตามความจำเป็น

การปฏิรูปไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นไม่มีสูตรตายตัว ต่างจากการสร้างบ้าน ที่มีแบบชัดเจน ดำเนินการได้จากต้นจนจบตามลำดับขั้นตอนทีละขั้น สามารถปรับเปลี่ยนรูปทรงได้ตามใจชอบ หรือสร้างบ้านเหมือนๆ กันเป็นร้อยๆ หลัง ประชาธิปไตยที่แท้จริงเปรียบเสมือนต้นไม้ที่โตขึ้นได้จากปัจจัยสนับสนุนนานัปการ ทั้งดินฟ้าอากาศ เป็นการเติบโตลักษณะต่อยอดที่ต้องรำลึกถึงอดีตที่ผ่านมา เป็นการเติบโตแบบธรรมชาติที่ไม่มีแม่พิมพ์ต้นแบบหรือผลลัพธ์ที่กำหนดได้ชัดเจน ผู้ดูแลทำได้แต่เพียงให้สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ไม่มีต้นไม้สองต้นที่เหมือนกันทุกประการ แต่ทุกต้นสามารถให้ร่มเงาได้เหมือนกันในที่สุด

เมล็ดของประชาธิปไตยจะต้องงอกเงยจากภายในแต่ละสังคมเอง จึงจะได้รับการยอมรับและดำเนินไปได้ ดังที่ มหาตมะ คานธี กล่าวไว้ว่า “วิญญาณของประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยัดเยียดจากภายนอกได้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องมาจากข้างใน” ธาตุแท้ของความเป็นประชาธิปไตยคือประชาชนต้องเป็นผู้ต้องการประชาธิปไตยเอง สังคมแต่ละแห่งจะต้องหาทางออกจากความขัดแย้ง และจัดลาดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ ด้วยตนเองโดยคำนึงถึงระดับความพัฒนา วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของตน องค์ประกอบต่างๆ ของ Democratic Governance ที่ผมได้กล่าวมานั้นเป็นเสมือนเสาหลักที่จะช่วยยึดโยงให้วิวัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง

ในความเป็นชาติ เราได้ก้าวมาถึงจุดที่ไม่สามารถย้อนกลับไปเหมือนเดิมได้อีกแล้ว การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ พวกเราทุกคนล้วนมีส่วนได้ส่วนเสียกับอนาคตของประเทศชาติ และต้องมีส่วนช่วยให้การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปในหนทางใหม่ที่สร้างสรรค์ พลังทั้งหลายทั้งมวลที่หล่อหลอมสังคมเราจะต้องไม่เป็นพลังซ่อนเร้นอีกต่อไป แต่ต้องออกมาในที่แจ้งเพื่อร่วมกันสร้างวิสัยทัศน์ว่าเราต้องการจะไปสู่จุดมุ่งหมายใด และจะไปถึงที่นั่นได้อย่างไร

Democratic Governance แท้จริงแล้วเป็นกระบวนการทางความคิด หรือ mindset มากกว่ากฎระเบียบที่เป็นรูปธรรม ในการเดินบนเส้นทางสู่ New Normal ที่รุ่งเรือง นอกจากการปฏิรูปในหลายๆ มิติที่ต้องดำเนินการแล้ว เราต้องมีการปฏิวัติในความคิด ทัศนะคติ รวมทั้งกระบวนทัศน์ของสังคมและประชาชนโดยรวมให้เปิดกว้างมากขึ้น ยอมรับกับความคิดที่หลากหลาย รวมทั้งปลูกฝังค่านิยมร่วมที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคม ธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ความหลากหลายของเรารวมพลังและสามารถสะท้อนออกมาได้อย่างสร้างสรรค์ มันจึงเป็นทางตรงที่สุดที่จะให้การพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของไทยเชื่อมประสานเป็นหนึ่งเดียวไปสู่ “ความยั่งยืนที่แท้จริง”